fbpx

“เฟมินิสต์” สู่ “เฟมทวิต” นิยามใหม่ในโลกทวิตเตอร์ของแนวคิดสตรีนิยม

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


เป็นระยะเวลากว่า 150 ปี นับจากวันแรกที่โลกได้รู้จักคำว่า ‘เฟมินิสม์’ หรือ ‘แนวคิดสตรีนิยม’ ซึ่งได้รับการบัญญัติอย่างเป็นทางการไว้โดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนาม ฟร็องซัวส์ มารีย์ ชาร์ลส์ ฟูรีแยร์ ในปี ค.ศ. 1837 พร้อมกับการกล่าวว่า

“การพัฒนาของสังคม และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นควบคู่กันกับการพัฒนาด้านเสรีภาพของผู้หญิง และความเสื่อมสภาพทางสังคมเกิดขึ้นจากเสรีภาพของผู้หญิงที่ลดลง”

แม้เป็นเพียงคำวิพากษ์เล็กๆ แต่กลับนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิอันยิ่งใหญ่ของสตรีมากมายในประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฎในงานศึกษาเรื่อง ‘waves of feminism’ โดยศาสตราจารย์มาร์ธ่า แรมป์ตัน จากมหาวิทยาลัยแปซิฟิก (2551) กล่าวถึงลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของสตรีเพศ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันเมื่อได้ทำการทวบทวนศึกษาเรื่อง แนวคิดสตรีนิยมและประสบการณ์ กับอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ของ โสภิดา วีรกุลเทวัญ (2563) พบว่าตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึง 2550 นั้น วงการสตรีนิยมและสตรีศึกษาในประเทศไทยเอง ก็มีความตื่นตัวและสนใจในหัวข้อดังกล่าว ตั้งแต่แวดวงการศึกษาที่มีการจัดสัมนา เสวนาบ่อยครั้ง นอกรั้วสถาบันก็มีงานวิจัยและงานศึกษารองรับมากมาย เรียกว่า จนถึงปัจจุบัน เกือบทุกวงการในประเทศไทยก็ล้วนมีคนมากมายลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดดังกล่าวอย่างแข็งขัน

แต่ปัจจุบัน แนวคิดสตรีนิยม (feminism) และกลุ่มผู้นิยมแนวคิดนี้ที่เรียกว่า “เฟมินิสต์” (feminist) กลับกำลังเป็นประเด็นถกเถียงอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของไทย โดยได้เกิดคำเรียกเสียดสีกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม ซึ่งใช้งานทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เพศชาย และใช้ถ้อยคำรุนแรง ปราศจากความเป็นจริงว่า ‘ เฟมทวิต’

จากบทความวิเคราะห์มุมมองว่าด้วยกระแสเฟมินิสต์กับปฏิกิริยาโต้กลับของกลุ่มต่อต้าน ของ Feminista (2563) ระบุที่มาที่ไปของคำดังกล่าวว่า ‘เฟมทวิต’ เกิดจากผู้ใช้งานเฟสบุ๊คในกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ชายที่ไม่พอใจกับการวิพากษ์วิจารณ์และออกมาทักท้วงกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยในช่วงแรกมีความหมายแง่ลบ ในแง่ของการเรียกผู้หญิง ซึ่งใช้พื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์ แสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงกับเรื่องล้อเลียนทางเพศต่างๆ ตั้งแต่ มองหน้าอก คุกคามทางเพศ อาการใคร่เด็ก ความรุนแรงในครอบครัว มุกตลกข่มขืน ไปจนถึงพฤติกรรมที่พยายามกดผู้ชายให้อยู่ต่ำกว่า เพราะการกระทำเหล่านี้ ทำให้กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนหนึ่ง มองว่าเฟมทวิตเป็นกลุ่มคนแบบ SJW (Social Justice Warrior) หรือ นักรบเพื่อความยุติธรรมทางสังคม มองว่าเฟมทวิตเป็นกลุ่มเฟมินิสต์ไม่แท้ เป็นแค่เฟมินิสต์ที่เอาแต่ “ฉอด” ในทวิตเตอร์ไปวันๆ แต่ไม่ได้ลงมือทำอะไร ไม่เหมือน “เฟมินิสต์” ตัวจริงที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างนอกโลกออนไลน์ ซึ่งแท้จริงแล้วหากเราลองมองลึกไปถึงจุดสำคัญที่เฟมทวิตวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม หรือเรียกร้อง จะพบว่าทั้งเฟมินิสต์และเฟมทวิตนั้น โดยแนวคิด บทบาท และความเคลื่อนไหว ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปที่งานศึกษา แนวคิดสตรีนิยมและประสบการณ์ กับอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ของโสภิดา วีรกุลเทวัญ (2563) มีส่วนหนึ่งที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างเพศชายกับหญิงในเชิงประสบการณ์แบบที่ไม่สามารถเทียบกันได้  โดยเรียกสิ่งนี้ว่า เพศวิถี (sexuality) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและความสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งกับคนรอบข้างและบริบททางสังคม เช่น ความรัก ความปรารถนา อารมณ์ ความรู้สึก เพศสัมพันธ์ การมีความสุขทางเพศ การตั้งท้อง การแท้งลูก ไปจนถึงการเลี้ยงดูลูกและโรคภัยที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ซึ่งประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยม มักกล่าวถึงประสบการณ์การถูกกดขี่เหล่านี้ ในความสัมพันธ์ทางสังคมของความเป็นลูกสาว ความเป็นแม่ ความเป็นเมีย เป็นต้น นอกจากนี้ผู้หญิงแต่ละคนมีประสบการณ์ในชีวิตที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม ต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ชนชั้น อายุ รวมทั้งต่างกันทางสรีระร่างกาย

งานศึกษาชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันเหตุผลว่า การที่กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นผู้ชาย ไม่มีความเข้าใจถึงจุดประสงค์ และความไม่พอใจของเหล่าเฟมทวิต ต่อมุกล้อเลียนเสียดสีทางเพศนั้น ไม่เพียงเพราะมีเพศวิถีที่แตกต่างกัน แต่ยังเป็นเพราะความแตกต่างทางเพศสภาพและสภาวะการถูกกดขี่ทางเพศในสังคมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเพศชายไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าเฟมทวิตจะถูกตั้งเป็นคำนิยามเพื่อใช้ในแง่ลบ แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสต์ ได้ให้นิยามความหมายนี้ใหม่ โดยเรียกตัวเองว่าเฟมทวิต และยืนกรานในการใช้คำนี้ ไม่เพียงเพราะเคารพในอุดมการณ์และแนวคิดตั้งต้น ซึ่งไม่แตกต่างจากเฟมินิสต์ที่ขับเคลื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ยังถือเป็นการแสดงพลังและความภาคภูมิใจ ต่อการถูกลดทอนด้อยค่าจากผู้มีความเห็นต่างที่ไม่เข้าใจถึงแก่นของการขับเคลื่อนพลังดังกล่าวอีกด้วย

สุดท้ายนี้ หากพิจารณากลับไปถึงจุดตั้งต้นของคำว่าเฟมินิสต์ ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งกล่าวว่า “เฟมินิสต์” (feminist) คือ “ผู้สนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคของสตรี” เพียงนิยามหลักนี้ จะทำให้เราได้คำตอบอย่างชัดเจนว่า แท้จริง “เฟมทวิต” ซึ่งขับเคลื่อนแนวคิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และวิพากษ์เรื่องทางเพศอย่างเปิดเผยนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย หรือทัศนคติที่แบ่งแยกจาก “เฟมินิสต์” แท้ ซึ่งขับเคลื่อนอยู่ในโลกแห่งความจริงเลยแม้แต่น้อย

เพราะท้ายที่สุด ทั้งกลุ่มเฟมทวิตและเฟมินิสต์ เพียงเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีในหลายๆ สิ่ง ซึ่งทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อความเท่าเทียมในสังคม และผลพวงของการเรียกร้องเหล่านั้น กำลังช่วยยกระดับความคิดและความเข้าใจของผู้คนให้มากขึ้น ไม่เพียงแต่เฟมินิสต์ แต่ยังรวมไปถึงคนทุกเพศทุกวัย ดังจะปรากฏในอีเวนต์และสื่อต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น นิทรรศกีซึ่งยกความเท่าเทียมในบริบทของเพศหญิงและค่าใช้จ่ายซึ่งเพศชายไม่ต้องเสีย ไปจนถึง A NOS AMOURS ภาพยนตร์สั้นว่าด้วยความรักและความเท่าเทียมของเพศหญิง แม้นี่เป็นจุดเล็กๆ ที่เกิดจากการขับเคลื่อนของแนวคิดสตรีนิยม แต่ท้ายที่สุด แนวคิดนี้จะถูกปลูกฝัง และกลายเป็นการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเท่าเทียม ตามหลักที่พึงได้รับของประชาชนในสังคม

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า