fbpx

จากบ้านถึงสถานพินิจ ประตูเสรีภาพล้อมลวดหนามของคนรุ่นใหม่

นับตั้งแต่การชุมนุมโดยคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศใน พ.ศ. 2562 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ได้ทลายเพดานขนบต่างๆ จนสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น” ราวกับว่าสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยกำลังเบ่งบานและคนรุ่นใหม่ก็เต็มไปด้วยความหวังต่ออนาคตของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการเมืองที่คึกคักในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 การชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และล่าสุดคือกรณีของ “หยก” เยาวชนที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ขณะที่เธออายุเพียง 14 ปี และจนกระทั่งตอนนี้ ดูเหมือนว่าเธอจะต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านปราณี และไม่มีทีท่าว่าจะได้กลับไปเรียนพร้อมเพื่อนๆ ในเทอมใหม่นี้

สถานการณ์เสรีภาพที่เติบโตในภาพรวม กลับดูขัดแย้งกับเสรีภาพของเยาวชนคนหนึ่ง และตามด้วยเยาวชนอีกหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะต้องการทวงถามถึงความคืบหน้าของคดีของหยก จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “สังคมไทยมีเสรีภาพจริงหรือไม่”

เพื่อจะตอบคำถามนี้ The Modernist พูดคุยกับวีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “แม่” ของคนรุ่นใหม่มากมาย วีรพรตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ทุกวันนี้สังคมเปิดกว้างในลักษณะของแฟชั่นยุคใหม่ ที่ผู้คนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของบุคคลหรือองค์กร แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก็เป็นสังคมอำนาจนิยม ที่วีรพรใช้คำว่า “อำนาจนิยม Full-blown” หรืออำนาจนิยมเต็มขั้น ซึ่งทำให้พูดได้ยากว่าสังคมไทยนั้นเปิดกว้างจริงๆ

วีรพร นิติประภา

ด้านทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นักกิจกรรมทางการเมือง ให้สัมภาษณ์ในรายการ Opinion Leader เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ว่า พื้นที่เสรีภาพของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ขยายในเชิงที่ผู้ใหญ่รับฟังและตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเด็กๆ แต่เป็นการขยายตัวจากความไม่กลัวของคนรุ่นใหม่มากกว่า 

“เราก็กล้าที่จะพูดหลายๆ เรื่อง เพราะฉะนั้น หนูก็เลยมองว่า มันไม่ได้ขยายเพราะประเทศมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่มันขยายเพราะคนอย่างเรา อย่างเพื่อนเรา อย่างคนที่เขาต่อสู้อยู่ เขาไม่กลัวมากกว่า มันเลยขยายขึ้น” ตะวันกล่าว

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน

ในการใช้สิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่นั้น วีรพรพบว่าคนรุ่นใหม่สามารถยืนยันสิทธิของตัวเองในหลายระดับ ตั้งแต่การแต่งกาย ไปจนถึงการประท้วง รวมทั้งแสวงหาเสรีภาพเท่าที่กรอบของสังคมจะอนุญาต ทว่าในบางโอกาส เช่น การทำงาน ก็ยังคงต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำสั่งของเจ้านายหรือองค์กร ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้มาจากการพูดคุยต่อรองขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน 

“เพราะฉะนั้น ในประเทศนี้ทุกอย่างมันลักลั่นหมดเลย เราก็จะมีประชากรที่ไม่รู้ว่าควรจะพูดกับใครแค่ไหน เราก็จะเห็นคนที่นึกจะพูดก็พูด เขาก็ไม่รู้ว่าขอบเขตเขาอยู่ตรงไหน มันเลอะเลือนไปหมด ทั้งขอบเขตของการยุ่งเกี่ยวกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน ในฐานะคู่รัก ในฐานะครอบครัว แม่ซึ่งสามารถเดินเข้าห้องนอนลูกได้ตลอดเวลา และโกรธที่ลูกล็อกประตู หรือเปิดพัสดุของคุณ อย่างนี้เป็นต้น” วีรพรกล่าว

ความขัดแย้งระหว่างคนอะนาล็อกและคนดิจิทัล

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับเยาวชนคนรุ่นใหม่มานาน วีรพรมองว่าทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่เริ่มปฏิเสธอำนาจของพ่อแม่มากขึ้น มีขอบเขตของตัวเองมากขึ้น ทว่าความลักลั่นของเสรีภาพก็ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้ขอบเขตของตัวเองด้วยเช่นกัน จนทำให้หลายครั้งก็เกินเลย กลายเป็นความขัดแย้งกับพ่อแม่ แต่ในเมื่อกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์เปลี่ยนไป และจำเป็นจะต้องตั้งกติกาใหม่ กติกาที่ว่านี้ควรจะอยู่บนพื้นฐานของอะไรหรือของใคร

“เดิมมันไม่มีกฎของเด็กอยู่แล้ว เพราะว่าเด็กไม่มีโลกที่สอง โลกที่สาม ซ่อนอยู่ในโทรศัพท์ เด็กไม่ได้มีอย่างอื่น ดังนั้น สังคมก็สามารถกำหนดได้โดยคนสูงวัย และในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ก็คือเด็กก็ตีสองหน้า ต่อหน้าพ่อแม่ก็อย่างหนึ่ง ลับหลังก็อย่างหนึ่ง เป็นเด็กเรียบร้อยในสายตาพ่อแม่”

“แต่ว่าตอนนี้มันไม่แล้วไง เพราะว่าเด็กเขายืนยันที่จะเป็นเขา เท่าที่เขาสามารถยืนยันได้ แล้วก็พ่อแม่ก็เริ่มเข้ามายุ่งเท่าที่เคยยุ่ง มันก็ขัดแย้งกันแปลกๆ แล้วพ่อแม่ก็จะปล่อยบ้างไม่ปล่อยบ้าง เช่น ลูกฉันจะแต่งตัวโป๊บ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่อย่าให้มีอะไรๆๆ กับใคร” วีรพรอธิบาย

วีรพรมองว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า คือความขัดแย้งระหว่างระบบอะนาล็อกกับระบบดิจิทัล

“มันเป็นปัญหาของคนที่เกิดมาแล้วก็เป็นหน่วยความจำ เหมือนเด็กอื่นๆ ในโลก ไม่ได้หมายความว่าเขาแย่กว่า เสื่อมศีลธรรมกว่า แต่เขามีมาตรฐานศีลธรรมอีกแบบหนึ่ง เขามีระบบที่ช่วยให้เราเอาตัวรอดในระนาบต่างๆ ที่มันซับซ้อนขึ้น หลายระนาบขึ้น หมายถึงว่า ถ้าวัดผลจริงๆ เด็กรุ่นนี้จะแต่งงานมากกว่าเจนเอ็กซ์อีกนะ เขายึดมั่นในความรัก ยึดมั่นในการทำงานตราบที่มันตอบโจทย์เขา แต่เขาจะไม่ทำงานเลยชั่วโมง เจ้านายจะไลน์ตอนหลัง 5 โมงเย็น ไม่ได้ เขาจะมีขอบเขตของเขา เขารู้ว่าเขาต้องการชีวิตแบบไหน”

“ทีนี้พ่อแม่ก็ยังอยู่ที่เก่า ยังอยู่ในระบบอะนาล็อก ทุกอย่างจะต้องมีใครสักคนที่ช่วยชี้นำ ชี้แนะ แล้วก็กอบทุกอย่างไว้ด้วยกัน ไม่ให้มันล่มสลาย พังทลาย โดยที่ไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังพยายามที่จะยึดสถาบันครอบครัว สถาบันต่างๆ ไม่ให้ล่มสลาย แต่ตัวเองไม่ได้อยู่ในสมการแล้ว” 

และในขณะที่เด็กๆ กำลังเรียกร้องเสรีภาพในการเลือกผู้นำที่ตัวเองต้องการ พวกเขาก็ไม่ได้เรียกร้องเพื่อชีวิตและอนาคตของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพ่อแม่ด้วย นั่นหมายความว่า การมีเสรีภาพไม่ได้แปลว่าไม่รักพ่อแม่

“เด็กเขากำลังบอกอยู่ไงคะ เด็กก็บอกไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ท้อใจไปเอง ในที่สุดก็จะห่างกันออกไปเอง ถ้ายังไม่ปรับตัว ถ้ายังไม่พยายามเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องมันไม่จำเป็นที่คุณต้องไปทำอะไร แล้วโลกนี้ก็มีกลไกที่มันจัดการตัวเองได้หมด” วีรพรชี้ 

เมื่อคนรุ่นใหม่ท้าทายอำนาจ

เมื่อเราขยับมามองความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกับประชาชนที่อยู่ในวัยเด็ก จะพบว่า “ระบบอำนาจนิยม” ก็เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดรั้งไม่ให้เสรีภาพเกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างเต็มที่ ผู้มีอำนาจทางการเมืองของไทยถูกสร้างผ่านระบบอำนาจนิยม บวกกับระบบพวกพ้อง และอื่นๆ ไม่ใช่ระบบความสามารถ และการอุปถัมภ์โดยนายทุน ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องพยายามยื้ออำนาจทุกอย่างเอาไว้เพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอดของตัวเอง

หยก

จนกระทั่งวันที่คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามและพยายามทวงคืนสิทธิที่ประชาชนควรมี ผ่านการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ “หยก” ซึ่งถูกควบคุมตัวตามมาตรา 112 อย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมในทุกกรณี ตั้งแต่การหันหลังให้ศาล การไม่ยอมในหอนอนของบ้านปรานี รวมทั้งไม่รับและไม่ขอประกันตัว และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ต้องปล่อยตัวเธออย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงกรณีของหยกไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 

“เหตุผลของ ‘หยก’ มาจากจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย นั่นคือการจับกุมของตำรวจที่ไม่มีหมาย ไม่แจ้งหมาย พอถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในกระบวนการยุติธรรมซึ่งหมายถึง ‘ผู้พิพากษา’ ก็ไม่พิจารณาการจับกุมของตำรวจว่าชอบหรือไม่ชอบตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้และถือปฏิบัติกันมา”

ทิชาระบุว่า หยกถูกนำตัวไปยังบ้านปราณี ในจังหวัดนครปฐม โดยตำรวจ 10 นาย และบางนายโชว์อาวุธ รวมทั้งได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันกับเยาวชนที่ก่อคดีลักขโมย ปล้น หรือคดียาเสพติด ทั้งที่คดีของหยกเป็นคดีการเมือง และกระบวนการที่ขาดความชอบธรรมเหล่านี้ ก็นำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านปรานีโดยไม่จำเป็น

ทิชา ณ นคร

นับตั้งแต่การจับกุมในเดือนมีนาคม จนกระทั่งบัดนี้ ข้อเรียกร้องของหยกยังไม่ได้รับการตอบสนอง และในการเปิดเทอมใหม่นี้ หยกจะไม่ได้เข้าเรียนในชั้น ม.4 พร้อมกับเพื่อนๆ แม้จะมีผลการเรียนที่ดีมากก็ตาม

วีรพรมองว่า คนรุ่นเก่าไม่ได้ใช้ความเข้าใจในการรับมือกับคนรุ่นใหม่ แต่ใช้ข้ออ้างเรื่องกฎระเบียบแบบว่างเปล่า เช่น เพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความมีวินัย ซึ่งข้ออ้างนี้ใช้ไม่ได้กับเด็กรุ่นใหม่ 

“เขาก็คิดแบบคนมีอำนาจนั่นแหละ ก็คือวันหนึ่งฝูงมดบุกบ้านเรา เราก็เอาดีดีทีฉีด เรียกบริษัทกำจัดมดมากำจัดให้หมด แต่ไม่ได้สั่นสะเทือนจนทำให้เขารู้ว่าโลกมันหมุนไปไหนแล้ว โลกมันเป็นแบบไหน และเขาต้องอยู่แบบไหน เขาคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของเขาด้วยซ้ำ และเขาได้ผลตอบแทนด้วย แล้วก็เป็นคุณงามความดี เป็นเกียรติยศที่ทำให้สังคมนี้ไม่ล่มสลายไป เพราะว่าเด็กที่หลงอินเตอร์เน็ต ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือว่ามากกว่านั้นก็คือ การเกาะกุมอำนาจของเขาก็เพื่อที่จะโอบอุ้มโลกทั้งใบที่มันกำลังแตกสลาย แต่โลกทั้งใบของเขามันเล็กมากเท่านั้นเอง” 

เหตุผลที่เด็กต้องต่อต้าน

ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงออกที่เกรี้ยวกราด การตะโกน สาดสี หรือทำลายสิ่งของ ข้อกล่าวหาหนึ่งที่นักกิจกรรมที่ใช้วิธีนี้มักต้องประสบ คือ “ไม่มีกาลเทศะ” ซึ่งประเด็นนี้ ตะวันกล่าวในรายการ Opinion Leader ว่า 

“สิ่งที่เราโดน ไม่ว่าจะมาตรา 112 โดนกดขี่ รวมถึงการอุ้มหาย การโดนคุกคาม โดนทำร้ายร่างกาย ถ้าเราเดินเข้าไปบอกกับเขาว่า ขอโทษนะคะ อย่าแจ้ง 112 เราได้ไหม อย่าเอาเราเข้าคุกได้ไหมคะ อย่าทำร้ายร่างกายเราได้ไหมคะ อย่าคุกคามเราได้ไหมคะ คุณคิดว่าเขาจะทำให้เราไหมล่ะ” 

“เขามีอำนาจ เขามีปืน เขามีกฎหมาย เขามีทุกอย่างอยู่ในมือ เราไม่มีอะไรเลยที่เขามี เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าพวกหนูไม่มีกาลเทศะ ก็พวกหนูคงมีแต่ความไม่มีกาลเทศะนี่แหละ ที่ไปสู้กับคนที่เขามีปืน มีอำนาจ แล้วก็มีกฎหมายอยู่ในมือ”

ทิชาวิเคราะห์และอธิบาย “ความดื้อ” ของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อผู้มีอำนาจว่า ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ มีความเป็นอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง ผู้ใหญ่ที่เติบโตในพื้นที่ปลอดภัย มีสูตรสำเร็จในชีวิตเพียงไม่กี่สูตร และกอดความสำเร็จนั้นราวกับว่ามันจะเป็นอมตะ มักจะไม่เข้าใจว่าเหตุใดเด็กจึงดื้อรั้น และเพิ่มดีกรีความดื้อมากขึ้นและนานขึ้น รวมทั้งมองไม่เห็นบริบทของต้นเหตุ และให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เป็นปลายเหตุมากกว่า

ขณะที่วีรพรให้ความเห็นว่า สังคมไทยมีรูปแบบเฉพาะของ “เด็กดี” ไม่ว่าจะเป็นการไม่ตั้งคำถาม การไม่ต่อต้าน ว่าง่าย แต่เมื่อใดที่เด็กเริ่มแสดงท่าทีต่อต้าน ให้เข้าใจว่าเด็กคนนั้นกำลังถูกกดทับอยู่

ถ้าเด็กยิ่งแรง ขอให้เข้าใจว่ามันไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอก มันแปลว่าเขารู้สึกอึดอัด เพราะฉะนั้น เขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อที่จะดันพื้นที่ออกไป เช่น หยก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่หยกจะไม่นอนในห้อง นอกจากหยกจะประกาศว่าฉันไม่อยู่ภายใต้แก เพราะฉะนั้น ถ้าแกให้ฉันกินข้าว ฉันจะกินน้ำ ถ้าแกให้ฉันนอนในห้อง ฉันจะนอนในส้วม ถ้าแกให้ฉันอยู่ตรงนี้ ฉันจะไม่อยู่ตรงนี้ นี่คือการต่อต้านกับการถูกจับเลยแหละ แกจับฉันได้ แต่แกไม่สามารถจะบังคับใจฉันได้” วีรพรอธิบาย

อยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามถึงแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง วีรพรตอบว่า ผู้ใหญ่ต้องไม่พยายามจัดการสิ่งต่างๆ และปล่อยให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยตัวเอง แต่ปัญหาทุกวันนี้คือ คนรุ่นเก่าไม่รู้ว่าไม่ต้องจัดการ

“ในยุคก่อนหน้านั้น ทุกคนต้องจัดการ ในหน่วยของบ้าน ในหน่วยของสังคม ในหน่วยของเมืองในหน่วยของประเทศ ในหน่วยของโลก ก็จะเป็นวงๆ ขยายออกมา ผู้ใหญ่เองก็ถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น ฉันจะเข้าใจได้อย่างไรว่าฉันไม่ต้องดูแลลูกแล้ว โลกนี้จะดูแลลูกเอง เขาเข้าใจไม่ได้ ซึ่งในขณะที่ลูกก็… ไม่ต้องมั้ง อยู่อย่างนี้แหละ ไม่ได้เลวร้ายอะไร”

ในแง่สังคมการเมือง วีรพรมองว่า การมีรัฐสวัสดิการจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่นได้ เพราะคนรุ่นเก่าจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่อต้องใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย โดยไม่ต้องหยิบเรื่องอายุหรือความอาวุโสขึ้นมาอ้าง เพื่อเรียกร้องการดูแลจากลูกหลาน รวมทั้งหากเกิดปัญหาภายในครอบครัว สวัสดิการที่ดีจะช่วยให้คนทั้งสองรุ่นสามารถแยกกันอยู่ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ

เมื่อเสียการควบคุมในชีวิตตัวเอง ก็ยิ่งพยายามควบคุมชีวิตคนอื่น ยิ่งเสียการควบคุมชีวิตคนอื่น ก็ยิ่งกดลงไปอีก ปัญหามันไปอยู่ตรงนั้นมากกว่า ปัญหาความไม่มั่นคงของคนสูงวัย ซึ่งเด็กก็ไม่มั่นคงเหมือนกัน เด็กก็ไปอีกข้างหนึ่ง ก็ถูกเลี้ยงมาแบบไม่เห็นจะดีเลย ทำเท่าไรก็ไม่ถูกใจพ่อแม่ มีงานทำแล้วก็ยังถามว่าได้เงินเดือนเท่าไร ทำไมไม่ย้ายงาน เมื่อไรจะมีบ้านมีรถนั่นก็คือการบอกว่าชีวิตที่เธอใช้อยู่มันไม่มีอะไร ก็เด้งกลับมาว่า ก็กลัวไง เดี๋ยวแก่แล้วไม่มีเงินเลี้ยงฉัน คำตอบเหล่านี้มันคือรัฐสวัสดิการ มันไม่ใช่พวกเราต้องมานั่งทะเลาะกันเอง” 

โลกของคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ถ้าจะขยายพื้นที่เสรีภาพของคนรุ่นใหม่ จะทำได้อย่างไร อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อนสนิทของตะวัน เสนอว่า การส่งเสียงพูดเป็นวิธีการหนึ่งที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของทุกคน

“มันจะถูกขยายได้ ถูกมองเห็นได้ โดยการที่เราไม่นิ่งเฉย ไม่เพิกเฉยต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะยิ่งเราเพิกเฉยมากเท่าไร ความรุนแรงมันจะยิ่งทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่พูดถึงเลย ทุกคนจะถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ความกลัวมันกลัวแหละค่ะ ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่ายทุกครั้งที่เคลื่อนไหวหรือต่อสู้ แต่เราแค่ต้องตระหนักไว้ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิจะทำ มีสิทธิที่จะคิด ไม่มีใครมาปิดปากคุณได้ ต่อให้ต้องกระซิบ มันต้องพูด มันถึงจะยังอยู่กับเราค่ะ”

ด้านวีรพรก็มองเห็นทิศทางของคนรุ่นใหม่ ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด ที่มีพรรคการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่างพรรคก้าวไกล ซึ่งทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่มีใครเป็นใหญ่เพียงคนเดียวในพรรค รวมทั้งจะเกิดองค์กรหรือบริษัทที่บริหารงานโดยทีมงานคนรุ่นใหม่ ส่วนคนรุ่นเก่าที่มีทัศนคติคับแคบก็จะอ่อนแรงและจางหายไปเอง

“ไม่ได้หมายความว่าระบบดิจิทัลหรือระบบเด็กมันถูกนะ แต่ว่ามันเป็นระบบของมัน ไม่ได้ว่าระบบอะนาล็อกหรือพวกเราผิดนะ เราแค่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเราไม่เป็นส่วนหนึ่ง การประสบความสำเร็จของเราก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่เป็นตัวอย่าง ทำไมค่านิยม 12 ประการ มันไม่เวิร์กแล้ว มันได้เด็กแบบหยกมา ดังนั้น ค่านิยม 12 ประการ ก็จะเริ่มเสื่อมลงไป ไม่ได้อยู่ในสารบบอีก มันไม่สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอีกต่อไป” วีรพรสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า