fbpx

ชัยรัตน์ ถมยา : ผู้ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของนักข่าวและผู้ประกาศข่าว และการหาความท้าทายใหม่ๆ ของชีวิตอีกครั้ง

ไหน ใครเกิดมาพร้อมกับรายการ “ทันโลก กับชัยรัตน์ ถมยา” บ้าง? ยกมือหน่อย หลายคนคงเกิดมาพร้อมกับรายการนี้ รวมถึงผมคนหนึ่งด้วยที่เกิดมาเจอจ๊ะเอ๋กับพี่ชัยรัตน์ ด้วยท่าทาง ลีลาการอ่านข่าว ประกอบกับการเล่าข่าวที่ทั้งมีความจริงจัง มีข้อมูล และพร้อมลงพื้นที่คนหนึ่งเลย วันนี้เราจึงนัดพี่แฟรงค์ไว้ที่ MRT ลุมพินี เพื่อมาพูดคุยและสัมภาษณ์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็น “ชัยรัตน์ ถมยา” ที่ปัจจุบันเป็นทั้งที่ปรึกษาของทีมข่าว ช่อง 5 รวมไปถึงการทำเพจย่อโลกนะครับ และคุยก่อนนอนที่ทำคู่กับคุณธีรัตถ์ รัตนเสวี และที่ปรึกษาของสำนักข่าวออนไลน์ The Opener อีกด้วย

วันนี้เราจะพามาคุยกันแบบจริงๆ จังๆ กับทุกเรื่องใต้เสื้อสูทของผู้ชายคนนี้กัน ตั้งแต่ความฝันในการเป็นนักข่าว จนไปถึงการทำงานเป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าว และความท้าทายในตัวของเขาที่มีอยู่และพยายามค้นหาอยู่เสมอ ติดตามบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ช่วงวัยเด็กของพี่ ในตอนนั้นได้ดูทีวีบ้างไหม?

ดู เป็นคนชอบดูทีวี ชอบดูหนังมาก ถามว่าข่าวต่างประเทศสนใจไหม? ด้วยความไม่รู้ตัวนะ แต่จริง ๆ เราสนใจตั้งแต่เด็ก คือเราดูเราก็จะรู้ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งตอนโตเราย้อนกลับไปดู ก็คิดว่า ทำไมเด็ก ๆ เราดูข่าวต่างประเทศเยอะ (หัวเราะ) คือเราคงสนใจ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราสนใจมาก เราต้องติดตามอะไรมาก แต่เหมือนกับมันเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่พอย้อนกลับไปดูแล้วแบบ ช่วงนั้นเราดูข่าวต่างประเทศเยอะ แล้วเราก็ดูข่าวด้วย เราก็ดูหนัง ช่วงนั้นดูทุกอย่าง สมัยก่อนดูหนังจีน เพราะว่าบ้านพี่อยู่ใกล้กับโรงหนังจีน แล้วคือคุณน้าเป็นช่างทำผม เพราะนั้นก็จะมีพนักงานโรงหนังเขาจะมาทำผม เป็นพนักงานที่คอยเก็บตั๋วอยู่หน้าโรง เขาก็จะรู้จักเรา ก็คือทุกโปรแกรม ทุกเรื่อง เราได้ดูฟรี เพราะว่าเขาจะปล่อยให้เราเข้าไปดู มันก็เลยกลายเป็นว่าผูกพัน คือว่าชอบหนัง ดูหนังมันทุกอย่าง แล้วก็การดูหนังมันช่วยเราได้ อย่างเช่นเวลาเราต้องไปทำสกู๊ป หรือทำสารคดีอะไรก็ตาม มันช่วยเราในการดำเนินเรื่อง ที่เราได้เคยเห็นหนังที่มันโปรดักชั่นดี ๆ เราสามารถประยุกต์บางอย่าง ทำไมเขาเดินเรื่องแบบนั้น บางอย่างตรงนั้นนี่มันน่าสนใจ ภาพตรงนั้นมันน่าสนใจ เราก็มาปรับให้เข้ากับบรรยากาศของข่าว ของสารคดีได้ ซึ่งพี่ว่าพี่ได้ตรงนั้นมาเยอะ

เรียนจบคณะอะไรมา?

คณะเศรษฐศาสตร์จากญี่ปุ่น เพราะว่าพี่เรียนจบ ม.ปลาย แล้วพี่ก็สอบชิงทุนได้ เป็นทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น แล้วก็ไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็ไปจบปริญญาตรีที่ญี่ปุ่นเลย ได้ใบแรกใบเดียว(หัวเราะ)

ทำยังไงถึงสามารถไปสอบชิงทุนไปเรียนที่ต่างประเทศได้?

มันมีการเปิดอยู่แล้วนะ ทุกปี ของสถานทูตญี่ปุ่น จะมีเปิดตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท แล้วก็ปรากฏว่าพี่เรียน ม.ปลาย ก็มันจะมีรุ่นพี่ในโรงเรียนพี่ได้ไปทุกปี ก็จะมีรุ่นพี่กลับมาแนะนำน้อง ๆ ว่ามันมีทุน ทุนนี้ดียังไง ข้อดี ข้อเสีย เป็นยังไง ตอนนั้นพี่ก็เลยคิดว่าทุนนี้น่าสนใจ ตั้งแต่อยู่ ม.4 ก็ไป แต่ว่ามันเกิดอุบัติเหตุทางครอบครัวนิดนึง ตอน ม.5 คุณพ่อพี่เสีย พอเสียเสร็จเราก็รู้สึกว่าเหลือแม่คนเดียว ซึ่งถ้าเกิดยังไงเป็นภาระกับแม่เยอะถ้าเราจะต้องเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่ แต่ถ้าเกิดเราสอบทุนญี่ปุ่นได้ คือไม่ต้องเสียอะไรเลย คือทุกอย่างรัฐบาลญี่ปุ่นออกให้ มีค่าใช้จ่าย ค่ากิน ค่าเล่าเรียนทุกอย่าง คือเราไปแต่ตัว แล้วเกิดไปอยู่ เราประหยัด บางทีเราสามารถเก็บเงินส่งมาให้ครอบครัวได้อีก เพราะว่าเงินที่เขาให้มันพอที่จะเหลือได้ถ้าเราประหยัด ทำให้ตรงนี้มันน่าสนใจมากขึ้น เราก็เลยพยายามลองสอบดู ทีนี้ก็มุ่งมั่นตรงนั้นว่าลูกจะต้องสอบให้ได้ ในขณะที่เพื่อน ๆ จบ ม.4 ก็สอบเทียบแล้วก็ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ว่าทุนญี่ปุ่นเด็กสอบเทียบเขาจะไม่ให้ คุณต้องเรียนจบ ม.6 มันก็เลยเหมือนกับต้องเสี่ยง ถ้าเกิดคุณจะอยู่ แต่พี่จะต่างตรงที่ว่าไม่เป็นไรหรอก ถ้าเกิดว่าไม่ติดก็สอบเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศ แต่ว่าเราก็อยากจะติด เราก็อยู่ถึง ม.6 แล้วเราก็สอบ ก็เผอิญมันก็โชคดีว่าเราก็ได้ไป

ทำไมถึงอยากเป็นนักข่าว?

ไม่ได้คิดที่จะเป็นนักข่าวเลยนะ จริง ๆ มันไม่ได้มีอยู่ในหัวตอนที่เรียนมาว่า เราโตขึ้นมา เราอยากจะเป็นนักข่าว ไม่ได้มีความฝันตรงนั้นเลย แต่ว่ามันเป็นการจับพลัดจับผลู วัน ๆ หนึ่ง ข้างหน้าอนาคตเราอาจจะไม่รู้ตัวเองก็ได้ว่าจริง ๆ แล้วเราชอบงานนี้ แล้วก็เรียนกันมาเรื่อย ๆ แต่ว่ามันมีโอกาสที่จะได้เข้าไปสัมผัสงานสื่อครั้งแรกเลย มันก็จะบอกว่าทำโดยตรงก็ไม่เชิง ทางอ้อมก็ไม่ใช่ คือการที่ได้ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นพี่เรียนที่ญี่ปุ่น แล้วก็พอไปถึงเขาก็มีการเปิดรับสมัครเหมือนกับนักเรียนที่เรียนที่ญี่ปุ่นให้มาทำงานพาร์ทไทม์ให้กับ Radio Japan ภาคภาษาไทยของ NHK ก็ลองไปสมัครดู มันก็เป็นงานที่ดูแล้วน่าจะท้าทายดี เรียนไปด้วย ทำงานพิเศษไปด้วย ก็ไปสมัคร แล้วก็สอบผ่าน ก็เลยได้ไปทำตรงนั้น แล้วตอนนั้นก็จะมีการแปลข่าวจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย อ่านข่าว ออกอากาศ ตอนนั้นยังเป็นวิทยุคลื่นสั้นเลยนะ

ใครที่เป็นไอดอลเวลาเราดูทีวี?

ไอดอลของพี่ไม่มีนะ แต่หมายถึงว่ามีคนที่ชื่นชมในลักษณะที่ว่ามีเสน่ห์ที่ทำให้เราต้องติดตามดูมากกว่า ในสมัยก่อนที่เราดู ๆ อยู่ ที่จำได้ก็จะเป็น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล คุณอรุณโรจน์ เลี่ยมทอง ทำไมถามว่าติดตาม? เพราะว่ามันเป็นมิติใหม่ของการเสนอข่าว ปกติในการเสนอข่าวคือพูดตามตรง สมัยก่อนพี่จำผู้ประกาศไม่ได้สักคนนึง คือได้แต่ดูเนื้อข่าว แต่ว่าพอหลัง ๆ ดร. สมเกียรติมาจัด มาเปลี่ยน มันมีการปรับวิธีการนำเสนอ ซึ่งมันเป็นเหมือนกับมิติใหม่ของสื่อในตอนนั้นในเรื่องของการนำเสนอข่าว มันก็เลยทำให้รู้สึกว่ามันดูเปลี่ยนไป ตื่นเต้น มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ก็เลยแบบว่าดูโดด

วิทยุคลื่นสั้นคืออะไร?

คือวิทยุที่เป็นลักษณะของ SHORT WAVE ที่จะต้องออกอากาศโดยตรงจากต่างประเทศเลย แล้วมันจะเป็นเหมือนกับช่วงสมัยสงครามเย็น คือหมายถึงว่าบางอันมันออกอากาศในประเทศไม่ได้ ถูกเซ็นเซอร์ แต่ว่าคุณสามารถรับฟังข่าวโดยตรง คลื่นสั้นที่มันมาจากต่างประเทศโดยตรงได้ มันก็ยังเป็นลักษณะอย่างนั้น ตอนนี้ก็ยังเป็นแต่เขาปรับเปลี่ยนแล้ว แต่ในสมัยนั้นเขายังเป็น SHORT WAVE อยู่ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้เริ่มแตะ ๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้มากมาย แค่ไปแปลข่าว อ่านข่าว มีรายการบ้าง เขาเรียกฝึกทักษะการอ่าน ตอนนั้นก็จะมีคนที่คอยสอนให้เรา

กลับมาเมืองไทยแล้ว เราก็ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวกับสื่อ เรียนจบมาก็ไปทำงานบริษัทญี่ปุ่น แต่ว่าทำไปทำมาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา คือเราไม่ชอบที่จะแบบว่านั่งทำงาน 9 โมง เลิก 5 โมง ทุกอย่างเป็น Routine เรารู้สึกว่าเราอึดอัด ก็บังเอิญมีสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่น FUJI TV เขาเปิดรับสมัครผู้ช่วยผู้สื่อข่าวพอดี เราก็คิดไปเองว่าเราก็มีทักษะพอสมควรเหมือนกัน เคยแปลข่าว (หัวเราะ) แล้วเราจำว่าเราเคยพูดภาษาญี่ปุ่น เพราะว่าเราจะได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นของเราด้วย ก็ไปสมัคร อันนั้นคือการเริ่มทำข่าวจริง ๆ แล้วการไปทำผู้ช่วยผู้สื่อข่าวคือเขาจะมีผู้สื่อข่าวที่เป็นคนญี่ปุ่นมาประจำ เราก็ต้องเป็นผู้ช่วยเขา หาข้อมูล แล้วก็ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เขามีศูนย์ข่าวอยู่ที่เมืองไทย แล้วเขาก็จะให้ไปทำข่าวในภูมิภาค ก็เลยทำให้เราได้มีโอกาสได้ผ่าน คือเวลาไปไหนเขาจะเอาเราไปด้วย เกิดเรื่องที่ไหนในภูมิภาค ทะเลาะกัน ประท้วงกันในเขมร กัมพูชา เราก็ต้องไป เพราะนั้นมันเป็นโอกาสฝึกเราในการทำงานจริง ๆ

แล้วเผอิญพอพี่รู้ภาษาญี่ปุ่น เจ้านายที่ฝึกเราเขาจะเหมือนกับพอรู้ภาษาญี่ปุ่น เวลาเขาเขียนสคริปของเขา เขาจะมาให้เราดู มาให้เราอ่าน แล้วเขาก็จะบอกว่ายังไง อันนั้นเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ว่าในสิ่งที่เราเอาข้อมูลไปบอกเขา เขาเขียนมาเป็นสคริปต์ลักษณะแบบนี้ เราก็ได้เรียนรู้โครงสร้างของสคริปต์ทีวีว่ามันต้องเป็นแบบนี้ รวมถึงโปรดักชั่นทีวีว่าการแพ็คเกจสกู๊ปหนึ่งตัว เขาทำยังไง เขาถ่ายยังไง เราเป็นผู้ช่วยทั้งผู้สื่อข่าว ทั้งช่างภาพ ไปไหนเราก็ติดกับอาชีพช่างภาพ เราต้องถือบันไดให้พี่ช่างภาพ ถืออุปกรณ์อยู่ข้างหลังพี่ช่างภาพตลอด คือเจ้านายญี่ปุ่นเป็นคนสอนตลอด คุณต้องประกบช่างภาพ คุณต้องดูข้างหลัง ระวังข้างหลัง เราก็จะได้รู้ว่าเขาถ่ายภาพแบบนี้ เขามีวิธีการเล่าเรื่องของเขาแบบนี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะจากการทำงานจริง ๆ

เสร็จแล้วหลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ไอทีวี เราก็รู้สึกว่าทำข่าวทีวีญี่ปุ่นไปสักพัก แล้วรู้สึกว่ายังไงเราก็ยังเป็นผู้ช่วยเขา ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง เริ่มปีกกล้าขาแข็ง(หัวเราะ) แล้วก็รู้สึกว่าเรียนมาพอสมควรแล้ว เราอยากจะคิดประเด็นนี้ได้ อยากจะนำเสนอประเด็นที่เราคิด ก็เผอิญไอทีวีเปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พี่ก็เลยไปสมัคร แล้วก็ได้เข้าไปที่ไอทีวี เข้าไปอยู่โต๊ะต่างประเทศ แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้น ก็เริ่มจากการเป็นนักข่าวแล้วก็รู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ค้นพบตัวเอง เพราะมันคืองานที่เราชอบ เป็นคนที่ไม่ชอบอะไรที่มันซ้ำ Routine คือข่าวมันตื่นเต้นตลอดเวลา จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ แต่ละวัน ๆ มีเรื่องใหม่ ๆ จะมาให้เราได้ตื่นเต้นตลอดเวลา แล้วมันมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ต้องนั่งโต๊ะทำงาน ได้ออกไปนู่นไปนี่ได้ คือมัน RELAX มันก็เลยเป็นจุดที่เริ่มต้นว่าสงสัยคงจะต้องเป็นนักข่าวแล้ว (หัวเราะ)

อะไรคือช่วงก้าวผ่านจากการเป็นผู้สื่อข่าวมาเป็นผู้ประกาศข่าว?

คือเราไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าเราจะเป็นผู้ประกาศข่าว เรามองตัวเองว่าเราเป็นนักข่าว เราชอบลงสนาม เราชอบออกไปทำข่าวข้างนอก ตอนนั้นไอทีวีมันมีจุดเปลี่ยนหน่อยนึง คือในช่วงข่าวค่ำก็จะมีทั้งผู้ประกาศหลัก แล้วก็จะมีช่วงข่าวต่างประเทศ ข่าวกีฬา ข่าวเศรษฐกิจ เขาต้องการให้มีผู้ประกาศของแต่ละช่วงไปอยู่ในนั้นด้วย เพราะนั้นทางโต๊ะข่าวต่างประเทศก็ต้องส่งไป เผอิญหัวหน้าเขาก็มองว่าเราก็พอจะมีหน่วยก้านที่จะทำได้ เพราะเวลาเราออกไปทำข่าวข้างนอกก็จะมีการเปิดหน้า ยืนรายงาน แล้วก็บอกว่าก็น่าจะทำได้นะ เขาบอกว่างั้นก็ลองทำดูสิ ตอนนั้นก็เลยมองว่าก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าถือว่าเป็นงานใหม่ ซึ่งเราอยากต้องการอะไรที่มันท้าทายมากขึ้น งานผู้สื่อข่าวเราก็ทำ งานผู้ประกาศก็จะเป็นอีกแบบนึง เพราะคุณต้องนั่งอยู่ในสตูดิโอ คุณต้องนั่งอ่านสคริปต์ คุณมานั่งหน้ากล้องออกอากาศสด ณ ตอนนั้น พลาดไม่ได้ ทุกอย่างมันกดดันมากกว่าที่มาจะออกไปทำข่าว นั้นคือจุดเริ่มต้นในการที่เริ่มเข้าสู่การประกาศข่าว

อะไรอย่างแรกที่พี่รู้สึกว่ากดดันตัวเองมากที่สุดนอกจากคำว่า LIVE อยู่ใต้โลโก้สถานีตรงนั้น?

ตอนแรกเลยก็บอกว่าสั่นมาก สั่นเพราะนอกจากคำว่า LIVE แล้วก็คือในหัวเรามันคิดอยู่เสมอว่าตอนนี้มีคนจำนวนมากกำลังมองดูเราอยู่ ทั้ง ๆ ที่มันคือกล้อง แต่ในหัวเราแบบว่ามีคนจำนวนมากที่นั่งอยู่หน้าจอกำลังมองเราอยู่ แล้วมันคือเราไม่คุ้น เราไม่เคยทำ คือเราต้องนั่งโต๊ะ เราต้องอ่านสคริปต์ ห้ามอ่านผิด อ่านผิดไม่ดี แล้วต้องมองกล้อง ซึ่งการมองกล้อง เวลาที่เราไปทำข่าวข้างนอกเราก็ต้องมองอยู่แล้ว แต่มันไม่เหมือนกัน เพราะอันนั้นมันคือเราเทคได้ เราพลาดได้ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ คนกำลังจ้องมองเราอยู่ แล้วเราผิดไม่ได้ ณ เวลานั้นคือแรงกดดันที่ความรู้สึกมันต่างไปจากทุกครั้ง

หลังจากได้เป็นผู้ประกาศข่าวในช่วง ๆ หนึ่ง อยู่ดี ๆ จับพลัดจับผลูมาเป็นผู้ประกาศข่าวหลักของทีวีไทยกับพี่ประวีณมัย บ่ายคล้อยได้อย่างไร?

ก่อนที่จะขึ้นมาตอนแรก เผอิญมันจะมีช่วงข่าวค่ำที่ผู้ประกาศขาดในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ทางผู้ใหญ่เขาก็มองว่าเราอ่านข่าวต่างประเทศก็โอเคนะ ลองดูไหม? ก็ถือว่าเขายื่นโอกาสให้ตอนนั้น เขาเห็นหน่วยก้านเรา แต่การมาอ่านข่าวหลักกับข่าวต่างประเทศมันไม่เหมือนกัน ตรงที่ว่าเราทำข่าวต่างประเทศ เรามีความเข้าใจในเนื้อหาข่าวต่างประเทศ เข้าใจสิ่งที่เราอ่าน แต่ข่าวในประเทศ บางเรื่องเราก็ตาม บางเรื่องเราก็ไม่ได้ตาม เพราะฉะนั้นมันจะมีความรู้สึกว่าบางเรื่องเราก็ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่การมาอ่านข่าวสำหรับพี่มันคือการอ่าน ต้องอ่านด้วยความเข้าใจ เราก็จะเกร็ง แล้วมันคือเราเป็นตัวหลักของรายการ

แล้วก็ครั้งแรกที่ถูกจับให้นั่งอ่าน ให้ไปประกบกับคุณนารากร ติยายน กับคุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง ซึ่งตอนนั้นคือช่องให้เป็น NUMBER ONE แล้วเราเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นเด็ก ๆ เพิ่งจะเริ่ม ต้องยอมรับว่าวันแรกสั่นหมด สั่นแบบมาก ๆ มันต่างกับการอ่านข่าวต่างประเทศอีก การอ่านเริ่มชินแล้ว  เพราะว่าเราเริ่มรู้จังหวะการอ่าน เราก็เริ่มสั่น พอสั่น ๆ ปุ๊บมันออกทางสีหน้า แล้วทีนี้มันเป็นข่าวหลัก ก็ปรากฏว่าทำได้สัก 2-3 ครั้ง ผู้ใหญ่ก็บอกว่าคงไม่ไหว เพราะว่ามันเหมือนกับเรายังดูไม่เป็นธรรมชาติ ดูเกร็ง ดูแบบมีความผิดพลาดทางหน้าจอ ตอนนั้นก็บอกว่าเอาอย่างนี้ไหม? แฟรงค์ลองย้ายมาทำข่าวเที่ยงสุดสัปดาห์แทนไหม? ถามว่าตอนนั้นเฟลไหม? ก็นิดหน่อยที่เหมือนกับว่าถูกถอดออก แต่เราเข้าใจด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ แล้วเราก็ยอมรับว่าเราอาจจะยังไม่ใช่ ก็ไม่เป็นไร ก็ย้ายเวทีมาอยู่ที่ข่าวเที่ยงสุดสัปดาห์ ให้มาอ่านคู่กับคุณสร้อยฟ้า (สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์)

ตอนนั้นพี่กุ้งก็จะมีฉายาว่าถ้าแกไม่ทำการบ้านมา เขาฆ่าแกตายกลางรายการ (หัวเราะ) เราก็พยายามที่จะทำการบ้าน แต่ปรากฏว่าพอไปนั่งกับพี่กุ้งจริง ๆ แล้ว พี่กุ้งเป็นครูที่ดีมากนะ พี่กุ้งคอยสอนว่าเธอต้องหันด้านนี้สิ เธอต้องมองกล้องลักษณะนี้สิ เวลาเธอคุยเธอต้องทำลักษณะแบบนี้นะ เธอต้องแนะนำชื่อ ต้องพูดชื่อทุกครั้ง เพื่อให้คนสามารถจะจดจำชื่อเธอได้ ไม่งั้นเธอก็ผ่านไป พี่กุ้งจะเป็นคนที่แนะนำในรายละเอียดค่อนข้างที่จะเยอะมาก และเนื่องจากว่าข่าวเที่ยงสุดสัปดาห์มันเป็นอะไรที่ Relax มากกว่าข่าวค่ำ มันก็จะเหมือนกับ Freestyle นิดนึง มันก็เลยทำให้เราเริ่มรู้สึก Relax มากขึ้น แล้วพอจัดกับพี่กุ้งก็รู้สึกสนุกขึ้น รู้สึกว่าเราพอที่จะไปได้ ไม่ประหม่าแล้ว ไม่ตื่นเต้นแล้ว ทุกอย่างดูจะเป็นธรรมชาติมากขึ้นนั่นแหละ นั่นก็เลยเป็นจุดเปลี่ยน แล้วก็คิดว่าตอนนั้นมันเป็นเวทีที่ฝึกเราได้ดี

คือจากการที่เราไปอยู่เวทีใหญ่เลย แล้วผู้ใหญ่ถอนออก เฟลไหม เฟล แต่รู้สึกยอมรับว่าไม่ได้ แต่พอเฟลแล้วเราก็ล้ม แล้วเรารู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาใหม่ เราก็คิดว่าเราลองสักตั้ง แต่ถ้าเกิดมันไปไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องยอมรับแล้วว่าการนั่งอ่านข่าวในสตูดิโอไม่ใช่ที่ของเรา แต่เผอิญพอทำไป มันก็เริ่มรู้สึกว่ามีความคุ้นชินมากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น แล้วก็เราสามารถที่จะปรับตัว ปรับปรุงตัวได้ดีขึ้น แล้วมันก็ไปได้ ผู้ใหญ่ก็เริ่มเห็นพัฒนาการของเรา พอหลังจากนั้นพออ่านข่าวเที่ยงเสร็จ ก็จับเราไปอ่าน Hot News Hot Weekend ตอนนั้นคู่กับคุณวรวีร์ วูวนิช และคุณศศิวรรณ เลิศวิริยะประภา ตอนแรกอ่านคู่กับโอ๊ตก่อน แล้วก็อ่านคู่กับพี่ดิง คือพี่วรวีร์ นั้นคือ Hot News Hot Weekend เพราะว่าแต่ก่อน Hot News จะมีจันทร์-ศุกร์ เขาก็จะเพิ่มเสาร์-อาทิตย์ขึ้นมา ก็กลายเป็น Hot News Hot Weekend ไป นั่นก็คือของไอทีวี

แต่พอเราก็ฝึกวิทยายุทธ์ของเราไปเรื่อย ๆ พอไอทีวีปิด เราก็ออกไปสักพักนึง ไปอยู่ TNN แต่ก่อนเป็น UBC NEWS สักปีนึง แล้วพอไทยพีบีเอสเปิดมา เราก็กลับเข้ามาใหม่ เราก็เจอกับคุณเทพชัย(เทพชัย หย่อง) ซึ่งก็พอที่จะรู้จักแกบ้าง ก่อนหน้านั้นก็เป็นผู้ใหญ่ที่ถือว่าเรานับถือในเรื่องของการทำงาน ก็กลับเข้ามา แกก็มาเป็น ผอ. เราก็คุยกัน แล้วก็คุณเทพชัยก็ให้โอกาสตอนนั้นว่าให้มาอ่านข่าวค่ำคู่กับประวีณมัย ซึ่งประวีณมัยอ่านคู่กันตั้งแต่ตอนที่ไปอยู่ UBC NEWS แล้ว แล้วก็กลับมาพร้อมกัน ประวีณมัยก็อยู่ไอทีวีเดิมมาก่อน แต่ตอนอยู่ไอทีวี ยังไม่ได้อ่านคู่กับประวีณมัย จนกระทั่งไปอยู่ UBC NEWS ไปอ่านคู่กัน แล้วก็กลับมาก็ได้อ่านข่าวค่ำ นั่นก็เลยเป็นจุดที่มาเริ่มกับไทยพีบีเอส ข่าวค่ำ

แต่นอกจากข่าวค่ำแล้ว คุณเทพชัยก็โยนลงมาอีก เพราะเห็นว่าตอนนั้นพี่รับหน้าที่เป็น บก.ข่าวต่างประเทศด้วย แกก็บอกว่าแฟรงค์คุณทำรายการต่างประเทศไหม? ก็บอกว่าผมเหรอครับ!? ใช่ เดี๋ยวผมให้เวลาคุณสักครึ่งชั่วโมง เสาร์-อาทิตย์ คุณไปคิดชื่อรายการมา คุณไปคิดคอนเซ็ปต์มา แล้วก็เดี๋ยวผมให้ เราก็ไปคิดคอนเซ็ปต์นู่นนี่นั่นมา มันก็เลยออกมาเป็นรายการ “ทันโลก กับชัยรัตน์ ถมยา” ตอนนั้นที่เป็นรายการข่าวต่างประเทศครึ่งชั่วโมง เสาร์-อาทิตย์ แกก็โยนโจทย์มาว่าให้เราทำ ก็เป็นอีกเวทีนอกจากอ่านข่าวค่ำ ทุกวัน จันทร์-ศุกร์ แล้วก็จะมีรายการต่างประเทศด้วย ก็คือเสาร์-อาทิตย์

รับบทหน้าที่เป็นอะไร?

Everything ทุกสิ่งอย่างของรายการ (หัวเราะ) คือตอนนั้นมันก็มีปัญหาเรื่องคน เรื่องขาดคน บางคนเขาบอกว่ามาทำข่าวต่างประเทศคือ Producer ก็ไม่มี เพราะบางคนจะคิดแค่ว่าเขาไม่รู้ภาษาอังกฤษ ตัดต่อเขาก็มีงานยุ่งอยู่ ช่วงแรก ๆ ก็จะเริ่มมีคนมาช่วยบ้าง แต่หลัง ๆ มันก็เริ่มเหมือนกับว่าคนมันก็น้อยลง จนกระทั่งช่วงหลัง ๆ สรุปแล้วพี่ทำคนเดียวหมด เขียนบท ตัดต่อ ร้อยรายการ เข้าสตูดิโอ อัดรายการ เป็น Producer โดยตัวเองทุกอย่าง ก็จะมีน้องในโต๊ะต่างประเทศก็จะช่วยบ้าง คือเขาก็ช่วยแปล ช่วยลงเสียง แต่ทุกอย่างแล้ว การวางทุกอย่าง คือพี่เป็นคนทำหมด บางทีตัดต่อไม่ว่างก็ไม่เป็นไร มือตัดต่อไม่ว่าง เราก็ทำเอง ก็ทำมันหมด เพราะพี่ถือว่ามันเป็นการเรียนรู้ แล้วเราก็ได้ทักษะนั้นมา การตัดต่อ มันก็มีน้องตัดต่อที่ชอบพอกันตั้งแต่สมัยไอทีวีก็เป็นคนสอนบ้าง เราก็ได้รับเทคนิคการตัดต่อว่าต้องตัดแบบนี้นะ พี่พลาดตรงนี้ไม่ได้นะ เสียงต้องประมาณนี้ ปรับแต่งยังไง ซึ่งพี่คิดว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่ว่าคุ้มไหม คุ้ม เพราะว่าพี่สามารถตัดต่อเองได้ถ้าจะตัดต่อ เป็นการเพิ่มสกิลของเรา เป็นการบีบเรา คือถ้าเราไม่มีตรงนั้น เราก็คงไม่ได้สกิลตรงนั้น เราก็ปล่อยให้ตัดต่อเขาตัดไป แต่พอเราตรงนี้ได้ เราก็ได้สกิลตรงนั้นมา ก็คือทุกอย่าง Everything ทุกสิ่งอย่างตอนนั้นก็ทำ

ช่วงที่เป็นผู้ประกาศข่าวไปด้วยแล้วต้องทำทันโลกไปด้วยเนี่ย จัดสรรเวลายังไงบ้าง?

ตัดงานจนถึงรุ่งเช้า บางครั้งก็ประมาณแบบนั้น คือผู้ประกาศข่าว เราก็ไป เราก็ต้องเป็น บก.ข่าวต่างประเทศด้วย มันก็ดูแลโต๊ะต่างประเทศ แต่ว่าก็คือมีน้อง ๆ ที่เก่งพอสมควร เพราะนั้นบางครั้งเราก็ไม่ต้องอะไรมากมาย คือน้องก็สามารถที่จะทำงานไปได้ เราก็ดูแลความเรียบร้อยนิดหน่อย วางแผนในหลายเรื่องที่อาจจะต้องไปทำข่าวต่างประเทศ เสร็จแล้วเราก็อ่านข่าวแต่ละวัน แล้วก็ต้องเตรียมในเรื่องของทันโลก ซึ่งก็ไปตั้งแต่เช้าอยู่จนถึงดึกกว่าจะได้กลับ ก็เรียกว่า 4 ทุ่มกว่าจะอ่านข่าวเสร็จ 2 ทุ่ม

บางทีก็จะต้องมานั่งตัดงานต่อ กลับบ้านเที่ยงคืน ถ้าจะแบบว่าเป็นประจำก็ทุก ๆ วันต้องทำ เสาร์-อาทิตย์ส่วนใหญ่ก็อาจจะต้องเข้ามา เพราะว่างานไม่เสร็จ เพราะว่ารายการมันออกเสาร์-อาทิตย์ บางครั้งก็ลวกจนกระทั่งตัดจนมือสั่นวินาทีสุดท้าย จนกระทั่งแบบวิ่งขึ้นไปเพื่อไปส่ง MCR ให้ได้ทัน ในช่วงแรกของการทำบางทีสมัยก่อนมันต้องอัดเทป ต้องวิ่งเอาเทปขึ้นไปให้ MCR แล้วต้องให้แยกตอน เช่น อันนี้ออกอากาศตอน 1 ตัดเสร็จ ตอน 1 วิ่งไปก่อน ตอน 2 กำลัง OUTPUT ออกมา ในช่วงแรก ๆ ของรายการ ตอนหลังพอมันเปลี่ยนมาเป็น Digital แล้ว มันก็ง่ายขึ้น เพียงแค่โยนแล้วก็ใส่ตัวรหัสเข้าไปมันก็ง่ายขึ้น อาจจะเป็นเพราะช่วงแรก ๆ เราอาจจะยังไม่ชินกับระบบ แล้วก็การทำงานมันอาจจะยังไม่ลงตัว แต่หลัง ๆ พอมันลงตัวมากขึ้น มันก็พอที่จะเร็วขึ้น แต่ก็ยังเหมือนเดิม ก็คือกลับบ้านดึก เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องเข้ามา อาจจะไม่ทุกเสาร์-อาทิตย์ แต่ก็ส่วนใหญ่ก็ทำงาน 6 วันต่ออาทิตย์อยู่แล้ว พักแค่วันเดียว

พอมีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้นถึงตัดสินใจที่จะไปอยู่ช่อง 3?

ตอนนั้น คิดหนักนะ เพราะว่าตอนอยู่ไทยพีบีเอสก็ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่แล้ว แต่ว่ามันก็ถึงจุดที่เหมือนกับมันเป็น Routine มันรู้สึกว่ามันอยากจะเปลี่ยนอะไรให้มันท้าทายกับชีวิตเพิ่มมากขึ้น ตอนนั้นเราก็มีความรู้สึกว่าบางครั้งเราอาจจะทำงานเป็น Routine ไป อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ไป มันทำให้เราเหมือนกับเรามองอะไรในจุดเดิม ๆ หรือเปล่า? ถ้าเราดึงตัวเราออก เราก็เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ บางทีการมองกลับไป มันอาจจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ พอไปผจญภัย มันอาจจะมีสิ่งท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตเรามากกว่าที่เราจะอยู่อย่างเดิมไปเรื่อย ๆ อย่างที่บอกว่าเป็นคนไม่ชอบ Routine (หัวเราะ) อยู่ดีไม่ว่าดี ที่เราอยู่เราก็โอเคนะ มันก็ไปของมันเรื่อย ๆ คือเป็น Routine ไปเรื่อย ๆ ก็เลยตัดสินใจว่าลองออกไปผจญภัยดีกว่าไหม เผื่อมันจะมีโอกาสในสิ่งที่เราอยากจะทำมากกว่านี้ เราอยากจะเห็นว่าเราอยากจะทำอะไรมากกว่านี้ไหม? เป็นการถามตัวเองไปด้วย ก็เลยตัดสินใจลองย้ายไปอยู่ที่ช่อง 3

เป็นไงบ้างครับ Nature ช่อง 3?

ตอนแรกก็ต้องบอกว่า Culture Shock เพราะว่ามันคือ Commercial TV กับ Public TV วิธีการทำงานมันก็จะต่างกัน มันก็จะไม่เหมือนกัน เข้าไปตอนแรกเราก็ต้องปรับตัวเหมือนกันว่าเขาทำแบบนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ Public TV มันก็จะอีกแบบหนึ่งที่มันจะมีกฎ ข้อบังคับที่เราต้องทำ มุมมองข่าวก็จะเป็นอีกแบบนึง เราก็จะมองในแง่ของทีวีสาธารณะ แต่นี่มัน Commercial เขาจะมองอีกแบบนึง ประเด็นไหนที่มันดูฉูดฉาดจี้ดจ๊าดหน่อยก็อาจจะเป็นประเด็น Lead ของ Commercial TV แต่ว่าประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่ของ Public TV

ตอนแรกสุดพี่ได้ไปอยู่ในเที่ยงเปิดประเด็นใช่ไหม?

เที่ยงเปิดประเด็น ก็ไปอยู่ช่อง 3 ผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสนะ แต่ว่าตอนนั้นเหมือนกับช่อง 3 เองพอเปิดมาก็มีดิจิทัล 3 ช่อง มันก็เลยยังดูวุ่นวาย องค์กรยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ณ ตอนนั้น พอเราเข้าไปเราก็รู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยลงตัว ช่วงนั้นพอดีก็มีพี่ที่รู้จักกันที่เคยทำ Hot News ด้วยกันมาจากไอทีวี พี่พีรวัฒน์ โชติธรรมโม ก็ไปอยู่ไทยรัฐทีวี ติดต่อเข้ามาบอกว่า แฟรงค์มาอยู่ไทยรัฐไหม? ตอนนั้นบอกว่าพอช่อง 3 นั้นมีเรื่องวุ่นวาย คือพยายามปรับองค์กรไม่ลงตัว แต่ถามว่าผู้ใหญ่ช่อง 3 น่ารักไหม? น่ารักมากนะ คือให้โอกาสเรา พอมันไม่ลงตัวสักที เราเป็นคนใจร้อน เรารู้สึกว่าที่ใหม่เหมือนกับจะมีโอกาส ที่เราจะทำในสิ่งที่เราอยากทำได้มากกว่า คือพื้นที่ของช่อง 3 เขาก็มีค่อนข้างที่จะแน่นอยู่

คือตอนจะออก ผู้ใหญ่ช่อง 3 เรียกคุยหลายรอบมาก ถือว่าผู้ใหญ่ให้ความเมตตาเรา แต่ว่าตอนนั้นเรารู้สึกว่าอาจจะเป็นความที่ใจร้อน หรือว่าเรารู้สึกว่าเราอยากจะรีบ ๆ เราอยากจะรวดเร็ว คือเราคิดว่าเรารอไม่ได้ สุดท้ายก็ออกไปอยู่ที่ไทยรัฐทีวี ก็ออกไปก็ไปเป็น บก.ต่างประเทศให้กับไทยรัฐทีวี เพราะตอนนั้นเขายังไม่มี บก.ต่างประเทศ ก็เป็น บก.ต่างประเทศไปก่อน ตอนหลังก็ได้รับโอกาสมาอ่านข่าวไทยรัฐนิวส์โชว์

แล้วก็ตอนหลังมีไทยรัฐเจาะประเด็นเข้ามาด้วย?

ใช่ ตอนแรกมันมีไทยรัฐนิวส์โชว์ก่อน ซึ่งผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสเรา เราไปอ่านคู่กับมิลค์ (เขมสรณ์ หนูขาว) แล้วก็อ่านไปเรื่อย ๆ มันก็เริ่มมีการปรับผังข่าวใหม่ ทีนี้ก็เริ่มมีการคุยคอนเซ็ปต์ว่าช่วงข่าวสักประมาณ 4 – 5 ทุ่ม มันเป็นข่าวที่จริง ๆ แล้วเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจสำหรับคนเมืองที่กลับบ้านดึก แล้วบางทีเขาก็นอนค่อนข้างดึก เพราะนั้น 4 – 5 ทุ่มบางคนยังดูข่าว แต่ว่าเป็นการดูข่าวที่ต้องการดูข่าวที่มันเจาะลึกลงไป เพราะนั้นคอนเซ็ปต์ข่าวค่ำมันจะเป็นข่าวที่วันนั้นเกิดอะไรขึ้นก็ใส่ ๆ เข้ามา แต่ว่าตรง 4 – 5 ทุ่มจะเป็นอะไรที่เลือกเรื่องมาแล้ว แล้วก็เจาะลงไปทีละเรื่องให้มันลึกมากยิ่งขึ้น พี่ก็เลยอาสา ด้วยความรู้สึกว่าอยากทำ เพราะว่าพี่วัฒน์ก็บอกว่าการที่จะไปทำตรงนี้ คุณต้องเป็นคนคอนโทรลทุกอย่างนะ

คือตอนไทยรัฐนิวส์โชว์มันจะมีกอง บก.ใหญ่ เราเป็นแค่ผู้ประกาศ เป็นหน้างาน ก็มีสิทธิ์ที่จะพูดอะไรได้บ้าง ในฐานะ บก.ต่างประเทศ แต่เขาเรียกว่าไม่ได้คอนโทรลรายการ ก็เลยบอกว่าถ้าเกิดมาตรงนี้ คุณต้องคอนโทรลข่าวช่วง 4 – 5 ทุ่ม คุณต้องทำเอง คุณต้องบรรณาธิการ คุณต้องเป็นคนเลือกข่าว คุณต้องจัดการคุณเอง เรารู้สึกว่าท้าทาย คือเราต้องคุมรายการข่าวทั้งรายการด้วย แล้วเราต้องเป็นคนนั่งอ่านด้วย ก็เลยอาสาทำเองด้วยความอยากทำ เราตอนนั้นได้โอกาส เขาก็ให้ทำ ซี่งตอนนั้นก็จะมีน้องโต๊ะข่าวต่างประเทศก็จะมาช่วย ซึ่งน้องก็จะเก่งมาก คือมีสกิลที่แบบไม่ใช่แค่แปลข่าวอย่างเดียว แต่ว่าซัพพอร์ตเบื้องหลัง หรือโปรดักชั่น ทำได้หมด คือเด็กพวกนี้เป็นเด็กที่โชคดีที่ได้มาเจอ ก็จะมีลูกน้องในโต๊ะข่าวต่างประเทศของไทยรัฐทีวีที่ซัพพอร์ตด้วย คือไม่ซัพพอร์ตเฉพาะข่าวต่างประเทศนะ สามารถที่จะทำข่าวในประเทศได้ด้วย เขาก็จะช่วยในหลาย ๆ เรื่อง เรื่องโปรดักชั่นอะไรต่าง ๆ พี่ก็เลยได้มาทำไทยรัฐเจาะประเด็น ก็เลยถอยจากไทยรัฐนิวส์โชว์มาอยู่ไทยรัฐเจาะประเด็น แล้วมันก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของไทยรัฐอีกครั้ง ตอนนั้นมันก็เลยทำให้พี่พีรวัฒน์ก็ตัดสินใจที่จะไปอยู่ที่สปริงนิวส์ เสร็จเราก็มี OFFER มาอีกว่าถ้าไปอยู่สปริงนิวส์จะได้ทำนู่นนี่นั่น เราก็เลยแบบว่าไปกับพี่พีรวัฒน์

แล้วไปเจอพี่ฟาง? (วิลาสินี แวน ฮาเรน)

ฟางนี่รู้จักกันตั้งแต่ไทยพีบีเอสแล้ว เพราะฟางเคยอยู่โต๊ะเศรษฐกิจ รายการเศรษฐกิจตอนนั้น ฟางเขาไปตอนเปิดไทยพีบีเอสนั่นแหละ

แต่ว่าตอนสปริงนิวส์ พี่กับพี่ฟางได้โปรโมตแบบยิ่งใหญ่มาก?

ก็คือมาเป็นข่าวค่ำ เขาต้องการที่จะแบบปรับโฉม ก็ดึงมาให้มาอ่านข่าวคู่กัน แต่ก็เสียดายตอนออกจากไทยรัฐ ผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสเรา ทั้งตัวเจ้าของก็ให้ความสำคัญกับตัวเรา แต่ว่ามันก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลาย ๆ อย่าง มันก็ทำให้เราจะต้องออกมา แต่พอหลังออกมาได้สักพักก็ปรากฏว่ารายการไทยรัฐเจาะประเด็นก็ได้รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ตอนนั้นคือเป็นช่วงที่พี่ทำ คือเขาก็ส่งไป จนพี่ลืมไปแล้วว่าเขาส่งรายการนี้เข้าประกวด แล้วพอให้เขาส่งไปก็ปรากฏว่าเราออกมาก่อน กรรมการพิจารณาเขาก็ให้เป็นรางวัลรายการข่าวดีเด่น ไทยรัฐเจาะประเด็นตอนนั้น เราก็ดีใจ สิ่งที่เราทำมา เริ่มมีคนที่จะเห็น แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่เราตัดสินใจไม่ผิด ก็หลังจากนั้นมาปรากฏว่าไทยรัฐเจาะประเด็นเรตติ้งมันก็อยู่ในระดับที่ดีพอสมควรในฐานะที่เป็นข่าวดึก ถึงแม้เขาจะขยับเวลาออกไปอีกนะ หลัง ๆ ดึกเข้าไปอีก หลังเที่ยงคืน แต่เรตติ้งมันก็ยังอยู่ มันก็ยังไปได้ ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างโอเคตอนนั้น เราก็ถือว่าเราเป็นคนริเริ่มในช่วงเวลาตอนนั้นที่ให้คนมาดูข่าว

พอมาเป็นสปริงนิวส์การทำงานเป็นยังไงบ้าง?

มันก็เหมือนเดิมนะ ก็เข้ามาอยู่ ส่วนใหญ่อย่างเช่นข่าวค่ำที่รับผิดชอบ ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย คือ พอเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้วมันหยุดไม่ได้ (หัวเราะ) พอมาตอนหลังก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นเราก็จะดูบทตลอดเวลา การทำงานมันสอนเราว่าถ้าเราเป็นผู้ประกาศข่าว ไม่ใช่เราจะอ่านเฉพาะสคริปต์ที่เขาเอามาวางไว้ให้ แต่เราจะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราจะอ่าน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะอ่าน ถ้าเราอ่านด้วยความเข้าใจ คนที่ฟังสารเขาจะรู้สึกได้เองว่าคนนี้เข้าใจ เนื้อหาที่ต้องการสื่อมันจะไปถึงกับคนฟัง แต่ถ้าเกิดเราสักแต่อ่านโดยที่ไมได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหา มันจะไม่เข้าใจในสาร แล้วคนดูเขาจะรู้ได้เองว่าทำไมมันฟังแล้วได้แต่อ่านไป

แล้วก็อีกอย่างนึงคือการที่เราโตมาจากนักข่าว มันช่วยเราในการเขียนบท เพราะเราเคยเขียนบทมาก่อน เพราะนั้นการเขียนบท มันทำให้เราสามารถที่จะปรับเนื้อหาข่าวได้ด้วยตัวเราเอง คือถ้าเกิดเราไม่มีทักษะในการเขียนบท เราจะไม่กล้าไปตัดตรงนี้ทิ้ง จะขยับพารากราฟนี้ขึ้นข้างบน อันนี้ขึ้นข้างล่างจะดีกว่าไหม? เราจะทำไม่ได้เพราะเราไม่กล้าใช่ไหม แต่ว่าเรามีทักษะ เราโตมาจากการเป็นนักข่าว เราเขียนสกู๊ปของเราเอง เราเขียนบทของเราเอง เราจะรู้เลยว่าบทตรงนี้มันต้องปรับแบบนี้ เราจะปรับเพื่อให้มันเข้ากับตัวเราได้ หรือแม้บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ปรับก่อนล่วงหน้า แต่พอเราอ่าน พอสคริปต์มันมาที่ตัวของเราเมื่อไหร่ บางทีเราสามารถที่จะปรับได้โดยอัตโนมัติ คืออ่านไปแล้วอาจจะไม่ได้ตรงสคริปต์เลย แต่ว่าไม่ได้นอกสคริปต์นะ แต่จะมีการปรับคำอย่างนี้ไปโดยอัตโนมัติ แต่นั่นคือทักษะที่คุณจะต้องได้จากการที่คุณเป็นคนที่เป็นนักข่าวมาก่อน เขียนข่าวมาก่อนอย่าง แต่ถ้าเกิดคนที่เขาไม่มีทักษะตรงนี้เขาก็จะทำไม่ได้ เขาจะไม่กล้าทำ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวปรับไปแล้วมันจะผิดความหมาย

ทีนี้พอออกจากสปริงนิวส์มา พี่ทำอะไรต่อ?

ตอนนั้นเหรอ พอสปริงปิดก็ตกงานนะ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นช่วง Disrupt พอดี ทุกช่องมันก็แย่ไปหมดแล้ว การหางานมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ก็เลยคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่จะได้มาทบทวนว่าต่อไปเราอยากจะทำอะไร เราควรจะต้องปรับตัวยังไง ตอนนั้นก็คุยกับน้อง ๆ ก็เลยเริ่มทำเพจของเราเล่น ๆ ขึ้นมา เพจย่อโลกที่เราทำอยู่ครับ ก็เริ่มมีคนติดตามตอนนี้ก็ประมาณ 3 – 4 หมื่น จากที่เริ่มจาก 0 ขึ้นมา ก็เริ่มทำลักษณะที่เป็นทำเล่น แล้วก็เริ่มที่จะเข้ามาอยู่กับสังคมออนไลน์มากขึ้น ก่อนหน้านี้กับออนไลน์พี่ก็ยังไม่ค่อยถนัดมากนัก เพราะว่าโตมากับทีวีก็พยายามที่จะปรับตัว ลองทำออนไลน์ดูว่าเป็นยังไง แล้วนั้นก็เป็นช่วงปีที่ผ่านมาที่ตัวเองทำ ก็ทำอะไรของเราไปเรื่อย ๆ ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ในเมื่อเรารักข่าวต่างประเทศ เราก็ทำเพจข่าวต่างประเทศ แต่ก็มีคนมาช่วยทำ เราก็มาทำ เพราะว่าเราไม่เคยทำมาก่อน เราได้เรียนรู้ไปด้วยว่าการทำออนไลน์มันเป็นยังไง ซึ่งไปทำแรก ๆ ก็จะโดนว่าทำไมเป็นทีวีจัง คือก็จะมีวิธีการพูด วิธีการพรีเซนต์มันยังเป็นทีวีอยู่ เราก็ต้องปรับกันไป

การพรีเซนต์แบบทีวี กับการพรีเซนต์ทางออนไลน์ต่างกันยังไง?

พี่ก็ยังไม่รู้เหมือนกันนะ แต่คนที่เขาอยู่ในโลกของออนไลน์มาโดยตลอด เขามักจะบอกว่า เหมือนกับพี่ไม่ค่อยคุยกับคนติดตาม ซึ่งพี่ก็บอกว่าพี่ก็คุยนะ เพราะเวลาพี่อยู่บนหน้าจอทีวี พี่ก็พยายามคุยกับคนดู แต่เขาบอกว่ามันมีความเป็น Formal อย่างที่พี่อาจจะไม่ได้สังเกตก็ได้ คือออนไลน์มันจะมีความที่ Informal อะ ไม่เป็นทางการมาก ๆ มากกว่านั้นคือมันต้องมีอะไรที่เหมือนกับว่าหลุดได้ แต่คนทีวีเวลาไปอยู่บนหน้าจอไม่ว่าจะจออะไร ทุกคนต้องเพอร์เฟกต์ คือทุกคนจะหลุดไม่ได้ เพราะนั้นอยู่ดี ๆ จะจับแก้วน้ำมากินไม่ได้ แต่ว่าออนไลน์มันคือฉัน จะทำอะไรฉันทำได้หมดบนหน้าจอ แล้ววิธีการพูดมันจะเหมือนกับ Informal ซึ่งตรงนี้มันต้องมาปรับ เพราะเราจะติด พอกล้องมาอยู่ตรงหน้าเรา เราจะแบบ Informal บนทีวีแบบมันจะ Formal ตลอด

เราก็จะได้เห็นพี่แฟรงค์ใน Moment ใหม่ ๆ เช่นแผ่นดินไหวออกรายการ (หัวเราะ)

ใช่ ๆ เพราะตอนนั้นถ้าเกิดเป็นว่าเป็นทีวีเขาจะไม่เอาตรงนั้นมาออก แต่เราตอนนั้นก็แบบน่าสนใจ  เคลื่อนไหวจริง ๆ แล้วเราก็ตกใจจริง ๆ เพราะมันไหว แล้วเกิดที่พม่าพอดี คือถ้าเป็นประเทศอื่นก็บอกว่าควรไม่ตกใจ แต่ว่าพม่า อย่างที่เรารู้ว่ามาตรฐานความปลอดภัยมันอาจจะด้อยกว่าประเทศอื่น เราไปอยู่ในตึกที่สูงเราก็แบบว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับเราทั้งที่มันไหวไม่เยอะนะ แต่ตึกมันก็สั่นพอสมควร เราก็เลยคิดว่าเราก็เรียนรู้ไง ในปีที่ผ่านมาว่าออนไลน์เขาอาจจะสนใจก็ได้ มันเป็น Human Interest มันเป็น Happening ในสิ่งที่ออนไลน์ต้องการ มันไม่เหมือนกับทีวี ก็เลยลองโพสต์ดูว่าเป็นแบบนี้นะ เราก็ได้เรียนรู้ใน 1 ปีที่ผ่านมาว่าเราเรียนรู้ธรรมชาติของโลกออนไลน์ไปด้วยว่าเขาอาจจะต้องการแบบนี้

แล้วคุยก่อนนอนนี่มาได้ไง?

คือพี่เก๋ ธีรัตถ์ อยู่ ๆ ก็บอกว่าลองมาทำรายการอะไรเล่น ๆ กันดีไหม? ก็เลยบอกว่ามาคุย อยากคุยอะไรก็คุย ก็ด้วยความที่แกไปเจอโปรแกรม Streamyard แล้วมาแกก็อยากจะลอง ก็เลยบอกว่าได้ พี่เก๋ เราก็มาคุย ๆ อะไรกัน แบบว่าเล่น ๆ ก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร ก็เลยเกิดขึ้น ก็ไปคุยเรื่องสัพเพเหระที่เราอยากจะคุย ในสิ่งที่เราอยากสนใจ มันก็เป็นเล่น ๆ ก็ทำอาทิตย์ละ 3 วัน แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยว่างแล้วก็หายไป ตอนนี้หายไปเป็นเดือนแล้ว (หัวเราะ)

คนที่เขาเคยดูพี่แฟรงค์ในทีวี แล้ววันหนึ่งเขามาเห็นพี่ในออนไลน์ เขารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังไงบ้าง?

เขาไม่ได้บอกโดยตรงว่าเราเปลี่ยนไปจากทีวีไหม? แต่เขาบอกว่าดีใจที่มาเจอคุณชัยรัตน์บนแพลตฟอร์มนี้อีก หรือบางคนเขาก็ถามว่าตอนนี้ไปอยู่ช่องไหนแล้ว หายหน้าไปไหนไม่ค่อยได้เจอ แต่เขาจะไม่ได้มาคอมเมนต์ว่าคุณชัยรัตน์ดูเปลี่ยนไปจากที่อยู่บนหน้าจอทีวีกับหน้าจอออนไลน์นะ ก็จะเป็นลักษณะแบบนี้มากกว่า เพราะว่าพี่ก็จะทำเพจย่อโลกแล้ว พี่ก็ไปเปิด Blockdit ด้วย ก็จะมีคนมาทักใน Blockdit ว่า Welcome to Blockdit นะคะคุณชัยรัตน์ คือเหมือนกับว่าดีใจที่ได้มาเจอ

ช่วงที่มีทีวีดิจิทัลอะ 24 ช่องเปิดพร้อมกัน เงินเดือนของคนข่าวมีอัตราสูงถึงร้อยละร้อย?

พี่ว่ามันก็มีทั้งจริงและไม่จริง มันขึ้นอยู่กับบุคคลมากกว่า คือบุคลากรข่าวเราต้องเข้าใจว่าในช่วงที่มันเปิดมันมีอยู่อย่างจำกัด ทุกคนก็อยู่กันแค่ 6 ช่อง เคเบิลบ้างเล็กน้อย ทีนี้พอมันเปิด 24 ช่อง ทุกคนอยากได้หมด ทุกคนอยากได้บุคลากร มันก็จะมีการทุ่มเงินในการซื้อ นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าประวัติการทำงานของคุณเป็นยังไง ทักษะคุณมีขนาดไหน ผลงานคุณมีอะไรบ้าง? มันก็จะมีการซื้อตัวด้วยการ Offer เงินเดือนให้ บางคนก็อาจจะได้เงินเดือนเยอะ แต่ว่าบางคนก็อาจจะไม่ได้เงินเดือนเยอะขนาดนั้น ขึ้นนิดหน่อย ก็จะมีการแย่ง

แต่ว่าปัญหาที่พี่เห็นที่ตามมาคือบุคลากรมันมีอย่างไม่เพียงพอ มันก็เลยกลายเป็นว่าบางคนเขาก็จะได้บุคลากรที่อาจจะคุณภาพน้อยไปหน่อย ซึ่งพอเข้าไปก็จะทำให้คุณภาพข่าวโดยรวมมันอาจจะมีส่งผลไม่ดี เพราะว่าคนที่เข้าไปไม่ได้มีทักษะที่ดีขนาดนั้น มันก็อาจจะส่งผลต่อการผลิตข่าว เพราะว่ามันแข่งขันกันค่อนข้างที่จะเยอะ แล้วทุกคนก็แข่งขันด้วยความเร็วว่าอยากจะได้ประเด็นนี้ แต่ว่าบุคลากรมันไม่พอ มันผลิตออกมาไม่ทัน สมัยก่อน 24 ช่องเปิดพร้อมกันทีเดียว ทุกช่องต้องมีข่าวหมด เพราะนั้นมันก็เลยเกิดปัญหาลักษณะแบบนี้ขึ้น ซื้อตัว แย่งตัวบ้าง บุคลากรไม่เพียงพอบ้าง แล้วบุคลากรที่ไม่รู้ว่าสรุปแล้วเอา ๆ มาเถอะไม่เป็นไร คือเขาเข้ามามันก็จะมีผลต่อคุณภาพของข่าวที่จะต้องออกไป

พอมันเกิดการคืนช่องเกิดขึ้น คนข่าวก็จะเป็นส่วนแรกที่จะถูก Layoff ออก?

ถูก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนั้น เพราะต้องยอมรับว่าการเอาคนออกเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุดสำหรับนายทุน ต้องพูดว่าอย่างนี้นะ เพราะมันเห็นชัด ๆ คือมันวิธีการที่จะเลี่ยงได้ ตรงนี้ก็พูดในฐานะที่ตัวเองออกมาแล้ว คือฉันเลี่ยงอย่างอื่นได้ แต่ว่ามันอาจจะยากสำหรับผู้ลงทุน เช่น การบริหารจัดการของคุณที่ผ่านมามันมีจุดรั่วไหลตรงไหนไหม? ไปอุดไว้ก่อน แก้ไขตรงนั้นก่อน เพื่อที่เหมือนจะรักษาคนเอาไว้ แต่ว่ามันยาก มันต้องศึกษา คือเจ้าของเงินต้องลงไปดูเอง เพราะงั้นการเอาคนออกง่ายสุด แล้วค่าใช้จ่ายมันหายไปเลยเรียบร้อย มันมองตรงนี้ได้ง่ายกว่า ซึ่งมันก็อาจจะเป็นปัจจัยนึงที่ตัวคนข่าวอาจจะต้องไปก่อน (หัวเราะ) เพราะว่าเงินเดือนมันถูกตั้งไว้สูงด้วย งั้นมันเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการเอาคนออก มันจะเห็นตัวเลขลงไปได้ชัดเจน ไม่ต้องทำอะไรมาก คุณแค่เอาคนออก คุณก็จะเห็นแล้วว่าค่าใช้จ่ายคุณลดลง

มันก็เลยกลายเป็นว่าพื้นที่ในข่าวต่างประเทศใน Commercial TV น้อยลงไปอีก?

อันนี้มันเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง แล้วก็น่าใจหาย สมัยก่อนเรามีเวลาช่วงข่าวต่างประเทศเยอะมาก แต่หลัง ๆ มันหายไป เพราะว่ามันจะมาด้วยคำพูดที่ว่าข่าวต่างประเทศไม่ค่อยมีคนสนใจ ข่าวต่างประเทศมันขายไม่ได้ ทุกคนก็จะไปให้ความสำคัญกับประเด็นที่มันเป็น Human Interest ในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ดูแล้วใกล้ตัว คนให้ความสนใจ เรตติ้งก็ได้ คนเขาพูดถึง แต่พอต่างประเทศ เขาบอกว่ามันไกลตัว

แต่พี่ว่าปัญหามันอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง คือผู้บริหารอาจจะไม่เห็นความสำคัญ กับการบรรณาธิการข่าวต่างประเทศอาจจะมีปัญหาก็ได้ ไม่ได้ยกตัวเองว่าตัวเองเก่ง แต่ว่าในฐานะที่ตัวเองอยู่ในแวดวงข่าวต่างประเทศ บางครั้งมันก็เห็นปัญหาเหมือนกันว่าการเลือกข่าวออกไปในบางครั้งมันดูไกลตัวมากจนคุณนำเสนอแบบนั้น คนมันก็ไม่สนใจอยู่แล้ว อย่างเช่น ไฟไหม้ตึกอะไรสักอย่างนึงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแอฟริกา คือการนำเสนอออกไปคนดูจะรู้สึกว่าแล้วมันสำคัญอะไรกับฉัน คือมันไม่ได้ส่งผลอะไรกับฉันเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ที่มันไกล๊ไกลตัว มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคนก็เอามานำเสนอ พอนำเสนอก็อาจจะไปนำเสนอด้วยความที่ว่ามันง่าย คือข่าวอะไรที่มันไหลเข้ามาก็แปลไป แต่มันทำให้คนรู้สึกว่าคือมันไม่เกี่ยวข้องกับตัวเขา มันก็จะทำให้คนรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเกิดว่ามันมีประเด็นอื่น ๆ อีกเยอะแยะที่มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอาเซียน เพื่อนบ้านที่ไม่ได้ถูกจับหยิบยกขึ้นมา หรือวิธีการและมุมมองที่ว่าถึงแม้จะเกิดไกล แต่ถ้าคุณสามารถเอามาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดในประเทศได้ เราต้องทำการบ้านเพิ่มอีกนิดนึง จากการแค่แปลข่าว แต่คุณต้องมามองอีกอย่างว่ามันมีอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยไหม? สามารถนำกรณีนี้มาเปรียบเทียบในบางอย่างได้ไหม? ซึ่งหมายคำว่าคุณทำข่าวคุณต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้น เขายินดีจะทำตรงนั้นไหม กับการที่จะทำงานแบบธรรมดา จับข่าวมาแปลแล้วก็ออกไปเลย นั้นทำงานง่าย แต่ว่ากับการที่คุณจะต้องมานั่งคิดอีกชั้นนึงเพื่อนำเรื่องมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ข่าวนั้นมันน่าสนใจมากขึ้น ตรงนี้คุณจะยอมทำไหม ก็คือมันก็มีปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง คือในเรื่องของการบรรณาธิการข่าวด้วย เป็นการมองประเด็นเหล่านี้ด้วยว่าจะทำยังไงให้มันน่าสนใจมากขึ้น เพราะว่าการแข่งขันมันมีมากขึ้นแล้ว เพราะงั้นคุณจะต้องทำการบ้านให้มันมากขึ้นด้วยในการที่จะนำเสนอข่าวแต่ละอย่าง

อะไรเป็นเสน่ห์ที่ทำให้พี่รู้สึกว่าอยากติดตามข่าวต่างประเทศ?

พูดตรงนี้ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศมันส่งผลกับชีวิตเราโดยตรง แล้วในบางครั้งที่เราอยู่ในประเทศ เรามองไม่เห็นปัญหาเหล่านั้น แต่พอสิ่งที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศมันเกิดขึ้นแล้วทำให้เราฉุกคิดได้ในบางเรื่องว่าปัญหาแบบนั้น ในประเทศเราก็มีเขาแก้แบบนั้น เหมาะกับเราไหม? หรือเราอาจจะได้วิธีการแก้ปัญหาในสิ่งที่เรามองไม่ออกจากต่างประเทศก็ได้ เพื่อให้ตรงนี้มันคือสิ่งที่เราสามารถที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ พี่ว่าตรงนี้มันคือคือสิ่งที่ทำให้พี่รู้สึกว่าสนใจความเป็นไปของในต่างประเทศ

มองอนาคตคนข่าวนิดนึง คิดว่าจะต้องเปลี่ยนจากดิจิทัลทีวี หรือ ALL PLATFORM ต่าง ๆ มาเป็น SOCIAL MEDIA PLATFORM มากขึ้นไหม?

พี่อาจจะดู Conservative เล็กน้อยนะ พี่ว่ามันน่าจะต้องไปคู่กัน พี่ยังไม่เชื่อว่ามันจะ SWITCH ออกมาเป็น DIGITAL PLATFORM เลยทีเดียว ถ้าดูตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาก็ตาม ถึงแม้ว่าแพลตฟอร์มใหญ่ แพลตฟอร์มที่เป็นทีวี คนดูเขาบอกว่าอาจจะลดลง แต่มันก็ไม่ได้ล้มหายตายจาก เม็ดเงินโฆษณาก็ยังอยู่ ถึงแม้ว่าคนดูอาจจะลดลงไปบ้าง เปลี่ยนไปบ้าง แต่มันก็ยังอยู่ ซึ่งพี่คิดว่าการที่จะทำให้ตรงนี้มันอยู่ได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มหลัก สิ่งสำคัญคือคุณภาพของรายการ คุณภาพของสิ่งที่คุณทำไปมากกว่า คือคอนเทนต์

คุณต้องมีคุณภาพ คุณจะทำยังไงให้ สิบโมงหรือสองทุ่มของทุกวัน คนจะต้องมารอดูรายการคุณ ซึ่งรายการคุณไม่สามารถหาดูได้บนออนไลน์ นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คุณอยู่รอดบน MAINSTREAM ได้ แต่ถ้าเกิดคุณไปไล่ตามออนไลน์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นคือคุณจบ เพราะว่าคนดูไม่ต้องดูคุณก็ได้ เพราะเขาสามารถหาทุกอย่างได้บนออนไลน์ พี่ยกตัวอย่างให้ ละครเรื่องหนึ่งของช่อง 3 บุพเพสันนิวาสทำไมทุกคนต้องกลับบ้านไปนั่งหน้าจอ MAIN SCREEN ในเมื่อคุณดูย้อนหลังได้ เขาให้คุณดูย้อนหลังได้ เพราะคุณไปนั่งดูหน้าจอ คุณได้ดูกับคนในครอบครัว คุณได้พูด คุณได้วิจารณ์ กับคุณดูหน้าบนหน้าจอเล็ก ๆ คุณก็คุยกับครอบครัวไม่ได้ ไม่ได้ดูพร้อมกัน คุณได้ดูพร้อมกัน แล้วแถมคุณได้ดูหน้าจอใหญ่ คุณยังแชทกับเพื่อนในโซเชียลได้อีก ดูดิ ตรงนี้กินมะม่วงน้ำปลาหวานแล้ว คือแต่ว่าคือคอนเทนต์มันได้คนเลยต้องกลับไปดู

แสดงว่าตัวคอนเทนต์มีความสำคัญพอสมควร?

มาก ๆ ในหลาย ๆ รายการที่พี่ดู พี่ยังติดตามรายการทีวีของญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งทีวีของญี่ปุ่น เขาลงทุนมากเลยนะ ไม่เคยลดการลงทุนในเรื่องของทางนุ่นไปเลย โปรดักชั่นยังอลังการตลอด แม้กระทั่งในยุคนี้ แล้วก็เป็นรายการที่มันน่าสนใจ แล้วเขาก็ทำคอนเทนต์เขาให้เป็นพรีเมี่ยม ในญี่ปุ่นไม่สามารถดูย้อนหลังได้นะครับ ช่องทางไหนก็ดูไม่ได้นะ นอกเสียจากว่าคุณต้องไปสมัครสมาชิก มันจะมีสมาชิกคล้ายกับ Netflix คล้าย ๆ อย่างนั้นในญี่ปุ่น ซึ่งคุณต้องสมัครสมาชิกเพื่อคุณจะสามารถไปดูรายการทีวีย้อนหลังได้ แต่คุณต้องจ่ายเงินให้กับผู้ผลิต คุณจะมาดูฟรีแบบทุกวันที่แต่ละช่องเอาขึ้นยูทูบไม่ได้เลย คือเขาทำคอนเทนต์เขาเป็นแบบพรีเมี่ยมที่คุณจะต้องจ่ายเงินให้ผู้ผลิตสามารถอยู่ได้ แล้วคุมคุณภาพของรายการเอาไว้ได้ พี่ว่าคอนเทนต์มันคือ The King อยู่แล้ว มันคือตัวหลัก คุณทำคอนเทนต์ออกมาได้ดี คนก็ต้องดู อันนี้ก็ต้องกลับไปดู Mainstream หลัก

ทุกวันนี้สื่อออนไลน์ที่เปิดขึ้นมาใหม่เยอะมากเลย ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนอยู่ตรงไหน?

นั่นแหละคือความท้าทาย พี่ว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์นะ ซึ่งพี่ก็เห็นใจกับสื่อออนไลน์หลาย ๆ สำนัก เพราะว่าทุกคนต้องทำงานบนพื้นฐานของการแข่งขันที่ต้องใช้ความเร็ว แต่พี่คิดว่าทุกอย่าง ความน่าเชื่อถือมันสร้างได้จากงานที่คุณจากงานที่คุณทำ ถ้าเกิดงานที่คุณทำมันสารมารถพิสูจน์ได้ว่าคุณมีมาตรฐาน จรรยาบรรณ จริยธรรมของสื่อ ซึ่งมันเป็น Universal ทุกที่ มันเหมือนกันหมดแล้ว คุณยังยึดหลักการนำเสนอความจริงในการตรวจสอบได้ พี่ว่าสิ่งนี้มันจะค่อย ๆ สร้างฐาน สร้างความน่าเชื่อถือสำหรับคนที่รับสารไปเรื่อย ๆ เพราะนั้นเวลามันเลยเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะทุกอย่างมันยังเป็นเรื่องใหม่ แล้วทุกคนพยายามที่จะทำขึ้นมาใหม่

แสดงว่าระบบกองบรรณาธิการยังคงมีส่วน?

มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุกอย่างมันเร็วมาก ทุกอย่างมันอยู่ได้แค่กดมือถือขึ้นมา ข้อมูลมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นแล้วพี่ว่ากองบรรณาธิการต้องแม่น แล้วก็ต้องยึดหลักการทำงานของสื่อบนพื้นฐานจริยธรรม จรรยาบรรณอย่างเข้มแข็ง ไม่สามารถที่จะปล่อยตรงนี้ได้ เพราะว่ามันไปเร็วมาก แล้วก็มีคู่แข่งของคุณเร็วมาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่คำถามตั้งมา ทุกคนกำลังมองหาว่าแล้วสิ่งที่ฉันเสพบนออนไลน์มันน่าเชื่อถือได้แค่ไหน เพราะทุกคนเกิดมาหลาย ๆ สิ่งที่เกิดมาบนออนไลน์ไม่ได้เกิดมาบนความเป็นสถาบันสื่อดั้งเดิมมาก่อน เป็นอันใหม่ที่ขึ้นมาเลย เพราะนั้นคือต้นทุน ไม่เท่ากับสถาบันสื่อเดิมที่มองว่าเขายังมีความเป็นสถาบันของเขาอยู่แล้ว เพราะนั้นคุณจะต้องสร้างขึ้นมา มันต้องใช้เวลา แต่ว่าระหว่างเวลาที่คุณจะสร้างขึ้นไป คุณต้องรักษามาตรฐานของคุณตรงนี้ให้ได้ ไม่งั้นคนก็จะรู้สึกว่าคุณไม่น่าเชื่อถือ

แล้วก็คือทุกวันนี้ คนดูหรือคนเสพสามารถจับผิดสื่อได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว?

ใช่ เพราะฉะนั้นคุณบอกว่านำเสนอข้อเท็จจริง แล้วก็ตั้งอยู่บนฐานหลักจริยธรรม จรรยาบรรณ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างที่บอก เขาจับผิดแป๊บเดียว เขาสามารถเอาอะไรมาแย้งได้ในทันที เพราะนั้นคุณจะต้องระวังตรงนี้ คือต้องเลือก พวกคุณเข้าใจว่าบางครั้งก็ต้องการความเร็ว แต่ความเร็วแล้วมันตอบโจทย์ในสิ่งที่คุณมอง มันจะเป็นประโยชน์หรือว่ามันจะเป็นผลเสียมากกว่ากัน ช้าอีกหน่อย แต่ถ้าเกิดคุณถูกต้องมาตลอด อันนี้หรือเปล่าที่มันจะเป็นคำตอบที่แท้จริงสำหรับคนที่เสพ กับความเร็วที่ผิดพลาดบ่อย ๆ อันนี้มันจะทำให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคุณในเรื่องของสื่อไหม?

Passion ที่ทำให้พี่ยังทำงานอยู่ทุกวันนี้คืออะไร?

คือการที่ได้ให้ข้อมูลกับผู้คน การที่ได้ทำให้หลาย ๆ คนได้ฉุกคิดในบางประเด็น พี่คิดว่ามันเป็น Passion ในการทำงาน และอีกอย่างคือเป็นหนทางที่อาจจะเชื่อมโยงไปถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ในอนาคต อันนี้พี่คิดว่าเป็นสิ่งที่พี่ยังอยากทำงานในวงการนี้อยู่ สิ่งที่พี่นำเสนอไปบางครั้ง คน Response กลับมาว่ามันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ? มันทำให้เขามองปัญหาได้ มันมีวิธีแก้ปัญหาแบบนี้ด้วยเหรอ? อันนี้เราเหมือนกับว่าเราเป็นตัวกลางตัวหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนได้มองเห็นปัญหา แล้วก็จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สื่อมันสามารถที่จะไปเชื่อมโยงกับความช่วยเหลือบางอย่างที่มันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยธรรมชาติที่พี่เคยเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือ ในการออกไปทำข่าวพี่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถกลับไปให้กับสังคมได้

สนใจเรื่อง The Opener เพราะว่าหลาย ๆ คนเป็นที่จับตามองในช่วงนี้?

The Opener ต้องบอกตามตรงว่าพี่แค่ไปช่วยเขา ก็มีน้องที่ทำอยู่ ตอนนี้มี ยุ้ย พิมพ์ผกา งามสมนะ เป็นอดีต บ.ก. VOICE ONLINE ก็ออกมาทำ The Opener เรารู้จักกันเป็นการส่วนตัวกับยุ้ยที่ออกมา แล้วยุ้ยก็เลยมาติดต่อว่าที่จริงแล้วอยากจะมีคอลัมน์เกี่ยวกับต่างประเทศ อยากจะให้พี่แฟรงค์ทำ เพราะว่า The Opener ต้องการที่จะเป็นสื่อที่จะสร้างให้เป็นสื่อที่มีคุณภาพบนออนไลน์ มีความน่าเชื่อถือ มีมุมมองที่แปลกออกไป มีการเจาะลึก มีการนำเสนอข้อมูลในเชิงลึก นอกจากการติดตามสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นทุกวันแล้ว ในการนำเสนอตรงนี้จะเป็นตัวที่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในต่างประเทศ ก็จะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นเยอะ ก็เลยเป็นที่มาในการไปร่วมงานกับ The Opener ซึ่งก็ยังเป็นน้องใหม่แต่ก็เป็นน้องใหม่ที่น่าจับตามอง เพราะว่าจำนวนผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งก็เป็นสื่อที่ต้องการ ไม่ได้มาเล่น ๆ ทำจริงจัง

ทุกครั้งเวลาพี่แฟรงค์ย้ายช่อง จะพูดอยุ่ 2 คีย์เวิร์ด คือคำว่าใหม่กับคำท้าทาย แสดงว่าชีวิตพี่แฟรงค์ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา พี่คำนึงถึงคำนี้เป็นหลักในการที่จะร่วมงานหรือเปล่า?

เป็นคนที่ขี้เบื่อ คือไม่ชอบอะไรที่มันเป็น Routine มาก ๆ เพราะงั้นเราก็เลยคิดว่าอาชีพนักข่าวคืออาชีพที่เหมาะกับตัวเอง ที่มันต้องเจอกับความใหม่และความท้าทายขึ้นทุกวัน เพราะงั้นเวลาที่เราจะเปลี่ยนงาน เราก็จะมองก่อนว่าสิ่งที่มันรออยู่ข้างหน้า มันจะมีอะไรใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับเรา มันมีความท้าทาย มีข้อเสนอให้เราได้ทำในสิ่งที่เราอาจจะทำอยู่แล้ว แต่ว่าขยายออกไปให้มากกว่านั้นหน่อย หรือในสิ่งที่เรายังไม่เคยทำ แล้วจะให้เราทำใหม่ นั่นก็จะเป็นปัจจัยในการที่จะเลือกที่จะทำ

พี่ทำมาหมดทุกอย่างหรือยังตอนนี้?

เรียกว่าแทบจะทุกอย่างแล้วนะ ถ่ายเองก็เคยถ่ายบ้าง ตัดต่อ เขียนสคริปต์ บก. คุมรายการ  หมดแล้วนะ (หัวเราะ) แต่ว่าพี่ก็อยากฝากไว้กับน้อง ๆ หลายคนที่บางคนเข้ามา ก็แล้วแต่ว่าเขาก็มีความฝันที่ต่างกัน แต่ก็คืออยากจะอยู่ให้ได้เป็นคนที่มีคุณภาพแล้วก็ยั่งยืน ซึ่งตรงนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในจุดยืนที่เราพูดอย่างนั้นได้ก็ได้นะ แต่หมายถึงว่าสิ่งที่อยู่ต่าง ๆ ปัจจุบันมันควรจะต้องเป็นทักษะที่มันเป็น ก็คืออยากจะให้นักข่าวเป็นคนที่มี Multi Skill คือถือว่าเป็นการเรียนรู้ อย่าถือว่าเป็นการเพิ่มงาน อย่าถือว่างานนี้มันต้องเป็นของคนนี้ทำ งานนี้ต้องเป็นของคนนี้ทำ เพราะว่าสิ่งที่คุณเรียนรู้ไปมันได้กับตัวคุณหมดเลย ต่อไปคุณจะไปอยู่ที่ไหน คุณจะไปทำอะไร ถ้าเกิดคุณทำได้ทุกอย่าง มันเปิดโอกาสให้คุณได้มากกว่าที่คุณจะมีทักษะแค่อย่างเดียว แล้วคุณก็จะเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ต่อไปคุณขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น คุณจะเข้าใจการทำงานในทุกระดับ คุณจะกลายเป็นผู้บริหารที่ดี เพราะคุณรู้ตั้งแต่คุณทำงานมาแล้วว่าตรงนี้มันต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

เพราะนั้นก็เลยอยากจะฝากนักข่าวรุ่นใหม่ว่าอย่าไปคิดว่ามันคือภาระ อย่าไปคิดว่าแล้วทำไมฉันต้องไปทำตรงนั้นด้วย พวกนี้มันไม่มีการสอนในมหาวิทยาลัยนะครับ มันคือการเรียนบนงานที่ทำจริง ๆ มันหาไม่ได้อีกแล้วในโอกาสแบบนี้ คุณก็คงจะต้องเรียนรู้กัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกาศข่าว ถ้าคุณต้องการเป็นผู้ประกาศข่าวที่ขึ้นไปอยู่ในระดับที่คุณเป็นที่จดจำจากความสามารถของคุณ คุณก็ต้องมี Multi Skill  คุณจะต้องสามารถทำข่าวได้ คุณจะต้องสามารถเขียนข่าวได้ เพราะสิ่งนั้นมันจะทำให้คุณอ่านข่าวได้ด้วยความเข้าใจ เป็นตัวของตัวเอง สร้างเอกลักษณ์ของคุณที่ไม่เหมือนใครขึ้นมา ก็จะทำให้คนจดจำคุณได้มากกว่าอ่านเฉพาะสคริปต์ที่เขาส่งให้คุณเท่านั้น อยากให้มองตรงนี้ให้มากกว่า

ทุกครั้งที่พี่แฟรงค์ย้ายช่องก็จะย้ายด้วยตำแหน่งบรรณาธิการต่างประเทศ สนใจจะไปขยับขึ้นไปทำงานบริหารบ้างไหม?

ต้องบอกว่าเลยนะว่ามีคนเคยพูดไว้ ต้องยอมรับหลังจากที่ผ่านงานมาแล้ว คุณต้องอยากได้ บก. ถ้าไม่ทันคุณอาจจะได้ บก. เร็ว ๆ แต่คุณต้องเสียนักข่าวดี ๆ ไปคนนึง ซึ่งพี่ว่าพี่เข้า Category นั้นนะพี่ต้องยอมรับว่าในเรื่องการบริหาร การจัดการคนในการทำงานเป็นเรื่องที่ยาก แล้วก็มีทักษะที่มันต้องดีลกับคน มันเป็นเรื่องที่ยาก พี่ยอมรับว่าพี่ไม่เหมาะจะเป็นอย่างนั้น คือพี่จะได้รับตำแหน่ง บก. มาในทางที่ว่ามีความอาวุโส มีความเข้าใจข่าว พี่สามารถที่จะแนะนำเรื่องประเด็นข่าว แต่ในเรื่องการบริหารจัดการ พี่ต้องยอมรับว่าพี่ยังขาดทักษะตรงนี้อยู่ เพราะฉะนั้นคือถ้าเกิดจะรับให้ไปตำแหน่ง บก. อีกครั้ง ก็อาจจะต้องคิดหนักเหมือนกัน คือไม่ค่อยอยากจะรับเท่าไหร่ เพราะมีความรู้สึกว่ามันยากในเรื่องของการบริการจัดการคน อย่างที่บอกถ้าคุณได้ บก. อย่างนี้ คุณอาจจะเจอคนลักษณะพี่อย่างนี้ คุณอาจจะได้เสียนักข่าวที่ดีไปด้วย คำว่า บก. มันคือนอกจากรู้ประเด็นข่าวแล้ว มันต้องมีการบริหารจัดการ มีทักษะในการบริหารจัดการคนด้วย

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า