fbpx

FEEDPOD : ในวันที่มิตรภาพและความชอบ กลายเป็นการลงมือทำ Podcast ด้วยใจอยากลอง

หลายคนอาจจะเคยฟัง Podcast มาบ้างไม่มากก็น้อย
และหลายคนคงอยากทำ Podcast เป็นชีวิตจิตใจ

แต่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ก้าวมาจนถึงการเป็นผู้ผลิตรายการ Podcast ที่อายุ (อาจจะ)น้อยที่สุดไปแล้ว พวกเขาคือ “FEEDPOD” กลุ่มคนที่ต้องการทำ Podcast เพื่อเป็นสื่อที่ตอบสนองความชอบของเขา ผ่านการเล่าเรื่องที่สนุกสนานและสร้างคุณค่าผ่านงานที่ตัวเองทำอย่างต่อเนื่อง

วันนี้เรานัดคุยกันผ่านออนไลน์กับ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง FEEDPOD อย่าง “ฟลุ๊ค – อภิวัฒน์, นัท – นันทวัฒน์ และ ที – ชัยนันท์” ถึงการก่อกำเนิดขึ้นมา จนถึงเป้าหมายของเขาในระยะยาวต่อไปด้วย เรามาเรียนรู้การทำ Podcast แบบใช้ใจนำไปกับ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง FEEDPOD กันครับ

จุดเริ่มต้นมาจากการทำรายการออนไลน์

ทีเริ่มเล่าให้ฟังในช่วงเริ่มต้นของ FEEDPOD ว่า “FEEDPOD เกิดมาจากการรวมตัวของ 3 คนก่อนก็คือ ที, นัท, ฟลุ๊ค รวมตัวกันก่อน ด้วยความที่ว่าตอนนั้นเราดำเนินการทำรายการอ่อน Social เป็นรายการเดิมอยู่แล้ว แล้วผมก็มีแนวความคิดว่า เฮ้ย ถ้าเกิดทำแค่อ่อนมันจะขยายฐานได้เปล่าวะ ก็เลยตัดสินใจว่าจะตั้งเป็น FEEDPOD ขึ้นมาละกัน ผมก็กระจายไปทำ ฟลุ๊คก็ทีของเดิมอยู่แล้ว เอามาทำ พี่นัทก็คิดของใหม่ขึ้นมา เอามาทำ ก็เลยได้เป็น FEEDPOD แล้วก็เติบโตมาเรื่อย ๆ มีการเปิดรับครั้งนึง ตอนนั้นเปิดรับครับ ก็ตกใจมาก เพราะว่าทุกอย่างมันใหญ่ไปหมดเลย”

ในขณะที่นัทก็เล่าเสริมต่อว่า “ใหญ่จนเกินกว่าที่เรา 3 คนจะรับมือ ดูจากการแนะนำตัวของเรา มันคือสเกลที่ใหญ่มากเลยนะ เรื่องประกาศหา Podcaster เจ้าใหม่ รู้สึกว่าเหมือนเป็นการเดินทางแรกเริ่มที่พอเปิดเส้นทางปุ๊บ มันดูยิ่งใหญ่มากในความคิดของพวกเรา 3 คนมากเลยฮะ ก็ถือว่าเกินคาดเหมือนกันพอเปิดตัวมา ซึ่งแต่ละคนนั้นเดินทางกัน 3 คนมันก็คนละลี้ฮะ จุดเริ่มมาเดินทางประสบพบเจอกันก็คือว่าทำรายการได้คือ อ่อน Social นั่นแหละ แล้วก็คือจุดเริ่มต้นของทุก ๆ อย่าง”

ทีเสริมต่อว่า “ตอนนั้นคือผมตั้งใจจะทำ เพราะว่าตอนนันคือมันมาใหม่ ๆ เลย เรื่องทุกอย่างระอุไปหมด ผมก็คงเอ้อ ผมทำตอนนี้ดีกว่า เรารวบข้อมูลไรงี้ ซึ่งอ่อน Social รูปแบบของมันเกิดมาจากการสรุปเนื้อหาที่เกิดขึ้น และการ Opinion ของ 2 คนก็คือผมกับพี่นัท ซึ่ง Opinion ตัวนี้ มันเกิดมาจากรายการเก่าผมอีกรายการนึงที่อยู่บนยูทูบ”

ทียังเล่าต่อว่า “ก็คือตอนนั้นมันเป็นรายการผมที่ใช้ชื่อว่า Talk About Real ซึ่งตอนนั้นผมทำมาตั้งแต่ ป.5 ผมทำรายการนี้มาเพราะว่าเราเป็นคนที่สนใจเรื่องของสังคม เรื่องของโซเชียลอยู่แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็ทำ ป.5 จนถึง ม.3 ทำ พอ ม. 3 เวลาเป็นช่วงที่ผมยุ่ง ก็เลย Off ไปก่อนแล้วกัน ไม่ค่อยได้ทำ ผมกลับมาที่ อ่อน Social ก็คือเราก็มารวมกัน จะทำ Single Gateway ครับ วางแผนอยู่ ผมไม่ว่างปุ๊บ กลายเป็นว่าตอนนี้หายไปในอากาศแล้วครับ”

ฟลุ๊คพูดขึ้นมาต่อจากทีว่า “แต่พวกเรา 3 คนเห็นคลิปกันหมดแล้ว (หัวเราะ) ถ้าคนที่อ่านบทความนึกภาพไม่ออกก็คือ จะเป็นแบบคนอ้วน ๆ คนนึง เด็กอ้วน ๆ คนนึงนั่งอยู่แล้วก็ถือโทรศัพท์คุยกับคนปลายสายซึ่งมีลักษณะผอม”

แต่ด้วยความที่ตอนนั้นยังจัดอยู่สองคน ฟลุ๊คจึงสนใจที่จะเข้าร่วมทีมด้วย ฟลุ๊คจึงเล่าต่อว่า “ตอนนั้นเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าจวนจะตีหนึ่ง ผมทักไปหาพี่นัท Add Friends อะไรกันเรียบร้อยแล้วก็ทักไลน์พี่นัท ขอเข้าอ่อน Social ได้ไหม? พี่นัทถาม น้องเป็นเด็กใหม่เหรอ? วิดีโอคอลเลยครับ วิดีโอคอลมาตอนนั้นสภาพ นึกสภาพฮะแบบ เป็นภาพ ๆ นึงนะฮะ มีคน ๆ นึงอยู่ในห้องครัว ห้องครัวเป็นพื้นคอนกรีตนะฮะ แล้วก็ถอดเสื้อออก แล้วก็ต้มมาม่าอยู่ (หัวเราะ) First Impression ของกูแบบ…อะไรวะ ต้องมาคุยกัน พอได้ความผมก็มีความคิดว่า เออ พอสนใจเรื่องโซเชียลเพราะว่าผม มี Facebook ของผม แล้วก็ข่าวขึ้นมาทุกวัน ผมก็ตามอ่านมันทุกวันเลยนะ ก็เลยแบบพอจะสนใจโซเชียลบ้างว่ามันมีดรามา มันมีอะไรอย่างนี้ ก็เลยขอเข้ามาอ่อน Social หน่อย”

กว่าจะมาเป็นหนึ่งตอน ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง?

นี่อาจจะเป็นหนึ่งคำถามสำคัญสำหรับคนที่จะเริ่มต้น Podcast และสำหรับเขาทั้งสามคนก็เช่นกัน นัทเริ่มเล่าต่อว่าตนเองตอนนั้นด้วยความที่อยู่คนละที่ จึงใช้แพลตฟอร์ม Google Meet เป็นหลัก และยังเล่าถึงกระบวนการขั้นตอนด้วยว่า “มันจะเป็นขั้นตอนของการแบบว่า เลือก อย่างแรกคือการคัดเลือก Topic กันโดยการลงความเห็นทั้ง 3 คนในแชท เสร็จแล้วเราก็จะแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งในช่วงอ่อน Social เทปแรกก็จะมีการแบ่งชัดเจนคือ Choose Topic อาจจะเป็นที แล้วก็เป็นดูภาพรวมของทั้งหมดว่าควรจะดำเนินแนวทางเป็นยังไง ก็ส่วนตัวที่สองอาจจะเป็นการเขียนบทและเรียบเรียงตอนนั้นก็จะเป็นผม ณ เวลานั้น ส่วน 3 ก็จะเป็น ถ้าตอนนั้นจำไม่ผิดจะเป็นเทปย้อนหลังน้องฟลุ๊คก็จะเอาไปช่วย Edit หรืออะไรอย่างนี้ในช่วงนั้น 3 คนก็จะช่วยกันแบ่งหน้าที่ชัดเจนในอ่อน Social ยุคแรก ซึ่งเป็นรายการ LIVE สดตอนนั้น”

ทีเล่าเสริมถึงการทำ Podcast ตอนนั้นว่า “รายการตอนนั้นไม่ได้คร่ำเครียดมากครับ เพราะว่าเรายังอยู่ในนามของวิทยุ ซึ่งก็คือจะมีการพูดเสร็จปุ๊บเราก็เปิดเพลง เปิดเพลงเสร็จก็เข้าประเด็นต่อ พอหมดประเด็นก็เปิดเพลง ต้นจบก็จะเป็นอย่างนี้ เปิดเพลงสลับกับประเด็นไปเรื่อย ๆ ตอนนั้นก็จะอยู่ใน Part ของวิทยุ”

นัทยังเล่าเพิ่มว่า “มันจะมีความไม่ต่อเนื่องอยู่แบบว่ามันจะมีพัก พักฟังเพลงแล้วก็จะมีการแบบเซ็ตเนื้อหากันว่า เออ ในช่วงต่อไป พูดตรงนี้ได้นะหรือตรงนี้ไม่ได้ มันจะมีการ Set เนื้อหา พอเข้ามาสู่พาร์ทของ Podcast ซึ่งเริ่มประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ถ้าจำไม่ผิดประมาณปี 2562 ช่วงนั้นก็มีการแบบว่าเราวางแผนใหม่ว่าเราจะเริ่มทำพอดแคสต์ ซึ่งจะมีแบบแบ่งหน้าที่คล้ายเดิม ก็คือการหาเนื้อหาตอน ซึ่งหลัง ๆ น้องฟลุ๊คก็จะเริ่มมีการเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนของเนื้อหา แล้วก็ทีก็จะเริ่มแบบว่า ตบประเด็นให้มันเลือกประเด็นให้มันชัดขึ้นในทุก ๆ ตอน เพราะว่าในปีนั้น พอเราพยายามจะเล่น 1 ตอนให้มันชัดไปเลยในเรื่องราวชัด ๆ ไปเลย

หรือว่าในเรื่องของการศึกษาซึ่งเราเคยพูดกันในยุคของ Radio เราก็กลับมาวนพูดอีกครั้งนึงในยุคใหม่ ยุคพอดแคสต์เนี่ยครับ ก็เดี๋ยวจะวนกลับมาพูดอีกครั้งหนึ่ง ในตอนช่วงนั้นเราจะเอาหัวข้อนึงเป็น Topic ใหญ่ในการคุยครั้งนั้น ซึ่งก็จะมีข่าวเล็ก ๆ น้อย ๆ แซมไปในแต่ละคนที่หามาในยุคนั้น ซึ่งก็ถ้าพูดถึง ตอนนั้นก็ถือว่า เราทำได้ประมาณเดือนละตอน ประมาณ 7 ครั้ง ถ้าจำไม่ผิดปะ 7-8 ตอน”

นัทยังเล่าเพิ่มว่า “ก็ถือว่าเป็นการเป็นการได้เตรียมเนื้อหากัน เขาเรียกว่าระดม Brainstorm กันหนักหน่วงเลยทีเดียว ถ้าเป็นยุคช่วงนี้เราทำ เรากลับมาอีกละ อ่อน Social ตอนนี้ใจความสำคัญคือเรายังมีความเป็นพอดแคสต์ในแบบยุคเดิมอยู่ ก็คือเราก็จะเอาเน้นหัวข้อ Talk เป็นหลักเหมือนเดิม แต่คราวนี้ก็จะใส่ความ Opinion เข้าไปมากขึ้น แล้วก็อาจจะแบบว่ามีการเชิญผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา แล้วก็จะร่วมกันเสวนาหรือร่วมพูดคุยในหัวข้อ Topic ให้มากขึ้น แล้วเราพยายามจะเอาคนที่มีแนวคิดที่แบบว่าต่างกันเล็กน้อยมาเจอกันกับเราหน่อย เพราะว่าผมคิดว่า การมองแนวทาง แบบว่าเราอาจจะมองด้านเดียวมากไปอย่างนี้ เราก็พยายามหาแนวทางอื่นมาเสริมด้วยนะครับในยุคใหม่”

ทีเล่าถึงความสำคัญของอ่อนโซเชียลว่า “เราพยายามมาเสริมตรงนี้ให้มากสุด ก็คือ อ่อน Social ก็เป็นอีก 1 รายการที่สำคัญกับ FEEDPOD พอสมควรครับ มันก็มีตำนานหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในรายการ ด้วยความที่อ่อน Social มันทำมาเยอะ มันเหมือนรวมตัวของกลุ่มคนที่เรารู้จักเป็นชุมชนเดิมมันรวมมาได้สักพักนึงก็เริ่มทำ ก็คือจะมี 3 คน แล้วก็จะมีฝั่งเพื่อนที่คุ้น ถ้าเกิดใครตาม FEEDPOD จะคุ้นอย่างคุณวิน – ศุภวิชญ์ งามสม, คุณเปเล่ – ณัฐวัฒน์ วุฒิช่วย, คุณบาส – วัชรพงค์ วัชโรทัย จะคุ้นกันดี ก็คือมันเป็นกลุ่มเพื่อนอยู่แล้ว แล้วทีนี้มันก็มาทำต่อ ก็กำหนดหลายรายการ”

จากจุดเริ่มต้น จนก้าวสู่จุดถัดไป

จากจุดเริ่มต้นของ FEEDPOD เข้าสู่จุดถัดไปของ FEEDPOD คือการสร้างสรรค์รายการที่มากขึ้นตามมาจำนวนมาก ทีเริ่มเล่าว่า “”Fact A Week” เป็นรายการแรกของ FEEDPOD ครับ ความตั้งใจของผมคือผมต้องการเสิร์ฟความรู้ภายใน 10 นาที เหมือนเป็น Common Fact เอามาเสริมให้คนได้รู้ว่า เหมือนเราเห็นว่าคนมันไม่ค่อยชอบฟังมันก็หามาฟัง เหมือนคุณเรียนหนังสือ คุณก็ไม่ค่อยชอบเรียนอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเกิดมันมีอะไรสนุก ๆ เข้ามาอย่างสั้น ๆ อย่างเนี่ยจะเริ่มสนใจ ผมก็เลยเริ่มทำอันนี้ขึ้นมา ผมนำแนวคิด 10 นาทีนี้มาปรับเป็นตัวขยายความรู้ตรงนี้ ก็เป็นรายการ Fact A Week นี่คือรายการแรกจริง ๆ”

นัทเล่าต่อว่า “จากนั้นก็เริ่มผุดมาหลังจากนั้นอีก ตอนนั้นผมจำได้ว่า 3 คนก็เริ่มผุดรายการของตัวเองออกมา ถ้าพูดถึงการกลับมาก็ต้องพูดถึงปากหมา ผมก็เอาปากหมากลับมาซึ่งมี 5 คน พอดแคสต์ มีพิธีกรเยอะมากคือ 5 คน หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไป แล้วก็ตามด้วยของฟลุ๊คก็คือ ล่าสุด ที่ปัจจุบันเพิ่งปิดซีซั่นไปคือ “คุณฟลุ๊ค Ducky Pod อันนั้นชื่อเก่าชื่อ “คุณฟลุ๊ค The Podcast” ก็ตามมา พอหลังจาก 3 คนเริ่มทำ เราก็มีการเริ่มชวนคนในกลุ่มเพื่อนกันเองมาเริ่มทำพอดแคสต์ มาช่วย ๆ กันทำพอดแคสต์อย่างนี้ ซึ่งกำเนิดอีกรายการนึงคือ “เรื่องมัน(ส์)มีอยู่ว่า” ในปีนั้น ปีเดียวกันครับ”

ทีเล่าถึงแนวคิดของรายการ “เรื่องมัน(ส์)มีอยู่ว่า” ต่อว่า “เรื่องมัน(ส์)มีอยู่ว่าคือสไตล์ของมันคือจะเหมือนแบบคุยกับเพื่อน ถ้าเกิด Beyond ไปหน่อยก็คือเหมือนคุณนั่งวงเหล้าวงนึง แล้วเพื่อนก็คุยกันอย่างเนี้ย แล้วก็ได้รูปแบบรายการใหม่แบบนึงคือเราจะใช้ความเป็น Comedy เป็นละครเข้ามาผสมกับตัวรายการ มันเลยกลายเป็นรายการที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับกลุ่มเราเป็นรายการแรก”

นัทเล่าต่อถึงรายการนี้ว่า “เป็นรายการแรกที่ผมเริ่มใช้ แล้วก็หลังจากนั้นก็เริ่มมีรายการใหม่ ๆ หลากหลายแนว ที่พูดตอนนี้ยังมีแบบว่าประมาณแบบความรู้บ้าง เริ่มมีความรู้ มีความสนุก มีสาระ แล้วก็หลังจากนั้นก็เริ่มหลายรายการมาที่ ตอนนี้ที่ชูโรงดัง ๆ ตอนนี้น่าจะเป็น Gameshow Story ณ เวลานี้ คือเราแบบว่าเราชื่นชอบในเรื่องนี้ คือ Community ที่เรามีคือข้อมูลแน่นมาก ทำให้หลาย ๆ ตอนที่ผ่านมาแฟนคลับของรายการนี้ หรือแฟนคลับของเกมโชว์รายการนั้นก็ต่างเข้ามาให้ความเห็น แล้วก็มอบข้อมูลแลกเปลี่ยนความเห็นกันจากรายการกลายเป็นชุมชนเพิ่มขึ้นม าซึ่งถามว่าอบอุ่นเปล่า ก็ขอบคุณที่ติดตามกันมาก เพราะว่ายอดวิวสามารถทำได้สูงสุดในเครือของเรา ณ เวลานี้ แล้วก็กำเนิดหลายรายการอย่างเช่น ในปีที่แล้วเรามีรายการเยอะมาก”

จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 8 รายการ!

ในปี 2020 ถือเป็นปีทองของ FEEDPOD เลยก็ว่าได้ เพราะเล่นเปิดรายการไปถึง 8 รายการ! ซึ่งฟลุ๊คเล่าว่า “แล้วก็มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะว่าในตอนต้นปีที่แล้ว เราได้เปิดรับสมาชิกเพิ่ม ซึ่งก็จะมีความหลากหลายมากขึ้นนะ อย่างที่เรารับมา 4 คนนะครับ ก็คือพี่เต้ – นที ชาลีชาติ มาทำ Local Life เป็นพอดแคสต์เกี่ยวกับสัมภาษณ์อาชีพที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือไม่ค่อยมีใครรู้จักมุมมองของเขา เป็นคนธรรมดานี่แหละ ไม่ได้แบบชื่อเสียงโด่งดังอะไร ตามมาด้วยพี่ท็อป – สุทธิพงษ์ ฉิมเนตร ก็ทำรายการ Topsoftware เป็นรายการที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับ Software แล้วก็ Application ที่จะอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้มากขึ้น แล้วก็จะมีพี่อาร์ต – กันต์ธร ลีนวรัตน์ กับ Game Among Us เป็นรายการที่นำเสนอการจัดลิสต์เกมฮะ จัดลิสต์เกมที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เหตุการณ์การบ้านการเมืองตอนนี้รุนแรงมาก นายกไม่ลาออกสักทีอย่างเนี้ยเราก็จะจัดเกมที่เกี่ยวกับการเมืองมาให้สัก 2-3 เกมอะไรอย่างนี้นะฮะ (หัวเราะ)”

ฟลุ๊คยังเล่าต่อว่า “แล้วก็แนวเกมเองก็มีรายการที่ทับซ้อนกันอยู่นะฮะ ก็เราไม่ได้อะไรเพราะว่าก็มีเส้นทางของตัวเอง ก็จะมีพี่ก้อง – ณรงค์รัตน์ แต้มสี หรือชื่อในวงการ Stand-up Comedy เขาเป็น Stand Comedian อยู่ตอนนี้ฮะ ชื่อฉายาว่า “ก้องเก๋าก๊วย” ทำรายการแกะเกม ทำรายการแกะเกม เป็นรูปแบบการเล่าเกี่ยวกับเกม แล้วก็เจาะขยายลึกลงไปอีกกับเรื่องราวของเกมนั้น ๆ ที่น่าสนใจ นี่ก็คือ 4 เลือดใหม่ของ FEEDPOD ซึ่งปัจจุบันก็ ถึงแม้จะมีพักไปบ้าง แต่ยังมีที่ทำงานอยู่ แล้วก็จะมีรายการเก่า ๆ ก็จะมีแตกไลน์ไอดอล ก็คือจะเกี่ยวกับวงการไอดอลทั้งหมด วงที่เราจะพยายามนำเสนอขึ้นมาได้”

นัทเล่าเสริมต่อว่า “แล้วก็จะมี 2 รายการที่ Off ไปแล้ว คือ ทางไหนไทยเชื่อ ซึ่งเป็นพอดแคสต์ที่เกี่ยวกับความเชื่อของไทย แล้วก็เลขพลิกโลกครับ เป็นเกมโชว์เกี่ยวกับตัวเลขซึ่งเป็น Game Show Podcast ซึ่งเป็นครั้งแรกของเราที่ทำเลย ซึ่งถือว่าในระยะเวลาประมาณเกือบ 2 ปีของเราก็ เราทำพอดแคสต์ที่ยอมรับว่า Precious และแนวหลากหลายมาก คือมันหลากหลายมันวาไรตี้มาก ซึ่งมันก็จะได้กลุ่มคนฟังค่อนข้างหลายทางตามความสนใจของเขา ถ้าคุณสนใจเรื่องเกม คุณก็ไป Game Among Us ไม่ก็แกะเกมเทปเก่า ๆ ถ้าคุณสนใจเรื่องเพลงก็ Song ต้องฟังไป ก็มันเป็นรายการแนะนำเพลง แต่ส่วนมากก็จะเป็นแนะนำในฐานะกลุ่มเพื่อนมากกว่า เพราะฉะนั้นพยายามแบบว่าข้าม ๆ (หัวเราะ)

ความสนุกในการทำงานที่เรารัก

นัทเล่าถึงความสนุกในการทำงานว่า “ถ้าที่อื่น Save การ Bully ที่นี่ไม่ใช่ครับ (หัวเราะ) ยอมรับเลยครับผม ไม่ใช่ มันก็เป็น Community หนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเรื่องราวของเพลงมันก็เป็น Community ที่ใหญ่ ก็แนะนำ Song ต้องฟัง ถ้าคุณชอบเรื่องราวของเรื่องบนโซเชียลก็ติดตามอ่อน Social ซึ่งในค่ายเราหลากหลายรายการ 2 ปีที่ผ่านมามันหลายแนวมาก ๆ มันได้ Community ที่ต่างกันในทุก ๆ แนวมาก ๆ ก็ถือเป็นอย่างหนึ่งที่ FEEDPOD เรามองว่ามันเป็นจุดนึงที่ทำให้เราอยู่ได้ในตอนนี้”

นัทยังเล่าต่อว่า “เราทำเพราะแค่ความหวังจริง มันอยู่ด้วยเพราะว่าบางทีเรา มัน 2 ทางละกันฮะ ทางแรกผมมองความสนุกในการอัดเป็นหลัก คือเวลาพอดแคสต์ตัวนึงรายการนึง บางรายการเน้นอัดคนเดียว บางรายการเน้นอัดเป็นทีม ความสุขของการอัดรายการมันต่างกัน ซึ่งมันก็จะได้บรรยากาศในการอัดต่างกันมาก ซึ่งมันก็มีความสุขในคนละแบบ กับอีกอย่างนึงคือตอนอัดเนี่ยเราส่วนมากเราจะมีสโลแกนว่าเราต้องพยายามมอบความรู้ และความสุขให้กับคุณผู้ชมให้ได้มากที่สุด เท่าที่ทุกคนจะทำได้และใส่ความสุขให้คุณผู้ฟัง ให้ได้รับความรู้พวกนี้ให้ได้มากที่สุด แล้วก็คือเรื่องของว่าเราสามารถทำให้คุณผู้ฟังเนี่ยมีความสุขไปกับเราได้มากน้อยแค่ไหน และถ้าสมมติมองในด้านธุรกิจหรืออะไรตอนนี้ ถ้ามองในตอนนี้ของเราก็ถือว่าเราก็มีความสุขในเป้าหมายของเราในปีที่เราคาดหวังไว้ทีแรกว่าเราอาจจะได้ คือจริง ๆ เราคาดหวังไว้ไม่ได้สูงว่าเราจะทำได้ขนาดนี้ คือเป้าเรากำหนดไว้น้อยมาก ซึ่งอันนี้ยอมรับจริง ๆ ซึ่ง 2 ปีหน้าเราพอกำหนดเป้าไว้แล้ว ตอนนี้คือความพยายามของพวกเราแล้วที่เราจะทำให้มากขึ้นคือ 1 คือการอาจจะแบบว่าเราต้องสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ คือพอบอกว่าสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ มันคือความสนุก ความท้าทายที่เราจะต้องฝ่ากันไปทุกคนครับ คือความสุขตรงนี้ที่เรายังอยากจะทำพอดแคสต์เจ้านี้อยู่ รวมทั้งการทำงานในสาย Production ต่าง ๆ ของเรา ณ เวลานี้ครับ มันคือความสุขอย่างนึงคือการฝ่าฟันและการบุกตะลุยครับ ถึงแม้ผลลัพธ์จะเป็นแบบไหนก็ตามอะไรอย่างเนี้ย”

การเรียนรู้จากการทำ Podcast คือความสุข…

ฟลุ๊คเล่าถึงการทำ Podcast ว่า “2 ปีมานี้เยอะเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิตรภาพซึ่งเราก็ผูกมิตรกับทีมของ Modernist รวมถึงทีมของพอดแคสต์หลาย ๆ เจ้า ซึ่งเราก็ไปผูกมิตรภาพกับเขาโดยการเชิญเป็นแขกรับเชิญ ไม่ก็แบบ เราไป Meeting กับเขา ไปเจอเขา แล้วก็งานสำคัญที่เป็นงานใหญ่มากคือ CTC2020 ที่ผ่านมา เราก็ได้รับโอกาสให้เราได้มาอัดพอดแคสต์ แล้วก็เราได้มารับฟัง Section สาระที่น่าสนใจจากในงานด้วยก็ถือว่าเราได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงเลยทีเดียว แล้วเราก็ได้แบบเทคนิคอะไรต่าง ๆ มากมายจากผู้ร่วมวงการฮะ เพราะว่าวงการ Podcaster ยอมรับว่าตอนนี้ค่อนข้างโตขึ้น คือโตขึ้นมาเลย คือหลายคนเริ่มเข้ามาทำพอดแคสต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเล็กแบบคนเดียวแบบทีมเล็ก ๆ หรือว่าจะเป็นสื่อ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนก็เข้ามาทำพอดแคสต์มากขึ้น อันนี้ก็คือสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของวงการนี้ แล้วว่ามันเป็นเสน่ห์ แล้วเราก็คาดว่า มันน่าจะโตและน่าจะมีผลตอบรับที่ดีขึ้นมาได้ ก็ประมาณนี้ครับ”

ทียังเล่าต่อว่า “ส่วนเรื่องการทำพอดแคสต์เราได้อะไรเพิ่มอีก ก็เราเป็นอีกทีมหนึ่งแนวคิดจะแปลกกว่าชาวบ้าน แนวไหนที่มีในตลาดแล้วเราจะไม่ไปแข่ง เราจะก้าวออกมาแล้วออกไปทำอีกแนวหนึ่งของเรา ซึ่งเรารู้สึกว่าเฮ้ย ตลาดยังต้องการอยู่นะ แนวนี้ยังไม่มีนะ เราก็ก้าวมาทำตรงนี้ เราก็ได้รับคำปรึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ Mix & Mastering ซึ่งเป็น 1 ปัจจัยสำคัญในพอดแคสต์ รวมถึงการพัฒนา การดำเนินงาน ซึ่งก็ได้รับความรู้จากพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการเยอะมาก ส่วนเรื่องของมิตรภาพผมยอมรับว่า คือเนื่องจากเราเคยพูดไว้ว่า FEEDPOD เราคือรวมจากกลุ่มชุมชนเดิมเราอยู่แล้ว เราก็ได้มิตรภาพตรงนี้มาแล้ว ซึ่ง FEEDPOD มันก็เป็นเหมือนกองกลางเหมือนกันที่ทำให้ชุมชนที่แตกต่างกันเขามารู้จักกัน อย่างเช่นผมก็รู้จักพี่ก้อง รู้จักอีกหลายคนที่เขาก็เติบโตไปอีกทางหนึ่งของเขา กลายเป็นว่าก็เป็นตัวกลางการสร้างมิตรภาพ นั่นแหละ ผมก็พูดไม่ถูกเหมือนกัน”

นัทเล่าเพิ่มเติมว่า “พอดแคสต์ถ้าเป็นสำหรับผม ณ เวลานี้ ใน 2 ปีที่ผ่านมามันคือการล้มลุกคลุกคลาน แล้วการเหมือนแบบว่าได้ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ต่าง ๆ พอเราเริ่มรู้จักคำว่าพอดแคสต์ เราก็พยายามไปค้นคว้ามัน เริ่มพยายามในสิ่งที่เราไม่ถนัดอย่างเช่นการ Mastering เสียง การเขียนบทพอดแคสต์ การทำโปรโมตหรือการทำปก ทุกอย่างมันคือการล้มลุกคลุกคลานในวงการ และผมคิดว่าอีก 2-3 ปีที่จะผ่านผมก็ยังต้องล้มลุกคลุกคลานในฐานะ Newbie ต่อไป แต่ว่าการเดินทางในครั้งนี้ผมว่าพอดแคสต์สิ่งที่จะสอนผมมากขึ้นคือความอดทน และความพยายาม และความรักของ Community ที่ให้ทั้งความรู้ และก็ให้กำลังใจกับพวกเราในทุกครั้งที่ผ่านมาในการให้คำปรึกษา ในการช่วยกันโปรโมตอะไรอย่างเนี้ย คำว่าพอดแคสต์มันนอกจาก Production แล้ว มิตรภาพมันก็สำคัญมาก ๆ ในวงการนี้เช่นกันครับ”

เป้าหมายอีก 2 ปีข้างหน้าของ FEEDPOD

พอพูดถึงเป้าหมายของการทำ Podcast ต่อไปของ FEEDPOD ทีเล่าว่า “อีก 2 ปีข้างหน้าคือเราก็พยายามจะรังสรรค์ผลงานเดิม ๆ แล้วก็เพิ่มสิ่งใหม่ ๆ รังสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สิ่งแปลกใหม่ให้วงการเข้าไปตลอด เหมือนโฆษณา ๆ นึงเลยครับ เราจะไม่หยุดพัฒนาครับ เราจะพูดคำนี้เลย”

นัทเล่าเสริมว่า “คือเราก็จะพยายามพัฒนาใน 2 ปี ตอนนี้เป้าของเราตอนนี้ที่วางไว้คือเราจะพยายามแตะหลักหมื่นให้ได้ภายในนั้น ในเพจของเรา ยอด Engagement ของเรา ให้มันสูงขึ้นอะไรอย่างเนี้ย ซึ่งมันมีเป้าหมาย 10,000 คือเราอยากได้ยอดผู้ฟังมากขึ้น สองคือเราอยากได้ผมสีชมพูของทีด้วยนะครับ (หัวเราะ) ก็นั่นแหละครับสำหรับใครที่ไลก์มาก็ขอนะครับ 10,000 เพื่อเป้าหมายของผมทันใจนะฮะ”

ฟลุ๊คยังเล่าต่อว่า “ในขณะเดียวกัน หลังจากที่เราหวัง 10,000 เราก็พยายามแบบ เหมือนต้องรันขึ้นคอนเทนต์ขึ้น รันเนื้อหาขึ้น ก็จะรันคอนเทนต์ใหม่”

นัทยังเล่าว่า “อะไรแปลก ๆ จะตีช่องทางโซเชียลใหม่ ๆ คือส่วนมากของเราในทางที่ผ่านมาคือทุกปีถ้าเริ่มมีโซเชียลมีเดียหรือฟอรั่มอะไรใหม่ ๆ เข้ามา เราก็จะเริ่มไปตีตลาดเป็นเจ้าแรก ๆ อะไรประมาณนี้ อย่างประมาณปีก่อนที่มี Podcast Platform อันนึง ที่เป็นการเขียนบทความในนั้นฮะ เราก็เริ่มเข้าไปแบบว่าเขียนบทความ หรือไม่ก็ไปลงพอดแคสต์ไว้ที่เจ้านั้นก่อนอะไรอย่างนี้ รวมทั้งถ้ามีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เราก็จะพยายามเข้าไปสร้างแบรนด์ของเราก่อน ซึ่งใน 2 ปีนี้เรามองการสร้างแบรนด์ของเราให้ชัดมากที่สุด เพราะอย่างที่บอกว่ารายการเราถึงแม้ข้อดีคือการที่รายการเรามีมากมาย มีหลายแบบให้คุณติดตามคือใช่ แต่ว่าส่วนมากคนจะไม่ค่อยรู้จักว่าคำว่า FEEDPOD มันคืออะไร ส่วนมากจะไปมองตัวรายการ ตัวรายการเดี่ยว ๆ มากกว่า อย่างเช่นอาจจะไปมอง คุณฟลุ๊คพอดแคสต์ คนที่ติดตามก็ไปบอกคุณฟลุ๊ค Podcast เฉย ๆ อาจจะมอง Fact A Week แต่ว่าคนส่วนมากอาจจะยังไม่รู้จักแบรนด์ของ FEEDPOD มาก ซึ่งตรงนี้เราพยายามว่า 2 ปีเราจะสร้างแบรนด์ของเราให้มันชัดขึ้นว่าคือ Community Podcast ที่คุณจะมีความสุขกับเราและมอบสาระความรู้ให้กับเราเสมอนะฮะ ตาม Motto ของเราฮะ”

ฟลุ๊คเล่าเพิ่มเติมอีกว่า “แล้วก็รวมถึง 2 ปีมานี้ FEEDPOD จะเป็นเหมือนแบบเวทีนึง พื้นที่ๆ นึงซึ่งให้คนใหม่ๆ เนี่ยลองเข้ามา เข้ามาทำพอดแคสต์ ลองดูก่อน ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็โอเค ถือว่าได้ลองทำแล้ว แล้วถ้าทำแล้วเวิร์ค ก็จะได้มาจัดต่อ ๆ ไป ซึ่งดููจาก 4 คนที่ผมเล่าไป ก็น่าจะได้ทราบกันแล้วว่า FEEDPOD พยายามปั้นรายการใหม่มากขนาดไหน แล้วก็จะมีอีกหลายคนเลยในอนาคตที่อยากจะมาร่วมงาน แล้วก็ยังมีอีกหลายคนที่น่าจะรอเราอยู่ ใช่ไหม เราไม่หลงตัวเองใช่ไหม”

นัทพูดแบบติดตลกว่า “ไม่หลงตัวเอง เราไม่หลงตัวเอง (พูดแบบติดตลก) ก็พยายามที่จะว่า อย่างหนึ่งข้อดีของเราคือเราเปิดรับ Podcaster ทุกคนที่สนใจในการทำอะไรใหม่ ๆ ส่วนมากเราจะมีทีมของเรา สมมติว่ามีคนทักมาว่าอยากจะทำพอดแคสต์เนี่ย เราก็จะไปคุยกันก่อนว่าอยากทำแบบไหน แล้วเราก็จะจัดสรรทีมให้คุณที่เหมาะสมกับคุณอะไรอย่างนี้ เป็นการช่วยเหลือมากกว่า เราให้ลองทำสักซีซั่นหนึ่ง ผลตอบรับเป็นยังไงเดี๋ยวเราค่อยมาวิเคราะห์อีกทีนึง ไม่ดี ก็ถือว่าคุณได้ทำ ถ้าดีก็ได้สานต่อแล้วก็พัฒนากลายเป็นคอนเทนต์ในอนาคตต่อไป ซึ่งนี่ก็เป็นอีกจุดแข็งนึงที่เรามองไว้ ซึ่งอนาคต ตอนนี้ก็ยังเปิดรับ”

ทีเล่าโดยสรุปว่า “ตอนนี้ก็ยังเปิดรับอยู่ ยังอะไรอยู่ว่าถ้าเกิดคุณอยากเข้ามาเราก็ให้โอกาสตรงนี้เรื่อย ๆ เราพร้อมจะเป็นเหมือนแบบที่ปรึกษาเป็นเวทีนึงที่ให้คุณตัดสินใจว่าเออคุณอยากลองทำพอดแคสต์นะ คุณเข้ามาตรงนี้ได้พวกเราพร้อมให้คำปรึกษา พร้อมให้คำแนะนำหรือว่าหาข้อติเตียนหรืออะไรต่าง ๆ”

ทำเอาสนุก ไม่เน้นเงิน เพราะถ้าเน้นเงิน จะไม่สนุก

พอถึงตอนนี้หลายคนคงอาจจะได้ยินว่า FEEDPOD มีเป้าหมายอย่างไรบ้าง? เราเลยลองถามเรื่องเงินไปว่าคาดหวังมากน้อยแค่ไหน? ทีตอบกลับมาว่า “ทุกคนคาดหวังเรื่องเงินก็เหมือนกันหมดครับ ทุกคนคาดหวังเรื่องเงิน คาดหวังเรื่องรายได้ แต่ในเมื่อเรานำความสนุกขึ้นมาก่อน เราก็ต้องเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 2 เพราะยังไงคือเรายังไม่มีอะไรการันตีตัวเองขนาดนั้น เราพยายามหา พยายามก็ตาม แต่ว่าสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ได้เอื้ออำนวยขนาดนั้น ทุกอย่างเอื้ออำนวย เศรษฐกิจ โรคระบาดไม่ได้เอื้ออำนวยให้เราเลย เราก็กัดฟันสู้ต่อ ซึ่งเราก็ประกาศทุกครั้งใครพร้อมจะมาลงเราก็ลง เราพร้อมให้และพร้อมเซอร์วิสให้คุณตลอด ส่วนเรื่องรายได้ตอนนี้เราก็คงต้องหากันเองก่อน”

นัทเล่าเพิ่มเติมว่า “ณ เวลานี้เรายังต้องหากันเองอยู่ แล้วก็ตอนนี้ก็พยายามจะหาช่องทางในการเรียกว่าขายงาย คือเราพยายามมองเรื่องความสนุกแล้วอย่างนึง เราต้องทำมันให้มันดีที่สุดในแต่ละรายการ ๆ นั้น ซึ่งผมว่าเมื่อตัวรายการดีแล้วเราสามารถเอาตัวรายการที่สนใจไปขายให้กับเอเจนซี่หรืออะไรอย่างนี้ได้ เราก็มองเป็นในด้านนั้นมากกว่าว่า เราขอทำตัวงานของเราให้มันดีขึ้นมาให้มันแบบว่ามีมาตรฐานมากพอเราถึงจะเอางานตัวนี้ไปขายให้ลูกค้าเพราะว่ารู้สึกว่าการขายงานชิ้นนึงมันเป็นสิ่งที่สำคัญแล้วก็มันส่งผลต่อชื่อของพวกเราด้วย เพราะว่าแต่ละหลายรายการมันมีปัญหาทั้งทางด้านที่อยู่ที่ไม่ตรงกัน การ Mastering เสียง การบันทึกเสียงที่คุณภาพไม่โอเคสักเท่าไหร่”

เคล็ดลับในการทำ Podcast ของเหล่า FEEDPOD

พูดถึงเคล็ดลับในการทำ Podcast ในแต่ละเจ้าก็มีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ สำหรับ FEEDPOD ก็เช่นกัน ทีเริ่มเล่าว่า “หลาย ๆ รายการ ถ้าพูดถึงก็คือพอดแคสต์มันก็คือความชอบคือเหมือนเป็นการปลดปล่อยความชอบ มันคือบทความในรูปแบบเสียง เราปลดปล่อยความชอบตรงนั้นมาเราเอาตรงนี้ที่เรารู้ปล่อยไปให้เขา เผื่อเขามาติดตาม เขามาฟังด้วย และเนื่องจากที่พวกเราอยู่คนละสถานที่ก็คือเจอหน้ากันบ่อย ๆ ก็ได้นะ ผมก็คือเหมือนเปิดโปรแกรมสักอย่างนึงมาคุยกัน ที่แบบเป็นโปรแกรม Connection อย่าง Skype, Discord, Google Meet, Microsoft teams อะไรก็ได้เปิดขึ้นมา แล้วก็มานั่งคุยกันเล่น ๆ เหมือนคุณเจอหน้ากันทุกวันฮะ ก็คือเปิดมาคุยอยู่หน้าคอมอะไรอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ได้ แล้วก็พวกคุณจะได้แบบไม่มีความรู้สึกว่าเออ เราห่างเหินกันไปนะ”

นัทยังเล่าเพิ่มเติมว่า “มันคือการสร้างความสัมพันธ์กันก่อน ก่อนในการทำรายการใด ๆ สักรายการนึงคือเราต้องละลายพฤติกรรมกันก่อนโดยการจะยอมพูดในสิ่งที่เราสนใจ ซึ่งผมก็เชื่อว่ามนุษย์สมัยนี้นะในยุคใหม่มันเป็นมนุษย์ที่เลือกได้ คือถ้าเราไปมองในสมัยทีวีเก่า ๆ เวลาดูทีวีเรา บางทีเราก็เลือกไม่ได้ว่าเราอยากดูรายการนี้แต่สมัยนี้คนเราเลือกได้ เพราะฉะนั้นจะเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบเสมอ เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่มีความรู้ในด้านของตัวเองที่แตกต่างกันเวลามาเล่าพอดแคสต์ หรือสิ่งหนึ่งเวลาที่คนเล่าจะมาเล่าเรื่องนั้นได้จะต้องเป็นความมั่นใจ ซึ่งความมั่นใจคือเรื่องที่เรารู้มากที่สุด นั่นก็คือเทคนิคนึงในการทำพอดแคสต์ที่เราพยายามจะเสนอในแต่ละคนว่า คุณรู้เรื่องไหนมา เดี๋ยวเราจะช่วยตบช่วยตีช่วยหาข้อมูลให้ ช่วยตบข้อมูลให้ คอยเรียบเรียงให้ ซึ่งอีกอย่างหนึ่งคือถ้ามองเรื่องของการทำงานในด้านนี้นะครับผม มิตรภาพก็สำคัญในพวกเราคือต้องพยายามพูดคุยกันละลายพฤติกรรมกันให้ได้มากที่สุด เพราะว่าบางทีคนเราอาจจะแบบว่าไม่กล้าพูด คือแม้ตัวเองจะรู้นะ แต่ว่าเราไม่กล้าพูดเพราะเราอยู่กับใครที่แบบไม่รู้ มันจะเกร็ง ๆ อย่างที่น้องทีบอกเราต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ในทีมงานของเราเอง ต้องรู้จักมุกคนว่ามีลักษณะนิสัยอย่างไร แล้วก็รู้จักวิธีการพูดของแต่ละคน เพราะว่าบางทีของผมซึ่งอยู่ในสายงานตัดต่อ ผมก็จะพอรู้จังหวะการการพูดของแต่ละคน เมื่อถึงเวลาที่การตัด สมมติสัญญาณ มันจะมีเรื่องของสัญญาณเน็ตด้วยนะครับ เป็นอุปสรรคนึงในการตัดพอดแคสต์ออนไลน์ พอรู้จังหวะการพูดของแต่ละคนเราก็จะรู้ว่าเราจะตัดช่วงไหนออกมาต่อเป็นคำได้ ซึ่งการที่เรารู้ว่าแต่ละคนมีนิสัยการพูด นิสัยการใช้คำยังไงเนี่ย อันนี้เป็นส่วนช่วยเหลืออย่างหนึ่งในส่วนของพาร์ทตัดต่อด้วยเช่นกัน ณ ตรงนี้”

เด็กเกินไปที่จะทำเหรอ? แนวคิดของผู้ใหญ่ที่มองเด็กแบบนี้

ทีเล่าให้ฟังถึงการทำงานแล้วผู้ใหญ่มักจะมองว่าเด็กเกินไปรึเปล่า? “หลายคนตกใจมากกว่าว่าเราอยู่ในวัยนี้แต่เราเริ่มทำพอดแคสต์กัน เพราะว่าวัยนี้ก็จะเห็นความเห็นตรงกันว่าเขาไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การเล่นเกม หรือว่าจะเป็นเรื่องของการพูดคุย ซึ่งมันจะเขาก็ไม่ได้สนใจตรงนี้มาก เด็กสุดเคยเจอมาในยุคของพวกเรานี่ ตอนที่พวกเราทำมาเราเคยเจอประมาณ 16 มั้งฮะที่เคยเจอ ก็ถือว่าสนับสนุนคนกลุ่มวัยนี้เหมือนกันว่า เออ อยากลองมาทำก็ได้เลย ด้วยความที่วงการนี้มันไม่ได้คับแคบหรือว่าจำกัดวงอายุอยู่แล้ว มันเป็นวงการที่เปิดเผยหรือ Freebies คำครหาส่วนมากถามว่าเคยเจอไหม เคยเจอ แต่ว่ามันจะน้อยนิดนึง ด้วยความที่วงการช่วงนั้นยังไม่เป็นที่สนใจเยอะ ก็คือ อันนี้พี่นัท เราเล่าเลยนะเรื่องที่นี่เคยเจอ”

นัทเล่าเสริมว่า “เรื่องที่เคยเจอนะ ก็อย่างเช่นว่าการที่คุณตั้งคำถาม มันจะมีคนมาถามเราเสมอว่าเราทำแบบว่าเราทำไปทำไม ใครจะฟังอะไรอย่างนี้ ผมจำคำครหาช่วงนั้นไม่ได้แล้ว ผมพยายามลืม ๆ มันไป เพราะว่าถ้าเรามัวแต่ตั้งคำถามว่าเราจะทำไปทำไม เราจะทำไปเพื่อใครเราก็จะไม่ได้ทำสักที แต่ด้วยความโชคดีด้วยแหละครับ คนรอบข้าง สังคมรอบข้างก็เข้าใจว่าเราทำในจุด ๆ ไหน แล้วก็เรามีเป้าหมายอย่างไร ถ้าเราตั้งใจทำอะไรชัดเจนผมว่าคนที่อยู่รอบข้างเราคนที่แบบว่าคนที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเราเขาก็จะเข้าใจในสิ่งที่เราทำ และพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่ทำเสมอครับ มองว่าอายุมันอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญในการทำวงการนี้เท่าไหร่”

เพราะมิตรภาพ ทำให้เขามาเจอกัน

ฟลุ๊คเล่าถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้เขายังคงทำจนถึงทุกวันนี้อยู่ว่า “ความสนิทสนมกัน เป็นปัจจัยนึงที่เราอยู่ร่วมกันได้ครับ เพราะว่าพวกเราอยู่กันมานาน จริง ๆ เราถ้า FEEDPOD ยุคจาก FEEDPOD จะมีนานกว่านั้น ก็คืออีกกลุ่มนึง เป็นกลุ่มเกมโชว์ เราก็รู้ไส้รู้พุงทุกคน แล้วก็จะมีการผูกมิตร มีแซวอะไรกันบ้าง เราก็ผูกมิตรกันไป มีเล่นตลกอะไรกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ผมว่าการผูกมิตรมันก็ดีอย่างนึงเลย ถ้าเราไม่ผูกมิตรแล้วทะเลาะกัน แล้วอาจจะมีทะเลาะกันกันบ้าง แต่ว่าทะเลาะกันแล้วเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเราจะกลับมาเข้าใจและรับฟังกันได้ยังไง พอเรากลับมาเข้าใจกันแล้วเราก็ผูกมิตรกันใหม่เรื่อย ๆ แล้วก็อยู่กัน ความเข้าใจนี่แหละคือสิ่งสำคัญ”

สื่อเล็กไม่โต เพราะคนอ่านสื่อใหญ่มากกว่า

ก่อนปิดท้ายการสนทนากัน เราถามคำถามสุดท้ายว่าทำไม Content Creator เล็กไม่โตไม่สักที กลับกันคนชอบ Content Creator โตกันมากกว่ากัน ซึ่งนัทตอบว่า “อันนี้ในส่วนของตัวผม ผมจะมองว่าด้วยสื่อใหญ่มีโอกาสมากกว่าด้วยโอกาสแล้วก็การที่ใช้ เขาเรียกว่าผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน Connection เล็ก ๆ หรือความยอดนิยมที่เข้ามีสร้างอยู่ คนไทยน่าจะชอบความที่เป็นเอกมากกว่า คือเป็นหนึ่งมันต้องมีเจ้านี้เจ้าเดียวเท่านั้นหรืออะไรอย่างนี้ มันน่าจะเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เราแบบว่า สงคราม Content Creator หลาย ๆ ท่านก็ต้องฝ่าฟันไปทั้งว่าจะต้องทำคอนเทนต์สู้ สู้กับเขาอย่างไร แล้วก็อีกสิ่งหนึ่งอาจจะมองว่ามันอาจจะเป็นปัจจัยภายในด้านของ ทุนนิยมของสื่อที่มองว่าเจ้าใหญ่ต้องแบบว่ามีแรงมากกว่ามีคุณภาพมากกว่า ซึ่งตัวโฆษณาก็จะไปลงกับทางนั้นเสียมากกว่า ก็เลยมองว่า อันนี้มองเป็นส่วนตัวว่า ผมว่าทุนเล็กคือ อีกอย่างก็ต้องบอกทุนเล็กด้วยว่า ทุนเล็กบางทีอาจจะแบบว่า สร้างมาพอไม่ประสบความสำเร็จก็ยอมเลิกไป ก็ยอมเลิกไปทั้งที่ไม่ได้ไปสู้ต่ออะไรอย่างนี้ ผมว่าถ้าลองสู้ต่ออีกสักก้าวหนึ่ง ก็น่าจะส่งผลให้ตัวเองก็มีชื่อทางสังคมหรืออะไรตอนนี้มากขึ้นมา แต่ก็ยังมองเรื่องของทุนนิยมว่ามันก็คือปัญหาของสื่อไทย ณ ปัจจุบัน”

เราวางสายกันไปด้วยความสุขที่ได้คุยกันเกือบ 1 ชั่วโมง และสุดท้ายเราก็ขอฝากพวกเขาไว้ใจอ้อมอกอ้อมใจของทุกคนด้วยนะครับ กับ FEEDPOD ติดตามได้ผ่านทาง Facebook : Feedpod, Twitter : @feedpodsthai, Instagram @feedpod_podcast


บันทึกการสนทนาโดย กันต์ หิรัญคุปต์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า