fbpx

#มีกรณ์ไม่มีกู ฤทธิ์เดช “แฟนด้อม” ที่ทำให้พรรคการเมืองทำตามอำเภอใจไม่ได้อีกต่อไป

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่กลิ่นแห่งความหวังก็ตลบอบอวลในสังคมไทย ทว่าขณะที่ประชาชนสูดกลิ่นความเจริญ พร้อมรอลุ้นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ ก็เป็นอันต้องตกใจ เมื่อมีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกลจะดึงพรรคชาติพัฒนากล้าเข้าร่วมรัฐบาลด้วย

เรื่องราวคงจะไม่บานปลายใหญ่โต ถ้าไม่ใช่เพราะหนึ่งในภาพจำของพรรคชาติพัฒนากล้า คือ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตหัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุม กปปส. ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2014

หลังจากมีกระแสข่าวออกมา โลกออนไลน์ก็ลุกเป็นไฟ และสิ่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็คือ “ด้อมส้ม” หรือกลุ่มโหวตเตอร์พรรคก้าวไกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคที่ตัวเองรักกันอย่างเผ็ดร้อน นำไปสู่แฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู พิสูจน์ใจกันไปเลยว่าพรรคอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างก้าวไกล จะสั่นคลอนหรือไม่

แม้ท้ายที่สุด ทางพรรคจะออกมาประกาศล้มดีล พร้อมกับโควตเด็ดจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ว่า “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” แต่นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่แฟนคลับวิพากษ์วิจารณ์ “เมน” ของตัวเอง ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมา ธรรมชาติของแฟนคลับมักจะปกป้องศิลปิน วงดนตรี หรือทีมกีฬาที่ตัวเองรักอย่างสุดจิตสุดใจ

“แฟนด้อม” แฟนคลับที่เป็นมากกว่าผู้บริโภค

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล สะท้อนให้เห็นภาพของ “วัฒนธรรมแฟน” (Fan culture) หรือ “แฟนด้อม” (fandom) ซึ่งหมายความถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ คนดัง รายการโทรทัศน์ วงดนตรี กีฬา หรือทีมกีฬา และสร้างผลงานต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงการเป็นแฟนคลับ มากกว่าการบริโภคสื่อทั่วไป

ต้นกำเนิดของแฟนด้อมอาจสืบย้อนไปในช่วงต้นทศวรรษ 1900s และเติบโตขึ้นตามกระแสวัฒนธรรมป็อป จนกระทั่งเฟื่องฟูมากขึ้นในทศวรรษ 1990s เมื่ออินเทอร์เน็ตเชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน ทำให้แฟนด้อมมีพื้นที่มากขึ้นในการแสดงออก และเข้าถึงชุมชนของคนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน ที่อาศัยอยู่คนละมุมโลกได้ง่ายขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด แพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้แฟนทั้งหลายมีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมผ่านการถกเถียงและร่วมมือกันกับคนอื่นๆ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และกระจายไปทั่วโลก

Fan activism” เมื่อแฟนด้อมสนใจการเมือง

นอกเหนือจากความสนใจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมป็อปแล้ว แฟนด้อมยุคใหม่ยังขยายความสนใจไปยังประเด็นทางการเมืองและสังคม จนเกิดเป็นคำเรียกใหม่ว่า “Fan activism” หรือวัฒนธรรมแฟนที่มีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการผสมผสานกันระหว่างการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมและการเมือง และใช้ประโยชน์จากความกระตือรือร้นและความเห็นอกเห็นใจภายในแฟนด้อม เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาสังคม หรือสนับสนุนอุดมการณ์ที่แสดงออกโดยแฟนด้อม

Fan activism เติบโตขึ้นในยุคสื่อใหม่ จากนั้นจึงเริ่มโฟกัสที่การเมืองและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่อยู่นอกกลุ่มแฟนด้อมด้วยก็ตาม เช่น แคมเปญเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางสังคม การเป็นกระบอกเสียงให้กับคนกลุ่มน้อยในในสื่อบันเทิงต่างๆ การระดมทุนช่วยเหลือองค์กรด้านต่างๆ การเรียกร้องไม่ให้ยุบรายการโทรทัศน์หรือทีมกีฬา การปกป้องสิทธิในการสร้างสรรค์งานแฟนอาร์ต หรือการสนับสนุนแคมเปญทางการเมืองและสังคมของคนดัง

ตัวอย่างของ Fan activism ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือกรณีของ Lady Gaga นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ผู้มีฐานแฟนคลับกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ที่ทำแคมเปญต่อต้านนโยบาย Don’t Ask, Don’t Tell (DADT) ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง เธอเรียกร้องในแพลตฟอร์มของตัวเอง ให้แฟนๆ โทรหาวุฒิสมาชิกและสั่งให้ยกเลิกนโยบายนี้ และแคมเปญของเธอก็ประสบความสำเร็จในที่สุด

อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ คือกลุ่มแฟนเพลงเค-ป็อป (Korean pop music หรือ K-pop) ที่ไม่ใช่แค่กลุ่มคนฟังเพลงขนาดใหญ่ระดับโลกเท่านั้น แต่ยังได้ชื่อว่าเป็นแฟนด้อมที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย โดยในปี 2020 แฟนเค-ป็อป เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านแคมเปญหาเสียงของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะจัดขึ้นที่ BOK Center โอกลาโฮมา โดยการใช้ความสามารถในการจองตั๋วคอนเสิร์ต แกล้งโทรศัพท์ลงทะเบียนเพื่อรับตั๋วฟรี เข้าฟังการปราศรัยหาเสียง ทว่าในวันจริงกลับไม่ไปร่วมงาน ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมงานจริงเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 ของความจุของฮอลล์ และทรัมป์ต้องยกเลิกการทักทายผู้สนับสนุนที่รออยู่ด้านนอก เหลือเพียงการปราศรัยอย่างเดียว

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน ซึ่งมีการชุมนุม Black Lives Matter เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก กลุ่มแฟนเค-ป็อปได้ก่อความวุ่นวายในระบบของกรมตำรวจดัลลัส หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทวีตให้ประชาชนส่งคลิปวิดีโอ “การชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย” ผ่านแอปพลิเคชัน iWatch Dallas โดยกลุ่มแฟนเค-ป็อปได้ส่งคลิปแฟนแคมเข้าไปให้แอปฯ จนกลายเป็นสแปม ทำให้กรมตำรวจดัลลัสต้องประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าระบบล่มชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีการจัดตั้งกลุ่ม Fandom Forward หรือชื่อเดิมว่า The Harry Potter Alliance ที่ริเริ่มโดยกลุ่มคนรักวรรณกรรม Harry Potter แต่หลังจากนั้นก็ขยายตัวไปสู่แฟนด้อมอื่นๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซูดาน รวมทั้งประเด็นเรื่องการรู้หนังสือ การปฏิรูปการย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงาน สุขภาพจิต ทัศนคติต่อรูปร่าง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยและพันธมิตรอย่างฮ่องกงและไต้หวัน ก็ได้ตั้งกลุ่มพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ เพื่อตอบโต้เกรียนคีย์บอร์ดผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมจีน จากกรณีที่มีคนไทยพูดว่าไต้หวันเป็นประเทศ และพัฒนาไปสู่การประท้วงข้ามชาติ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ด้อมส้ม” is watching you

หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย แฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู กลายเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ หนึ่งในนั้นคือ น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาและเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ที่โพสต์สเตตัสเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ว่า กรณี #มีกรณ์ไม่มีกู สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองในรูปแบบกองเชียร์กีฬา ที่มองว่าทีมที่ตัวเองเชียร์ทำอะไรก็ถูกไปหมด คู่แข่งทำอะไรก็ผิดไปหมด กำลังจะหายไปจากการเมืองไทย

“ปรากฏการณ์ #มีกรณ์ไม่มีกู คือการแทงสวนของประชาชน มองในแง่ดีมันพิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบโตของพรรคการเมือง ว่ามาจาก UGC อันทรงพลังอย่างแท้จริง หรือโตมาจากการจัดตั้ง IO ในการปั่นสร้างกระแส แบบไม่จีรังยั่งยืน”

“ขณะนี้เรามาถึงจุดที่วงการการเมืองไทย กำลังจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ถ้าเราข้ามจุดนี้ไปได้ ประเทศไทยก็จะพัฒนาก้าวหน้าไปไกลกว่านี้ สามารถยืนแข่งขันบนเวทีโลกได้อีกครั้ง”

ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประชาชนกำลังใช้สิทธิตามแนวทางประชาธิปไตย ในการสอดส่องและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ตนเองเลือกหรือไม่ก็ตาม ซึ่งนี่อาจจะเป็น “กลิ่นความเจริญ” ที่พวกเราโหยหามานานหลายปีก็เป็นได้

ที่มา : wikipedia 1 2 / stevengongwrites

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า