fbpx

Elvis Presley ราชาร็อกแอนด์โรลผู้ล่วงลับกับเบื้องลึกชีวิตที่ฉายผ่านสารคดี The Searcher

หมายเหตุเนื้อหา : เนื้อหาบทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาสารคดีบางส่วน


“Wise men say
Only fools rush in
But I can’t help falling in love with you”

ท่อนร้องจากบทเพลงอมตะของศิลปินที่โด่งดังมากในยุค 60 และยังเป็นดั่งราชาของดนตรีร็อคแอนด์โรลที่แม้ว่าเค้าจะจากไป 45 ปีแล้วก็ตาม แต่บทเพลงของเอลวิสก็ยังถูกนำมาเล่นซ้ำในโอกาสสำคัญต่างๆ และเป็นที่พูดถึงอย่างเสมอมา

เรื่องราวของเอลวิส เพรสลีย์ถูกนำเสนอผ่านสื่อในหลากหลายแง่มุมไม่ว่าจะเป็นนักร้องร็อคแอนด์โรลที่มีท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์ หรือเสียงร้องที่สามารถร้องได้หลากหลายแนวเพลง แต่มีน้อยสื่อมากที่เสนอในด้านชีวิตของตัวเขา ซึ่งการได้รับรู้เบื้องหลังของชีวิตจะทำให้เราสามารถเข้าใจตัวตนของเอลวิสมากขึ้น สารคดี Elvis Presley : the searcher จึงฉายภาพให้เราเห็นด้านนี้ของเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จากเด็กน้อยที่เติบโตในรัฐมิสซิสซิปปี แม้ครอบครัวจะยากจนแต่ก็อบอุ่นเพราะได้รับความรักอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะแม่ที่ดูแลและตามใจเอลวิสมากเพราะเขาคือลูกคนเดียวของเธอที่เหลืออยู่ หลังจากที่ลูกชายฝาแฝดอีกคนหนึ่งเสียชีวิตไป

ต่อมาพ่อถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปีเนื่องจากปลอมแปลงเช็ค ซึ่งเช็คนั้นถูกทำขึ้นเพื่อซื้ออาหารเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ถูกขังเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนเอลวิสและแม่ก็ถูกทิ้งให้อยู่อย่างตามมีตามเกิด โดยที่แม่ทำงานหนักมากแต่ก็เพื่อให้ลูกชายของเธอเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเอลวิสถึงรักแม่มาก

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เอลวิสยังเป็นเด็ก ในหมู่บ้านแถบชนบท ความสุขไม่กี่อย่างของผู้คนมีเพียงดนตรีและโบสถ์ ที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเด็กน้อย ที่จะก้าวไปเป็นศิลปินในเวลาต่อมา เพราะจังหวะเพลงและการเล่นดนตรีจากการนักดนตรีในโบสถ์ก็เป็นรากฐานให้ร็อคแอนด์โรลในเวลาต่อมา ซึ่งคุณแม่ก็ไม่ได้ต่อต้านให้กับความรักที่มีเสียงดนตรีของเอลวิส

รวมถึงการเป็นคนขาวที่เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงดนตรีของคนดำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติหากเกิดในช่วงเวลานั้นที่กระแสแบ่งแยกสีผิวยังคงคุกรุ่นอยู่ แต่เอลวิสทำไปด้วยเหตุผลเดียวคือ เขาสนุกไปกับมัน

เมื่ออายุ 13 ปี เด็กหนุ่มจากมิสซิสซิปปี ได้ย้ายเข้าสู่เมมฟิส เมืองที่มีความหลากหลายในวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่งในประเทศโดยเฉพาะย่านบันเทิงที่เล่นดนตรีดีดีกันอย่างคึกคัก ซึ่งย่านที่มีชื่อเสียงทีสุดก็คือ ถนน Beale ที่ถูกขนานนามว่า “ สวรรค์ของคนดำ ” เนื่องจากเป็นถนนแห่งประวัติศาสตร์ของดนตรีบลูส์ ที่มักจะมีศิลปินระดับตำนานของโลกมาทำการแสดงที่นี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Louis Armstrong, Muddy Waters, Albert King, Memphis Minnie, B. B. King, Rufus Thomas, Rosco Gordon ที่แห่งนี้มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้เอลวิสได้เข้าถึงดนตรีมากขึ้น

ท่าทางในการแสดงก็ได้แรงบันดาลใจจากนักดนตรีที่เล่นในย่านถนน Beale รวมถึงการไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ก็ทำให้ได้รับอิทธิพลการร้องดนตรีกอสเปล จากนักดนตรีในโบสถ์ และสไตล์การใส่สูทพอดีตัว ผมดำเรียบ ไว้จอน ก็ได้รับอิทธิพลมาจากนักดนตรีคริสเตียน ณ ขณะนั้น

อีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต คือตอนที่ศึกษาในโรงเรียนมัธยมปลายฮิวม์ส ที่มีการจัดการแสดงเล็กๆทุกปี เอลวิสได้ร้องเพลงที่ชื่อ Old Shep ของศิลปินที่ชื่อ Red Foley ที่เกี่ยวกับหมาแก่ของเขาที่เพิ่งตายไป และการแสดงครั้งนั้นเองคือการพิสูจน์ตัวเองครั้งแรกในชีวิต แม้เป็นก้าวเล็กๆแต่ก็สำคัญสำหรับเด็กหนุ่มในวันนั้น

แต่ทางเดินก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะเขามักถูกปฏิเสธด้วยคำว่า “นายร้องเพลงไม่ได้” จากนั้นจึงไปทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก เพื่อจะหาเงินเลี้ยงดูแม่ แม้จะล้มเหลวหลายครั้งแต่เอลวิสเองก็ยังไม่หยุดความพยายามที่จะเป็นศิลปินและยังคงพยายามทำต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อแซม ฟิลลิปส์ แห่งค่ายซัน เรคคอร์ด ที่มีความฝันที่จะต้องการนำดนตรีคนดำเข้าสู่กระแสหลักของคนขาวให้ได้ ด้วยเหตุผลอันดีและมิใช่เพียงเพื่อการค้า แซมต้องการหาคนขาวที่สามารถร้องเพลงของคนดำได้ เมื่อมีข่าวว่า คุณอาจโชคดีหากไปที่ซัน เรคคอร์ด เอลวิสจึงไปที่นั่นเพื่อทำทุกอย่างที่คิดว่าจะได้อัดแผ่นเสียง แต่ก็ไม่ได้ทำให้แซมประทับใจมากนัก

หลักจากนั้น สก็อตตี้ มัวร์และบิล แบล็ค สองนักดนตรีที่ทำงานละแวกนั้นก็ได้เข้ามาที่ค่าย แซมบอกให้ทั้งคู่ไปซ้อมดนตรี การอัดเพลงไม่เป็นที่ประทับใจเท่าที่ควร และวินาที่ที่ทุกคนกำลังจะถอดใจ เพราะแซมกำลังมองหาความพิเศษบางอย่างที่เขาไม่รู้ว่าคืออะไร เอลวิสที่ขณะนั้นกำลังพักอยู่ได้หยิบกีตาร์ขึ้นมาและดีดมันเป็นจังหวะอย่างสนุกสนาน บิลหยิบเบสของตัวเองมาตบเล่นไปกับเขาด้วย สก็อตตี้ก็เล่นคลอไปกลุ่มนั้น สิ่งที่เอลวิสร้องวันนั้นเป็นดนตรีบลูส์คลาสสิค

ณ ตอนนั้นเอลวิสอยู่ในภวังค์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำคืออะไร แค่ออกไปเล่นมัน และนั่นคือความพิเศษที่แซมตามหา

หลังจากอัดเสียงเสร็จ ดีเจที่มีชื่อเสียงในย่านนั้นอย่าง ดิววีย์ ฟิลลิปส์ ได้นำเทปนี้ไปเปิด เขารู้ว่าเพลงของเอลวิสมันต่างจากคนอื่นมาก เมื่อคนได้ยินเพลงนั้นก็โทรหาที่สถานีเป็นจำนวนมาก ขณะนั้นเอลวิสที่กำลังดูหนังในโรงภาพยนตร์ก็ถูกลากตัวออกมาเพื่อบอกว่า “ ดิววีย์อยากคุยกับเขาในรายการวิทยุ “

เอลวิสที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ให้สัมภาษณ์อย่างตะกุกตะกักและตื่นเต้น แต่นาทีนั้นทุกคนในเมมฟิสรู้จัก “That’s all right (Mama)”  จากความสำเร็จนี้ทำให้แซมค้นพบสิ่งที่ตามหามานาน การอัดเพลงบลูส์ของคนดำที่ดิบถึงใจและเกรี้ยวกราด อีกด้านของแผ่นก็มีเพลงบลูกราสคลาสสิคอย่าง “ Blue moon of Kentucky ” ไม่ต้องมีสีผิวใดใด มีแค่ดนตรีที่ชอบเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ทำใน Blue moon of Kentucky มันกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ ร็อคแอนด์โรล “ ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นโลกก็รู้จักศิลปินที่ชื่อ “เอลวิส เพรสลีย์”

ทั้งหมดคือที่มาของเอลวิสก่อนจะเริ่มเป็นที่รู้จัก ภาพของศิลปินที่เรามองเห็นและชื่นชอบมักจะเต็มไปด้วยภาพของความสำเร็จ แต่ภาพ ณ จุดเริ่มต้นของพวกเขามักถูกมองข้ามไป ภาพจำของเอลวิสที่คนจำได้ มันคือท่าเต้นและการแสดงออกบนเวทีอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ทั้งที่จริงๆแล้ว เสียงร้องและการเล่นดนตรีของเขาก็โดดเด่นมากเช่นเดียวกัน

ในด้านชีวิตส่วนตัว เอลวิสเป็นคนที่รักครอบครัวมาก โดยเฉพาะคุณแม่ เพราะทั้งคู่ผ่านเรื่องราวที่ยากลำบากมาด้วยกัน สิ่งที่เอลวิสทำทุกอย่างก็เพื่อคุณแม่ ดังนั้นการสูญเสียคุณแม่ก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของเอลวิสเอง และอีกจุดเปลี่ยนในชีวิตของเอลวิสก็มาจากการที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณแม่ของเขาป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา นั่นทำให้ช่วงเวลาที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เอลวิสได้ทดลองใช้สารเสพติด ซึ่งหลายคนก็พูดกันว่า หลังจากกลับจากการเป็นทหารแล้ว เขาไม่เคยเป็นเหมือนเดิมอีกเลย

รวมถึงการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทำให้เอลวิสเริ่มมีชื่อในฐานะนักแสดง แม้ว่าจะมีอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ออกมาในแทบทุกเรื่องที่ออกฉายโดยการร้องเขาเอง แต่บทเพลงเหล่านั้นถูกสร้างเพื่อใช้ในการประกอบภาพยนตร์เป็นหลัก มิใช่เพื่อตัวเขาหรืออิงตามแนวเพลงที่เอลวิสร้องเลย แม้จะมีเพลงที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้างอย่าง “ Can’t help falling in love with you “ แต่นั่นก็เทียบไม่ได้กับอัลบั้มเพลงที่ทำก่อนหน้านั้น

ช่วงท้ายของชีวิตในโลกภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จเลย โดยเฉพาะอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง  Clambake ในปี คศ.1967 ที่มียอดขายต่ำสุดในอัลบั้มทั้งหมด Connie Kirchberg และ Marc Hendrickx นักประวัติศาสตร์ที่เคยเขียนหนังสือ “ Elvis Presley, Richard Nixon and the American Dream “ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของตนเองถึงเอลวิสไว้ว่า “ เอลวิสถูกมองว่าเป็นตัวตลกของคนรักในเสียงดนตรีและเป็นอดีตไปแล้วสำหรับแฟนพันธุ์แท้ของเขา “

ในสารคดีฉายให้เห็นเอลวิสในช่วงเวลานั้นที่สายตาดูแล้วคล้ายว่าไม่มีชีวิตอยู่ในดวงตานั้นเลย

การกลับไปสู่วงการเพลงอีกครั้งไม่ง่าย เพราะเวลานั้นมีศิลปินดาวรุ่งที่มีฝีมือหลายคนก้าวขึ้นอยู่ในวงการ ไม่ว่าจะเป็น สี่หนุ่มจากเมืองลิเวอร์พูลที่รวมตัวตั้งวงที่ชื่อ “ The Beatles ” ศิลปินหนุ่มที่สร้างเขียนเพลงเล่าเรื่องได้ดีอย่าง “ Bob Dylan ” รวมถึง “ Tom Jones ” ที่เริ่มจะมีชื่อในวงการแล้ว

แต่เขาก็ได้รับโอกาสให้กลับสู่วงการอีกครั้ง โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นที่น่าจดจำคือรายการพิเศษในปี 1968 ที่ช่อง NBC Steve Binder ผู้กำกับของรายการในวันนั้นเล่าว่า เอลวิส เรียกเขาไปที่ห้องแต่งหน้าและพูดว่าเขาต้องยกเลิก ไม่ต้องการแสดงโชว์นี้แล้ว เขาจำเพลงที่ร้องไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อขึ้นเวที ซึ่งเป็นการแสดงสดครั้งแรกในรอบ 7 ปี

ณ วันนั้น เอลวิส เพรสลีย์ที่ทุกครั้งรู้จักก็กลับมาอีกครั้ง

หลังจากนั้นเมื่อได้กลับมาสู่เส้นทางการทำเพลงอีกครั้งและเอลวิสก็กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่ออกทัวร์มากที่สุด ในจุดสูงสุดเขาได้ทำการแสดงสด 57 รอบใน 4 สัปดาห์ที่โรงแรมในลาสเวกัส แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือเอลวิสไม่มีโอกาสได้ออกไปทำการแสดงนอกประเทศเลย เนื่องจากผู้จัดการของเขาอย่างผู้พันพาร์คเกอร์เข้าอเมริกาอย่างผิดกฏหมาย หากเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วจะไม่สามารถกลับเข้าอเมริกาได้ โดยที่เรื่องนี้เอลวิสเองก็ไม่รู้เรื่องเลย เพราะเมื่อใดที่เอลวิสเรียกร้องที่จะทำการแสดงนอกประเทศ ผู้พันก็จะบ่ายเบี่ยงทุกครั้ง และการบ่ายเบี่ยงครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การแสดงคอนเสิร์ตผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก ที่ชื่อ “ Aloha from Hawaii “

การทำงานอย่างหนักติดต่อกันก็ส่งผลต่อสุขภาพที่แย่ลงเรื่อยๆ จนวันที่ 16 สิงหาคม คศ.1977 เอลวิสก็จากโลกนี้ไป โดยผลวินิจฉัยบอกว่าเกิดจากอาการหัวใจล้มเหลว จากการใช้ยาร่วมหลายขนาน ปิดตำนานราชาร็อคแอนด์โรลด้วยอายุเพียง 42 ปีเท่านั้น

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของสารคดีความยาว 215 นาทีที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของศิลปินที่ชื่อ เอลวิส เพรสลีย์ไว้ ชีวิตของคนๆหนึ่งที่มีความรักในเสียงดนตรีจนประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในวงการ ตกต่ำ และกลับไปขึ้นสูงอีกครั้ง ก่อนจะจบชีวิตลงในวัยที่ยังมีพลังมากพอจะทำสิ่งต่างๆได้อีกมากมาย

เมื่ออ่านมาถึงตอนท้ายแล้ว อยากให้ผู้อ่านลองกลับไปดูโปสเตอร์ของสารคดีเรื่องนี้ดูอีกครั้ง แล้วลองเปิดเข้าไปดูในเนื้อหาของสารคดี แล้วชวนตั้งคำถามว่าในสายตานั้นของเอลวิส เราเห็นอะไรกัน ?


ที่มา
1. สารคดี Elvis Presley: The Searcher (2018)
2. เอลวิส เพรสลีย์ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
3. 40 ปีปริศนาการตายของ “เอลวิส เพรสลีย์” (thaipbs.or.th)

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า