fbpx

เส้นทางการสร้างสรรค์ตัวอักษรของ Fontcraft กับ Font Foundry ที่ตั้งใจทำฟอนต์เพื่อทุกคน

“ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์”

ประโยคนี้ทำนองนี้ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ตอนที่ Modernist มาสัมภาษณ์เรื่องการทำเพจเกี่ยวกับฟอนต์ เพราะเอาจริงๆ เรามักจะเห็นผู้คนใช้ฟอนต์ผิดลิขสิทธิ์กันผิดหูผิดตา

และเหลือเชื่อว่าประโยคเดียวกันนี้ก็ถูกย้ำผ่านหลายประโยคในการสัมภาษณ์ Font foundry Fontcraft ในครั้งนี้ด้วย

หากคุณๆ ท่านๆ กำลังกวาดสายตาอ่านฟอนต์ทั้งตัวหัวเรื่อง ตัวเนื้อความ หรือติดตามเพจของ The Modernist อยู่ จะเห็นฟอนต์ภาษาไทยสุดเนี้ยบที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นหลายต่อหลายตัว เพราะฟอนต์ของผู้คนกลุ่มนี้สร้างขึ้นด้วยโจทย์อันหลากหลาย และถูกจัดการด้านลิขสิทธิ์ให้สามารถเข้าถึงการใช้งานอย่างถูกต้องได้แค่ฟอนต์ละ 500 บาท

ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีบนเส้นทางนักออกแบบตัวอักษรของ ใช้-จุติพงศ์ ภูสุมาศ และ ผิง-สุวิสา ภูสุมาศ พวกเขาสรรสร้างชุดตัวอักษรขึ้นมากว่า 100 ฟอนต์ ทั้งฟอนต์ที่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้งานได้ (Retail font) และฟอนต์ที่สร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของภาพลักษณ์องค์กร (Custom font) ซึ่งในทุกงานออกแบบของพวกเขาเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้งานฟอนต์ทั่วประเทศ และมียอดดาวน์โหลดฟอนต์ฟรีทุกฟอนต์รวมกันในเว็บไซต์ f0nt.com เกือบ 18 ล้านยอดดาวน์โหลดเข้าไปแล้ว

มาร่วมทำความรู้จักกับพวกเขา และค้นหาคำตอบไปด้วยกันว่า ทำไมสิ่งที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึง และสิ่งที่พวกเขาย้ำนักย้ำหนาถึงเป็นเรื่องเดียวกันว่า

“ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์”

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เริ่มทำ Fontcraft กันได้ยังไง

ใช้ : จริงๆ เราเริ่ม Fontcraft กันตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ ครับ เรามีความสนใจเรื่องแบบตัวอักษรอยู่แล้ว เราพยายามทำมันให้เป็นงานอดิเรก รวมถึงเราก็ได้รับความไว้วางใจในการว่าจ้างจากรุ่นพี่ให้ทำฟอนต์ เลยเป็นจุดเริ่มต้นในตอนนั้น ซึ่งจริงๆ เราทำทุกอย่างเลยนะ เรื่องการออกแบบเราก็รับ อะไรที่เราประเมินว่าเราสามารถทำได้ เราก็รับทำ รวมถึงเรื่องของฟอนต์เหล่านี้ด้วย

แล้วคณะ หรือสาขาที่เรียนจริงๆ เรียนด้านไหนกันมา

ผิง : จริงๆ แล้วเราเรียน Chemical Engineering ก็คือวิศวกรรมเคมี ตั้งแต่ปริญญาตรี แล้วก็ปริญญาโทด้วย ซึ่งค่อนข้างไม่ตรงสายกับการทำฟอนต์ แต่อย่างที่บอกว่างานฟอนต์มันเหมือนเป็นงานอดิเรกที่เราชอบทำ ซึ่งในสมัยเรียนเราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นจุดเปลี่ยนกับชีวิตการทำงานในอนาคตเหมือนกัน เราทำมันเพราะเราแค่ชอบการออกแบบ การดีไซน์ แต่พอเราเรียนจบ ชีวิตตอนนั้นก็มีทางเดินให้เลือกสองทาง ก็คือทำงานตรงสายวิศวกรรมเคมีไปเลย กับสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยพัฒนาจากงานอดิเรกอย่างการทำฟอนต์ให้สร้างรายได้ได้ เราก็เลยคุยกันโดยเอาเป้าหมายในชีวิตที่คิดร่วมกันไว้มาวาง คือเราอยากเลี้ยงลูกร่วมกัน เราอยากเป็นพ่อแม่ที่มีเวลาอยู่กับลูก บวกกับตอนเราเรียนจบ อายุ 22-23 ปี เป็นช่วงอายุที่เราไม่กลัวที่จะล้ม หากเราเริ่มทำตามสิ่งที่เราชอบอย่างงานฟอนต์ไปเลย ถ้ามันล้ม อย่างน้อยเราก็กลับมาทางสาย Engineering ได้ อีกอย่างคือเราอยากพิสูจน์ในสิ่งที่เราสนใจว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ตอนนั้นครอบครัวก็ไม่เห็นด้วยที่เราเรียนมาทางหนึ่ง แต่กลับเลือกทำงานอีกสายงานหนึ่งที่ให้ความแน่นอนกับครอบครัวไม่ได้

ใช้ : มันเหมือนเป็นความท้าทายที่เราต้องตอบโจทย์ในชีวิตตัวเอง และพิสูจน์ความคาดหวังของครอบครัวด้วย อีกอย่างเรื่องของฟอนต์ตอนนั้นเป็นเรื่องที่ผู้คนเข้าถึงยาก คนยังไม่เข้าใจว่ามันสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ยังไง

ผิง : ครอบครัวเขาก็เหมือนเป็นห่วงว่า เอ๊ะ เด็กสองคนนี้เขาจะทำอะไร มันเป็นยังไง แล้วมันจะเป็นเส้นทางที่เดินไปได้จริงๆ หรือ ยอมรับว่าตอนแรกยากเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้จบมาทางตรงสาย ทั้งเรื่องการทำฟอนต์ และเรื่องการทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ต้องทำการตลาดยังไง หรือการทำธุรกิจต้องเริ่มยังไง เราพยายามสร้างมันมาตลอดด้วยตัวเราเอง

แล้วพอทำงานด้านนี้ เราได้นำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมีมาใช้บ้างหรือเปล่า

ผิง : จริงๆ วิศวะ เป็นสิ่งที่เราชอบนะ เราเรียนได้ดีด้วย แล้ววิศวะมันสอนให้เราคิดเป็นระบบ ได้การคิดที่เป็นตรรกะและเหตุผล เราไม่ได้รู้สึกเลยว่าที่เรียนมามันสูญเปล่า

ใช้ : เราเรียนรู้การฝึกออกแบบ และดีไซน์ให้ถี่ถ้วนก่อนจะปล่อยให้คนได้ใช้งานจริง อย่างการผลงานออกแบบจริงครั้งหนึ่ง เราต้องวางแผนทุกอย่างให้ถี่ถ้วน จะออกแบบฟอนต์เป็นกี่น้ำหนัก สไตล์ยังไงบ้าง ถ้าเราวางแผนไว้อย่างดี ทำทุกกระบวนการอย่างถี่ถ้วน เราจะไม่ต้องกลับมานั่งแก้ไขมันอีกรอบหนึ่ง

อะไรเป็นจุดที่ทำให้สนใจเรื่องการทำฟอนต์

ใช้ : ต้องบอกก่อนว่าที่บ้านเราทำเรื่องเกี่ยวกับโรงพิมพ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวอักษรอยู่แล้ว เมื่อก่อนตัวอักษรมันมีให้เลือกอยู่ไม่กี่แบบ หน้าที่ของเราคือการจำตัวอักษรพวกนี้ให้ได้ว่ามันคือฟอนต์อะไร พอเราได้เห็นบ่อยๆ ก็เริ่มเห็นว่าฟอนต์เท่าที่มีอยู่ในตอนนั้นมันมีอยู่อย่างจำกัดมาก บางงานเราก็ตอบไม่ได้ว่ามันควรเลือกใช้ฟอนต์ไหนดี เลือกฟอนต์เป็นชั่วโมงเลยก็มี จุดนี้ทำให้เราคิดว่าถ้าเราสามารถทำฟอนต์ขึ้นมาเองได้เลยจะเป็นยังไง เลยได้ลองทำฟอนต์แรกออกมาเมื่อเกือบๆ 13 ปีที่แล้ว เป็นฟอนต์ลายมือตัวเอง ซึ่งทำให้เราเห็นว่ามันเป็นไปได้นะ กับการทำฟอนต์ แม้จะไม่ได้ออกมาเนี้ยบมาก แต่ก็ทำให้เราเห็นกระบวนการของมันตั้งแต่เริ่มต้น จนสิ้นสุดกระบวนการ พอจะเป็น Guideline ให้เราได้ Follow ต่อได้

ผิง : สำหรับเรา การทำฟอนต์ในชีวิตเกิดจากพี่ใช้พาเราให้ได้รู้จักสิ่งนี้ แต่ถ้าถามในชีวิตจริงๆ สมัยเด็กเราเป็นคนชอบเขียนตัวอักษรแบบลายมือประดิษฐ์ เวลาถึงวันพ่อ วันแม่ วันครู หรือวันสำคัญที่โรงเรียนให้ทำการ์ด เราก็จะเป็นคนที่ชอบเขียน หรือเพื่อนก็จะชอบฝากให้เราเขียนให้บ้าง จนพอได้มาเจอกับพี่ใช้ เขาก็สอนเราให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันไปเป็นดิจิทัลฟอนต์ได้ เราได้เรียนรู้แล้วก็เปิดโลกทางด้านนี้ไปกับเขา

ใช้เวลาปลุกปั้น Fontcraft นานแค่ไหน

ใช้ : จุดเริ่มต้นคือตั้งแต่ช่วงที่เราเรียนอยู่เลย Fontcraft เปรียบเสมือน First job ของเรา พอเรียนจบ เราได้รับงาน Custom font (แบบอักษรที่ถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งลิขสิทธิ์ของแบบอักษรนั้นๆ จะขึ้นตรงกับองค์กรผู้เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว – ผู้เขียน) งานใหญ่งานแรกอย่างดาราเดลี่ และก็เป็นจุดเริ่มต้นในความจริงจังมากขึ้นของเรา เพราะงานนั้นทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการรับทำ Custom font ว่ามันมีตลาดตรงนี้ และมีคนสนใจสิ่งนี้อยู่ไม่น้อย

การออกแบบ Custom font ที่ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคนั้นเป็นอย่างไร เราทำงานยังไงบ้าง

ใช้ : หลักๆ เลย Process ของเราคือเรารับโจทย์จากลูกค้ามา โจทย์ของเขาคือเป้าหมายที่จะนำไปใช้ รูปแบบการนำไปใช้ แล้วก็สไตล์งานที่ลูกค้าสนใจ เราเอาโจทย์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ ทำเป็นตัวอย่างตัวอักษรบางตัวส่งให้ลูกค้าพิจารณา หากลูกค้าต้องการปรับแก้ตรงไหนเราก็จะได้ Feedback กลับมา เมื่อลูกค้าโอเคเราก็จะดำเนินการออกแบบต่อให้ครบทุกตัวอักษร และส่งไฟล์ฟอนต์ให้ลูกค้าทดลองนำไปใช้งานว่าเป็นอย่างไร หากมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็ Feedback กันไปมาได้ ประมาณนี้ครับ

ผิง : เวลาเราจะออกแบบฟอนต์ครั้งหนึ่ง โจทย์บางโจทย์เขาก็บอกเราว่าต้องการนำไปใช้ยังไง บางบริษัทก็ไม่เข้าใจว่าเรื่องของฟอนต์นี่มันต้องยังไง เพราะไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องการจากลูกค้าคือการบรีฟ ที่หมายถึงการที่เราต้องรู้ว่าเขาทำอะไร ทำเพื่อลูกค้ากลุ่มไหน ตัวตนของบริษัท หรือภาพลักษณ์ที่เขาต้องการสื่อสารเป็นยังไง ต้องการให้ดู Soft ดูมี Power หรือทันสมัย หรืออยากได้แบบ Traditional เราจะต้องวิเคราะห์ลูกค้าให้ออก รวมถึงกลุ่มลูกค้าของลูกค้าเองด้วย ที่เขาจะต้องวิเคราะห์ว่า Platform ที่เขาจะนำไปใช้คือ Platform ไหน ตรงนี้มีผลกับการออกแบบตัวอักษรทั้งหมด

ย้อนกลับไปช่วง 10 ปีที่แล้ว เราเห็นว่า Fontcraft เข้าร่วมเป็นสมาชิกเว็บบอร์ด f0nt.com ที่เป็น Community สำคัญของผู้ออกแบบฟอนต์ในยุคนั้น อยากรู้ว่าเว็บบอร์ดนั้นให้อะไรกับเราบ้าง

ใช้ : เมื่อช่วง 10 ปีที่แล้ว เว็บ f0nt.com แทบจะเป็นเว็บไซต์เดียวที่เป็นแหล่งให้ดาวน์โหลดฟอนต์ ก่อนหน้าที่เราจะสมัครเข้าร่วมเว็บบอร์ด เราก็ชื่นชอบผลงานฟอนต์ของหลายๆ คนในเว็บอยู่แล้ว บางฟอนต์เราก็ดาวน์โหลดมาใช้ตอนที่เรายังเรียนอยู่ มีวันหนึ่งที่เราคิดว่าถ้าเราทำฟอนต์ออกมาได้ แล้วปล่อย Public ให้คนโหลดไปใช้งานได้ด้วย น่าจะเป็นความรู้สึกภูมิใจเวลาเราเห็นฟอนต์ของเราไปอยู่ตามที่ต่างๆ เหมือนคนเข้าถึงผลงานของเราได้ เลยสมัครเข้าไป 

ด้วยสมัยนั้นมันเป็นระบบ Webboard การสืบค้นข้อมูลสามารถทำได้ง่าย เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ตลอด ไม่เหมือนสมัยนี้ที่จะเน้น Feed ข้อมูลปัจจุบัน อะไรที่เก่ากว่าก็จะหล่นหายไปได้ Webboard ตรงนั้นเหมือนเป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้เราได้ศึกษาเลยว่า เราจะสามารถพัฒนาผลงานของเราไปได้ยังไงบ้าง รวมถึงสมัยนั้นก่อนที่เราจะปล่อย Public ฟอนต์ในเว็บไซต์ เราก็จะนำงานตัวอย่างของเราไปโพสต์ในเว็บบอร์ด ทุกคนที่เป็นผู้ออกแบบตัวอักษรในบอร์ดก็จะมาช่วยกันวิเคราะห์ผลงานของเราว่ามีจุดไหนต้องปรับปรุงบ้าง สมัยนั้นเรารู้สึกได้เลยว่าการออกแบบฟอนต์หนึ่งชุดต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีก็ยังไม่เอื้ออำนวย แหล่งข้อมูลหลายๆ อย่างที่ศึกษาได้ก็ยังไม่ได้เยอะมาก การทำฟอนต์ในยุคนั้นจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลค่อนข้างเยอะ คนทำฟอนต์ในยุคนั้นเลยค่อนข้างพิถีพิถันในการทำ รวมถึงในบอร์ดก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านฟอนต์รวมตัวอยู่ คำแนะนำของคนเหล่านั้นมีประโยชน์มากในการพัฒนาผลงานของเราต่อไป

ผิง : ตอนนั้นฟอนต์ของเราในเว็บก็จะมีฟอนต์ตัวแรกอย่าง Superspace หรือฟอนต์ Waffle ที่เราทำร่วมกัน แล้วตั้งใจแจกฟรีเพื่อส่งเสริมธุรกิจประเภทอื่น

ใช้ : ผลตอบรับค่อนข้างดีด้วยนะ เป็นฟอนต์ตัวแรกๆ ที่มีคนดาวน์โหลดเยอะมาก

ผิง : จุดนั้นทำให้เรารู้สึกว่า เราได้เอาผลงานเราไปโชว์ แล้วมีคนชื่นชอบงานเรา เป็นแรงผลักดันเล็กๆ ว่าต่อไปเราทำฟอนต์ออกมาอีกได้นะ เราเอาสิ่งที่เราชอบออกมาให้คนเอาไปใช้ประโยชน์ได้

วงการผู้ออกแบบฟอนต์ในยุคนั้นให้อะไรกับ Fontcraft บ้าง

ใช้ : ในยุคนั้นมันเป็นเรื่องการแชร์ข้อมูลกันบน Webboard การที่คนจะโพสต์ตอบอะไรเรามา มันไม่เหมือนกับปัจจุบันในลักษณะของ Comment สั้นๆ บรรยากาศของ Webboard ตอนนั้นจะเต็มไปด้วยคำแนะนำ หรือคำตอบยาวๆ ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ผ่านการกลั่นกรองความคิดมาระดับหนึ่งแล้ว การ Comment ในยุคนั้นจะค่อนข้างได้สาระแน่นๆ ว่าในสังคมคนทำฟอนต์เขาคิดเห็นอย่างไรกับงานของเรา

ผิง : ยุคนั้นพอจะวิจารณ์ก็วิจารณ์ได้เลย หรือจะชมก็ชมได้ แบบไม่ฉาบฉวยเหมือนใน Facebook ยุคนี้ที่คนมักจะ Comment โดยไม่ได้คิดอะไรเยอะ ต่างจากในบอร์ดยุคนั้นมันทำให้เราคิดต่อได้ว่าสิ่งที่เขาพิมพ์มา ตรงไหนเราสามารถถนำมาปรับปรุงได้ หรือตรงไหนที่เราควรรักษาจุดนั้นไว้ Comment จากผู้ออกแบบตัวอักษรที่เข้ามาวิจารณ์งานของเราแบบตรงไปตรงมาในยุคนั้นมันมีประโยชน์มากๆ กับเรา

กลับมาที่องค์กร Fontcraft บ้าง ทั้ง 2 คนทำหน้าที่อะไรใน Fontcraft บ้าง

ผิง : จริงๆ แล้ว Concept การทำงานของเราคือทั้งสองคนจะต้องรู้กระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เราสามารถสลับ Part การทำงานกันได้ เราจะได้มีความชำนาญในทุกๆ ด้านของการทำงานฟอนต์

ใช้ : ช่วงนี้เรามีฝ่ายบัญชีเข้ามาดูแลเรื่องเอกสารให้เรา เราก็ลดความกังวลในการดูเรื่องอื่น และมาให้เวลากับการออกแบบฟอนต์ การดีไซน์ งาน Service ได้มากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งงานที่เราออกแบบตั้งแต่ต้นจนจบ หรืองานที่มีผู้ออกแบบตัวอักษรออกแบบมาครบถ้วนแล้ว เรารับหน้าที่แค่ด้าน Technician สร้างระบบให้กลายเป็นดิจิทัลฟอนต์ที่ใช้งานได้จริงแทนก็มี

เล่าให้ฟังหน่อยว่าเวลาเราจทำฟอนต์เป็นของตัวเองขึ้นมา แรงบันดาลใจส่วนมากของนักออกแบบมาจากที่ไหนบ้าง

ใช้ : สำหรับเรา โจทย์สำคัญที่สุดสำหรับการออกแบบ อย่างเช่น FC Minimal ที่มีโจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้แบบอักษรไทยดูคลีนที่สุดได้ โดยที่ยังอ่านได้อยู่ เราก็เอาโจทย์นี้มาออกแบบเพื่อตอบคำถามนี้

ผิง : สำหรับเราก็คล้ายๆ กัน ก็คือเราก็มีโจทย์ของเรา แต่โจทย์ที่เราตั้งไว้จะจริงจังน้อยกว่าพี่ใช้ เราเคยออกแบบฟอนต์โดยเริ่มต้นจากการออกแบบไม้มลายให้เหมือนไม้ง่ามเนตรนารีตอนเด็ก หรือเราเคยทำฟอนต์ที่ให้หัวของ ห.หีบ เป็นลักษณะของหูหมี แรงบันดาลใจของเรามันมาจากสิ่งที่เราเจออยู่ทุกวัน มองเห็นสิ่งนั้นๆ แล้วจินตนาการรูปร่างเป็นตัวอักษรตัวนั้นได้

หลังจากได้แรงบันดาลใจ กระบวนการทำฟอนต์ตั้งแต่เริ่มจนเสร็จออกมาเป็นฟอนต์ 1 ฟอนต์ ทำอะไรบ้าง

ใช้ : อย่างแรกเราถามตัวเองก่อนว่า ฟอนต์ที่เราจะทำออกมา เราจะเอาไปใช้กับอะไร กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานของเราเป็นใคร เราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาตั้งเป็นโจทย์ เป็น Concept เพื่อพัฒนาต่อไป ถัดมาเราก็เลือกออกแบบตัวอักษรบางตัวที่น่าจะเป็นจุดเด่นของฟอนต์นั้นๆ อย่างเช่น ก.ไก่ หรือ ค.ควาย ที่เป็นตัวอักษรซึ่งใช้บ่อยๆ มา Mockup เป็นประโยคสั้นๆ ดูก่อนว่า Concept ของเรามันโอเคหรือเปล่า เวลาทำออกมาเป็นฟอนต์จริงๆ มันพอจะมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนได้มั้ย หรือตัวอักษรที่เราสร้างขึ้นมันสามารถเข้ากันกับตัวอักษรอื่นๆ ได้หรือเปล่า เมื่อจุดนี้ผ่านเราก็จะออกแบบตัวอักษรจนครบทุกตัว แล้วเราก็นำตัวอักษรมาทดสอบการพิมพ์จริง จุดนี้สำคัญมาก เพราะปกติเวลาเราออกแบบตัวอักษรเราออกแบบมันทีละตัว พอเอาตัวอักษรทั้งหมดมาเรียงเป็นข้อความ เราควรจะมองมันเป็นภาพรวม ถ้ามีตัวอักษรใดเด่นเกินไปอาจจะเกิดการสะดุดระหว่างการอ่าน ซึ่งนอกจากการทดสอบคำ เราก็ทดสอบฟอนต์กับระบบปฏิบัติการที่นำไปใช้งานด้วย ทั้งฝั่ง Windows, Mac หรือโปรแกรมต่างๆ ว่าโปรแกรมนั้นๆ รองรับระบบที่เราทำไว้หรือเปล่า ก่อนจะปล่อยฟอนต์ให้คนนำไปใช้ได้จริง จุดนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เพราะถ้าหากเราทดสอบฟอนต์ในโปรแกรมต่างๆ ไม่ละเอียดพอ เมื่อเราปล่อยไปแล้วงานมันย้อนกลับมาแก้ไม่ได้ คนที่โหลดไปก็อาจจะนำไปใช้เรียบร้อยแล้ว

ผิง : ฝั่งเราที่เราทำเป็นฟอนต์ลายมือ อาจจะดูง่ายกว่า แต่จริงๆ การทำฟอนต์แบบนี้ค่อนข้างมีขั้นตอนการทำที่ยากกว่าด้วยซ้ำ เพราะฟอนต์ลายมือที่เราทำไม่ใช่แค่การเขียน แต่มันคือลายมือประดิษฐ์ ที่ทุกจุดเราจะต้องใส่ความเนี้ยบเข้าไป รวมถึงการจัดการกับส่วนโค้งส่วนเว้าที่แตกต่างกันในแต่ละตัวอักษร ก็อาจจะใช้เวลามากกว่าการทำฟอนต์ในรูปแบบทางการ เวลาเราออกแบบฟอนต์ลายมือค่อนข้างจะใช้เวลามาก เพราะตัวอักษรลายมือประดิษฐ์ที่สวยหลายๆ ตัวมาอยู่รวมกันก็อาจจะไม่สวย เราต้องหาเอกลักษณ์ว่าทำยังไงให้ตัวอักษรมันดูไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปจนทำให้ฟอนต์นั้นๆ มันอ่านไม่ได้

จุดประสงค์ในการใช้งานของฟอนต์ลายมือก็สำคัญ บางฟอนต์ที่ลายมือฉูดฉาดก็อาจจะเหมาะกับการใช้บน Headline เท่านั้น หากเราต้องการนำไปใช้กับ Text เราก็ต้องออกแบบให้สบายตาที่สุดสำหรับตัวอักษรขนาดเล็ก ไม่ใช่การออกแบบตัวอักษรลายมือประดิษฐ์ให้สวยอย่างเดียว แต่ใช้งานไม่ได้ อะไรที่มันมากเกินพอดีเราก็ลดทอนลงมา

ใช้ : ผมว่าจริงๆ แล้วฟอนต์ทางการของ Fontcraft มันจะมีระยะกั้นหน้ากั้นหลังที่มีตายตัว แต่ฟอนต์ลายมือมันไม่มีค่าแน่นอนตายตัวได้เลย เราต้องเอาตัวอักษรทุกตัวมาเปรียบเทียบกันว่าระยะกั้นหน้ากั้นหลังของแต่ละตัวควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ อีกอย่างที่ยากคือการสร้างแบบอักษรตัวหนา ที่พอเป็นฟอนต์ลายมือ นักออกแบบคนอื่นอาจจะสร้างความหนาด้วยการเพิ่ม Stroke เข้าไป ที่มักจะทำให้เกิดปัญหาหัวตัวอักษรตันหรือทึบ อ่านยาก วิธีของเราคือการวาดใหม่ โดยยึดแบบจากตัวอักษรเดิม คำว่าฟอนต์ลายมือมันดูเหมือนเป็นของง่าย ทำแป๊บเดียวก็เสร็จ แต่จริงๆ มันมีเบื้องหลังมากมายอยู่ในนั้นเยอะมาก

ผิง : สิ่งที่เราคิดคือการปล่อยฟอนต์เข้าอุตสาหกรรม เวลาคนนำฟอนต์ของเราไปใช้ หากเราทำฟอนต์ลายมือที่แค่เขียนเสร็จก็ปล่อย เวลาเอาไปใช้งานบน Platform คนจะเห็นเลยว่างานมันไม่เนี้ยบ ซึ่งเราจะไม่ทำแบบนั้น ฟอนต์ของเราจะต้องสามารถให้คนนำไปใช้ได้กับทุกรูปแบบในอุตสาหกรรมการทำงานของเขาจริงๆ

วางแผนการทำงานกันอย่างไรบ้าง

ผิง : เราจะให้ความสำคัญกับ Custom font ก่อน เราจะจัดเรียงว่ามีลูกค้าเจ้าไหนบ้าง Timeline การทำงานกับแต่ละเจ้าเป็นยังไง ลูกค้าต้องการงานเมื่อไหร่ เราก็จะวาง Scope งานไว้ หลังจากนั้น Gap เวลาช่วงรอลูกค้า Feedback หรือช่วงว่าง เราก็ค่อยเอาเวลาเหล่านั้นมาสร้างฟอนต์เป็นของเราเอง ฉะนั้นฟอนต์ของเราเองที่ปล่อยจะเยอะได้แค่ไหน ก็ขึ้นกับช่วงเวลาที่เราว่าง เหมือนเป็นกำไรของเรา

เคยมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในการทำงานบ้างมั้ย จัดการกับเรื่องนี้ยังไง

ผิง : จริงๆ การออกแบบเป็นเรื่องของรสนิยมมากๆ ความคิดเห็นไม่ตรงกันนี่ธรรมดามากๆ เราชอบแบบหนึ่ง เธอชอบแบบหนึ่ง เราสองคนก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในการดีไซน์อยู่ อย่างเช่นเรามีรูปแบบตัวอักษรที่แหวกแนวมาก พอเอาไปให้อีกคนดู อาจจะบอกว่า “เกินไปไหมเธอ” เวลาเราความเห็นไม่ตรงกันเราก็จะ Discuss กันก่อน ถ้ายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ก็ออกแบบมันให้เป็นรูปเป็นร่างไปเลย ในรูปแบบของเรา และในรูปแบบของเธอ แล้วเอามาเทียบกัน วางอีโก้ของความชอบในงานตัวเองออก แล้วเปรียบเทียบกันด้วยใจเป็นกลางว่าแบบไหนดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วงานที่ส่งออกไปเราทำเพื่อลูกค้าของเราอยู่ดี

ในฐานะเพื่อนร่วมงาน เราเรียนรู้อะไรจากอีกฝ่ายบ้างในการทำงานตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ผิง : เคยได้ยินคำที่เขาพูดกันใช่มั้ยว่า “อย่าเอาแฟน หรือเพื่อนมาทำงานร่วมกัน เพราะมันจะพังทั้งคู่” ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นกับเรา เราค่อนข้างพูดคุยกันทุกเรื่อง แชร์เรื่องต่างๆ ร่วมกัน ใช้การพูดคุยเป็นสื่อกลางในการเข้าใจกัน เหมือนกันกับเวลาเราทำงาน เราก็ใช้วิธีนี้ลูกค้าติดต่อใคร ก็จะแชร์ข้อมูลให้อีกคนรู้ งานเป็นยังไงบ้างเราก็จะแชร์กัน ข้อมูลของเราจะอยู่เท่ากันตลอดเวลา ไม่ว่าลูกค้าจะติดต่อใคร สิ่งที่พูดคุยกันจะเดินไปข้างหน้าเสมอ ไม่จำเป็นต้องเท้าความข้อมูลกลับไปกลับมา นี่เป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้การทำงานของเรามัน Sync กัน เข้าใจกันมากขึ้น อย่างเวลาเราสลับหน้าที่งานกัน คนหนึ่งทำหน้าที่ออกแบบ Mockup ให้ลูกค้าผ่านแล้ว ก็สามารถส่งต่อให้อีกคน บอกบรีฟของงานนั้นๆ แล้วก็สามารถทำต่อกันได้เลย ไม่ต้องอธิบายให้มากมาย หรือไม่มีเรื่องการของการทำงานต่อกันไม่ได้เพราะนี่งานเธอ ไม่ใช่งานฉัน

ใช้ : อีกอย่างเลยคือเราเริ่มต้นมันมาด้วยกัน เรารู้ว่าจะต้องเดินไปในรูปแบบไหน แล้วก็รู้ด้วยว่าสไตล์แต่ละคนเป็นแบบไหน เวลามีงานลูกค้าเข้ามาเราสามารถบอกได้เลยว่า Head of Director จะต้องเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นผู้นำหรือผู้ตามตลอด

ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ จะเห็นว่าในศิลปะวงการอื่นๆ ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะเป็นที่รู้จักด้วย เรามองว่าจริงๆ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะผ่านการออกแบบตัวอักษรควรจะถูกรู้จักแบบนั้นหรือเปล่า

ผิง : ต้องมองพื้นฐานอย่างหนึ่งก่อนว่า งานศิลปะอย่างอื่น งานภาพวาด คนคนนั้นก็เป็นคนวาด อย่างเพลงก็เป็นเสียงที่คนคนนั้นร้อง ซึ่งมันชัดเจนเลยว่าใครเป็นคนสร้าง แต่ฟอนต์มันเหมือนเป็นเครื่องมือมากกว่า เป็นสิ่งที่จะไปอยู่บนงานของคนอื่นๆ ถ้าฟอนต์อยู่เดี่ยวๆ มันก็เป็นแค่ชุดตัวอักษร แต่เมื่อฟอนต์ไปอยู่บนงานของใครก็ตาม คนก็จะมองว่าเป็นงานของคนนั้น ไม่มีใครพูดกันว่าฟอนต์ตัวนี้เป็นของคนนั้นคนนี้นะ เขาจะพูดกันว่างานภาพรวมชิ้นนั้นเป็นของใคร

แต่ถ้าถามว่าคนทำฟอนต์ควรเป็นที่รู้จักมั้ย เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็เหมือนเป็นความภาคภูมิใจของเราที่คนนำฟอนต์เราไปใช้แล้วสร้างผลงานที่ดีให้เขาได้ แต่การที่คนรู้จักเรายังไม่สำคัญเท่าการที่ผู้ใช้งานรู้ว่าฟอนต์เหล่านั้นมีลิขสิทธิ์มาถึงผู้สร้างสรรค์ฟอนต์ยังไงบ้าง ถ้าเขารู้ว่า “ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์” ของมันเอง สิ่งนี้น่าจะทำให้ผู้สร้างสรรค์ฟอนต์ภูมิใจได้มากกว่า เพราะมันเป็นการให้เกียรติเรา

ใช้ : ซึ่งเรื่องนี้มันมี Gap อยู่ ถ้าเป็นสมัยก่อนฟอนต์จะแยกเป็นสองส่วนชัดเจนเลยคือ ฟอนต์ฟรี และฟอนต์ซื้อ ฟอนต์ฟรีก็จะเป็นฟอนต์ที่หาโหลดได้ทั่วไป แต่คุณภาพ ความพิถีพิถันอาจไม่มากเท่าฟอนต์ซื้อที่มีขายอยู่ในราคาแพงมากๆ ซึ่งมันไม่มีตรงกลาง นักออกแบบกราฟิกก็มักจะเลือกใช้ฟอนต์ฟรีแทน หรือโหลดฟอนต์เถื่อนมาใช้แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์ก็มี เรามองเห็นช่องว่างตรงนี้ เราเลยอยากผลักดันเรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์ โดยการที่ผู้ใช้งานที่ไม่ได้ใช้เชิงพาณิชย์ก็สามารถเอาไปใช้งานได้เลย แต่ถ้าต้องการใช้เชิงพาณิชย์ เขาก็สามารถเข้าถึงฟอนต์ของเราได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไป (เรตราคาฟอนต์เชิงพาณิชย์ของ Fontcraft คือ 500 บาท – ผู้เขียน) ซึ่งเป็นการผลักดันให้คนเข้าถึงงานที่ถูกต้องได้ในราคาที่เป็นธรรมสำหรับเขา

ผิง : Concept ของเราคือเป็นราคาที่ทุกคนจ่ายได้ ไม่ใช่แค่บริษัทหรือองค์กร แต่หมายถึงผู้ใช้งานทั่วๆ ไปที่สามารถจ่ายเงินในราคานี้ได้โดยไม่ลำบาก เรามองภาพใหญ่ว่าองค์กรในไทยก็มีเยอะ เวลาองค์กรเลือกฟอนต์ไปใช้งานเขาจะตรวจสอบก่อน และองค์กรจะมีกำลังซื้อมากกว่าคนทั่วไป แต่คนที่เอาฟอนต์ไปใช้งานทั่วไปบางคนก็รู้เรื่องลิขสิทธิ์ และก็มีหลายคนที่ไม่รู้เรื่องลิขสิทธิ์เลยก็มี เวลาเข้าอ่านสัญญาอนุญาตแล้วเห็นราคาที่มันจับต้องได้ เขาก็จะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเราต้องการทำให้คนตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง เพราะถ้าเรารู้เรื่องนี้แล้ว เวลาใช้งานเราก็ไม่ต้องกังวลกับอะไรอีก

ใช้ : เรื่องนี้เราบ่มเพาะมาหลายปีมาก จนตอนนี้มันกำลังงอกเงยอยู่ในสังคมไทย

ผิง : ใช่ คิดว่าตอนนี้ถ้าเทียบกับสมัยที่เราเริ่มทำ คนค่อนข้างมองเห็นลิขสิทธิ์ของสิ่งต่างๆ มากขึ้นในสังคม ส่วนตัวของเราที่เคยเจอคือเด็กทั่วไปที่ยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กหญิง เด็กชาย เขายังพยายามเอาค่าขนมมาจ่ายเรา สิ่งนี้กำลังหมายถึงว่าในสังคมไทยเรากำลังตระหนักรู้เรื่องลิขสิทธิ์ตั้งแต่เด็กๆ ถ้าเขารู้ตั้งแต่ตอนนี้ โตขึ้นมาสังคมก็จะตระหนักรู้เรื่องลิขสิทธิ์ และการให้เกียรติผลงานของคนอื่นๆ มากขึ้น

พอเขารู้ว่าทุกอย่างมีลิขสิทธิ์ เวลาเขาจะนำอะไรไปใช้ก็ตามเขาจะรู้ว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ใครเป็นเจ้าของ แล้วเขาจะตามไปตรวจสอบลิขสิทธิ์ว่าใครเป็นเจ้าของ สังคมของเราจะได้ลบภาพจำเดิมๆ ว่าถ้าจะซื้อฟอนต์ ต้องเสียเงินแพงๆ เท่านั้น ดีกว่าไปละเมิดแล้วมากลัวลิขสิทธิ์ย้อนกลับทีหลัง

เราเคยเห็นว่ามีคนทำฟอนต์ออกมาหน้าตาคล้ายคลึงกันกับฟอนต์ที่มีอยู่เดิม ในฐานะของนักออกแบบฟอนต์ เรามีความคิดเห็นอะไรกับเรื่องนี้บ้าง

ใช้ : มันก็ต้องแบ่งออกเป็นเรื่องของ Copy กับ Draft ถ้าถามว่าผิดมั้ย ในเชิงจริยธรรมมันผิดทั้งคู่ การ Copy จะหนักกว่า เพราะการ Copy มันคือการ Copy ทั้งไฟล์ องค์ประกอบทุกอย่างในไฟล์ เพราะลิขสิทธิ์มันครอบคลุมถึงชุดคำสั่งทุกอย่างในไฟล์คอมพิวเตอร์ ตรงนี้มีความผิด 100% ตามกฎหมาย

แต่ถ้าเรื่องของการ Draft มันค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ ถ้ามันสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขา Draft แบบมาจากของเราจริงในการวาดตัวอักษร ถ้า Outline ตัวอักษรมันตรงเป๊ะกับตัวอักษรของเรา แม้จะถูกดัดแปลงนิดหน่อย เราก็สามารถแจ้งกลับไปได้ว่าเป็นการนำไฟล์ฟอนต์ของเราไป Draft วิธีของเรากับปัญหานี้คือเราก็ไปแจ้งกับผู้ที่ Draft งานโดยตรงเลย ทำตัวอย่างให้เขาดูว่าเหมือนกันขนาดไหน ซึ่งตามปกติเขาก็จะลบออกไป

จากที่เก็บสำรวจมา เราพบว่าราคาฟอนต์ในไทยมีความแตกต่างหลากหลายมาก มีตั้งแต่ราคาหลักสิบ หลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่น จุดนี้มองว่าฟอนต์ควรมีราคากลางหรือเปล่า

ผิง : เรามองว่างานศิลปะมันอยู่ที่ความพอใจของลูกค้า การเลือกราคาที่เราพร้อมจะจ่ายมันอยู่ที่ลูกค้าตัดสินใจ ไม่ใช่คนทำฟอนต์ เราสามารถกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ได้ แต่จะต้องมีจุดที่ลูกค้าสนใจซื้อฟอนต์ของคุณ หรือมาจ้างคุณทำ Custom font จุดเด่นของนักออกแบบอยู่ตรงไหน ตรงนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญมากกว่าเรื่องราคา แต่ละคนมองงานของตัวเองแล้วตีราคาออกมาเท่าไหร่ อย่างที่บอกว่าหลักสิบ คุณภาพ ความพอใจของงานเมื่อเทียบกับหลักหมื่น หลักพันเท่ากันหรือเปล่า ลูกค้าเป็นคนตัดสินใจทั้งหมด เรามีหน้าที่แค่การทำผลงานมาให้ลูกค้าเลือกมากกว่า

ใช้ : ถ้ามองลักษณะของราคาหลักสิบที่ขายกัน ต้องมองในมิติหนึ่งที่ว่าเขาทำเป็นงานอดิเรก แค่ลองขาย ทำด้วยความสนุกของเขา ไม่ได้ใช้เป็นวิชาชีพ เลยอาจจะทำให้เขาตัดสินใจตั้งราคาที่เท่านี้ จะบอกว่าแจกฟรีได้มั้ย ถ้าเขาจงใจทำมาแบบนั้นเขาอาจจะแจกฟรีก็ได้ ความภูมิใจของเขาอาจเป็นการได้เห็นผลงานตัวเองไปปรากฏตามสื่อต่างๆ เขาอาจพอใจที่ระดับนั้นเหมือนๆ กับที่เราทำฟอนต์ไปแจกฟรีบน f0nt บางทีความพอใจอาจจะอยู่ที่การได้แชร์ หรือแบ่งปันกับคนอื่นๆ ส่วนเรื่องของราคา ถามว่าเราถูกที่สุดมั้ย ก็ไม่ แพงที่สุดมั้ย ก็ไม่ แต่มั่นใจได้เลยว่าลูกค้าจะได้สิ่งที่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เขาจ่ายไป

อีกจุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับราคาของฟอนต์ในบ้านเรา คือผู้ถือลิขสิทธิ์ฟอนต์แต่ละค่ายก็จะมีวิธีการแยกย่อยเรตราคาที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายที่ต่างกัน จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้คนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยกับราคาที่ต้องจ่ายในการซื้อฟอนต์มากน้อยแค่ไหน

ใช้ : อย่างที่บอกว่าสิ่งที่เราผลักดันมาโดยตลอดคือการบอกว่า “ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์” นะ เรื่องของการตั้งราคาที่ 500 บาท นัยยะของมันคือการทำให้ง่ายที่สุด เราไม่ได้แบ่งเรตราคา จำกัดการใช้งานแบบเรตราคาที่องค์กรใหญ่ต้องจ่ายเยอะ องค์กรเล็กจ่ายน้อยได้

ผิง : การเข้าถึงง่ายจะทำให้ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ต้องมาคิดว่าการเสียเงินครั้งหนึ่งจะใช้แบบนั้นได้มั้ย แบบนี้ได้มั้ย ถ้าคุณเสียเงิน คุณใช้ได้เลยในนามของคุณ ไม่จำกัดเลย เพียงแค่ห้ามขายต่อ ห้ามแจกจ่าย ห้ามอ้างสิทธิ์ว่าเป็นของคุณเอง เงื่อนไขมีเท่านี้ ที่เหลือแล้วแต่คุณเลย องค์กรจะเล็กจะใหญ่ใช้ได้เหมือนกันหมด เพื่อให้คนได้เข้ามาในวงของการทำในสิ่งที่ถูกต้องแบบง่ายๆ ไม่สร้างกำแพงให้เขาจากเงื่อนไขการใช้งานอันยาวเหยียด เมื่อเราพาเขาเข้ามาในวงจรการเรียนรู้เรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์ เขาจะต่อยอดการศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง

มองวงการคนทำฟอนต์ยุคนี้ยังไงบ้าง

ใช้ : ด้วยเทคโนโลยีที่คนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น คนสามารถซื้อ iPad มาเขียนฟอนต์เองได้เลย ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูป 10 นาทีเราอาจจะสร้างฟอนต์ได้แล้ว 1 ตัว

ผิง : แค่เขียนตัวอักษรลงช่องที่แอปพลิเคชันทำไว้ให้ ก็แปลงไฟล์ออกมาเป็นฟอนต์ได้เลย ซึ่งเราว่ามันเร็วเกินไปจนผู้สร้างสรรค์ไม่ทันได้กลั่นกรองแนวคิดในการออกแบบงานชิ้นหนึ่งออกมา เพราะการทำฟอนต์ได้กับการทำฟอนต์เป็นมันต่างกัน

ใช้ : มันเหมือนมีกำแพงอยู่กำแพงหนึ่งซึ่งสูงด้วย ระหว่างการทำฟอนต์ได้กับการทำฟอนต์เป็น การทำฟอนต์ได้ คือแค่เขียนได้ครบทุกตัวอักษรก็เสร็จแล้ว แต่การทำฟอนต์เป็นมันคือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันและเราต้องมาพิจารณาประกอบด้วย อย่างการที่เราเขียนลงบล็อกตัวอักษรในโปรแกรมสำเร็จรูป การแสดงผลอาจจะผิดพลาดได้ คำสั่งที่โปรแกรมมีอยู่อาจไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ถูกต้องสำหรับฟอนต์ภาษาไทย ซึ่งหากเขาต้องการทำฟอนต์ให้เป็น หรือทำเพื่อขายได้ เขาต้องศึกษาในส่วนนี้ อย่างน้อยตำแหน่งสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องก่อนในการใช้งานทุกๆ โปรแกรม ทุกๆ ระบบปฏิบัติการ

ผิง : บางครั้งฟอนต์เหล่านี้อาจจะใช้งานได้แค่บางโปรแกรม บางโปรแกรมก็ใช้ไม่ได้ แต่สำหรับเราเอง ฟอนต์ของเราทุกฟอนต์ต้องผ่านการคิด และมีเอกลักษณ์มากพอที่จะทำให้คนจดจำได้ว่าอันนี้คือฟอนต์ตระกูล FC

แล้วหากพูดถึงเอกลักษณ์ของฟอนต์ตระกูล FC มันคืออะไร

ผิง : เป็นฟอนต์ที่ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ มีความหลากหลายอยู่ในการออกแบบ ไม่ว่าจะฟอนต์ทางการ ฟอนต์ลายมือ ฟอนต์อนุรักษ์ ฟอนต์ลายมือรูปแบบสมัยก่อน หรืออะไรก็ตาม เราสามารถยืดหยุ่นและทำงานได้หลากหลายรูปแบบ

ใช้ : พอเราทำฟอนต์ได้หลายรูปแบบ ไม่จำกัดแนวทางแบบนี้ เราจะสนุกมากเวลาได้โจทย์ที่ท้าทาย งานในแบบที่เราไม่เคยทำ

ผิง : เราเคยได้งานออกแบบฟอนต์ลายมือของบุคคลสำคัญ ฟอนต์สไตล์โบราณของร้านกาแฟเก่าแก่ ฟอนต์ประจำร้านเบเกอรี่ยุคใหม่ หรือฟอนต์ที่ใช้ในเอกสารราชการ ฟอนต์อาลักษณ์ เราทำได้หมด เราคิดว่าทุกงานมันมีความสนุกเวลาเราได้ทำอะไรที่มันไม่เหมือนเดิม

จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งของ Fontcraft คือในขณะที่งานรูปแบบอื่นถูก Disrupt กันหมดในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่ Fontcraft เริ่มต้นจากการทำงานที่บ้านมาอยู่แล้ว พอมาเจอสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ เราถูกผลกระทบอะไรเข้ามาบ้าง

ผิง : สถานการณ์ตอนนั้นทำให้ตื่นตัวอยู่เหมือนกัน ใครจะไปคิดว่าอยู่ๆ จะมีโรคระบาด ทุกอย่างหยุดชะงัก บินออกต่างประเทศไม่ได้ มันไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย ตอนนั้นสิ่งที่เราคิดคือทุกอย่างหยุดนิ่ง บริษัทหยุดทำงาน ทุกคน Lockdown กันหมด เราก็มีความกลัวในใจเหมือนกันว่าสถานการณ์ต่อไปจะเป็นยังไง เราคิดว่าสถานการณ์สังคมตอนนั้นคาดเดาไม่ได้ ไม่รู้จะเกิดอะไรต่อไป เรามาหาอะไรทำที่ทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยเราทำดีที่สุดแล้วในสถานการณ์ข้างหน้าที่อาจจะแย่ลง เลยเป็นช่วงที่เราตั้งหน้าตั้งตาทำงาน

ด้วยความที่ได้อยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปทำธุระข้างนอก ไม่ต้องติดต่อลูกค้าหรือรับบรีฟอะไร อยู่แค่ที่บ้าน เวลาที่เสียไปจากการออกไปข้างนอกก็ได้กลับมามีเวลาเพิ่มมากขึ้น ปกติแล้วเรามักจะเก็บไอเดียรูปแบบฟอนต์ไว้ มีหลายสไตล์ที่อยากทำ แต่ติดที่เวลาไม่เอื้ออำนวย การตกผลึกความคิดจนเอาออกมาทำเป็นฟอนต์ได้มันใช้เวลาประมาณหนึ่ง พอได้อยู่บ้านมากขึ้น ก็เอาเวลามานั่งคิด ถ่ายทอดไอเดียในหัวออกมา แล้วก็ลงมือทำ ช่วงนั้นจะเห็นว่าเราปล่อยฟอนต์ออกมาถี่ เหมือนเราต้องการเอาชนะความกลัวต่อสถานการณ์ ด้วยการทำในสิ่งที่เราคิดว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว ต่อให้สถานการณ์ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่ฉันจะไม่เสียใจเพราะฉันได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว

(ฟอนต์ที่ปล่อยในช่วงนั้นได้แก่ FC Home, FC Muffin, FC Savespace, FC Galaxy, FC Motorway และ FC XXXL ที่ปล่อยออกมาในช่วงเดือนปลายเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 หรือในระยะเวลาเพียง 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้น – ผู้เขียน)

ชอบฟอนต์ตัวไหนของตัวเองมากที่สุด

ใช้ : เราชอบ Concept ของตัวฟอนต์ FC Subject เพราะเป็นฟอนต์ที่แตกยอดออกมาหลายตัว ทั้งตัวปกติอย่าง FC Subject, FC Subject Round ที่เป็นตัวมน, FC Subject Condensed ที่เป็นตัวแคบ แล้วก็ตัว FC Paragraph ที่เป็นฟอนต์เนื้อความที่ออกแบบให้สอดรับกับตัว FC Subject ทั้ง 4 ตัวนี้เกิดขึ้นภายใต้ Concept ที่คิดขึ้นไว้แต่แรกว่าเราอยากทำฟอนต์ 4 รูปแบบ ตัวปกติ ตัวมน ตัวแคบ และตัวเนื้อความ ที่ทั้ง 4 ฟอนต์จะต้องสนับสนุนและสอดรับกันและกันได้ เป็นฟอนต์ที่เราวางแผนการทำงานไว้ชัดเจนมาก เป็นตัวจักรวาลฟอนต์ FC ที่ชอบมาก

ผิง : เราชอบอยู่ 2 ฟอนต์ ฟอนต์แรกคือการชอบเชิงสัญลักษณ์ คือ FC Knomphing เพราะเราเอาชื่อตัวเองมาตั้งฟอนต์ มันเหมือนเป็นจุด Checkpoint เตือนใจว่าเราจะทำฟอนต์ออกมาในตลาดจริงๆ แล้วนะ ส่วนอีกฟอนต์เราชอบเพราะเราภูมใจจริงๆ คือ FC Muffin เพราะน่าจะเป็น Masterpiece ชิ้นหนึ่งเลยที่มียอดดาวน์โหลด 1,000,000 ดาวน์โหลดภายในเวลา 5 เดือน มีคนนำไปใช้มากมายเลย

มองกระแสฟอนต์ลายมือในช่วงนี้ยังไงบ้าง

ผิง : ช่วงนี้กระแสค่อนข้างบูมมาก ด้วยความที่ตลาดเข้ามาสู่โลกดิจิทัลจากแรงเร่งของ COVID-19 ทุกอย่างย้าย Platform เข้าสู่ดิจิทัลหมดเลย เวลาแบรนด์ต่างๆ เข้ามาสู่ดิจิทัล เขาต้องการให้ลูกค้าเอื้อมมือมาหาเขา วิธีที่เขาใช้คือการทำให้ตัวเองดูเป็นมิตร ฟอนต์ลายมือจึงมีบทบาทในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้ใช้งานให้รู้สึกถึงความเข้าถึงง่าย ดึงสายตาลูกค้าได้ ทั้งแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็กต่างใช้เรื่องนี้เป็นสื่อกลางในการทำความรู้จัก และดึงดูดลูกค้าเข้ามา เอกลักษณ์ของฟอนต์ลายมือคือความสบายๆ ดูง่ายๆ เพจต่างๆ ก็ชอบใช้ฟอนต์สไตล์ลายมือนี้เหมือนกัน

ใช้ : อีกสิ่งที่สำคัญคือบรรดา Influencer ในโลกออนไลน์หลายๆ เพจมักจะมีลายมือเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเขาก็จะมาว่าจ้างเราในการพัฒนาลายมือตรงนั้นให้กลายเป็นฟอนต์ เพราะบางครั้งการเขียนซ้ำๆ ในชิ้นงานที่มีปริมาณมากขึ้นมันจะสร้างความลำบาก จุดนี้น่าจะเป็นอีกจุดที่เปลี่ยน Touchpoint ให้ผู้ชมเข้าใกล้เราได้มากขึ้นจากการใช้ฟอนต์ลายมือ

ความสนุกของการทำงานออกแบบฟอนต์คืออะไร

ผิง : การได้ลองทำฟอนต์สไตล์ใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วฟอนต์นั้นมันถูกให้การยอมรับจากผู้ใช้งาน การเห็นฟอนต์เราแพร่หลายไปได้ไกลเท่าไหร่ เราจะคิดเสมอว่าคราวหน้าเราจะทำได้เจ๋งเท่านั้นมั้ยนะ เราจะพางานตัวเองไปในจุดที่ไกลกว่านี้ได้มากแค่ไหน

ใช้ : มันคือความท้าทายอย่างหนึ่งนะ แต่เราก็ไม่ได้ยึดติดกับอดีต ว่าเมื่อก่อนเราเคยทำได้ดี วันไหนมีคน Comment งานเรา มันยังคงเป็นคำแนะนำที่ดีกับเราเสมอ เพราะเราไม่ใช่คนเก่งกาจมาจากไหน เรื่องการออกแบบตัวอักษรมันเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด ยิ่งทำไปเรื่อยๆ จะยิ่งรู้สึกว่ามีความยากอยู่ในนั้น ในเรื่องของรายละเอียด หรือ Detail ที่ลึกลับซับซ้อนกว่าคนทั่วไปจะมองเห็นมัน

เคยเบื่องานนี้บ้างไหม

ใช้ : ไม่เคยเบื่อเลย ตั้งแต่ทำมาเรายังสนุกตลอดเวลา ถ้ามีเวลามากกว่านี้ก็อยากจะทำมันอยู่เรื่อยๆ

ผิง : เวลาของเราส่วนหนึ่งก็ต้องใช้กับการดูแลครอบครัว เรามีลูก ก็ต้องแบ่งเวลาชีวิตส่วนใหญ่ให้ลูกกับครอบครัวอีกทีหนึ่ง แต่ไอเดียกับสิ่งที่อยากทำยังคงเยอะอยู่เสมอ การจัดสรรเวลาให้เราสามารถทำได้ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่ยาก เราเหลือเวลาในการคิดงานของเราไม่มากนัก ทำให้ทุกเวลาที่เรามีให้มัน เราไม่เคยเบื่อมันเลย

Fontcraft หล่อเลี้ยงอะไรในชีวิตให้กับเราทั้งคู่บ้าง

ผิง : จริงๆ เราคิดว่าการทำงานทุกงานมันทำให้คนมีคุณค่า พอเราทำงานออกมา มีคนชอบ มีคนชื่นชม เราก็จะรู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า เราคิดว่า Fontcraft มันให้สิ่งนี้กับเรา มันทำให้เรารู้ว่าเรามีคุณค่ายังไงกับคนอื่นๆ 

ใช้ : Fontcraft มันให้คุณค่าทั้งต่อตัวเราเอง และสังคม เราพยายามผลักดันสังคมมาตลอดด้วยคำคำเดียว คือคำว่า “ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์” ผู้ใช้ต้องศึกษาเรื่องนี้ก่อนการใช้งาน ซึ่งตอนนี้เรื่องนี้ก็งอกเงยอยู่ในคนทุกกลุ่มในสังคมไทย ทั้งระดับผู้ใช้งานทั่วไป หรือแบรนด์ระดับบน ต่างมีความเข้าใจในเรื่องนี้กันมากขึ้น เป็นการสร้างคุณค่ากับสังคมรูปแบบหนึ่งในแนวทางของเรา

ปัญหาของฟอนต์ในไทยตอนนี้ในสายตาของ Fontcraft มีอะไรบ้าง

ใช้ : เรื่องของมาตรฐานของฟอนต์ภาษาไทย ที่ต้องมีการจัดการระบบการแสดงผลสระ วรรณยุกต์ ที่ต้องมีเรื่องการใช้ Script เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การจะหามาตรฐานที่สามารถใช้ฟอนต์ที่เสร็จแล้วกับทุกโปรแกรมได้อย่างง่ายๆ ยังเป็นเรื่องที่ฟอนต์ไทยสามารถทำได้มากกว่านี้ รวมถึงบรรดา Software ที่ใช้ในการออกแบบฟอนต์ บาง Software มันยังไม่ Support บางชุดคำสั่ง ซึ่งอาจจะหมายถึงการยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้งานในภาษาไทยมากขนาดนั้น

อย่างในหลายๆ ครั้งเวลาเราเห็นผลงานบนโลกออนไลน์ แล้วเห็นว่าตำแหน่งของสระ หรือวรรณยุกต์มันผิดพลาด ทั้งๆ ที่เราตั้งใจออกแบบ เขียนคำสั่งให้มันอย่างดี แต่ Software ปลายทางมันไม่รองรับ หรือผู้ใช้งานไม่ได้ตั้งค่าใน Software ที่ใช้งานไว้อีกครั้งหนึ่งก่อนจะใช้ฟอนต์ เลยทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์แบบในตัวผลงานของเรา

ผิง : ซึ่งจริงๆ ปัญหาสระลอย-สระจม มันตั้งค่าได้ใน Software แต่บางครั้งผู้ใช้งานอาจจะไม่รู้วิธีการตั้งค่า หรือบางครั้งนักออกแบบที่ทำงานก็ไม่ทราบว่าตัวอักษรมันอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่าสระลอย-สระจม เพราะมันยังอยู่ในตำแหน่งที่อ่านได้ แต่สำหรับนักออกแบบตัวอักษรอย่างเราจะมองเห็นมันเสมอๆ

ใช้ : อย่างโปรแกรมคลาสสิกเลยคือ Microsoft Office ที่มักจะมีพื้นที่สีขาวมาปิดด้านบนของวรรณยุกต์ที่อยู่สูงเกินระยะของมัน แต่ในโปรแกรมอื่นไม่เป็น พอผู้ใช้งานเห็นแล้วก็จะรู้สึกว่ามันแหว่ง ทั้งที่จริงๆ มันอยู่ตรงนั้นแหละ เพียงแต่มันถูกพื้นที่สีขาวปิดไว้ เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสักทีมาหลายปีมากๆ ซึ่งเราอาจจะต้องมีฟอนต์อีกเวอร์ชันสำหรับโปรแกรมนี้โดยเฉพาะเลย เราะผู้ใช้งานไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวฟอนต์ ผู้ใช้งานสนใจแต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการแสดงผลตรงนั้นเท่านั้น เราต้องหาวิธีการที่ตอบโจทย์การใช้งานของเขาให้ได้

ทุกวันนี้คนยังเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ฟอนต์บ้าง

ใช้ : ข้อแรกเลย “ฟอนต์ที่สามารถดาวน์โหลดได้ สามารถใช้ได้เลย ไม่มีข้อจำกัด”

ผิง : คนมักเข้าใจผิดว่า “ดาวน์โหลดได้ก็ใช้ได้สิ ก็กดดาวน์โหลดมาแล้ว ทำไมต้องมีมาลิขสิทธิ์อะไรแบบนั้นล่ะ”

ใช้ : เรื่องที่สองคือ “ฟอนต์ลายมืออ้างความเป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะภาษาไทยเป็นของทุกคน” เป็นความเข้าใจผิด อันนี้ต้องแยกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกคือภาษาไทยทุกคนสามารถใช้งานได้ แต่ฟอนต์มันเป็นเรื่องของชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์ ซึ่งมันมีลิขสิทธิ์คุ้มครองตัวเองอยู่แล้ว

ก็คือถ้าพ่อขุนรามฯ เอาลายมือตัวเองไปสร้างเป็นฟอนต์ ลิขสิทธิ์ฟอนต์ก็ขึ้นตรงกับพ่อขุนรามฯ

ใช้: ใช่ แต่เรายังสามารถเขียน ก.ไก่ ได้เหมือนเดิม

ผิง : คนน่าจะต้องเข้าใจมากขึ้นว่าภาษามันเป็นของทุกคน แต่งานสร้างสรรค์ที่เกิดจากภาษา มันมีเจ้าของของมัน

จากสองเส้นทางในชีวิตหลังเรียนจบ เราเลือกเส้นทางมาทางที่ไม่ได้เรียนมา แต่เราชอบมัน จนถึงตอนนี้เราตอบโจทย์ความคาดหวังของครอบครัวที่มีต่อหน้าที่การงานได้หรือยัง

ผิง : จริงๆ แล้วเราสองคนเป็นเด็กเรียน ครอบครัวก็จะคาดหวังให้เราเดินตามเส้นทางที่เรียน พอเราฉีกออกมา ขนาดตัวเราเองยังตอบไม่ได้เลยว่าอนาคตของเราจะเป็นยังไงบนเส้นทางนี้ ครอบครัวก็จะเป็นห่วงว่าเราจะอยู่ได้มั้ยนะ

โชคดีอย่างหนึ่งคือครอบครัวเชื่อมั่นในตัวเรา ให้เราได้ลอง ครอบครัวเขาก็จะมองอยู่ไกลๆ แล้วถามเราว่า “ได้มั้ยลูก” “ไหวมั้ยลูก” เขาไม่เคยพูดเลยว่าให้เราเลือกเส้นทางตามที่เรียนมา ทำไปเลย และเราจะเห็นเลยว่าความเป็นห่วงของเขาลดลงไป เมื่อคำถามเหล่านี้หายไป เห็นว่าเราไปต่อได้

ใช้ : ตอนนี้ครอบครัวของพี่เขาก็ค่อยๆ เข้าใจแล้วว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

ผิง : แต่ถ้าถามแม่พี่ตอนนี้เขาก็ยังตอบไม่ได้ว่าพี่ทำอะไรอยู่ (หัวเราะ) เขาไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เราทำ แต่สิ่งที่เขาให้เราคือเขาเชื่อมั่นในตัวเรา เชื่อมั่นในเส้นทางที่เราเดินมาแล้ว เราคิดว่าสิ่งนี้สำคัญ การที่เราได้รับการเชื่อใจจากคนที่เรารักเวลาเราตั้งใจทำอะไรสักอย่าง มันน่าจะเป็นแรงฮึดที่พาเราไปสู่ความสำเร็จได้

มองอนาคตของ Fontcraft ไว้ยังไงบ้าง

ผิง : อยากให้ฟอนต์ของเราถูกเผยแพร่ออกไปไกลที่สุด มีผู้ใช้งานเข้าถึงตัวฟอนต์มากที่สุด คนเข้าใจเรื่องของลิขสิทธิ์ เข้าใจว่าทำให้ถูกต้องได้ยังไง วงการนี้จะได้ไปได้ไกลที่สุดร่วมกัน

ใช้ : ในช่วงปีหลังๆ มาเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนที่เข้ามาสู่วงการนี้มากขึ้น คนเริ่มแชร์ผลงานฟอนต์ของตัวเองมากขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเราเองก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเองเหมือนกัน เราพยายามทำผลงานของเราให้ดีที่สุด ทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

อยากฝากอะไรถึงผู้สร้างสรรค์ฟอนต์ในยุคนี้บ้าง

ผิง : มา Run วงการฟอนต์ด้วยกัน (หัวเราะ) การทำงานฟอนต์อย่างที่บอกว่าทำเป็นกับทำได้มันต่างกัน ถ้าอยากเข้ามาสู่ตลาดนี้มันมีโอกาสให้คนที่เข้ามาใหม่เสมอ การจะอยู่ในวงการนี้ให้ได้นานๆ ขึ้นอยู่กับผลงานของเรา และการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แล้วเราจะไปได้ไกล

ใช้ : คำตอบคล้ายๆ กัน คือการให้ความสำคัญกับตัวผลงาน เพราะผลงานที่ดีจะสร้างคุณค่าให้กับเราเอง และสร้างคุณค่าให้กับสังคมด้วย

แล้วผู้ใช้งานล่ะ อยากฝากอะไรถึงพวกเขาบ้าง

ใช้ : อย่างเดียวเลย “ฟอนต์ทุกตัวมีลิขสิทธิ์” (หัวเราะ) ศึกษาเงื่อนไขการใช้งานก่อนใช้ฟอนต์ทุกครั้ง

ผิง : ง่ายๆ เลย ถ้าเราใช้ผลงานใคร Pay back กลับไปยังผู้สร้างสรรค์ด้วยการเคารพในลิขสิทธิ์ฟอนต์ ใช้ฟรีก็ใช้ได้อย่างหายห่วง ถ้ามีเงื่อนไขก็ทำตามเงื่อนไข ถ้าทำตามไม่ได้ก็เปลี่ยนไปใช้ฟอนต์อื่นที่มีให้เลือกมากมาย อย่าละเมิดลิขสิทธิ์เลยเพราะมันบั่นทอนคนทำงาน อีกอย่างคือลิขสิทธิ์มันไม่ใช่แค่เรื่องฟอนต์อย่างเดียว ในผลงานศิลปะทุกชิ้น แม้กระทั่งรูปใน Google ก็มีลิขสิทธิ์ ถ้าเราให้ความสำคัญกับมัน มันจะทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมีแรงสร้างสรรค์ต่อไปได้ เราก็จะมีงานดีๆ ให้ใช้กันต่อไป

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า