fbpx

วิวัฒนาการหนังสยองขวัญในแต่ละยุคสมัย ก่อนการมาของ ‘ร่างทรง’

เรื่องราวเหนือธรรมชาติ ภูตผีปีศาจ และความกลัวต่อสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านานตั้งแต่กำเนิดอารยธรรม เรื่องราวเหล่านี้คือสิ่งที่ทำงานต่อความรู้สึกของคนได้ง่าย ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะชนชาติและวัฒนธรรมใด พวกเราล้วนเติบโตมากับทั้งเรื่องเล่า ตำนานในอดีต บ้างก็เป็นตำนานที่สอนสั่งให้กลัวเพื่อมิให้ทำผิด หรือแม้แต่ตำนานความโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยพิพากษาชีวิตคนนับแสนอย่างโหดร้ายเพียงเพราะความกลัว ในเรื่องที่อธิบายไม่ได้ เช่น ยุคที่มีการล่าแม่มด (Witch-Hunt) ในยุโรปช่วงปี 1480 – 1750 

ดังนั้น ทันทีที่เทคโนโลยีเริ่มพัฒนาและก่อกำเนิดกล้องที่สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวผ่านฟิล์มได้สำเร็จ นำมาซึ่งศิลปะแขนงใหม่ที่ชื่อว่า ภาพยนตร์ ได้ถือกำเนิดขึ้น หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกหยิบมาสร้างบนแผ่นฟิล์ม แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่เล่นกับความรู้สึกกลัวของคน ซึ่งเป็นผลสำเร็จจนได้กลายเป็นหนึ่งแนวภาพยนตร์ที่เรียกว่า หนังสยองขวัญ (Horror) มาจนถึงปัจจุบัน 

ตามประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ หนังสยองขวัญ มีการเริ่มต้นและพัฒนาตามเวลาที่เคลื่อนไปไม่ต่างกับหนังแนวอื่น นอกจากนั้นในแต่ละยุคสมัยหนังประเภทนี้ก็มีเอกลักษณ์และความนิยมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป 

ก่อนการมาของหนังไทยอย่าง ร่างทรง (บรรจง ปิสัญธนะกูล, 2021) ที่สร้างกระแสไปทั่วเอเชียให้พูดถึงในช่วงที่ผ่านมา หนังสยองขวัญได้เดินทางไกลมานับร้อยปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์ ไปจนถึงช่วงตกต่ำ 

ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นอย่างไร มาย้อนเวลากลับไปดูกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1890 – 1920 
การตั้งไข่ของศิลปะภาพยนตร์และอิทธิพลของศิลปะแนว German Expressionism 

Le Manoir du diable (1896)

ยุคแห่งการทดลองทางศิลปะของสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์ในยุคแรก ตามข้อมูลว่ากันว่า หนังสยองขวัญเรื่องแรกที่เล่าเรื่องเหนือธรรมชาติ คืองานหนังสั้นอย่าง Le Manoir du diable (The Haunted Castle) ในปี 1896 ของผู้กำกับบรมครูอย่าง จอร์จส์ เมลิเยส์ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของค้างคาวตัวใหญ่ที่กลายร่างเป็นหัวหน้าปีศาจที่ร่ายมนต์ใส่หญิงสาว ตามมาด้วยการปรากฏตัวของแม่มดและโครงกระดูก และจบลงที่มีคนหยิบไม้กางเขนขึ้นมาและทำให้บรรดาปีศาจหายไป หนังสั้นความยาว 3 นาทีเรื่องนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสยองขวัญที่ตามมาหลังจากนั้น 

ประกอบกับอิทธิพลของศิลปะแนว German Expressionism ที่ได้ความนิยมในช่วงเวลานั้น ทำให้หนังสยองขวัญหลายเรื่องที่ตามออกมาได้ใช้ศิลปะแนวนี้ในการนำเสนอ โดยจะมีความโดดเด่นในแง่ของการบิดเบือนความสมจริงอย่างรุนแรงเพื่อกระตุ้นอารมณ์และความคิด สังเกตได้จากการออกแบบฉากและการจัดแสง เช่นสถาปัตยกรรมที่ดูบิดเบี้ยวมีเหลี่ยมมุมชัดเจน การจัดแสงที่ให้บรรยากาศที่อึดอัด อึมครึมและมืดหม่น

โดยหนังสยองขวัญที่โด่งดังในยุคนั้นและเป็นดั่งครูมาจนถึงตอนนี้ ได้แก่หนังอย่าง Nosferatu (F.W. Murnau, 1922) หนังแวมไพร์ที่พูดถึงแดรกคูล่าที่เป็นแม่แบบสำคัญในยุคต่อมา

1930 – 1940 
ยุคทองของหนังสยองขวัญโกธิค และความรุ่งโรจน์ของ Universal 

The Phantom of the Opera (1925)

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือยุคทองยุคแรกของหนังสยองขวัญก็ว่าได้ และเป็นยุคทองของสตูดิโออย่าง Universal ในการสร้างสรรค์หนังสยองขวัญที่มีเอกลักษณ์ มีแคแรกเตอร์ที่ชัดเจนและเป็นที่จดจำมาถึงปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากผลงานเด่นในช่วงเวลาก่อนหน้าอย่าง The Hunchback of Notre Dame (Wallace Worsley, 1923) และ The Phantom of the Opera (Rupert Julian, 1925) ที่ทำรายได้อย่างน่าพอใจ  จนสตูดิโอตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยช่วงยุคสมัยนี้ ได้เปิดตัวด้วยตัวละครอมตะอย่าง Dracula (Tod Browning, 1931) และ Frankenstein (James Whale, 1931) 

หลังจากนั้นคือปรากฏการณ์ สตูดิโอ Universal ได้บุกเบิกหนังสยองขวัญโกธิค (ที่ฉากหลังคือสถานที่หรือสถาปัตยกรรมที่ย้อนยุคกลับไปสมัยยุโรปยุคกลาง เช่น ปราสาทเก่าแก่) ให้สร้างตามออกมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น The Mummy (Karl Freund, 1932) The Invisible Man (James Whale, 1933) และ The Wolf Man (George Waggner, 1941) โดยเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนมักเรียกว่า Universal Monster เพราะเป็นหนังสยองขวัญที่มีโทนแฟนตาซี (ปีศาจในตำนาน, สัตว์ประหลาด) ผสมกับแนวไซไฟ (มีตัวละครนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง) ซึ่งทุกเรื่องต่างทำรายได้อย่างงดงาม ตัวละครเป็นที่จดจำ และกลายเป็นหนังคลาสสิกมาจนถึงปัจจุบัน 

ป.ล. ปี 2017 ทาง Universal ก็ตัดสินใจนำ Universal Monster กลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ในชื่อ Dark Universe ตามกระแสนิยมของฮอลลีวูดที่เริ่มอยากเลียนแบบความสำเร็จของ Marvel Cinematic Universe ที่ทำรายได้มหาศาล และแฟชั่นการเป็นหนัง จักรวาล (Universe) ก็ตามมาเป็นดอกเห็ด โดยได้วางหนังอย่าง The Mummy (Alex Kurtzman, 2017) เป็นหนังเปิดจักรวาล แต่สุดท้ายก็กลายเป็นยักษ์ล้มอีกตัวที่ล้มเหลวทั้งแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ จบจักรวาล Dark Universe ไว้เพียงหนังเรื่องเดียวอย่างอนาถใจ

1950 -1960 
จุดเริ่มต้นที่หลากหลาย การปลุกปีศาจในความเชื่อทางศาสนา
ความรุนแรงจากการเชือด และการสะท้อนความน่ากลัวจากสงคราม

Psyco (1960)

หลังจากที่หนังผีจากตัวละครคลาสสิกของ Universal เริ่มเสื่อมความนิยมลงไป หนังสยองขวัญในยุคนี้จึงเป็นยุคที่เริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ มันคือการใส่ความสร้างสรรค์รวมถึงตีความโทนหนังให้ต่างออกไปจากเดิม แม้ว่าจะเป็นตัวละครและเรื่องราวเดิมก็ตาม เช่นงานของ Hammer Film Productions บริษัทจากประเทศอังกฤษ ที่หยิบตัวละครเดิม ๆ อย่าง แดรกคูล่า และ แฟรงเกนสไตน์ มาปัดฝุ่นใหม่ให้น่าสนใจมากขึ้นและเข้ามาร่วมจอเดียวกัน จนเป็นหนังอย่าง The Curse of Frankenstein (Terence Fisher, 1957) และ Dracula (Terence Fisher, 1958) ซึ่งตัวหนังประสบความสำเร็จอย่างดี และได้ต่อลมหายใจของหนังแนวนี้ไปได้อีกหลายภาค ซึ่งทำให้สองนักแสดงนำอย่าง ปีเตอร์ คุชชิ่ง และ คริสโตเฟอร์ ลี กลายเป็นนักแสดงหนังสยองขวัญแห่งช่วงเวลานี้ 

นอกจากนั้น เมื่อเวลาผันผ่านไปจนตัวละครตำนานในยุคก่อนแผ่วปลายและหมดความนิยมเป็นที่เรียบร้อย ฝั่งฟากของฮอลลีวูดเองก็เริ่มมีการคิดใหม่ ทำใหม่ โดยเกิดงานที่เป็นจุดเริ่มต้นของหนังแนวไล่เชือด (Slasher Film) เริ่มเป็นที่นิยม ซึ่งหนังขึ้นหิ้งอย่าง Psycho (Alfred Hitchcock, 1960) เป็นหนังที่เปิดตำนานนั้น ไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นหนังเชือดที่น่ากลัวสุดขีด และแปลกใหม่ด้วยการใส่เรื่องราวด้านจิตเวชเข้ามาผสมเท่านั้น แต่ด้วยศิลปะและวิธีการนำเสนออันแพรวพราวของผู้กำกับอย่าง อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ก็เป็นอีกสิ่งที่ยอดเยี่ยมเสียจนเป็นการริเริ่มแนวหนังประเภทนี้ออกมาในอนาคต

รวมไปถึงการหยิบเรื่องราวสยองขวัญจากตำนานของศาสนา แถมยังแปลกใหม่กว่านั้น ด้วยการเล่ามันออกมาในเชิงหนังดราม่า สืบสวน ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ยอดเยี่ยม ในการสร้างความน่ากลัวที่เยือกเย็นด้วยบรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจ ที่นำมาซึ่งงานสยองขวัญในตำนานอีกเรื่องอย่าง Rosemary’s Baby (Roman Polanski, 1968) ที่เริ่มมีการสร้างตัวละครอย่าง ซาตาน ให้มามีบทบาทในโลกภาพยนตร์

อีกทั้งสถานการณ์โลกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และเริ่มต้นช่วงสงครามเย็นอันเคร่งเครียด บรรดาคนทำหนังไม่ว่าจะฮอลลีวูดหรือเอเชีย ต่างก็สร้างหนังขึ้นมาโดยมีไอเดียจากอิทธิพลของเหตุการณ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่นในการสร้างหนังสัตว์ประหลาดอย่าง Godzilla (Ishiro Honda, 1954) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ เพื่อยุติสงคราม โดยต้องการให้เห็นถึงผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคนญี่ปุ่น 

ส่วนของฝั่งอเมริกาก็มีงานอย่าง Night of the Living Dead (George A. Romero, 1968) ที่ถือเป็นหนังต้นกำเนิด ซอมบี้ ที่ได้แรงบันดาลใจสำคัญมาจากสงครามเวียดนามที่บั่นทอนจิตใจชาวอเมริกันอย่างมาก โดยนำเสนอถึงความโหดร้ายของสงคราม ที่คนที่อยู่ในนั้นไม่ต่างกับศพเดินได้ที่ไล่กัดกินคนอื่นอย่างไม่ลดละ

1970 – 1980 
มหกรรมปราบผี หนีตายบนอวกาศ
ไล่เชือดเลือดนอง และความวิปริตสุดสร้างสรรค์ที่กล้าบ้าบิ่น 

Friday the 13th (1980)

นี่คือยุคที่หนังสยองขวัญเดินทางมาจุดรุ่งโรจน์อีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนาน ไม่ใช่แค่เพียงเพราะหนังแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลก หากแต่ยุคนี้ยังเต็มไปด้วยหนังสยองขวัญที่หลากหลาย โดยเป็นการผสมผสานวัตถุดิบจากยุคก่อนเข้ามาจนกลายเป็นยุคทองของหนังสยองขวัญที่ครบทั้งความรุนแรงเลือดสาด ฉากน่ากลัวจับใจ และความกล้าที่จะวิปริตและบ้าให้สุด 

หนังสยองขวัญในยุคนี้ที่มาเปิดศักราชใหม่ให้วงการหนังสยองขวัญคึกคักไปทั่ว ได้แก่หนังในตำนานอย่าง The Exorcist (William Friedkin, 1973) ช่วงเวลาที่ผ่านมา หนังสยองขวัญอาจดูเป็นหนังที่เกรดบีหน่อย ๆ กล่าวคือ หนังสยองขวัญเป็นหนังที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงอะไร ทุนสร้างไม่สูงมาก และด้วยภาพลักษณ์ของมันที่มุ่งสร้างความน่ากลัวเป็นหลัก ก็ทำให้คนให้ค่ามันน้อยกว่าหนังแนวอื่น ๆ แต่ไม่ใช่กับ The Exorcist เพราะผู้กำกับอย่าง วิลเลียม ฟรีดกิ้น คือผู้กำกับที่เพิ่งทำหนังคว้าออสการ์มาหมาด ๆ แถมตัวเขาเองก็เพิ่งได้ออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมาอีกด้วย การที่ตัวเขามาจับงานสยองขวัญ จึงคล้ายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้หนังสยองขวัญที่ชัดเจนว่าอย่างน้อย หนังแนวนี้ก็ไม่ใช่หนังเกรดบีเสมอไป

The Exorcist คือหนังที่สร้างหมุดหมายสำคัญในการสร้างความน่าหวาดกลัวกับผู้คนในตอนนั้นอย่างขีดสุด เต็มไปด้วยฉากปราบผีที่แปลกใหม่ชวนอ้าปากค้างหลายฉาก แถมยังเต็มไปด้วยความรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ชมเบือนหน้าหนี รวมถึงฉากที่มีพฤติกรรมล่อแหลมและเป็นที่ถกเถียง และมันได้เดินตามรอยรุ่นพี่อย่าง Rosemary’s Baby ที่เป็นผู้เริ่มต้นหยิบประเด็นผีห่าซาตานมาใช้ได้อย่างเต็มภาคภูมิในแง่ของโทนสยองขวัญที่มากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว แต่ยังคงคุณภาพด้านภาพยนตร์ไว้ได้แต่ไม่ขาดตกบกพร่อง 

อีกมรดกตกทอดมาจากยุค 60 คือหนังแนวไล่เชือดที่แม้ว่าสิ่งที่รุ่นพี่อย่าง Pyscho ทำเอาไว้จะอยู่ในมาตรฐานที่สูงลิบ แต่มาถึงยุคนี้หนังเชือดไม่ได้ต้องการเจริญรอยตามในฐานะหนังเชือดที่มีการหักมุม หรือประเด็นจิตเวชอะไร แต่คงไว้เฉพาะเอกลักษณ์ของหนังเชือด ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเลือดสาดถึงใจ และสร้างตัวละครวายร้ายที่เป็นไอคอนแห่งยุคสมัยที่ยังได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เลเทอร์เฟช, ไมเคิล ไมเออร์ส, เจสัน วอร์ฮีส์ และ เฟรดดี้ ครูเกอร์ ซึ่งก็ได้เปิดศักราชด้วยงานคลาสสิกอย่าง The Texas Chainsaw Massacre (Tobe Hooper, 1974), Halloween (John Carpenter, 1978), Friday the 13th (Sean S. Cunningham, 1980) และ A Nightmare on Elm Street (Wes Craven, 1984) 

มันคือยุคที่หนังไล่เชือดรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในแบบที่มันได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น เพราะมีครบทั้งความสะใจ เลือดสาด ลุ้นระทึก และฉากโป๊ติดเรท อาจจะดูว่าเป็นหนังที่ย่อยง่าย แค่รับความบันเทิงแบบเลือดสาดแล้วจบกัน หากแต่มันยังมีความสร้างสรรค์ในแง่ของการเล่นสนุกกับความรู้สึกของคนดู การฆ่าและการปรากฏตัวในจังหวะเวลาที่คนดูไม่คาดคิด เช่นวิธีการฆ่าสุดสร้างสรรค์ของเฟรดดี้ ครูเกอร์ ที่ผสมความแฟนตาซีผสมอยู่ในตัวซึ่งทำให้อ้าปากค้างกับฉากฆ่าสุดบรรเจิด ทั้งหมดต่างผ่านการคิดและสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดผลด้านความรู้สึกอย่างสูง ซึ่งมันไม่ง่ายเลยที่สามารถทำได้ถึงอารมณ์และทึ่งกับสิ่งที่เห็น 

นอกจากนั้น นี่ยังเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการนำหนังสยองขวัญไปเกาะกระแสหนังแนวไซไฟอวกาศที่พลิกวงการภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิงจากปรากฏการณ์ของ Star Wars (George Lucas, 1977) จนกลายเป็นงานสยองขวัญขึ้นหิ้งอย่าง Alien (Ridley Scott, 1979) และ The Thing (John Carpenter, 1982)

เติมสีสันแห่งยุคสมัยด้วยนิยายของ สตีเฟน คิง ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยหนังอย่าง Carrie (Brian De Palma, 1979) ก็เป็นหนังชิ้นแรก ๆ ที่สร้างจากนิยายของคิงและประสบความสำเร็จอย่างสูง นอกจากนั้นตัวหนังก็ยังมีความแปลกใหม่ในแง่ของการผสมเรื่องราวของพลังจิต ความเชื่อทางศาสนา ดราม่าครอบครัวเข้ม ๆ และสยองขวัญเลือดสาดได้อย่างลงตัว

และงานที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือหนังสยองขวัญที่ต้องใช้คำว่าทั้งบ้าคลั่ง วิปริต หากแต่ถูกใจคอหนังสายโหด และเป็นอีกหนึ่งตำนานหนังสยองขวัญที่โลกไม่ลืม ได้แก่หนังอย่าง The Evil Dead (Sam Raimi, 1981) ในฐานะที่มันเป็นหนังสยองขวัญแบบไปสุดทาง ที่บ้าพลังในการสร้างสรรค์ ความน่ากลัว ความโหด และความวิปริตอย่างไม่ประนีประนอม จนถูกแบนห้ามฉายในหลายประเทศ สะท้อนความบ้าพลังและความสร้างสรรค์ของผู้กำกับจนได้กลายเป็นผู้กำกับเบอร์ใหญ่ในเวลาต่อมา

ปิดท้ายด้วยหนังแนวที่ถูกขนานนามว่าเป็น Body Horror ที่เริ่มมีความโดดเด่นมากขึ้น ในฐานะหนังนอกกระแสที่โดดเด่น กล่าวคือเน้นความน่ากลัวด้วยการนำเสนอภาพอันสยองด้วยร่างกายที่บิดเบี้ยว หรือถูกทำลายอย่างรุนแรงด้วยสารพัดสิ่ง โดยบางครั้งก็อิงจากความแฟนตาซี เช่นงานอย่าง Scanners (David Cronenberg, 1981) เรื่องราวของคนที่มีพลังโทรจิต ซึ่งหากใครเคยดูคงไม่ลืมภาพหัวสมองที่ถูกระเบิดกระจุยได้! หรือหนังอย่าง Eraserhead (David Lynch, 1977) ที่นำเสนอเรื่องราวแฟนตาซีเหนือจริงที่แม้จะเป็นการเล่าเรื่องที่นามธรรมและคลุมเครือ แต่การจะลืมภาพสุดเซอร์เรียลอันน่าสะพรึงของหนังก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำง่าย ๆ 

ชัดเจนว่า ในยุคนี้เป็นยุคแห่งความหลากหลายอย่างแท้จริง หนังสยองขวัญในเวลานี้ขยับเข้าสู่ในทุกบริบทของเรื่องราวรอบตัว ไม่ใช่จำกัดเฉพาะสัตว์ประหลาด ตัวละครในตำนาน หรือปีศาจอย่างเดียวอีกต่อไป หนังสยองขวัญยุคนี้จึงดูเริ่มที่จะเปิดกว้างในการสร้างสรรค์มาก ๆ และดูเหมือนว่ายุคทองนี้จะดำเนินไปได้อีกนาน 

แต่ทว่า น่าเสียดายที่มันกลับอยู่ได้ไม่นาน และร่วงโรยจนถึงจุดที่ไม่มีใครให้ค่าในยุคต่อไป

1990 
การวนเวียน และความพยายามในการหนีจากกับดักของตัวเอง

I know what you did last summer (1997)

อาจพูดได้เลยว่าในช่วงปลายยุค 80 ไปจนถึงยุค 90 เป็นช่วงที่ถูกขนานนามว่าเป็นยุคตกต่ำของหนังสยองขวัญอย่างแท้จริง ในอีกความหมายหนึ่งคือหนังสยองขวัญในช่วงเวลานี้ ‘ตายสนิท’ ตายในที่นี้ไม่ได้หมายความไม่มีหนังสยองขวัญออกมา ตรงกันข้ามคือมันมีออกมามากเกินไป ซึ่งแต่ละเรื่องที่ออกมานั้นมันคือการวนเวียน ทำซ้ำ ภาคต่อมีออกมาไม่จบสิ้น โดยเฉพาะบรรดานักไล่เชือดทั้งหลายที่ยกขบวนพาเหรดกันทำภาคต่อออกมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่คุณภาพนั้นกลับสวนทาง เข้าขั้นหนังเกรดบีสำหรับวัยรุ่นที่เปิดดูหนังฆ่าเวลากับเพื่อนเพื่อเอามันส์เท่านั้น 

แน่นอนว่าสาเหตุก็เพราะว่าความสำเร็จของบรรดาหนังเชือดช่วงยุค 80 ทั้งหลายที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แถมทุนสร้างยังไม่มาก ทางสตูดิโอก็เลือกที่จะเดินตามอย่างเดียวโดยไม่คิดสร้างสรรค์อะไรที่แปลกใหม่ และไม่ได้มีการต่อยอดแต่อย่างใด 

โดยหากนับแล้วในช่วงเวลานั้น หนังไล่เชือดชื่อดังไล่ตั้งแต่ Halloween มี 6 ภาค A Nightmare on Elm Street มี 6 ภาค และ Friday the 13th ที่เยอะกว่าเพื่อนด้วยหนังถึง 8 ภาค จะเห็นว่าเนื่องจากความเยอะ (เกิน) แต่ไม่มีคุณภาพของตัวหนัง ทำให้คุณค่าของหนังสยองขวัญช่วงเวลานั้นอยู่ในจุดต่ำสุด ซึ่งก็เป็นความจริงที่ทางผู้สร้างของสตูดิโอต้องยอมรับกันตามตรง 

จุดเปลี่ยนสำคัญของช่วงเวลานี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับ เควิน วิลเลียมสัน มือเขียนบทหน้าใหม่ที่เป็นแฟนตัวยงของหนังสยองขวัญไล่เชือด ในตอนนั้นเขาเป็นหนุ่มไฟแรงที่มุ่งมั่นจะเป็นนักเขียนบทในวงการให้ได้ จากบทหนังที่เขาเขียนโดยได้แรงบันดาลใจจากคดีของฆาตกรต่อเนื่องในช่วงต้น 90 ผสมผสานกับหนังไล่เชือดยุค 80 และปรุงรสด้วยอารมณ์เสียดสี ล้อเลียนแนวหนัง และจุดพลิกผันที่คาดไม่ถึง จนได้กลายเป็นหนังเรื่อง Scream (Wes Craven, 1996) ที่พลิกฟื้นหนังสยองขวัญให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิ 

คำถามตามมาว่าเหตุใด Scream ถึงเป็นจุดเปลี่ยนของหนังสยองขวัญ ทั้งที่ก็เป็นหนังไล่เชือดไม่ต่างกัน สาเหตุก็เพราะตัวหนังได้ทำหน้าที่หนีกับดักของตัวเองได้สำเร็จ กับดักสำคัญของหนังไล่เชือดคือการที่เนื้อเรื่องไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่ คนดูแทบจะรู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวละครที่เห็นบนจอใครจะตายก่อน ตายหลัง และใครจะอยู่ ด้วยแคแรกเตอร์ตัวละครที่ซ้ำซากโดยวนเวียนกับหนุ่มนักกีฬา สาวเซ็กซี่ สาวจิตใจดี ตัวโจ๊กเรียกเสียงฮา รวมไปถึงพฤติกรรมอันน่าหัวเราะที่มักพาตัวเองไปตาย ทุกอย่างมันถูกทำซ้ำจนน่าเบื่อหน่าย แต่สิ่งที่ Scream ทำมันคือการเล่นสนุกกับความนึกคิดของคน หลอกให้คนดูหัวหมุนด้วยเรื่องราวที่พลิกผันและจุดหักมุมในตอนท้าย นอกจากนั้นการจิกกัดและหยอกล้อตัวเองก็เป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากในเวลานั้น เพราะตัวละครในเรื่องนี้ถูกกำหนดมาให้ ‘รู้ทัน’ เหตุการณ์ทั้งหมด 

เราจึงไม่เห็นพฤติกรรมชวนน่าหัวเราะที่พาตัวเองไปตาย เราได้เห็นการแก้ปัญหาที่ฉลาดจากตัวละคร ว่ากันอย่างรวบรัด ตัวละครในหนัง ฉลาดและรู้ทันไม่แพ้คนดูอย่างเราที่นั่งดูอยู่ (เพราะผ่านการดูหนังไล่เชือดมานับไม่ถ้วนไม่ต่างกัน) ทั้งหมดนี่ทำให้ Scream ได้พลิกหนังสยองขวัญให้กลับมาอยู่ในสายตาคนดูอีกครั้ง และเริ่มแฟชั่นหนังไล่เชือดที่มีตัวละครวัยรุ่นรู้ทันตามมาอีกขบวนใหญ่ เช่น I Know What You Did Last Summer (Jim Gillespie, 1997) แต่ก็ไม่อาจทัดเทียมกับ Scream ที่มีภาคต่อออกมา 2 ภาคด้วยคุณภาพที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับภาคแรก (และกำลังจะมีภาค 5 ที่รอเข้าฉายในปีหน้า)

โชคดีที่หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี หนังสยองขวัญก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ในช่วงปลายยุค 90 ที่เกิดหนังสองเรื่องที่พลิกวงการอีกครั้ง และอิทธิพลในคราวนี้ไม่ใช่แค่ในอเมริกา แต่มันกลายเป็นเทรนด์หนังสยองขวัญไปทั่วโลก ตั้งแต่ฮอลลีวูดไปถึงเอเชีย ส่งต่อยุคสมัยเป็นรอยต่อถึงช่วงปี 2000 

เรื่องหนึ่งคือหนังญี่ปุ่นอย่าง Ringu (Hideo Nakata, 1998) และอีกเรื่องคือ The Sixth Sense (M. Night Shyamalan, 1999)

2000
ยุคแห่งหนังผี High Concept ที่หมกหมุ่นกับการสร้างสรรค์ฉากผีหลอก
และเทรนด์ Found Footage ปริศนา

Ju-On (2002)

หนังผีหักมุม คงเป็นคำจำกัดความที่ดีถึงการบรรยายหนังสยองขวัญในช่วงเวลานี้ เริ่มมาจากความสำเร็จอยากมหาศาลทั้งรายได้และคำวิจารณ์ของ The Sixth Sense ที่ทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 672 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าสูงมากในฐานะหนังสยองขวัญ แถมยังสามารถเข้าชิงออสการ์ไปถึง 6 สาขาด้วยกัน ทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม สร้างกระแสหนังผีหักมุมให้โด่งดังไปทั่วโลก จากบทหนังยอดเยี่ยมและวิธีการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยชั้นเชิงที่หลอกล่อคนดูสำเร็จในช่วงท้าย ซึ่งอิทธิพลจากหนังเรื่องนี้ได้ส่งต่อไปถึงหนังสยองขวัญอย่าง The Others (Alejandro Amenabar, 2001) ที่สานต่อแนวคิดหนังหักมุมได้อย่างยอดเยี่ยมไปอีกเรื่อง

ทางฝั่งของเอเชีย ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่หนังเอเชียเข้าสู่ยุคทอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังสยองขวัญจากเอเชียเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกหันมามองตาเป็นมัน ซึ่ง Ringu ก็คือหมุดหมายสำคัญที่ส่งผลกระทบและสร้างอิทธิพลหนังสยองขวัญแห่งยุคสมัยไปทั่วเอเชีย 

หนังสยองขวัญที่สร้างจากนิยายขายดีของ โคจิ ซุสุกิ เรื่องนี้ ได้ผสมผสานแนวสืบสวน ดราม่าเข้าไปอย่างเข้มข้น เอาเข้าจริง ความน่ากลัวของหนังซื่อตรงกับสิ่งที่นิยายเขียนไว้ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า น้อยแต่มาก ฉากผีในหนังเรื่องนี้ไม่เยอะ แต่ด้วยบรรยากาศของหนัง การเล่าเรื่องที่ทวีความน่าสงสัยและความไม่น่าไว้วางใจ จนมาสุกงอมพอดีกับฉากผีท้ายเรื่อง มันจึงเป็นความน่ากลัวที่แตกต่างกับรสมือของฮอลลีวูดโดยสิ้นเชิง ความน่ากลัวแบบเอเชียเป็นน่าสะพรึงที่เยือกเย็น ดูใกล้ตัว และความยอดเยี่ยมของตัวหนัง ทำให้กระแสเรื่องนี้ค่อย ๆ กระจายในวงกว้าง จนมาถึงไทยที่กลุ่มนักดูหนังนอกกระแสเริ่มหันมากล่าวขวัญถึงมัน 

เนื่องจากหนังสองเรื่องที่กล่าวถึง ต่างเป็นหนังที่มี High Concept ที่ชัดเจนมากทั้งสองเรื่อง (The Sixth Sense ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่สามารถเห็นผีได้กับจิตแพทย์ที่มีปมในอดีต, Ringu ว่าด้วยเรื่องของผีในม้วนวีดิโอเทป ที่จะไล่ฆ่าคนที่เปิดดูมันภายใน 7 วัน) จะเห็นว่ามันเป็นพล็อตที่ชัดเจน แข็งแรง และดึงความสนใจของผู้คนได้ทันทีที่ได้ยิน ประกอบกับความสำเร็จอย่างยิ่งกับฉากผีปรากฏตัวแสนน่ากลัวที่ทำงานกับความรู้สึกของคนดูเป็นอย่างดี มันจึงกลายเป็นยุคที่หนังสยองขวัญโดยเฉพาะโซนเอเชีย หันหน้าเข้าสู่การสร้างสรรค์ในเชิง High Concept อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง และหมกหมุ่นกับการคิดฉากผีหลอกอย่างเมามันส์ 

โดยหนังจากเอเชียที่มีอิทธิพลจากสิ่งนั้น ได้แก่งานอย่าง The Eye (Danny and Oxide Pang, 2002), Ju-on: The Grudge (Takashi Shimizu, 2002), A Tale of Two Sisters (Kim Jee-Woon, 2003) และ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ บรรจง ปิสัญธนะกูล, 2004) จนนับเป็นอีกยุคที่ไอเดียของหนังผีเอเชียถูกฮอลลีวูดซื้อไปรีเมคแทบจะตลอดเวลา

นอกจากนั้น ในช่วงปลายของยุคนี้ที่หนังผี High Concept เริ่มตีบตันและค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง ก็เกิดเทรนด์หนังสยองขวัญแนว Found Footage ขึ้นมา กล่าวคือหนังที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านฟุตเตจฟิล์มที่เพิ่งค้นพบ ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าผู้ที่ถ่ายได้ตายไปแล้ว อาจเป็นฟุตเตจภาพกล้องวงจรปิดในสถานที่ต่าง ๆ หรือฟุตเทจถ่ายหนังสารคดี (แบบหลอก ๆ) เป็นต้น 

หนังอย่าง Paranormal Activity (Oren Peli, 2007) เป็นหนังที่จุดกระแสนี้ขึ้นมาจนมีหนังสยองขวัญแนวนี้ตามออกมาอีกยกใหญ่ เนื่องจากทุนสร้างที่ต่ำมากแต่รายได้สูง แต่แท้จริงแล้ว เราคงต้องไม่ลืมว่าหนังแนว Found Footage ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะเคยถูกสร้างมาก่อนแล้ว และเคยสร้างกระแสอื้อฉาวในความสยองที่สมจริง (เกินไป) ของมันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Cannibal Holocaust (Ruggero Deodato, 1980) (หนังอิตาลีสุดฉาวที่เล่าถึงกลุ่มนักทำสารคดีที่เดินทางเข้าไปเจอเผ่ามนุษย์กินคนในป่าแอมะซอน เหลือเพียงภาพฟุตเทจที่ทิ้งไว้) หรือ The Blair Witch Project (Daniel Myrick and Eduardo Sanchez, 1999) (ที่เล่าถึงทีมสารคดีที่ไปถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับแม่มดแบลร์อันเป็นความเชื่อของคนท้องถิ่นที่หายสาบสูญ เหลือแต่เพียงฟุตเทจเช่นกัน) เพียงแต่จังหวะเวลาได้สุกงอมพอดีกับช่วงนี้เท่านั้นเอง

2010 – ปัจจุบันการทดลอง ผสมผสานที่ไม่มีถูกผิด
ที่สร้างสิ่งใหม่และกลับสู่รากเหง้าในเวลาเดียวกัน

The Conjuring (2013)

อาจเป็นความยากที่สุดในการพยายามที่จะจำกัดความในการกล่าวถึงหนังสยองขวัญในยุคปัจจุบัน เพราะนี่อาจเป็นยุคที่พูดได้ว่าหนังสยองขวัญนั้นไร้กรอบ และดูเหมือนว่าการสร้างสรรค์ได้ถูกใช้งานตลอดเวลาจากนักทำหนังรุ่นใหม่ ที่มีการผสมแนวหนังอาร์ตเข้ามามากขึ้น ใส่การตีความ การเล่าเรื่องที่ใช้สัญลักษณ์และมีความนามธรรมมาผสมอย่างลงตัว แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหนังสยองขวัญที่เลือกที่จะกลับสู่รากเหง้าของมัน แต่ทำให้ดีขึ้นกว่าในอดีต

เราได้เห็นทั้งการย้อนกลับไปสู่หนังสยองขวัญแนวบ้านผีสิง ที่หัวเรือใหญ่คือหนังอย่าง The Conjuring (James Wan, 2013) ที่แม้เป็นดูเหมือนจะทำเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความสร้างสรรค์ในแง่ของฉากผีหลอก ที่มีจังหวะจะโคนที่แปลกใหม่มากขึ้น ใช้บรรยากาศ จังหวะการเคลื่อนกล้อง รวมถึงสิ่งของรอบตัวมาเป็นตัวช่วยในการสร้างกลวิธีหลอกคนดูมากขึ้น ซึ่งตัวหนังก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยตอนนี้มันได้กลายเป็นอีกหนึ่งจักรวาลหนังที่มีทั้งภาคต่อและหนัง Spin-off ของบรรดาผีปีศาจในนั้นตามออกมาอีกหลายเรื่อง

เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในการตีความหนังสยองขวัญรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องข้องแวะกับผี ปีศาจ หรือฆาตกรต่อเนื่องอีกต่อไป ดังที่เราได้เจอหนังอย่าง Get Out (Jordan Peele, 2017) หนังสยองขวัญไอเดียสุดบรรเจิดที่หยิบเรื่องราวของการสะกดจิตมาเป็นองค์ประกอบสร้างความน่ากลัวผสมกับประเด็นทางสังคมในเรื่องของการเหยียดผิว ซึ่งตัวร้ายของหนังก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ดูไม่มีพิษมีภัยอะไร เรื่อยมาถึงงานลำดับถัดมาอย่าง Us (Jordan Peele, 2019) ที่หันมาจับประเด็นเรื่องชนชั้นทางสังคมที่ถูกกดขี่และเมินเฉย กับเรื่องของการโคลนนิ่ง โดยมาผสมกับแนวหนังไล่เชือดในอดีตได้อย่างลงตัว 

และหนังสยองขวัญเชิงศิลปะที่ชวนให้วิเคราะห์และตีความอย่าง It Follows (David Robert Mitchell, 2014) ที่หักล้างเรื่อง High Concept ของเรื่องและกลวิธีการหลอกของผีไปจนหมดสิ้น แต่มุ่งใช้วิธีการทางสัญลักษณ์ บรรยากาศและความเยือกเย็นแบบช้า ๆ ส่วนผีที่ว่าก็ไม่ต้องมีกลวิธีออกมาหลอกให้มากความ เดินออกมาให้เห็นกันโต้ง ๆ แต่กลับทำให้คนดูกลัวเพราะความไม่เข้าใจและความที่มันอธิบายไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีการแฝงประเด็นสังคมเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่นไว้อย่างแนบเนียน

ในสายของหนังสยองขวัญแนววิเคราะห์ต้องไม่ลืมหนังของนักทำหนังหน้าใหม่ที่ชื่อว่า แอรี แอสเตอร์ ที่ตอนนี้อาจเป็นความหวังของหนังสยองขวัญในยุคนี้ไปแล้ว โดยงานอย่าง Hereditary (Ari Aster, 2018) คืองานที่แสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องแบบช้า ๆ ทว่าแฝงความน่าสะพรึงไว้ตลอดเวลา และฝีมือการกำกับสุดเด็ดขาดที่สร้างความน่ากลัวด้วยภาพและพฤติกรรมของตัวละครที่แปลกประหลาดอันทรงพลัง ปิดท้ายด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เรียบเรียงและตีความถึงสิ่งที่รับชมมาทั้งหมดด้วยตัวเอง 

ทั้งหมดนั้นส่งต่อมาถึงงานอย่าง ร่างทรง ที่แม้จะเป็นผู้กำกับคนเดียวกับที่ทำ ชัตเตอร์ฯ หากแต่ด้วยเวลาที่ผันผ่านยุคสมัยมา งานอย่างร่างทรงจึงมีความแตกต่างกับหนังเรื่องก่อนโดยสิ้นเชิง ซึ่งเราได้เห็นจากวิธีการเล่าเรื่องด้วยวิธีการแบบ Mockumentary (สารคดีปลอม ๆ) มาผสม วิธีการนำเสนอฉากผีหลอกแบบเดิมก็ไม่ใช่อีกแล้ว เพราะความน่ากลัวจากหนังกลายเป็นเรื่องบรรยากาศ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของตัวละคร และความ ‘ไม่รู้’ ว่าอะไรเกิดขึ้นกันแน่แทน ลงท้ายด้วยการทิ้งจิ๊กซอว์หลายชิ้นให้คนดูนำไปประกอบภาพด้วยตนเอง ดังเช่นหนังสยองขวัญตามสมัยนิยมที่เปิดกว้างในแง่ของวิธีการนำเสนอ ทั้งแง่ของภาพยนตร์และเรื่องราวของหนัง 

หนังสยองขวัญในยุคนี้จึงเป็นทั้งการผสมผสานหลายแนวหนัง หลากวิธีการ ที่ไม่มีถูกผิด ไม่มีกรอบบังคับ ตราบที่ผู้สร้างมีไอเดียใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีหนังสยองขวัญสายตลาดที่รับชมได้ง่ายอยู่ ซึ่งทั้งหมดน่าจะสอดคล้องกับการเปิดรับและการเจริญเติบโตในแง่ของคติการรับสื่อภาพยนตร์ที่หลากหลายมากขึ้นของคนดูในยุคสมัยนี้ด้วย 

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์ ที่ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์แนวไหนก็ตาม มันมีการเปลี่ยนผ่านและพัฒนาวิธีการไปตามยุคสมัย ในอนาคต เราไม่อาจรู้ได้ว่าหนังสยองขวัญจะเดินทางไปที่จุดไหนต่อ แต่ตราบใดที่เนื้อหาเรื่องราวเหนือธรรมชาติยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนทั่วโลกได้ง่าย ยังคงอยู่คู่กับวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน

การเดินทางของหนังสยองขวัญก็คงไม่มีวันจบลง

ร่างทรง (2021)

อ้างอิง
– บทความสกู๊ป Horror History โดย สุภางค์ ศรีเสริมเกียรติ จากนิตยสาร Starpics Special: Book of Horror
– www.imdb.com
– คลิปไลฟ์ GDH Talk From Home: เทรนด์หนังผี ในยุคไวรัสเขย่าขวัญ โดย โสภณ ศักดาพิศิษฏ์, ปวีณ ภูริจิตปัญญา, ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ บรรจง ปิสัญธนะกูล https://youtu.be/EXphVw4ErQM

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า