fbpx

82 ปีรอบปฐมทัศน์ Gone with the Wind หนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกา

ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์อเมริกัน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกจัดอันดับให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในระดับตำนาน ไม่ใช่แค่เพราะหนังมีองค์ประกอบศิลป์ที่ดีทั้งแง่งานสร้าง บทภาพยนตร์ หรือการกำกับภาพยนตร์เท่านั้น แต่ในอีกแง่ มันได้ถูกทดสอบด้วยเวลามาแล้วว่าภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถดำรงอยู่เหนือกาลเวลาที่ผันผ่านไป ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่สิบปี ตัวภาพยนตร์เหล่านั้นยังคงทำหน้าที่ของมันในแง่ของการถ่ายทอดเรื่องราวกินใจ ระทึกใจ ตื่นตา ผ่านองค์ประกอบอันยอดเยี่ยมของศิลปะภาพยนตร์ ได้ไม่ต่างกับครั้งแรกที่มันออกมาอวดสายตาผู้ชม 

บรรดาคอหนังเก่า นักศึกษาวิชาภาพยนตร์ ตลอดจนผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์คงคุ้นชื่อภาพยนตร์อย่าง Citizen Kane (Orson Welles, 1941), Vertigo (Alfred Hitchcock, 1958), 2001: A Space Odyssey (Stanley Kubrick, 1968), The Godfather (Francis Ford Coppola, 1972) ทั้งหมดนี้ต่างเป็นภาพยนตร์ในระดับขึ้นหิ้ง ที่เป็นที่เคารพไว้ให้คนทำหนังหรือนักดูหนังรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ แต่หากกล่าวถึงภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอีกเรื่องที่ดูจะมีความใกล้ชิด ‘ความเป็นอเมริกันชน’ ได้มากที่สุด ในฐานะที่ตัวภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งของอเมริกันชน และเป็นภาพยนตร์ที่อาจพูดได้ว่าเป็น ‘มหากาพย์’ ทั้งในแง่ของเรื่องราวและงานสร้างสุดยิ่งใหญ่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

หนังเรื่องนั้นคือ Gone with the Wind โดยผู้กำกับ Victor Fleming ที่ออกฉายในปี 1939 (พ.ศ.2482)

ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากนวนิยายเล่มหนาเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า Gone with the Wind ที่เขียนโดย มาร์กาเรต มิตเชลล์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1936 นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ของอเมริกัน เพราะนี่คือหนึ่งในนวนิยายที่ขายดีที่สุดในโลก ด้วยยอดขายมากกว่า 33 ล้านเล่ม แม้ในปัจจุบันก็ยังคงขายได้มากกว่า 2 แสนเล่มต่อปี และในปี 2014 ก็ยังถูกจัดอันดับให้เป็นหนังสือที่คนอเมริกันอ่านมากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยเป็นรองแค่หนังสือคัมภีร์ไบเบิ้ล (มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วิมานลอย โดยสำนักพิมพ์แสงดาว)

นอกจากคุณค่าทางด้านภาษาวรรณกรรมในระดับครูแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนว่าเหตุใดนวนิยายเล่มนี้ถึงได้เป็นที่นิยมอย่างมากตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะตัวนวนิยายนั้นเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่อิงประวัติศาสตร์อเมริกันในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในช่วงปี 1861 – 1865 โดยมีตัวละครอย่าง สกาเล็ตต์ โอฮาร่า หญิงสาวชนชั้นสูงที่ชีวิตต้องพลิกผันไปตามกระแสสงคราม ผ่านเรื่องราวความรักโรแมนติกสุดซาบซึ้ง และความโหดร้ายของสงครามที่ส่งผลถึงวิถีชีวิตชาวอเมริกันอย่างสมจริงและสะเทือนใจ

แต่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนนวนิยายมาขึ้นจอเงิน ก็ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้กับ เดวิด โอ. เซลซ์นิก โปรดิวเซอร์มือทองของฮอลลีวูดในช่วงนั้น ที่ได้มีโอกาสได้ลองอ่านต้นฉบับของนวนิยายก่อนที่จะวางจำหน่าย ซึ่งด้วยกระแสสังคมชาวอเมริกันที่เฝ้ารอนวนิยายเรื่องนี้อย่างใจจดใจจ่อ เซลซ์นิกจึงมั่นใจว่านิยายเรื่องนี้ต้องโด่งดังมากแน่นอน เขาจึงไม่รีรอที่จะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ด้วยราคา 5 หมื่นดอลลาร์ (ซึ่งนับเป็นการซื้อลิขสิทธิ์นิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ราคาแพงที่สุด ณ เวลานั้น) 

เดวิด โอ. เซลซ์นิก จึงหมายมั่นและมีความทะเยอทะยานเป็นอย่างมาก กับความตั้งใจที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ออกมายิ่งใหญ่และยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ฮอลลีวูดเคยสร้างมา และในช่วงกลางปี 1936 เขาก็เริ่มรวบรวมบรรดาคนทำหนังหัวกะทิของวงการเข้ามาในโปรเจกต์นี้ และเริ่มเดินเครื่องสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทันที 

ว่ากันว่า เรื่องราวความวุ่นวายและปัญหาร้อยแปดในกองถ่ายหนังเรื่อง Gone with the Wind จะต้องติดอันดับความดราม่าและอุดมไปด้วยปัญหางานสร้างและปัญหาในกองถ่ายไม่รู้จบเป็นอันดับต้น ๆ ในวงการ ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนผู้กำกับ การคัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงความเจ้ากี้เจ้าการของโปรดิวเซอร์ จนกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานฮอลลีวูดในแง่ของปัญหาชวนกุมขมับในกองถ่ายให้เล่าขานจนถึงปัจจุบัน 

จอร์จ คิวกอร์ ผู้กำกับหนังดราม่าที่ฝีมือหน้าจับตาในตอนนั้น ถูกวางตัวให้มากำกับภาพยนตร์เป็นคนแรก เพราะเซลซ์นิกเล็งเห็นว่าฝีมือการกำกับของคิวกอร์ที่ผ่านมา มักจะงัดอารมณ์ของตัวละครหญิงอันละเอียดอ่อนออกมาได้ดี มาถึงขั้นตอนการขั้นเลือกนักแสดง เอาเข้าจริงในเวลานั้นก็มีนักแสดงหญิงชื่อดังมากมายที่พร้อมตกปากรับคำมารับบทตัวละครสการ์เล็ต โอฮาร่า แต่ตัวของเซลซ์นิกเองที่รู้สึกว่าเสี่ยงเกินไปกับการนำนักแสดงที่มีชื่อเสียงมารับบทนี้ เพราะภาพจำของเธอจากหนังเรื่องก่อน จะติดตัวจนยากจะให้คนดูเชื่อ 

เซลซ์นิกจึงตัดสินใจประกาศรับสมัครคัดเลือกคนที่จะมารับบทเป็นสการ์เล็ต โอฮาร่า โดยมีหญิงสาวทั่วอเมริกามากกว่า 1400 คน สมัครเข้ามาคัดตัวในบทนี้ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องของบทภาพยนตร์ที่เซลซ์นิกดูจะไม่พอใจกับบทหนังร่างแรกของมือเขียนบทอย่าง ซิดนีย์ โฮเวิร์ด เท่าไหร่นัก จนโฮเวิร์ดถอนตัวออกไป นำมาซึ่งมือเขียนบทคนอื่น ๆ ที่ต้องเข้ามาแก้บทให้ตรงใจเซลซ์นิก แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครเขียนออกมาถูกใจเซลซ์นิกสักคน จนเซลซ์นิกต้องลงมือเขียนบทด้วยตัวเอง 

เวลาผ่านไปจนถึงกำหนดเปิดกล้อง ไม่ใช่แค่บทภาพยนตร์ยังไม่เสร็จดี แต่ปัญหาเรื่องนักแสดงนำในบทสการ์เล็ตก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เซลซ์นิกจึงตัดสินใจถ่ายทำฉากใหญ่ที่สุดในหนังอย่างฉากเผาเมืองแอตแลนต้าไปก่อน โดยใช้วิธีให้นักแสดงแทน โดยใช้ผ้าปิดใบหน้าเอาไว้ตลอดเวลา และนำฉากเก่าจากหนังเรื่องก่อนที่เซลซ์นิกเป็นโปรดิวเซอร์มาใช้เป็นฉากหลังที่ถูกเผาไหม้ เพื่อเป็นการประหยัดงบและทำลายฉากเก่าไปในตัว

ระหว่างที่เซลซ์นิกกำลังวุ่นอยู่กับการถ่ายทำฉากเผาเมืองแอตแลนต้า ไมรอน เซลซ์นิก พี่ชายของเดวิด เซลซ์นิก ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการทำงานในกองถ่าย พร้อมกับหญิงสาวคนหนึ่ง เธอคนนั้นคือ วิเวียน ลีห์ 

เธอคือนักแสดงชาวอังกฤษวัย 25 ปีที่มีชื่อเสียงพอสมควรในบ้านเกิด นอกจากนั้นเธอยังเป็นภรรยาของ ลอเรนซ์ โอลิเวีย นักแสดงอังกฤษชื่อดังในเวลานั้น ที่เดินทางมาสหรัฐอเมริกาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์พอดี วิเวียนจึงเดินทางติดตามมาเพื่อคัดตัวในบทสการ์เล็ต ซึ่งทันทีที่วิเวียนเข้าทดสอบหน้ากล้อง ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับเซลซ์นิกและคิวกอร์ได้ทันที เพราะนอกจากใบหน้าอันงดงามและทักษะในการพูดสำเนียงอเมริกันใต้ได้อย่างคล่องแคล่ว เธอยังมีเชื้อสายไอริชและฝรั่งเศสตามแบบที่นิยายได้บรรยายเอาไว้อีกด้วย เมื่อเป็นดังนั้น การค้นหานักแสดงในบทสการ์เล็ต โอฮาร่า ก็สิ้นสุดลงทันที และตัวหนังก็พร้อมเดินหน้าถ่ายทำได้อย่างเต็มที่

แต่ปัญหาอื่นที่ยังค้างคาก็ตามมา เมื่อบทภาพยนตร์ที่เขียนโดยเซลซ์นิกนั้นไม่สามารถนำมาใช้ถ่ายทำได้ จนต้องมีการแก้บทหน้ากองถ่ายจนเป็นกิจวัตร สร้างความไม่พอใจกับผู้กำกับอย่างคิวกอร์เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นเซลซ์นิกเองก็ไม่พอใจกับวิธีการทำงานของคิวกอร์เช่นกัน เนื่องจากคิวกอร์มักจะมีความละเมียดละไมที่เน้นความความลึกของอารมณ์จนทำให้การถ่ายทำล่าช้า และมันขัดกับความต้องการของเซลซ์นิกเป็นอย่างมาก เพราะเขาต้องการให้หนังออกมาดูฉูดฉาด มีสีสันและเร้าอารมณ์มากกว่านี้ จนคิวกอร์ก็ถูกเซลซ์นิกไล่ออกจากตำแหน่งผู้กำกับหลังหนังเปิดกล้องได้เพียงเดือนเดียว 

เมื่อทางสตูดิโออย่าง MGM ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนเห็นว่าโปรเจกต์กำลังมีปัญหาและเก้าอี้ผู้กำกับว่างลง สตูดิโอจึงส่ง วิคเตอร์ เฟลมมิ่ง ผู้กำกับที่เพิ่งเสร็จงานอย่าง The Wizard of OZ (1939) มาสดๆ ร้อนๆ เข้ามารับหน้าที่ต่อ แต่เมื่อเฟลมมิ่งเข้ามากำกับ เขาก็สั่งพักกองถ่ายทันที เพื่อขอเวลาไปแก้ไขบทหนังใหม่ทั้งหมด เพราะบทภาพยนตร์ที่มีตอนนั้นใช้ถ่ายทำไม่ได้เลย สตูดิโอจึงส่ง เบน เฮชต์ เข้ามาแก้บทใหม่ โดยเฮชต์ตัดสินใจรื้อบทหนังของเซลซ์นิกทิ้งไป และกลับไปใช้บทร่างแรกที่ซิดนีย์ โฮเวิร์ดเคยเขียนไว้ มาปรับแก้โดยใส่ความฉูดฉาดและความเร้าอารมณ์ รวมถึงความโรแมนติกเข้าไปมากขึ้น ทั้งเบน เฮชต์ ผู้กำกับเฟลมมิ่ง และโปรดิวเซอร์อย่างเซลซ์นิก ใช้เวลาหามรุ่งหามค่ำปั่นบทใหม่ถึง 7 วันด้วยกัน จนบทหนังฉบับใหม่ก็พร้อมสำหรับการถ่ายทำอีกครั้ง 

วิธีการกำกับของเฟลมมิ่งดำเนินไปได้ดีกับเซลซ์นิก ทำให้การถ่ายทำคืบหน้าไปมากกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากตัวภาพยนตร์เป็นงานสเกลใหญ่ ตัวเฟลมมิ่งต้องรับผิดชอบกับการกำกับฉากใหญ่ ๆ มากมายนับไม่ถ้วนตลอดเวลา ที่แม้การถ่ายทำจะคืบหน้าไปมาก แต่ด้วยฉากใหญ่มหาศาลอีกมากที่อาจถ่ายไม่ทันกำหนดการ ก็ทำให้เฟลมมิ่งเครียดจัด จนเซลซ์นิกตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการแบ่งกองถ่ายออกเป็นสามกองที่จะแบ่งงานถ่ายทำควบคู่กันไป โดยได้จ้าง แซม วูด ผู้กำกับอีกคนเข้ามาเป็นผู้กำกับกองสอง ส่วนกองสามก็ได้ให้ผู้ออกแบบงานสร้างอย่าง วิลเลียม คาเมรอน เมนซี เข้ามาช่วยกำกับอีกหน้าที่หนึ่ง โดยเซลซ์นิกจะคอยดูภาพรวมการทำงานของทั้งสามกองถ่าย ซึ่งนับเป็นวิธีการถ่ายทำภาพยนตร์ที่บ้าและเหลือเชื่อเอามากๆ 

จนในที่สุด หลังจากการทำงานที่เต็มไปด้วยปัญหานานับประการ หนังก็สามารถถ่ายทำจนจบและปิดกล้องได้สำเร็จในเดือนมิถุนายน ปี 1939 ซึ่งทีมโพสต์โปรดักชั่นก็ต้องรับหน้าที่นำฟุตเทจจำนวนมหาศาลเอามาตัดต่อจนได้หนังความยาวกว่า 4 ชั่วโมง และเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในวันที่ 4 ธันวาคม 1939 สิ้นสุดการทำงานอันยากลำบากและยาวนานกว่า 3 ปี

โดยตัวหนังเรื่องนี้ใช้ทุนสร้างไปทั้งหมดกว่าสี่ล้านแปดหมื่นดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติทุนสร้างที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ณ เวลานั้น 

15 ธันวาคม 1939 คือวันฉายรอบปฐมทัศน์ที่สตูดิโอวางไว้ ในเมื่อตัวหนังเป็นเรื่องราวที่อิงจากประวัติศาสตร์จริง และเมืองแอตแลนต้าเป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่งในหนัง ดังนั้นเมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่องนี้ 

วันนั้นจัดเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองแอตแลนต้า นายกเทศมนตรีของเมืองประกาศให้วันนั้นเป็นวันหยุด เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาเฉลิมฉลองกับงานรอบปฐมทัศน์ของหนังได้อย่างเต็มที่ ภาพของประชาชนนับหมื่นคนบนถนนที่ยืนรอรับขบวนรถของผู้สร้าง นักแสดง รวมถึงเจ้าของบทประพันธ์อย่างมาร์กาเร็ต มิตเชลล์ ที่แล่นไปตามถนนในเมืองแอตแลนต้า กลายเป็นภาพสุดยิ่งใหญ่ยังคงกล่าวขานกันจนถึงปัจจุบันสำหรับงานปฐมทัศน์ของภาพยนตร์สักเรื่อง 

A crowd gathers outside the Astor Theater on Broadway during New York City’s Gone with the Wind premiere in December 1939.

จิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นคนรัฐจอร์เจียแต่กำเนิด ยังเคยพูดถึงงานฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ Gone with the Wind ว่าเป็นงานเฉลิมฉลองของรัฐทางใต้ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา 

หลังจากนั้นคือปรากฏการณ์ หนังได้เดินหน้าเข้าฉายทั่วอเมริกา และสร้างตำนานในจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ นอกจากที่เป็นหนังที่ทำให้ผู้คนประทับใจจนมาดูซ้ำได้หลายรอบแล้ว หนังยังเดินหน้าทำรายได้มหาศาลจนไม่รู้จะไปจบรายได้ที่เท่าไหร่ นอกจากนั้นยังสามารถคว้าออสการ์ไปถึง 10 สาขาด้วยกัน ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม มันได้ตอกย้ำว่าสิ่งที่เซลซ์นิกตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าเขาจะทำหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ท้ายสุดมันพิสูจน์ด้วยผลลัพธ์ของหนังที่ไปไกลเกินกว่าเซลซ์นิกตั้งเป้าหมายไว้เสียอีก เพราะมันไม่ใช่แค่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สำหรับช่วงเวลานั้นเท่านั้น แต่เวลาเดินทางมาถึงตอนนี้ คุณค่าของหนังก็ยังไม่ได้ลดลงตามกาลเวลาที่ผ่านเลยไป

ความสำเร็จของเซลซ์นิก ยังส่งอิทธิพลต่อมา ที่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และพรรคนาซีเยอรมันครองอำนาจหลักในฝ่ายอักษะ ว่ากันว่า โจเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีกระทรวงประชาบาลและโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ที่นับเป็นคนสนิทของ อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ได้พยายามอย่างถึงที่สุดในการสร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่และทัดเทียมกับสิ่งที่เซลซ์นิกเคยทำไว้กับ Gone with the Wind เพราะต้องการแสดงถึงความสามารถที่ไม่เป็นรองใครของชาวเยอรมัน และที่สำคัญมันคือการตั้งใจจะเอาชนะในแง่ของเชื้อชาติ ตามนโยบายของพรรคนาซีที่มองชาวยิวเป็นเหมือนสัตว์ที่ควรถูกกำจัด ซึ่งเซลซ์นิกเป็นคนเชื้อสายยิวโดยกำเนิดนั่นเอง

ในปัจจุบัน หากเรามองไปที่อันดับหนังที่ทำเงินสูงที่สุดในโลก เราจะเห็นว่าสองอันดับแรกนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลัง นับย้อนไปราว ๆ 10 ปี ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอันดับหนึ่งคือ Avatar (James Cameron, 2009) ที่ทำรายได้ทั่วโลกไป 2847 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับสองคือ Avengers: Endgame (Joe and Anthony Russo, 2019) ที่ทำรายได้ทั่วโลกไป 2797 ล้านเหรียญสหรัฐ 

หากแต่ค่าเงินในแต่ละยุคสมัยนั้นไม่เท่ากัน สิ่งที่ Gone with the Wind ทิ้งไว้เอาเมื่อ 82 ปีที่แล้วคือรายได้ 189 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากนำมาปรับอัตราค่าเงินเฟ้อให้เป็นปัจจุบันแล้ว Gone with the Wind ก็จะกลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกทันที ด้วยรายได้ถึงราว ๆ 3730 ล้านเหรียญสหรัฐ เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Gone with the Wind ทิ้งเอาไว้ คือบทบันทึกทั้งเรื่องราวการสร้างประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยปัญหา กลายเป็นเรื่องเล่าที่เล่าได้ไม่รู้จบในเวลาต่อมา คือความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ในทุกแง่มุมของศิลปะภาพยนตร์ ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นแค่ความฝัน 

และเป็นหมุดหมายสำคัญในยุคอดีตที่ยังคงทำให้ฮอลลีวูดยังคงสถานะเจ้าแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกได้จนถึงปัจจุบัน

Scarlett O’Hara (Vivien Leigh) and Rhett Butler (Clark Gable) made their film debut in 1939’s Gone with the Wind

อ้างอิง
‘80 ปี Gone with the Wind ตำนานอมตะแห่งโลกภาพยนตร์’ (The Movement/Ton) https://youtu.be/f7j1QiJ-wWQ
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_highest-grossing_films
www.boxofficemojo.com
www.imdb.com
https://en.wikipedia.org/wiki/David_O._Selznick

ภาพประกอบ: MGM, AP, NPR

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า