fbpx

2 กุมภาพันธ์ 2557 การเลือกตั้งที่ถูกโค่นล้ม จุดเริ่มต้นของการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (อีกครั้ง)

ท่ามกลางบรรยากาศในสนามการเลือกตั้งซ่อมกรุงเทพมหานคร เขต 9 ที่ผ่านมา และการตื่นตัวของคนกรุงเทพที่จะได้เลือกตั้งผู้ว่าอีกครั้งในรอบ 9 ปี หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2557 บรรยากาศของการเลือกตั้งใหญ่ในขณะนั้น กลับจบลงด้วยการโค่นล้มอีกครั้งท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง

On This Day วันนี้ จะพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปยังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ หลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาในช่วงปลายปี 2556 หลังเกิดการชุมนุมประท้วงของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยเป็นผลมาจากความขัดแย้งเรื่องร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองระลอกใหม่

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจแก่ประชาชนผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มกปปส. กลับ ยังคงยืนกรานที่จะต่อต้านการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยให้เหตุผลเพียงแค่ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และจัดตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากกระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย นำไปสู่การคว่ำบาตรการเลือกตั้งจากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งได้ออกมาต่อต้านการกระทำของกลุ่ม กปปส. และออกมาแสดงพลังที่จะสนับสนุนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางความหวาดระแวงที่สถานการณ์จะซ้ำรอยเดิมเมื่อปี 2549 เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน จนนำไปสู่รัฐประหารให้วันที่ 19 กันยายนในที่สุด

เค้าลางความวุ่นวายเริ่มเกิดขึ้น เมื่อกลุ่ม กปปส. พยายามก่อความไม่สงบนับตั้งแต่ช่วงที่ทางการเปิดรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ประกอบกับความพยามเตะถ่วงจากองค์กรอิสระและตุลาการ เพื่อที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และขัดขวางความพยายามของรัฐบาลที่จะยุติการกระทำของกลุ่ม กปปส. เมื่อถึงวันที่จัดการเลือกตั้ง กลับเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดทางภาคใต้ เมื่อกลุ่ม กปปส. พยายามขัดขวางการเลือกตั้งรวมทั้งประทะกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนน จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศเพียง 20 ล้านคน และมีหน่วยลงคะแนนประมาณ 10% จากทั้งหมด ปิดตัวลงจากสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว

แม้รัฐบาลจะพยายามจัดการเลือกตั้งชดเชยในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหา แต่การเลือกตั้งดังกล่าวก็ถูกโค่นล้มไป ในวันที่ 21 มีนาคม หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6:3 ตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรภายในวันเดียวกันได้ แม้ต่อมารัฐบาลและ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งได้กำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม แต่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง จนกลายเป็นใบเบิกทางให้กองทัพก่อการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม

ภายหลังเหตุการณ์ กกต. ได้ยื่นฟ้องร้องต่อแกนนำ กปปส. ในปี 2560 จากการขัดขวางการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จนกระทั่งในที่สุด วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกแกนนำ จำนวน 26 คน ไม่อนุญาติให้ประกันตัวจำนวน 8  คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้แกนนำจำนวน 3 คนที่อยู่ในสถานภาพรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งทันที ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคมในปีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ สส. อดีตแกนนำที่ถูกจำคุกจากคดีดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง 

การโค่นล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 นอกจากจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณแผ่นดินกว่า 2,400 ล้านบาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถประเมินมูลค่าได้เมื่อเทียบกับโอกาสของประเทศชาติที่หาย ไปหลังการเลือกตั้งถูกโค่นล้ม และกองทัพออกมาก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี


อ้างอิง
https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_6772988
https://www.voicetv.co.th/read/333990
https://thestandard.co/onthisday02022557/
https://www.matichonweekly.com/featured/article_23408
https://www.bbc.com/thai/thailand-42898615
https://www.matichon.co.th/politics/news_3160665
https://www.bangkokbiznews.com/news/579149

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า