fbpx

ฮับ – เหมวิช : เด็กนักค้นหาสู่การสร้างสรรค์สังคมผ่าน HackVCIS

หากจะพูดถึงชีวิตนักเรียนในประเทศไทย ก็คงจะสุดแสนน่าเบื่อ เพราะด้วยระบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้เรียน ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนั่นคงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยขาดการค้นหาตัวตนในช่วงนี้ จนไม่อาจทราบได้ว่าตนเองต้องการอะไรกันแน่ รวมไปถึงความต้องการอยากพัฒนาสังคมของตนเองเช่นกัน

แต่กับ “ฮับ-เหมวิช วาฤทธิ์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ ผู้ที่ติด 1 ใน 20 Global Final List ของ Google Science Fair กลับลงมือพัฒนาโปรเจกต์ Hackathon เพื่อให้เยาวชนอายุ 13-18 ปี เพราะอยากให้เยาวชนไทยเรียนรู้และเข้าใจตนเอง เรียนรู้ไปกับเพื่อนจากทั่วโลก พร้อมทดลองเรียนและทำงานจริงตลอด 36 ชั่วโมงอีกด้วย Modernist จึงคว้าตัวเจ้าของโปรเจกต์ Hackathon ที่จัดโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางและการก้าวมาลุยโปรเจกต์นี้กัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จุดเริ่มต้นที่เข้ามาสนใจเรื่องเทคโนโลยี มันเกิดขึ้นจากอะไร

จริงๆ มันเริ่มมาตั้งแต่เด็กเลย ที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังตั้งแต่ตอนเด็กๆ คือผมจะรู้สึกอยากจะไปงัดแงะของต่างๆ อยากจะไปดูว่าของเล่นพวกนี้มันทำงานยังไง หลังจากนั้นผมเริ่มมีการค้นหาว่าของพวกนี้ทำงานยังไง จากนั้นมันก็เริ่มนำพาผมเข้าไปสู่เรื่องต่างๆ เริ่มจากการต่อพวกเลโก้หุ่นยนต์ครับ อันนี้เป็นช่วงประมาณ 6-7 ขวบครับ คุณพ่อคุณแม่ช่วยสนับสนุนเต็มที่ทางด้านนี้ด้วย แล้วตอนนั้นผมทำเป็นตัวหุ่นยนต์ที่ชื่อ Unblinder ครับ เป็นหุ่นยนต์ที่เขาเอาไว้ช่วยคนตาบอด คือจะตรวจจับสิ่งกีดขวาง แล้วจะสั่งเตือนคนตาบอดครับ หลังจากนั้นผมก็รู้สึกสนใจในเทคโนโลยีมาตลอด จนมาถึงการที่ผมเริ่มค้นพบตัว Phenomena ของ Bone Conduction ครับ คือการที่ผมเอาคางไปแตะบนกีต้าร์โดยบังเอิญ แล้วทีนี้ผมได้ยินเสียงตัวกีต้าร์ดังขึ้น โดยที่เสียงมันผ่านตัวคางครับ ผมเลยลองตั้งคำถามดูว่า ถ้าเกิดเรานำตัว Phenomena นั้น ไปทำเป็นเครื่องช่วยฟังได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากเลยครับ ผมเลยลองไปบอกคุณ พ่อคุณแม่ก่อนเลยครับ หลังจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็พาผมไปร้านอิเล็กทรอนิกส์ แล้วก็มาลองผิดลองถูก ลองต่อวงจร แล้วก็มาลองพิสูจน์ Concept นี้ครับ ซึ่งตัว Proof of Concept (POC) ของตัวเครื่องช่วยฟัง จริงๆ มันก็เริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ แบบพื้นฐาน เพราะมันเริ่มจากสิ่งของในบ้านเลยครับ อย่างเช่นตัว Transducer ตัวที่ส่งคลื่นเสียงผ่านกระดูกก็ใช้ตลับคอนแทคเลนส์ของคุณแม่ แล้วก็เอาที่คาดผมมาคาดไว้เพื่อที่จะเอาไปแปะตรงกระดูกหลังหูด้วยครับ ซึ่งหลังจากนั้น พอเราพัฒนาตัวเทคโนโลยีตรงนั้น โดยที่มีความล้มเหลวหลายรอบ มีการทำการทดลองหลายรอบ จนเราสามารถทำตัว Prototype ออกมาได้ครับ มันยิ่งทำให้ผมชอบเทคโนโลยีเข้าไปใหญ่ เพราะว่าเทคโนโลยีมันฝังไปด้วยสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ และสามารถแก้ปัญหาได้ครับ

ภาพบรรยากาศการเตรียมงาน HackVCIS

ทำไมเราถึงสนใจเรื่องการช่วยผู้พิการทางการได้ยิน

จริงๆ มันย้อนกลับไปตั้งแต่เด็กเลยเหมือนกันครับ คือตอนนั้นผมเรียนดนตรีกับคุณครูท่านหนึ่ง ชื่อคุณครูเบลล่าครับ ตอนแรกเรียนภาษาอังกฤษผ่านดนตรีกับคุณครูท่านนี้ก่อนครับ หลังจากนั้น ผมก็เริ่มมาเรียนร้องเพลงสักประมาณ 5-6 ขวบ เรียนร้องเพลงกับครูเบลล่าครับ แล้วทีนี้ครูเบลล่าเขาปลูกฝังจิตสำนึกให้ตั้งแต่เด็กเลยครับ จะมีการช่วยผู้พิการครับ คุณครูเบลล่าจะพาผมไปร้องเพลงที่ศูนย์คนพิการตลอดครับ มีร้องเพลงให้คนตาบอดฟัง เราจะทำ เราจะสร้างความสุขให้กับเขาผ่านเสียงดนตรีครับ หลังจากนั้นก็มีพวกการร้องเพลงเพื่อระดมทุนตอนที่ประเทศเนปาลเขาประสบปัญหาแผ่นดินไหวครับ มีการระดมทุนตรงนั้นด้วย จากการร้องเพลงครับ ซึ่งการที่ครูเบลล่าท่านปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ มันเลยเกิดจิตสำนึกในตัวเรา เฮ้ย เราต้องสร้างอะไร หรือว่าเราต้องทำอะไรเพื่อที่จะช่วยผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งมันก็มาตรงกับ Hearing aid (เครื่องช่วยฟัง) พอดี พอเราเอาเทคโนโลยี เราค้นพบ Bone Conduction หลังจากนั้น ผมเลยรู้สึกอยากที่จะเอามาช่วยผู้พิการทางการได้ยินเลย เพราะว่ามันเหมือนกับอยู่ใต้จิตสำนึกผมครับ

พอเราเริ่มต้นจากความล้มเหลว เราเรียนรู้อะไรจากตรงนี้บ้าง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากความล้มเหลว จริงๆ ก็มีหลายอย่างอยู่ครับ หลาย Stage (ระยะ) ด้วยครับ เล่าตั้งแต่ต้นก่อนว่าล้มเหลวครั้งแรก ตอนนั้นทำตัว Proof of Concept เสร็จแล้วครับ ทีนี้อยากจะไปขอทุนเพื่อที่จะเอามาพัฒนาเครื่องช่วยฟังตัวแรกครับ คือตอนแรกผมก็ได้เข้า Fast Track ไปสู่ Final Round แต่ว่าพอไปถึง Final Round เสร็จปุ๊บ เมื่อกรรมการตัดสินเขาเห็นเราเป็นเด็ก เขาไม่เชื่อเลยว่าเทคโนโลยีนี้มันใช้ได้จริง ทั้ง ๆ ที่เราสาธิตการใช้งานแล้วว่ามันใช้ได้จริง แล้วเขาบอกว่า First Dollar ต้องมาภายใน 6 เดือน ซึ่งการพัฒนาพวก Deep Tech หรือว่าว่าการพัฒนา Hard Technology มันใช้ระยะเวลานาน และต้องใช้เงินลงทุนสูง เพื่อให้ Product มันออกมาดีครับ ตอนนั้นผมอายุประมาณ 11 ปีเองครับ หลังจากนั้นก็ Failed มากๆ เลย ตอนนั้นไม่อยากทำอะไรเลย แต่ว่าจากความช่วยเหลือของคุณพ่อคุณแม่ เขาก็ให้กำลังผม แล้วเขาก็บอกว่า “เฮ้ย You อย่ามาล้ม เพราะว่าก้อนหินก้อนเดียว” หลังจากนั้นผมเลยลุกขึ้นมาทำต่อให้สำเร็จครับ

หลังจากตรงนั้น มีการค้นพบโครงการ Google Science Fair ตอนนั้นผมอายุ 12 ปี แล้วเขาเปิดรับสมัคร 13 ปีครับ ตอนนั้นคือตัดสินใจแล้วว่า ถ้าเกิดไม่มีแหล่งทุนไหนที่เขาจะรับรู้ว่าเทคโนโลยีนี้ มันสามารถสร้าง Impact ได้จริงๆ แล้วมันสามารถช่วยคนได้จริงๆ ผมอยากจะพิสูจน์ให้ทั่วโลกเขารู้ว่าเทคโนโลยีนี้ มันสามารถใช้ได้จริงครับ หลังจากนั้นก็เลยเริ่มลงไปทำ Google Science Fair ซึ่งตอนนั้น Google Science Fair ผมยังไม่รู้เลยว่าสมมติฐานคืออะไร การเก็บ Data การทำพวก Mini thesis ทำยังไง ซึ่งผมต้องมานั่งเรียนรู้ แล้วก็นั่ง Failed แล้วก็เรียนรู้อีกแบบนี้ครับ จนเราสามารถ Submit โปรเจกต์ไปให้ แล้วสามารถเข้า Google Science Fair ไปได้ครับ

แล้วมีอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้ครับ คือตอนแรกเลยที่เริ่มทำตัว Proof of Concept ครับ ไปซื้อวงจรกับคุณพ่อ ต่อวงจรอะไรง่ายๆ หาของง่ายๆ ในบ้านมาต่อ ซึ่งพอต่อครั้งแรกเสร็จปุ๊บ เราก็ Failed อีก เพราะว่าตอนแรกมันใช้ไม่ได้ หลังจากนั้น ผมก็ลองดูว่าเราจะแก้ปัญหาตรงนี้ยังไง เราทำจุดตรงไหนผิด คือมีการวิเคราะห์ตรงนั้นครับ แล้วหลังจากนั้น กลับมาทำต่อ กลับมาแก้ต่อ คือผมจะไม่ท้อว่า เฮ้ย เราทำไม่ได้ เราท้อ ผมพยายามที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดตรงนั้น แล้วมาปรับใช้ ปรับหลายรอบอยู่ครับ ประมาณ 5-6 รอบ จนมันออกมาได้ ออกมาสำเร็จครับ

การที่เราเริ่มต้นตั้งแต่เรายังเป็นตั้งแต่เด็ก มันมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าการที่เราเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นที่จะรู้จักความล้มเหลวตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนกับการสร้างภูมิด้วย สำหรับเวลาที่เราโตขึ้นมา สมมติว่าเราล้มเหลวตั้งแต่เด็ก แล้วเรารู้ว่าความล้มเหลวมันไม่ใช่จุดจบ แล้วความล้มเหลว มันคือการที่เราสามารถไปเรียนรู้ต่อได้ ผมคิดว่าความคิดตรงนั้น มันสามารถไปปลูกฝังในตัวเด็กได้ พอเติบโตขึ้นมา เวลาทำพวก Problem Solving หรือว่าการเผชิญกับปัญหา เขาจะสามารถเผชิญได้ดีแล้วไม่ท้อครับ

“คนที่เริ่มต้นได้ก่อน มักจะมีต้นทุนที่ดีกว่า” คุณเชื่อประโยคนี้มั้ย

ผมไม่เชื่อครับ คือจริง ๆ แล้ว ครอบครัวผมไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรครับ เป็นครอบครัวฐานะปานกลางครับ คือการที่ทำเทคโนโลยี มันไม่จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์อะไรที่หรูหราเลยครับ อย่างเช่น เครื่องช่วยฟังของผม คือพื้นฐานแล้วมาจากสิ่งที่อยู่ในบ้านหมดเลย สิ่งที่มาจาก Low Tech หมดเลย อย่างเช่นตัว Speaker ตัวที่ส่งคลื่นเสียงผ่านกระดูกเข้าไป ก็เริ่มมาจากตลับคอนแทคเลนส์ของคุณแม่ แล้วสิ่งที่จะเอามาแปะหลังหู ก็เริ่มมาจากที่คาดผมของคุณแม่เหมือนกันครับ คือมันไม่ใช่อะไรที่หรูหราเลย แต่ว่าเราสามารถหาสิ่งเหล่านี้ เพื่อมาทำเป็น Innovation ได้ครับ

เรามีวิธีการโน้มน้าวอย่างไร ให้ Stakeholder รู้สึกมั่นใจในตัวเรามากขึ้น

(คิด) อย่างแรกเลยสิ่งที่จะโน้มน้าว สมมติว่าตัวเราเป็นเด็กใช่มั้ยครับ แล้วเราจะไปโน้มน้าว Stakeholder สิ่งแรกเลย คือเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเทคโนโลยีนี้ เราสามารถทำได้จริงๆ เอามาใช้ได้จริงๆ ครับ มีการพัฒนาตัว Proof of Concept เพื่อที่จะให้ Stakeholder เขารู้ว่าสิ่งนี้มันใช้ได้จริง แล้วเราก็สาธิตการใช้งานต่อหน้าเขาเลยครับ ว่าที่เราประดิษฐ์มามันจะทำงานอย่างนี้นะ มันสร้าง Impact ยังไง มันสามารถใช้ได้ยังไงครับ อันนี้ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นเลย ที่จะให้เขาเชื่อใจว่าเราสามารถทำตรงนี้ได้จริงๆ เพื่อที่จะพัฒนาต่อไป

หลังจากนั้น ถ้าพูดในเรื่องของ Presentation ผมคิดว่าการนำเสนอโดยใช้ Data ว่าการที่เราทำตรงนี้มา เรามีการเก็บ Data เรามีการทำ Validation แล้วว่า Proof of Concept ของเรานะครับ สามารถใช้ได้จริง แล้วสามารถพัฒนาต่อไปเป็น Product ได้ครับ ผมคิดว่า Factor ตรงนี้ สามารถโน้มน้าว Stakeholder ได้เช่นกันครับ

ช่วงประสบความสำเร็จ เราได้อะไรจากผลงานที่เราทำสำเร็จแล้วบ้างมั้ย

อย่างแรก มันได้ความภาคภูมิใจครับ ที่เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคตรงนี้มาได้ แล้วสามารถเรียนรู้จากอุปสรรคตรงนี้ได้ แล้วผมรู้สึกดีใจที่ตอนนี้ เรามี Prototype ที่เราจะสามารถพัฒนาต่อ เราสามารถช่วยคนได้จริงๆ ครับ ซึ่งอันนี้ก็คือเป็น Main Goal ของผม ที่จะพัฒนา Prototype ตัวแรก ไปช่วยผู้พิการทางการได้ยินทั่วโลกครับ

ภาพบรรยากาศการเตรียมงาน HackVCIS

ระบบการศึกษาช่วย Guideline เรายังไงบ้างในเส้นทางอนาคต

ในเรื่องของระบบการศึกษา ผมคิดว่ามันมีทั้งข้อดี-ข้อเสียของมันอยู่ครับ จากการที่ตอนแรก ผมเคยอยู่โรงเรียนหลักสูตรไทยมาก่อน หลังจากนั้นสักประมาณ ป.3 ผมก็มาอยู่ English Program หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่อินเตอร์ ซึ่งพูดตรงๆ เลยครับ ตอนที่อยู่หลักสูตรไทยครูไม่ชอบผม เพราะว่าผมไปตั้งคำถามเยอะเกิน ตอนนั้นเรียนเรื่องความชื้นสัมพัทธ์อยู่ คุณครูเขาบอกว่าถ้าเกิดด้านนอกอากาศมันเย็น และด้านในตัวเราอุ่นใช่มั้ยครับ พอเราหายใจออกมา มันก็จะมีไอน้ำออกมา แล้วผมก็ถามคุณครูกลับไปว่า แล้วถ้าเกิดมันกลับกันล่ะ หลังจากนั้นคุณครูเขาก็เหมือนกับไม่ตอบคำถามผมอีกเลย แล้วเหมือนกับกาหัวผมไว้เลย (หัวเราะ) ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องย้ายมาเรียนอินเตอร์ครับ

ถ้าเกิดกลับมาที่คำถามว่า ระบบการศึกษาขณะช่วย Guide เราได้มั้ย ผมคิดว่าด้วยด้วยวิชาที่มีตอนนี้นะครับ คือผมคิดว่ายังไม่สามารถ Guide ได้ครับ ยกตัวอย่างคือผมเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ซึ่งต้องเขียนโค้ดบนกระดาษเพื่อที่จะสอบ (หัวเราะ) ผมงงว่า อ้าว อย่างนี้มันก็ใช้ในชีวิตจริงไม่ได้อยู่ดี แล้วภาษาที่เขียนลงไปก็ต้องเป็น Syntax ตามที่ศูนย์สอบเขากำหนดมา ไม่ใช่ Syntax ของภาษาโปรแกรมมิ่งปกติที่เขาใช้ในอุตสาหกรรมกัน สุดท้ายแล้วถ้าเกิดสอบไปแล้วจะได้อะไร ส่วนหนึ่งก็ได้แค่ Logical Thinking แต่ว่าการเอาไปใช้ทำงานจริงๆ มันไม่สามารถใช้ได้ครับ ซึ่งผมคิดว่าระบบการศึกษาทั้งหมด ควรจะมีการ Guide ตรงนี้ให้ดีกว่านี้ครับ อาจจะเป็นการทำ Project-based Learning แทนที่จะเป็นการสอบแบบเปล่าๆ การที่ทำ Project-based Learning คือเราเรียนรู้เรื่อง Relationship Skills ได้ด้วย เรียนรู้ความล้มเหลวแล้วเราจะแก้ปัญหาตรงนั้นยังไงได้ด้วย การใช้เครื่องมือที่มันใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม เอามาประยุกต์ใช้กับโปรเจกต์ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้มันควรจะมี Implement อยู่ในโรงเรียนครับ

จากปัญหาของการศึกษาที่กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องทำ HackVCIS หรือไม่

จริงๆ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยครับ จริงๆ แล้ว ระบบการศึกษาที่เขาไม่ได้การ Guideline และมีการทำงานภายใต้ความกดดันจริงๆ คือผมอยากจะให้ Hackathon เป็นประสบการณ์สำหรับนักเรียนทุกคน ว่าการทำงานภายใต้ความกดดันมันเป็นยังไง และการสร้างโปรเจกต์จริงๆ โดยใช้เครื่องมือจริงๆ ที่โรงเรียนไม่ได้สอน มันทำยังไง มันก็เป็นหนึ่งจุดที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำ HackVCIS นี้ด้วยครับ

อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากทำ HackVCIS คือผมไปเข้าร่วม Hackathon อื่นด้วยครับ ตอนนั้นผมไปเข้าร่วม Hackathon ของ MIT ครับ ซึ่งพอผมเห็นระบบของเขาแล้ว ผมรู้สึกประทับใจ คือปกติแล้ว Boundary ของนักเรียนส่วนใหญ่ครับ เขาจะไม่กล้ามีการฟอร์มทีมกันระหว่างนักเรียนมัธยมกับนักเรียนมหาวิทยาลัยครับ แต่ว่าพอผมไปเห็น HackMIT คือเด็กอายุ 13-18 ปี กับเด็กมหาวิทยาลัย สามารถฟอร์มทีมกันได้ครับ ซึ่งผมก็ไปฟอร์มทีมกับรุ่นพี่มหาลัยเหมือนกัน แล้วเป็นการฟอร์มทีมแบบต่างโรงเรียนด้วย คือเป็นการ Break Boundary ว่าเราจะต้องทำงานกับคนที่เรารู้จักเท่านั้น หรือฟอร์มทีมกับคนที่เรารู้จักเท่านั้น แต่ว่าใน HackMIT มีการ Break Boundary ตรงนั้น ผู้เข้าร่วมมาจากหลายๆ ที่ มีการฟอร์มทีมกันในนั้นเลย ซึ่งผมเลยเอาจุดนั้นใช้ใน Hackvcis เพื่อที่จะ Break Boundary ตรงนั้น ให้นักเรียนสามารถ Step out of the comfort zone ได้ เพื่อที่จะทำงานกับคนอื่นได้ดีขึ้นครับ

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ได้จาก HackVCIS คือการได้ทำงานจริง ทำให้เขาเห็นได้เห็น Guideline อะไรบางอย่างจากการเข้าร่วมในครั้งนี้?

ใช่ครับ คือจะได้การทำงานจริง ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย เพราะว่าใน HackVCIS เราก็มี Workshop เหมือนกันครับ สำหรับใครที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านโค้ดมาก่อน เราก็จะมี Workshop พวก Introduction to Python, Introduction to Web Development ให้ด้วยครับ เพื่อที่เขาจะได้เอาทักษะนั้นมาประยุกต์ใช้ทำโปรเจกต์จริง ภายใน 36 ชั่วโมงครับ

ภาพบรรยากาศการเตรียมงาน HackVCIS

ทำไมเราถึงทำทั่วโลก และเป็นระบบออนไลน์ด้วย

ผมลองคิดดูครับ ถ้าเกิดเราจัดแค่ในประเทศไทย สุดท้ายแล้วผู้เข้าร่วมทุกคน ก็จะไม่ได้ Step out of the comfort zone โดยการที่สามารถเป็น Global Citizen และทำงานได้กับหลายๆ ชาติ ที่เป็น Global เพราะฉะนั้น ผมเลยอยากที่จะจัดออนไลน์ให้มีความหลากหลายสูงที่สุด เพื่อที่จะได้มีการทำงานกับคนที่หลากหลายครับ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่สำหรับนักเรียนด้วยครับ

ในฐานะคนริเริ่มในการจัด HackVCIS ซึ่งจัดทำเป็นเป็นปีแรก มีอุปสรรคเกิดขึ้นบ้างมั้ย

ก็มีอยู่ครับ บางครั้งก็มีคุณครูบางกลุ่มที่ไม่สนับสนุนด้วย แต่ว่าจริงๆ คุณครูส่วนใหญ่เขาสนับสนุนครับ แต่ว่ามีคนบางกลุ่มที่เขาก็ไม่สนับสนุนตรงนี้เหมือนกัน แล้วก็จะมีอุปสรรคเรื่องของ Marget ของ HackVCIS ด้วยครับ เพราะว่าเราเจอปัญหาหลายๆ อย่างระหว่างการทำ อย่างเช่น การที่โดน Google Ads Account โดนแบนโดยไม่มีสาเหตุ จริงๆ Instagram Account แรก ก็โดนแบนโดยไม่มีสาเหตุเหมือนกันครับ จริงๆ มันเลยเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่เราได้เจอปัญหานี้ แล้วเรามาแก้กันกับคนในทีมด้วยครับ คือช่วยกันแก้ปัญหาตรงนี้ครับ

เห็นอะไรจากความพยายามในการทำ HackVCIS ของเราบ้างมั้ย

สิ่งที่ผมเห็น ทั้งในตัวผม ทั้งทีมงานของ HackVCIS ทุกๆ คน รวมถึงคุณครูที่สนับสนุนด้วยครับ โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์วารี ภัทราวณิชย์ ครับ คือผมเห็นความความมุ่งมั่นของทีมงาน HackVCIS ทุกคน ที่อยากจะเห็นงานนี้เกิดขึ้น อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นผู้เข้าร่วม HackVCIS นั้น ออกจาก Comfort Zone เพื่อที่จะสามารถทำงานกับคนอื่น ได้แบบ Inclusive และ Effective ขึ้น อยากให้ผู้เข้าทุกคนสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ จาก Hackathon นี้ด้วยครับ

มองตัวเองไว้ในอนาคต 3-4 ปีอย่างไร

ถ้าเกิดในช่วงของมหาวิทยาลัย ผมอยากจะเข้ามหาวิทยาลัยใน Ivy League ครับ หรือไม่ก็ Stanford University แต่ว่าเราก็ต้องหาทุนเพื่อที่จะไปเข้ามหาวิทยาลัยตรงนั้น เพราะว่าค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยแพงมาก ซึ่งอาจจะต้องหาทุนสักประมาณ 90% ขึ้นไปครับ (หัวเราะ) เพราะว่าค่าใช้จ่ายแพง ครอบครัวไม่ได้มีแบบฐานะร่ำรวยอะไรครับ มีเป้าหมายว่าอยากจะไปอยู่ในมหาวิทยาลัยตรงนั้น ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะเรียนว่า ไม่ Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) ก็อาจจะเป็น Biomed ครับ (วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์)

สิ่งที่อยากทำในอนาคตเพิ่มเติม คือ สานต่อโปรเจกต์เครื่องช่วยฟังของผมครับ อยากจะทำต่อเพื่อที่จะทำให้มันสำเร็จจริงๆ แล้วสามารถช่วยผู้พิการทางการได้ยินได้จริงๆ ซึ่งตรงนี้ จากคราวที่แล้วหลังจากจบGoogle Science Fair ตอนนี้ Prototype ตัวแรกของเราออกมาสำเร็จแล้วครับ ตอนนี้เรากำลังรอให้ Circuit Board ให้เล็กลงอยู่ครับ ซึ่ง Circuit Board ตอนนี้ Prototype มัน ประมาณเท่าฝ่ามืออยู่ แต่ว่าเราจะพยายามให้ Circuit Board เล็กลงมากที่สุดสำหรับการใส่ครับ แล้วในอนาคตแบบไกลๆ เลย ผมอยากจะเป็นผู้ประกอบการครับ อยากจะตั้งบริษัทเอง แล้วก็อยากจะตั้งบริษัทที่สามารถช่วยคนได้ สร้าง Impact ให้กับโลกได้ครับ อันนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดของผมครับ

การศึกษาในประเทศไทย มันควรที่จะต้องปรับอย่างไรต่อไป

คือคุณครูบางคนที่เคยมีประสบการณ์ด้วย มีบางคนที่ไม่ Respect ความคิดเด็ก หรือไม่ได้ฟังเสียงเด็กครับ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า คุณครูควรจะ Respect เด็ก และฟังเสียงเด็ก แล้วหลังจากนั้น ถ้าคุณครูสามารถโชว์ Respect ให้เด็กได้แล้ว เด็กจะ Respect คุณครูกลับไปเอง คือถ้าเกิดแก้จุดนี้ มันจะเป็นการแก้ปัญหาระหว่างครูกับนักเรียนที่ไม่ให้ความ Respect กันครับ นอกจากนั้นคือเรื่องการสอบและวิชาสอน คือวิชาสอน ผมคิดว่าเราควรจะมีการเพิ่มวิชาที่สามารถเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริงมากกว่า แทนที่จะเรียนเฉพาะทฤษฎีครับ

อย่างเช่น เรียนภาษาโปรแกรมมิ่งอันหนึ่ง แทนที่จะเรียนแค่ภาษาโปรแกรมมิ่งเพื่อเอาไปสอบ เราอาจจะเรียนภาษาโปรแกรมมิ่งพวก Framework ว่าเอาไปใช้ทำโปรเจกต์จริงๆ ยังไง จากภาษาตรงนี้ครับ แล้วก็ในเรื่องของหลักสูตรท่องจำ ที่เวลาเรียนแล้ว เอาไปจำเพื่อสอบอย่างเดียว แล้วเราไม่ได้อะไรจากการที่จำตรงนั้น ผมคิดว่าควรเปลี่ยนครับ อย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ อาจจะไม่ต้องบอกก็ได้ว่าปีนี้ คนนี้ทำอะไร ถ้าจำไป เราก็ไม่ได้เอาไปใช้ในชีวิตจริงอยู่ดี ซึ่งผมต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นด้วย อาจจะเป็นการจัดการเรียนที่ไม่ได้มีข้อมูลมาจากฝ่ายเดียว เป็นข้อมูลที่มาจากหลายแหล่ง อย่างเช่น ถ้าเปรียบเทียบกับวิชาประวัติศาสตร์ คือเราไม่ต้องเรียนแต่ Fact (ข้อเท็จจริง) อย่างเดียว แต่เราเรียนว่ามี Source จากตรงไหนบ้าง มี Source A, Source B, Source C แล้วหลังจากนั้น ให้มาวิเคราะห์ ไม่มีผิดไม่มีถูกครับ จากที่ยกตัวอย่าง ผมคิดว่ามันจะเป็นการส่ง เสริม Logic (เหตุผล) และความคิดของแต่ละคนได้ดีกว่า ดีกว่าการที่มาท่องจำว่าคนนี้ทำอะไรครับ

คิดว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จตั้งแต่เด็กมั้ย

ส่งผลเยอะมากเลยครับ คือคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนผมตั้งแต่เด็กๆ เลย ตั้งแต่เด็กๆ ที่ผมชอบแงะของ ชอบดูว่าด้านในสิ่งต่างๆ ทำงานยังไงใช่มั้ยครับ คือคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ห้ามผม แต่ว่าให้ผมสำรวจไปเลย คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ด่าว่า “เฮ้ย ลูกอย่าทำอย่างนี้ มันเสียของ” แทนที่จะห้ามอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่บอกว่า “ลูกแกะเลย” แต่ว่าไม่ใช่แกะของแพงๆ นะครับ (หัวเราะ) อย่างเช่น อาจจะเป็นลำโพง Bluetooth เก่าๆ เพื่อที่จะให้รู้ว่า Technical ทำงานยังไง ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนมาตลอดในสิ่งที่ผมอยากทำ มันก็ทำให้ผมเป็นตัวเองได้ในวันนี้ครับ

ฮับเรียนรู้นอกห้องเรียนมากมาย ทำไมเราถึงสนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือจากวิชาเรียน

จริงๆ มันเป็นความชอบส่วนตัวของผมเลยครับ ตั้งแต่เด็กๆ คือเป็นคนชอบเล่นกีต้าร์ เป็นคนชอบร้องเพลง ซึ่งพอคุณพ่อคุณแม่ผมเห็นแววตั้งแต่เด็กๆ ว่าลูกชอบอะไร ท่านก็จะส่งเสริมตลอด มันทำให้มีการเรียนรู้ทักษะใหม่ด้วยครับ ถามว่าทำไมผมไม่ไปเรียนเสริมพวกวิชาแบบเรียน ผมคิดว่าเราน่าจะใช้เวลากับสิ่งที่เรา Enjoy ในกิจกรรมพวกนี้มากกว่า แทนที่จะไปนั่งใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนกับสิ่งที่มันอยู่ในหนังสือครับ แล้วการที่เราเรียน Extracurricular Activities ทั้งหลาย จริงๆ มันส่งผลดีครับ เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างมัน Connected กันหมดในชีวิตเราครับ เหมือนกับเรื่องการยิงธนู การร้องเพลง เรื่องเทคโนโลยี เรื่องวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าทุกอย่างมัน Connected กันหมดเลย

ตอนที่ผมทำตัวเครื่องช่วยฟัง มันเหมือนกับว่า เป็นจุดศูนย์รวมของของสิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดในชีวิต เราค้นพบตัวเครื่องช่วยฟังได้ หรือ Bone Conduction ได้ เพราะว่าดนตรี เพราะว่าเราเล่นกีต้าร์ เราร้องเพลง จริงๆ ผมทำตัวซอฟต์แวร์ควบคู่กับ ES ด้วยครับ เป็นซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Easy Speak ซอฟต์แวร์สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ที่เขาจะฝึกใช้กะบังลมในการเปล่งเสียง เพราะว่าปกติ เวลาคนหูหนวกเขาเปล่งเสียง เขาเปล่งเสียงแบบไม่มีแรง หรือว่าไม่สามารถควบคุมเสียงตัวเองได้ ซึ่งผมทำซอฟต์แวร์นั้น ก็มาจากทักษะที่ผมไปฝึกร้องเพลงมา เป็นทักษะในการร้องเพลง คือใช้กะบังลมครับ นั่นทำให้ผมคิดว่าทุกอย่างมัน Connected กันหมดครับ

เราคิดว่าวัยวุฒิยังจำเป็นอยู่มั้ยสำหรับโลก?

จริงๆ ผมเชื่อเลยว่า การที่จะดูคน ไม่ควรที่จะดูอายุแน่นอนครับ เพราะว่ามัน Based on ประสบการณ์ของทุกคนหมดเลย เรื่องของทักษะทุกอย่าง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเลยครับ อย่างเด็กบางคนสามารถเขียนโค้ดได้ตั้งแต่ 3-4 ขวบ สามารถร้องเพลงได้ตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ ซึ่งบางคนร้องเก่งกว่าผู้ใหญ่อีก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราไม่ควรตัดสินใครที่อายุครับ เราควรจะดูคนได้ที่ประสบการณ์มากกว่าครับ

คิดว่า Hackvcis จะให้อะไรกับคนที่มาเข้าร่วมบ้าง

ผมคิดว่า Hackvcis จะเปิดประสบการณ์ใหม่สำหรับผู้เข้าร่วมที่เข้ามา ซึ่งประสบการณ์นั้น รวมถึงการที่จะ Step out of the comfort zone เพื่อที่จะทำงานในสิ่งที่ตัวเองอาจจะไม่เคยทำมาก่อน อย่างเช่น บางคนอาจจะไม่เคยเขียนโค้ดมาก่อน เราเรียนโค้ดปุ๊บ เรามานำไปปฏิบัติเลย เรียนรู้วิธีการทำโปรเจกต์ในระยะเวลาที่จำกัดครับ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วย อย่างเช่น ทักษะในเรื่องของการสื่อสาร อาจจะเป็นทักษะทางด้าน Technical ทางด้าน Coding ด้วยครับ ก็สำหรับพี่ ๆ น้อง ๆ คนไหนที่อายุ 13-18 ปี แล้วสนใจทางด้านเทคโนโลยี อยากจะลองเปิดประสบการณ์ใหม่ สามารถเข้ามาสมัครได้เลยที่ hackvcis.com ครับ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า