ผลสำรวจเผย Gen Z “ไม่อิน” กับราชวงศ์อังกฤษในยุคใหม่

แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ประชาชนและสื่อทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคน Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 1997 – 2012 โอกาสสำคัญระดับโลกนี้กลับไม่ได้อยู่ในความสนใจของพวกเขาเท่าไรนัก

YouGov  บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและวิจัยตลาดอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศในอังกฤษ  เผยสำรวจที่จัดทำเมื่อเดือนเมษายนว่า มีวัยรุ่นชาวอังกฤษ อายุระหว่าง 18 – 24 ปี เพียง 7% เท่านั้น ที่ติดตามชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ขณะที่เกือบ 4 ใน 10 หรือ 36% ระบุว่า ไม่ได้สนใจพระราชพิธีนี้ ซึ่งก็มีจำนวนใกล้เคียงกับผลสำรวจชาวอังกฤษในทุกช่วงวัย ที่มีถึง 31% ระบุว่า ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก หรือ ไม่สนใจเลย 

คนหนุ่มสาวชาวอังกฤษที่สนับสนุนราชวงศ์ มีน้อยลง ผลสำรวจเมื่อปี 2013 โดย YouGov พบว่า ยังมีคนอังกฤษวัย 18 – 24 ปี ถึง 72% ที่ต้องการให้ธำรงราชวงศ์ไว้ แต่ผลสำรวจล่าสุด กลับพบว่า หนุ่มสาวชาวอังกฤษที่อยากให้ธำรงราชวงศ์ มีเหลืออยู่แค่ 36% และมีถึง 40% ที่หวังอยากให้ใช้วิธีเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐ

สำหรับสาเหตุที่เด็กอังกฤษยุคใหม่สนับสนุนราชวงศ์น้อยลง ก็เนื่องจากเห็นว่าขบวนแห่และพิธีการต่างๆ ดูฟุ่มเฟือย ท่ามกลางวิกฤติค่าครองชีพที่พุ่งสูง  บางส่วนก็มองว่า  เรื่องอื้อฉาวที่เกิดกับราชวงศ์อังกฤษในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาผิดหวัง  และมองว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ไม่น่าจะครองความนิยมในหมู่พสกนิกรเทียบเท่ากับพระมารดาได้

Farhana วัย 24 ปี นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยทางตะวันออกของอังกฤษ กล่าวว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาอยู่ในอังกฤษ พ่อแม่ของเธอรักและเทิดทูนราชวงศ์มากแทบจะอยู่ในสายเลือด ทว่าเธอเองกลับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อราชวงศ์มานานหลายปีแล้ว เธอไม่คิดว่า ประชาชนควรจะต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณมากมายถึงเพียงนั้น  เพียงเพื่อจะไปส่งเสริมอัตตาของมหาเศรษฐีพันล้านให้มีเพิ่มขึ้น และเป็นมหาเศรษฐีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียด้วย เพราะใครๆ ก็ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวกันทั้งนั้น  และประเทศอังกฤษตอนนี้ มีธนาคารอาหาร เพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ มากกว่าสาขาของแมคโดนัลด์เสียอีก   

นอกจากนี้ การที่เจ้าชายแฮร์รี่และพระชายาคือ เมแกน มาร์เคิล ทรงแยกตัวจากราชวงศ์ โดยมีข้ออ้างว่า สมาชิกราชวงศ์ตั้งข้อสงสัยในสีผิวของพระโอรสในเจ้าชายแฮร์รี่ตอนที่ยังไม่ประสูติ  ก็เป็นอีกเหตุผลหลักที่คนผิวสีในอังกฤษสนับสนุนราชวงศ์น้อยลง  

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Imagen Insights แพลตฟอร์มวิจัยตลาดกลุ่ม Gen Z ระบุว่า ราชวงศ์ควรมีความโปร่งใสและเปิดเผยมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ เพื่อดึงความนิยมจากคนวัยหนุ่มสาวกลับมา และการเปิดให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ราชวงศ์ครองใจคนกลุ่ม Gen Z ได้

ประเด็นความมั่งคั่งของราชวงศ์ ก็เป็นอีกประเด็นที่มีอิทธิพลต่อชาว Gen Z เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูง จากการวิเคราะห์ของเว็บไซต์ The Guardian พบว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชทรัพย์มูลค่าเกือบ 2 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 8 หมื่น 5 พันล้านบาท  ประกอบไปด้วยทรัพย์สินที่สืบต่อกันมาในราชวงศ์ รถโรลส์-รอยซ์  ม้าแข่ง ภาพวาดของศิลปินชื่อดังอย่างโมเนต์ และเพชรนิลจินดาต่างๆ ทว่ากลับไม่ต้องเสียภาษีมรดก 

นอกจากนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังจัดขึ้นในช่วงที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงในอังกฤษยังคงพุ่งสูงยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง

และแม้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงต้องการให้กษัตริย์ในรัชสมัยของพระองค์สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น  ไม่แบ่งแยก และเป็นมิตรมากขึ้น แต่คนวัยหนุ่มสาวกลับมองว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะพวกเขาต่างจับจ้องไปที่มงกุฎซึ่งประดับไปด้วยอัญมณี  บัลลังก์สุดหรู และรถม้าสีทอง 

James Main เด็กหนุ่มวัย 23 ปี จากกลุ่ม Labour for a Republic เป็นกลุ่มที่รณรงค์ให้ประมุขแห่งรัฐมาจากการเลือกตั้ง กล่าวว่า งบประมาณ 1 ร้อยล้านปอนด์ หรือกว่า 4,200 ล้านบาท ที่ใช้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ควรถูกนำไปใช้อย่างอื่นมากกว่า เช่น สาธารณสุข โรงเรียนและการกำจัดความยากจน  พระราชพิธีเช่นนี้ควรเป็นอดีตไปได้แล้ว และไม่มีคุณค่าใดต่อผู้เสียภาษี

Loopex Digital ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการ SEO และการจัดการเนื้อหา ระบุว่า งบประมาณที่ใช้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เทียบได้กับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนขนาดกลาง เกือบ 4 หมื่นครัวเรือนในอังกฤษ  

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่ม Gen Z บางคนในอังกฤษ ที่รู้สึกเฉยๆ กับราชวงศ์ คือไม่รัก แต่ก็ไม่ได้เกลียด และมองว่า การโค่นล้มราชวงศ์ลงไปเลยก็เป็นวิธีการที่รุนแรงเกินไป เนื่องจากกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะทรงมีบุคลิกต่างจากกษัตริย์อังกฤษองค์ก่อนๆ น่าจะทรงมีความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น  เปิดเผย และตรงไปตรงมา

เพราะถึงแม้บทบาทใหม่ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 คือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็เป็นที่ชัดเจนมาตลอดว่า พระองค์ทรงมีจุดยืนหนักแน่นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม  ทั้งยังเคยเขียนจดหมายไปยังบรรดานักการเมืองและใช้สื่อช่วยเผยแพร่ทัศนคติของพระองค์อีกด้วย ในช่วงทศวรรษที่ 2000 ซึ่งก็น่าจะเป็นไปเพื่อให้ประชาชนเห็นว่า พระองค์พยายามจะให้ราชวงศ์มีส่วนร่วมกับสังคมสมัยใหม่มากขึ้น  

บรรดาเด็ก Gen Z ยังบอกอีกว่า พวกเขาโตมาพร้อมกับธนบัตรและแสตมป์ที่มีรูปควีนเอลิซาเบธที่ 2 อยู่บนนั้น แต่มันคงดูแปลกพิกล ที่รูปจะถูกเปลี่ยนเป็นกษัตริย์ชาร์ลสที่ 3 แทน รวมทั้งมองว่า ความนิยมในสถาบันกษัตริย์น่าจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในอีก 50 ปีข้างหน้า และในเวลานั้น อังกฤษก็น่าจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง  

ที่มา : metro