fbpx

“ข่าว” เป็นเรื่องของผู้ชายหรือผู้หญิง?

รายการข่าวถือเป็นรายการที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย จากผลสำรวจเรตติ้งรายการที่มีเรตติ้งสูงที่สุดในช่วงเดือน พฤษภาคม 2564 จากนีลเส็น พบว่า รายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ และรายการข่าวเช้าไทยรัฐ เสาร์-อาทิตย์ ได้รับเรตติ้งสูงเป็นอันดับที่ 1 และ 5 ตามลำดับ นอกจากนี้รายการข่าวที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย 5 อันดับแรกในการจัดเรตติ้งได้แก่ สนามข่าว 7 สี เรื่องเล่าเช้านี้ เช้านี้…ที่หมอชิต ข่าวอรุณอมรินทร์ และข่าวเช้าเวิร์คพอยท์

รายการข่าวถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญต่อผู้ชมและประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการถือเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอข้อเท็จจริง และการรายงานข้อมูล ในงานศึกษาของ สรรพัชญ์ เจียระนานนท์ (2563) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ดำเนินรายการสนทนาข่าวในยุคใหม่จึงไม่ได้มีหน้าที่แค่การเล่าข่าว หรือรายงานข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น ผู้ดำเนินรายการ สนทนาข่าวจำเป็นต้องวางแผนการเล่าข่าว การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้รอบด้าน เพื่อสนทนาหรือเล่าข่าวไปสู่ผู้ชม เป็นการรายงานและอธิบายถึงเรื่องราวในข่าวให้สมบูรณ์มากที่สุด

สิ่งสำคัญในการศึกษาเรื่อง การพัฒนารายการสนทนาข่าวทางโทรทัศน์เพื่อการนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงลึก ของสรรพัชญ์ เจียระนานนท์ (2563) ยังได้กล่าวถึง รายการสนทนาข่าว มีพิธีกรเป็นจุดเด่นของรายการ รายการหนึ่งจะมีผู้ดำเนินรายการที่โดดเด่นอยู่ 1 คน ที่ถูกวางตัวให้เป็นพิธีกรหลัก และพิธีกรรอง คอยช่วยเสริมให้พิธีกรหลักโดดเด่นขึ้นมาอีก เป็นสิ่งที่คนดูทั่วไปยอมรับกันได้ ดังนั้นผู้ดำเนินรายการที่โดดเด่นจึงต้องมีภูมิหลังเกี่ยวกับข่าวที่ดี เพราะต้องมีหน้าที่ในการอธิบายเรื่องราวและบอกถึงที่มาที่ไปในข่าว การแสดงความคิดเห็นลงในข่าวของผู้ดำเนินรายการแต่ละคนที่มีมุมมองแตกต่างกันไป

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ชัดว่าทุกรายการเล่าข่าวจะมีการวางบทบาทของผู้ดำเนินรายการหลัก หรือพิธีกรหลักซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อรายการ ในขณะที่พิธีกรรองมีหน้าที่เสริมความโดดเด่นให้กับพิธีกรหลักให้โดดเด่นขึ้น และเมื่อศึกษางานชิ้นนี้เพิ่มเติมพบว่า 5 รายการที่ผู้วิจัยยกมา พบว่า 4 ใน 5 รายการมีพิธีกร 2 คน และพิธีกรชายมักได้รับบทบาทสำคัญกว่าเสมอ ในขณะที่รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ พิธีกรทั้งคู่มักสลับหน้าที่กันเป็นพิธีกรหลัก

รายการไทยรัฐนิวส์โชว์

เห็นได้ชัดว่ารายการเล่าข่าวมักสร้างความหลากหลายของพิธีกรด้วยการจัดพิธีกรคู่กันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีส่วนน้อยที่จัดรายการเพียงคนเดียว โดยในรายการเล่าข่าวส่วนใหญ่แล้วมักมีพิธีกรชายหญิง มากกว่าชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง และไม่มีรายการไหนปรากฏผู้เล่าข่าวเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เมื่อย้อนกลับไปทบทวนงานศึกษาของ สรรพัชญ์ เจียระนานนท์ (2563) ในคำกล่าวว่า “ดำเนินรายการที่โดดเด่นจึงต้องมีภูมิหลังเกี่ยวกับข่าวที่ดี เพราะต้องมีหน้าที่ในการอธิบายเรื่องราวและบอกถึงที่มาที่ไปในข่าว” อาจเป็นเหตุผลของข้อสงสัยดังกล่าว

เมื่อความน่าเชื่อถือ ภูมิหลังเกี่ยวกับข่าวที่ดี นำมาซึ่งการสะท้อนภาพตัวแทนชายมากกว่าหญิงหรือไม่ ประเด็นความสำคัญของเพศกำเนิดกับการครองอำนาจนำทางความหมายของเพศชายที่แสดงถึงความมั่นคง เข้มแข็ง น่าเชื่อถือยังคงมีน้ำหนักสูงกว่าในแวดวงผู้สื่อข่าว ยกเว้นในกรณีที่เป็นรายการเล่าข่าวเดี่ยวที่มีพิธีกรหญิงในการดำเนินรายการที่การสร้างภาพเพศหญิงในรายการที่ไม่ต่างจากเพศชาย เช่นจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ในรายการมาเถอะจะคุย ที่มีบุคลิกทะมัดทะแมง และแตกต่างจากผู้ประกาศหญิงคนอื่น ๆ เหมือนตอนหนึ่งที่จอมขวัญได้กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้หญิง “คม ชัด ลึก” (เว็ปไซต์ทรูปลูกปัญญา, 2554) ช่วงหนึ่งว่า “ถ้าเทียบกับผู้ประกาศข่าวผู้หญิงด้วยกัน บุคลิกเราอาจจะไม่เหมือนคนอื่น คงจะได้ตัวปั๊มเนชั่นมา ออกแนวบู๊หน่อย” นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จอมขวัญเป็นพิธีกรหญิงที่โดดเด่นขึ้นมาในแวดวงรายการสนทนาข่าว

รายการ “มาเถอะจะคุย” โดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

ความน่าแปลกใจของรายการสนทนาข่าวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือการนำเสนอพิธีกรชายมากกว่าพิธีกรหญิง ทั้งจากงานวิจัยข้างต้นและการสังเกตการจากรายการสนทนาข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ต้องมองย้อนกลับไปศึกษาภาพผู้หญิงในสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา งานศึกษาเรื่อง ผู้หญิงของสื่อ…สื่อของผู้หญิง ของ เอกธิดา เสริมทอง (2556) ได้นำเสนอการศึกษาบทบาทและภาพลักษณ์ของสตรีที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน เป็นหัวข้อการศึกษาที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ที่ได้เริ่มมีการสำรวจและรวบรวมงานวิจัยด้านสตรีกับสื่อมวลชน

ในงานศึกษาชิ้นนี้ได้รวบรวมงานวิจัยด้านสตรีกับสื่อมวลชนรวมทั้งสิ้น 410 เรื่อง ปรากฏเป็นผลการศึกษาที่โน้มเอียงไปว่าภาพของสตรีที่ปรากฏผ่านสื่อไม่ใช่ภาพที่เป็นธรรมต่อสตรี หากแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของสตรีบางกลุ่ม ซึ่งส่งผลในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของสตรีในชีวิตจริง นักวิชาการ และนักสตรีนิยมมองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากระบอบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ซึ่งสื่อมวลชนถือเป็นอาชีพในปริมณฑลของเพศชาย จึงทำให้การนำเสนอภาพสตรีถูกถ่ายทอดตามความคิดในระบอบปิตาธิปไตย ซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลง (เอกธิดา เสริมทอง, 2556)

รายการ เช้านี้…ที่หมอชิต

ในรายการข่าวและละครโทรทัศน์ พบว่า ภาพการเคียงคู่กันระหว่างผู้ประกาศข่าวหญิงกับผู้ประกาศข่าวชายเป็นสัญญะของความเท่าเทียมกันทางเพศในพื้นที่ของบุรุษ ด้วยพื้นที่ของงานข่าวแฝงสัญญะทางเพศของเพศชายและเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายถือครองมาก่อน อย่างไรก็ดี ผลการศึกษา พบว่าความสวยงามของหน้าตาและการแต่งกายของผู้ประกาศข่าวหญิงก็มีส่วนช่วยดึงดูดความสนใจของผู้รับสารไม่ว่าชายหรือหญิงให้อยากติดตามการนำเสนอรายการข่าวได้อีกด้วย (เอกธิดา เสริมทอง, 2556)

แม้งานศึกษาของ เอกธิดา เสริมทองข้างต้นจะเป็นการศึกษาตั้งแต่ปี 2556 แล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันรายการสนทนาข่าวยังเป็นพื้นที่ของบุรุษอยู่จากงานศึกษาของ สรรพัชญ์ เจียระนานนท์ (2563) ที่แสดงให้เห็นว่าพิธีกรหลักมักจะเป็นผู้ชายก่อนเสมอ พิธีกรหญิงจึงถูกนำเข้ามาในรายการสนทนาข่าวเพื่อเติมเต็มความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้นหรือไม่ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปตายตัวหรือแน่ชัดมากนักกับประเด็นของถกเถียงครั้งนี้

สุดท้ายแล้วมายาคติเรื่อง ดำเนินรายการที่โดดเด่นจึงต้องมีภูมิหลังเกี่ยวกับข่าวที่ดี เพราะต้องมีหน้าที่ในการอธิบายเรื่องราวและบอกถึงที่มาที่ไปในข่าว ต้องเป็นพิธีกรชายเท่านั้น จะคงอยู่ต่อไปในสังคม หรือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภาพจำเสียใหม่ที่ผู้หญิง หรือกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเองนั้น ก็มีความรู้เกี่ยวกับข่าวที่ดีได้เช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า