fbpx

ถอดรหัสการ “แปรอักษร” ประเพณีที่โคตรไทยผ่านเรื่องรอบตัวเรา

ที่นี่ประเทศไทย หลายสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเรา หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำเดิมจนชินตา และไม่มีบ้านอื่นเมืองอื่นเขาทำกันบ่อยนัก คงพูดได้ว่ามันโคตรจะไทยเลย

การแปรอักษรก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ประเทศเราไม่รู้เป็นอะไรกับประเพณีการแปรอักษรนี้กันนัก ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ของกิน หรือของกลาง คนไทยหลายกลุ่มเอาสิ่งเหล่านี้มาจัดเรียงเป็นชุดคำด้วยบริบทที่ต่างกัน ซึ่งทำให้เห็นว่าการแปรอักษรเหล่านี้ในหลายๆ เหตุการณ์ในประเทศไทย มันสะท้อนทั้งแนวคิด และวิถีชีวิตจากสิ่งที่เราเห็นได้บนการแปรอักษรนั้นๆ เลยทีเดียว

ผมเลยอยากลองรวบรวมการแปรอักษรหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในไทยกันดูว่า สิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำขึ้นในแต่ละครั้งนั้นมันพอจะสะท้อนอะไรได้บ้างในสังคมเรา

มาแปล (ความหมายของการแปร) อักษรกัน

การแปรอักษรครั้งแรกในไทยของโรงเรียนอัสสัมชัญ – รูปจาก โรงเรียนอัสสัมชัญ

แปรอักษร, คน
การรวมแรงกาย แรงใจ สู่การสื่อสารอันยิ่งใหญ่ในเหตุการณ์สำคัญ

ขอเปิดด้วยหัวข้อที่ตรงกับคำว่าแปรอักษรจริงๆ จังๆ เสียก่อน เพราะตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “แปรอักษร” ไว้ว่า

“ก. ทำให้มีตัวอักษรหรือภาพปรากฏขึ้น โดยใช้คนจำนวนมากที่อยู่บนอัฒจันทร์ ยกกระดาษ ผ้า หรือวัสดุอื่น ๆ ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ให้เห็นเป็นตัวหนังสือหรือภาพ (มักใช้ประกอบในการเชียร์กีฬา การแสดงกลางแจ้ง หรือกิจกรรมสำคัญ ๆ ).”

ซึ่งเราขอขยายบริบทของคำว่าแปรอักษรในคอลัมน์นี้ จากแค่การใช้ “คน” เป็นตัวแปรหลัก เป็นการใช้สิ่งอื่นๆ เป็นตัวแปรหลัก ของการแปรอักษรในไทยด้วยเช่นกันที่จะเล่าถึงในหัวข้อถัดๆ ไป

กลับมาตรงนี้กันต่อ

ตามหลักฐานจากหลายๆ ข้อมูลระบุเอาไว้ว่า การแปรอักษรในไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2485 จากความคิดของเฉิด สุดารา ผู้ได้รับการขนานนามให้เป็น “บิดาแห่งการแปรอักษร” จากการริเริ่มให้มีการแปรอักษรบนอัฒจันทร์ ในการแข่งขันฟุตบอลรุ่นกลางชิงชนะเลิศระหว่างทีมโรงเรียนอัสสัมชัญกับทีมโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

การแปรอักษรในครั้งนั้นเป็นรูปแบบเรียบง่าย ด้วยการเอาคนที่แต่งตัวกันคนละสี ไปนั่งเรียงกัน โดยมีกลุ่มคนใส่ชุดยุวชนทหารซึ่งเป็นชุดสีเข้ม เป็นกลุ่มคนที่แปรอักษรหลัก ส่วนคนอื่นๆ บนอัฒจันทร์ก็ใส่ชุดราชปะแตนสีขาว คำบนอัฒจันทร์นั้นอ่านได้ว่า “อสช” ซึ่งก็คือชื่อย่อของโรงเรียน

ไอเดียของเหตุการณ์นั้นคือการที่คุณเฉิดมองเห็นคนแต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้านั่งกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาคนที่แต่งตัวเหมือน ๆ กัน มานั่งเป็นกลุ่มและจัดให้เป็นสัญลักษณ์อะไรก็คงจะทำได้

หากมองไปในยุคนั้นคงเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจอย่างหนึ่ง การใช้คนมานั่งเรียงกัน แล้วอยู่ๆ ก็มองเห็นเป็นตัวอักษรขึ้นมาคงน่าประหลาดใจนัก

การแปรอักษรครั้งถัดๆ มา ของโรงเรียนอัสสัมชัญ – รูปจาก โรงเรียนอัสสัมชัญ

การแปรอักษรล้วนเป็นกิจกรรมที่ใช้เรี่ยวแรง และแรงงานของผู้คนจำนวนมาก จากทั้งคนเบื้องหลังที่ต้องวางแผน ใช้ระบบบางอย่างเพื่อสื่อสารให้คนบนอัฒจันทร์แต่ละคนรับรู้หน้าที่ของตัวเองในการแปรอักษรที่แตกต่างกัน จากการแปรอักษรแบบเรียบง่ายในยุคนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาให้มีลีลาที่เร้าใจมากขึ้น (และผู้เขียนในฐานะที่เคยแปรอักษรมาก่อน มันเหนื่อยมากขึ้นอีกหลายขุม)

มีทั้งการแปรอักษรด้วยรูปแบบคล้ายๆ Pixel หรือการใช้กระดาษหลากสีและผ้าเปิดเรียงกันให้กลายเป็นภาพบนอัฒจันทร์ใหญ่ ที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด หรือการแปรอักษรที่ทำให้ผู้ชมเห็นว่าภาพที่กำลังแปรอยู่ขยับได้ ด้วยการใช้โค้ด และจังหวะการนับเลขมาประกอบการให้สัญญาณกับผู้คนบนอัฒจันทร์

แล้วกิจกรรมนี้ก็แพร่หลายมากขึ้นในไทย ด้วยความเป็นพิธีรีตองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประเพณีนี่นี้ช่างเหมาะกับเรายิ่งนัก

ทั้งการแปรอักษรต้อนรับคนสำคัญ แปรอักษรเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญบางอย่าง หรือที่เป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง คือการที่หลายๆ จังหวัด หลายๆ หน่วยงานเกณฑ์ผู้คนมาแปรอักษรเพื่อถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)

การแปรอักษรถวายความอาลัยในหลวง ร.9 – รูปจาก Posttoday (Bangkok Post.Plc), MFU Archive, ช่อง 8

ผมวิเคราะห์ว่ารูปแบบกิจกรรมที่นำ “คน” มาสร้างให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นก็ตาม ความคาดหวังของผู้สร้างก็ต้องรอชมความสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งการแปรอักษรก็รวมปัจจัยเล่านี้ไว้อย่างครบถ้วน คนที่จะขึ้นแปรอักษรก็ต้องฝึกซ้อม ใช้ระเบียบวินัยในการจัดการคนจำนวนมาก ใช้คนหลายฝ่ายมาช่วยกันวางระบบการทำงาน และเมื่อทั้งหมดเกิดขึ้นในวันการแปรอักษรจริงต่อหน้าผู้ชมที่กำลังชม มันคือการได้เห็นความสำเร็จตรงหน้าแบบทันทีทันใด เป็นการใช้แรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคน และเป็นการนำเสนอเรื่องราวของคนบางกลุ่มด้วยจุดประสงค์บางอย่างที่แตกต่างกันในการแปรอักษรแต่ละครั้ง

คำที่ใช้ในการแปรอักษรของสแตนด์เชียร์ฝั่งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ในงานฟุตบอลประเพณี – รูปจาก Postjung

ดังที่จะเห็นได้จากการแปรอักษรล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่มักจะสร้างกระแสตอบรับที่ดีได้ทุกครั้ง (ส่วนจะเป็นกระแสตอบรับเชิงบวก หรือเชิงลบ ก็ว่ากันอีกที) โดยจุดเด่นของการแปรอักษรนี้อยู่ที่การสื่อสาร ผ่านการนำเหตุการณ์ที่ผู้คนต้องขมวดคิ้วมาแต่งเป็นคำกลอน แล้วแปรอักษรสู่สายตาผู้ชม ที่จะชมหรือไม่ชมก็แล้วแต่ท่าน แต่นั่นก็คือรูปแบบการสื่อสารที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยได้ทุกครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการแปรอักษรผ่านคนบนอัฒจันทร์ คือแนวคิดของผู้สร้างสรรค์กิจกรรมแต่ละครั้ง ว่าพวกเขาเป็นยังไง คิดเห็นอะไรอยู่บ้าง และมีมุมมองต่อเรื่องราวที่แปรอักษรให้ผู้คนได้มองเห็นอย่างไร ซึ่งทำให้ความหมายของการแปรอักษรมีอะไรให้เลือกมองมากกว่าสิ่งที่ตาของเราๆ ท่านๆ มองเห็นอยู่

แปรอักษร, สิ่งของ
ชุดคำสรรพที่เกิดขึ้นจากการจับวางสิ่งต่างๆ นานามาไว้รวมกัน

เอาจริงๆ หัวข้อนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากหัวข้อก่อนหน้าเท่าไหร่นัก

(เอ้า ก็จบไปเลยสิ)

บ้าบอ ถูกส่วนเดียว

เพราะการแปรอักษรโดยใช้สิ่งของมันมีลูกเล่นกว่านั้นเยอะ

หากเรามองไปยังสิ่งที่นำมาแปรอักษรแต่ละครั้ง นอกจากการใช้ “คน” เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร “สิ่งของ” ที่เจ้าของผลงานเลือกใช้ก็สะท้อนถึงแนวคิด และตัวงานนั้นๆ ได้เหมือนกัน

การจุดประทีปบูชาพระรัตนตรัย เนื่องในวันคุ้มครองโลก ณ วัดธรรมกาย – รูปจาก iDream

ไล่เรียงตั้งแต่เมื่อวันคุ้มครองโลก ช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 วัดพระธรรมกายจัดงานภายใต้แนวคิด Cleanse the World, Cleanse the Mind โดยภายในกิจกรรมมีทั้งการนิมนต์คณะสงฆ์และประชาชนทั่วโลก ร่วมกิจกรรมออนไลน์ เจริญพระพุทธมนต์ สวดธรรมจักร นั่งสมาธิ และจุดประทีปบูชาพระรัตนตรัย ผ่านการแปรอักษรขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยภาพพระสงฆ์นั่งสมาธิ ตัวอักษร และองค์ประกอบอื่นๆ ที่รายล้อมพระมหาธรรมกายเจดีย์ โดยการแปรอักษรครั้งนี้วัดพระธรรมกายจุดประทีปมากถึง 330,000 ดวง และได้รับการรับรองจาก Guinness World Records ว่าเป็นการจุดประทีปแปรอักษรที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ทางถนัดของคนไทย)

ในทางหนึ่งผู้คนในโลกออนไลน์ก็ออกมาให้ความเห็นว่ากิจกรรมนี้ทำลายมลพิษทางอากาศ ซึ่งพอคิดดีๆ แล้วก็ชวนสงสัย งานวันคุ้มครองโลก แต่กลับจัดกิจกรรมจุดไฟเป็นแสนๆ ดวงเพพื่อทำลายมลพิษแทน

เหตุผลในการใช้การจุดประทีปเพื่อแปรอักษร ก็คงคิดได้ไม่ยาก หากงานศาสนาจะแปรอักษรจะเอาอะไรมาใช้แปรได้บ้าง ก็น่าจะเป็นเทียนนี่แหละ

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวถึงแนวคิดการจุดประทีปเพื่อการแปรอักษรครั้งนี้ว่า “การจุดประทีป เป็นสัญลักษณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อส่งแสงสว่างแห่งธรรมะไปสู่ใจชาวโลก จะได้ให้เขาตระหนักถึงวันคุ้มครองโลก” ซึ่งการจุดประทีปก็เป็นความเชื่อในหลายๆ พื้นที่ในไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ซึ่งเมื่อลองสืบค้นข้อมูลว่าการจุดประทีปมีประโยชน์อย่างไรบ้าง พอจะได้ความว่าเป็นการสร้างบารมีให้ตัวเอง เป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ทำให้ดวงตาสดใส มีตาทิพย์ มีสติสัมปชัญญะ ปัญญาเฉลียวฉลาด

ซึ่งก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่าสรรพคุณดีได้ขนาดนี้เชียวหรือ

การใช้โดรนแปรอักษรเทิดพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 10  – รูปจาก กรุงเทพธุรกิจ

หรืออีกหนึ่งสิ่งของทันสมัย ที่ผู้คนนำมาใช้เพื่อการแปรอักษรโดยเฉพาะก็มี อย่างการใช้โดรน วัตถุที่สามารถบินได้อย่างอิสระบนท้องฟ้า ที่มักใช้บ่อยสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศ ที่ทำให้ได้ภาพสวย หรือผาดโผนโจนทะยานได้อย่างยอดเยี่ยม

จากการควบคุมระบบโดรนที่ก้าวหน้าขึ้น จึงมีคนนำโดรนมาเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ ติดไฟบนตัวโดรน ปล่อยให้บินไปเป็นฝูงบนท้องฟ้า แล้วบินไปมาตามคำสั่งคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้เกิดภาพที่ขยับได้จากการบินของโดรนแต่ละตัว บินเรียงกันเป็นรูปนั้น เรียงต่อกันเป็นคำนี้ ได้ทั้งนั้นเลย

ช่วงที่ผ่านมาก็มีคนนำสิ่งที่ไปใช้ในการแปรอักษรเทิดพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 10 ซึ่งต้องยอมรับว่าภาพที่ได้ออกมาจากโดรนที่ผ่านการวางระบบมาเป็นอย่างดี สามารถสร้างภาพได้อย่างแม่นยำ เอามาเรียงเป็นคำด้วยฟอนต์นู่นฟอนต์นี่ก็ทำได้ ฉลาดมาก

ที่สำคัญคือปกติในงานเฉลิมฉลองมักใช้เป็นพลุ สวยงามก็จริง แต่ก็ก่อมลพิษทางอากาศ การที่คนหันมาใช้โดรนสำหรับงานเฉลิมฉลองแบบนี้มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดี และน่าจะเป็นนวัตกรรมที่สร้างสภาวะที่ดีให้กับโลกของเราเหมือนกัน

วัดพระธรรมกายน่าจะลองทำแบบนี้มากกว่าการจุดประทีปเหมือนกันนะ

แปรอักษร, ของกลาง
เรื่องที่ถูกล้อจนชินตา ของยาบ้าที่ถูกเป็นคำ

ฟากทางผู้ต้องหา หนึ่งชาย หนึ่งหญิง ตอนนี้นั่งเกามืออย่างเบื่อหน่ายอยู่ตรงกลางโต๊ะแถลงข่าว ที่มีการจัดทุกอย่างไว้เสร็จสรรพ รอเพียงการเริ่มแถลงข่าวเท่านั้น สองผู้ต้องหาถูกจับข้อหาค้ายาเสพติด 40,000 เม็ด มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้แถลงข่าว ถึงตอนนี้สองผู้ต้องหานั่งหาวแล้วหาวเล่า กุญแจมือพึ่งถูกคลายหลังจากผู้ต้องหาบ่นอุบว่า

“นายครับ…คลายกุญแจมือหน่อยครับ ผมเจ็บข้อมือแล้ว”

ตำรวจทำตามคำร้องขอ เพราะก็เข้าใจ “รออีกนิด เดี๋ยวค่อยเข้าห้องขัง”

“รองผู้กำกับเดินไปดูยาบ้าของกลางแล้วจึงพิเรนทร์เทจากถุง เอามาเรียงเป็นคำว่า ยาบ้า เหมือนตำรวจไทยสมัยก่อน สาเหตุที่ทำไม่ใช่อะไรหรอก แต่เพราะมันไม่รู้จะทำอะไร ทุกอย่างต้องรอคอยอย่างอดทน แกเรียงคำว่า ยาบ้า อยู่นาน ก่อนจะเก็บใส่ถุง เพราะมีคนบ่นว่า กลิ่นยามันแรง ระเหยแสบตาไปหมด กลัวจะกลับบ้านแล้วนอนไม่หลับ”

(ตัดตอนมาจากคอลัมน์หนอนโรงพัก โดย ณัฐกมล ไชยสุวรรณ)

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากผู้คนที่รอการแถลงข่าวการจับกุมยาเสพติด เวลาว่างจากการรอคอยถูกใช้กับสิ่งไร้สาระมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือการเอายาบ้าพวกนี้มาเรียงเป็นคำว่า “ยาบ้า”

ทำ ทำ ไม !!

ประเพณีการเอายาบ้ามาเรียงเป็นชื่อเรียกของมันกลายเป็นหนึ่งภาพจำในสังคมไทยที่ถูกล้อเลียนหยิกแกมหยอกอยู่เสมอ จากแก๊กการ์ตูนสั้นเอย จากผู้คนในสังคมที่ตั้งคำถามกับของกลางอื่นๆ ว่าจะเอามาเรียงเป็นคำด้วยหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายส่วนมากเรื่องนี้จะเกิดขึ้นแค่กับยาบ้า น่าสนใจจริงๆ ว่าจะเอามาเรียงทำไมกัน ?

ครั้งหนึ่งทางข่าวสดออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง พล.ต.ต.ฤชากร จรเจวุฒิ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลดูแลงานยาเสพติด เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่าเอาของกลางมาเรียงเล่นกันทำไม ได้ความว่า “ถามว่าจะทำไปทำไมก็ไม่ทราบเหตุผล เพราะความเป็นจริงก็ไม่ควรไปแตะต้องของกลาง แต่ปัจจุบันนี้เราวางของกลางเป็นห่อๆ เช่น ให้รู้ว่าถุงนี้คือยาบ้า ถุงนี้คือยาไอซ์ ถุงนี้คือกัญชา ถุงนี้คือเฮโรอีน เป็นต้น”

…อ่าว

ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

แต่มันก็ทำให้เราพอเห็นว่า เอาจริงๆ แล้วการจับกุมยาเสพติดในหลายๆ ครั้งในอดีต ยาบ้าจะถูกนำมาวางเรียงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรียงเป็นคำ หยิบมาเรียงเป็นแถวให้เห็นความเยอะ ทางหนึ่งก็เป็นการโชว์ผลงานนั่นแหละ ว่างานที่เชิดหน้าชูตาให้พวกเขาในวันนั้นมันยิ่งใหญ่แค่ไหน

กูจับยาบ้าได้นะโว้ย !!

นี่อาจเป็นน้ำเสียงที่เม็ดยาบ้าที่ถูกวางเรียงกันต้องการตะโกนบอกกับเราก็เป็นได้

ประเพณีนี้โด่งดังไปถึงต่างประเทศด้วยนะ มีช่วงหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่น Tweet ภาพยาบ้าที่ถูกเรียงเป็นตัวอักษรคำว่า ยาบ้า พร้อมเม็ดยาบ้าอื่นๆ ที่เรียงแถวกันอยู่ข้างๆ แล้วบอกว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง อาจเพราะบ้านเขาไม่มีประเพณีที่น่าประหลาดแบบนี้ให้เห็นกันนัก

การเรียงยาบ้าเป็นชื่อเรียกของมัน ทั้งเรียงแบบลวกๆ หรือพิถีพิถันกว่านั้น  – รูปจาก ทวิตเตอร์ @phukachan100, ช่อง 7, แนวหน้า

รวมถึงเรื่องของศิลปะที่ใช้ในการจัดเรียงเป็นตัวอักษร มีทั้งการจัดเรียงเป็นคำอย่างลวกๆ พอให้ดูออกเป็น ย.ยักษ์ สระอา หรือ บ.ใบไม้ ได้เท่านั้น เรียงกันเป็นแถวเดียวบ้าง สองแถวบ้าง ไล่ไปตามเส้นตัวอักษรเพื่อเพิ่มความหนา อาร์ตกว่านั้นหน่อยก็เรียงทั้งแถวเดียวและสองแถว หรือเรียงเป็นฟอนต์ไปเลยก็มี

การจับกุมยาบ้าที่ลาว ซึ่งก็เอายาบ้ามาเรียงเหมือนกัน  – รูปจาก ทวิตเตอร์ @can_nw

ที่เด็ดกว่านั้นคือ ตำรวจลาวก็ทำเหมือนกันนะ เวลาจับยาบ้าได้ตำรวจลาวก็เคยใช้วิธีเดียวกันนี้ในการถ่ายภาพส่งไปยังสำนักข่าวต่างๆ ในประเทศลาวเหมือนกัน บ้านพี่เมืองน้องอะเนอะ

ปัจจุบันนี้ประเพณีแบบนี้ค่อยๆ น้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เวลามีข่าวจับกุมยาเสพติดก็มักจะเป็นการนำบรรจุภัณฑ์มากองให้เห็นเสียมากกว่า ในทางหนึ่งการเอายาบ้ามาเรียง ก่อให้เกิดสารระเหยบางอย่างที่ทำให้ตำรวจเอง ผู้ต้องหา หรือนักข่าวที่ไปทำข่าวมึนเมาได้เช่นกัน เลยอาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ประเพณีที่สืบทอดกันมาในวงการนี้สูญหายไป และก็ยังสืบทราบไม่ได้เสียทีว่าใครเป็นคนทำ 

และอยากจะย้ำอีกสักครั้งให้เธอฟังฉันว่า ทำ ทำ ไม !!

แปรอักษร, ของกิน
“แม่บอกกี่ครั้งแล้วอย่าเอาของกินมาเล่น !!”

เรื่องนี้ขอเล่าแค่หนึ่งเหตุการณ์ก็แล้วกัน

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เกิดเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวสามลำล่มและจมในบริเวณเกาะเฮ ใกล้จังหวัดภูเก็ต จากพายุฉับพลัน ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 47 ราย สูญหาย 4 ราย ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์เรือล่มครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นักข่าวถามไปยัง พล.อ.ประวิตร ว่า “จะเรียกความเชื่อมั่นจากชาวจีนกลับคืนมาได้อย่างไร” และก็ได้คำตอบที่น่าสนใจ “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนจีนทำนักท่องเที่ยวจีนเอง สร้างเรือเอง ไม่ทำตามกฎของเรา แล้วจะให้เราเรียกความเชื่อมั่นอะไร มันเป็นเรื่องของเขา” ครับ นั่นคือคำตอบในฐานะตัวแทนประเทศไทย ชาวจีนไม่พอใจกับคำตอบนี้ของลุงป้อมมาก

ลุงป้อมก็ไม่นิ่งนอนใจ จัดงานง้อให้จีนทันที

ข้าวเหนียวมะม่วง พร้อมการแปรอักษรจากถั่วทองคั่วเป็นคำว่า “WE CARE”  – รูปจาก THAI NEWS PIX

วันที่ 20 มกราคม ปีถัดมา มีการจัดงาน “We Care About You” ขึ้น เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศ และสร้างความเชื่อถือให้กับประเทศ (หรือเรียกว่าง้อนั่นแหละ)

ในงานนี้มีการเชิญคนจีนมาร่วม 10,000 คน เพื่อเลี้ยงเมนูข้าวเหนียวมะม่วง น้ำหนักกว่า 4.5 ตัน ประกอบด้วยข้าวเหนียวเขี้ยวงูมูนพูนๆ 1.5 ตัน มะม่วงน้ำดอกไม้ไม่อั้น 6,000 ลูก ถั่วทองคั่วจุกๆ เพื่อเรียกคนจีนกลับมาเที่ยวไทย

และยิ่งตอกย้ำความบ้าแปรอักษรของคนไทยเพิ่มไปอีก เพราะข้าวเหนียวมะม่วงยักษ์ถาดนี้ปูรองด้วยข้าวเหนียวมูน ล้อมกรอบด้วยมะม่วงสุก เทน้ำกะทิไว้ก้นถาดพร้อมมะม่วงที่แช่อยู่ในน้ำ และเอาถั่วทองมาเรียงเป็นตัวอักษร “WE CARE” ด้วยตัวอักษรสไตล์ฟอนต์ Bebas Version 1.1 ซึ่งเป็นฟอนต์แนวผอมสูง และมีพื้นที่ในตัวอักษรประมาณหนึ่ง ทำให้ถั่วทองที่ถูกใช้สร้างเป็นคำน่าจะมาจากหลายสวนเลย

ข้าวเหนียวมะม่วงถาดนี้ถูกรับรองจาก Guinness World Records ว่าเป็นข้าวเหนียวมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

ข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือภายในงาน  – รูปจากเพจ CSI LA

สุดท้ายมีคนถ่ายภาพซากข้าวเหนียวมูนที่แผ่หลาบนใบตองอย่างน่าเวทนา จากความสวยงาม และการเชิดชูในช่วงต้นงาน กลายเป็นของทิ้งขว้างในช่วงจบงานที่ไม่มีใครเหลียวแล

ทั้งในฐานะข้าวเหนียวมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในฐานะการแปรอักษรเป็นคำเพื่อเอาหน้า การลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนที่ใหญ่เกินตัว เพราะน่าจะเป็นโครงการที่กินงบประมาณไปอีกมากเป็นแน่

แปรอักษร, โฆษณา
การสื่อสารด้วยภาพ ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว

หมายเหตุ – หัวข้อนี้มีภาพแมลงสาบหงายท้อง หากรู้สึก Trigger ให้หลับตาแล้วเลื่อนผ่านได้เลย กราบขออภัยครับ

มาถึงต้นเรื่องที่ทำให้เราอยากเล่าถึงเรื่องนี้เสียที

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โฆษณาชุด พระราชทาน  “มากกว่า…ของในถุง” ของ สิงห์คอร์เปอเรชั่น ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก จากชุดความคิดบางอย่างที่ไม่ถูกใจผู้คนบนโลกออนไลน์จากข้อความที่ถูกสื่อสารผ่านทั้งภาพและเสียงภายในนั้น

Scene แปรอักษรในโฆษณาชุด พระราชทาน “มากกว่า…ของในถุง”  – รูปจากเพจ Singha Corporation

ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “มื้อที่สุขที่สุด” ที่ถูกแปรอักษรด้วยการเรียงข้าวปลาอาหาร และของจากถุงยังชีพ ท่ามกลางการกินข้าวของสองพ่อลูกที่ยิ้มแย้ม มีความสุขจนล้นปรี่ บนหลังคาบ้านที่ถูกน้ำท่วมจนมิดหัว

คำว่า “อบอุ่นถึงหัวใจ” ที่ถูกแปรอักษรด้วยม้วนผ้าห่มแจก ที่แจกกันพร่ำเพร่อ และหลายครั้งก็เต็มไปด้วยคำครหาจากสังคมเรื่องเงินที่ถูกใช้ไป

คำว่า “โอกาส” ที่ถูกแปรอักษรด้วยสิ่งของหลายอย่าง ทั้งโคมไฟ หนังสือ ดินสอ ไม้บรรทัด และก็ไม่ได้ถูกครหามากเท่าไหร่ในโฆษณานี้

และคำว่า “ความยั่งยืน” ที่ถูกแปรอักษรด้วยพื้นที่หลากหลายรูปแบบผ่านคอมพิวเตอร์กราฟิก เนรมิตเป็นทั้งถนน ป่า เมือง เขื่อน น้ำตก แม่น้ำ ฟาร์มวัว ซึ่งเต็มไปด้วยความเจริญงอกงามในทุกหัวระแหง และถ้วนทั่วทุกตัวอักษร

เสียงดนตรีประกอบสุดละมุนหู เสียงโฆษกที่อบอุ่นสุดหัวใจ ภาพความสุขผ่านการแสดงของตัวแสดงที่ถ่ายทอดออกมาได้เป็นธรรมชาติตรงนั้น ล้วนย้อนแย้งกับความคิดเห็น และกระแสตอบรับที่ตีกลับมาถึงโฆษณาตัวนี้อย่างถาโถม

โดยจุดที่มีดราม่ามากที่สุดน่าจะเป็นที่คำแรก “มื้อที่สุขที่สุด” ที่สะท้อนถึงแนวคิดผิดแปลกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกความคิดผ่านโฆษณาตัวนี้ และสะท้อนถึงภาพสังคมปัจจุบันที่ไร้ซึ่งความเหมือนจากในโฆษณานี้ทุกอณู

รวมถึงคำถามง่ายๆ โง่ๆ ที่คนในโลกออนไลน์ตั้งคำถามกับแค่ Scene นี้ Scene เดียว อย่างการตกปลาได้ไม้แต่กลับยิ้มแย้ม มีคนมาแจกถุงยังชีพแต่ไม่รับกลับขึ้นเรือไปด้วย มีทั้งข้าวสวย ไข่เจียว เอาเวลาไหนไปทอดไปหุง ไปตัดใบตองมาจากไหน แล้วทำไมถึงกลายเป็นผู้ประสบภัยเพียงสองคนตรงนั้น บ้านอื่นๆ ไปไหนกันหมด

ภาพที่ไม่สมจริงแสดงถึงความไม่รอบคอบในการสื่อสารผ่านมุมมองที่เน้นการ Romanticize จนเกินไป จนขาดความคำนึงถึงความสมเหตุสมผล และสภาพความเป็นจริงในสังคมว่ามันเหมือน หรือแตกต่างกับสิ่งที่ “โฆษณา” ออกไปมากแค่ไหน

เพื่อความเท่าเทียม และรอบด้าน ผมเลยลองไปอ่านบทความของคุณเปลว สีเงิน ผู้ไม่ได้ตำหนิในตัวโฆษณาชุดนี้ เขามองถึงแก่นเรื่องในการสื่อสารว่าอะไร ที่มันมากกว่า “ของพระราชทาน” ในถุง ? ที่เมื่อต้องสื่อสารในเวลาจำกัดของโฆษณา การอธิบายด้วยข้อความสั้นๆ ฟังปุ๊บ เข้าใจปั๊บ จึงเป็นเรื่องยาก การใช้สัญลักษณ์เลยสำคัญ และคุณเปลวก็เข้าใจเจตนาทั้งหมดภายในโฆษณาตัวนี้ดี และยังกล่าวอีกว่า

“ทุกคนมีอิสรภาพในความคิด “คิดสัตย์-คิดอสัตย์” แต่ละคน รู้อยู่กับตัวเอง และผลที่ได้รับจาก “สัตย์-อสัตย์” นั้น ด้วยแต่ละเจตนา จะมีคำตอบให้แต่ละชีวิต”

เอาเป็นว่านานาจิตตัง ใครจะมองอย่างไรก็อยู่ที่แต่ละคนแล้วกัน

จุดสำคัญของโฆษณาคือการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจในระยะเวลาอันสั้น การถ่ายทอดข้อมูลให้ครบความผ่านสื่อโฆษณาจึงเป็นสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ต้องมาปวดหัวกับมันเสมอ ยิ่งทำต้องยิ่งใหม่ ให้แตกต่างออกไปไม่ซ้ำของเดิม

หลายครั้งข้อมูลก็ถูกสื่อสารอย่างแยบคาย และหลายครั้งการใช้มุก “แปรอักษร” มาสอดแทรกในเนื้อหา ก็ทำให้การสื่อสารครบถ้วนได้อย่างง่ายดาย ตรงไปตรงมา เพียงเลือกวัตถุที่สื่อความหมายเรื่องราวได้ชัด มาจัดเรียงเป็นคำสักคำหนึ่ง ดูปุ๊บ รู้ปั๊บ ก็สามารถตีแสกหน้าคนดูให้เข้าใจได้ง่ายอย่างไม่ไยดีภายในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างในโฆษณาผลิตภัณฑ์เชนไดรท์ ที่ฆ่าแมลงสาบอยู่หมัด ก็เอาแมลงสาบที่ตายแล้วมาหงายท้องเรียงกันเป็นคำว่า “ตาย” หรืออย่างในโฆษณาสั้น 15 วินาทีของผลิตภัณฑ์สก็อต รังนกแท้ ที่เอากล่องรังนกมาเรียงเป็นคำว่า “LOVE MOM” บนเตียง (เหมือนที่วัยรุ่นยุคนี้ชอบเอาเงินมาเรียงบนเตียงเป็นคำยังไงหยั่งงั้นเลย)

Scene แปรอักษรในโฆษณาชุด ตายยากแต่ตาย ของผลิตภัณฑ์เชนไดรท์ – รูปจากช่องยูทูป Sherwood
Scene แปรอักษรในโฆษณาชุด รักแม่..เหมือนเดิม ของผลิตภัณฑ์รังนกสก็อต – รูปจากช่องยูทูป ScotchChannel

ซึ่งในมุมมองของผม มองว่าการแปรอักษรในโฆษณาอย่างง่ายๆ ดูจะเป็นแนวคิดที่ฉาบฉวยเกินไปของโฆษณาในสมัยนี้ โฆษณาที่ดีควรถูกจดจำจากการนำเสนอที่คมคาย กลั่นกรองแนวคิดในการสร้างสรรค์มาเป็นอย่างดี และถูกถ่ายทอดด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ การแปรอักษรในโฆษณาเลยดูเหมือนเป็นทางลัดของการนำเสนอชุดข้อมูลที่ต้องการสื่อสารให้ง่ายขึ้น และดูเหมือนว่าจะทำให้งานโฆษณาดูไม่พิถีพิถันในยุคปัจจุบัน

แปรอักษร, ฟอนต์
นำบางสิ่งมาเรียงเป็นตัวอักษร หรือเป็นฟอนต์ที่พิมพ์ได้จริง

ชื่อคอลัมน์ Fontaholic จะไม่พูดถึงฟอนต์ได้ยังไงกัน มันจะไม่เข้าธีมเอานะ

ในไทยเราก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่ใช้ลูกเล่นในการแปรอักษรมาก่อให้เกิดฟอนต์ ที่แสดงถึงแนวคิด หรือความเข้ากันได้กับสถานการณ์นั้นๆ

อย่างในเหตุการณ์น้ำท่วมช่วงปี พ.ศ. 2554 สภากาชาดไทยก็ได้สร้างโปรเจกต์ Font Fights Flood โปรเจกต์ระดมทุนเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้คนจากสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านการบริจาคเงินสมทบทุนเข้าโครงการ แลกกับฟอนต์อักขระภาษาอังกฤษ ที่ออกแบบผ่านรูปแบบ Object typography ที่ล้อไปกับเหตุการณ์น้ำท่วมในทุกตัวอักษร อย่างตัวอักษร A ที่ออกแบบเป็นหลังคาที่ถูกน้ำท่วมจนมิดหัว (คุ้นๆ แฮะ), ตัวอักษร E ที่ออกแบบเป็นเชลฟ์สินค้าในห้างที่ว่างเปล่า จากการที่สินค้าบริโภคหาซื้อยากและมีราคาแพง หรืออย่างตัวอักษร Q ที่ออกแบบเป็นห่วงยาง พร้อมแขนคนที่ยื่นออกมาแทนขาของตัวอักษร สื่อถึงผู้คนที่กำลังรอความช่วยเหลือ ซึ่งทุกตัวอักษรสะท้อนเรื่องราวหลากหลายเรื่องที่วนเวียนอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมขณะนั้น ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้คนทั่วไป เหตุการณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโลกออนไลน์ขณะนั้น ต่างถูกหยิบจับมาล้อเลียนได้อย่างแยบยล และถือเป็นโครงการที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้น

ตัวอักษรบางส่วนจากโครงการ Font Fight Flood  – รูปจากเพจ Font Fights Flood

หรืออย่างฟอนต์ 33712 ของนักออกแบบในนาม PrachathipaType ฟอนต์ที่ได้แรงบันดาลใจจากกราฟวงกลมแสดงงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 33,712 ล้านบาท จากการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระที่ 1 ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ตัวอักษรทุกตัวถูกออกแบบขึ้นจากการนำแต่ละส่วนมาผสมผสาน และดัดแปลงให้กลายเป็นตัวอักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษแบบครบทุกชุด เพื่อสะท้อนแนวคิดทางการเมืองของผู้ออกแบบ และล้อเลียนไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ที่มีผู้คนบางกลุ่มครหากับเม็ดเงินจำนวนมากที่ถูกใช้จ่ายไปในส่วนนี้

ตัวอักษรบางส่วนจากฟอนต์ 33712  – รูปจากเพจ PrachathipaType
การอภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564  – รูปจาก ประชาไท (TPTV10)

มาถึงตรงนี้แล้วเราคงจะเห็นว่าคนไทยบ้าพิธีรีตองขนาดไหน ต้องจัดเรียง สร้างสรรค์ ใช้เงิน ใช้เวลาไปกับการแปรอักษรไปมากขนาดไหน และยิ่งทำให้เห็นว่าความเป็นไทยนี่มัน Unique เสียจริงเชียว นั่นคงเป็นเพราะว่าเอกลักษณ์ของเราคือความไม่เหมือนใคร (และไม่รู้จะมีใครอยากเหมือนเราบ้างหรือเปล่านะ) เอกลักษณ์ของเราสอดแทรกอยู่ในทุกซอกของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เรื่องราวรอบตัวเราเหล่านี้คงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้คำว่า “ที่นี่ประเทศไทย” ดูจะเป็นคำที่น่าภูมิใจ และน่าขบขันให้เสียงดังได้ในใจความเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : assumption / chiangmainews / blockdit 1 / bbc / khaosod 1 / dailynews / FontFightsFlood

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า