ปกติคุณเดินทางไปสวนใกล้บ้านล่าสุดเมื่อไหร่? คงเป็นคำตอบที่ตอบยากบ้างง่ายบ้าง บางคนอาจจะออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว หรือบางคนอาจจะไม่รู้สึกอยากไปสวนใกล้บ้าน เพราะแท้จริงแล้วมันไม่ได้อยู่ ‘ใกล้’ เลยแม้แต่น้อย
เราเคยนำเสนอไปในบทความ “กรุงเทพฯ เขียวแล้ว เขียวอยู่ แล้วจะเขียวต่อยังไงได้บ้าง?” ชวนดูทิศทางนโยบายพื้นที่สีเขียวต่อจากนี้ของผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ ว่าค่าเฉลี่ยปัจจุบันของการเข้าถึงสวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 4.5 กม. หรือ 60 นาที (ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เมื่อปี 2565) ซึ่งยังห่างกับเป้าหมายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ต้องการให้สวนใกล้ขึ้นถึง 4 เท่าด้วยกัน นั่นแปลว่าสวนสาธารณะจำเป็นต้องเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลายเท่าตัวภายใน 4 ปี หรือ 1 สมัยของผู้ว่าฯ หากทำได้จริง
มากไปกว่านั้น สวนสาธารณะแห่งใหม่จะต้องไม่ใช่แค่การสร้างส่ง ๆ ให้เสร็จแล้วจบ แต่สวนจะต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเกิดเป็นอีเวนต์เล็ก ๆ จากทางกรุงเทพฯ ที่ชื่อ ‘Pop Park BKK’ หรือโครงการที่เปิดให้ทดลองใช้สวนสาธารณะ 30 แห่งทั่วกรุง หลังจากสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่ได้ทดลองสร้างสรรค์ และออกแบบจากบริเวณที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะ หรือจากพื้นที่เดิมที่อาจไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อน หรือทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ที่เหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุดในขณะนี้
โดยทางกรุงเทพฯ ได้แบ่งหมวดหมู่สวน 15 นาทีแห่งใหม่ ออกเป็น 7 หมวด ประกอบไปด้วย หมวดที่ 1 ‘Community’ ได้แก่ เขตหนองแขม เขตสาธร เขตบางกะปิ เขตบางซื่อ, หมวดที่ 2 ‘Mobility & Connectivity’ ได้แก่ เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตธนบุรี เขตลาดกระบัง, หมวดที่ 3 ‘Blue-Green infrastructure’ ได้แก่ เขตคันนายาว เขตหนองจอก เขตคลองเตย เขตตลิ่งชัน, หมวดที่ 4 ‘Biodiversity values’ ได้แก่ เขตบางบอน เขตจอมทอง เขตบึงกุ่ม เขตบางเขน, หมวดที่ 5 ‘Urban Agriculture’ ได้แก่ เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตวัฒนา เขตสายไหม, หมวดที่ 6 ‘Cultural and Creative activity’ ได้แก่ เขตคลองสาน เขตพระนคร เขตบางกอกน้อย เขตยานนาวา และหมวดหมู่ที่ 7 ‘สวนนำร่อง 6 สวนโดยกทม.’ ได้แก่ เขตคลองสาน เขตดอนเมือง เขตจอมทอง เขตบางกะปิ เขตบางกอกน้อย เขตจตุจักร
ในฐานะที่ The Modernist ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน เราเลยถือโอกาสรีวิวสวนสาธารณะในหมวด Cultural & Creative Activity ซึ่งหมายถึงสวนสาธารณะที่ชูประเด็นเรื่องของการเป็นพื้นที่เชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ เราจึงตระเวนทดลองใช้มา 3 ใน 4 สวนด้วยกัน ตามเรามาดูว่าสวนสาธารณะทดลองใช้เหล่านี้น่าสนใจ หรือน่าเดินเท้าไปใช้งานจริงอย่างไรกันบ้าง
ลานชุมชนบริเวณท่าเรือวัดทองธรรมชาติ (เขตคลองสาน)

แนวคิดการสร้างลานชุมชนบริเวณท่าเรือวัดทองธรรมชาติ
สวนสาธารณะแรกนี้ตั้งอยู่ไกลตาพอสมควร เพราะตั้งอยู่ในถนนที่เงียบสงบย่านคลองสานอย่าง ‘ถนนเชียงใหม่’ ชื่ออาจฟังดูไม่คุ้น แต่หากบอกว่าเป็นถนนเดียวกันกับทางเข้าไปยัง ‘ล้ง 1919’ สถานที่ท่องเที่ยวกลิ่นอายจีนที่เคยฮิตมาก่อน หลายคนอาจจะคุ้นกับสถานที่ตั้งของสวนนี้มากขึ้น เพราะสวนนี้อยู่ถัดจาก ล้ง 1919 ไปอีกนิดนั่นเอง อีกทั้งสวนสาธารณะแห่งนี้ตั้งชื่อว่า ‘ลานชุมชน’ แทนที่จะใช้ว่า ‘สวนสาธารณะ’ ซึ่งเมื่อเราได้ลองเดินทางไปยังพื้นที่จริง ก็เริ่มเข้าใจจุดประสงค์มากขึ้น
แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็น ‘ทางเดิน’ เชื่อมจากบริเวณหน้าล้ง 1919 ไปยังท่าเรือวัดทองธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล จากการที่เราลองเดินทางไปดูบริเวณนี้ด้วย Google Street View พบว่าเข้าไปไม่ถึงบริเวณดังกล่าว และมีกรวยจราจรกั้นอยู่ด้านหน้า

ภาพเดิมของลานชุมชนบริเวณท่าเรือวัดทองธรรมชาติ – ภาพจาก Google Street View
ถัดมาที่สวนสาธารณะเสร็จสมบูรณ์ในขั้นต้นนี้ มองลึกเข้าไป ก็ดูเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเดินมานั่งพักตากลมของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ดี เพราะสวนสาธารณะแห่งนี้เลือกใช้ความโดดเด่นเรื่องของ ‘พื้นที่พักผ่อนและพื้นที่กิจกรรม’ มาเป็นอันดับหนึ่ง

เริ่มจากหน้าทางเข้าที่เลือกปูหญ้าเทียมเกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ถัดจากสนามดังกล่าวก็เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนจากหลากหลายวัสดุ ทั้งตอไม้ตัดแต่งที่ทำเป็นม้านั่งเดี่ยว ซุงไม้ตัดแต่งที่ทำเป็นม้านั่งหมู่ ชุดโต๊ะและเก้าอี้ประดิษฐ์จากยางรถยนต์เหลือทิ้ง หรือแม้แต่เก้าอี้ประดิษฐ์สีส้มที่เป็นเก้าอี้ชุดเดียวกันกับที่ใช้จัดแสดงในสวน 15 นาที ขนาดจำลอง ณ พื้นที่โรงงานยาสูบเก่า ก็ถูกนำมาติดตั้งในพื้นที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนทางด้านของการจัดสรรพื้นที่สีเขียวจริง ๆ ที่ปรากฏในลานชุมชนแห่งนี้ค่อนข้างจัดไว้อย่างจำกัด เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่อีกต่อหนึ่ง ทำให้ต้นไม้ หรือพุ่มไม้ในบริเวณนี้จัดเรียงไว้ทางด้านซ้ายและขวา เสมือนทำหน้าที่เป็นรั้วอย่างไรอย่างนั้น
มาถึงความน่าใช้ภายในลานชุมชนนี้กันบ้าง หลังจากเราลองไปสัมผัสมา หากใช้บริการในยามหน้าร้อน ก็คงเป็นพื้นที่ที่ร่มรื่นดี เพราะเดิมทีพื้นที่แห่งนี้ก็มีต้นไม้ใหญ่ภายนอกสวนที่โน้มกิ่งและใบมาให้ร่มเงากับพื้นที่นี้อยู่แล้ว แต่พอเราไปในจังหวะเวลาที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก คือหลังจากฝนตกหมาด ๆ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ภายในสภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน กลายเป็นพื้นที่ที่ดูอุดอู้เสียอย่างนั้น
เพราะจริง ๆ แล้วลานชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีพื้นที่โปร่ง ทั้งด้านซ้ายและขวาของสวนสภาพแวดล้อมปิด คือสังกะสีล้วน อย่างทางด้านซ้ายก็เป็นสังกะสีใหม่ที่คงเอามากั้นบริเวณสวน กับพื้นที่จอดรถทางด้านข้าง ส่วนทางด้านขวาก็เป็นผนังสังกะสีจากร้านร้างของล้ง 1919 ที่ยิ่งเพิ่มบรรยากาศอุดอู้เข้าไปใหญ่
รวมถึงการที่พื้นที่ข้างเคียงอย่าง ‘ล้ง 1919’ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมความนิยมลงไป ก็ยิ่งเป็นการยากที่ผู้คนจะตั้งใจเดินทางมายังลานชุมชนแห่งนี้ ที่ก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าในอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะพัฒนาอย่างไรหลังจากทดลองเปิดใช้งาน รวมถึงการทำให้พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ยั่งยืนมากขึ้น และตอบโจทย์ชีวิตคนกรุงอย่างรอบด้านก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตกหลังจากการปรับปรุง และสร้างสรรค์เพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้
สวนริมคลองรอบกรุง ย่านปากคลองตลาด (เขตพระนคร)
มากันที่สวนใหม่ในย่านต่อมา ที่ถือว่าไม่ใหม่มากนัก เพราะพื้นที่เดิมก็เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
หากเคยมาเดินย่านปากคลองตลาด อาจจะเป็นหลังจากซื้อดอกไม้เสร็จ หรือเดินทางมายังปากคลองตลาดด้วย MRT ก็คงจะเคยเห็นคลองรอบกรุงกันบ้าง ซึ่งพื้นที่ทั้งสองข้างของคลองรอบกรุงนี่เอง คือสวน 15 นาทีแห่งใหม่ที่เขตพระนครสนใจ
พื้นที่ดั้งเดิมของสองข้างทางเลียบคลองรอบกรุงแห่งนี้ ก็เป็นทางเท้าทั่วไป ฝั่งหนึ่งก็เป็นทั้งป้ายรถเมล์ และทางเท้าแคบ ๆ ความกว้างราว 1 เมตรกว่า ที่คั่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เป็นระยะ ส่วนอีกฝั่งคลอง เป็นพื้นที่ทางเท้าที่กว้างกว่ามาก และมีบริเวณปลูกต้นไม้ หรือดอกไม้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงยังเป็นพื้นที่ของพ่อค้าแม่ขายในย่านปากคลองตลาดด้วยอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือพื้นที่เดิมทั้งหมดของสวนริมคลองรอบกรุงแห่งนี้
ซึ่งมันแทบจะสร้างสรรค์อะไรเพิ่มเติมเข้าไปได้ยากเต็มที
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของการปรับปรุงพื้นที่เดิมให้กลายเป็นสวน 15 นาที ที่น่าใช้งานให้ได้สำหรับผู้คนทุกกลุ่ม

แนวคิดการสร้างสวนริมคลองรอบกรุง ย่านปากคลองตลาด
ก่อนลงพื้นที่รีวิว เราจึงลองอ่านแนวคิดการแต่งเติมพื้นที่โดยคร่าว พบว่าโจทย์ใหญ่ ๆ ของการสร้างสรรค์คือการเพิ่มไม้ดอกไม้ประดับให้มีสีสันมากขึ้น และเพิ่มแสงสว่างรวมถึงกล้องวงจรปิดตลอดแนวของสวน โดยต่อยอดไปถึงการวางเป้าหมายจัดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น ลอยกระทง หรือจัดกิจกรรมทางน้ำตามแต่โอกาส
โดยสรุปแล้วคือเพิ่มเติมเพียง 2 อย่างเท่านั้น และใช่ หลังจากลงพื้นที่จริง เราแทบแยกสวนใหม่จากสวนเก่านี้ไม่ออกเลยแม้แต่น้อย
ข้อดีของสวนริมคลองรอบกรุงคือเดินทางสะดวก เนื่องจากอยู่บริเวณใกล้เคียงกับย่านพลุกพล่านอย่างปากคลองตลาด พื้นที่ซึ่งไม่เคยหลับใหล
นอกจากข้อดีข้อนี้ เราก็ยังมองไม่ค่อยเห็นข้อดีอื่นเท่าไหร่นัก
จากมุมมองของคนที่เดินทางผ่านทางเท้าบริเวณสวนริมคลองรอบกรุงเป็นประจำ เรามักเห็นว่าพื้นที่บางส่วนกลายเป็นที่หลับที่นอนของคนไร้บ้าน กลายเป็นพื้นที่วางของระเกะระกะของผู้ค้าดอกไม้ใกล้เคียง กลายเป็นที่จอดรถเข็นของแม่ค้า หรือแม้แต่กลายเป็นห้องน้ำจำเป็นของผู้คนที่สัญจรไปมาแล้วกลั้นทุกข์เบาไม่ไหว

ตั้งแต่ก้าวแรกที่ทดลองเดิน และคอยบอกตัวเองอยู่เสมอว่านี่คือสวน 15 นาทีทดลองใช้แห่งใหม่ เราก็พยายามหาความแตกต่างจากเดิมให้ได้มากที่สุด สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการสร้างสรรค์เพิ่มเติมก็คือการเพิ่มไม้ดอกไม้ประดับอย่างที่ว่า และการเพิ่มเก้าอี้นั่งพักในพื้นที่ ที่หลังจากลองเดินไปนั่งก็พบว่าเป็นเก้าอี้ที่ค่อนข้างเตี้ย นั่งไม่สบาย และมีกลิ่นปัสสาวะลอยมาจาง ๆ นั่งได้ไม่ถึงครึ่งนาทีเราก็ลุกหนีแล้ว

เดินมาอีกหน่อยก็เจอรถเข็นขวางเส้นทาง ก่อนจะพบว่าเดินมาจนสุดเส้นทางของสวนแล้ว
หากนี่เป็นการทดลองใช้ เราจึงอยากฟีดแบ็กกลับไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าอย่างให้พัฒนาสวนนี้ให้มากขึ้นอย่างเป็นระบบ ทั้งความสะอาด ความสวยงาม การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น หรือแม้แต่การจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบระเบียบ และปลอดภัยเพียงพอต่อการเดินทางมาใช้งานในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าการทำสวนให้เป็นสวนเสียอีก
สวนขนาดเล็ก แขวงศิริราช (เขตบางกอกน้อย)
จากแยกศิริราช หน้าโรงพยาบาลศิริราชมาราว 200 เมตร ตรงข้ามศาลศาลาต้นจันทน์ คือจุดหมายปลายทางของสวน 15 นาทีแห่งใหม่ ที่ตอบโจทย์ที่สุดใน 3 สวนที่เรารีวิวมา

ภาพเดิมของสวนขนาดเล็ก แขวงศิริราช – ภาพจาก Google Street View
หากย้อนกลับไปราวปี 2561 พื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นห้องแถวเรียงกัน 3 ห้อง ก่อนที่ปีถัดมาจะกลายเป็นพื้นที่ร้าง คำนวณคร่าว ๆ อยู่ที่ราว 100 ตารางเมตรเท่านั้น ถือเป็นโจทย์ยากในแง่ของการนำพื้นที่ใช้สอยที่มีจำกัดจากพื้นที่รกร้างนี้มาพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน

แนวคิดการสร้างสวนขนาดเล็ก แขวงศิริราช
มองจากด้านหน้า นี่น่าจะเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ มากกว่า ‘สวนสาธารณะ’ ในอุดมคติเหมือนเช่นกับสวนแรก เพราะในพื้นที่ถูกจัดสรรให้เป็นแหล่งกิจกรรมมากกว่าเป็นพื้นที่สีเขียว


จากประตูทางเข้าตรงกลาง พื้นลายถนนสีเขียวสดคดเคี้ยวไล่ไปตรงกลาง แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองฝั่ง ทางซ้ายจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย จากอุปกรณ์ฟิตเนสแบบ DIY ที่ใช้วัสดุแข็งแรงเคลือบสีสันสดใสเข้ากับพื้นที่โดยรวม ทางฝั่งขวาเลือกใช้กระเบื้องลายไม้ตัดเลี่ยนกับความฉูดฉาดในพื้นที่ โดยทำเป็นพื้นต่างระดับที่สูงพอจะนั่งพักผ่อนได้คล้ายอัฒจันทร์ขนาดย่อม ในขณะเดียวกัน ทางเดินต่างระดับก็นำไปสู่ม้านั่งยาวที่อยู่ด้านบน ซึ่งมีการติดตั้งโต๊ะสตูลขนาดกะทัดรัดไว้เป็นจุด ๆ โดยคำนึงถึงการใช้เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ วางของ แวะกินข้าว หรือทำการบ้านสำหรับเด็ก ๆ เพราะบริเวณใกล้เคียงก็มีโรงเรียนอยู่ด้วย

รวมถึงเรื่องของพื้นที่สีเขียวในสวน ที่ถือว่าสวนนี้ดูจะจัดสรรได้ดี แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก ด้วยการยอมเสียพื้นที่ไปราว 10% เพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงา โดยใต้ร่มเงาก็ทำเป็นม้านั่งล้อมรอบโคนต้น ส่วนต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ก็ใช้วิธีการปลูกสวนในแนวดิ่ง คือแขวนไว้ตามรั้วรอบ ๆ หรือวางไว้ริมรั้วทดแทนการปลูกต้นไม้ในพื้นที่แบบปกติตามสวนสาธารณะทั่วไป จากข้อจำกัดด้านพื้นที่
อีกสิ่งที่น่าชื่นชมคือสวนแห่งนี้ทำรั้วให้ดูโปร่งมากที่สุด แต่ละซี่ก็ทำเส้นเล็ก ๆ ตีห่าง ๆ กันเพิ่มความใกล้ชิดกันระหว่างภายในสวนและภายนอกสวน ซึ่งไม่ทำให้อุดอู้ และรู้สึกโล่งเวลาใช้งานจริง

รวมถึงผลงานศิลปะบนผนังของบ้านข้าง ๆ ที่กลายเป็นกำแพงด้านหนึ่งของสวนแห่งนี้พอดี ที่เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตผู้คนฝั่งธนบุรีได้อย่างน่ารัก ก็ช่วยเพิ่มความเป็นกันเอง และดูน่าใช้เพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง
แม้จะไร้หลังคาคลุมยามฝนตก แต่หากพิจารณาจากวิธีการจัดการพื้นที่โดยรวมซึ่งแบ่งสรรปันส่วนได้เป็นอย่างดี ตกแต่งได้น่าคบหา ก็ทำให้สวน 15 นาทีเล็ก ๆ ในย่านนี้ เราให้สอบผ่านในขั้นต้น อาจจะต้องปรับอะไรนิดหน่อยเวลาเปิดใช้งานจริงในภายภาคหน้า แต่ว่าพื้นที่ใช้สอยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่าตอบโจทย์สวนแห่งพื้นที่สร้างสรรค์ และการผนวกเข้ากับวัฒนธรรมชุมชนรอบข้างได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว
นี่เป็นเพียง 3 จาก 30 สวน 15 นาทีแห่งใหม่ ที่เปิดทดลองใช้ทั่วกรุงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในอนาคต ยังไงเราก็อยากให้คุณเดินทางไปทดลองใช้สวนใกล้บ้านเปิดใหม่ดู เผื่อความคิดเห็นของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ลองดูแผนที่สวน 15 นาทีเปิดใหม่ทั้งหมดได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย
ในแง่หนึ่ง เราในฐานะผู้ทดลองใช้งานจริง เรารู้สึกถึงความเปิดกว้างของพื้นที่ในเมืองที่มีเพิ่มขึ้นหลายระดับ แม้บางสวนอาจจะเดินทางยาก หรืออะไรก็ตามแต่ ขอเพียงอย่าลืมว่านี่คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะจากความคิดเห็น หรือเสียงจากประชาชนที่ให้การตอบรับกับสวนต่าง ๆ ที่ให้เราได้ลองใช้ มันจะกลายไปเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการพัฒนา ต่อยอด ปรับปรุง และสร้างสรรค์เมืองหลวงแห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ซึ่งคงไม่ใช่ ‘ดี’ กับใครอยู่ฝ่ายเดียว แต่มัน ‘ดี’ สำหรับทุกคนจริง ๆ