fbpx

Feel Trip แพลตฟอร์มการศึกษาและพื้นที่เรียนรู้ใหม่ของตุ้ม-อินทิรา วิทยสมบูรณ์

‘ปัญหาการศึกษาไทย’ ดูเหมือนจะอยู่คู่สังคมเรามาแสนนาน รูปแบบของปัญหาก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่ทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กก็ดี ปัญหาชุดนักเรียนก็ดี ปัญหาข้อสอบก็ดี และปัญหาเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดองค์กร หรือคณะทำงานต่างๆ มากมายที่ต้องการจะเปลี่ยนการศึกษาไทยให้ดีขึ้น

เช่นเดียวกับตุ้ม-อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ซึ่งทำงานขับเคลื่อนในลู่ของการศึกษามาอย่างยาวนาน และต้องการที่จะเห็นการศึกษาไทยพัฒนาไปในทิศทางที่หลากหลายมากกว่าเดิม 

‘พี่เรียกตัวเองว่าเป็นคนทำงานสังคมคนหนึ่ง ที่หลักๆ ก็ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ การศึกษาและการเรียนรู้ค่ะ’

นิยามสั้นๆ เมื่อผู้เขียนถามถึงว่าเธอเป็นใครและกำลังทำอะไรอยู่ และนอกจากงานด้านการศึกษาที่เธอที่เธอกำลังขับเคลื่อนอย่างมุ่งมานะและสุดพลัง รองเท้าอีกข้างที่เธอกำลังสวมอยู่คือการทำ Feel Trip แพลตฟอร์มออนไลน์ และกลุ่มคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ให้เข้าสมัยกับบริบทโลก

เมื่อการศึกษาและเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ห้องเรียน มาดูกันว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นอะไรได้บ้าง!

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

มาเริ่มทำงานด้านการศึกษาได้อย่างไร?

หากย้อนกลับไปพี่ก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในระบบการศึกษาในลู่ อยู่ในกรอบระเบียบเคร่งครัด มีชีวิตเป็นนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในขนบเรียบร้อย แต่พอเราออกมาทำงาน ก็ได้ค้นพบว่าจริงๆ มันมีโลกที่กว้างมากที่การศึกษาไม่เคยให้เรา เฉลี่ยคนเราอายุ 60 ปีก็ตาย แต่เราใช้ชีวิตอยู่ในระบบการศึกษามา 10-20 ปี เท่ากับว่าเราใช้ชีวิตไป 1 ใน 3 กับระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้พาเราทุกคนไปพบกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น บางครั้งการศึกษามันก็ทำร้ายเรา ทำร้ายเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่

พอเรามองแบบนี้ ก็คิดว่าจริงๆ แล้วปัญหาหลายเรื่องในสังคมไทยมันมีรากเหง้ามาจากการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง ปัญหาการเกษตร ปัญหาเศรษฐกิจ มันมีรากอยู่ที่ผู้คน แล้วผู้คนมาจากไหนล่ะ? ก็มาจากการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงสำคัญที่สุด พี่ก็เลยโดดมาทำงานเรื่องการศึกษา ด้วยความเชื่อว่าหากเราเปลี่ยนการศึกษาได้ เท่ากับว่าเราจะสร้างเด็กเยาวชนที่มีคุณภาพได้ และมันก็จะเปลี่ยนสังคมนี้ได้

ตอนกระโดดเข้ามาทำงานด้านการศึกษา คุณทำงานในมิติไหนเป็นเรื่องแรก

พี่มีโอกาสเข้าไปทำงานขับเคลื่อนในหลายเรื่อง แต่มีจังหวะหนึ่งที่มันสำคัญกับชีวิตพี่มากๆ คือ ตอนที่มีการทำเรื่อง ‘คัดค้านการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก’ เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2556-2557 ตอนนั้นมีการล่ารายชื่อผ่าน Change.org เขียนว่า ‘ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้กับชุมชน: คัดค้านกับยุบโรงเรียนขนาดเล็ก’ เราพยายามที่จะหาพื้นที่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จากการลงชื่อนั้นเราพบว่ากว่า 20,000 คนที่มาลงชื่อ ทุกคนต่างเห็นปัญหาการศึกษา และมันทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อมันมีรากบางอย่างที่ผู้คนก็เชื่อเหมือนกัน 

แล้ว ‘การเปลี่ยนการศึกษา’ ที่ว่ามีกระบวนการอย่างไร?

เราเชื่อว่าพลังของการเปลี่ยนต้องเริ่มที่หลังบ้าน และหลังบ้านที่สำคัญคือการทำให้มีพื้นที่บางอย่าง และพื้นที่นั้นมันต้องมีคุณภาพในเชิงข้อมูล ที่จะยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อและคิด มันจึงเกิดกระบวนการรวมภาคีต่างๆ มากมายเลยค่ะ อย่างเช่นเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก, เครือข่าย Home School หรือบ้านเรียน, เครือข่ายโรงเรียนเอกชน หรือเครือข่ายโรงเรียนสังกัดอบท. รวมถึงกลุ่มเด็กเยาวชน รวมๆ เราเรียกกันว่า ‘สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา’ และพี่เป็นผู้ประสานงาน เรายื่นข้อเสนอ หรือแนวทางในการเปลี่ยนการศึกษา โดยที่ภาคประชาชนหรือสังคมสามารถมาร่วมได้ ตอนนั้นจึงเกิดเป็นวงคุย วงแลกเปลี่ยน ทำข้อเสนอเชิงนโยบายกับรัฐหลายเรื่องมาก 

เราตั้งคำถามว่า ‘เราทำอะไรได้บ้าง’ จากคำถามนี้เราก็ค้นพบว่าโลกกำลังเปลี่ยน เราอยู่ในยุคที่ Social Disruption ทุกอย่างมัน Disrupt หมดเลย เมื่อผู้คนเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ และสามารถเข้าถึงความรู้ได้ในรูปแบบที่หลากหลาย และมันเป็นบริบทหนึ่งที่บอกเราว่า ‘การศึกษาแบบเดิมมันไม่ตอบโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว’ การศึกษาในห้องแบบที่เราเคยเรียนมาบอกให้คุณเรียนในห้องท่องจำทำตามครูบอก แต่ขณะที่โลกข้างนอกคุณสามารถทำอะไรก็ได้ คุณอยากสนใจเรื่องไหนก็ได้ เรียนรู้เรื่องอะไรก็ได้ แต่โรงเรียนไม่ได้พาเราไปพบกับสิ่งเหล่านั้น

พี่ก็เลยคิดว่าถ้าเรามีพื้นที่เล็กๆ แต่ไม่ใช่พื้นที่เชิงกายภาพนะ ไม่ถึงกับต้องมีเซ็ตติ้ง แค่มีความสัมพันธ์ของผู้คน มีกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กัน และพื้นที่นี้มันชวนผู้คนที่มีความคิดความเชื่อเหมือนกันเข้ามาทำบางอย่างด้วยกันได้ มันเลยมีการทำ Prototype แรกที่ชื่อว่า ‘Storyteller in Journey: นักเล่าเรื่องในที่อื่น’ เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว

ต้นแบบที่ศูนย์ และก้าวแรกของการเรียนรู้แบบใหม่

‘Storyteller in Journey: นักเล่าเรื่องในที่อื่น’ เกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายอะไร

คือเด็กมัธยมฯ คนหนึ่งมีเงินรายหัว 3,800 กว่าบาท แต่คุณไม่เคยได้ใช้เพราะระบบมันใช้ให้คุณ เช่น เวลาไปทัศนศึกษาของโรงเรียน เขาจะเป็นคนเลือกพื้นที่ให้เรา ไปเขาดิน เขาใหญ่  สวนสยาม และสัดส่วนกว่า 70% ของงบประมาณรายหัวนี้ มันกลายเป็นป้าย อิฐหินดินทรายและตึก แต่ Storyteller in Journey จะให้เงินก้อนนั้นกับคุณ และบอกมาเลยว่าคุณอยากไปที่ไหนและออกเดินทางซะ เราจะคืนอำนาจของการได้มีโอกาสเลือกให้คุณ และตอนนั้นมีผู้สมัครเข้ามามี 19 คน และใน 19 คนนั้นก็ทำให้เกิดโปรเจกต์การเรียนรู้ที่หลากหลายมากค่ะ บางคนสนใจเรื่องผี บางคนสนใจเรื่องการเป็นครูอาสา

ค้นพบอะไรจากการทำ Storyteller in Journey: นักเล่าเรื่องในที่อื่น

พบว่ามันสนุกดีนะ ถ้าเรามีพื้นที่ให้เด็กได้มีโอกาสเป็นเจ้าของโปรเจกต์ของตัวเอง และถ้าเกิดสิ่งนี้ในห้องเรียนล่ะ ถ้าวันนึงคุณครูบอกว่าห้องเรียนนี้กว้างพอที่คุณจะไปไหนก็ได้  และคุณมีสิทธิ์ที่จะใช้งบประมาณของคุณไปเรียนรู้ในที่ต่างๆ มันจะเกิดโปรเจกต์ ประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด คนที่ออกเดินทางและกลับมาเจอกัน มันจะมีตั้งแต่บทเรียนของปัญหา การจัดการ บางคนมีคราบน้ำตา บางคนได้ความสุขความผูกผันกลับมา พลังงานที่ทั้งสิบเก้า คนเก็บกลับมา มันสิ่งที่ตอบกับเราว่าสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นจริง และมันจะดีขนาดไหนถ้าห้องเรียนทำสิ่งนี้ให้กับเด็ก และมันจึงเป็นที่มา ที่เราเอาผู้คนทั้งหมดวนกลับมานั่งประชุมกัน ตั้งวงคุยกันสองวันสองคืนว่าเราจะไปต่อกับมันอย่างไร

ภาพจากทีมงาน Feel Trip
การมีวงคุย หรือการมีความสัมพันธ์ร่วมกันของผู้คนมันสำคัญอย่างไรต่อการทำงาน

พี่คิดว่าไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน พี่ไม่ได้เชื่อว่ามนุษย์มันปัจเจกซะจนอยู่คนเดียวตามลำพัง โตตายตามลำพัง มนุษย์มันมีสังคมแต่ไม่ใช่สัตว์สังคมนะ เรามีความสัมพันธ์ แต่ความสัมพันธ์มันไม่ได้ถูกสร้างโดยกระบวนการของผู้เรียนมากนัก เพราะเราอยู่กับการแข่งขันตลอดเวลา และมันไม่มีพื้นที่ปลอดภัยพอ ความสัมพันธ์ที่ดีคือความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยพอ และทำให้เสียงทุกเสียงได้พูด กระบวนการพวกนี้มันคือองค์ประกอบพื้นฐานในการทำงานทุกงานเลย รวมถึงชีวิตของเราด้วย ที่เราพูดถึงเรื่องความเป็นชุมชน แท้จริงแล้วมันคือความสัมพันธ์ผู้คน ความสัมพันธ์ของคนที่เติบโตมาด้วยกัน เรียนรู้และเที่ยวเล่นมาด้วยกัน มีความผูกผันทุกข์เศร้ามาด้วยกัน และวงจรความสัมพันธ์พวกนี้มันทำให้เกิดการเติบโต เวลาเรามีความสัมพันธ์มันจะเกิดวงแลกเปลี่ยนพูดคุย หรือสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้ และวงจรแบบนี้มันไม่ได้ทำงานเพื่องาน แต่มันคือชีวิต ความสัมพันธ์นี้แหละมันหล่อเลี้ยงมนุษย์ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ 

เมื่อความสัมพันธ์ในพื้นที่นั้นแน่นแฟ้น อิสรภาพในการเรียนรู้จึงเกิดขึ้น

นิยามของ Feel Trip คืออะไร

มันเป็นชุมชนเล็กๆ เป็นพื้นที่ที่มีนัยยะในทางพื้นที่สัมพันธ์ พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่พูดคุย และมอบความเชื่อว่าเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มอบความไว้วางใจ และให้อิสระคุณในการเลือก เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่เล่น เล่นไปเล่นมาจนขึ้นปีที่ 5 แล้ว (หัวเราะ)

‘ความรู้สึก’ และ ‘การเดินทาง’ มันเชื่อมโยงกันอย่างไร

พี่เรียน Anthropology และโบราณคดี มันเคยชินกับการลงภาคสนามที่เรียกว่า Field Work หรือ Field Trip การลงภาคสนามมันคือ ‘สนาม’ แต่เวลาลงไปเรียนรู้เรามี ‘Feel’ เปล่าวะ มันต้องมีความรู้สึก และความรู้สึกเหล่านั้นคือ ความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่ห้องเรียนขาดมากๆ คือมันไม่ได้สนใจความรู้สึกของเราเท่ากับความรู้ของเรา ไม่ถามว่าเรารู้สึกอย่างไรกับความรู้นั้นๆ ซึ่งสิ่งที่เราให้ค่าจะไม่ใช่แบบนั้น เราให้ค่ากับผู้คน และผู้คนคือความรู้สึก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ พื้นที่ตรงนี้มันต้องเต็มไปด้วยความรู้สึกของผู้คน และความเป็นมนุษย์ของคุณจริงๆ เราเจอพื้นที่ เจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน แต่ความรู้สึกของเราไม่มีทางเหมือนกันเลย เราจึงใช้คำว่า ‘Feel Trip’

คุณเอานิยามและวิธีคิดเหล่านั้นมาทำอย่างไรต่อ?

เราเอามาเป็นกระดูกสันหลังของเรา เราประกาศตัวหน้าเพจเลยว่าสิ่งที่เราเป็นคืออะไร เราเชื่อว่าคนทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง และคุณจะเป็นสิ่งนี้ได้ก็ต่อเมื่อคุณเชื่อในสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของคุณ และเชื่อว่าคุณมีอำนาจนั้น และความเชื่อพวกนั้นมันทำให้คุณสามารถที่ขับเคลื่อนอะไรก็ได้

เมื่อเราไม่เชื่อว่า ‘ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง’ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง 

มันไม่ได้เชื่อเลยว่าเรามีสิทธิเสรีภาพในการเติบโต ไม่ได้เชื่อในสิทธิเหนือตัวร่างกายเราเลยด้วยซ้ำ ค่านิยมพวกนี้มันทำลู่ของการศึกษามันตีบตัน ใครที่ไม่อยู่ลู่นี้ก็จะกลายเป็นผู้แพ้ของการศึกษา  ซึ่งถ้าจะเปลี่ยนสิ่งนี้ได้ เราต้องแหกมัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปทุบตีของเดิมนะ เราพยายามจะสร้างเส้นทางคู่ขนาน เพื่อจะยืนยันว่าการศึกษามันมีลู่ที่หลากหลาย และวิธีการเรียนรู้และการเติบโตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แปลว่าการศึกษารูปแบบปัจจุบันจะต้องหายไปเลยใช่ไหม?

การทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการศึกษามันต้องพังทลายนะ เพียงแค่จะบอกว่าการศึกษาที่ดีคือการเชื่อในลู่ทางที่หลากหลาย เชื่อในวิธีการที่หลากหลาย และก็ต้องตอบกระบวนทัศน์สำคัญในเรื่องของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่ามันต้องสมบูรณ์แบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การศึกษามีหน้าที่ต้องทำให้ผู้คนค้นเจอสิ่งเหล่านั้นนั้น

เราไม่ได้ทำงานเพื่อไปปฏิรูปการศึกษา เป้าหมายของเราคือทำให้คุณเชื่อว่า ‘คุณมีอำนาจในการเรียนรู้ของตัวเอง’ แต่เป้าหมายไกลๆ ของเราก็คือ เราต้องการที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้เดิมไปสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่  ที่มากกว่าการเรียนในห้องท่องจำ

เมื่อวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเก่าไม่ตอบโจทย์บริบทโลกอย่างรุนแรง
การศึกษาไทยจึงต้องมีบางสิ่งที่มากกว่า ‘เรียนในห้องท่องจำตามครูบอก’

วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ที่ว่าเป็นแบบไหน

คือการที่คุณรู้ลึกรู้จริงในเรื่องนั้นๆ และรู้กว้างรู้หลากหลาย สามารถก้าวข้ามปัญหาได้ เห็นผู้คนที่หลากหลาย และเห็นตัวเอง สิ่งนี้คือวัฒนธรรมใหม่ที่เราอยากจะสร้าง เรามีพื้นที่เอาไว้ ถ้าคุณเชื่อในสิ่งนี้กระโดดเข้ามา เรียนรู้ สนุก และเติบโตไปด้วยกัน แต่ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในลู่นี้ แต่คุณเชื่อแบบนี้ใช่ไหม คุณจะทำที่ไหนก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราสร้างด้วยกัน  

นวัตกรรมที่คุณพูดถึงมีวิธีการอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ Feel Trip มีอยู่ 4 กิจกรรม คือ หนึ่ง-Action Project คือกิจกรรมของน้องๆ ใน Feel Trip บางคนที่เลือกจะกลับบ้าน หรือทำงานในพื้นที่ของเขา อย่างเช่น ‘แปลงผักนุ้ยนุ้ย’ โปรเจกต์ที่ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวในระดับครัวเรือนและชุมชนที่จังหวัดกระบี่ เพื่อให้ผู้คนสามารถอาศัยอยู่ได้ในช่วงโควิด

สอง-Creative Trail เส้นทางสร้างสรรค์ มันถูกสร้างมาเพื่อบอกว่า ‘เรามองเมืองด้วยสายตาใหม่ได้’ เพราะว่าเมืองมันถูกแยกออกจากเรา เช่น เรารู้จัก ‘หัวลำโพง’ ในฐานะของสถานีรถไฟ เพราะสื่อกระแสหลัก การศึกษา ความเชื่อของรัฐบอกเราแบบนั้น ทั้งที่จริงแล้วหัวลำโพงคือ ‘ย่าน’ เมื่อมันมีปัญหาหรือมีการเปลี่ยนแปลง พอเราไม่รู้สึกมีส่วนร่วมหรือเห็นคุณค่า ก็จะมองแค่ว่า ‘ก็แค่สถานีรถไฟ ไปอยู่บางซื่อก็สะดวกดี’  แต่ถ้าเรามองมันใหม่เราจะเห็นว่ามันมีผู้คนอยู่ และผู้คนเหล่านี้มี ‘หัวลำโพง’ ที่เป็นสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลาง มีเรื่องราวบางอย่างที่หัวลำโพงทำหน้าที่ของมันอยู่แต่มันไม่ได้ถูกเล่า เราจึงอยากให้ผู้คนเปลี่ยนคุณค่าความหมายเหล่านั้นใหม่

ภาพจากทีมงาน Feel Trip

สาม-Feel Trip Workshop พื้นที่มีความโดดเด่นมากในเชิงประเด็น หรือประสบความสำเร็จมากๆ เราจะหมุนสิ่งนี้กลับมาทำ Workshop และก็ชวนคนมาร่วม ซึ่งมีวงจรการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learn, Unlearn, and Relearn วันแรกคุณคือผู้ที่เข้าเรียนรู้ เรียนรู้กับคนที่อื่น ถัดมาพอคุณทำโปรเจกต์คุณจะเป็นคนออกแบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นทั้งผู้เรียนรู้และผู้ถ่ายทอดความรู้ และเมื่อหมุนโปรเจกต์นั้นมาทำ Workshop คุณจะกลายเป็นนักออกแบบการเรียนรู้และผู้ถ่ายทอดความรู้ มันคือ Tacit Knowlegde 

สี่-Lab มันคือกิจกรรมภายในที่เติมความรู้ เติมเครื่องมือและทักษะให้กับคณะทำงาน สมมุติน้องคนหนึ่งอยู่กับเรามาตั้งแต่ปีหนึ่งจนตอนนี้เรียนจบ และเริ่มทำงาน เริ่มไปเจอโลกที่มันต้องเสียภาษี บางคนก็จะงงว่าเสียภาษีคืออะไรวะ เราก็ชวนกันทำเวิร์คช็อป ‘เสียภาษี 101’ อะไรแบบนั้น หรืออาจจะมี Lab เล็กๆ ที่ชวนไปเรียนรู้กับภาคีอื่นๆ พื้นที่อื่นที่เขาทำอยู่แต่เราไม่ได้ทำ อย่างเช่น ‘ใบไม้เปลี่ยนเมือง’ ที่เอาใบจากมาทำจานกระดาษ หรือไปดู ‘อุตรดิตถ์ติดยิ้ม’ ที่เป็นพื้นที่เล่น ที่เที่ยวทั้งจังหวัด

ซึ่งใน 4 กิจกรรมที่ว่ามา จะมีแพลตฟอร์มที่รวมกันไว้ก็คือเพจ Feel Trip นั่นเอง เป็นแพลต์ฟอร์มสำหรับการสื่อสาร แต่การสื่อสารของ Feel Trip มันไม่ใช่การผลิตสื่อ  ไม่ได้มีคนมาทำงานวิดิโอ งานกราฟิก เพราะทุกสื่อของเรามาจากน้องและคนที่เป็นสมาชิก Feel Trip เสมอ 

ภาพจากทีมงาน Feel Trip
มีความยากลำบากในการทำงานบ้างไหม

ในหลักของการปฏิบัติการ เราต้องสู่กับทุกความคิดที่มันแข็งแรงในตัวคน เราอยู่ในการศึกษาแบบนี้มากว่า 130 ปี สังคมก็สมาทานความเชื่อว่าการศึกษาต้องอยู่ในโรงเรียน ซึ่งเราก้าวข้ามชุดความคิดแบบนี้ยาก อีกเรื่องคือ แต่ขณะเดียวกันมายาคติชุดนี้แหละ ที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายเรา ยิ่งมีปัญหาเท่าไหร่ เราก็จะออกแบบบางอย่างมาเปลี่ยนมัน ดังนั้นปัญหาที่ Feel Trip เจอมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราได้ออกแบบ หรือคิดวิธีการใหม่ๆ เสมอ และการแก้ไขปัญหานั้นๆ มันก็จะเกิดนวัตกรรมเสมอ

ในเมื่อการเรียนรู้แบบนี้มันออกนอกกรอบการศึกษาแบบปกติมากๆ มันทำให้เกิดปัญหากับครอบครัวของคนใน Fee Trip หรือ ผู้ร่วมโครงการบ้างไหม

Feel Trip มันพูดเฉดชัดว่าทำเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ มันไม่ใช่ Education อย่างเดียวมันคือ Learning ด้วย สิ่งที่เราสื่อสารกับผู้ปกครองเสมอเลยคือ คุณต้องแยกนะว่าการศึกษาคือการศึกษา การเรียนรู้คือการเรียนรู้ แต่ขณะเดียวกันการศึกษามันมีเรื่องการทำมาตรฐานแกนกลาง มีเรื่องเกรด มีเรื่องระบบ ซึ่งสิ่งนี้เราไม่ได้บอกว่าเราปฏิเสธมัน แต่มันต้องมีโอกาสทำให้ลู่อื่นมันเกิดบ้าง คุณจะเรียนในห้องเรียนก็ได้ แต่คุณจะต้องมีเวลาไปทำอย่างอื่นนอกห้องเรียนด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราสื่อสารกับพ่อแม่เราก็สื่อสารคู่ขนานเสมอ

กระบวนทัศน์ใหม่แห่งการเรียนรู้ของ Feel Trip 

จาก 4-5 ปีที่ทำ Feel Trip มาได้เรียนรู้อะไรจากคนที่เข้ามาเล่าเรื่อง หรือได้กระบวนทัศน์ใหม่ในด้านการศึกษาบ้างไหม

เราเห็นว่ายิ่งทำมากเท่าไหร่ สิ่งที่เราเชื่อว่ามนุษย์ได้เรียนรู้เติบโตเมื่อเราเป็นเจ้าของ มันยิ่งชัดเจนมากขึ้น เอาง่ายๆ ถ้าคุณคุยกับพี่วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว พี่อาจจะไม่ได้ตอบหนักแน่นเท่านี้ แต่ที่พี่พูดหนักแน่นเท่านี้เพราะว่าพี่ผ่านมาแล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่พี่เป็นคนผ่านนะ น้องๆ ด้วยต่างหาก มันคือรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้พี่ยิ่งเชื่อ เราเห็นผู้คนที่เติบโตจริงๆ เราเห็นผู้คนที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ และสิ่งที่เราตั้งคำถามต่อระบบการศึกษามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าให้แยกย่อยก็คือ มนุษย์คนรุ่นใหม่จะทำสิ่งนี้ก็ต่อเมื่อเขามีพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยนั้นต้องมีความสัมพันธ์ของคนที่เชื่อเรื่องมนุษย์มากๆ เชื่อในอิสระและเสรีภาพของเขา และมอบอำนาจของการเป็นเจ้าของและความไว้วางใจให้เขา 

ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ว่ามันสำคัญอย่างไร

มันคือการยินดีให้คุณทำอะไรก็ได้ ไม่มีอะไรมากำกับ และความไว้วางใจมันคือการให้ความเคารพในความรู้ของกันและกัน เพราะฉะนั้นเราจะมีที่ว่างให้ทุกคนในมีโอกาสเติบโตบนพื้นที่ของตัวเอง อย่างโปรเจกต์ที่เราทำด้วยมันไม่ต้องมีการมานั่งตรวจกัน 24 ชั่วโมง ไม่ต้องนั่งตรวจกันทุกวัน แต่เราใช้อิสระกันบนความรับผิดชอบ ยิ่งอิสระมากเท่าไหร่ คนยิ่งรับผิดชอบตัวเองมากเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่มานั่งตามงานว่า เดือนนี้ต้องเห็นรูปธรรมเท่านี้ๆ เราเพียงขอให้คุณตอบโจทย์กับงานที่คุณอยากจะเห็น และนั่นก็เป็นสิ่งที่ Feel Trip อยากจะเห็น ถ้าการศึกษามีพื้นที่ที่มันกว้างขวางมากพอ มีห้องเรียนที่เคารพความเป็นมนุษย์ของคุณมากพอ มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ เราจะมีนักเรียนและผู้เรียนที่มีคุณภาพมากกว่านี้

มองอนาคตของ Feel Trip ไว้อย่างไรบ้าง

พอเราทำตัวเองเป็น Prototype มันก็ย่อมมีสเต็ปของการก้าว และคงไม่ได้ทำสิ่งเดิมตลอดเวลาหรอก พี่ว่าชีวิตมันจะสนุกขึ้นเมื่อเราท้าทายมันเสมอ พี่ชอบคุยกับน้องเสมอว่าให้ท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ เชียร์จริงๆ ให้ทุกคนมีโจทย์ที่ท้าทาย แต่ไม่ต้องท้าทายตลอดเวลานะ มันเหนื่อย (หัวเราะ) แค่ต้องมีบางอย่างที่ทำให้เราได้มีโอกาสให้พุ่งชน และขณะที่เราพูดแบบนี้กับน้อง Feel Trip ก็ทำแบบนี้ด้วยเหมือนกัน เราก็พยายามจะหาโจทย์ที่ท้าทายตัวเองเสมอ 

อย่างสี่ปีที่ผ่านมา พี่ก็พยายามจะจัดการตัวเองโดยปรับรูปแบบเพื่อแก้ปัญหา ปัญหามาก็ปรับ กลายเป็นนวัตกรรม นวัตกรรมต่างๆที่ Feel Trip บอกมันก็เติบโตมาจากปัญหา ปรับตัวทุกๆ ปี ปีนี้เองก็เหมือนกัน เราคิดว่ามันจะสนุกขึ้นไหมถ้าเราลองท้าทายตัวเอง  ถ้าเราเชียร์น้องให้ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย Feel Trip ก็ต้องก้าวออกจากเซฟโซนเหมือนกัน เราต้องเอาขาตัวเองแหย่เข้าไปในพื้นที่ที่เราอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย อย่างเช่น ทำตัวเองเป็น Social Enterprise ไหม ซึ่งปีนี้เราทำสิ่งนี้อยู่ พี่กับคณะทำงานกำลังทำตัวคล้ายๆ กับการพัฒนาเจาะรูปชุดความคิดที่เป็นโมเดลของ Feel Trip และเราก็อยากเอาโมเดลตรงนี้มาขับเคลื่อนตัวเองให้กลายเป็น Social Enterprise จริงๆ และพี่ก็คิดว่าภายในปีสองปีนี้ Feel Trip ก็น่าจะมีเฉดที่เปลี่ยนแปลงไป 

แล้วอนาคตของตัวคุณเองล่ะ

พี่เองก็ยังมีความสุขกับตรงนี้อยู่ และเราจะทำสิ่งนี้ได้นานหรือน้อยมาก ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นเจ้าของขนาดไหน พอมากลับมาใน Feel Trip แล้วเห็นความสัมพันธ์ของคน เราเห็นน้องๆ ที่ยังอยู่ด้วยกัน หรือเติบโตมาด้วยกัน พี่รู้สึกว่ามันเหมือนครอบครัว เป็น Community เล็กๆ ที่มีความเป็นครอบครัวมาก และครอบครัวนี้ก็จะมีสมาชิกใหม่ๆ เข้ามา และคนเก่าๆ ก็ยังอยู่และเติบโตไปด้วยกัน 

พี่ยังอยากรักษาพื้นที่นี้เอาไว้ไม่ว่าจะไปอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้เป็นพื้นที่กิจกรรม แต่มันมีความคิดความเชื่อ พี่บอกน้องๆ เสมอว่า ถ้าวันหนึ่งคุณรู้สึกว่าพื้นที่ไม่สนุกแล้ว ไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมแล้ว คุณจะโดดออกไปเลยก็ได้นะ หรือถ้าอยากกลับก็กลับมาได้เสมอ เพราะพื้นที่มันกว้างและอิสระมาก และถึงแม้คุณออกไปแต่คุณยังเชื่อในชุดความคิดนั้น คุณจะทำที่ไหนก็ได้ น้องๆ หลายคนพอมีอายุมากขึ้นเขาก็มีเส้นทางหลากหลายมากขึ้น ที่อาจทำให้เราไม่ได้มาเจอกัน แต่เขายังเอาความคิดความเชื่อนี้ไปทำงานอยู่ เราก็ภูมิใจขึ้นแล้ว ถึงแม้จะยังเป็นจุดเล็กๆ แต่จุดเล็กๆ นี้มันจะกลายเป็นจุดใหญ่สักวันนึง 

ภาพจากทีมงาน Feel Trip

การศึกษาในช่องฟรีซ

ในฐานะคนที่ทำงานด้านการศึกษามอง ‘การศึกษาไทย’ ตอนนี้เป็นอย่างไร

ปัญหาหลักๆ คือการศึกษาไทยมันถูกแช่แข็ง เราไม่ได้พูดเรื่องนี้มาไม่กี่ปีเนอะ เราพูดกันจนปากฉีกกันหมดแล้วเพราะว่าระบบพวกนี้มันฝังแน่นในหัวเรา มันอยู่ในโครงสร้างของเรา มันสร้างมายาคติอะไรบางอย่างให้คน เอาชุดความเชื่อผิดๆ มาใส่หัวเรา และเราจะเปลี่ยนสิ่งนี้ได้ก็ต่อเมื่อโครงสร้างยินดีที่จะเปลี่ยน และพี่มองว่าโครงสร้างมันไม่เปลี่ยนหรอก แต่แน่นอนว่าเราต้องเปลี่ยน 

เหนื่อยไหมกับการขับเคลื่อนด้านการศึกษา และมีแรงบันดาลใจอะไรที่ยังพาให้ทำงานด้านนี้ต่อไป

พี่คิดว่าเหนื่อยก็ดี บางทีน้องๆ มาทำงานก็จะเจอแรงปะทะเยอะ  เพราะเราทำงานในพื้นที่ที่มีค่านิยมบางอย่างผูกติด มันต้องเจอแรงปะทะเสมอ แต่สิ่งที่เราคุยกันเสมอคือ ความรู้สึกเหนื่อยท้อสุขมันเป็นพื้นฐานมากๆ เลยที่ทุกคนต้องมี คุณจะเหนื่อยก็เหนื่อยไป จะทุกข์ก็ทุกข์ไป แต่ขอให้รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรกับมันนะ ขอให้มีการทบทวนตัวเองเสมอ การทบทวนตัวเองมันคือเดินทางไกลของตัวเอง การเดินทางเพื่อจะทบทวนตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง และค้นพบตัวเองเสมอ ทุกครั้งที่พี่เหนื่อยมันก็วนกลับมาที่โจทย์นี้ว่าพี่ทำสิ่งนี้ทำไม อยากทำอยู่ไหม รู้สึกอยู่ไหม ถ้ารู้สึกอยู่ก็จะไปต่อกับมัน และมันก็เป็นวงจรที่ Feel Trip เชื่อมาเสมอ และทุกการเหนื่อยในปัญหานั้นๆ มันมีโจทย์ของการแก้ปัญหาเสมอ 

สุดท้ายแล้ว Feel Trip มันคือเส้นใยบางๆ ที่ร้อยกันบนพื้นที่ออนไลน์ในฉากหน้า แต่ฉากหลังมันคือความสัมพันธ์ของผู้คน และความสัมพันธ์เหล่านี้มันมีความทรงจำร่วมกัน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครพรากมันไปจากเราได้เลย กระบวนการพวกนี้มันเป็นส่วนสำคัญของการเป็นมนุษย์ มันต้องหล่อเลี้ยงกันด้วยพลังงานแบบนี้ 

นิยามสั้นๆ ของการศึกษาที่ดีหรือการศึกษาที่ควรจะเป็น

พี่คงจะพูดยากว่าการศึกษาที่ดีมันควรจะเป็นแบบไหน คำว่าดีหรือไม่ดีมันก็ยากนะ เพราะคนเรามันมีแว่นไม่เหมือนกัน เหมาะไม่เหมาะก็ไม่เหมือนกัน พี่อยากให้มันเป็นการศึกษาที่มันมีความเฉพาะแล้วกัน เราแต่ละคนไม่เหมือนกันน่ะค่ะ การศึกษาที่ดีหรือไม่ดีมันจึงไม่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับคนๆ นั้น ดังนั้นสิ่งที่พี่คิดว่าสำคัญมันคือ ถ้าเราเป็นเจ้าของกับได้มากพอ เราจะค้นเจอการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่เหมาะกับเรา ดีกับเรา และเป็นของเราจริงๆ 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า