fbpx

คุยกับหวาย Environman: เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ตัวเราเสมอไป

“รัฐสำคัญมากๆในการสร้างกลไกให้มันเกิดขึ้น รัฐมีหน้าที่ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน เห็นไหมครับ เราเองไม่สามารถผลิตพลังงานเหล่านี้ได้เลย มันไม่ใช่หน้าที่เราที่จะลดก๊าซเรือนกระจกได้”

ถ้าคุณไม่ลงมือทำตอนนี้ คุณเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วนะคะ!

เมื่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกกำลังทวีความรุนแรงขึ้น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มเพ่งเล็งและกดดันไปยังภาครัฐและกลุ่มผู้นำในการจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แม้กระทั่งในไทยเองก็ตาม แต่ก็ดูจะเงียบเหงาซะเหลือเกิน

The Modernist ชวนไปพูดคุยกับหวาย-ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผู้ก่อตั้งเพจ Environman ที่เป็นเพจด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง มุ่งเน้นการนำเสนอปัญหา การแก้ไข และการปรับตัวให้เท่าทันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

จุดประกายการก่อตั้งเพจ Environman

Environman เป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่เน้นการสื่อสาร เพราะเราเชื่อว่าการสื่อสารจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ความสนใจของเราเริ่มมาจากเราได้เป็นเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ประกอบกับที่เราเคยเป็นครู 

ทั้งครูอาสา เป็นครูจริงในโรงเรียน เราเชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มันมาจากความไม่รู้เป็นหลักก่อน พอไม่รู้จึงนำไปสู่การใช้ชีวิตหรือการประพฤติที่ไม่ถูกต้อง คือการให้ความรู้ที่ถูกต้องมันก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

เราเริ่มเปิดเพจปี 2018 แต่จะเริ่มจริงๆ ก็ 2019 ก็ประมาณ 3 ปี ย้อนกลับไปตอนนั้นเนี่ยเราเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมันหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ มลพิษอากาศ ไฟป่าทั้งในไทยและต่างประเทศ เราจึงเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองก่อน เริ่มพยายามใช้ชีวิตที่มันลดขยะ ลดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ลดการใช้รถไฟฟ้า ลดต่างๆ นาๆ แต่เรารู้สึกว่าเราจะทำยังไงให้มันมีอิมแพคกว่านี้ จุดประสงค์ของการตั้งเพจก็คือเพื่อที่จะสร้างความรู้  สร้างความเข้าใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นให้เค้ารู้ถึงปัญหา รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาด้วย ร่วมกันกับเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันตอนมหาลัยช่วงนั้นครับ

เส้นทางความยากลำบากในการบริหารองค์กร

ต้องบอกก่อนว่าเราก็เป็นธุรกิจนะครับ ตอนแรกเราก็คิดว่าจะทำยังไงให้มันทำไปได้อย่างยั่งยืนด้วย ถ้าเราเปิดเพจแล้วสื่อสารอย่างเดียว อาจจะไม่ยั่งยืนได้ เพราะว่าเราอาจจะเหนื่อย เราต้องทำงานไปด้วย โมเดลที่เราคิดก็คือเป็นสื่อครับ แล้วก็มีงานประชาสัมพันธ์ด้วย รวมถึงช่วงแรกๆก็มีการขายสินค้าต่างๆ เพื่อที่ให้มันรันไปได้ ทีนี้ความยากของมันคือ การที่เรารู้สึกว่า มันยังไม่มีใครมาสื่อสารเรื่องนี้ อย่างที่ให้เข้าใจง่าย และเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด อันนั้นคือความตั้งใจแรกของเรา จะทำยังไงให้เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มันดูศัพท์เข้าใจยาก ให้มันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น 

อีกอย่างนึงก็คือว่า เรื่องข้อมูล ผมเรียนจบด้านการสื่อสารธุรกิจมาไม่มีความรู้ด้านนี้เลย แต่เพราะสนใจส่วนตัว ก็เลยเป็นความยากของเราที่ต้องทำความเข้าใจกับมัน และก็พยายามย่อยให่มันง่ายที่สุดในช่วงแรกครับ อีกอย่างคือการก่อตั้งร่วมกับเพื่อนๆที่มาจากกลุ่มอาสาในมหาวิทยาลัยด้วยกัน ทำงานกิจกรรมนักศึกษาด้วยกัน  เราก็ต่างคนต่างทำงานในองค์กรต่างๆที่สนใจ ระหว่างนี้เราก็คุยกันว่าจะทำ Environman ขึ้นมายังไงดี ตอนแรกๆความท้าทายก็คือแต่ละคนทำงานกันต่างที่ด้วย แต่เราก็รู้สึกว่าถึงเวลาต้องทำ เราก็เลยเริ่มอะไรอย่างนี้ครับ

มุมมองการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมในไทย

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ถ้าคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้นี่ก็หาข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เลย เราเองหาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมยังทำงานยากเลยในไทย หน่วยงานต่างๆ พอเราทำงานสักพักเราก็เห็นว่าเค้าก็ทำ อย่างกรมอุทยาน กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ อะไรต่างๆเหล่านี้เค้าก็มีการทำข้อมูลของเค้า มีการประชาสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่ว่ามันอาจจะเป็นอะไรที่คนยังเข้าถึงยาก มันค่อนข้างเข้าไปถึงข้อมูลยาก รวมถึงอาจจะเป็นเรื่องของรูปแบบ อาจจะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ที่อาจจะยังไม่ครอบคลุม มันค่อนข้างกระจายนะครับ หน่วยงานที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ก็ไม่มีการเผยแพร่ความตระหนักที่เข้มแข็ง อาจจะเน้นประชาสัมพันธ์ไปในเชิงขอความร่วมมืออะไรอย่างนี้ แต่มันไม่มีความ Alarmimg อยู่ในนั้น ไม่มีความเร่งด่วนของปัญหา รวมถึงความดึงดูดอะไรอย่างนี้ด้วย

ความคิดเห็นต่อการประกาศ Red Code ของ IPCC
(คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) 

มันเป็นอะไรที่น่ากลัว น่ากังวลมากๆนะครับ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาก็มีการออกรายงานประเมินสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 6 รายงานนี้เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน มันเป็นรายงานที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลก เพราะว่ามีการรวมรวมข้อมูลจากงานวิจัยระดับโลก ใช้เวลาทำอย่างยาวนาน รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การรายงานการเปลี่ยนแปลง และมุ่งเน้นการรายงานต่อภาครัฐ รัฐบาลทั่วโลกในการลงมือร่วมกันแก้ปัญหา

ความสำคัญของเรานี้มุ่งเน้นที่ไปที่ความเปลี่ยนแปลง เป็นการให้ข้อมูลต่อภาครัฐอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญในรายงานคร่าวๆ หนึ่ง คือการสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก สอง ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สาม มีการเสนอวิธีแก้ไขปัญหาว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง ความน่ากังวลในปี 2013 บอกว่า มนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มันค่อนข้างชัดเจนว่าเรานี่แหละที่เป็นสาเหตุทำให้ Climate Changed หรือสภาวะโลกร้อนในยุคปัจจุบัน

ผม Grouping ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ 3 ส่วนหลักๆ ใช้เป็นคำง่ายๆ คำแรกก็คือโลกร่อยหรอ คือการที่เราใช้ทรัพยากรเยอะมากและมีอย่างจำกัดของโลก อย่างการตัดไม้ทำลายป่า การขยายพื้นที่ การใช้ทรัพยากรในทะเล เราใช้มันอย่างกับเหมือนว่ามันจะไม่หมดไป  ป่าไม้ที่ลดลงก็ส่งผลกระทบต่อเรา ความหลากหลายทางชีวภาพก็น้อยลง ส่งผลกระทบต่อการกำจัดก๊าซต่างๆที่โลกเราปล่อยไป

อันที่สองก็คือโลกเลอะ หมายความว่า ของเสียต่างๆที่เราปล่อยออกไปจากกิจกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ น้ำเสีย มลพิษในอากาศที่เราปล่อยออกไป มลพิษขยะ โดยเฉพาะที่เรารู้ก็เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่เป็นปัญหาอย่างมากในไทยเอง จนทำให้เราเป็นอันดับต้นๆของโลกในการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล มลพิษในอากาศบ้านเราก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจากไฟป่าหรืออะไรก็ตาม

สุดท้ายก็คือโลกร้อน อันนี้สำคัญมากแล้วก็เป็นวิกฤตการณ์ของยุคเรา ทุกอย่างที่พูดมาสองอันประกอบกันให้เกิดปัญหาที่สาม ก็คือโลกร้อนหรือ Climate Change มาจากการที่เราปล่อยก๊าซเยอะขึ้นทำลายสถิติทุกๆ ปี

สัญญานเตือน Red Code ในไทยและแอคชั่นของรัฐไทย

ต้องบอกก่อนว่าหลายประเทศกำลังประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Carbon Nuetral Net Zero คือ เมื่อเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ เราก็ต้องดูดซับมาเท่านั้น สิ่งที่เราและภาครัฐควรทำคือ ลดก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซให้ได้มากกว่าก๊าซที่เราปล่อยออกไป จนกลายเป็นศูนย์ ตอนนี้หลายประเทศได้ประกาศมาตรการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฯลฯ 

แต่พอเรามองในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมถึงประเทศไทยเอง การประกาศค่อนข้างอ่อนแอมาก ของไทยที่ประกาศไว้ มีมติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติล่าสุด ตั้งเป้าว่าเราจะลดก๊าชเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065-2070 ในขณะที่ประเทศอื่นตั้งไว้ที่ 2050 เราถือว่าไกล หรือยืดไปกว่าคนอื่นเยอะมาก หรืออีกตั้ง 49 ปีข้างหน้า เราจะเป็น Net Zero ซึ่งถือว่าค่อนข้างที่จะชิวมาก ใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ ไม่มีความ Alarming รู้สึกว่าเป้าหมายค่อนข้างไกลและเลื่อนลอย

Road Map ของไทยเอง เรามีแผนที่เดินทางในการลดก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าไว้ที่ 20-25% ของการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 ถือว่าน้อยมาก ขณะที่ทั่วโลกตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2030 จะลดลงครึ่งหนึ่ง เค้าค่อนข้างดันเพดานของเค้าไป ส่วนของไทยค่อนข้างชิว ไม่เข้มแข็ง แล้วก็ไม่ตามสถานการณ์ที่มันเร่งด่วนจริงๆ เรามองในประเทศอื่นก็เหมือนกัน โควิดมันอาจจะแก้เหมือนกัน แต่ว่าสิ่งแวดล้อมมันก็ต้องแก้ไปด้วยกันได้ หากมองในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องทำยังไง สิ่งที่รัฐสามารถทำได้คือ ผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ผลักดันพลังงานสะอาดให้มันเร็วที่สุด ซึ่งมันสามารถทำไปพร้อมกันได้ ในมุมมองของผม และรู้สึกว่าเป้าหมายของไทยจะอ่อนและไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

สัญญาณ Red Code ในไทย รวมถึงทั่วโลก อย่างโลกร่อยหรอ เราเห็นว่าทรัพยากรป่าไม้เราลดลงเหลือ 30% พื้นที่ควบคุมป่าไม้ มันอาจจะดีขึ้นจากอดีตเล็กน้อย แต่เราก็ยังต้องผลักดันพื้นที่ป่าไม้ให้มันมากขึ้น โลกเลอะ เราก็เห็นแล้วว่า Red Code ของไทยคือมลพิษทางอากาศมันหนักขึ้นทุกปี pm2.5 ย้อนกลับไป 10 ปีก่อนเราอาจจะไม่เจอเยอะขนาดนี้ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของ Climate Changed เอง Red Code มันค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่มันแปรปรวนมากขึ้น เราเห็นบางพื้นที่แล้งมากเลยเดี๋ยวนี้ ไฟป่าที่มันเกิดหนักขึ้น แม้กระทั่งน้ำท่วมฉับพลัน การกัดเซาะชายฝั่ง น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นมีส่วนส่งผลต่อทรัพยากรในทะเล พวกนี้เป็น Red Code ของเราหมดนะครับ เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข

การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตัวเราอย่างเดียว บางคนอาจจะบอกว่า แก้สิ่งแวดล้อมแก้ปัญหานี้ เริ่มที่ตัวเองสิ เราไม่มองอย่างนั้นนะครับ เรามองปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมกับหลายๆ ปัญหาเลยก็ได้ต้องมาจากสามภาคส่วน 

ภาคแรกคือ ภาคประชาชน สมมติผมจะออกไปแล้วพยายามลดใช้พลาสติก ลดใช้ยานพาหนะ ลดใช้ไฟฟ้า ลดใช้น้ำ ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากนะครับ ยากที่จะเปลี่ยนแปลง

ภาคสองคือ เอกชน บริษัทต่างๆสำคัญมากๆในระดับประเทศ ระดับโลก เพราะว่าองค์กรต่างๆเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ทั้งจากการผลิต ทั้งการใช้ทรัพยากรต่างๆ การที่เค้าปล่อยให้มีขยะออกมามากโดยไม่ต้องรับผิดชอบ เค้าควรจะมีส่วนในการรับผิดชอบอย่างมาก 

สำคัญที่สุดจริงๆ ก็คือ ภาคการเมือง ภาครัฐ ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย การสร้างความตระหนัก การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ก็คืออยากให้คนรู้ว่าจริงๆแล้ว มันไม่ใช่หน้าที่เราคนเดียว อย่าไปตัดสินว่าคนนี้ๆ อยากให้มองถึงสามภาคส่วนเสมอครับ

ความคาดหวังในอนาคต

เราก็เน้นการเรื่องสร้างความตระหนักอยู่เหมือนเดิมครับ แล้วก็ข้อมูลข่าวสารของเรา เป็นสิ่งที่ไม่มากก็น้อยเราเชื่อว่าจะทำให้สังคมได้เรียนรู้มาตรการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ สถานการณ์ในระดับโลกเขากำลังไปถึงไหนแล้ว สิ่งที่เรากำลังสื่อสารอย่างน้อยอาจจะไปสะกิด ใครบางคนที่อยู่ในหน่วยงาน หน่วยงานต่างๆ ทำให้เขามีความคิดอยากจะเปลี่ยนมาตรการมากขึ้น ทดลองมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในอนาคตเราอยากจะ Drive ให้มันเกิด Action จริงๆ อย่างตอนนี้มันเป็นเรื่องของการสื่อสารซะมากกว่า เราอยากให้มันเกิด Action จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทำให้ภาครัฐมีมาตรการต่างๆ ภาคเอกชนมีมาตรการต่างๆ รวมถึงการไปร่วมลงมือในส่วนสถานะของประชาชน ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป เราจะทำอะไรได้บ้างมากขึ้นนะครับ

Environman อยากฝาก

สิ่งที่อยากบอกคือเรากำลังอยู่ในหายนะ เรากำลังอยู่ในวิกฤตเราทุกคนนะครับมีมีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้ เกิดมาไม่มีใครไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนะครับ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราจะแก้ไขมันยังไง ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขด้วย

เราอยู่ในช่วงขอบเหวแล้วกำลังจะลงเหว เราอยู่ในช่วงที่เราเห็นมาแล้วว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เราเห็นแล้วอนาคตจะเป็นยังไง เราอยู่ในช่วงที่หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่สุด ขอบเหวเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ครับ เพราะฉะนั้นมันคือช่วงเดียวในยุคเราที่จะกำหนดอนาคตของโลกนะครับ ลงมือทำไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เราสามารถทำได้ในภาคส่วนไหนก็ตามต้องทำตอนนี้เลยครับ

ภาพ: ร่มธรรม ขำนุรักษ์
พิสูจน์อักษร: พรรณิกา จันทร์แสง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า