fbpx

เขียนหนังให้ถูกใจแฟน-เมื่อภาพยนตร์เข้าสู่ยุคที่ Fan Service สำคัญกว่าเรื่องราว

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Spider-Man: No Way Home 

“พูดโดยสัตย์จริง ด้วยวิธีการทำงาน, ด้วยการแสดงของนักแสดงที่พยายามอย่างที่สุดแล้วในเงื่อนไขแบบนั้น สิ่งใกล้เคียงที่สุดกับงานพวกนี้ น่าจะเป็นสวนสนุกมากกว่า มันไม่ได้มีความเป็นภาพยนตร์ที่พยายามสื่อสารด้านอารมณ์ และประสบการณ์ทางจิตวิทยาไปสู่ความเป็นมนุษย์แบบอื่น” 

คำพูดอันเผ็ดร้อนของผู้กำกับลายครามอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี ที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Empire เมื่อปี 2019 กับความเห็นของเขาต่อแฟรนไชส์หนังมาร์เวล ที่สร้างกระแสตื่นตัวและต่อต้านพอสมควรจากแฟนมาร์เวลที่ผู้กำกับรุ่นปู่วิพากษ์วิจารณ์หนังมาร์เวลแบบนั้น

เอาเข้าจริง แม้เราจะเข้าใจทั้งมุมมองของปู่มาร์ติน ที่เติบโตมาในยุคที่ภาพยนตร์ต้องทำหน้าที่สะท้อนเนื้อหาบางอย่าง ขณะเดียวกันก็เข้าใจความรู้สึกของแฟนมาร์เวลด้วย ว่าที่ปู่พูดก็ดูแรงไปหน่อย แต่หลังจากที่ได้รับชมงานของมาร์เวลเรื่องล่าสุดอย่าง Spider-Man: No Way Home อยู่ดีๆ คำพูดของปู่มาร์ตินก็ค่อยๆ เดินเข้ามาในหัวอย่างช้าๆ ขณะที่ความรู้สึกตื่นเต้นจากหนัง (หรือความ Hype ในภาษาของแฟนๆ) ค่อยๆ ลดลดไปตามเวลาผ่านเลย

จริงๆ ตัวหนังไม่ได้เป็นหนังที่แย่แต่อย่างใด เอาเข้าจริงมันคือหนังที่ให้ความบันเทิงได้อย่างเต็มรูปแบบในแบบที่มันควรจะเป็น อุดมไปด้วยฉากแอ็คชั่น มุกตลก และสารพัดฉาก Fan Service ที่ชวนให้ตาลุกวาว แต่หลังจากที่ความตื่นเต้นจากสิ่งที่เห็นได้เริ่มหายไป เริ่มวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังแบบจริงจัง เราก็เริ่มจะเห็นช่องโหว่บางประการของหนังที่ถูกบดบังเอาไว้เพราะความรู้สึก Hype ของเราในขณะที่รับชม

เพราะหากคิดกันดีๆ หากหนังไม่ได้จุดเซอร์ไพรส์ในแง่ที่ว่ามันได้รวบรวมไอ้แมงมุมทั้งสองคนก่อนหน้าอย่างโทบี้ แม็คไกวร์ และแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ มาร่วมจอกัน เราจะตื่นเต้นกับเรื่องราวของหนังขนาดนี้รึเปล่า? หรือหากตัดฉากแอ็คชั่นที่มีไอ้แมงมุมสามคนร่วมต่อสู้กันในไคล์แมกซ์ของหนังออกไป (ที่เอาเข้าจริงดูเหมือนว่าทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยทำได้ในภาคก่อนๆ เสียอีก) มันจะทำงานกับความรู้สึกตื่นเต้นของเราขนาดนี้หรือไม่? 

ถ้าเราคิดถึงแค่ตัวเรื่องราวของหนัง วิเคราะห์เหตุและผลของการเกิดเรื่องราวทั้งหมด โดยตัด Fan Service ออกไป ก็คงไม่อาจให้หนังไอ้แมงมุมภาคนี้เป็นหนังที่ดีได้ จากเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดวุ่นวายเพียงเพราะการตัดสินใจอันหุนหันพลันแล่นของเด็กวัยรุ่นที่ตัดสินใจแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ซ้ำยังแก้ปัญหาแบบเด็กๆ แบบที่ทำทุกอย่างที่ไม่ควรทำ โดยหนังทั้งเรื่องก็วนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาที่มีจุดเริ่มต้นอันน่าปวดหัวของเด็กวัยรุ่น ที่เราก็ควรตั้งคำถามถึงพัฒนาของตัวละครที่ผ่านเรื่องราวมาก็มาก ผ่านการต่อสู้มาหลายสมรภูมิที่ได้พบเจอกับการสูญเสียและพลัดพราก แต่เหตุใดตัวละครนั้นถึงไม่เรียนรู้ในการเติบโต และสร้างเรื่องราวที่วุ่นวายอยู่ร่ำไป แม้ว่าหนังได้ลงท้ายด้วยการให้บทเรียนกับตัวละครในท้ายเรื่องที่ส่งให้เขาเติบโตอย่างเต็มตัวกับการเสียสละเพื่อคนที่รัก แต่ก็ไม่อาจช่วยให้ตัวละครดูดีขึ้นจากการเขียนให้ตัวละครไม่รู้จักโตในตอนแรกได้ 

ซึ่งทั้งหมดมันไม่ใช่ว่าทีมผู้เขียนบทนั้นไม่รู้หรือลืมไปหรอก พวกเขาไม่ได้มักง่ายแบบนั้น แต่เหตุผลเดียวที่ผู้เขียนบทต้องทำแบบนั้น คือต้องยอมทำเพื่อให้เรื่องราวนี้เกิดขึ้น เพื่อให้มีเหตุผลที่สามารถใส่ฉาก Fan Service เข้าไปได้ โดยยอมแลกกับเหตุผลในแง่ของเรื่องราวที่สมเหตุสมผลออกไป

มันจึงสรุปได้ว่าหนังเรื่องนี้ดำรงอยู่โดยจุดประสงค์ในการทำหนังเพื่อ Fan Service เป็นหลัก ไม่ใช่ต้องการมอบหนังที่ดีให้กับคนดูมาตั้งแต่แรก และมันเหมือนเป็นการบอกคนดูทางอ้อมว่าเราอาจกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคที่ผู้สร้างหนังเริ่มให้ความสำคัญกับ Fan Service มากกว่าเรื่องราวของภาพยนตร์ 

และนั่นเอง ที่คำพูดของปู่มาร์ตินที่บอกว่าหนังมาร์เวลไม่ใช่ภาพยนตร์ แต่เป็นสวนสนุก ก็ไม่ใช่คำพูดที่เกินเลยอีกต่อไป

ผิดไหม ที่ Fan Service?

เราอาจต้องมาพูดกันถึงข้อดีของการ Fan Service กันเสียหน่อย จริงๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของการ Fan Service มันก็นับเป็นอีกหนึ่งรสชาติพิเศษที่เราได้รับจากภาพยนตร์เช่นกัน แน่นอนว่ามันสร้างประสบการณ์พิเศษในรูปแบบเฉพาะ ที่ไม่ใช่หนังทุกเรื่องจะสามารถทำได้ อย่างฉากรวมตัวต่อสู้กับเหล่าร้ายของสามไอ้แมงมุมในหนัง ถามว่าคนที่เป็นแฟนและติดตามมาตั้งแต่ภาคแรก ใครจะไม่ตื่นตาจนเนื้อเต้นกับมันได้ หรือฉากรวมพลใน Avergers: Endgame (2019) ที่กัปตันอเมริกาเอ่ยคำว่า Assemble จนสร้างเสียงเฮลั่นสนั่นโรงหนังได้แบบนั้น 

เพราะมันคือภาพในฝันที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้า ที่เติมเต็มความฝันและความรู้สึกของแฟนๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งหากจะมีปัญหา เราคงต้องมองไปในเรื่องที่ว่ามันตั้งหน้าตั้งตาจะ Fan Service จนลืมความสมเหตุสมผลของเนื้อเรื่องเกินไปรึเปล่า? อย่างใน Avenger: Endgame มาร์เวลสามารถสร้างทั้งเรื่องราวที่น่าสนใจ ปิดช่องโหว่ของเรื่องราวให้มากที่สุด พร้อมกับ Fan Service ได้อย่างลงตัว ซึ่งหากตัดเรื่อง Fan Service ไป ตัวหนังก็ยังมีเรื่องราวที่สมบูรณ์ในตัวเอง หากเป็นแบบนั้น คนดูได้ดูทั้งหนังที่ดีและประสบการณ์ร่วมที่ไม่มีวันลืม 

แต่กับบางเรื่อง (เช่น No Way Home) ทันทีที่คนดูเห็นว่าหนังตั้งหน้าตั้งตาจะ Fan Service จนลืมความสมบูรณ์ของเรื่องราวไป มีช่องโหว่ให้เห็นพอสมควร มันจึงเป็นปัญหา เพราะเท่ากับว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของภาพยนตร์อย่างเรื่องราวของหนังได้ถูกละเลยไป

ท้ายที่สุด กรณีของ No Way Home เราอาจไม่สามารถตัดสินได้ว่ามันถูกหรือผิด เพราะความสำเร็จของหนังที่เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของภาพยนตร์ที่ทำรายได้ทั่วโลกผ่านหลัก 1,600 ล้านเหรียญเข้าไปแล้ว (แถมเกิดขึ้นในช่วงที่ไวรัสโควิดระบาดทั่วโลก) ก็บอกชัดเจนว่าคนดูชอบขนาดไหนกับสิ่งที่เห็นความรู้สึกที่เขาได้รับ แต่คำถามสำคัญที่ควรตระหนักก็คือ คนดูจะจดจำหนังเรื่องนี้ในฐานะหนังฮีโร่ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แบบที่เคยเกิดขึ้นกับ Spider-Man 2 (2004) หรือจดจำในฐานะหนังที่เราเคยตื่นเต้นกับมัน เพราะมีสไปเดอร์แมนสามคนมาร่วมจอเดียวกันเท่านั้น 

นี่เป็นสิ่งที่ผู้สร้างสามารถเลือกได้ว่าต้องการแบบไหน

Marvel รู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่

ภายใต้การบริหารของหัวเรือใหญ่อย่าง เควิน ไฟกี เราสามารถพอที่จะสบายใจได้ ว่าทางมาร์เวลก็ไม่ได้กำลังหลงทางหรือละเลยใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์ขนาดนั้น เพราะมาร์เวลก็แสดงให้เห็นมาหลายครั้งหลายคราว่าหนังของเขาไม่ได้จงใจจะ Fan Service จนลืมความหมายของภาพยนตร์ไปซะทั้งหมด 

อย่างที่เราได้เห็นหนังที่เข้าฉายในปีเดียวกันอย่าง Eternals (2021) ที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงดีกรีออสการ์อย่าง โคลอี้ เจา ที่ชัดเจนในแง่การสร้างภาพยนตร์ที่ใส่องค์ประกอบความเป็นภาพยนตร์ที่ตั้งใจใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปตัวละครอยู่สูง มีอารมณ์ดราม่าที่ซีเรียสจริงจังยิ่งกว่าเรื่องก่อนที่เคยสร้าง รวมถึงด้านองค์ประกอบศิลป์ของภาพยนตร์ที่อยู่ในระดับหนังลุยเวทีรางวัล หรือหนังอย่าง Captain America: The Winter Soldier (2014) ที่มีการผสมหนังแนวสายลับช่วงยุค 70 ในเรื่องหนอนบ่อนไส้ในองค์กรได้อย่างลงตัวกับหนังฮีโร่ 

หรือจะเป็นงานซีรีส์ที่สร้างความแปลกใหม่ด้วยการผสมวิธีการเล่าแบบละครซิตคอมอเมริกันช่วงยุค 60 ในซีรีส์อย่าง WandaVision (2021) หรือโทนหนังแอ็คชั่นท่ามกลางบรรยากาศความสุขในวันหยุดส่งท้ายปีอย่างเทศกาลคริสต์มาสที่หิมะโปรยปรายอย่าง Hawkeye (2021) 

จะเห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางสตูดิโอมาร์เวล ก็ไม่ได้เล่นเพลย์เซฟ โดยการทำหนังเอาใจแฟนๆ ในรูปแบบเดิมๆ อย่างเดียว แต่ดูเหมือนว่าทางมาร์เวลก็กำลังพยายามผสมผสานและสร้างความแปลกใหม่ให้กับหนังและซีรีส์ของตัวเองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด 

และ Spider-Man: No Way Home เป็นเพียงหนังอีกเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นโดยเป้าหมายให้ Fan Service เป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามาร์เวลจะทำแบบนั้นทุกเรื่องเสียหน่อย

ความหมายของภาพยนตร์

เรารับชมภาพยนตร์เพื่ออะไร? รับความบันเทิงเต็มรูปแบบ พักผ่อนหย่อนใจไปกับความบันเทิงตรงหน้าสัก 2 ชั่วโมงในสถานที่โรงหนังมืด ที่มีแค่เรากับภาพยนตร์ ก่อนจะกลับสู่โลกความจริง หรือการไปเสพศิลปะที่บางครั้งก็อาจไม่บันเทิงนัก กับหนังบางเรื่องที่อาจทำให้คุณต้องปวดหัวในการตีความ หรือดำดิ่งและจิตตกกับเรื่องราวอันหดหู่ที่ได้รับรู้ หากแต่ได้คุณค่าของศิลปะจากสื่อภาพยนตร์ในงานด้านการกำกับ การแสดง หรืองานด้านภาพอย่างเต็มที่ เป็นของฝากกลับบ้านไป

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง หนังภาคต่อถือเป็นภาพยนตร์ทำเงินหลักไปโดยปริยาย ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หรือหนังแฟรนไชส์กลายเป็นหนังประเภทที่ทำเงินสูงสุดอย่างปฏิเสธไม่ได้ และด้วยเนื้อหาความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ มันจำกัดคนดูอยู่แล้วว่าคนดูต้องการความบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งค่ายหนังเองก็รู้จุดนี้จึงทำอย่างไรก็ได้ให้คนดูมีความสุขและสมปรารถนาในความรู้สึกที่สุด อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ณ ปัจจุบัน จึงเดินทางมาถึงจุดนี้ 

แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ภาพยนตร์คือสิ่งที่ดำรงอยู่เพื่อถ่ายทอดสถานการณ์และความเป็นมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่หนังฮีโร่ ที่ไม่มากไม่น้อย มันต้องถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมนุษย์ ซึ่งฮีโร่ก็คือมนุษย์ และมันไม่แปลกที่คนทำหนังรุ่นเก๋าอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี จะแสดงความเห็นแบบนั้น เพราะเขาเติบโตมาคนละยุคสมัย เขาโตมาในยุคที่ภาพยนตร์ต้องมีความหมายในการเล่าเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องราวประโลมโลกหากแต่ต้องสะท้อนแนวคิดทางสังคมบางอย่าง หรือให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ของตัวละครให้ถึงที่สุด 

เราจึงไม่แปลกใจหากเรามองไปที่งานของสกอร์เซซีไม่ว่าจะเป็น Taxi Driver (1976), Raging Bull (1980) และ Goodfellas (1990) แม้แต่งานยุคใหม่อย่าง Hugo (2011) หรือ The Wolf of Wall Street (2013) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสภาพสังคม การถวิลหาอดีต ไม่ก็ต้องถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีและเลวทั้งสิ้น ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน มันก็ยังคงได้รับการยกย่องในฐานะภาพยนตร์ที่ดีอีกเรื่อง และกับบางเรื่อง มันอาจอยู่เหนือกาลเวลาเสียด้วยซ้ำ 

เพราะคอหนังทั่วโลกคงไม่ได้จดจำหนังอย่าง The Shawshank Redemption (1994), Forrest Gump (1994), The Dark Knight (2008), Pulp Fiction (1994) หรือ The Godfather (1972) ในฐานะหนังที่มันทำให้เราสนุกหรือตื่นเต้นจนถึงขีดสุดหรอก เพราะนั่นมันก็แค่ประสบการณ์ร่วมขณะดู หากแต่จดจำมันในฐานะหนังที่เรารู้สึกได้ถึงองค์ประกอบทางด้านภาพยนตร์ที่ดีในทุกด้าน และเรื่องราวที่มีทั้งเหตุและผล มีความน่าสนใจ มีการแสดงที่ยอดเยี่ยม และสะท้อนความเป็นมนุษย์และมิติของตัวละคร

นี่ต่างหากที่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้รับการจดจำ ยกย่อง และอยู่เหนือกาลเวลา

อ้างอิง
https://www.theguardian.com/film/2019/oct/04/martin-scorsese-says-marvel-movies-are-not-cinema
www.imdb.com

ภาพประกอบ
Marvel
Miramax

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า