เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย คือช่างภาพสถาปัตยกรรม
นอกจากถ่ายภาพเป็นอาจิณ เขาเปิดเพจ Foto_momo ที่เอาภาพเหล่านั้นมาบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอาคารร้านรวง และบ้านเรือนไทยเอาไว้มาตลอดหลายปี
ด้วยสายตาที่เขามองตึกใหม่มากกว่าตึกเก่าจากอาชีพเดิมในฐานะนักอนุรักษ์อาคาร จนย้ายเขตคามมาจับกล้องถ่ายรูปเต็มตัว-อวัยวะที่ 33 ของเขา ทำให้เขาเริ่มใช้คลังอาคารจากการเรียนสถาปัตยกรรม และการประกอบอาชีพตระเวณหาตึกเก่าไปเรื่อยๆ จนค่อยๆ ถ่ายภาพเหล่านั้นมาลงในเพจของเขา
พอเราไถแฟนเพจนั้นอีกที นอกจากสื่อต่างๆ ทั้งออนและออฟไลน์จะชวนเขาไปเล่าเรื่องด้วยวิธีการของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เขายังได้รับเลือกให้เป็นวิทยากรและนักเล่าเรื่องตึกเก่าอยู่ในหลายๆ วาระ ซึ่งทั้งหมดมาจากความ “อิน” ในตึกเก่าของเขา
เรื่องราวการบอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านสถาปัตยกรรมเก่าจึงกลายเป็นสิ่งที่เบียร์หมกมุ่นและทำมันอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้เขากลายเป็นหนึ่งใน Creator ที่ The Modernist ขอนัดหมายพิเศษเพื่อฟังเรื่องราวของเขา
เราไม่ได้อยู่ในตึกเก่าหรอก แต่จากภาพที่เราเห็นและที่เบียร์เปิดให้เราดู บทสนทนาและเรื่องบนโต๊ะกาแฟจึงพรั่งพรูไปด้วยการเล่าเรื่องที่สนใจอย่างลุ่มลึกของช่างภาพคนหนึ่ง ซึ่งนั่นช่วยชูบชูความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก และกลายเป็นบทสนทนาที่สามารถเล่าขานต่อไปได้รุ่นสู่รุ่น
รวมถึงภาพถ่ายที่กลายเป็นหลักฐานชั้นดี ที่จะอยู่ในผู้คนได้เห็นอย่างประจักษ์ชัดต่อไป

ถ้าให้นิยามกรอบอาชีพตัวเองในตอนนี้แบบที่คนเข้าใจง่ายๆ อาชีพของคุณทำอะไร
เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม คือต้องขยายความนะว่าสถาปัตยกรรม เพราะบางคนชอบเข้าใจว่าเราเป็นช่างภาพอย่างเดียวแล้วจะให้ไปถ่ายอาหาร ถ่ายเวดดิ้งแบบนี้ ซึ่งมันไม่เหมือนกัน ถ่ายไม่เป็น (หัวเราะ)
แล้วตอนนี้ในไทยมีคนที่ทำอาชีพสายงานเดียวกับคุณเยอะมั้ย
ถ้าเป็นถ่ายภาพสถาปัตย์ จริงๆก็เยอะนะ พอสมควร จะเป็นพวกในวงการอย่างนิตยสารต่างๆ เช่น บ้านและสวน, Room, The Cloud อะไรแบบนี้ ก็ถือว่าเยอะอยู่ คือมันเยอะขึ้นน่ะ เยอะกว่าเมื่อก่อนมาก
ทบทวนอีกทีได้มั้ยว่าจริงๆ ตอนเด็กๆ คุณอยากเป็นอะไร
ถ้าจะพอย้อนไปได้มันก็จะถูกญาติๆอาจจะถามๆหรือว่าสั่งสมกันมาว่าเป็นหมอ เป็นครู แต่เราอาจจะไม่ใช่แบบนั้น จริงๆ ความฝันแรกที่ย้อนนึกไปได้น่าจะเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์หรือแบบนักบินอวกาศ เพราะว่าภาพจำตอนแรกมันจะเห็นพี่ชายแท้ๆ เอาโปสเตอร์รูปกระสวยอวกาศ Challenger ของสหรัฐฯ เอามาติด เราก็เริ่มวาดรูปตามแล้วก็อยากเป็นนักบินอวกาศ น่าจะเป็นความฝันแรก แต่เราก็ชอบอ่านโดราเอมอน ก็จะมีเรื่องวิทยาศาสตร์นิดๆ ฝังใจกับความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ว่าเราก็ไม่ได้สานต่อหรือไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดนั้น
อาจจะโทษตัวเองว่าเราเป็นเด็กบ้านนอก การศึกษาอาจจะไม่ได้เอื้อหนุนขนาดนั้น ส่วนความฝันต่อมาอีกสเต็ปนึง เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นแล้ว พ่อก็จะชอบซื้อหนังสือสารคดีหรือว่าหนังสือเกี่ยวกับวาดรูปสัตว์ ก็ชอบไปในแนวทางธรรมชาติ เคยฝันอยากทำงานแบบคุณสืบ นาคะเสถียร ก็ถึงขนาดตอนเอ็นทรานซ์ก็จะเลือกสามอันดับ เราก็เลือกอันดับสี่ไว้เป็นคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ ห้อยท้ายทิ้งไว้ ส่วนสามอันดับแรกก็เป็นสถาปัตย์
แล้วอะไรทำให้คุณเปลี่ยนมาสอบเข้าเข้าสถาปัตย์
ก็คงเป็นทักษะความสามารถด้านการวาดรูปที่พอจะมีบ้างมั้ง ก็ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ด้วยการแนะแนวของโรงเรียนมันก็คงจะตรงกับสาขาวิชานี้ ประกอบกับการอ่านหนังสือต่างๆ ซึ่งตอนนั้นก็ชอบอ่านว้าวุ่น (ปินดา โพสยะ) เป็นนวนิยายเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาสถาปัตย์จุฬาฯ ว้าวุ่นก็เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลในช่วงวัยรุ่นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออยากให้เราเข้าสถาปัตย์ ตอนนั้นหลังจากที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัยคือ พี่โตมาตั้งแต่เด็กจนถึงมัธยมปลาย มันก็อยู่ในเพชรบุรีที่เป็นต่างจังหวัดมาตลอด พอเข้ามหาวิทยาลัยก็จะต้องเข้ากรุงเทพฯ เราก็ต้องเตรียมตัว เราก็ต้องดูว่าเราอยากอยู่ในรั้ว ในบรรยากาศของความเป็นศิลปะนิดนึง ก็ชอบแนวนี้ก็เลยเลือกมาวิชาสถาปัตย์ เพราะมันก็เหมาะสุดแล้ว ความสามารถที่เรามีคือพอจะเก่งฟิสิกส์บ้าง เหมือนมันเป็นตรงกลางที่พอดีระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่แบบที่เราหวัง
ก็ดูจะเป็นคณะที่สนใจตั้งแต่แรก ทำไมถึงเลือกเข้าเรียนที่ศิลปากร
คงจะโชคดีสอบโควต้าติด ตอนนั้นที่ศิลปากรก็จะมีโควต้าเด็กต่างจังหวัดเป็นโซนจังหวัดภูมิภาคที่ศิลปากรตั้งอยู่ เราก็อาศัยสอบโควต้า ตอนนั้นก็ต้องตัดสินใจว่าเราก็มาเลือกสถาปัตย์ละ แต่มันก็มีย่อยเป็นสถาปัตย์หลักกับสถาปัตย์ไทย สถาปัตย์หลักรับ 5 คน สถาปัตย์ไทยรับคนเดียว ตอนนั้นแอบวัดดวงว่าเอ้ย คนมันคงไปสถาปัตย์หลักแหละ เพราะว่าสถาปัตย์ไทยดูแล้วช่วงนั้นมันเพิ่งเปิดด้วย แล้วมันเป็นสาขาใหม่ที่ไม่รู้จบไปแล้วจะมีงานทำรึเปล่า ก็เลยแอบวัดดวงว่าคู่แข่งมันคงจะน้อย แต่จริงๆ แล้วก็คงพอๆ กันแหละ ก็โชคดีสอบโควต้าติดก็เลยไม่ต้องเอ็นทรานซ์ในระบบ

ตลอดหลายปีที่อยู่ในรั้วศิลปากร มีอะไรเหมือนหรือต่างกับที่คิดไว้มั้ย
ก็ชอบนะ รู้สึกว่าก็อยากจะเอาดีทางด้านสถาปัตย์ไทยด้วยแหละ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสาขาที่ค่อนข้างแตกต่าง เพราะว่าเรามีพื้นเพมาจากจังหวัดเพชรบุรี ที่มีสกุลช่างอันเป็นที่เลื่องลือ ก็ไม่รู้ว่าอวยตัวเองรึเปล่า (หัวเราะ) ก็เป็นนักศึกษาที่อาจารย์ให้ความหวังไว้เยอะมาก ว่าจะต้องสืบสานต่อยอดปณิธานของสถาปัตย์ไทย ฝากฝีมือไว้กับวีระพล สิงห์น้อยนี่แหละ ฝีมือก็พอได้ ก็คิดว่าเราจะเอาดีทางด้านสถาปัตย์ไทยนี่แหละ เราก็ชอบการเขียนลายไทย คิดว่ามันก็ดูไม่ได้ฝืนตัวเอง สุดท้ายแล้วก็เรียนจบมาด้วยเกรดที่ค่อนข้างพอใจ พอเรียนจบมาแล้วมันก็อยากทำงานในเชิงอนุรักษ์อาคาร คือระหว่างที่เรียน ก็ค่อนข้างรู้ละว่าเราชอบอะไร เราชอบประวัติศาสตร์ ชอบการอนุรักษ์อาคาร
ชีวิตวัยรุ่นน่ะมันก็มีอิทธิพลจากหนัง จากอะไรหลายๆ อย่าง ตอนนั้นหนังที่พี่อินมากๆ คือหนังอิตาเลียน พี่จำชื่อเรื่องไม่ได้นะ แต่พระเอกเป็นคนญี่ปุ่นเดินทางไปเรียนด้านงานอนุรักษ์ภาพเขียนที่อิตาลี มันก็จะมีโคว้ตในหนังแบบว่า “การอนุรักษ์คือสิ่งที่ฟื้นฟู หรือชุบชีวิตสิ่งที่ตายไปแล้ว ให้กลับมามีชีวิตขึ้นมา” เรารู้สึกว่าเราอินไปกับมันมากๆ เราเลยรู้สึกว่าเราอยากทำงานอนุรักษ์ ก็ชอบสายนี้อยู่แล้ว การอนุรักษ์ ประวัติศาสตร์ การหาข้อมูล เรื่องเก่าในอดีต
หลังจากที่รู้ตัวว่าชอบงานอนุรักษ์ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำเบนเข็มจากงานออกแบบมาสู่การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์
ระหว่างที่เรียนเราสนใจเรื่องการถ่ายรูปไปด้วย เหมือนตอนที่ยังไม่จบน่ะ เราพบว่าความฝันลึกๆ ในวัยเด็กอีกอย่างคือ เราชอบกล้องถ่ายรูป ถึงแม้ว่าชีวิตวัยเด็กมากๆ มันอาจจะเป้นสิ่งของราคาแพง ซึ่งกว่าเราจะขอพ่อซื้อได้มันก็คือนานมากเลยนะ (หัวเราะ) สมัยนั้นคือบ้านที่จะมีกล้องต้องมีเงิน เด็กสมัยนั้นจะเอากล้องมาโรงเรียนในวันพิเศษ เช่นวันคริสมาสต์ ปีใหม่ เวลาเราเห็นเพื่อนที่มีกล้องที่มีเลนส์ยื่นๆ ออกมาแบบนี้ เราอยากมีบ้าง แต่ก็ไม่มีกล้องไม่เคยมีมาตลอดเลย จนกระทั่งช่วงมหาวิทยาลัยที่พี่สาวให้กล้องฟิล์มมาตัวหนึ่ง ให้เรามาไว้ใช้เพราะรู้ว่าถ้าเราเรียนสถาปัตย์ยังไงก็ต้องใช้อยู่แล้ว หลังจากมีกล้องเป็นของตัวเองก็มีงานอดิเรกมากขึ้น ประกอบการเรียนสถาปัตย์มันต้องมีการออกค่าย ไปไซต์ต่างๆ วัดโบราณนู้นนี้ ได้ไปสำรวจบ้านเก่า พอเราชอบถ่ายรูป เราก็ถ่ายรูปสถานที่พวกนี้แหละเก็บไว้ ทำให้เรามีทักษะในการถ่ายรูปเพิ่มขึ้นนิดนึง แต่พอหลังจากนั้น จบมาแล้วมาทำงาน ไอ้จุดนี้เราก็ทิ้งไว้ก่อน ทิ้งไว้เป็นงานอดิเรกส่วนตัว
พอจบมาเราก็มาทำงานอนุรักษ์ดู ซึ่งก็เป็นงานสถาปัตย์นั่นแหละ เป็นสถาปนิกประจำไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์ตรงซอยกิ่งเพชร เป็นบ้านเก่า ซึ่งเราก็ไปซ่อมอาคารนั้นเพื่อปรับปรุงเป็นธนาคารอีกหนึ่งสาขาขึ้นมา แต่พอไปอยู่หน้างานจริงเรารู้สึกว่า การต้องติดต่อกับคนเยอะๆ เราอาจจะไม่ชอบนัก แล้วโปรเจกต์หนึ่งก็กินเวลานานเป็นปี เราไม่ได้มีแพสชั่นที่จะอดทนอยู่กับตรงนั้นได้นานๆ จนรู้สึกว่ามันไม่เวิร์ค มันไม่ใช่ตัวเรา ก็เลยลองถอยออกมาแล้วมาเอาดีทางด้านถ่ายรูปดีกว่า ตอนนั้นเราก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนสาย หางานถ่ายรูปไปเลย แต่ก็ยังรับงานเสริมทำสถาปัตย์อยู่นะ เพราะว่าเรายังไม่สามารถทิ้งมันได้ทันที พอเราลองเอาตัวเข้าไปอยู่ในวงการการถ่ายรูป เราก็พบว่ามันมีเส้นทางสายหนังสือ คือการเข้าไปทำงานสำนักพิมพ์ ในตอนนั้นบริษัทสถาปนิก A49 กำลังจะเปิดสำนักพิมพ์ชื่อ Li-Zenn Publishing เราก็โชคดีได้เข้าไปเป็นกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ แล้วเราก็ได้เรียนรู้กระบวนการทุกอย่างของการทำหนังสือ การหาข้อมูล การทำอาร์ตเวิร์ค แล้วก็ได้ฝึกการถ่ายรูปบ้าง เป็นแบบนั้นน่ะ จนเราทำงานมาสักพักนึง เราก็ใช้โอกาสในการทำงานหนังสือและสกิลในการทำรูปของเรา จนมันพอมีคนจ้างงานบ้าง


จากวันที่ทำงานในกองบรรณาธิการ จนถึงวันที่มีคนจ้างงานถ่ายภาพ ใช้เวลานานมั้ย
ก็หลายปีอยู่นะ น่าจะหลัก 3 – 4 ปีเลย แรกๆ เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยงานถ่ายภาพอย่างเดียวหรอก เราก็จะมีงานสถาปัตย์บ้าง งานออกแบบกราฟิก ออกแบบหนังสือบ้าง มันจะผสมๆ กันไป จนสุดท้ายราวๆ 4 – 5 ปีเลยนะ กว่าจะมาทำงานภาพแบบเพียวๆ จนเจอแฟนแล้วถึงได้เริ่มถ่ายรูปแบบจริงๆ จังๆ แล้วค่อยๆ ลดปริมาณงานกราฟิก งานอาร์ตเวิร์คลงไปจนไม่ทำ แล้วทำงานถ่ายภาพอย่างเดียว มันต้องใช้เวลาแหละ คือมันก็เป็นงานอนุรักษ์เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนวิธีการถ่ายทอด
การให้คำนิยามว่า ‘ช่างภาพสถาปัตยกรรม’ ในประเทศไทยซึ่งไม่มีอาชีพนี้ เป็นความเสี่ยงมั้ย
ตอนแรกก็เสี่ยง ไม่งั้นเราคงไม่ใช้เวลาตั้ง 3 – 4 ปีกว่าเราจะอยู่ได้ มันเสี่ยงมั้ยมันเสี่ยง แต่เราก็ยืนยันที่จะทำมัน จนมันแสดงศักยภาพของเราออกมาว่าเราเป็นคนที่ตั้งใจทำแบบนี้จริงๆ เรากัดไม่ปล่อย จนมันรอดออกจากเหวไปได้ แต่ทุกวันนี้ก็มีหุบเหวใหม่รออยู่ (หัวเราะ)
จุดเริ่มต้นของการทำ Foto_momo เริ่มได้อย่างไร ทำไมต้องชื่อนี้
ก็เป็นเรื่องการไปถ่ายรูปตึกเก่า ที่เราก็ถ่ายเล่นๆ นะ ไม่ใช่งานว่าจ้างหรอก แต่มันดันออกมาเป็นซีรีส์ ออกมาเป็นภาพชุดหนึ่ง แล้วเราก็อยากจะแสดงเรื่องราวของตึกเก่าพวกนี้ออกมาในแง่ของการอนุรักษ์อาคาร ว่าเออมันมีกลุ่มอาคารประเภทนี้อยู่ ที่อาจจะถูกหลงลืมไปในแวดวงวิชาการ เราก็เลยตัดสินใจตั้งเพจขึ้นมาชื่อว่า Foto_momo โดยที่ชื่อมันไปคล้องจองกับ องค์กรหรือก็คือเว็บไซต์ที่เราเคยผ่านมาก่อน เราอาศัยการหาข้อมูลก่อนไปถ่ายภาพ ชื่อเว็บไซต์ว่า DOCOMOMO ย่อมาจาก Documentation and Conservation of the Modern Movement ทีนี้เราก็มีเครื่องมือและทักษะด้านการถ่ายภาพเราเลยบิดจาก Doco เป็น Foto สื่อถึงเรื่องการถ่ายภาพ พยายามจะสร้างเรื่องราวของการอนุกรักษ์ด้วยภาพถ่าย เพราะเราเชื่อว่ามันไปสะกิดตาสะกิดใจคนดูได้ง่ายดี

สมมติว่าจะไปสร้างงานภาพชุดหนึ่งขึ้นมา เริ่มหาช้อมูลอย่างไร เลือกสถานที่ยังไง
ถ้าเอาส่วนการหาข้อมูล มันสั่งสมมาจากการอ่านหนังสือ การเปิดเว็บไซต์ดู เหมือนเราขลุกอยู่กับวังวนตรงนั้น เราก็จะพยายามหาช่องทางต่างๆ ที่มันพอจะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือดีไซน์ นิตยสารเก่าๆ หนังสืองานศพ เราตั้งใจว่าจะหางานประเภทนี้ แล้วเราทำงานสายนี้อยู่แล้ว เราก็จะมีชุดข้อมูลในหัว แต่เอาจริงๆ พี่ไม่ได้เลือกหรอก สถานที่มันเลือกเรา (หัวเราะ) จริงๆ คือมันไม่ได้เลือกเป็นที่ๆ ไปหรอก แต่มันเป็นการถ่ายแบบสะสมคอลเลคชันมากกว่า เหมือนเราจับเรื่องราวของตึกโมเดิร์นกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เราก็เล่นเรื่องราวนี้ต่อมา 4 – 5 ปี ทีนี้ในสิ่งที่เราโพสต์ให้ทุกคนเห็นน่ะ มันคือการที่เราเลือกเอาสิ่งที่เราสะสมไว้ ทีนี้ขั้นตอนการสะสมตรงนั้นน่ะ พี่ก็ไม่ได้แบบว่า 3 เดือนอ่านหนังสือแล้วค่อยออกไปถ่าย มันไม่ใช่แบบนั้น มันคือสิ่งที่เราสั่งสมมาตลอด ทำทุกอย่างจนเป็นชีวิตประจำวันน่ะ แล้วค่อยไปดูตึกต่างๆ ตามแต่ละจังหวัด ถ่ายเอาไว้เพื่อเก็บเข้าคอลเลคชันของเรา แต่บางทีก็มีนะออกไปถ่ายแล้วลงเลย คือในสต็อกที่มันมีอยู่เนี่ย มันไม่ได้โดดเด่นทุกอัน แต่เราเลือกถ่ายให้มันเยอะที่สุด หว่านแหไปก่อน แล้วในกลุ่มตึกพวกนี้มันก็จะมีตึกที่โดดเด่นขึ้นมา เพราะมันสวยอะไรแบบนี้ มันก็จะมีโดดเด้งขึ้นมาจากเพื่อนๆอยู่บ้าง
หมายความว่าไม่ได้เลือกเป็นสถานที่หนึ่งๆ แต่ถ่ายทุกตึกแล้วเลือกที่ดีที่สุดออกมาแทน
ใช่ เพราะว่าบางตึกน่ะ ด้วยข้อจำกัดของเรามันไม่สามารถถ่ายให้สวยได้ในครั้งเดียว ปัจจัยมันมีหลายอย่างมาก เช่น เวลาอาจจะไม่พอ ต้องรีบไปที่อื่นต่อ การถ่ายไม่สวยก็คือถ่ายย้อนแสง หรือไปในช่วงเวลาที่มันไม่เอื้ออำนวย เช่น รถจอดบังด้านหน้าหมด หรือลานจอดรถมันเละเทะ ตึกต้องไปมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งหลายๆตึกมักจะเป็นแบบนั้น แต่หลังๆ พอเราวางแผนให้มันรัดกุมยิ่งขึ้น เราก็ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนบ่อยๆ เช่น เราวางแผนเลยว่า เราจะไปที่นี่ ที่แบบนี้ ตึกนี้ต้องถ่ายตอนเช้านะ ตึกนี้ตอนบ่ายถึงจะได้ช่วงเวลาที่สวย อย่างพี่กล้วยไม้ก็จะเป็นเนวิเกเตอร์ เป็นคนขับรถ เพราะว่าการไปถ่ายอะไรแบบนี้ โดยเฉพาะในเมือง รถมันเทอะทะมากๆ เข้าไม่ได้ บางทีต้องอาศัยการเดิน พี่กล้วยไม้คือคนที่จะหาที่เอารถไปจอดแล้วพี่ก็เดินซอกแซกผ่านชุมชนไป
จริงๆ การทำงานสถาปัตย์ ถ้าไม่นับเรื่องการทำ Foto_momo มันก็คือการทำงานเป็นทีม เพราะมันจะต้องมีคนหนึ่งไปจัดการสิ่งที่อยู่ข้างหน้า คนที่เหลือแยกไปทำอย่างอื่น แต่ส่วนมากในการถ่ายภาพก็ทำคนเดียวแหละ เหนื่อยนะ แต่ก็สนุกดี
คุณใช้เทคนิคในการถ่ายภาพเล่าเรื่องตึกออกมายังไงบ้าง
จริงๆ พี่ไม่ค่อยมีเทคนิคอะไร (หัวเราะ) อาศัยถ่ายเยอะ แล้วก็มีความเป็นคนอึดระดับนึง การอึดก็ต้องอาศัยใจรักด้วย เพราะว่าบางทีสถาปัตย์มันไม่ใช่ถ่ายคน ถ่ายพริตตี้ ที่เราซ้ายหันขวาหันได้ มันต้องแบบการไปอยู่ถูกที่ถูกเวลาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงตอนเช้า แสงตอนเย็น วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันที่มีคน วันที่ไม่มีคน สภาพฟ้าฝนเป็นยังไง เทคนิคมันอาจจะเป็นเรื่องการอดทนไปอยู่ใน Space and Time ที่มันเหมาะสม ซึ่งมันก็จะเป็นการผสมกันระหว่างการหาข้อมูลไปบ้าง และการดูความเหมาะสมของการที่จะไปถ่ายสถานที่นั้นๆ

มุมมองสถาปัตยกรรมที่ทัชกับเลนส์ เวลามองผ่านเลนส์กับมองผ่านสายตาของนักออกแบบแตกต่างกันยังไงบ้าง
จริงๆ เลนส์หรือกล้องมันเป็นอุปกรณ์หลอกลวงที่ทำให้ภาพมันสวยขึ้น เราแค่อาศัยเครื่องมือทำให้มันดูสวยงามมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าการไปดูของจริงมันอาจจะไม่ได้สวยเท่า แต่ว่ามันมีมิติอย่างอื่นมากกว่า ภาพถ่ายมันอยู่ในเฟรมอยู่ในกรอบ มันไม่สามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างได้ แถมเลนส์เป็นอาวุธที่ช่างภาพเลือกที่จะเอาหรือไม่เอาอะไรบางอย่างเข้ามาในรูปด้วยซ้ำ อย่างที่ถามว่าบางคนเห็นรูปถ่ายตึกแล้วสวยเพราะว่าพี่อาจจะเลือกสิ่งที่มันสวย ไอ้สิ่งรอบๆที่มันไม่สวยก็มีแต่ไม่เอา มันคืออาวุธของช่างภาพที่เขาจะเลือกเอาหรือไม่เอาบางอย่าง
ถ้าไม่นับที่คุณเรียนและทำงานสายสถาปัตย์มา ตึกเก่ามีเสน่ห์ยังไง
มันเป็นเรื่องของความทรงจำในอดีต ยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือสกาล่า ก่อนที่มันจะถูกทำลายไป ณ วันที่เปิดฉายรอบสุดท้ายคนก็มากันเต็ม หรือดุสิตธานีตอนที่จะปิดโรงแรม คนก็แห่กันไป คือนอกจากตัวอาคารที่มันไร้ชีวิต อิฐ หิน ปูน ทราย แล้วเนี่ย พี่เชื่อว่ามันมีเรื่องราวของชีวิต ของผู้คนที่เคยได้ผูกพันกับมัน ตรงนี้ต่างหากที่มีเสน่ห์ ลำพังแค่เสา คาน อะไรอย่างเนี้ยมันไม่มีเสน่ห์มากพอหรอก มันต้องสะกิดความทรงจำของเรา ถ้าเราไม่ได้ผูกพันกับตึกนั้นๆ เราก็จะไม่เห็นค่ามันเท่าไหร่ จากประสบการณ์ที่ทำงานมา อาคารที่ผูกพันกับชีวิตผู้คนมากที่สุดคืออาคารสาธารณะ เช่น โรงหนัง หรือโรงเรียนเก่าๆ ที่เราเคยไปเรียน สถานที่แบบนี้จะเข้ากับผู้คนง่าย แบบเออเมื่อก่อนฉันเคยไปเรียนที่นั่น
ในการที่ตึกเก่าค่อยๆ ล้มหายตายจากไป ถูกทุบไป คุณว่าตึกเก่ามันสำคัญกับสังคมเมืองหรือในเชิงสถาปัตย์ยังไงบ้าง
ง่ายๆ เลย มันเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตย์ที่สำคัญ ที่ไม่ใช่ว่าคุณจะถอดแบบตึกนี้แล้วไปอยู่ในหนังสือ ไปอยู่ในภาพถ่าย ไปอยู่เป็นแบบ Drawing แล้วคุณจะเห็น สถาปัตยกรรมมันต้องสัมผัสด้วยสามมิติหรืออาจจะสี่มิติด้วยซ้ำ ก็คือทั้ง Space and Time เลยว่าการเข้ามาอยู่ในตัวอาคารนั้นจริงๆ มันให้ความรู้สึกยังไง ทีนี้ถ้ามันถูกทุบทำลายไปแล้ว พี่ก็คิดว่าย่านหรือว่าเมืองนี้มันก็เหมือนถอดความทรงจำอะไรบางอย่างของคนออกไป แล้วไอ้ตัวสถาปัตย์ดีๆ มันจะสร้างภาพจำให้เมืองด้วย อย่างที่เราไปเที่ยวตามประเทศต่างๆ เราก็เห็นตึกอันนี้ที่มันโดดเด่น เป็นจุดเด่นของเมือง เราก็จะอ๋อ ตึกนี้มันอยู่ตรงนี้ มันก็คือภาพจำของเมือง ถ้าภาพจำพวกนี้มันถูกลบหายไปแล้วมันจะเหลืออะไรให้เมือง คือไม่ใช่ว่าทุกภาพจำมันต้องดี มันลบได้แต่ว่าคุณค่าของตัวสถาปัตยกรรมนี้มันสำคัญพอที่เราจะเก็บมันไว้รึเปล่า ซึ่งในแง่ของประเด็นเรื่องการตีความด้านคุณค่ามันก็ซับซ้อนอีก มันจะมีคนที่เห็นค่าและไม่เห็นค่า


แล้วประเทศไทยกับงานอนุรักษ์ล่ะ?
พอหลังจากสกาล่า (ถูกทุบ) พี่ว่าพี่ก็ท้อใจ คงทำอะไรได้ไม่ดีกว่านี้ ก่อนเคสสกาล่า ก็อย่างดุสิตธานี เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเขาเป็นเอกชน เป็นนายทุน เป็นอะไรที่เขามีกรรมสิทธิ์ มีอำนาจอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะทำ ซึ่งอันนั้นไม่ว่ากัน เราก็ต้องใจเขาใจเราเหมือนกัน ใช่ว่าเราจะอนุรักษ์ทุกอย่าง แต่ประเด็นเรื่องสกาล่ามันเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ มีอะไรมากพอที่จะยื่นมือมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม แต่คุณกลับตีความทุกอย่างกลายเป็นเม็ดเงิน การวัดผลแบบนั้นเราคิดว่ามันไม่ใช่ทางที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์
ทุกๆ สถาปัตยกรรมมีคุณค่าและความทรงจำในตัวมันเอง ภาพถ่ายของคุณที่เป็นภาพถ่ายงานอนุรักษ์ ช่วยดึงคุณค่าตรงนี้ให้คนที่ได้ดูรูปรู้สึกมั้ย
ในความเห็นพี่เอง ภาพถ่ายมันอาจจะไม่ได้มีแรงมากพอที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ได้ แต่มันอาจจะเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้คนหันกลับมาเหลียวมอง ระหว่างที่ทำมาคือคิดแค่นั้นอะ เราไม่กล้าคิดไปไกลพอว่าภาพถ่ายหนึ่งภาพมันจะต้องกลายเป็นมีคุณค่าทำให้ตึกนั้นมันอยู่ แต่อยากให้มันเป็นการสะกิดให้คนหันกลับมามองบ้าง แล้วทีนี้การอนุรักษ์ลำพังช่างภาพมันทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องอาศัยคนที่มีความรู้มากกว่านั้น นักออกแบบต่างๆ นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการต่างๆ ที่เขาเก่งกว่าเราอะ ก็ต้องมาช่วยๆ กัน
ถ้าโลกนี้เป็นเหมือนต่างประเทศที่ตึกเหมือนกันหมดแต่มันไม่มีย่านเมืองเก่า ไม่มีตึกเก่า ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่มี คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งในวงการสถาปัตยกรรมและเชิงคุณค่าทางจิตใจ
เด็กที่โตขึ้นมา เกิดวันนี้ก็เริ่มเห็นบรรยากาศเมืองแบบนับศูนย์นับหนึ่งไปเลย คิดในแง่ดีก็อาจจะกลายเป็นเมืองที่ทันสมัย ทุกอย่างตอบโจทย์ เหมือนฉากหนังแบบเมืองในอนาคต อาจจะดีก็ได้แต่ว่าเราก็ไม่มีประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ แล้วการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญยังไง มันสำคัญที่ว่าเราจะได้รู้แบคกราวด์ของตัวเอง ถ้าเราไม่รู้แบคกราวด์ของตัวเองเราก็เริ่มต้นจากอันนี้ไปเลยก็ได้มั้ง แต่จะบอกว่าสถานการณ์การทุบตึกอาคารอนุรักษ์อะไม่ใช่เรื่องแย่แค่เมืองไทยนะ เมืองนอกก็แย่พอกัน เกิดเราไม่ได้โทษว่าเออคนไทยก็แย่ที่คนไทย ขนาดญี่ปุ่นอย่างนี้ก็แย่เหมือนกัน ญี่ปุ่นก็จะมีเคสของตึกแคปซูลทาวเวอร์ที่เอาออกไป แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นทำคือการเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ พอที่จะให้คนรุ่นหลังมาเรียนรู้ได้ แต่ถามว่าเมืองไทยมีแบบนั้นมั้ย คิดว่ายังไม่มี
ใช่ แต่ถามว่ามันมีที่ปรับตามยุคสมัยแล้วพังมั้ยมันก็มีบ้างแหละ แต่ว่าอย่างที่พี่ไม่ชอบเลยเป็นการส่วนตัวคือ เรื่องป้ายต่างๆ ที่อยู่หน้าอาคาร ประเทศไทยป้ายเยอะไปไหนวะ ป้ายแม่งเยอะทุกอย่าง จนมันรกไปหมด มันไม่มีความเป็นระเบียบเลย อันนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่อยากให้มีคนพูดบ้าง เพราะอะไรแบบนี้ส่งผลไปถึงป้ายใหญ่ๆที่เป็นแสงสะท้อนตลอดเวลาด้วย เราต้องดูแล้วล่ะว่าทำไมไม่มีอะไรมาควบคุมเรื่องพวกนี้ นอกจากสายไฟ ก็มีป้ายนี่แหละที่กวนใจช่างภาพ หลบยาก

คุณคิดว่าตัวเองมีส่วนช่วยในการเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นบ้างมั้ย
ก็เหมือนทำมานานแล้วจนเขาอาจจะมองว่า เรากลายเป็นระดับหนึ่งที่เหมือนพอจะเป็นต้นแบบได้บ้าง เอาจริงๆ ไม่มั่นใจเลย ไม่อยากอวยอย่างนั้นไง (หัวเราะ) การพูดแบบนั้นมันเหมือนโอ้อวดตัวเองอะ คือพี่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีชื่อเสียงขนาดนั้น แต่บางทีไปถ่ายงานแล้วเขาแบบ “อ้าวคุณเบียร์สิงห์น้อย” ก็แบบเขารู้จักกูได้ไงวะ (หัวเราะ) ก็จะมีอย่างงั้นอะ หลังๆ ก็เริ่มเยอะขึ้น
แล้วการเป็นคนธรรมดาที่ชีวิตเริ่มไม่ปกติแล้ว เมื่อคนเริ่มรู้จักคุณเยอะขึ้น รับมือกับเรื่องพวกนี้ยังไง หรือหวาดกลัวอะไรมั้ย
ก็ไม่หรอก หวาดกลัวมั้ยก็ไม่ แต่ผมคิดว่ามันเป็นใบเบิกทางที่ดี ที่ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้รับเชิญจากคนนู้นคนนี้ให้ไปทำอะไรที่มันไม่ได้ทำมากขึ้น คือบางทีถ้าเราโนเนมตอนแรก เราไม่สามารถเข้าไปในที่บางที่ได้ อย่างตอนนี้ก็มีแบบเดี๋ยวไปถ่ายบ้านญาติหลังนี้ให้หน่อยอะไรอย่างงี้ บ้านนี้เขามีลูกเพจส่งข้อมูลมาว่า เออเนี่ย มีอาคารสวยๆ อันนู้นอันนี้นะ คือนอกจากเราหาคนเดียวแล้วมันยังมีคนอื่นส่งโลเคชั่น แล้วบางทีก็รู้จักกันก็แนะนำไปเราก็ได้ไปบ้านคนที่ปกติมันก็ไม่ได้เข้าได้
งั้นหมายความว่าการที่คนรู้จักเรามากขึ้น หมายถึงการได้รับโอกาสที่มากขึ้นด้วย
ถ้าจะพูดว่าโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับแล้วรู้สึกตื่นเต้นมากๆ คือการได้รับโอกาสไปบรรยายที่ต่างประเทศนี่แหละ ไม่เคยหวงว่าเราจะมาได้ไกลขนาดนี้ อาจจะเพราะเรามีรุ่นพี่ในวงการที่เห็นเราทำมันอย่างจริงจัง เขาเลยพยายามผลักดันให้เราทำ แบบเบียร์ไปสมัคร หรือไปรู้จักคนนู้นคนนั้นสิ ถามว่าเราภาษาอังกฤษดีมั้ยก็ไม่ได้ขนาดนั้น แล้วก็กดดันตัวเองนะในการบรรยาย แต่ไม่ กูไม่แคร์ (หัวเราะ) รูปสวยแล้วกัน พี่ว่าคนฟังไม่รู้เรื่องหรอก (หัวเราะ) แต่เขาสามารถซึมซับสิ่งที่พี่อยากจะสื่อออกไปได้

แพสชั่นสำคัญมั้ยกับการทำงานนี้
สำคัญนะ ไม่งั้นเราก็คงท้อไปก่อน คือถ้าจะถามว่าทำไมถึงทำได้ขนาดนี้ ตอบด้วยความสัตย์จริงเลยว่า ไม่รู้เหมือนกัน มันอาจจะเพราะเราไม่รู้สึกเหนื่อยมั้ง ไม่ได้รู้สึกว่ามันต้องทำ มันเป็นไปโดยธรรมชาติ จนจะมาหาคำประดิษฐ์ว่าเราหลงรักมันเหรอ ไม่รู้สิ พี่ไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาบรรยายว่ามันไม่เหนื่อย แต่อยากให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 4 – 5 ปี ที่บันทึกภาพถ่ายเหล่านี้มา มันไม่เหนื่อยจริงๆ เลย
ไม่เสียใจเลยใช่มั้ย ที่เลือกทำด้านนี้มากกว่าทำงานสถาปัตย์
ไม่เสียใจ จะมีเสียใจก็แค่เรื่องเราผัดวันประกันพรุ่งนี้แหละ ที่ทำให้เราถ่ายบางตึกไม่ทัน มีแค่เรื่องนี้นี่แหละที่เสียใจ นอกนั้นไม่เลย เสียใจตรงเดี๋ยวค่อยไปๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ไป
ความคาดหวังต่อตัวเอง ตอนนี้สมหวังรึยัง แล้วในอนาคตอีก 5 ปีมองตัวเองไว้อย่างไร เมื่อไหร่คือจุดอิ่มตัว
ตอนนี้ยังไม่รู้สึกอิ่มนะ มันเหมือนกินข้าว อิ่มแล้วเดี๋ยวมันก็ย่อยแล้วอยากกินใหม่ อยากออกไปถ่ายรูปใหม่ ก็เลยรู้สึกว่ายังอยากทำงานแบบนี้อยู่ แต่สิ่งที่เราอยากให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น คือการที่สังคมมันจะตระหนักกับเรื่องคุณค่าของสถาปัตยกรรมแบบนี้สักที เพราะว่าอย่างตอนสกาล่ามันก็เฟลนะ เราดิ่งเลยเพราะสุดท้ายเราทำอะไรไม่ได้นี่หว่า สุดท้ายแล้วมันก็ อ้าวแล้วที่กูทำมามันมีผลอะไรบ้างวะ สิ่งที่ควรจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ดันกลายเป็นถูกทุบทิ้งไปหมดแล้ว
จากการทำงานมาทั้งหมดจนถึงตอนนี้ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าหรือความหมายอย่างไรบ้าง
คิดว่ามันมีความหมายนะ เพราะตอนนี้มันเหมือนบทบบันทึกอันหนึ่งในโลกโซเชียลและอินเทอร์เน็ต ที่มันเป็นเหมือน Digital Footprint ให้คนได้เข้ามาค้นหาต่อไปได้ เป็นเหมือนหมุดหมายเล็กๆ ในวงการสถาปัตยกรรมที่ให้คนได้มาค้นหาแล้วนำไปอ้างอิง คือตอนนี้ก็อยากเอางานทั้งหมดมารวบรวมเป็นเว็บไซต์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลนะ ซึ่งลำพังทำเองคงเดินช้าๆ อยู่ ต้องใช้ทั้งเงินและการเรียนรู้เลยล่ะ ต้องไปดูว่าการทำเว็บคืออะไร พี่ก็ต้องไปเรียนรู้เอง จริงๆ ก็อยากทำเป็นเล่มนะ แต่มันอาจจะต้องใช้เงินทุนเยอะมากในการจัดทำ ต้องขอไปคิดก่อนเลยล่ะ เอาจริงๆ อีกอย่างที่คาดหวังนอกจากการทำเว็บหรือการทำหนังสือ คือการจัดนิทรรศการ
