fbpx

From Dawn Till Dust ศิลปะจัดวางที่จะพาคุณไปสำรวจเศษฝุ่นที่กระจายอยู่ทั่วสังคมไทย

วินสตัน สมิทธิ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของรัฐผู้ที่ขยันและซื่อตรงในหน้าที่ เขาเป็น Supervisor ของกระทรวงแห่งความจริง ที่คอยคัดกรองบุคคลที่รัฐมองว่าเขาผู้นั้นเป็นภัยแก่รัฐ กลางดึกวันหนึ่ง วินสตัน สมิทธิ ถูกปลุกด้วยเสียงเรียกจากบุคคลระดับสูงให้ไปเข้าพบ เพราะมีบุคคลนิรนามฉายข้อความไม่พึงประสงค์ด้วยแสงเลเซอร์ตามมุมเมืองต่างๆ แต่เรื่องราวกลับตาลปัตร และกลายเป็นเขาเสียเองที่บกพร่องในหน้าที่ จนต้องถูกทำลายไปในที่สุด ”

เรื่องราวย่อๆ จากเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ฝ่าละออง ผลงานจากนักคิดนักเขียนชาวเชียงใหม่อย่างจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ผู้เป็นทั้งคนเขียนเรื่องสั้น นิยาย บันทึกการเดินทาง บทความเชิงศิลปะ บทภาพยนตร์สารดคี และคร่ำหวอดในแวดวงงานเขียนทั้งสิ่งพิมพ์และดิจิทัลมาตลอดหลาย 10 ปี

ด้วยความสนใจที่มีต่องานศิลปะและการทำงานร่วมกับศิลปินมากมาย

ทำให้จิรัฏฐ์อยากลองสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบของตนเองดูสักครั้งหนึ่ง

คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us) งานชิ้นแรกของจิรัฏฐ์ ที่ต่อยอดมาจากเรื่องสั้นที่ชื่อว่าฝ่าละอองข้างต้น คนถึงคนบนฝ้า เป็นงานศิลปะจัดวางแสบๆ ที่เปิดพื้นที่ให้คุณปีนกระไดขึ้นไปดูว่าอะไรอยู่บนฝ้า ยั่วๆ ไปกับความทรงจำของผู้คนบางกลุ่ม แม้งานจะถูกกระหน่ำจากคนที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายท่านรู้จักจิรัฏฐ์จากงานชิ้นนี้ และเมื่อ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา จิรัฏฐ์ได้ร่วมกับ กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์จาก Waiting You Curator Lab จัดนิทรรศการงานศิลปะจัดวางที่ต่อยอดมาจากเสี้ยวหนึ่งของเรื่องสั้นเดียวกัน 

ฝ่าละออง หรือ From Dawn Till Dust งานศิลปะจัดวางชิ้นที่สองของจิรัฏฐ์ที่แสบไม่แพ้กัน ว่าด้วยความพยายามของชนชั้นปกครองและศักดินา ที่ต้องการจะลบ ควบคุม เปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คน หรืออะไรก็ตามที่รัฐมองว่า ‘เป็นภัย’ ไม่ว่าจะเป็นหมุด ลานกว้าง สถาปัตยกรรม กระทั่งประชาชนเองก็ตาม โดยเล่าเรื่องผ่าน O-Robot หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตัวอย่างขยันขันแข็ง

ภาพจากนิทรรศการฝ่าละออง
ภาพจากนิทรรศการฝ่าละออง

แกนหลักของฝ่าละอองอยู่ตรงส่วนภาพเคลื่อนไหว 6 จอ (ถ่ายและตัดต่อโดย ปาณิศา เขื่อนเพชร) พร้อมเสียงบรรยายจากเมฆ’ครึ่งฟ้าและเสียงพากย์จากกูเกิล คล้ายเป็นงานหนังสารคดีตามติดชีวิต ‘O-Robot’ หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่นทรงกลมสีทองเรืองรอง ที่ได้รับมอบหมายให้ดูดฝุ่นตามสถานที่ๆ เชื่อมโยงกับขบวนการประชาธิปไตยไทย เช่น ลานพระราชวังดุสิตที่เคยเป็นจุดวางหมุดคณะราษฎร, แยกราชประสงค์และวัดปทุมวนารามที่เคยเป็นสถานที่ล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553, จวบจนแหล่งที่ตั้งเก่าของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ตอนนี้กลายเป็นสถานีรถไฟฟ้าไปเสียแล้ว ซึ่งขณะที่ฝุ่นกำลังถูกดูดหายไปนั้น ก็ราวกับว่าความทรงจำในพื้นที่นั้นถูกทำให้หายไปด้วยเช่นกัน

การหายไปของความทรงจำเกิดขึ้นในทุกฉากที่ปรากฎ แม้จะดูสงบนิ่งแต่ก็ปะทุอยู่ภายใน หลายฉากจำลองความเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง เช่น ฉากเครื่องดูดฝุ่นบนพรมแดง ขณะเดียวกันก็คล้ายเป็นการย้ำเตือนถึงเสี้ยวหนึ่งของสังคมที่ได้เลือนหาย และ ‘ถูกทำให้หายไป’ แต่การย้ำเตือนที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นตรงๆ นัก อย่างเช่น ในฉาก O-Robot แถว BTS วัดพระศรีมหาธาตุ ที่ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาต้องเดินทางไปดูดฝุ่น ณ ตรงนั้นด้วย แต่ก็ได้มารู้ในภายหลังว่า มันเคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญมาก่อน การชวนคิดตรงนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา และหลายฉากทำงานกับผู้เขียนในลักษณะนี้ มันจึงเหมือนเป็นการกระตุกความใคร่รู้ ประวัติศาสตร์ รวมถึงความทรงจำบางอย่างไม่ให้เลือนหายไปจากสังคม

“เรารู้สึกว่ามันคือการที่รัฐพยายามจะลบเลือนความทรงจำของพวกเรา ผ่านการลบเลือนหลายสิ่งที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาประชาธิปไตย  อีกนัยยะหนึ่งก็เหมือนทำให้เราหลงลืมบางสิ่งที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรในตอนนั้น สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ ถูกลบไปเรื่อยๆ มันเกิดขึ้นโดยบางทีเราก็ไม่รู้ตัว เพราะว่าเราไม่ได้ไปสนใจมัน ก็เลยทำนิทรรศการชิ้นนี้ขึ้นมา เหมือนเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าพื้นที่ๆ ถูกเปลี่ยนภูมิทัศน์มันเป็นยังไง”

ภาพจากนิทรรศการฝ่าละออง
ภาพจากนิทรรศการฝ่าละออง

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ และเห็นได้จากทั้งในคิดถึงคนบนฝ้าและฝ่าละออง คือการใช้ข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ในบ้าน มาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้ชม โดยในงานนี้เขาใช้ ‘เครื่องดูดฝุ่นสีทองเรืองรอง’ มาเป็นสื่อกลางและนักแสดงหลักภายในสารคดีด้วย

เฉกเช่นวินสตัน สมิทธิ ที่ยึดมั่นในหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมาย หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่นก็ทำงาน ทำงาน ทำงาน อยู่อย่างนั้นไม่คิดสงสัยใดๆ เป็นเครื่องมือไร้ชีวิต ไร้เป้าหมาย มีหน้าที่เพียงขจัดความสกปรก พาชวนให้นึกถึงความหมายของสถาบันต่างๆ มากมายในสังคมไทย ที่มีค่าอยู่เพียงแค่ถ่วงรั้งอนาคต การเจริญเติบโตของเมืองและผู้คน รวมถึงขจัดความคิดที่ไม่พึงประสงค์ (ในสายตาของรัฐ) ออกไปเท่านั้นเอง

“ในมุมมองของรัฐ มันคือความสะอาดในความคิด ความผ่องใส สีทองอร่ามอะไรแบบนั้น แต่การกระด้างกระเดื่องแบบพวกเราเนี่ยมันไม่ถูก มันคือความสกปรกที่ต้องกำจัด”

ซึ่งนอกจากความหมายนัยที่กล่าวไปข้างต้น การนำเสนอการชำระล้างความทรงจำผ่าน ‘เครื่องดูดฝุ่น’ ก็เป็นวิธีการที่ทั้งเรียบง่ายและแยบคาย รวมถึง ‘ความเป็นมิตร’ ที่โชยออกมาจากงาน จนเราเลือกได้ว่าจะปีนกระไดดู หรือนั่งดูสบายๆ 

“หลักๆ คือเราอยากใช้วัตถุที่มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เพราะว่ามันคือความคุ้นเคย บันไดที่ปีนขึ้นไปบนฝ้า ฝ้าที่ทุกบ้านก็มี เครื่องดูดฝุ่นก็เหมือนกัน มันเป็นอะไรง่ายๆ ที่เราก็ไม่ได้สนใจมันด้วยซ้ำ เราพยายามจะทำให้งานศิลปะมันมีอารมณ์ขันแบบโง่ๆ ดูเข้าใจง่ายๆ หรือบางทีไม่ต้องเข้าใจมันก็ได้”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คิดถึงคนบนฝ้า และ ฝ่าละอองนั้น เป็นงานการเมืองเพียวๆ ที่ไปแตะบางสิ่งที่คนบางกลุ่มไม่อยากให้แตะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก้อนอำนาจเก่า หรือโครงสร้างทางสังคมต่างๆ นานา เลยนึกสงสัยกับจิรัฏฐ์ว่างานแสบๆ กวนๆ แบบนี้ มันมีที่ทางเป็นอย่างไรในสังคมไทยบ้าง

“จริงๆ มันมีหลายที่นะครับ แต่มันไม่ค่อยถูกให้อยู่ในพื้นที่แกลเลอรี่เท่าไหร่ อย่างงานเราถ้าไปเสนอแกลเลอรี่ที่มันจริงๆ จังๆ กว่านี้ เขาอาจจะไม่รับก็ได้ มันมีความการเมือง มีความขายไม่ได้อยู่ งานการเมืองมันมีเยอะครับ แต่มันจะอยู่บนถนน อยู่ในม็อบ อยู่ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเยอะมากและหลายชิ้นแหลมคมมาก”

“แต่สำหรับเราๆ อยากทำในพื้นที่แบบนี้บ้าง มันมีความจำเป็นว่างานการเมืองมันต้องอยู่ในแกลเลอรี่ มันต้องมีการคัดง้าง พูดตรงๆ แวดวงศิลปะกระแสหลักมันก็เชื่อมโยงอยู่กับทุนใหญ่อะไรแบบนั้นอยู่ การเลือกงานเขาก็เลือกจากสุนทรียะเป็นหลัก งานสวย ที่พอจะไปสะสมแล้วมีมูลค่า แต่งานอย่างเรา เขาก็ไม่รู้จะสะสมไปทำไม เขาคงไม่อยากเอาชุดฝ้าไปประดับ นึกออกมั้ย เรามองว่าการทำงานในแกลเลอรี่มันก็ดีตรงที่มันเป็นการคัดง้างนี่แหละ”

เมื่อมีการคัดง้างก็ย่อมมีคนไม่พอใจ มีความลำบากหรือคิดอะไรเป็นพิเศษในการสร้างงานนี้มั้ย

“ไม่ได้คิดครับ ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็นแบบไหน สำหรับเรามันคือคิดแค่ว่าจะทำอะไรออกมา หลักๆ แค่ออกแบบประสบการณ์มากกว่า คืองานของเราไม่ใช่งานสวยงาม แต่เราอยากสร้างประสบการณ์ในเรื่องสั้นของเรา อย่างคุณอาจเคยอ่านเรื่องสั้นของเรามาก่อน แล้วก็ได้ขึ้นไปดูบนฝ้านั้นว่ามีอะไร มันคือประสบการณ์ เช่นเดียวกับในห้องฝ่าละออง ข้างในมันจะมีห้องสองชั้น เปิดเข้าไปมันก็จะเป็นห้องมืดๆ ที่มีทีวีล้อม แล้วมันก็จะเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ผ่านโทรทัศน์ เราคิดว่ามันเป็กนประสบการณ์แบบนึง ที่เหมือนเราจะถูกดูดอยู่ในเรื่องสั้นนั้น”

“ที่เหลือมันยากในเชิงกระบวนการ เพราะมันต้องถ่ายในที่สาธารณะเนอะ มันก็มีตำรวจมาบ้าง มาถามว่าทำอะไรไรงี้ บางทีก็มาขอดูบัตรประชาชนว่าคุณเป็นใคร แต่เราก็ไม่ให้หรอกนะ ถ้าเราไปถ่ายแถวราชดำเนิน มันก็มีความเป็นพื้นที่เจ้าอยู่ ตำรวจก็จะคอยวอหากัน เราก็บอกเขาไปว่ามารีวิวเครื่องใช้ไฟฟ้าครับไรงี้ ก็กองโจรประมาณนึง”

ภาพจากนิทรรศการฝ่าละออง
แบบนี้ก็แสดงว่าขอบข่ายในการแสดงออกอะไรสักอย่างของไทยเรายังแคบอยู่ใช่ไหม

“เราบอกไม่ได้ว่ะ (หัวเราะ) เราคิดว่ามันมีพื้นที่ในการเล่าเรื่องอยู่อีกเยอะนะ ที่บางทีรัฐมันไม่เข้าใจหรอก โอเคคิดถึงคนบนฝ้ามันโดนโจมตีหนักมาก โดนทัวร์ลง โดนขู่เยอะมาก แต่งานนั้นเรารู้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเราตั้งใจเข้าไปเล่นกับคำที่มันเป็น Propaganda ของสังคม แต่งานนี้มันไม่ค่อยเจออะไร ชื่อมันอาจจะตรงไปตรงมา แต่ตัวงานมันพูดถึงความ Universal พูดถึงเผด็จการ พูดถึงการลบเลือนความทรงจำ มันไม่ได้มีการโจมตีตรงๆ 

“ถามว่ามันกว้างมั้ย โอเคมันมีคนรุ่นใหม่หลายคนในม็อบที่ถูกเรียก เพียงเพราะทำนั่นทำนี่ ใช่มันแคบ แต่ในเชิงศิลปะเราตอบไม่ได้ว่ะ บางทีมันเป็นเรื่องที่เราไม่รู้เลยว่าใครจะโดนอะไรบ้าง เพื่อนเราอยู่เชียงใหม่เป็นกราฟฟิตี้ (หมุน-พึ่งบุญ ใจเย็น) ไปพ่นประเทศทวย เต็มเมือง มันก็โดนดำเนินคดี ตัดสินจำคุกไป 2 ปี แต่รอลงอาญาอยู่ ขณะเดียวกันศิลปินกราฟิตี้เหมือนกันพ่นชื่อตัวเอง สมมติว่า ‘จิรัฏฐ์’ ตามที่ต่างๆ กลับไม่โดน คือเราไม่รู้จริงๆ เว้ยว่าประเทศเชี่ยนี่ขอบเขตมันอยู่ตรงไหน ไม่รู้เลยว่ะไม่รู้จริงๆ เหมือนทำไปก็รอสุ่มอะว่าจะโดนหรือไม่โดน”

แล้วอะไรทำให้เรายังเลือกที่จะผลิตงานออกมา

“เราคิดว่ามันก็เหมือนงานเขียนครับ ไม่ได้บอกว่าเราอยากจะทำอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเรามีโอกาสที่อยากจะสื่อสารหรืออยากจะเล่าเรื่องอะไรเราก็ทำ อย่างเช่น ตอนนี้ที่มีคนมาชวนเราทำงานศิลปะ เราก็แฮปปี้ที่จะทำถ้าเรามีเวลาพอ มีทรัพยากรมากพอ แต่สุดท้ายเราก็เขียนหนังสือเหมือนเดิม แต่ไม่ว่าจะเขียนหนังสือ ทำหนัง ทำสารคดี มันก็เป็นงานศิลปะหมดเลยสำหรับเรา มันอยู่ที่ว่าห้วงเวลาไหนมันเหมาะกับการจะทำอะไร”

“เราไม่ได้คิดว่าเราจะทำงานแบบไหนด้วยเว้ย ไม่ได้คิดว่ามันจะแตกต่างกับงานเขียนยังไง แต่เราคิดว่าสิ่งที่เราเล่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว ถ้าอ่านเรื่องสั้นหรือนิยายของเราก็จะเห็นว่ามันเป็นแนวทางแบบนี้อยู่แล้ว  มันอาจจะมีพัฒนาการจากประสบการณ์ที่เราโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราอาจจะพูดมาก แต่ตอนนี้เราพูดน้อยลง สื่อสารในสิ่งที่จำเป็น เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราทำแนวทางยังไงอยู่ แต่ทั้งคิดถึงคนบนฝ้าและก็ฝ่าละอองมันเป็นไอเดียเดียวกับที่เราเขียนหนังสือ แล้วก็พัฒนามันออกมาเป็นงานทัศนศิลป์ น้ำเสียงอะไรทั้งหลาย มันก็เป็นมาจากตัวเรา อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง บางคนอาจจะเห็นว่าไม่น่าสนใจตรงไหน มันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราได้ทำ เราก็จะทำแบบนี้ ถ้ามีโอกาสต่อไปเราก็จะทำแบบนี้ น้อยลงมากขึ้นมันก็อยู่ที่ความคิดเราในช่วงนั้น”

วิธีการแสดงออกในปัจจุบันมันไปไกลได้ถึงขนาดไหน และความเชื่ออะไรที่เด่นชัดขึ้นในใจหลังจากทำงานชิ้นนี้

“เราคิดว่าเรามาไกลกันมากแล้วนะ มาไกลกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก แต่ว่าประเด็นคือ รัฐก็ยังกดเราอยู่ 112 ก็ยังทำงานของมันทุกวัน เราคิดว่าประเทศมันจะไกลกว่านี้ถ้าไม่มี 112 ไม่ได้หมายความไม่มีสถาบันกษัตริย์นะ มันคนละประเด็นกัน เราคิดว่าการปฏิรูปมันสำคัญ การทำให้มันทันสมัย และถ้ารัฐคิดถึงประชาชนมากกว่าสถาบัน ประเทศจะเจริญกว่านี้เยอะ และถ้าการแสดงออกมันทำให้รัฐเห็นว่าประชาชนสำคัญกับประเทศนี้ เรายิ่งจำเป็นต้องพูด ต้องแสดงออกมา

“เราเชื่อเรื่อง Free Speech เราเชื่อว่าคนควรจะพูดในสิ่งที่คิดได้ ทุกคนควรจะพูด ไม่ควรจะปิดปาก ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความไม่ยุติธรรมอยู่ เราก็ควรจะพูดมันออกมาไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน และก็เชื่อในเรื่องของการ Collective ในสังคม คนนั้นพูดนิดคนนี้พูดหน่อย แสดงออกนั้นแสดงออกนี้ มันเป็นการรวมกันให้เห็นพลังว่า นี้คือพลังของการขัดขืนรัฐ คุณอาจจะสกรีนเสื้อ คุณอาจจะตั้งสเตตัส ทำงานศิลปะ ทำหนัง ทำสัญลักษณ์ กระทั่งสื่อมวลชนที่ทำข่าวประเด็นหนึ่งไปเรื่อยๆ เราว่านั่นคือการสะสมมาเพื่อให้เกิดพลังขึ้นมา”

ท้ายนี้ นิทรรศการงานศิลปะจัดวาง ‘ฝ่าละออง’ หรือ From Dawn Till Dust ของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ยังคงจัดแสดงจนถึงวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ณ วีเอส แกลเลอรี่ (VS Gallery)

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า