fbpx

“แย้ทะยานฟ้า” ความทะเยอทะยานครั้งใหม่ที่อยากเห็นหนังสัตว์ประหลาดไทยเป็นที่นิยม

ตลอดช่วงเวลานับเก้าสิบกว่าปีของประวัติศาตร์หนังไทย เรามักจะได้เห็น “หนังสัตว์ประหลาด” ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ขึ้นมาให้รับชมบ้างเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะทั้งด้านทุนหรือด้านการผลิตทำให้หนังแนวนี้ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ในตลาดหนังบ้านเราจนกลายเป็นหนึ่งในแนวหนังต้องสาป ที่น้อยเรื่องนักจะสร้างกำไรเข้ากระเป๋าได้

แต่ถึงกระนั้น กระแสหนังสัตว์ประหลาดก็ถูกจุดติดอีกครั้งผ่านผลงานละครอย่างเรื่อง “นาคี” หรือ “พิภพหิมพานต์” ผ่านการปลุกปั้นสัตว์ประหลาดโดย Fatcat Studios บริษัทซีจีสัญชาติไทย ผมเลยขอใช้โอกาสนี้สัมภาษณ์พี่เต้ย-ชาลิต ไกรเลิศมงคล ที่ไม่ได้มีบทบาทเป็นแค่เจ้าของบริษัท แต่ในฐานะผู้กำกับมือใหม่กับการฝากผลงานหนังสัตว์ประหลาดอย่างไลโอ โคตรแย้ยักษ์ ที่เมื่อบทความนี้เผยแพร่ก็คงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปแล้ว

ว่าแต่อะไรกันนะ ที่ทำให้พี่เขาอยากกำกับแนวหนังต้องสาปแบบนี้?

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ด้วยความที่พี่เต้ยเป็นเจ้าของบริษัทผลิตซีจี ผมเลยขออนุญาตถามย้อนความหน่อยครับ ว่าอะไรที่ทำให้พี่เข้ามาอยู่ในวงการซีจีจนถึงกับเปิดบริษัทของตัวเอง?

“คือย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วเนี่ยมันเป็นช่วงที่พี่เพิ่งเรียนจบ ด้วยความที่ชอบงานแอนิเมชั่นก็เลยพยายามหางานแนวนี้ทำ ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่วงการเริ่มบูม เริ่มมีออฟฟิศที่เปิดทำพวกการ์ตูนอนิเมชั่นพี่ก็เลยเข้าไปทำเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ทำได้สักพักหนึ่งพี่ก็ได้มีโอกาสย้ายไปทำเรื่อง “ก้านกล้วย” ที่กันตนา มันก็เริ่มจริงจังมากขึ้นจากที่งานก่อน ๆ มันจะเป็นแค่งานแอนิเมชั่นการ์ตูนลงทีวี พอได้ขยับสเกลมาเป็นภาพยนตร์มันก็เลยเป็นโปรเจคใหญ่ มีพี่คำป้อน (คมภิญญ์ เข็มกำเนิด) ที่เคยมีประสบการณ์จากวอลต์ ดิสนีย์มาคุมงานบวกมาช่วยพัฒนาฝีมือ ทีมงานเราก็ได้ฝึกฝีมือไปด้วย”

“แต่จริง ๆ แล้วพี่ชอบงานในรูปแบบภาพยนตร์ที่เป็นคนแสดงมากกว่าก็เลยพยายามหาลู่ทางด้านนั้น มันเริ่มมาจากการที่เราก็คันไม้คันมือเลยคิดทำหนังสั้นเอง เอากล้องมาถ่ายหนังสัตว์ประหลาดสั้น ๆ ดูว่าตัวเองสามารถทำหนังแนวนี้ได้มั้ย มันเลยออกมาเป็นหนังคัลท์ชื่อเรื่องว่า “จิ้งจกคลั่ง” ก็เป็นหนังสั้นที่มีสัตว์ประหลาดจิ้งจกผสมการต่อสู้แบบกังฟูฮา ๆ ไป พอทำเสร็จก็แชร์ให้เพื่อน ๆ ก๊วนเดียวกันที่อยากที่อยากทำหนังไทยที่ผสมความเป็นแฟนตาซีดู

แล้วมันโชคดีที่พี่แว่น (ทวีลาภ เอกธรรมกิจ – มือวาดสตอรี่บอร์ดที่ทำงานให้กับหนัง GTH อย่างเรื่อง “พี่มาก..พระโขนง”) เขามาเห็นพอดีก็เลยบอกว่ามันมีโปรเจกต์หนังสัตว์ประหลาดซีจีแต่ยังหาคนทำไม่ได้ พี่เลยได้เข้าไปทำหนังเรื่องนั้นซึ่งก็คือเรื่อง ‘ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์ (2551)’ ช่วงระหว่างทำพี่ก็ได้งบมาทำและตั้งทีม พอเห็นผลงานที่เสร็จมันก็เริ่มเห็นลู่ทางว่าถ้าจะทำหนังแบบนี้เนี่ย เราอาจจะต้องตั้งบริษัทของตัวเอง”

พี่เต้ยเล่าต่อว่าถึงจะตั้งบริษัทเป็นของตัวเองแล้ว งานในช่วงแรกของ Fatcat Studios ก็มีแต่งานลบสิ่งไม่พึงประสงค์อย่างเช่น สลิง เครื่องบิน หรือจานดาวเทียมที่เข้ามาในฉากมากกว่า ดีขึ้นหน่อยก็ตรงที่ถ้าเป็นหนังผีก็จะได้ใส่เอฟเฟกต์เพิ่มความน่ากลัวให้ 

ถึงจะใช้วิธีเดิมอย่างการคิดโปรเจกต์เอง ถ่ายเองก็ยังเจอปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติ เช่นการทำหนังซีจีเรื่องหนึ่งต้องใช้ทุนสูงแต่หนังแนวนี้กลับไม่เป็นที่นิยมในตลาดหนังบ้านเรา ถึงค่ายหนังจะมั่นใจในฝีมือทีมงานแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายยังไง

จนกระทั่งมีวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ทำให้คนไปดูหนังในโรงไม่ได้ Fatcat Studios เลยได้มีโอกาสเบนเข็มมาทำงานให้กับฝั่งละครที่ถึงตัวเนื้องานจะมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบเยอะขึ้นแต่กลับกัน มันกลายเป็นพื้นที่ ๆ ทำให้ทีมงานได้ปล่อยของ

“เราประเดิมเรื่องแรกด้วยเรื่อง ‘มณีสวาท (2556)’ แล้วปรากฏว่ากระแสตอบรับมันก็ดีนะ คนเริ่มพูดถึงเรื่องซีจีเยอะขึ้น ถ้าเทียบกันละครมันจะดีกว่าหนังตรงที่มีแอร์ไทม์นานกว่าจะถึงตอนจบ ระหว่างนั้นมันเลยมีโอกาสพูดถึงเยอะเพราะคนดูได้ทุกช่องทางด้วย ไม่เหมือนกับหนังที่มีระยะสามวันอันตราย คือถ้ารายได้สามวันแรกไม่ดีก็มีโอกาสที่จะหายเข้าหลุมดำไปเลย

จนพอคนเริ่มยอมรับในเรื่องซีจีมากขึ้น ก็เริ่มมีละครเรื่องต่าง ๆ ตามมาอย่างเรื่อง ‘นาคี (2559)’ ที่พอฉายแล้วกลายเป็นกระแสระดับปรากฏการณ์ มีคนสนใจงานด้านซีจีมากขึ้น โปรเจกต์ที่เราคิดไว้อย่าง ‘พิภพหิมพานต์’ ก็ได้รับการอนุมัติไป ถึงจะไม่ได้กำกับเองแต่พิภพหิมพานต์เลยถือเป็นโปรเจ็กต์แรกที่กลั่นมาจากไอเดียของ Fatcat Studios ล้วน ๆ”

]
แล้วอะไรที่ทำให้พี่อยากก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับครับ?

“หลังจากที่เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายโปรเจกต์มันก็เลยเริ่มมี know-how ของตัวเอง พอประสบความสำเร็จจากพิภพหิมพานต์ เราเลยได้มีโอกาสคุยเรื่องโปรเจกต์หนังกับทางเนรมิตรหนัง ฟิล์มที่ตอนนั้นอนุมัติโปรเจค 4KINGS แล้ว 

ซึ่งตัวพี่เองมีแรงบันดาลใจจากที่ตอนเด็ก ๆ เคยดูหนังพวกจูราสสิกปาร์ค คนเหล็ก เอเลี่ยนแล้วทึ่งในสเปเชียลเอฟเฟค เลยรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสได้ทำก็อยากจะทำหนังที่มีสัตว์ประหลาดที่ฝรั่งเขาไม่ทำกันแน่ ๆ เช่นพวกสัตว์ในตำนานของไทยอย่างสัตว์หิมพานต์อะไรอย่างนี้ เราก็เริ่มตั้งเป้าตั้งแต่เด็กเลยว่าอยากทำงานในด้านนี้ แล้วยิ่งหนังอย่างเรื่อง ‘เทรเมอร์ส (Tremors)’ เนี่ยมันทำให้เราได้เห็นความเป็นต่างจังหวัดของฝรั่งด้วยอ่ะ พวกวิถีชีวิต ความเป็นคาวบอย มันมีเส้นเรื่องหรือวิวที่ทำให้เราแปลกตาแล้วอินกับมันด้วยเพราะเราเองก็เป็นคนต่างจังหวัด ก็เลยรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสได้ทำหนังสัตว์ประหลาดสักเรื่องหนึ่ง เราก็อยากทำให้มันเป็นแนวผจญภัย แอคชั่น เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดีนี่แหละ”

แพสชันให้พี่อยากกำกับเองด้วยใช่ไหมครับ

“ใช่ ๆ พอได้ทำเรื่องแรกเราก็จะประเมินศักยภาพตัวเอง ถ้าเป็นด้านการออกกองถ่ายหรือดีไซน์ซีนสัตว์ประหลาดต่าง ๆ เนี่ยพี่ก็จะดูเอง กำกับ เขียนบอร์ดเอง แต่ด้วยความที่พี่กำกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก็เลยอยากได้คนมาช่วยกำกับร่วมด้วยเพราะพี่รู้สึกว่าถ้าให้เราคนเดียวดูพวกเส้นเรื่อง การแอคติ้งด้วยมันน่าจะไม่ไหว

ที่มาของโปรเจกต์ “ไลโอ โคตรแย้ยักษ์”

“ที่มาเหรอ? มันมาจากการที่เราเอาโปรเจกต์ทั้งหมดที่เคยคิดมากางดูว่าอันไหนเป็นตัวเราที่สุด ก็เลยมาปิ๊งไอเดียตรงที่ว่าในบรรดาซีจีที่ทำเนี่ยเราทำสัตว์เลื้อยคลานบ่อยที่สุด อย่างเช่นตัวเหราในพิภพหิมพานต์ที่คนพูดถึงกันเยอะ เราเองก็มองว่ามันเป็นซีนที่สวยที่สุดและสามารถพัฒนาต่อได้

ช่วงแรก ๆ ก็นั่งคิดกันว่าจะเป็นหนังจระเข้ดีป่ะวะ แต่คุยไปคุยมาก็ได้ข้อสรุปว่าถึงทำมันก็สู้ฝรั่งไม่ได้หรอกเพราะแม่งผลิตกันมาเป็นร้อย ๆ เรื่องแล้วและงบเขาก็เยอะกว่าแถมไม่มีอะไรโดดเด่นให้น่าจดจำ ก็เลยย้อนกลับไปที่ความอยากของเราที่จะปั้นสัตว์ประหลาดไทย ๆ ออกมา คิดไปคิดมาก็เลยไปเจอตัวแย้นี่แหละ”

ทำไมต้องเป็นแย้?

“ตอนนั้นจำได้แค่ว่าแย้มันคือกิ้งก่าประเภทหนึ่งที่อยู่ใต้ดิน พอค้นหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่ามันเจ๋งดีนี่หว่า มันมีสีสันลวดลายสวย มุดดินได้ หน้าตาก็ดูมีคาแรคเตอร์ที่เอามาพัฒนาต่อได้ ก็เลยเกิดขึ้นเป็นโปรเจคที่ตอนนั้นชื่อว่า “อีสานอันเดอร์กราวนด์” ขึ้นมา ปรากฏว่านายทุนชอบก็เลยออกมาเป็นหนังเรื่องแรกที่ Fatcat Studios ปั้นขึ้นมา

ในส่วนของเรื่องรายได้ เราก็คุยกับทางเนรมิตรหนังฯ นะว่าการทำหนังสัตว์ประหลาดในไทยมันค่อนข้างเสี่ยง ดังนั้นเราเลยต้องตีตลาดต่างประเทศด้วยเพื่อให้มันคุ้มทุน ในแง่ของการเล่าเรื่องมันเลยต้องปรับให้มีความเป็นสากลด้วย แล้วตัวซีจีเองมันจะต้องมีความเนียนในระดับที่ฝรั่งยอมรับด้วยนะ ซึ่งมันก็จะเป็นโจทย์ของทีมที่ต้องทำให้เต็มที่ในการสร้างแต่ละช็อต

อันดับแรกก็คือการรีเสิร์ชข้อมูล เวลาหนังฝรั่งที่เขาทำพวกมังกรหรืออะไรที่เราดูแล้วรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวเหมือนจริงเนี่ย มันเป็นเพราะว่าเขาให้เวลากับการรีเสิร์ชมาก พอทำไลโอเราก็เลยพาทั้งออฟฟิศไปหมู่บ้านแย้ที่สุพรรณบุรีกัน ไปดูพฤติกรรมการเคลื่อนไหว การมุดดินไปจนถึงเรื่องการล่าสัตว์และ texture ของตัวแย้เพื่อเอามาพัฒนาในการทำขั้นตอนการออกแบบตัวละคร

พี่เจอปัญหาอะไรบ้างในการกำกับการแสดงในหนังที่ใช้ซีจีเยอะ?

“คือเราก็รู้แหละว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีหนังหรือละครที่ใช้ซีจีเยอะ ๆ ชั่วโมงบินของนักแสดงในด้านนี้เลยไม่ได้เยอะตาม เราก็เลยพยายามเลือกนักแสดงที่ผ่านงานด้านนี้มากที่สุดจนได้คุณกอล์ฟ (พิชญะ นิธิไพศาลกุล) มาเป็นพระเอกซึ่งตัวเขาก็ชอบพวกสัตว์ประหลาดอยู่แล้วด้วย โอกาสในการได้เล่นหนังสัตว์ประหลาดในไทยมันน้อยเขาก็เลยตอบตกลง… แบบไม่ผ่านผู้จัดการด้วยนะ (หัวเราะ) ทีนี้พอได้พระเอกแล้ว ด้วยความที่คุณกอล์ฟเขารู้จักกับน้องฟาง (ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์) ก็สามารถช่วยแนะนำอะไรต่าง ๆ ได้ในระหว่างถ่ายทำ 

ในส่วนของการถ่ายทำเราก็มีการใช้สตอรี่บอร์ดแบบเคลื่อนไหว หรือ Pre-visual มาใช้เหมือนที่หนังต่างประเทศอย่างมาร์เวลเขาทำกัน อย่างพวกซีนต่อสู้เราก็จะมีให้นักแสดงดูว่าซีนเป็นแบบไหน มันสะดวกมากในการทำงานเพราะว่าถ้าพูดปากเปล่าอย่างเช่นว่า ‘สัตว์ประหลาดตัวใหญ่มาก’ คนก็จะนึกภาพไม่เหมือนกัน ซึ่งก็จะเสียเวลาถ่ายไปหลายเทคอีก

คราวนี้มาเรื่องวงการหนังไทยบ้างครับ พี่คิดยังไงกับการที่บอกว่าหนังสัตว์ประหลาดไทย ทำยังไงก็ออกมาเจ๊ง

“เรื่องนี้เราก็รู้ ๆ กันอยู่แล้วนะเพราะตัวเลขรายได้บอกชัดเจนตลอด แล้วด้วยความที่ตัวหนังต้องใช้ทุนสูง พอมันถูกสร้างมาน้อยความต่อเนื่องก็เลยขาด ทำให้กลุ่มคนที่ชอบหนังแนว ๆ นี้เกาะกลุ่มก้อนได้ยากไม่เหมือนกลุ่มคนดูหนังอื่น ๆ

พี่เลยรู้สึกว่าคอนเทนต์สัตว์ประหลาดไทยมันต้องการความต่อเนื่องอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหนัง ละคร หรือในรูปแบบคอมมิค อาร์ตทอยที่แพล็ตฟอร์มตอนนี้มันเชื่อมถึงกันง่ายแล้ว เอาจริง ๆ ปีนึงทำหนังสัตว์ประหลาดออกมาสองเรื่องมันก็พออยู่ได้แล้ว พอมันมีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ นักแสดง ทีมงาน มันเหมือนได้ฝึกฝีมือไปเรื่อย ๆ อย่างเรื่องแย้ไลโอเนี่ยมันก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ถ้ามีกระแสตอบรับหรือรายได้ที่ไม่ขาดทุน คนผลิตก็จะได้ผลิตหนังเรื่องใหม่ที่ดีขึ้นได้”

พี่คิดว่าวงการหนังไทยตอนนี้ Play Safe ไปมั้ย เพราะไม่ค่อยมีหนังแนวอื่น ๆ ฉายโรงเลย?

“แนวหนังที่นิยมตอนนี้มันดีและแข็งแรงอยู่แล้วอ่ะ พอมันแข็งแรงและเป็นที่นิยมก็เลยมีการผลิตแนวเดิมที่ถี่ขึ้นซึ่งมันก็อาจจะตัดโอกาสในการที่หนังแนวอื่น ๆ จะได้เติบโตได้เก่งขึ้นได้ แต่ก็ว่าไม่ได้นะที่เขาจะทำหนังแนวเดิม แต่มันจะดียิ่งขึ้นถ้ามีแนวใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง พอแนวหนังมีความหลากหลายมากขึ้น คนที่เบื่อหนังแนวเดิม ๆ ก็จะได้หันมาสนใจด้วย

พอมันไม่มีความหลากหลาย การที่เราจะเสนอหนังแนวอื่นกับนายทุนมันก็ยากด้วย สมมติว่าเราชอบหนังแนวดราม่าเข้ม ๆ อย่าง Parasite แต่พอเอาไอเดียไปเสนอค่ายหนังมันก็จะชอบเจอกำแพง เจอความไม่มั่นใจที่จะลงทุนเพราะว่าเขาไม่ค่อยได้ลงทุนกับหนังแนวนี้ ไม่รู้ว่าทำออกมาแล้วจะมีผลตอบรับที่ดีรึเปล่า

ดีที่เรามีโอกาสได้ทำหนังสัตว์ประหลาดหลายเรื่อง ความต่อเนื่องตอนนี้มันเลยเริ่มมี นายทุนเริ่มซัพพอร์ต เราก็เริ่มเห็นความหวังว่าหนังแนวนี้น่าจะจุดติดแน่ นอกจากนี้ก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกที่จะเข้าฉายตามมา มันคึกคักขึ้นอะพี่ว่า”

ผลตอบรับจากการไปฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศเป็นยังไงบ้างครับ

“อันนี้ขอเกริ่นก่อนว่าไลโอเนี่ย ทีมมาร์เก็ตติ้งของค่ายหนังได้ติดต่อไปขายหลายประเทศแล้วแต่ส่วนใหญ่จะเป็นโซนเอเชีย ซึ่งเป้าเราอ่ะอยากเอาไปขายยุโรปเลยเริ่มจากการส่งไปที่เทศกาลหนังแฟนตาซีที่สวิตเซอร์แลนด์ รออยู่สามวันก็ได้รับการตอบกลับว่าหนังเราได้รับการคัดเลือกเข้าไปฉายในสาขาเอเชียนแฟนตาซีที่มีเรื่อง ‘ชินอุลตร้าแมน’ อยู่ด้วย (หัวเราะ) อยู่ด้วย เราก็แบบ… เออแค่ได้เข้าร่วมก็สบายใจแล้ว

พอถึงตอนฉายปรากฏว่าคนแน่นโรงเลย แล้ววัฒนธรรมของเทศกาลเขาก็จะมีรีแอคชันชัดเจน พอถึงจุดที่ตัวละครเล่นมุขเขาก็ขำปรบมือกันเราก็อุ่นใจ… รอดเว้ย เขาเข้าใจ หรือพวกรีวิวหลังจากเทศกาลมันก็มีเข้าไปสู่แดนบวกมากกว่าแดนลบ คือคำติก็มี ซึ่งคำวิจารณ์แบบนี้พี่ว่าอยากให้มีในไทยเพราะว่ามันมีประโยชน์ ดีมากเลย”

แนวๆ คำวิจารณ์เพื่อให้เราได้พัฒนารึเปล่าครับ

“ใช่  ๆ คำวิจารณ์ในเทศกาลหนังมันเหมือนกับเขาวิจารณ์เพื่อให้เราไปต่อ ก็เป็นประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้กันไป อีกอย่างหนึ่งก็คือมันมีฉากที่เราไม่ได้ตั้งใจให้ฮาแต่ฝรั่งดันฮาเพราะวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน เราก็เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลได้ในเรื่องต่อ ๆ ไปถ้าเราจะทำให้เนื้อเรื่องมันเป็นสากล มันต้องมีการระดมสมองกันมากกว่านี้ ก็ถือว่าดีเลย”

อยากให้พี่เต้ยพูดถึงไลน์อัพ I am Monster ที่เนรมิตรหนัง ฟิล์มประกาศหน่อยครับว่ามันคืออะไร

“หลัก ๆ เลยคือมันเป็นไลน์อัปที่ค่ายเขาก็อยากให้มีความต่อเนื่องในด้านการผลิตผลงาน ยกตัวอย่างเช่นมาร์เวลเขาก็จะมีไลน์อัปของแต่ละปี ค่ายเนรมิตรฯเขาก็เลยรู้สึกว่าอยากวางไลน์อัปจักรวาลหนังสัตว์ประหลาดเพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ว่าจะมีหนังเรื่องอะไรบ้าง ก็เป็นการสร้างความต่อเนื่องอย่างที่บอกนั่นแหละ”

คำถามสุดท้ายครับ พี่มองอนาคตทั้งในวงการซีจีไทยและวงการสัตว์ประหลาดไทยอย่างไรบ้าง

“มองว่ามันจะมีหนังแนวนี้อยู่ในสารบบหนังไทยให้ดูเรื่อย ๆ ถ้ามีกระแสตอบรับที่ดีทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ ซึ่งพี่ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทั้งในด้านภาพยนตร์และด้านซีจีที่ดี ยุคก่อนที่เกาหลีจะครองตลาดโลกเขาก็เคยเป็นเหมือนเรานะ แต่มันต่างกันตรงที่สื่อบันเทิงประเทศเขาได้รับการสนับสนุนและต่อยอดมาตลอด และรัฐบาลก็ช่วยผลักดันเต็มที่ในหลายด้านด้วย 

เห็นได้ชัดมากคือเรื่องที่เขาให้ทุนส่งนักศึกษาไปเรียนสาขาภาพยนตร์ที่เมืองนอกอ่ะ มันไม่ใช่เหตุบังเอิญที่อยู่ ๆ สื่อบันเทิงเกาหลีจะไประดับโลกได้ ส่วนหนึ่งเราเลยคิดว่าการพัฒนาสื่อบันเทิงบ้านเรามันต้องมีการผลักดันจากรัฐบาลด้วย เราก็อยากให้เกิดสิ่งนั้นในไทยบ้าง”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า