พ.ศ. 2557 นวนิยายสืบสวนชื่อแปลกอย่าง “กาหลมหรทึก” ได้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในบรรณพิภพ จากการชนะเลิศรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด และได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการวรรณกรรม ด้วยกลวิธีการผูกเรื่องด้วยกลบท คำประพันธ์โบราณที่แฝงปริศนาให้ผู้อ่านได้ขบคิด พร้อมฉากฆาตกรรมสุดสยอง สร้างความโกลาหลอึงอลไปทั่วพระนครในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อเสียงของนวนิยายเรื่องนี้ ส่งผลให้ “ปราปต์” หรือ “ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์” กลายเป็นนักเขียนดาวรุ่งที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของเมืองไทย
ปัจจุบัน ปราปต์เป็นเจ้าของผลงานนวนิยายและเรื่องสั้น รวมแล้วมากกว่า 40 เรื่อง หลายเรื่องได้รับการคัดเลือกมาดัดแปลงเป็นบทละคร และเขายังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเดินตามความฝันในการเป็นนักเขียน แม้การเดินบนเส้นทางนักเขียนอาชีพยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่ปราปต์ก็เรียนรู้และเติบโตจากการเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นทุกเรื่อง จนกระทั่งถึงวันที่ผลงานของเขาสามารถจุดประกายเล็กๆ ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้
The Modernist นัดพบนักเขียนดาวรุ่งผู้นี้ ในกิจกรรม “เขียนเปลี่ยนโลก” ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงที่มาของเขาในวงการนักเขียน และที่ไปของผลงานของเขาในสังคมไทยยุคใหม่นี้
เมื่อโลกความจริงต่างจากนิยาย
เช่นเดียวกับนักเขียนหลายคน ความฝันที่จะ “เขียนเป็นอาชีพ” ของปราปต์ เริ่มขึ้นจากการอ่านหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียน เขาเติบโตท่ามกลางนวนิยายไทยกระแสหลัก ฝีมือนักเขียนชั้นครู อย่างทมยันตีและโบตั๋น รวมทั้งละครไทย ที่วาดภาพโลกสวยสด พร้อมตอนจบที่พระเอกนางเอกต่างสมหวังในความรัก จนกระทั่งเมื่อเขาเรียนจบ และต้องทิ้งความฝันเพียงอย่างเดียว คือการเป็นนักเขียน เพื่อหน้าที่การงานและรายได้อันมั่นคงในฐานะมนุษย์เงินเดือน
“ตอนเด็กๆ ผมอ่านแล้วก็เสพงานหลายอย่าง แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเคยเขียนงานแล้วก็ได้ออกงานในช่วงมหาวิทยาลัย แล้วหลังจากนั้นก็เหมือนตลาดมันเปลี่ยน แล้วตัวผมเองก็เปลี่ยนด้วย คือผมก็ไม่ได้เขียนเรื่องแบบเด็กๆ แบบสมัยก่อน พอตลาดมันเปลี่ยนเป็นพวก 18+ เป็นแฟนตาซี ผมก็ไม่สามารถเปลี่ยนไปกับเขาได้ ก็กลายเป็นว่าตัวเองก็ไม่ได้ตีพิมพ์งานอีกเลยเป็นสิบปี ระหว่างสิบปีนั้น เราก็เปลี่ยนวิธีการเขียนไปเรื่อยๆ เผื่อมันจะได้เป็นเล่มอีก ถ้ามองในแง่ดีตอนนี้ ก็เหมือนกับว่าเราได้ศึกษาหลายๆ อย่าง ทำให้เราปรับตัวเองไปได้”
เมื่อโลกความจริงโบยตีความฝัน มุมมองของปราปต์ต่อนวนิยายชวนฝันที่เคยได้อ่านในวัยเด็กจึงเปลี่ยนไป กลายเป็นงานเขียนที่สะท้อนชีวิตผู้คนมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ The Kite Runner หรือชื่อภาษาไทยว่า “เด็กเก็บว่าว” ผลงานของคาเลด โฮสเซนี นักเขียนผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เขาเข้าใจว่า สาระกับความสนุกนั้นสามารถเดินคู่กันได้
“The Kite Runner เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันผสมกันได้ หมายความว่างานที่มันพูดถึงชีวิตคนชายขอบในอัฟกานิสถาน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้มันเป็นงานที่อ่านง่าย สนุก มีความสืบสวนสอบสวน แล้วก็ผจญภัยหน่อยๆ ผมก็รู้สึกว่า เออ มันก็ผสมกันได้นี่หว่า คือผมว่างานที่ดีมันไม่ใช่งานที่อ่านแบบตีความ อ่านยาก The Kite Runner ทำให้ผมเชื่อว่าเราสามารถทำงานที่ดีได้ แล้วก็สะท้อนอะไรต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนสนุกได้”
งานเขียนเปลี่ยนแปลงตัวตน
“ผมโตมาในสังคมที่ไม่รู้เรื่องอะไร ผู้ใหญ่บอกอย่างนี้ เราก็ทำแบบนี้ อย่างในกาหลมหรทึก เรื่องของเสรีไทย เราก็รู้แค่ อ๋อ… ก็มีเสรีไทย สมัยก่อนคนนั้นก็เป็นฮีโร่ คนนี้ก็เป็นฮีโร่ ทุกคนเป็นฮีโร่กันหมดเลย ไทยก็ชนะสงครามด้วย ทั้งที่ก็ไม่ได้ชนะ เราก็เขียนไปตามข้อมูลเฉยๆ โดยที่เราก็ไม่ได้ตั้งคำถาม หรือว่าไม่ได้รู้ว่ามันมีด้านนี้นะ มันไม่ได้เป็นความจริงขนาดนั้นนะ คือสมัยก่อนเราจะเข้าใจว่าอันนี้ก็จริง อันนี้ก็จริง” ปราปต์เริ่มเล่าถึงตัวเองในอดีต ที่ยังคงเชื่อในข้อมูลทุกสิ่งที่ได้รับมา โดยไม่ตั้งคำถาม ทำให้งานในระยะแรกของเขานั้น เป็นการนำข้อมูลมาสนับสนุนในเรื่องราวสมจริงและสนุก มากกว่าจะสื่อสารประเด็นทางสังคมหรือจิตใจ
หลังจากที่เปิดตัวผลงานสร้างชื่ออย่าง “กาหลมหรทึก” และ “นิราศมหรรณพ” ซึ่งได้เข้ารอบในเวทีซีไรต์ ก็ได้เวลาที่ปราปต์จะออกผจญภัย จากงานประจำอันมั่นคง สู่ชีวิตนักเขียนที่แทบไม่มีอะไรแน่นอน
“ผมจะถูกฝังหัวจากที่บ้าน ประมาณว่า นักเขียนไม่สามารถอยู่รอดได้ ผมก็จะเก็บเงิน เก็บเงิน เก็บเงิน คือมันเป็นความทรมานมาก ตอนนั้นน่ะ มันมีความรู้สึกว่าเมื่อไรกูจะได้ออกไปจากที่นี่ซะทีวะ มันมีปัญหาในที่ทำงานด้วย จากตอนแรกที่เราเคยทนได้ เพราะว่าเราไม่มีทางเลือก แต่ตอนนี้เรามีทางเลือกแล้ว แต่ทำไมกูไม่ได้ออกไปซะทีวะ”
“จนในที่สุด เราตัดสินใจว่าเราจะออกมาแล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่าเราต้องทำอะไรก็ได้ให้มันได้เงิน วิธีการทำอะไรก็ได้ให้ได้เงินก็คือต้องเขียนได้ทุกอย่าง คือแต่ละสำนักพิมพ์จะมีแนวทางที่แตกต่างกันไป ก็เลยเป็นเหมือนโจทย์ข้อเดียวคือ ถ้าเราไม่อยากไปทำงานออฟฟิศอีกแล้ว อยากจะเขียนหนังสือ เราก็ต้องทำให้ได้ เพื่อที่เราจะได้เงิน”
เพราะฉะนั้น ผลงานของปราปต์จึงไม่ได้มีแค่นวนิยายสืบสวนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงนวนิยายรัก นิยายวาย เรื่องผี และเรื่องสั้นอื่นๆ
“ผมใช้วิธีอย่างนี้ พอคนมาชวน ผมก็จะ ‘เขียนได้’ เขียนได้ไว้ก่อน คือมันต้องมีเงินน่ะ ตอนนั้นมันประจวบกับที่ผมออกมาจากงานพอดี ใครชวนอะไรก็เขียนก่อน อย่างคุณหมีปาฏิหาริย์ก็เหมือนกัน คือผมก็ไม่เคยเขียนนิยายวาย แต่สำนักพิมพ์บอกว่าจะเปิดไลน์วายนะ ทำได้ไหม ตอนนั้นผมมีกาหลมหรทึก แล้วก็ลิงพาดกลอน แล้วมันจะมีวายๆ นิดหนึ่ง เขาก็บอกว่า ปราปต์ลองมาเขียนไหม ผมก็ ‘เขียนได้’”
หากมองกันอย่างโรแมนติก เรามักจะยึดติดกับคำว่า “ลายเซ็น” หรือ “จุดยืน” ในการสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียน และสำหรับนักเขียนที่เขียนได้หลายแนวอย่างปราปต์ จุดยืนของเขาจะอยู่ที่ไหนกันแน่ ปราปต์ตอบว่า เขาต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจุดยืนกับความอยู่รอด เพราะนอกเหนือจากการหารายได้ คือการพิสูจน์ตัวเองให้คนรอบตัวเห็นว่าการเป็นนักเขียนก็สามารถอยู่รอดได้
“คือเงินไม่ใช่แค่การที่จะอยู่รอด แต่มันคือการพิสูจน์ว่าเธอทำได้หรือเปล่า ขนาดทุกวันนี้ ผมก็รู้สึกว่าผมก็ประสบความสำเร็จพอสมควรในงานนี้ แต่ยังมีคนมาถามผมว่า ‘เป็นยังไงบ้าง ได้เอาเงินให้พ่อแม่บ้างหรือยัง ยังต้องขอเงินพ่อแม่อยู่หรือเปล่า’ อะไรประมาณนี้ นี่คือสิ่งที่ผมต่อสู้ แต่คนที่มาพูดถึงจุดยืน คุณไม่ได้มาต่อสู้กับผมในสงครามชีวิตของผม”
เพราะนอกจากการเขียนเพื่อเติมเต็มความฝันต้องมาพร้อมกับความอยู่รอด ปราปต์จึงต้องทุ่มสุดตัวเพื่อเขียนนวนิยายปีละ 3 – 4 เรื่อง พร้อมค้นหาและทดลองวิธีการเล่าเรื่องอยู่ตลอดเวลา และวิธีการที่เขาใช้ก็คือ การคิดพล็อตเรื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมใส่ทัศนคติของตัวเองที่มีต่อประเด็นนั้นๆ ลงไป
“พอเราได้ใส่สิ่งที่เราคิดเข้าไป มันก็เหมือนกลายเป็นจุดยืนไปโดยปริยาย เพราะว่าเราก็จะเป็นแบบนี้ แล้วผมพบว่า มันดีตรงที่พอเราใส่แบบนี้เข้าไป คนอ่านที่อ่านสืบสวนแล้วข้ามมาอ่านเรื่องรัก เรื่องผี เขาก็ยังคุยกับเราได้ มันเหมือนมีเมสเสจที่เป็นหลักของปราปต์อยู่ ที่คนอ่านเขาคุยกับเราได้ นี่คืองานของแก แกไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เป็นใครก็ไม่รู้ คือเขาไม่ได้อ่านแค่ข้างนอก เขาอ่านตัวที่เป็นข้างในของเราอยู่ แล้วมันก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า อ๋อ… มันใช้วิธีแบบนี้ก็ได้นี่”
“ผมไม่ใช่คนสายวรรณกรรมจริงจัง แต่เป็นสายสืบสวน มันบังคับให้เราต้องทำงานที่สมจริง หมายความว่าเราต้องไปหาข้อมูลที่มาสนับสนุน แล้วพอไปหาข้อมูล มันจะได้ไม่ใช่แค่ในแง่ของการสร้างหลักฐาน แต่มันจะได้ข้อมูลของเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ มันมีหลักฐานของอดีต อยู่ดีๆ มันก็เป็นเหมือนลายเซ็น แล้วเราก็ทำแบบนี้มาโดยไม่ได้ตั้งใจ มันเกิดจากการสืบค้นและวิธีการแบบสืบสวนสอบสวนมากกว่า”
วรรณกรรมเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงหรือ
แม้จะมีผลงานหลากหลายรูปแบบและหลายแนว แต่แนวที่ปราปต์ชอบมากที่สุดยังคงเป็นนวนิยายแนวสืบสวน อย่างไรก็ตาม ปราปต์มองว่านวนิยายแนวนี้กลับเติบโตได้ยากในสังคมไทย ด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูล เพราะขณะที่ต่างประเทศมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคดีต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ แต่ไทยกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้
“วิธีการของผมคือเทียบจากข่าว สมมติวันที่ 15 มีการไปแจ้งตำรวจ วันที่ 20 ตรวจดีเอ็นเอ อีกอาทิตย์หนึ่ง ผลดีเอ็นเอออก เราต้องนั่งหาข่าวพวกนี้มาปะติดปะต่อเอง เพื่อที่จะรู้ว่ามันมีไทม์ไลน์อะไรเกิดขึ้นบ้างในคดีนั้นๆ เราไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ทั้งสิ้น นี่คือความยากของการเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย ในกรณีที่คุณไม่ได้รู้จักตำรวจ ไม่ได้รู้จักหมอ คือทุกอย่างต้องหาและสร้างเอาเองทั้งหมด”
นอกจากนี้ ปราปต์ยังตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยยังไม่เอื้อต่อการตั้งคำถามใดๆ รวมทั้งยังขาดสื่อที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการทำงานสืบสวนคดี ไม่ว่าจะเป็นข่าว ละคร ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งงานวรรณกรรม
“การสืบสวนสอบสวนคือคุณต้องสามารถสอบทานได้ มันคือความเป็นเหตุเป็นผล แต่ประเทศไทยไม่มีเหตุผลอะไรเลยทั้งสิ้น คุือคุณรู้แล้วว่าใครเป็นคนร้าย แต่ไม่รู้ว่าทำไมเขาทำแบบนั้น ผมรู้สึกว่า ด้วยความที่สังคมเป็นแบบนี้ ก็เลยสร้างความเชื่อบางอย่างให้คนไม่ศรัทธา แม้แต่ตัวผมเอง เวลาผมเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนไป เราสนุกกับงานชิ้นนั้น แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องจริงมันจะจับได้เหรอ คือตัวเราเองยังไม่เชื่อเลยบางที”
แม้งานแนวสืบสวนสอบสวนในสังคมไทยจะมีความหวังเพียงน้อยนิด แต่ปราปต์ก็ยังคงเชื่อว่าผลงานของเขาสามารถเป็น “เครื่องมือ” ที่ใช้สื่อสารประเด็นทางสังคมที่เขาต้องการจะส่งเสียงได้ โดยจากที่ผ่านมา เขาเคยหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญามาพูดในนวนิยาย “ลิงพาดกลอน” หรือประเด็นเรื่องการทำแท้ง ก็ถูกสอดแทรกในนวนิยาย “ถ่านไฟเดียว”
อย่างไรก็ตาม ปราปต์ออกตัวว่า ทุกผลงานที่เขาสร้างขึ้น ไม่ได้มีจุดประสงค์เรื่องการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมแบบขนานใหญ่ แต่เขาต้องการเพียงได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิดเท่านั้น และหากผู้อ่านเปิดใจรับฟังเสียงของเขา ก็ถือว่างานของเขาประสบความสำเร็จแล้ว
“ผมไม่ได้รู้สึกว่าเราจะคาดหวังอะไรได้ขนาดนั้น เพราะว่าผมรู้สึกว่าผมได้พูดแล้ว ผมว่าอันนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างเรื่องที่เป็นการทำแท้งเสรี มีหลายคนที่ฟีดแบ็กกลับมาว่าเรื่องนี้มันทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองได้เลยผมรู้สึกว่ามันโอเค คือมันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่มันได้ตอบแทนกลับมา ซึ่งจริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังขนาดนั้นว่าเขาจะต้องมาเปลี่ยนตามเรา ผมรู้สึกแค่เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำแล้ว”
“ผมคิดว่า หนังสือที่เราเขียนออกมา ถ้าเราทำให้คนอ่านเปิดใจได้ แล้วก็ทำให้เขาพร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่ๆ ผมรู้สึกว่ามันก็ถือว่าสำเร็จแล้วนะ พอเขาเปิดใจ เขาจะเริ่มรับเสียงใหม่ๆ เข้าไปในชีวิตของเขา มันก็จะต่อยอดไปอีก พอคนคนหนึ่งเปลี่ยนทัศนคติได้ เขาอาจจะไปบอกคนอื่น หรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ แล้วมันก็จะแบบหนึ่งไปสองไปสามไปสี่”
“ผมก็เลยรู้สึกว่า เราทำงานแบบนี้แหละ แมสๆ อะไรไป ไม่ต้องบอกว่างานกูฉลาดมากนักก็ได้ แล้วก็ค่อยๆ ทำให้คนเขาเชื่อแล้วก็ทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งปกติ เชื่อว่าคนเราสามารถเลือกที่จะทำแท้งได้ เป็นสิ่งปกติ นี่คือความตั้งใจของผม คือแค่นั้นเอง ไม่ต้องต่อสู้กับอะไรทั้งนั้น แค่รู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราเชื่อ และเราก็ได้ส่งเสียงแล้ว คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เรื่องของคุณ แต่ว่าเราได้ทำแล้ว” ปราปต์สรุป