fbpx

ที่รักมักที่ใช่ เมื่อคนเลือกฟังข่าวจากคนที่ (คิดว่า) ใช่ มากกว่าคนที่คิดว่าจริง

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันรายการข่าวที่นำเสนอข่าวในปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นรายการแห่งสงครามข่าว เมื่อผู้ดำเนินรายการ หรือผู้สื่อข่าวต่างแข่งขันกันให้ตัวเองเป็นที่จดจำมากกว่า การคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของผู้สื่อข่าวมากกว่า เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “รักเกินรักมักทำร้าย สื่อ-ข่าว : แค่ไหนถึงจะเรียกว่า “พอดี”” โดย SONGSUE MEDIA LAB (2564) รายการข่าวถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญต่อผู้ชมและประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการถือเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอข้อเท็จจริง และการรายงานข้อมูล ในงานศึกษาของ สรรพัชญ์ เจียระนานนท์ (2563) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ดำเนินรายการสนทนาข่าวในยุคใหม่จึงไม่ได้มีหน้าที่แค่การเล่าข่าว หรือรายงานข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น ผู้ดำเนินรายการ สนทนาข่าวจำเป็นต้องวางแผนการเล่าข่าว การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้รอบด้าน เพื่อสนทนาหรือเล่าข่าวไปสู่ผู้ชม เป็นการรายงานและอธิบายถึงเรื่องราวในข่าวให้สมบูรณ์มากที่สุด

แต่ในปัจจุบันผู้ชมรายการข่าวส่วนใหญ่กลับให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าเนื้อหาของข่าวที่ต้องการนำเสนอ ทำให้บางครั้งผู้ชมเลือกเชื่อสิ่งที่ผู้สื่อข่าวนั้นรายการแม้ว่าเรื่องนั้นจะผิดก็ตาม เช่น ในกรณีรายการ ‘เล่าข่าวข้น’ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นำคลิปจากสื่อสังคมมาเสนอว่าฝ่ายยูเครนจัดฉากศพพลเรือนผู้เสียชีวิตนับร้อยศพจากการถูกทหารรัสเซียรุกรานและสรุปว่าเป็น ‘ข่าวลวง’ (fake news) ซึ่งต่อมามีการชี้แจงจากรายการว่าความผิดพลาดจากการนำเสนอเพราะเชื่อถือในผู้เผยแพร่ และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ได้สื่อสารขอโทษในความผิดพลาด (Media Alert, 2022) แต่จากกรณีนี้พบได้ว่าผู้ใช้สื่อออนไลน์หลายคนที่เลือกจะเชื่อผู้ดำเนินรายการตั้งแต่แรกมากกว่าเลือกจะที่ค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อมาลบล้างเนื้อหาเหล่านี้

เช่นเดียวกับ กรณีไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นำโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย  ซึ่งกล่าวหาว่านาย เซเลนสกี ใส่เสื้อยืดที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะของนาซี-ฮิตเลอร์ มารายงานเป็นข่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายตราสัญลักษณ์กองทัพยูเครน จนมีผู้ทักท้วงถึงความผิดพลาด (Media Alert, 2022)

กลุ่มคนที่ชื่นชอบหรือเข้าข้างผู้สื่อข่าว หรือผู้ดำเนินรายการที่นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด ขาดการใส่ใจในข้อมูลนั้น ๆ อาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มแฟนคลับของรายการข่าวนั้น และอาจจะคล้ายกับแนวคิดเรื่องของ “Echo Chamber” หรือแปลว่า “ห้องเสียงสะท้อน” เป็นความหมายเปรียบเปรยถึงห้องที่ออกแบบ ให้มีการสะท้อนเสียงกลับไปกลับมา ในขณะที่ โตมร ศุขปรีชา (2556) ได้ให้คำนิยามแก่แนวคิดดังกล่าวไว้ว่า “ห้องที่สะท้อนแต่เสียงตัวเอง” เขากล่าวว่าสื่อโซเชียลมีความไม่เป็นกลางในการคัดเลือกข้อมูลให้กับเรา และมันก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างหลากหลาย มันอาจจะเป็นการตอกย้ำโลกทัศน์เดิม ๆ ของเรา แทนที่จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น “มันเหมือนเป็น Echo Chamber” เวลาเราพูดออกไป ยิ่งแรงเท่าไหร่ เสียงสะท้อนกลับมามันก็ยิ่งชัดเท่านั้น เมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันมาก ๆ เข้าก็ทำให้เราเผลอเชื่อไปว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมน่าจะคิดเหมือนเรา และแน่นอนว่ามันไม่ใช่การเปิดโลกทัศน์ที่เราอยากจะให้มันเกิดขึ้น (ชิตปภพ ประเสริฐไพฑูรย์, 2564) 

พิรงรอง รามสูต (2556) กล่าวถึงปรากฏการณ์ Echo Chamber ในสังคมไทยไว้ว่า “การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Facebook ของผู้คนในสังคมที่แตกแยกอย่างรุนแรง ก็อาจกลายเป็นช่องทางในการ “เลือกรับ” เฉพาะข้อมูลที่ปัจเจกคนนั้น ๆ ต้องการที่จะได้ยิน/ฟัง ส่วนความเห็นที่ไม่ต้องการนั้นก็จะถูกปิดตาย เช่น การ Unfriend เพื่อนที่มีความคิดแตกต่าง เป็นต้น ฉะนั้น การใช้ชื่อสมัยใหม่ จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนของความเห็นที่เราอยากได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีก เครือข่ายเพื่อนใน Facebook จึงเป็นเครือข่ายของคนที่คิดเหมือน ๆ กัน และมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตสร้างความเห็นที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังต่อคนกลุ่มอื่น ๆ” (ชิตปภพ ประเสริฐไพฑูรย์, 2564) กลุ่มคนที่หลงเชื่อเรื่องราวเหล่านั้นที่กล่าวมาข้างต้น โดยปราศจากการไตร่ตรองหรือการคิดให้รอบด้าน เพื่อหาข้อมูลที่แท้จริงมาแย้งกับความรักหรือความชอบที่มีต่อตัวบุคคล อาจเข้าค่ายแนวคิดเรื่องของแฟนคลับที่ทำให้ กลุ่มแฟนคลับเหล่านี้เลือกที่จะปฏิเสธความผิดที่ผู้ประกาศข่าวหรือนักข่าวนำเสนอ และบูชาตัวบุคคลมองว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง

แต่ความเป็นแฟนคลับนี้เอง ก็ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ในแง่ของการเพิ่มพลังอำนาจ (empowering) ของกลุ่มแฟนคลับและลดพลังอำนาจ (disempowering) ของสื่อลง โดยปรากฏการณ์ของ “แฟนคลับ” ที่ได้เกิดขึ้นมาในสังคมนั้น ทำให้เกิดเส้นแบ่งระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เบาบางลง ซึ่งทำให้แฟนคลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตสื่อต้องให้ความสนใจ เนื่องจากเมื่อแฟนคลับชื่นชอบสิ่งใด ก็จะทุ่มเททั้งแรงงาน จิตใจ หรือกำลังทรัพย์ เพื่อที่จะแสดงความชื่นชอบหรือชื่นชมในสิ่งนั้น (กนกวรรณ ปิ่่นสิรานนท์์ และอดิิพล เอื้อจรัสพันธุ์์, 2564) ทำให้รายการข่าวเองเลือกที่จะนำเสนอเนื้อหาที่ตรงใจ ตรงความต้องการของกลุ่มแฟนคลับเป็นหลัก จากกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้คือสื่อพยายามที่เข้าใจและเข้าข้างแฟนคลับที่ชื่นชอบรัสเซีย จึงทำให้สื่อเหล่านี้ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาข่าวนั้น ๆ

งานศึกษาของ อัลเบอท ปอทเจส กล่าวว่าในแวดวงสื่อสารมวลชน (Mass Media) พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของผู้ชมที่มีรีโมทคอนโทรลอยู่ในมือ และเปลี่ยนช่องดูแต่รายการที่ตนชื่นชอบ ก็ถือเป็นการสร้าง Echo Chamber ในระดับปัจเจกบุคคล” แสดงให้เห็นว่าแม้สื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ไปแล้ว แต่สื่อมวลชนมีกลุ่มผู้ชมที่มีจำนวนมาก และสื่อมวลชนพยายามเก็บกลุ่มผู้ชมทุกกลุ่มไว้ ดังนั้นหากนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป จะส่งให้ผู้ชมเหล่านั้นเลือกไปชมช่องอื่นหรือไม่? อาจจะนำไปซึ่งการเสียซึ่งฐานผู้ชมของตนเอง ที่สำคัญผู้ชมที่ไม่ชื่นชอบยูเครนก็จะเปลี่ยนยูเครนเป็นฝ่ายร้าย และพาลเชื่อว่าช่องที่นำเสนอนี้เป็นสีดำไปด้วย (ตามแนวคิดเรื่อง Echo Chamber ที่กลุ่มคนจะเลือกแค่ 2 ฝั่ง ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่ขาวก็ดำเท่านั้น) (ชิตปภพ ประเสริฐไพฑูรย์, 2564)

ทั้งนี้แล้วผู้ชมไม่ควรให้ความสำคัญไปที่ตัวบุคคลมากกว่าการให้ความสำคัญไปที่เนื้อหาที่ผู้ดำเนินรายการ ผู้สื่อข่าวที่พยายามจะนำเสนอ และต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหานั้นด้วยเช่นเดียวกัน กลุ่มผู้ชมต้องยืนอยู่กับฐานของการรู้เท่าทันสื่อที่สื่อเองมีบทบาทหน้าที่ที่นำเสนอข่าวที่ถูกต้องก็ตาม แต่ว่าในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมานี้ สื่อก็นำเสนอข่าวที่ผิดพลาดและเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้ชม ที่ทำให้เกิดความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งผิดไปจากความจริง

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า