fbpx

ป้ายยาชวนไปปีนภูเขาไฟฟูจิ ยอดเขาที่ใครๆ ก็ปีนได้เปิดประเทศเมื่อไหร่ ต้องไปลอง

ป้ายยาชวนไปปีนภูเขาไฟฟูจิ ยอดเขาที่ใครๆ ก็ปีนได้
เปิดประเทศเมื่อไหร่ ต้องไปลอง

“ภูเขาไฟฟูจิ ปีนได้เหรอวะ มีลาวาไหม?”

คำถามนี้มีคนถามผมเยอะมาก เมื่อมีคนรู้ว่าผมเคยไปปีนภูเขาไฟฟูจิ มา 2 ครั้งในปี 2017 และปี 2018 ผมป้ายยาพาคนไปร่วมทริปได้อีก 3 คน จากคำถามข้างบนนี่แหละ อันที่จริงก่อนหน้านั้นผมก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ภูเขาไฟฟูจิ นี่มันเดินขึ้นไปได้ด้วยเหรอ แล้วลาวาจะมีให้เห็นไหม 

กระทั่งจู่ๆ วันหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 2017 ผมก็ตัดสินใจว่า เอาวะ…อยากไปดูด้วยตาตัวเอง ทั้งที่เสิร์ชกูเกิ้ล ก็ได้คำตอบแล้วว่า ‘ปีนได้’ และ ‘ไม่มีลาวา’ แต่การไปดูด้วยตา และขึ้นไปด้วยขาตัวเอง แล้วกลับมาเล่ามันเห็นภาพกว่าเยอะ

และหลังจบบรรทัดนี้ ต่อไปนี้คือการป้ายยาครั้งสำคัญ และหวังว่าถ้าคุณอ่านจบแล้วญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อไหร่ ผมหวังว่าคุณจะต้องอยากไปพิชิตภูเขาไฟฟูจิสักครั้ง

ภูเขาไฟฟูจิอยู่ที่ไหน เดินทางขึ้นอย่างไร

หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าภูเขาไฟฟูจิ เป็นภูเขาไฟระดับพี่เบิ้มที่สุดในญี่ปุ่น สูงที่สุดในญี่ปุ่นด้วยกับระดับความสูง 3,776 เมตร (ประมาณตึกมหานครต่อกัน 12 ตึก) กินบริเวณไป 3 จังหวัด นั่นทำให้เส้นทางในการเดินขึ้นฟูจิ มีอยู่ด้วยกัน 4 เส้นทางคือ โยชิดะ, ฟูจิโนะมิยะ,  สุบาชิริ และ โกเท็มบะ ฟูจิ เปิดให้ขึ้นเฉพาะช่วงฤดูร้อนแค่ 3 เดือนคือ กรกฎาคม – กันยายน ของทุกปีเท่านั้น นอกนั้นจะหนาวจนขึ้นไม่ได้ 

เส้นทางสำหรับมือใหม่ที่เดินทางง่ายที่สุดคือ ‘โยชิดะ เทรล’ ซึ่งก็คือเส้นทางที่ผมเลือกเดิน โดยเราต้องไปตั้งต้นที่เมืองคาวาคูจิโกะ ในจังหวัดยามานาชิ ที่นี่มีทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อเหมือนเมืองเลยครับคือ คาวาคูจิโกะ

เนื่องจากคาวาคูจิโกะ เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวคนไทยถ้าไม่มาแช่ออนเซ็น ไม่มาวิ่งรอบทะเลสาบ ก็จะมาปีนฟูจินี่แหละ ที่พักร้านอาหาร มีรถโดยสารวิ่งรอบเมืองเลยเที่ยวง่าย สิ่งอำนวยความสะดวกก็เยอะ แค่กำเงินมาอย่างเดียว ก็เที่ยวด้วยตัวเองได้ แล้วบรรยากาศโคตรดี ดีแบบดีมากๆ

สำหรับคนที่ตั้งเป้าจะมาปีนภูเขาไฟฟูจิ เมื่อมาถึงสถานีคาวาคูจิโกะ (ไม่ว่าจะด้วยรถไฟหรือว่ารถบัสก็จะมาลงที่สถานีนี้) เราสามารถซื้อตั๋วรถบัสท้องถิ่น เพื่อขึ้นไปที่ภูเขาไฟฟูจิ ชั้นที่ 5 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางได้เลย

คนที่วางแผนว่าจะมาคาวาคูจิโกะ เพื่อมาปีนฟูจิ โดยมากจะมีอยู่ประมาณ 3 แผนด้วยกันคือ

1. เดินทางมาถึงตอนสาย และเดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิตอนเย็นวันเดียวกัน และลงมาในเช้าวันถัดไป แล้วไปเที่ยวเมืองอื่นต่อเลย 

2. เดินทางมาถึงตอนสาย และเดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิตอนเย็นวันเดียวกัน และลงมาในเช้าวันถัดไป พักผ่อนในคาวาคูจิโกะ 1 คืน แล้วเดินทางต่อ

3. เดินทางมาถึงตอนสาย พักผ่อนนอนเอาแรง เดินเล่นในคาวาคูจิโกะก่อน 1 คืนแล้วเดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิตอนบ่าย และลงมาในเช้าวันถัดไป นอนที่คาวาคูจิโกะต่ออีก 1 คืน 

ใครสะดวกแบบไหนก็เลือกได้เลยครับ แต่สำหรับผม ผมเลือกออฟชั่น 3 ก็คือ เราใช้เวลาที่นี่ 3 วัน 2 คืนเอาให้คุ้มไปเลย

การเตรียมตัวก่อนพิชิตยอดฟูจิ

จริงๆ แล้วการไปขึ้นฟูจิก็เตรียมตัวไม่ต่างอะไรกับการเดินขึ้นภูกระดึง (คนอ่านบอกไม่เคยขึ้นภูกระดึงเว้ย!) ไม่ต้องมีเชือกนิรภัย ไม่ต้องใช้ถุงนอน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ปีนเขาเต็มสูบเหมือนขึ้นเอวอร์เรส อันนั้นก็เยอะไป

อุปกรณ์พื้นฐานที่เรามีสำหรับการไปพิชิต ภูเขาไฟฟูจิผมขอไล่ตั้งแต่หัวจรดเท้าให้ทุกคน ได้เข้าใจดังนี้

รองเท้า : รองเท้าที่แนะนำก็มีทั้งรองเท้าเดินป่า รองเท้าวิ่ง หรือรองเท้าเทรล ถ้าให้ดีเราควรเลือกรองเท้าที่ใส่สบายที่สุด และป้องกันไม่ให้หินก้อนเล็กๆ หลุดเข้ารองเท้าได้ง่ายๆ เพราะขาลงเขา เราจะเจอก้อนหินภูเขาไฟจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะเข้ารองเท้าให้เรารำคาญได้ทุกๆ 5 วินาที อย่าห้าวใส่รองเท้าแตะ 

เทรคกิ้งโพล (ไม้เดินป่า) : ถ้าไปเดินขึ้นเขา แล้วไม่มีเทรคกิ้งโพล ที่เปรียบเสมือนขาที่ 3 ของคุณก็จะทำให้การเดินขึ้นฟูจิ มีความบรรลัยไส้เพิ่มขึ้น 40% โดยเฉพาะตอนลงเขา หรือขึ้นทางชัน คุณจะรู้สึกขอบใจเทรคกิ้งโพล ทุกครั้งที่ก้าวเดิน ซึ่งบนฟูจิมีขายเป็นรูปแบบไม้สนสุดเท่ ราคาน่ารักไม่เกิน 300 บาท 

เสื้อกันหนาวที่คล่องตัวไม่หนา: แม้เราจะเดินขึ้นเขาช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น แต่อากาศบนฟูจิ ก็หนาวเย็นกว่าข้างล่างอยู่ประมาณหนึ่ง แถมลมโคตรแรง บางปีพายุเข้าเจอลม ทั้งฝน และอากาศที่หนาว ดังนั้นเสื้อกันหนาวที่เตรียมไปควรมีสรรพคุณกันหนาวได้ กันลมได้ และกันฝนได้จะดีมาก แต่ไม่ต้องระดับหนาเป็นนิ้วนะ เพราะมันจะเป็นภาระมากกว่าเป็นตัวช่วย 

ไฟฉายคาดหัว : ไอเท็มนี้ ไม่เตรียมมาถือว่าพลาด เพราะในยามค่ำคืน ฟูจิก็จะมืดมิดสนิท ถ้าไม่มีแสงสว่างจากพระจันทร์ การเดินขึ้นเขาของคุณก็ไม่ต่างอะไรกับหลับตาเดิน การมีไฟฉายคาดหัวช่วยให้คุณเดินง่ายขึ้นเยอะ อย่าเอาไฟฉายแบบถือไป เพราะระหว่างขึ้นเขา มือคุณไม่สะดวกในการถือไฟฉายไปด้วยเดินไปด้วย

ส่วนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม ของกินเพิ่มพลังงาน เหล่านี้เป็นของพื้นฐานที่ต้องติดตัวไป หรือถ้าไม่อยากพกอะไรไปเลยพกเงินไปอย่างเดียวเพราะด้านบนมีของขาย มีที่พักค้างคืนด้วย แต่ราคาไม่น่ารักเท่าไหร่ เตรียมเงินสดไว้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

ภูเขาไฟฟูจิขึ้นยากแค่ไหน มีอะไรต้องระวัง

ถ้าให้คะแนนความยากของการปีนภูเขาไฟฟูจิ สำหรับผมถือว่าไม่ยาก และเป็นการเดินขึ้นเขาในระดับที่ใครก็สามารถทำได้ ในวงเล็บถ้าเตรียมร่างกายมาดีพอก่อนลุย

อายุน้อยสุดที่ผมเจอคือ 5 ขวบ…ใช่ 5 ขวบแต่น้องมาเดินขึ้นฟูจิแล้ว แถมวิ่งแซงผมตอนขาลงไปด้วย โคตรสุด ส่วนอายุเยอะสุดที่ผมเห็นและคะแนด้วยสายตาคือ 70 กว่าปีมีแน่นอน เป็นคุณตาชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้เดินนะครับ แต่แกวิ่งขึ้นเขาในชุดนักวิ่งเทรล…โคตรสุด

แต่ถ้าเรากลับมาพิจารณาในระดับมนุษย์ชาวไทยปกติ ที่ไม่เคยพิชิตยอดเขาสูงขนาดนี้มาก่อน มันยากระดับไหน มีอะไรที่ต้องระวังบ้าง ผมสรุปให้สั้นๆ ตามนี้ครับ

ความชัน : ต้องบอกก่อนว่าฟูจิมี 10 ชั้น และชั้นที่เราเดินขึ้นมาคือชั้นที่ 5 เป็นต้นไประยะทางเดินขึ้นเขายาว 6.8 กิโลเมตร ลงอีกประมาณ 7 กิโลเมตรกว่าๆ รวมแล้วต้องเดินประมาณ 14 – 15 กิโลเมตรในทริปนี้ ถือว่าสบายๆ ไม่โหดมาก (มั้งนะ) 

ช่วงชั้นที่ 5 – 6 ภูมิประเทศจะเป็นป่า ที่การเดินเท้าไม่ชัน ค่อนข้างจะสบายๆ แต่ชั้นที่ 7 จนถึงยอดเขา เดินขึ้นรัวๆ ถามว่าชันไหม ก็เป็นเส้นทางที่สลับระหว่างชันธรรมดา ชันมาก และชันสัสๆ ยิ่งสูงยิ่งชัน  และยิ่งทำให้เราเดินช้าลงเรื่อยๆ บางช่วงเดินมา 1 ชั่วโมงยังได้ไม่ถึง 700 เมตร

อาการแพ้ความสูง : อาการแพ้ความสูง หรือ Altitude Sickness ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากร่างกายปรับตัวบนที่สูงกว่า 2,500 เมตรขึ้นไปไม่ได้ ทำให้เกิดอาการเวียนหัว ปวดหัว อาเจียน หรืออาจจะเสียชีวิต 

ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่บุคคลและความฟิตล้วนๆ ครับ แต่จะบอกว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยก็คงไม่ถูก เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องเช็คร่างกายดีๆ เลยว่าเรามีอาการเบื้องต้นตามที่ผมบอกไหม แต่ถ้าเตรียมตัวมาดี นอนหลับเพียงพอ โอกาสเจอแทบจะเป็น 0 

อากาศหนาวและฝน: แม้กรกฎาคม – กันยายนจะเป็นหน้าร้อน แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ มรสุมเข้ามาได้ง่ายๆ แถมช่วงที่เราปีนฟูจินี่แหละ หน้าฤดูมรสุมเลย ดังนั้นนอกจากอากาศหนาวเย็นที่จะต้องเจอแน่ๆ แล้ว ก็อาจมีโอกาสเจอฝนตกด้วย 

ตอนที่ผมไปครั้งที่ 2 เราเจอฝนตก ลมแรง จากพายุเข้า ตั้งแต่ชั้นที่ 7 และต้องเดินตากฝนไปตลอดทั้งทริปเกิน 10 ชั่วโมงเพื่อไปยังยอดเขา ยังดีที่มีการเตรียมชุดกันลม และกันฝนมา เลยช่วยได้มากๆ และถึงแม้ในเมืองฝนจะไม่ตก แต่บนเขาอะไรก็เกิดขึ้นได้ 

หินร่วง : ฟูจิเป็นภูเขาไฟครับ ช่วงตีนเขา หรือชั้นที่ 5 ลงไปเป็นป่าไม้สวยงาม แต่หลังจากนั้นเป็นหินล้วนๆ ซึ่งก็มีความเสี่ยงหินจะร่วงลงมาได้ โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก ดังนั้นเราต้องระวังหินให้ดีๆ เพราะก็มีกรณีหินถล่มมาทับที่พักบนเขาพังจนใช้งานไม่ได้อีกเลย และมีนักท่องเที่ยวโดนหินร่วงมาชนเสียชีวิตเมื่อปี 2018 

โดยรวมเป็นข้อควรระวังขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ต้องกังวลมากขนาดนั้น เพราะทุกข้อควรระวัง เราป้องกันหรือสำรวจตัวเองได้ก่อน ฟูจิไม่ใช่เขากินคน ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น 

ประสบการณ์บนภูเขาไฟฟูจิที่จำไม่ลืม

ผมไปฟูจิมา 2 ครั้ง แต่เป็นการขึ้นที่ได้ประสบการณ์ติดตัวมาคนละแบบอย่างสิ้นเชิง ในการเดินทางไปครั้งแรก ต้องบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่โคตรดีงาม ถึงกับต้องเอารูปมาอวดทุกคนเพื่อคอนเฟิร์มว่า เฮ้ย! มันสวยจริง

ถึงแม้เส้นทางที่เราขึ้นเป็นมุมเดิมเหมือนเราเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ ไม่ได้เลี้ยวไปตรงไหนไกลมากนัก ฉะนั้นเวลาเราหันหลังไปมองก็จะเจอแต่มุมเดิมๆ ครับ

เหมือนจะน่าเบื่อใช่ไหม แต่ไม่เลย…

เพราะวิวด้านบนของฟูจิยิ่งสูงก็ยิ่งสวยขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เราเดินอยู่ในป่า พอเดินขึ้นเขามาเรื่อยๆ หันหลังกลับไปอีกที เชี้ย! เราเดินขึ้นมาสูงเรื่อยๆ จนสูงกว่าเมฆไปแล้ว ซึ่งเป็นภาพที่ผมประทับใจมากจนไม่รู้จะบรรยายยังไง ดูรูปไปเลยง่ายกว่า

โดยเฉพาะตอนที่แสงเปลี่ยนไปจากบ่าย เย็นค่ำ และเช้า วิวก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับสีสันของท้องฟ้า และสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปตลอดการเดินทาง อากาศหนาวขึ้นเรื่อยๆ แต่อยู่ในระดับที่รับได้

จุดไฮไลท์ของที่นี่ก็คือบนยอดเขา และปากปล่องภูเขาไฟ ผมเองก็อยากจะรู้ว่าปล่องภูเขาไฟหน้าตาเป็นอย่างไร พอเดินไปถึงจุดสุดยอดเขาที่ด้านบนก็มีร้านค้า ห้องน้ำ และศาลเจ้าขนาดเล็ก ทุกคนก็จะเดินไปที่ปากปล่องภูเขาไฟแล้วชะโงกลงไป สิ่งที่ผมพบคือ ไม่มีลาวา มีแต่หิน และวิวจากบนจุดสูงสุดของญี่ปุ่นที่สวยจนไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาอธิบายจริงๆ ครับ

แต่ในปีถัดไปที่ผมป้ายยาเพื่อนได้สำเร็จ วิวที่สวยงาม อากาศที่เย็นสบาย กลายมาเป็นวิวที่เต็มไปด้วยหมอก หมอก หมอก อากาศที่หนาวยะเยือก และฝนที่ตกลงมาตลอดเวลาที่เราอยู่บนเขาน่าจะราวๆ  16 ชั่วโมง  แทบไม่มีพัก มีแต่ตกเบา ตกหนัก สลับกับลมที่โคตรแรง

เหมือนกำลังเอาชีวิตไปทิ้งก็ไม่เกินจริง เพราะฟูจิเดินขึ้นไปแล้วจะลงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทางขึ้น ทางลงคนละทาง และการขึ้นว่ายากแล้ว ทางลงโคตรยากกว่า เพราะเราจะเจอกับทางเดินที่เป็นก้อนกรวดจากหินภูเขาไฟที่ร่วน และดูดขาเราให้จมไปตลอดเวลา

สิ่งที่เราทำได้ตอนนั้นคือเดิน เดิน เดิน และเดินไปจนถึงยอด แล้วเดินกลับลงมา  มีช่วงตี 3 – 6 โมงเช้าที่เราได้แอบพักในกระท่อมตรงชั้นที่ 8 แต่ฝนหยุดตกได้สักพักก็ตกลงมาใหม่ให้พอรำคาญเล่น และจากนั้นก็ตกไปตลอดทางจนลงมาชั้นล่างนี่แหละ

ครั้งที่ 2 จึงเป็นครั้งที่ Fuck Up ที่สุดของการมาเยือนฟูจิ เพื่อนร่วมทริปนี่เซ็งเป็ดไปตามๆ กัน และหันมาถามผมตลอดทางว่า ไหนวิวสวยๆ ของมึงง่ะ…

ผมก็ได้แต่ตอบว่า กูจะไปรู้ไหม

สำหรับคนที่อยากลองไปเที่ยวฟูจิ อยากลองไปอยู่ในจุดมุมที่สูงที่สุดของญี่ปุ่น ที่เป็นลัษลักษณ์ของญี่ปุ่น ผมคิดว่าการที่เรามาเดินขึ้นฟูจิ สักครั้งในชีวิตเป็นสิ่งที่ A Must ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าคุณเป็นสายเดินเขา เดินป่า ผมอยากให้มาลองสักครั้ง ไม่ว่าจะเจอประสบการณ์แบบไหน มันจะเป็นช่วงเวลาที่คุณจะจำไปตลอดชีวิต

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า