fbpx

เมื่อการตลาดไม่ได้มีแค่วันละตอน และข้อมูลอยู่ใกล้ตัวเรา

หากท่านกำลังกลุ้มใจกับการทำโปรโมชั่นให้ลูกค้า หรือหากท่านกำลังไม่รู้จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อของซ้ำอย่างไร ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะวันนี้ The Modernist จะพาท่านมาทำความรู้จัก “การตลาดวันละตอน” สื่อออนไลน์ที่จะทำให้ทุกท่านเข้าใจและปรับใช้ข้อมูลรอบตัวให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าสูงสุด ซึ่ง “ณัฐพล ม่วงทำ-หนุ่ย” ผู้ที่เป็นอาจารย์พิเศษด้าน Data Driven Communication ในหลากหลายมหาวิทยาลัย รวมไปถึงยังทำ Data Research สำหรับธุรกิจให้กับหลายหน่วยงาน เขาผู้นี้แหละที่เป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อมาขจัดให้ปัญหาการใช้ข้อมูลไม่เป็นนั้นหมดไป

แต่หากท่านยังไม่รู้จัก หรืออยากรู้จักให้มากขึ้น บทสัมภาษณ์จาก Modernist Growth ตอนนี้จะทำให้ท่านรู้จักการตลาดวันละตอนมากขึ้นไปกว่าเดิม แล้วคุณจะรู้ว่าข้อมูลอยู่รอบตัวเราจริงๆ แถมยังไขคำตอบด้วยว่า “ทำไมแต่ละเว็บหรือแบรนด์ถึงพยายามเก็บข้อมูลของเรา” ด้วย ไปติดตามอ่านกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ที่มาที่ไปของ “การตลาดวันละตอน”

คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราก็อยู่ Agency มีทีม แล้วก็ต้องให้ความรู้ลูกน้องอยู่ตลอดในฐานะหัวหน้าทีม พอให้ความรู้ทุกวันน้องอาจจะเบื่อ น้องเลยบอกว่า “พี่ไปทำเพจเถอะ เดี๋ยวผมจะช่วยแชร์ให้ด้วย” เราคิดอีกมุมหนึ่ง เวลาเราอยู่ Agency เราก็ต้องเสียเงินซื้อเพจอื่น ๆ ก็เป็นหมื่นเหมือนกันนะ เราเลยคิดว่าวิธีการทำ ณ เวลานั้นว่า ก็เอาข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลเดียวกันเกือบหมด เราเอามาแปลมาปรับนิดหน่อยก็ได้แล้ว ก็เลยลองทำดู จากจุดนั้นที่เป็นวันละตอนเพราะตอนนั้นฟังทฤษฎีมาเยอะ วันละสามตอน ห้าตอน บางคนสองวันตอน ลูกน้องคนหนึ่งก็แนะนำว่า เอางี้มั้ยพี่ เอาสักวันละตอน ไม่มากไปไม่น้อยไป ให้เป็นข้อกำหนดของตนเองด้วย จะได้ไม่ลืมว่าวันนี้ทำยัง พรุ่งนี้ทำยัง ก็เลยเป็นที่มาของวันละตอน แต่เมื่อก่อนไม่ได้กำหนดเวลาตายตัว ว่างตอนไหนก็เขียน มีอารมณ์ตอนไหนก็ทำ ตอนหลังเลยเริ่มมีความตั้งใจกับตัวเองว่าจะต้องโพสทุกวันช่วงเวลานี้ ก็ทำให้ตัวเองสามารถทำทำข้อมูลล่วงหน้าได้เป็นเดือนด้วยซ้ำครับ ตอนแรกเราเริ่มจากทำคนเดียวก่อนครับ ทำมา 3 ปีกว่าได้ มามีน้องมาช่วยทำตอนที่ผมออกจากงานแค่ช่วงประมาณกลางปีที่แล้วเองครับ

คอนเทนต์ไหนที่คนดูติดตามมากที่สุดบ้าง

ส่วนใหญ่คนจะชอบคอนเทนต์สรุปพวกสรุปข้อมูลในโลกดิจิทัลซึ่งทุกปีจะได้รับการตอบรับที่ดีมาก คนจะชอบ แล้วก็สรุปข้อมูลจากทาง TCDC แต่เราเอามาที่ TCDC สรุปมา เราก็เอามาเล่าอีกมุมหนึ่ง เอามาสรุปและวิเคราะห์เพิ่มเติม กลายเป็นว่าคนก็ชอบแล้วก็แชร์ทุกปี รวม ๆ ทั้งสองอันก็ประมาณหมื่นแชร์ได้ครับ เพราะรูปแบบเนื้อหาที่เป็นสรุปคนค่อนข้างชอบแล้วก็มีประสิทธิภาพดีครับ

เห็นอะไรบ้างจากธุรกิจในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

ก็เห็นว่าพอโควิดมา ทุกคนดิ้นรนปรับตัว ไม่อยู่นิ่ง จากที่เคยคิดว่า ฉันแค่มีหน้าร้าน ฉันแค่ทำอาหารดี ฉันแค่ตกแต่งร้านดี แค่นี้อยู่ได้ แต่พอโควิด-19 มาทุกคนต้องรื้อแนวคิดธุรกิจใหม่ เราจะขายออนไลน์ยังไง คนที่ขายออนไลน์อยู่แล้ว เราจะหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ยังไงบ้าง นั่นเป็นจุดที่ปีก่อนหลายคนเริ่มสนใจเรื่องข้อมูลจริงจัง เมื่อก่อนอาจจะเป็นคำที่เคยได้ยินกรณีศึกษาในบริษัทต่างประเทศ แต่พอโควิด-19 มาตัวพี่จะโดนเรียกไปขอคำแนะนำ ไปช่วยให้คำปรึกษาเรื่องนี้เยอะมาก เราทำอันนี้มา เราควรจะใช้ข้อมูลแบบไหน ก็เลยเป็นจุดที่ว่าโควิด-19 มาทุกคนเริ่มเปลี่ยน เริ่มรู้ว่าสูตรสำเร็จแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป สูตรสำเร็จของปีก่อนกับปีนี้ก็ใช้การไม่ได้ 100% อีกต่อไป

Data มีส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจทุกกลุ่มใช่ไหม

ถูกครับ ตรงที่ว่าการที่จะเข้าถึงข้อมูลก็ต้องส่งแบบสอบถาม การเข้าถึงมันยาก มันมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้เวลานาน แต่วันนี้พอเราก้าวสู่ยุคดิจิทัล ทุกอย่างกลายเป็นข้อมูล ทุกคลิกของเราถูกเก็บไว้ ขายออนไลน์ก็มีข้อมูล ร้านอาหารขายผ่านเครื่อง POS ก็มีข้อมูล แต่คนส่วนใหญ่มองไม่ออกว่าข้อมูลของตัวเองมีอยู่ตรงไหนและใช้อะไรได้บ้าง ฉะนั้นก็เหมือนที่ว่าข้อมูลก็คือวันวานที่เรารู้จักลูกค้าดี ถ้าร้านทั้งร้านเราคุมอยู่คนเดียว ก็จะรู้จักทุกบิลการขาย ก็ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรอก ความจำก็คือข้อมูลประเภทหนึ่ง เป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่พอวันนี้เรามีหลายสาขา พนักงานเริ่มมีหลายคนหลายอย่าง เราจำได้ไม่หมด ระบบในการจัดเก็บข้อมูลให้อยู่เป็นที่เป็นทางเรียบร้อย ทำให้เราเอาข้อมูลมาใช้งานต่อได้ง่ายขึ้น

เรามีวิธีการคัดเลือกหรือคัดสรร Data ยังไงที่ทำให้เราเดินไปถูกทาง

คือเราต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนว่าน่าเชื่อถือไหม กับตัวระบบการจัดเก็บข้อมูลถูกต้องหรือแม่นยำไหม ข้อมูลบางอย่างอาจจัดเก็บมาไม่ถูกต้องหรือไม่มีความละเอียด หรือบางทีแหล่งข้อมูลขาดในส่วนที่เราต้องใช้ก็มี เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้ เหมือนเราจะกินข้าวมันไก่จานหนึ่ง เราไปซื้อไก่จากร้านที่น่าเชื่อถือหรือเปล่า ซื้อมาแล้วไก่ต้องมีการแล่ เหมือนการเตรียมข้อมูล อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเป็นคำถามที่ดีว่าแค่เรามีข้อมูลอย่างเดียวมันไม่พอ แต่มันต้องลงไปประเมินว่าข้อมูลดีพอที่เราจะใช้ด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่ดี อย่างน้อยก็ไปเริ่มต้นเก็บใหม่ ถ้าดีก็ต้องดูว่าอะไรที่มีดีแล้วเอามาใช้อะไรต่อได้บ้าง

แล้วความน่าเชื่อถือของข้อมูลเราจะวัดได้อย่างไร

ก็ต้องกลับไปดูที่โจทย์ว่าโจทย์ต้องการอะไรก่อน ถ้าโจทย์เราบอกว่า เราอยากรู้ว่าธุรกิจเรายอดขายเป็นยังไงบ้าง ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ดูจากบิลยอดขายในแต่ละวันเทียบกับในเครื่อง ถ้ามันตรงกันก็โอเค อันนี้คือธุรกิจก่อน แต่ถ้าโจทย์เราอยากรู้ว่าในแต่ละวันมีลูกค้าเก่ากลับมาเท่าไหร่ เราก็ต้องมานั่งดูแหล่งข้อมูลว่าเรามีการเก็บข้อมูลของลูกค้ารายบุคคลไหม ถ้าไม่มีแสดงว่าเรารู้ไม่ได้ แสดงว่าเราต้องรู้ว่า เรารู้อะไร เรารู้ได้แล้วค่อยมาคิดอีกทีว่า เราจะคัดแยกลูกค้าเก่าลูกค้าใหม่ออกจากกันอย่างไร

แสดงว่าเครื่องมือที่ใช้ในการวัด Data ก็มีส่วนสำคัญที่จะตรวจสอบว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง

ถูกต้องครับผม เครื่องมือเป็นอีกอย่างหนึ่งในระบบที่ขาดไม่ได้ แต่จะใช้เป็นเครื่องมือในระบบไหน บางคนเก็บง่าย ๆ บางธุรกิจเก็บใส่กระดาษเสร็จ สแกนถ่ายรูปส่งให้สำนักงาน เอามาเตรียมใส่ excel ก็เป็นวิธีของเขาแบบง่าย ๆ บางร้านเขาก็ลงทุนกับ pos มีหลายเครื่องใส่เข้าไป ก็เป็นการลงทุนระบบอีกแบบหนึ่งที่แต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน ธุรกิจใหญ่ลงทุนสร้างระบบหลายสิบล้าน ก็จะเป็นอีกความเหมาะสมกับระบบที่ใช้อีกธุรกิจมากกว่า

ถ้ามันมีประโยชน์แค่ธุรกิจแล้ว Data มีประโยชน์อะไรต่อชีวิตประจำวัน

จริง ๆ ผมมองว่ามันมีประโยชน์กับทุกอย่างในหลาย ๆ ด้านที่เราใช้ แต่คำถามคือเราต้องรู้ก่อนว่าเราอยากจะทำอะไรให้ดีขึ้น ข้อมูลเป็นเสมือนการวัดผล อะไรก็ตามที่เราวัดผลได้ เราจะไม่สามารถปรับปรุงได้ ซึ่งถ้าบอกว่าเราอยากจะมีสุขภาพดี อยากจะออกกำลังกายเยอะขึ้น เรามีวิธีการวัดผลไหมว่าเราออกกำลังกายได้ดีพอ ซึ่งอันนั้นเราก็สามารถปรับปรุงได้ สมมุติเราหลับไม่ดีพอ เราจะบอกว่าจะทำยังไงให้หลับได้ดีขึ้น เติมเครื่องหอม เติมเทียน เติมหมอน เติมมุ้ง เติมอะไรก็แล้วแต่ครับ

Data คือปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิตหรือเปล่า

เรียกว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของธุรกิจดีกว่า ในแง่ของส่วนบุคคลอาจจะไม่ได้ตรงกับข้อมูลโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจเอาข้อมูลมาทำยังไงให้กับลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกับการที่ทำไมสื่อสังคมออนไลน์พยายามจะรู้ใจเราเหลือเกิน ถึงจะพยายามปรับแต่งเราเหลือเกิน เพราะเขาเรียนรู้ว่าสิ่งที่เราเคยดูในอดีตคืออะไร เราอยากจะเห็นแบบไหน จะไปเอาแบบนี้มาจากตรงไหน

Data เปรียบเสมือน Fast Track ของทุกอย่างในชีวิตเลยไหม

ผมเรียกว่าข้อมูลเปรียบเสมือนความจริงดีกว่า เมื่อก่อนเราอาจจะเดินทางแบบเดา ๆ อยากจะไปหัวหินแต่เราไม่มีแผนที่นำทาง ขับตรงไปเรื่อย ๆ แล้วกัน แต่วันนี้เราพบว่ามีทางเส้นนี้ที่อาจจะเร็วกว่า มันอาจจะมีเส้นทางที่ทำให้เราเจอวิวสวย ๆ ผมว่าข้อมูลเป็นเสมือนแผนที่กำหนดทิศทางให้เรารู้ว่าที่เราเดินมามันเดินผ่านอะไร ถ้าเราไม่อยากเดินผ่านซ้ำจุดเดิมที่มันไม่ดีแบบนี้ จะแก้ปัญหาจุดนั้นได้ยังไงครับ

วิธีการเก็บ Data ที่สำคัญมากกว่าการทำ Excel คืออะไร

การเก็บใส่เครื่อง POS สำคัญมาก คือต้องเก็บทุกคำสั่งซื้อ คำถามคือเรามีแล้วเราเก็บหรือเปล่า บางร้านมีไม่เก็บ เอาไปตั้งเปิดเพลง (หัวเราะ) แล้วพอเก็บแล้วเอาไปใช้ต่อหรือเปล่า เคยเจอร้านหนึ่ง ผมไปกินข้าวต้ม สั่งผัดคะน้าหมูกรอบ ในเมนูจะมี “คะน้าหมูกรอบ/กุ้ง/ปลาหมึก” คำถามคือเมื่อเราเอาข้อมูลตัวนี้ไปใช้จะไม่ถูกต้อง 100% เพราะว่าคะน้าหมูกรอบกับอะไร สมมุติวันหนึ่งเราเป็นร้านอาหารที่อยากจะเอา Data Driven หมูกรอบ กุ้ง ปลาหมึก ถ้าเราไม่แยกให้ชัดเจน วัตถุดิบแต่ละอย่างมีรูปแบบที่ต่างกัน มีต้นทุนต่างกัน ฉะนั้นถ้าเราไม่เก็บรายละเอียดให้ดี บางร้านบอกว่าเก็บบิล มีลูกค้าแค่ 1 คน แต่ความจริงมีลูกค้า 5 คน เกิดวันหนึ่งเราอยากจะวิเคราะห์ในแง่ของขนาดการสั่งซื้อของลูกค้า 1 คน กินเฉลี่ยเท่าไหร่ ข้อมูลเราเพี้ยนเลยนะ เราจะเห็นว่าแม้จะเก็บมาแต่เราเก็บไม่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถเอาไปใช้งานได้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่แต่แรก

ในการเก็บ Data คนก็ต้องยอมที่จะมีต้นทุนกับ Device เพิ่มขึ้นหรือเปล่า

ผมว่าใช่ครับ อาจจะเป็นแค่นิดหน่อย แต่พอมานั่งคำนวณ ณ วันนี้ Device ต้นทุนถูกมาก อย่างเครื่อง POS ต้นทุนเหลือเช่าเดือนละหลักร้อยหรือพันต้น ๆ เท่านั้น ต้นทุนพวกนี้ไม่ได้สูงเลย ถ้าเรารู้ว่าจะสามารถเอาไปทำอะไรได้ต่อ หลายครั้งเราแค่ไม่เห็นปลายทางว่าเราจะเอาไปใช้เพื่ออะไร พอเราไม่เห็น เราใช้ไม่เป็น เราคิดว่านี่คือสิ่งที่ไม่คุ้มค่า

Data เปรียบเสมือนลมหายใจเลยไหม หรือมันยังเป็นแค่ตัวช่วยอยู่

ผมมองแบบนี้ อันดับแรกถ้าธุรกิจเราสินค้ายังไม่ดี บริการยังไม่ดี การบริการยังไม่ดี อย่าเพิ่งพูดถึงข้อมูลเชิงลึก เอาแค่พื้นฐานให้ดีก่อน ถ้าดีเสร็จ สมมุติว่าเราเริ่มทำการตลาดพื้นฐาน เริ่มทำให้คนเข้ามาแล้ว อันนี้เราค่อยไปขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าเมื่อไหร่เรารู้สึกว่าเราอยากจะโตมากกว่านี้ แต่เราไม่รู้ว่าจะโตยังไง เราทำทุกท่าละ เราค่อยมาคิดถึงว่าอะไรจะมาเป็นตัวช่วย ข้อมูลจะเข้ามาช่วยในขั้นตอนนั้นโดยที่คุณรู้สึกว่าคุณอยากจะไปต่อ แต่คุณไม่รู้จะไปยังไง ถ้าเราไม่เคยรู้ว่าลูกค้าเรามีกี่กลุ่ม พฤติกรรมการกินเป็นยังไง ถ้าเราไม่เข้าใจเราไม่สามารถจี้ได้ถูกจุด ฉะนั้นข้อมูลจะเป็นเหมือนทำภาพรวมให้กลายเป็นภาพกลุ่มย่อย ๆ ตามพฤติกรรมจากข้อมูลที่มี เราสามารถเลือกได้เลยครับว่าเราจะเอาคนนี้ เพราะเรารู้ว่ากลุ่มนี้จ่าย 1 บาท ให้กำไรเรา 2 บาท เราจะสามารถลงทุนเงินแต่ละบาทได้ฉลาดขึ้น

Start-Up ขาดข้อมูลเรื่อง data มากน้อยแค่ไหนครับพี่

จริง ๆ Start-Up ส่วนใหญ่จะไม่ได้ขาด จะขาดแค่วิธีนำไปใช้ ขาดวิธีตั้งคำถาม ก่อนหน้านี้เพิ่งเจอ Start-Up รายหนึ่ง ทำเกี่ยวกับการเงินด้วย แต่ทีมไม่รู้ว่าจะต้องเอาข้อมูลไปใช้อะไร นี่คือคำถามหลัก แล้วควรจะเริ่มยังไง นี่คือปัญหาหลัก รู้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง เปรียบภาพว่าถ้าเรามีไก่ เรามีไข่ เรามีข้าว เรามีวัตถุดิบ แต่ขึ้นอยู่กับคนปรุง แล้วคนปรุงจะปรุงเป็นอะไรได้บ้าง ไก่กับไข่ทำได้หลายอย่าง ไข่ตุ๋นไก่ ไข่เจียวไก่สับ ข้าวผัดไก่ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของคนหยิบใช้ ถ้าแหล่งข้อมูลเท่ากัน เราอยากเห็นอะไร ทุกอย่างต้องเริ่มจากตั้งเป้าหมายก่อน จะได้ไม่เคว้ง ถ้าเราไม่ใช่ระดับองค์กรที่มีข้อมูลระดับพันล้าน คุณเริ่มจากเป้าหมายที่ชัดก่อน

ข้อมูลมีส่วนทำให้ชีวิตเราดีขึ้นบ้างไหม

ส่วนใหญ่ที่เห็นวันนี้ ใช้แล้วชีวิตจะดีขึ้น คือลดและสร้างพฤติกรรมที่ตนเองต้องการ ลดที่ไม่ต้องการและสร้างต้องการ แอพและมือถือวันนี้จะพยายามติดตามว่าเราใช้แอพอะไรอยู่ มือถือจะบอกรายงาน ฉะนั้นจะบอกว่าเราอยากเป็นคนที่อยากเล่นสื่อสังคมออนไลน์ให้น้อยลง อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าแต่ละวันแต่ละสัปดาห์เราใช้ยังไง เราจะปรับลดพฤติกรรมนี้ยังไง แล้วฉันต้องไปเพิ่มอะไรขึ้นอีกบ้าง นั่นคือหนทางหนึ่งในการใช้ แต่สุดท้ายก็จะกลับไปบอกว่าในแง่ส่วนบุคคล ถ้าเราไม่ได้ติดตามชีวิตประจำวันจริง ๆ เหมือนเมื่อก่อนเขียนไดอารี่ เราจะเริ่มรู้ว่าวันหนึ่งเราใช้เวลาไปกับอะไร ทำอะไรแค่ไหน ถ้าเราจดบันทึกเราจะรู้ได้ แต่ถ้าเราไม่จดบันทึกเราจะไม่รู้ว่าเราจะต้องปรับปรุงอะไรตรงไหน

ข้อมูลที่เราคุยกันมาหมดคือข้อมูลที่ทำให้ทุกคนกลับมาดูตัวเองหรือเปล่า

ถูกครับ เพราะข้อมูลเหมือนเป็นการจัดเก็บอย่างที่บอก การใช้แอพมันไม่มีอคติ ผมต้องบอกแบบนี้ เมื่อปีที่แล้วตอนที่ล็อคดาวน์รอบแรก ผมเคยให้โจทย์นักศึกษาไปเก็บพฤติกรรมการใช้มือถือ gen Z หน่อย ตอนเขาคิดเก็บยังไงดี ทำแบบสอบถาม ผมถามว่าสมมุติผมเข้า Pornhub ผมจะกล้าบอกคุณหรือเปล่า ปีนั้น onlyfan ยังไม่มาถูกมะ เกิดผมเข้า ROV ผมจะบอกคุณหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มเห็นว่า พอไปถามมันจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ ผมเลยไกด์ว่าสุดท้ายทุกคนมีข้อมูลอยู่ คือ screen capture พอเริ่มทำการวิเคราะห์ เริ่มเห็นว่าผู้ชายกับผู้หญิงมีพฤติกรรมการใช้แอพ ณ ปีนั้นต่างกัน ถ้าจำไม่ผิด Facebook ยังเป็นอันดับต้น ๆ TikTok ยังเป็นเบอร์รองและผู้หญิงใช้เยอะกว่า ผู้ชายมีตัวเลขการใช้ YouTube สูงกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะใช้ Instagram สูงกว่า เราเริ่มเห็นข้อมูลเชิงลึก นั่นแหละเราเริ่มเห็นพฤติกรรม ซึ่งจริง ๆ มาจากข้อมูลที่มีความแม่ยำสูง เพราะเราใช้มือถือ เราจะปั้นว่าลบการใช้แอพนี้ ไม่เคยมีใครนึกถึง

Data บอกอะไรกับคุณบ้าง ที่ทำให้มีคุณมาจนถึงทุกวันนี้

ผมว่าจริง ๆ ข้อมูลมันเป็นการตั้งคำถามให้เราได้ดีขึ้น ข้อมูลอาจจะไม่ได้บอกอารมณ์ แต่บอกอะไรบางอย่างที่มันมีสิ่งสำคัญที่ผิดปกติ ทำไมคนถึงเข้าเว็บนี้เยอะผิดปกติ ทำไมคนถึงไม่ปฎิสัมพันธ์ตัวนี้ ข้อมูลบางที่ใช้ระบบจดจำผ่านน้ำเสียง ฟังน้ำเสียงแล้วรู้เลยว่าโกรธ โมโห ดีใจ กังวลหรืออื่น ๆ เครื่องมือนี้เอามาช่วยให้ call center เอามารู้ว่าต้องดูแลลูกค้ายังไงต่อ หรือข้อมูลชี้จุดสำคัญให้เห็นว่าทำไมเราเป็นคนที่ใช้เงินกับการซื้อของกินหรือสั่งอาหาร delivery เยอะมาก เราจะได้รู้ว่าเราจะต้องปรับพฤติกรรมการใช้เงินยังไง ข้อมูลอาจจะไม่ได้บอกอารมณ์แต่ทำให้เรารู้ว่าบางอย่างที่ผิดปกติอยู่ตรงไหน จะลงไปคุ้ยดูบริบท

นอกจากวงการธุรกิจแล้ว วงการอื่น ๆ ในประเทศไทยเขาก็ต้องการ Data หรือไม่

การเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ข้อมูลเข้มข้นและหนักมาก แน่นอนว่าพอพูดถึงการตลาด สินค้าที่เขาขายคือพรรคเขา นโยบายเขา เขาอยากรู้ว่าเสียงแบบนี้คนตอบรับยังไง แล้วอีกสิ่งที่พรรคหนึ่งพูด คนปฏิสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาจะแก้ประเด็นนี้จะต้องแก้ด้วยอะไร ข้อมูลทำให้วางยุทธศาสตร์ได้ดีขึ้น ทำสื่อได้ชัดขึ้นอีกด้วย แต่ถ้ายังตัดสินว่าไม่เชื่อข้อมูล ผมแนะนำว่าไม่ควรทำแต่แรก ถ้าเขามีธงในใจ เขาไม่ควรจะเสียเงินมาทำเรื่องข้อมูล ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ส่วนใหญ่ที่เขาทำเพราะเขาอยากรู้ว่า เขาต้องรู้อะไร มีอะไรที่เขายังไม่รู้ เขาต้องมาคิดว่า สิ่งที่คนอื่นรู้มาแบบนี้ เขาจะแก้เกมยังไงบ้าง นี่คือนักการเมืองที่ฉลาด แล้วบอกได้เลยว่า ส่วนใหญ่นักการเมืองฉลาด แต่จะฉลาดแล้วแกล้งโง่หรือเปล่า นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง

ข้อมูลมันอยู่ใกล้ตัวเราเหมือนอากาศรอบตัวเราทั้งหมดเลยไหม

ถูกครับ ทุกอย่างคือข้อมูล การใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือ การหยิบ การจับ การพิมพ์ Google รู้ขนาดว่าต่อให้เราไปใช้เครื่องอื่นโดยไม่ล็อกอิน เขารู้ว่าเป็นเราหรือเปล่า ดูจากช่องทางบางอย่าง ลักษณะการพิมพ์ สิ่งสำคัญคือมนุษย์ใช้ชีวิตแบบมีรูปแบบ บางทีเราติดคำพูดที่เราไม่รู้ ท่านั่งที่เราไม่รู้ องศาการจับโทรศัพท์ที่เราไม่รู้ เขาจับรูปแบบทุกอย่างของเราได้หมด รูปแบบจะเป็นตัวสะท้อนว่านี่คือเราหรือเปล่า

ในขณะที่เรามี AI แล้วทำไมเราต้องมีคนอยู่ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลมันเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้

เพราะมันจะมีข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถทำนายโลกทั้งใบได้ เพราะมันมีความซับซ้อนสูง เราสามารถคาดการณ์ได้เป็นบางส่วน เราสามารถคาดการณ์ยอดขายได้ แต่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสิ่งที่เป็น อย่างเช่น Metaverse วันหนึ่งมันจะเปิดออกมาเมื่อไหร่ เหมือนไม่มีใครเคยคาดการณ์ได้ว่าอยู่ดี ๆ โทรศัพท์มือถือจะเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของมนุษย์เรา เราสามารถคาดการณ์ได้เป็นส่วน ๆ แล้วค่อยมาดูว่าส่วนที่คาดการณ์ได้แม่นยำมากน้อยแค่ไหน จากความแม่นยำนี้ทำยังไงที่จะแม่นยำได้มากขึ้น

แล้วในปัจจุบันนี้ PDPA เกิดขึ้น ผู้ประกอบการรายเล็กเขาควรจะทำยังไงให้การเก็บข้อมูลจากลูกค้าที่ใช้บริการรู้สึกว่ามันปลอดภัยมากที่สุด

ก็ต้องเลือกระบบที่มีความปลอดภัยสูงก่อน ส่วนใหญ่ปัญหาด้านความปลอดภัยคือการตั้งรหัสผ่านห่วย ๆ โดนเจาะเพราะเรื่องแบบนี้หมด ส่วนการเอาข้อมูลไปใช้ PDPA การขออนุญาตในการใช้ข้อมูลก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความซื่อสัตย์กับลูกค้าไหม ถ้าใช่ ส่วนใหญ่ธุรกิจรายเล็กไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่เขาจะกลัวธุรกิจรายใหญ่มากกว่าที่ไม่รู้ว่าโครงข่ายธุรกิจจะเชื่อมต่อกี่อัน เอาไปให้ลูกค้ารายอื่นไปใช้ได้กี่บริษัท พวกนี้น่ากลัวมากกว่า

เคยมีประสบการณ์หน่วยงานใหญ่ที่ไม่ใช่ Data ไหม

อาจจะมีธุรกิจขนาดกลางที่เป็น SME หลักร้อย จริงๆ การใช้ข้อมูลคือการเปลี่ยนพื้นฐานการทำงาน กระบวนการการทำงานจะไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นเขาจะต้องรื้อธุรกิจใหม่ระดับหนึ่ง บางคนรู้สึกว่ายังไม่พร้อมรื้อ รู้แต่ยังไม่พร้อมปรับ ก็ปล่อยเลยตามเลยไปก่อน เพราะมันยังพอทำงานหาเงินได้ นั่นแหละครับ ธุรกิจที่ยังคิดว่าพอไปได้ก็ยังฝืนไม่ใช้ เพราะยังไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ การใช้ข้อมูลคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ปรับขั้นตอนการทำงานใหม่ ทุกทีมต้องทำงานด้วยวิธีการแบบใหม่

มันคือแรงเสียดทานของการทำนายในชีวิตเลยหรือเปล่า

จุดหนึ่งคนจะเริ่มเปรียบเทียบว่าระหว่างความปรับแต่งเฉพาะบุคคลกับความเป็นส่วนตัวจะเลือกอะไร ต้องยอมรับครับว่าทุกวันนี้เราเล่น Facebook สนุก เพราะมันเรียนรู้จากพฤติกรรมก่อน ๆ เรามา เราเลยรู้สึกว่าทุกอันน่าอ่าน ถ้าเกิดว่า data ไม่รู้เลยว่าเราชอบอะไร มันจะเหมือนโฆษณาโง่ ๆ สมัยก่อน ผมเคยปิดทุกอย่าง เจอโฆษณายาโด๊ปไก่ชน ผมเลยให้ข้อมูลไปเลย บางอย่างเรารู้สึกเรื่องเปรียบเทียบแบบนี้ว่า การที่เขาไม่รู้เลยก็ไม่ได้มีประโยชน์กับเรา ต้องมานั่งเปรียบเทียบว่าจุดไหนพอดี มันมีการวิจัยในต่างประเทศพบว่ามีกลุ่มลูกค้าที่เรียกว่าหวงความเป็นส่วนตัว พวกนี้จะอ่านและวิเคราะห์ทุกบรรทัด เขาจะยอมให้เมื่อรู้สึกว่าเขาคุ้มค่าเหมือนกัน ถ้าเขารู้สึกว่าเขาคุ้มค่าเขาก็ยอมให้ข้อมูล โอเคเขาก็เป็นลูกค้าธนาคารนี้ มันก็ win-win งั้นฉันให้

ถ้าข้อมูลทุกอย่างที่คุณทำมาทั้งชีวิต เขาเป็นคน คุณอยากจะบอกอะไรเขา

ผมก็ต้องบอกว่า ขอบคุณที่ทำให้ผมได้เห็นทิศทางการพัฒนาต่อ ตอนที่เห็นการตลาดวันละตอนเปลี่ยนทิศทางก็มาจากการใช้ข้อมูลง่าย ๆ จากแฟนเพจหลังบ้านสมัยก่อน เราเริ่มดูว่าคนที่ตามเรา เขาติดตามเพจแบบไหน ตัวตนเป็นยังไง ณ ตอนนั้นไม่เหมือนภาพที่เคยคิดไว้ ทำให้เราไปสู่อีกรูปแบบที่เรากล้าลงเนื้อหาที่ลึกขึ้น แต่เราไม่กลัวว่าคนอ่านจะเบื่อ เราเห็นแล้วว่าตัวตนเป็นแบบนี้ ฉะนั้นก็ต้องขอบคุณจากการที่เราชอบสนใจเรื่องนี้ เราปรับทิศทางได้ถูก ถ้าไม่มีข้อมูล เราก็คงจะทำไปเรื่อย ๆ งมไปเรื่อย ๆ อาจจะไม่มาถึงในจุดนี้ในวันนี้ก็เป็นได้ครับ

ถ้าข้อมูลที่คุณทำมาทั้งหมดเป็นคนมายืนตรงหน้าคุณ คุณคิดว่าเขาจะพูดอะไรกับคุณ

ก็เป็นภาพที่ไม่เคยนึกออกว่าข้อมูลจะพูดอะไร เพราะที่เราทำจะเป็นข้อมูลในแง่ของมวลรวมมากกว่า ถ้าข้อมูลจะบอก อาจจะบอกสิ่งที่เรามองข้ามไป เราอาจจะมองไม่ครบทุกมิติ ไม่สามารถตีความทั้งหมด ไม่สามารถวิเคราะห์ครบทุกจุดได้ ผมชอบเปรียบเทียบข้อมูลเหมือนนิทานคนตาบอดคลำช้าง เราคลำข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลเราลืมตา เราเห็นความจริงทั้งหมดว่าเป็นช้างตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ข้อมูลก็เป็นเหมือนความจริงว่าเราเห็นครบถ้วนทุกด้านแล้วหรือยัง

เท่ากับว่าทั้งชีวิตนี้คุณแต่งงานกับข้อมูลแล้ว

ผมว่าก็อาจจะเป็นแบบนั้นได้นะครับ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วเราหนีโลก data ไม่พ้นแล้ว ยกเว้นว่าเราจะออกจาก system นี้ ถ้าเราออกไปอยู่ป่า ปลูกผักเลี้ยงปลา ปลูกสวนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพา system เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ได้ ถ้าเรายังอยู่ใน system เรายังต้องใช้โทรศัพท์มือถือ เรายังต้องใช้คอมพิวเตอร์ นี่คือโลกที่เราหนีไม่ได้ เราจะอยู่ยังไงให้ได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์กับมัน

หมายความว่าในวันนี้ทุกคนแต่งงานกับข้อมูลแล้วใช่ไหม

ผมอยากจะเปรียบเปรยเป็นเงาดีกว่า ข้อมูลเป็นภาพสะท้อนจากเรา ซึ่งเราคงจะหนีไม่พ้นโลกใบนี้ที่ทุกวันนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เราจะทำอะไรก็ต้องเริ่มคิดแล้ว เราจะทิ้งรอยเท้าในโลกดิจิทัลที่เราไม่อยากได้ในอนาคตหรือเปล่า ถ้าเราเข้าเว็บแบบนี้ มันจะสะท้อนตัวเรามากขึ้น เว็บเพื่อการศึกษาจะเห็นโฆษณาเพื่อการศึกษามากขึ้น เราอยากเป็นคนแบบนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันเบื้องหลังข้อมูล คือเรื่องของ algorithm ซึ่งการรู้เท่าทัน algorithm สำคัญมาก มันจะจัดการเรา หรือเราจะจัดการมัน

มีเคล็ดลับในการทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้โดยการใช้ข้อมูลบ้างไหม

ผมว่าอย่างหนึ่งคือการใช้ให้บ่อย ยิ่งใช้บ่อยยิ่งมีมุมมอง ยิ่งแบ่งเวลายิ่งเก่งขึ้น การใช้ข้อมูลเหมือนฝึกอ่านหนังสือ เหมือนการเขียน ไม่มีใครเก่งตั้งแต่วันแรกครับ ทุกคนใช้บ่อยจะเริ่มคล่อง เริ่มชิน เริ่มเห็นบริบท เหมือนการออกกำลังกายเลยครับ เดี๋ยวคุณจะเก่งเอง

Data driven จะมีส่วนเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจบ้างไหม

ถ้าเป็นธุรกิจก็น่าจะเป็นทั้งหมด แค่อีกหน่อยมันจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูล ใครไม่ทำก็เหมือนตกจากกติกาไป เหมือนทุกวันนี้ทุกคนต้องใช้ดิจิทัลให้เป็น เมื่อก่อนอาจจะเป็นแค่บางคน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช้ไม่ได้ ร้านคุณไม่เชื่อมกับบริการสั่งสินค้าออนไลน์คุณจะอยู่ได้หรือเปล่า ณ ทุกวันนี้ทุกร้านรู้ว่านี่คือมาตรฐานใหม่ที่ฉันจะต้องเชื่อมกับ delivery ให้ได้ ฉันจะต้องขาย delivery ให้เป็น มันคือมาตรฐานใหม่ของการแข่งขัน

ในฐานะที่เคยเขียนหนังสือมา 3 เล่ม เห็นอะไรจากการเขียนบ้าง

ผมว่าการเขียนทุกเล่มก็เหมือนการเขียนให้คนคนหนึ่งอ่าน ยิ่งเขียนยิ่งกลับไปสู่จุดเริ่มต้น เพราะผมค้นพบว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากรู้คือการขาดการคิดและวิเคราะห์ข้อมูล หรือความรู้เรื่องข้อมูล เล่มแรกเขียนเจาะลึก เล่มสองเขียนปานกลาง เล่มสามเลยเป็นแบบพื้นฐานสุด ๆ ผมว่าการรู้เท่าทันเรื่องข้อมูลเป็นส่วนสำคัญของคนทุกคนในวันนี้

Data มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมไทยยังไงบ้าง

จริง ๆ ในแง่หนึ่งที่จะทำเป็นการวิจัยข้อมูลกลาง อย่างเว็บ datagov ที่หน่วยงานทำ ก็พยายามทำในจุดนั้นอยู่ แต่ถ้าเราดูในต่างประเทศ เว็บ data.gov เขาเก็บข้อมูลมาดีและละเอียด ภาคธุรกิจเอาไปใช้ต่อได้ เขาไม่ต้องไปคอยหาข้อมูลเอง เพราะเขามีแหล่งข้อมูลกลางที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาข้อมูลตรงกลางไปต่อยอดได้มากกว่ากัน ผมว่าภาครัฐควรเตรียมข้อมูลตรงนี้เพื่อภาคธุรกิจมากกว่า มันกลายเป็นว่ามีแต่ภาคธุรกิจใหญ่ที่สามารถจ่ายเพื่อขออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ ข้อนี้ชัดเจนครับ เพราะข้อมูลไม่ได้ฟรี ทั้งในการซื้อ การจัดเก็บหรือเทคโนโลยีครับ

Data ในประเทศไทยถูกผูกขาดด้วยรายใหญ่หรือเปล่า

จริง ๆ การผูกขาดจะหายไป ถ้าหน่วยงานที่จะต้องทำในภาพนี้ ทำเพื่อทุกคนได้จริง ๆ ถ้าข้อมูลภาครัฐบ้านเราละเอียดมากพอเหมือนที่สหรัฐอเมริกา เราจะเห็นข้อมูลเกือบทุกอย่างมีครบ ภาคธุรกิจถ้าอยากรู้ตัวเลขคนป่วยด้วยโรคต่าง ๆ หรือบริษัทที่ขายพวกอาหารเสริม ยาอื่น ๆ อาจจะเอาตรงนี้ไปต่อยอดเป็นธุรกิจได้ แต่วันนี้มันไม่มี ถ้าเขาอยากรู้ บริษัทนั้นต้องมีเงินจ่ายในการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ นั่นคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล ที่จะต้องเหมือนห้องสมุดสาธารณะสมัยก่อนที่เขาพยายามทำ แต่วันนี้เราเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต ทำไมไม่มีของพวกนี้เอาไว้ให้เราใช้

บ้านเราจริงจังกับเรื่องข้อมูลหรือยัง

ผมว่าเท่าที่รู้จักมา หน่วยงานที่ทำมีความจริงจังและพยายาม แต่หน่วยงานอื่น ๆ ที่ประสานงานกัน ไม่ได้ช่วยทำให้เรื่องนี้ไปได้เร็วพอ พอมันมีหลายภาคส่วน มันทำให้การทำงานมีขั้นตอนเยอะมากไป ผมว่านี่คือปัญหาหลัก โครงสร้างในบ้านเรามันเอื้อให้การทำงานมันเร็วอย่างที่ควรจะเป็น วันนี้เรามีกระทรวงที่ทำงานดิจิทัลนะครับ เพราะฉะนั้นภายใต้การทำงานก็ซ้ำซ้อนกันอีก แล้วตกลงใครดูแลเรื่องของเว็บไซต์นี้ หน่วยงานนี้ได้ไหม เป็นต้น

จริงๆ แล้ว Data ควรเป็นของส่วนตัวหรือส่วนรวม

ผมว่าเป็นของส่วนตัวและของส่วนรวมได้พร้อมกัน ส่วนตัวเราคือมีสิทธิ์ในการอนุญาตในการให้ข้อมูลกับใคร ส่วนรวมคือถ้าเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมโดยไม่ได้เปิดเผยในแง่ตัวตน บุคคล อันนี้ถือว่าโอเค เพราะถ้าเกิดเราเห็นข้อมูลที่เกิดขึ้น จำนวนคนที่เข้าออกสถานีรถไฟฟ้า ถ้าภาคธุรกิจเข้าถึงได้ เขาสามารถเลือกแหล่งค้าขายในการทำธุรกิจเพิ่มได้ ไม่ต้องมาคิดว่าฉันจะลงทุนที่ไหนดี

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า