fbpx

“แฟนพันธุ์แท้” จากความชอบสู่บททดสอบ พร้อมวิเคราะห์แบบเน้น ๆ

รายการควิซโชว์คือรูปแบบรายการเกมโชว์ประเภทหนึ่งที่ใช้การตอบคำถามเป็นตัววัดผลรายการ ซึ่งคำถามส่วนใหญ่แล้วเป็นคำถามความรู้รอบตัว กระแสข่าวในช่วงนั้น หรือไม่ก็สาระน่ารู้  แต่ถ้าหากรายการมีคำถามที่ผู้เข้าแข่งขันที่ชื่นชอบล่ะ ในประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้นรายการ “แฟนพันธุ์แท้” ที่ผลิตโดย Workpoint Entertainment นี่แหละ

หากพูดถึงรายการในตำนานอย่าง “แฟนพันธุ์แท้” แล้วหลาย ๆ คนคงจะนึกถึงรายการควิซโชว์ที่ให้สาระความรู้ในเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจและกลับมาเป็นที่สนใจได้อีกครั้ง ซึ่งในบทความนี้จะพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงรายการที่นำเอาความชอบของบุคคลมาเป็นคำถามสุดหฤโหดกัน

จุดเริ่มต้นที่ความชอบกลายมาเป็นบททดสอบ

ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2543 ก็ได้มีสกู๊ปชิมลางของรายการที่ชื่อว่า “แฟนพันธุ์แท้” ออกอากาศผ่านหน้าจอโทรทัศน์สู่สายตาประชาชนชาวไทย ซึ่งในรายการมีพิธีกรอย่าง “เอิร์ท ศัลย์” และ “โหน่ง ชะชะช่า” ในหัวข้อ “แฟนพันธุ์แท้ สายัณห์ สัญญา” โดยรายการมีรูปแบบทอล์กโชว์ผสมกับการเล่นเกมในช่วงท้ายรายการ เพื่อหวังเรียกกระแสรายการในเบื้องต้น

ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน ปีเดียวกันก็เป็นวันแรกที่รายการวัดความคลั่งไคล้ของบุคคลออกมาให้ผู้คนได้รับชมผ่านจอแก้ว โดยที่ในช่วงปีนี้ก็จะเป็นการค้นหาแฟนคลับพันธุ์แท้ที่รู้เรื่องของเหล่าดาราและศิลปินเป็นส่วนใหญ่ เพื่อมาลุ้นของรางวัลสุดพิเศษจากเจ้าของหัวข้อนั้น ๆ และเงินสดอีก 100,000 บาท ถ้าคุณตอบคำถามข้อสุดท้ายถูกต้อง

บททดสอบที่หลากหลายและยากยิ่งขึ้น

พอมาถึงปี พ.ศ. 2544 ก็เริ่มมีหัวข้อที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ , อุลตร้าแมน, พระเครื่อง, สามก๊ก, ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา, พรีเมียร์ลีก ฯลฯ จนได้มีการเปลี่ยนกติกาใหม่เป็นการนำแฟนพันธุ์แท้แต่ละท่านที่ตอบคำถามข้อสุดท้ายได้ถูกต้อง จะได้ของรางวัลที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อและรับสิทธิ์ในการแข่งขัน “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี” หรือที่เราคุ้นหูในชื่อ “FAN OF THE YEAR” ซึ่งการแข่งขันชิงชัยสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปีในปีแรกนั้น ด้วยความที่เป็นปีแรก ทุกอย่างเลยต้องมีการอธิบายสดกลางรายการ ผู้เข้าแข่งขันที่โดนจับฉลากเรียกชื่อเป็นคนแรก เลยไม่มีตัวอย่างในการเล่นให้ดู ทำให้ระหว่างเล่นก็มีมึน ๆ กันไปบ้าง

“สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี” การแข่งขันที่วัดถึงศักยภาพของแฟนพันธุ์แท้และทีมงานอย่างแท้จริง

สำหรับการแข่งขัน FAN OF THE YEAR ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องมีการเตรียมตัวในทุก ๆ เกมที่ทางทีมงานได้จัดสรรไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นเกมที่บีบหัวใจอย่าง 3 วินาที , ความแม่นในข้อมูลในเกมคำถาม-คำตอบ , ความเฮงในการเปิดป้ายและการวิเคราะห์คำตอบที่เฉียบคมกับเกมจิ๊กซอว์และเกมคุณสมบัติ โดยแต่ละหมวดจะมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 25 คะแนน และใครที่มีคะแนนสะสมทั้ง 4 เกม มากที่สุด 5 อันดับแรก ก็จะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเพื่อตัดสินต่อไป

สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในแต่ละหัวข้อต้องเคยเจอกันมาบ้างแล้วในรอบปกติหรือรอบประจำสัปดาห์ และสามารถนำมาวิเคราะห์จุดอ่อนของตนเองเพื่อที่นำไปปรับแก้และซักซ้อมให้เข้าทาง ในส่วนของทีมงานเอง ก็ต้องหาข้อมูลมาเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้มีความท้าทายมากขึ้น และสามารถดึงศักยภาพของผู้เข้าแข่งขันมาให้ได้มากที่สุด

ในรอบชิงชนะเลิศก็จะต้องเลือกเล่น 1 ใน 4 เกม ใครทำคะแนนได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะไป และการแข่งขัน FAN OF THE YEAR นั้น ก็เปรียบเสมือนสิ่งที่วัดในเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นแฟนพันธุ์แท้อีกด้วย โดยการแข่งขันในแต่ละปีก็จะมีเหตุการณ์แปลก ๆ ผ่านเข้ามาในการแข่งขันมากมาย

เหตุการณ์แปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในการแข่งช่วงแรก (2001-2008)

เริ่มที่ FAN OF THE YEAR 2001 ที่มีแชมป์ร่วมกันถึง 2 คนในปีแรก โดย 2 คน คือคุณวัชรพันธุ์ – อุลตร้าแมน และคุณราม – พระเครื่อง เลยต้องมีเกมตัดสินอีก 1 เกมนั่นก็คือ “คุณสมบัติ” เพื่อวัดกันแบบตัวต่อตัว โดยการเลือกคุณสมบัติ 1 ข้อ แล้วตอบ ถ้าตอบถูกก็จะขึ้นเป็นผู้ชนะก่อน ถ้าตอบผิดต้องลุ้นให้อีกคนเลือกคุณสมบัติ 1 ข้อแล้วตอบผิด เพื่อที่จะเลือกคุณสมบัติเพิ่มได้อีก และใช้กฎแบบรอบสุดท้ายที่ใช้ตัดสินแชมป์ ที่เรามักจะขนานนามมันว่า “คำถามเหลือง-แดง” เพราะสีของโพยคำถาม

FAN OF THE YEAR 2002 เป็นปีที่มีผู้เข้าแข่งขันมากที่สุดคือ 30 คน 30 หัวข้อ และมีผู้เข้ารอบชิงทั้งหมด 6 คน เพราะ ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนสุดท้ายนั้นก็คือ คุณกรกมล – ขนมไทย และคุณเจนวิทย์ – แสตมป์ไทย ทำคะแนนได้เท่ากันในรอบคัดเลือก

FAN OF THE YEAR 2003 เป็นปีที่ทางรายการขนานนามเองเลยว่า “ปีแห่งคำถามสุดโหด” โดยที่ปีนี้ก็มีเหตุการณ์ที่ช็อกกับคนดูเป็นอย่างมาก คือคุณนิรุตต์ – ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ตกรอบคัดเลือก เนื่องจากคุณนิรุตต์เป็นคนที่สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงฯ ได้ตลอด และอีกเหตุการณ์คือคุณป๋อง (สุพรรณ) – พระเครื่อง ที่ทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็มในรอบคัดเลือกเป็นคนแรก โดยที่ในรอบชิงฯ เล่นเพียงแค่ 2 เกมเท่านั้น ก็ได้ตำแหน่งแชมป์ไปทันที

FAN OF THE YEAR 2004 เป็นปีที่มีการแข่งขันที่สนุกสนานถึงแม้ว่า “คะแนน” ของ 5 อันดับแรก ในรอบคัดเลือกดูต่ำกว่ามาตรฐานของสามปีที่ผ่านมา แต่ในรอบชิงฯ ปีนี้ ทำให้เกิดตำนาน “เหนือ 99 ยังมี 100 คะแนน” ซึ่งมี 2 คนที่ทำคะแนนได้เต็ม นั่นคือ คุณนิภาวรรณ – โลกของเรา ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่สามารถทำ 100 คะแนนเต็มได้ถึงแม้ว่าจะเป็นรอบชิงฯ ก็ตาม และ คุณนิรุตต์ – ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ที่ทำได้ 100 คะแนนเต็มเช่นเดียวกัน ส่วนคุณเจนวิทย์ – แสตมป์ไทย ทำคะแนนได้ 99 คะแนน จึงตกรอบชิงไปอย่างน่าเสียดาย และในปีนี้ก็ได้มีเกมตัดสินเหมือนปี 2001 และทำให้คุณนิรุตต์ เป็นแชมป์ในปีนั้นหลังจากที่พลาดแชมป์ไปสามปีติด

FAN OF THE YEAR 2005 เป็นปีที่มีแต่คนหน้าใหม่ ๆ หัวข้อใหม่ ๆ และใน Intro มีการเล่นใหญ่มากที่สุด อย่างเช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางช่อง 5 มาร่วมถ่ายทำ, การให้ผู้เข้าแข่งขันยืนบนจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ และเหตุการณ์สำคัญในรายการคือคุณแซนดี้ หงส์ – ตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นหญิงสาวคนแรกที่ทำคะแนนเต็มได้ 100 คะแนนเต็มในรอบคัดเลือก และก็เป็นปีนี้เอง ที่ให้กำเนิดพิธีกรคนใหม่ของรายการอย่าง “อี้ แทนคุณ

FAN OF THE YEAR 2006 เป็นปีที่มีคนทำ 0 คะแนนได้ในหมวด 3 วินาที คนแรกในประวัติศาสตร์ของรายการนั้นก็คือคุณศิวพร – วรรณกรรมเยาวชน และเป็นปีที่มีแชมป์ร่วมกันถึง 3 คน คือ คุณดนัย – ซูเปอร์ฮีโร่, คุณรักษ์ – พระพุทธรูป และคุณเอก – ฟุตบอลโลก 2006 โดย 2 คนแรกนั้น ทำคะแนนได้ถึง 100 คะแนน ในรอบชิงชนะเลิศ ส่วนคุณเอกเป็นคนแรกที่ทำคะแนนทั้งรอบคัดเลือกและรอบชิงรวมกันได้ 200 คะแนนเต็ม

FAN OF THE YEAR 2007 เป็นปีที่มีคะแนนในรอบบคัดเลือกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการแข่งขันมา โดยเฉพาะ 7 อันดับแรก และในรอบชิงโดยแชมป์มีคะแนนรวมอยู่ที่ 99 คะแนน นั้นก็คือคุณปฏิภาค – โลกศิลปะ และคุณนิภาวรรณ – สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่พลาดแชมป์ในหัวข้อเก่าอย่างโลกของเรา ซึ่งกลายเป็นว่าทั้งคู่เป็นแชมป์ร่วมกัน

FAN OF THE YEAR 2008 เป็นปีที่ถึงแม้ว่าคะแนนในรอบคัดเลือกจะน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ก็เต็มไปด้วยมิตรภาพที่ยอมให้คะแนนตัวเองเท่ากันและเข้ารอบไปด้วยกัน ในรอบชิงฯ ปีนี้ มีคนทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็มถึง 2 คน นั้นก็คือ คุณณัฐพงศ์ (ต้น ท่าพระจันทร์) – พระเหรียญ และคุณชัชวนันท์ – สามก๊ก ดังนั้นจึงต้องมีเกมตัดสิน แต่ไม่ใช่เกมเดิมที่เคยใช้ตัดสิน แต่เป็นการเล่นเกม 3 วินาที โดยดวลกันแบบ A-B / B-A (คนแรกไปคนที่สอง แล้วข้อต่อไปคนที่สองจะเริ่มก่อนแล้วต่อด้วยคนแรก) และเป็นการได้แชมป์ที่เหนื่อยที่สุดเพราะต้องเจอกับคำถาม 3 วินาทีถึง 35 ข้อ

เหตุการณ์แปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในการแข่งช่วงหลัง (2012-2014)

หลังจากหายไปจากจอโทรทัศน์หลังปีพ.ศ. 2552 FAN OF THE YEAR 2012 ก็กลับมาให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื่นเต้นไปด้วยกันอีกครั้ง โดยปีเป็นปีที่มีคะแนนอยู่ในช่วง 58-72 คะแนน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับยุคแรก แต่เราจะนับหนึ่งใหม่ไปด้วยกัน และในรอบชิงฯ จบที่ 2 เกมเหมือนกับปี 2003 แต่คนที่ได้แชมป์ เก็บคะแนนรวม ไปได้แค่ 28 คะแนน ซึ่งนั้นก็คือคุณเศกฤทธิ์ – กีต้าร์

FAN OF THE YEAR 2013 เป็นปีที่มีความสนุกเพิ่มมากขึ้นและคะแนนที่ไล่เลี่ยกันมาก ๆ เหตุการณ์สำคัญในปีนี้นั้น ก็คือการที่มีคนทำได้ 0 คะแนนในเกม 3 วินาทีเป็นคนที่ 2 นั้นคือคุณนิธิพันธ์ – ราชวงศ์จีน และการที่มีสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี เป็นหัวข้อที่เป็นบุคคล คนแรกของรายการ ซึ่งแชมป์ในปีนี้ก็คือ คุณปกรณ์ชัย – อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

FAN OF THE YEAR 2014 เป็นปีที่ทำคะแนนได้น้อยและกระโดดข้ามเป็นอย่างมาก โดยอันดับที่ 1 คือคุณธีร์รัตน์ – พระอรหันต์สมัยพุทธกาล ส่วนอันดับที่ 2 คือคุณปัญจพล – ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (เคยมาแข่งในหัวข้อสุริโยทัยในปี 2544) ที่ทำคะแนนห่างกันถึง 38 คะแนน และมีสถิติที่ไม่ค่อยน่าจดจำมากเท่าไหร่ คือ ปีนี้คนทำคะแนนได้น้อยที่สุดเพียงแค่ 2 คะแนน (นั่นคือเล่นครบ 4 เกมแล้วนะ) ส่วนรอบชิงฯ ต้องเล่นถึง 3 เกม ซึ่งแชมป์ในปีนี้นั้น ก็คือคุณวันชนะ – นักเตะระดับโลก ที่ทำคะแนนได้ 55 คะแนนในรอบชิง และมีคนทำได้ 0 คะแนนในเกม 3 วินาทีเป็นคนที่ 3 คือคุณเฉลิมชัย – ท่องเที่ยวไทย

2014 จบไป รูปแบบใหม่ก็ตามเข้ามา

เริ่มจากปีแรกที่รายการย้ายบ้านจากช่อง 5 มายังช่อง Workpoint โดยที่ตอนแรกทีมงานเล็งว่าจะทำ “แฟนพันธุ์แท้ ยอดนักชิม” เป็นการนำผู้เข้าแข่งขันที่ถูกคัดเลือกมาแล้วทั้งหมด 100 คน มาแข่งขันกันโดยผ่านด่านคำถามต่าง ๆ โดยวางแผนไว้ว่าจะมี 1 ซีซั่น ซึ่งมีการได้รับ “แรงบันดาลใจ” มาจากรายการในญี่ปุ่นอย่าง “ทีวี แชมเปี้ยน” แต่แล้วก็พับโปรเจกต์ไป คาดว่าน่าจะโดนทาง TV Tokyo ส่งหนังสือมาว่า “นายจะซื้อรึเปล่า ถ้าไม่ซื้อฉันจะฟ้องนายนะ”

จนมาเป็นรายการ “แฟนพันธุ์แท้ เฉพาะกิจ” ที่ออกอากาศเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทางช่อง Workpoint แล้วยังมีการเปลี่ยนกติกาจากผู้เข้าแข่งขัน 5 คน มาเหลือ 3 คน โดยทั้ง 3 คนจะต้องเล่นเกม 3 วินาที คนละ 20 ข้อ สองคนที่ทำคะแนนได้สูงสุดจะเข้าสู่รอบต่อไป ถ้าคะแนนเสมอก็ใช้กติกาเดิมที่เคยใช้ในช่วง 2012-2014 จนได้ผู้ที่เข้าสู่รอบต่อไป โดยที่รอบ Classic Game ก็มีแค่จิ๊กซอว์และคุณสมบัติ คนที่ทำคะแนนได้สูงสุดจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ถ้าคะแนนเสมอกันจะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อตอบคำถามตัดสิน และมาตอบคำถามเพื่อคว้ารางวัลของสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เพียงอย่างเดียว

หลังจากนั้นเข้าสู่ซีซั่นใหม่ของรายการ โดยใช้ชื่อว่า “แฟนพันธุ์แท้ Super Fan” โดยกติกาการแข่งขันแปลกแหวกออกไปจากทุก ๆ ปีที่เราได้เห็นผ่านตากันมา คือการให้คนที่มาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมาโชว์ว่า ตนเองนั้นมีความรักและความชื่นชอบในเรื่องนั้น ๆ มากขนาดไหน ให้กับ “สภาแฟนพันธุ์แท้” ทั้ง 10 คนที่เป็นทั้งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 7 คน และแฟนพันธุ์แท้ขวัญใจคนยุคใหม่อีก 3 คนได้ฟัง โดยให้เวลา 2 นาทีเล่าเรื่องราวความรักและคลั่งไคล้ในหัวข้อที่เข้าแข่งขันหลังจากหมด 2 นาทีก็จะต้องเจอคำถามสดจากสภาแฟนพันธุ์แท้ (อารมณ์เหมือนตอบคำถามหลังจากนำเสนอโปรเจกต์) หลังจากนั้นสภาแฟนพันธุ์แท้จะเป็นผู้ตัดสินว่าคุณควรได้ไปต่อหรือพอซ่ำนี้ เอ้ย! พอแค่นี้ โดยต้องได้ 7 ผ่านจาก 10 โหวตถึงจะได้ไปต่อ

หลังจากผ่านสภาฯ มาได้ ก็จะต้องไปสุ่มเกมที่จะได้เล่น (ก็มี 4 เกมมาตรฐานตามที่เราคุ้นชินในแบบฉบับของ FAN OF THE YEAR นั่นแหละ) ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องเล่นเพียงแค่ 1 เกมเพื่อให้คะแนนของตัวเองอยู่ใน 20 อันดับแรก (แต่เข้ารอบจริง ๆ มีเพียง 19 คนเท่านั้นนะ) เพื่อเข้าสู่รอบต่อไป

ต่อมากติกาในรอบที่ 2 ทางรายการจะทำการจับคู่ผู้เข้าแข่งขันเพื่อแข่ง 3 เกมที่ตัวเองยังไม่ได้เล่น และทำคะแนนให้ชนะอีกคนเพื่อผ่านเข้าสู่รอบต่อไป โดยให้คู่แข่งเป็นคนเลือกเกมที่จะเล่นให้เสมอ

ถัดมารอบที่ 3 ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 คนที่ผ่านรอบที่แล้วมาได้ จะมาตอบคำถามในรอบ Action Game ซึ่งคำถามจะอยู่ในรูปแบบแปลก ๆ อย่างเช่นมาเป็นวิดีโอ เป็นภาพ ปิดตาคลำของ หรือว่าฟังเสียง ฯลฯ และจะต้องสุ่มผู้เข้าแข่งขันผ่านทางจอ LED ทุกคนโดยคำตอบของทุกคำถามจะมี 5 คำตอบ ถูก 1 คำตอบ รับสะสมไปก่อน 5 คะแนน และผู้ที่มีคะแนนมากที่สุด 5 อันดับแรกจะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ (Final) และรอบ Final จะแข่งขันเหมือน FAN OF THE YEAR รอบคัดเลือกและชิงชนะเลิศรวมกัน โดยคนแรกจะเริ่มจากการสุ่มจากจอ LED เช่นเดิม และจะต้องเลือกเล่น 1 ใน 4 เกมมาตรฐานของแฟนพันธุ์แท้ เมื่อเล่นจบสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นต่อหรือจะหยุดพักเพื่อเรียกคนถัดไปมาเล่นก็ได้ (แต่ยังไงก็ตามจะต้องเล่นครบทั้ง 4 เกมอยู่ดี) ใครที่มีคะแนนตลอดทั้ง 4 เกมมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ก็ได้มีข้อครหาในเรื่องของเกมคุณสมบัติที่ใช้จอ LED ในการเปิดคำใบ้และเฉลยว่า มันสามารถสลับกันก่อนที่จะเปิดคุณสมบัติใบแรกและใบถัด ๆ ไปได้หรือเปล่า แต่เรื่องนี้ก็ได้เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปแล้วเรียบร้อย

การกลับมาที่น่าผิดหวัง

หลังจากนั้นทางทีมงานก็อยากจะทำซีซั่นที่ 2 แต่หลาย ๆ คนที่ติดตามรายการก็เรียกร้องอยากให้รูปแบบเก่ากลับมา ก็เลยกลายมาเป็น แฟนพันธุ์แท้ 2018 ที่ออกอากาศหลังรายการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้เวลาออกอากาศของรายการคลาดเคลื่อนไปเยอะพอสมควร (ก็นั่นแหละครับ ใครเคยดูก็จะรู้ว่าท่านเขาปราศรัยเยอะขนาดไหน) โดยการแข่งขันจะเป็นแบบเดียวกันกับปี 2012-2014

แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจที่สุดนั่นก็คือเรื่องของรางวัลที่ไม่สมเหตุสมผลกับการเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งของรางวัลที่ทางรายการจัดให้จนบางคนถึงกับสบถขึ้นว่า “ไม่ต้องจัดก็ได้มั้ง” ก็คงจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลโลก 2018 ที่ให้กระป๋องน้ำอัดลมลายของ 8 ประเทศที่เข้าชิงในฟุตบอลโลก ซึ่งมันก็มีขายทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว (แต่ถ้าเป็นลายครบทั้ง 32 ทีมนี่จะไม่ว่าสักคำเลย)

นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของการตัดต่อที่ไม่ลื่นไหลเหมือนยุคเก่า เลยทำให้ขัดใจคนที่เคยดูยุคเก่า ๆ เป็นอย่างมาก (เช่นคนเขียนต้นฉบับบทความนี้) อีกทั้งตัวคำถามที่ไม่ได้วัดถึงความเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยสักนิด โดยเฉพาะหัวข้อ BNK48 ที่ถามเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาหากคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้จริง ๆ สักเท่าไหร่นะ เช่นถามมือ ถามท่าเต้น ไม่เท่าไหร่ ดันมาถามอีกว่าใครเต้นซึ่งมันยากเกินกว่าที่จะเป็นคำถามของรอบประจำสัปดาห์นะ

โดยที่นิยามของรายการแฟนพันธุ์แท้ มันคือรายการที่นำเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันไม่มีสาระ ทำให้มันมีสาระได้จากการตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ควรรู้ในแต่ละหัวข้อ

เราก็หวังว่าบทความนี้จะผ่านตาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับรายการนี้ รวมไปถึงผู้ที่เคยชมและชื่นชอบรายการนี้ หากใครที่ชอบปีไหน ไม่ชอบปีไหน มีความคิดเห็นอย่างไร แชร์บทความลงในช่องทางโซเชียลพร้อมกับความคิดเห็นของคุณได้ (หรือโพสต์ของบทความนี้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของส่องสื่อ) และรอติดตามกันต่อไปเรื่อย ๆ ว่า รายการนี้ (ควร)จะฟื้นคืนชีพอีกครั้งหรือไม่

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า