fbpx

ชุดภาพที่ว่าด้วย ‘ป้ายหาเสียง’ และนโยบายพัฒนาเมืองที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

ในยุคสมัยที่แพลตฟอร์มออนไลน์มากมายกระจายไปทั่วทุกหย่อม รูปแบบการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ นั้นเปิดกว้างยิ่งกว่าขอบเขตของจักรวาล กรรมวิธีในการแสดงความเห็น หรือวิสัยทัศน์บางอย่างจึงหลากหลายด้วยเช่นกัน ที่สังเกตได้ชัดเจนมาก (หรือไม่สังเกตก็เห็น) คือรูปแบบการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่กำลังดำเนินอยู่  และพรั่งพรูไปด้วยการสร้างและสรร (หา)

ไม่ว่าจะเป็นรถแห่พร้อมเครื่องเสียง รถสองแถว รถสามล้อ โบรชัวร์ กระทั่งสแกนรหัสคิวอาร์ (QR Code) เพื่อเข้าไปอ่านนโยบาย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แต่ละพรรคจะประยุกต์ขึ้นมาให้เข้ากับยุคสมัย แต่อย่างไรก็ดี ‘ป้ายหาเสียง’ ก็เป็นวิธีสามัญประจำพรรคที่จำต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจฉันใด ป้ายหาเสียงก็เป็นหน้าต่างของผู้สมัครฉันนั้น ด้วยกลไกการทำงานของป้าย ที่ส่งผลต่อความคิดประชาชนตั้งแต่รากหญ้าจนยอดฟ้า เพราะมันสามารถบอกแนวคิด วิสัยทัศน์ และนโยบายฉาบฉวยของผู้ที่จะเข้ามาบริหารเมืองได้อย่างดี

ชุดภาพและความเรียงบทนี้ จึงจะพาผู้อ่านไปสำรวจสิ่งตกค้างจากนโยบายการพัฒนาเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ผ่านสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิด แก่ เจ็บ แต่ไม่เคยตายข้างหลังป้ายหาเสียง

มวลมหาขยะ!

23 ปีที่ผู้เขียนเติบและโตในกรุงเทพฯ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนหาเจอตลอดโดยไม่ต้องเรียกมารดามาช่วยหาก็คือ ‘ขยะ’ ไม่ว่าจะต้นไม้หน้าบ้าน ป้ายรถเมล์ หรือตามทางเดิน ล้วนมีเศษเล็กเศษน้อยของขยะ กระทั่งขยะกองยักษ์เกลื่อนกลาดอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าพนักงานจะกวาด รถบรรทุกขยะจะมาบ่อยเพียงใด ขยะก็พุดเป็นดอกเห็ดบ่อยเพียงนั้น ราวกับเป็นวัฐจักรอุบาดที่วนอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น และกลายเป็นคำถามที่ยากจะมีคำตอบ

แม้เราจะมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 1) มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 แต่ถ้าเทียบกับเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 30 ปี ไม่ว่าจะกี่แผนพัฒนากรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างเด็ดขาดเสียที

ในช่วงเวลาผู้เขียนเริ่มประสีประสากับการเมือง ซึ่งอยู่ในรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พอดี ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลก็หมายหมั่นที่จะยกระดับ ‘ปัญหาขยะ’ ให้เป็นวาระแห่งชาติและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2557 และมีมติเห็นชอบกับ ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย พ.ศ.2559-2564’ อีกราว 2 ปีถัดมา ซึ่งในแผนแม่บทฯ นั้น มีแผนปฏิบัติการที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทยไร้ขยะตามแนวทางประชารัฐ’ (แหม่ชื่อคุ้นๆ) และแผนนี้กินระยะเวลา 1 ปี

ซึ่งหลักๆ มันเป็นแผนที่ยึดเอาแนวทางที่จะทำเมืองให้กลายเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) โดยผสมผสานหลัก 3Rs ก็คือ Reduce (คิดก่อนใช้), Reuse (ใช้ซ้ำ), และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) และดึงภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นมาช่วยบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และภาคศาสนา แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่สามารถไปสำรวจได้ว่าในระยะ 1 ปีนั้น ปัญหาขยะถูกแก้ไขไปอย่างไรบ้าง แต่หากมองผ่าน ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย พ.ศ.2559-2564’ ซึ่งตอนนี้ก็เข้าสู่ปีพ.ศ.2565 มาหลายเดือนแล้ว ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่า ‘ปัญหาขยะ’ จะถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบและยั่งยืนที่สมกับคุณสมบัติ ‘วาระแห่งชาติ’ สักนิด

ทั้งยังมีการแก้ไข ‘พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง’ ฉบับปีพ.ศ.2560 (ฉบับที่ 2) ให้เก็บค่าธรรมเนียมการเก็บและขยะมูลฝอยจากครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 40 บาทเป็น 150 บาทต่อเดือน โดยให้เหตุผลว่า ‘ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการจัดการขยะ’ ซึ่งมองจากดาวอังคารก็รู้ว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนอย่างทุเรศที่สุด

พันกันยิ่งกว่าสายหูฟัง คือสายไฟกรุงเทพฯ !

นอกจากกลิ่นสาปการบริหารงานที่ย่ำแย่ในเรื่องของขยะ ‘เสาและสายไฟ’ ก็เป็นปัญหาที่อยู่เป็นศรีแก่กรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน ซึ่ง ‘โครงการนำสายไฟ-สายสื่อสารลงดิน’ โดยการไฟฟ้านครหลวงนั้นมีมานานกว่า 37 ปี แผนช่วงริเริ่มจะอยู่ระหว่างปีพ.ศ.2527-2557 กินระยะทางกว่า 88.3 กิโลเมตร และประกอบด้วยเส้นทางกว่า 10 เส้นทาง แต่เมื่อครบกำหนดแผน มีระยะทางเสร็จสิ้นไปเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น 

และในปีพ.ศ.2558 ก็มีแผนที่สองที่ต่อเนื่องกับแผนช่วงริเริ่ม ที่มีชื่อว่า ‘โครงการรองรับมหานครอาเซียน’ โดยอยู่จะดำเนินการระหว่างปีพ.ศ.2527-2567 กินระยะเวลาทางกว่า 127.3 กิโลเมตร แต่ราวเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการปรับเพิ่มระยะทางเป็น 236.1 กิโลเมตร! ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางที่ปรับเพิ่มทำผู้เขียนตะลึงตาแตกไปพักใหญ่ เพราะหากมองจากแผนช่วงริเริ่ม เราใช้เวลาเฉลี่ย 10 ปีต่อสายไฟ 10 กิโลเมตร ก็คงต้องมาดูกันว่าระยะทางกว่า 236.1 กิโลเมตร หน่วงงานที่ทำงานและเกี่ยวข้องจะใช้เวลาเท่าไหร่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท่านๆ วางไว้

ด้วยข้อครหาดังกล่าว ก็ชวนผู้เขียนตั้งคำถามว่าทำไมการเอาสายไฟฟ้าลงดินถึงยากเย็นนัก ทั้งยังใช้เวลามหาศาลแต่ผลลัพธ์กลับไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย 

นั่นก็เพราะว่าบนเสาคอนกรีตหน้าตาไม่เป็นมิตรนั้นไม่ได้มีเพียงสายไฟฟ้า แต่ยังมี ‘สายสื่อสาร’ ซึ่งรับผิดชอบโดย กสทช. และ ‘สายสื่อสารกล้องวงจรปิด’ ซึ่งรับผิดชอบโดยกทม. ซ้ำร้ายในสายต่างๆ นั้นก็มีประเภทสายแยกย่อยลงไปอีก ประเภทสายเยอะ เจ้าของก็มีหลากหลาย แต่เมื่อทุกสายมัดรวมอยู่บนเสาที่รับผิดชอบโดยการไฟฟ้านครหลวง เราก็เลี่ยงความบรรลัยที่จะเกิดไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการทำงานที่เหลื่อมกัน ที่ส่งผลให้เกิดการปัดความรับผิดชอบไปให้หน่วยงานอื่น และทำให้ต้องใช้งบประมาณเงินและเวลาไปมหาศาลแต่ไร้ซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

ที่เลวร้ายที่สุดก็คงเป็นเรื่องการที่ ‘เสาและสายไฟ’ มันทำให้ชีวิตของประชาชนผู้เสียภาษีต้องอยู่ในเมืองที่ไร้ซึ่งความปลอดภัย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีผู้เสียชีวิตหรือประสบอุบัติเหตุจากเสาและสายไฟบ้างรึเปล่า แต่การเดินผ่าน หรือนั่งรถผ่านในบางพื้นที่ต้องเรียกว่า ‘เสี่ยงตาย’ เพราะบางเสาเอนเอียงจนแทบจะระนาบกับพื้น บางเสาสายไฟหย่อนลงมาแทบจะทิ่มตา สำหรับผู้เขียนนอกเหนือไปจากการเร่ง (?) รีบเอาสายไฟลงดิน ซึ่งหนึ่งที่ควรทำคู่กันไปก็คือ ‘การจัดการกับเสาและสายไฟที่ชำรุดหรือไม่ได้ใช้แล้ว’ เพราะปัญหานี้มันใกล้ตัวประชาชนยิ่งกว่าอะไรเสียอีก

ทางเท้าแบบนี้ให้พี่คุณมาเดินเถอะ

จากที่เราเห็นๆ กัน ไม่ว่าจะเสาไฟล้ม สายไฟพาดรุงรัง หรือขยะเกลื่อนกลาดเต็มทาง ล้วนเกิดขึ้นบนถนนและทางเท้าทั้งสิ้น ซ้ำร้ายที่ ‘ทางเท้า’ ก็เผชิญกับปัญหาของตัวอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นทางเดินไม่สม่ำเสมอ มีร่องให้น้ำขัง พื้นยุบ มีสิ่งกีดขวางมากมาย รถมอเตอร์ไซค์ขับขึ้นฟุตปาธ กระทั่งการออกแบบที่ไม่เอื้อต่อผู้ที่มีความพิการ แต่กลับไม่มีเรื่อง ‘การพัฒนาทางเท้า’ ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ เลย กว่ากรุงเทพฯ จะตื่นตัวในประเด็นทางเท้า ก็ปาเข้าไปช่วงแผนพัฒนากรุงเทพระยะ 20 ปี (ปีพ.ศ.2556-2575) ในยุคที่สุขุมพันธุ์ บริพัตร นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ ซึ่งจากปีแรกของแผนพัฒนาฯ จน ณ วันนี้ ก็เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่ดูเหมือนว่า ‘ทางเท้า’ จะไม่ได้พาเราเดินไปไหนได้เลย

ซึ่งปัญหาที่หยุดการพัฒนาทางเท้าเอาไว้ก็คือ ‘การให้ความสำคัญ’ หากเรานำงบประมาณของหน่วงงานที่รับผิดชอบเรื่องทางเท้า (สำนักการโยธา) มากระเทาะดู ในปีพ.ศ.2564 มีงบประมาณกว่า 1,894,070,000 บาท งบประมาณที่ว่ามีโครงการกว่า 67 โครงการที่รอดำเนินงาน แต่โครงการสำหรับทำถนนมีถึง 36 โครงการและใช้งบประมาณกว่า 1,153,661,000 บาท มีเพียง 19 โครงการที่ทำเรื่องทางเท้าโดยเฉพาะ (และอีก 12 โครงการที่ทำทั้งทางเท้าและถนน) แต่สำหรับผู้เขียนทั้งถนนและทางเท้าเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกัน การพัฒนาจึงควรไปในแนวทางเดียวกัน ถ้า ‘ความสำคัญ’ ของทางเท้ายังไม่เกิดขึ้นในทัศนะของผู้ที่มีอำนาจในการทำงาน ผู้เขียนก็แทบจะหมดหวังว่าเราจะมีทางเท้าที่ดีสำหรับ ‘ทุกคน’ ได้อย่างไร

แม้ทั้งสามปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาหลักๆ ที่ผู้คนในกรุงเทพฯ ทุกคนล้วนประสบพบเจอกันหมด อย่างไรก็ดี ก็ยังมีปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้าที่ยังรอการแก้ไข ไม่ว่าจะเรื่องน้ำท่วม รถติด มลพิษ พื้นที่สาธารณะ การกระจายอำนาจ ฯลฯ ซึ่งการแก้ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้ที่มีอำนาจในการเปลี่ยนไม่ต้องการที่จะเปลี่ยน

แต่ในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่เสียงของเราจะดังกระหึ่มไปทั่วกรุงเทพฯ และตะโกนทุกความต้องการของเราออกไป

อย่าลืมใช้สิทธิ์และเสียงอันมีค่าของพวกคุณกัน


อ้างอิง

นโยบายประชารัฐ : แนวทางการจัดการขยะในประเทศไทย. ณิชชา บูรณสิงห์. https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=42894

ขยะเยอะ ทั้งกลบ ทั้งเผา ยังไง๊ ยังไงก็แก้ไม่จบ. กฤตนัน ดิษฐบรรจง. ณัฐภัทร มาเดช. https://themodernist.in.th/trashinbkk

ผ่างบ กทม. 7.9 หมื่นล้าน เข็นบิ๊กโปรเจค-แก้น้ำท่วมปี 65. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/social/964764

ถนนแย่ ทางเท้าพัง กทม. ทำอะไร แค่ไหนบ้าง. Rocket Media Lab. https://rocketmedialab.co/bkk-road-pavement/

แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564). กรมควบคุมมลพิษ. https://www.pcd.go.th/publication/5061/

กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ เริ่มนำสายไฟลงใต้ดินแล้ว 37 ปี เสร็จแล้ว 48.6 กม. TNN ONLINE. https://www.tnnthailand.com/news/social/97578/

มหากาพย์สายไฟฟ้าลงดิน. ณัฐภัทร มาเดช. https://themodernist.in.th/cable-problem

ตามรอยรัสเซลล์ โครว์: ถนนเส้นไหนเอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินบ้าง. Rocket Media Lab.  https://rocketmedialab.co/bkk-wireless/ 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า