fbpx

Dude, Movie สหายคนฉายหนังในเชียงใหม่ที่ใช้พลังของศิลปะและป๊อปคัลเจอร์เปลี่ยนนครพิงค์

ตั้งแต่เราอยู่เชียงใหม่ เรารู้จักกลุ่มคนฉายหนังที่ประกอบด้วยวัยรุ่น 4 คนที่หยิบหนังโคตรดีมาฉาย และตั้งเป็นคอมมูนเล็กๆ ให้คนที่รัก หลงไหล และโหยหาภาพยนตร์ดีๆ จากการคิวเรตแบบเนี๊ยบๆ มาเจอกัน

จนเราย้ายมาเป็นบรรณาธิการที่กรุงเทพ เราก็พบว่าพวกเขายังคงทำในสิ่งเดิม ด้วยไฟปรารถนาเดิม แต่เพิ่มเติมคือความเติบโตขึ้นที่ค่อยๆ ฉายหนังเพิ่มทีละครั้ง สองครั้ง สามครั้ง จนกลายมาเป็นกลุ่มฉายหนังอิสระที่ทำงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น

กลุ่มคนฉายหนังกลุ่มนั้นชื่อ Dude, Movie.

ด้วยความพยายามสร้างพื้นที่ฉายหนังอิสระให้ผู้ชมมีทางเลือกในการชมภาพยนตร์ที่แตกต่างออกไปจากโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ และการสร้างพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้จริงในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี แต่ขวบปีสั้นๆ นั้นทำให้ทั้งอ้น-ณัฐกุล คำพินิจ กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ และไอซ์-อนันตญา ชาญเลิศไพศาล คิวเรเตอร์อิสระ สองตัวแทนของกลุ่มที่อาสามานั่งพูดคุยกับเราเป็น “หมู่คณะ” เห็นความเป็นไปได้หลังจากลองผิด-ลองถูก-ลองไม่ถูก มาหลายต่อหลายงาน

ไฟเฮาส์ปิดลง เราจึงอยากเชิญคุณนั่งลงและเตรียมพบกับการผจญภัยและการสร้างพื้นที่ให้เชียงใหม่มีสีสันขึ้น และสนุกขึ้นด้วยภาพยนตร์กัน

ปิดเสียงมือถือเพื่ออรรถรสในการรับชมด้วยนะ

เมื่อเรื่องด่วนคือการชวนมาฉายหนัง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากด้วยการที่อ้นและไอซ์เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่มักจะได้เจอกันบ่อยๆ ในกระบวนวิชาเรียน ระหว่างทางจึงเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนสนิทสองคน

มันก็เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าวันหนึ่งอ้นกลับมีเรื่องสำคัญอีกอย่างมาขอความช่วยเหลือไอซ์ แต่คราวนี้เรื่องไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวหรืออะไร มันกลับเป็นเรื่องที่สนุกมากซะด้วยซ้ำ

นั่นคือการชวนมาทำกลุ่มฉายภาพยนตร์

“จริงๆ อ้นเป็นคนต้นคิดใน Project นี้ ซึ่งอ้นทาบทามว่ามาช่วยหน่อย มีเรื่องด่วนให้ช่วย อันนี้คือ Message แรกที่ได้มาเลย ก็โอเค อันนี้คือช่วยใช่ไหม ได้ ก็ไปช่วย แล้วพอได้ช่วยจากนั้นก็ยาวจนถึงตอนนี้ค่ะ เราคิดว่ามันสนุกดีแล้วก็บอกให้อ้นทำต่อ ก็เลยหาเรื่อยๆ ยาวๆ” ไอซ์เล่าถึงข้อความ “ขอความช่วยเหลือ” ครั้งนั้นจนอ้นก็เล่าเสริมต่อว่า

“แล้วก็เราก็เริ่มชักชวนคนอื่นเข้ามาทำ Dude, Movie. ด้วย ก็คือขั้นต่อต่อไปคือ เพื่อนๆ ที่เราสนใจศักยภาพของหลายๆ คน อย่างไอซ์ก็จะมีศักยภาพที่เรามั่นใจ แล้วเราก็สนใจในเรื่องของการทำงานละครของเพื่อนอีกคนหนึ่ง แล้วถัดไปก็จะเป็นเพื่อนที่ทำงานละครอยู่กับคนก่อนหน้านี้อีกทีนึง ก็จะเป็นคำเชิญที่เป็นทอดๆ กัน

“ด้วยความที่เรามองว่า Dude, Movie. มีอิสรภาพ สร้างอิสรภาพให้กับทุกคนที่เหมือนกับว่า ทุกคนจะก้าวเข้ามาทำอะไรก็ได้ใน Dude, Movie. แล้วมันเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนที่พร้อมที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเรามีความรู้สึกว่าคนที่ก้าวเข้ามามันมีบางสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำอยู่”

“มันเหมือนเป็นพื้นที่ให้แบบเราไม่ต้องกลัวความผิดพลาด เราก็คุยกันตลอดว่าถ้าใครอยากทำอะไร อย่างเช่นอยากลองทำโปสเตอร์ไหม ทำคอลลาจไหม หรือทำอะไรก็ได้ที่เราอยากให้คุณเป็นส่วนหนึ่งกับเรา มันน่าสนุกตรงที่ว่าเราไม่ต้องการความเพอร์เฟคต์ แต่เราอยากให้เขาได้ลองทำอะไรสักอย่างที่มันเป็นตัวเขา” ไอซ์เสริม

ทำงานกันแบบกองโจร

หลังจากระดมพลได้ 4 อภินิหารที่จะกำกลุ่มฉายหนังก็หาความเป็นไปได้ของการ “ฉายหนัง” นำไปสู่วิธีการแรกสุดที่อ้น ไอซ์ และเพื่อนๆ เลือกที่จะทำ

นั่นคือการฉายหนังกลางแปลงนอกสถานที่

“ก่อนที่เราจะเริ่มต้นฉายหนังครั้งแรก พื้นที่ที่ฉายหนังได้ ที่มันสามารถตั้งตัวโปรเจคเตอร์ แล้วมันสามารถจุคนเข้าไปได้ เรากลับคิดว่าจริงๆ แล้ว Dude, Movie. กลับเข้าไปที่ขนบดั้งเดิมของภาพยนตร์เลย ในการที่ฉายในคาเฟ่ ร้านอาหาร ดาดฟ้า แล้วเรามีความรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่มันมีคือ พื้นที่ที่สร้างความเป็นไปได้ให้กับพื้นที่ มันไม่ได้หยุดอยู่แค่พื้นที่ตรงนี้เป็นแค่ Restaurant ที่ตรงนี้เป็นแค่คาเฟ่ ที่ตรงนี้เป็นแค่พื้นที่โล่งๆ ถ้าเรามีความรู้สึกว่ามันสามารถรองรับสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็กลายเป็น Independent Cinema ได้เลยทันที

“มันเกิดจากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วว่าจริงๆ แล้วเราเริ่มต้นด้วยการที่ว่า งานในครั้งนี้เราจะพูดเรื่องอะไร แล้วพอเราจะพูดเรื่องอะไร เราก็ไปหาว่าฟิล์มที่เราจะเอามาจะเป็นฟิล์มเรื่องอะไร แล้วก็หาต่อว่าเราทำงานศิลปะแบบไหนแบบไหนได้บ้าง แล้วก็ไปที่สถานที่ๆ ทำให้สารที่เราต้องการจะพูด หรือสัญญะมันแข็งแรงมากขึ้น แล้วก็มันแทบจะเป็นงานครูพักลักจำเลย ที่เราเห็นว่าภาพของที่กรุงเทพฯ เป็นยังไง ภาพของที่ต่างประเทศเป็นยังไง แล้วก็เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนที่ทยอยเข้ามาใน  Dude, Movie. ว่าเขาเคยไปที่นี่มา เขาเคยสัมผัสบรรยากาศการฉายหนังแบบนี้ แล้วเขาก็แนะนำเรา แล้วเราก็ศึกษา ได้ยินมาจากตรงนั้นแล้วก็เอามา Develop ว่า ในเชียงใหม่แบบนี้เราสามารถทำโมเดลแบบไหนได้บ้าง” อ้นเริ่มเล่าถึงความพยายามในการหาความเป็นไปได้ในวิธีการฉายหนังแบบต่างๆ

“เราพยายามทำตัวเป็นกองโจร เคยหาขาตั้งโปรเจคเตอร์แบบยิงใส่กำแพงทุกพื้นที่ได้ แล้วก็ไปยิงทุกที่แล้วก็รู้สึกว่าท้ายที่สุดมันไม่ใช่เรา เพราะว่าเราต้องการคนในการดู ไม่ใช่แค่ยิงไปแล้วไม่มีคนดู ช่วงนั้นก็คือช่วงเหมือนทดลองกัน แล้วก็ปรากฏว่ารู้สึกมันต้องมีปัจจัยของ หนึ่ง-คนดู สอง-หนังที่เลือก แล้วก็สาม-คือคล้ายๆ ความสะดวกสบายในการดูหนัง ซึ่งมันจะไม่ใช่การยิงที่ไหนก็ได้แต่มันคือการเลือกมาแล้วว่าบริบทของพื้นที่ตรงนั้นมันเข้ากับหนังเราไหม เข้ากับคนที่เราอยากให้เขาดูไหม มันมีเรื่องการคิดตรงนี้เข้ามา” ไอซ์เสริม

ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก

เมื่อหาวิธีการ ความเป็นไปได้ และการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ก็ถึงเวลาที่จะใช้ความรู้ทั้งหมดจัดงานฉายหนังจริงๆ สักที โดยการฉายหนังครั้งแรก อ้น ไอซ์ และเพื่อนๆ เลือก Dead Poets Society เป็นโปรแกรมโหมโรง ซึ่งโชคดีที่ Dude, Movie. ได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากโฮสเทลเล็กๆ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ที่มีดาดฟ้าเป็นของตัวเอง

จากนั้นการเนรมิตพื้นที่ฉายหนังเล็กๆ ในจินตนาการของ Dude, Movie. ก็เริ่มขึ้น

“ด้วยความที่ตอนนั้นเรามีจ็อบเล็กๆ กับที่โฮสเทลในเรื่องของการทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับเขา แล้วเราก็มีความรู้สึกว่าการที่โฮสเทลมีกิจกรรมเล็กๆ แบบนี้ อะไรแบบนี้ มันตอบสนองต่อการอยากดูหนังของเรา และได้ช่วยให้โฮสเทลมีอีเวนต์เล็กๆ ด้วย เราก็เลยคิดไอเดียที่ได้งานที่โฮสเทล ด้วย ตัวอ้นก็ได้กลับมาดูหนังบนดาดฟ้าอีกครั้งหนึ่ง” อ้นเล่า

ซึ่งอ้นเสริมอีกว่า ในเวลานั้นเธอฉายภาพยนตร์แบบ “ผิดกฎหมาย” หมายถึงการเช่าภาพยนตร์ที่อนุญาตให้ชมในที่พักอาศัยนำมาฉายในที่เปิดโล่ง เธอจึงไม่ได้เก็บค่าเข้าชม แต่เพราะการที่อ้นและไอซ์เคยจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย อ้น ไอซ์ และเพื่อนๆ เลยต้องหาองค์ประกอบอื่นๆ มาเสริมให้กิจกรรมฉายภาพยนตร์มีความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้เข้าร่วมงาน เช่น การโปรโมทงาน การผลิตของที่ระลึก หรือการทำ Session สนทนาหลังภาพยนตร์จบ โดยในงานแรกนั้นมีผู้เข้าร่วมงานราว 20 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจมาก และนั่นคือการทำให้จินตนาการมันเกิดขึ้นจริงได้

“แต่มันก็มีปัญหาหน้างานที่เราต้องเข้าไปทำความเข้าใจ แล้วเราต้องเข้าไปรับมือกับมัน เรามีความรู้สึกว่าการทำงานครั้งครั้งหนึ่ง เราควรต้องศึกษาข้อมูลอะไรบ้าง มันมีเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ไหม แล้วก็พัฒนาในเรื่องของการจัดเสวนาที่กลายเป็นจุดเด่นของเรา ที่รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งก็คือคนชอบ ผู้คนชอบที่จะได้แลกเปลี่ยน อันนี้มันกลายเป็นโมเดลที่แบบถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าเราเจอแก่นอะไรบางอย่างในการจัดงานครั้งแรกเลย” ไอซ์ขยายความ

ถึงเวลาขยับขยาย

การจัดฉายภาพยนตร์ในแบบที่พวกเธอชอบถึง 2 ครั้ง เริ่มแสดงถงความเป็นไปได้ที่มากขึ้นในการทำสิ่งที่พวกเธอเชื่อ อีเวนต์ต่อๆ มาจึงมีพัฒนาการที่มากขึ้น ทั้งการพัฒนาคอนเซปต์ของงานแต่ละครั้งให้ชัดเจน เพื่อจะได้ของการขอลิขสิทธฺ์ภาพยนตร์จากผู้จัดจำหน่ายได้ง่ายมากขึ้น

ซึ่งอ้นบอกว่า การที่เธอได้รับลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มาฉายจริงๆ มันเลยทำให้เธอต้องหาโมเดลในการหารายได้มากขึ้น

“การจัดงานยากตรงที่ว่า เราต้องพูดถึงเรื่องของการขายบัตร เราต้องอัพเกรดตัวเองเพราะการที่หนังเราได้สิทธิ์มา ทีนี้มันก็ต้องมีเรื่องของแบบการเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ มันทำให้เราต้องเข้าไปพูดในเรื่องของเงินที่จะเข้ามาจัดการมากขึ้น”

“ตอนแรกเราไม่คิดจะเก็บเงินไง เพราะว่าเราทำแบบบริจาค แล้วพอแบบมีเรื่องนี้ปุ๊บ เป็นครั้งแรกที่เราเริ่มเครียดแล้วว่าจะขายยังไงดีวะ ขายเท่าไหร่ดี 50% แล้วมันคุ้มกับเราไหมอะไรแบบนี้ มันมีเรื่องธุรกิจเข้ามาตั้งแต่พอได้ลิขสิทธิ์เลยแหละ” ไอซ์เสริม

นอกจากการได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มาฉาย ซึ่งนำมาสู่รายได้ส่วนหนึ่งของกลุ่ม อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันคือ การร่วมงานกับหน่วยงานหรือกลุ่มคนอื่นๆ ในเชียงใหม่ อย่างกลุ่มเชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ กลุ่มพัฒนาเมืองเชียงใหม่ที่เป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคม อาจารย์มหาวิทยาลัย และจิตอาสาที่ทำงานร่วมกับชุมชน หรือการได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางงานที่ Dude, Movie. ได้ร่วมจัดงาน กลายเป็นการสร้างภาพฝันในใจของกลุ่มคนทำหนังกลุ่มนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“ที่เราทำงานกับกลุ่มเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เราจัดงานที่ชุมชนช้างม่อยในงานยี่เป็ง (วันลอยกระทง) เราช็อกกับงานนี้มาก เพราะคนเยอะมาก คือภาพหนังกลางแปลงในหัวเรามันไม่ได้คนเยอะขนาดนี้เนอะ แต่พอถึงวันงานจริงๆ เราช็อคเพราะว่ามันมีทุกคนที่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะได้ มีทั้งคนแก่ มีทั้งเด็ก มีทั้งต่างชาติ ทั้งวัยรุ่น มีทุก Generation เลย แล้วเราก็คืองงกับการทำตัวเองยังไงดี กูจะเป็นใครดีวะ เป็นคนที่นอบน้อม จะเป็นคนที่แบบวัยรุ่นหรือเป็นเพื่อนก็ไม่ได้ เพราะว่าความหลากหลายมันสูงมาก แล้วเราก็เลยเห็นว่าหนังกลางแปลงไม่ได้เป็นแบบที่เราคิดเลย ไม่ใช่การเอาจอมาตั้งที่วัดแล้วก็ดูหนัง แต่คือเราทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกสบายใจที่จะอยู่ดูหนัง แล้วมันทำให้เซนส์ของเราที่เป็นนักจัดอีเวนต์ ชอบเทคแคร์ทุกคนว่าแบบ มันกลายเป็นว่างานครั้งนี้เราเทคแคร์ทุกคนไม่หมดเพราะว่าคนเยอะ เราต้องทำให้ตัวเราเหมือนว่าเป็นคนแบบเขาไปเลย ก็คือดูหนังไปด้วยเลย ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำเลย แล้วมันเป็นครั้งแรกที่เราได้ลองทำ ก็ยากมากเหมือนกัน” ไอซ์อธิบาย

Community

เผลอแป๊บเดียว Dude, Movie. เดินทางมาครบ 1 ปีแล้ว

การทำกลุ่มฉายภาพยนตร์ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วกลับเป็นสิ่งที่เพื่อนๆ กลุ่มนี้ไม่ทันได้ทัดทานว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่อย่างน้อยๆ การเดินทางที่ทอดยาวมาได้ถึงขนาดนี้ กลับเป็นการตัดสินใจที่ถูกมากๆ ของอ้นและไอซ์

“เราเห็นผู้คนที่มันหลากหลายมากๆ แล้วอีกสิ่งหนึ่งคือภาพยนตร์มันสามารถเป็นสื่อที่ทุกคนเข้าใจ แล้วมันถ่ายทอดเรื่องราวอุดมการณ์และความฝันให้กับผู้คนได้ มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ เรามีความรู้สึกว่ามันสุดยอดมากที่ได้ฉายภาพยนตร์ แล้วการที่เราเริ่มต้นจากภาพยนตร์ เอาผู้คนมาเจอกัน ได้ฟัง ได้ดูคนดูหนัง ได้เห็นคุณป้า คุณยายมานั่งดูหนังในวัดอีกครั้งหนึ่ง” อ้นเล่า

ทั้งสองต่างนิยาม Dude, Movie. ในช่วงแรกว่ามันคือกลุ่มเพื่อนที่อยากนั่งดูหนังด้วยกัน จนค่อยๆ เปลี่ยนเป็นกลุ่มฉายหนังอิสระที่ทุกคนสามารถทำงานศิลปะ (หรือไม่ศิลปะ) ตามความต้องการของตัวเองได้อย่างเสรี ซึ่งพวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่า Dude, Movie. จะค่อยๆ มีตัวตนในวงสังคมคนทำงานสร้างสรรค์ในจังหวัดเชียงใหม่

และพวกเขาก็ค่อยๆ เชื่อมต่อกัน

“การที่เราเกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลานั้น ก็มีกลุ่มศิลปะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับเราเลย ก็คือกลุ่ม artn’t ในช่วงนั้นเรารู้สึกว่าศิลปะเข้ามาเป็นอีกบทบาทหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเชียงใหม่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของม็อบหรือว่ากระแสการเมือง แล้วก็วัยรุ่นพร้อมที่จะทำกิจกรรม แล้วเรารู้สึกว่านี่มันยุคของเราแล้ว ที่เราจะต้องได้ทำอะไรบางอย่าง แล้วด้วยกระแสหรืออะไรบางอย่างแบบนี้มันก็เป็นแรงบันดาลใจที่ส่งมาให้เราอีกทีนึงว่า การทำสิ่งพวกนี้เราว่ามันคุ้มนะ มันต้องทำต่อ เรามองว่าคนเชียงใหม่ เชียงใหม่และคนเชียงใหม่นะ มันเป็นเมืองที่สร้างสรรค์ เป็นเมืองที่ครีเอทีฟมาก แต่ว่าคนที่เป็นวัยรุ่นอย่างเราๆ เอง แทบจะไม่ได้ลงมาทำกิจกรรมตลอดเวลา เพราะจะไปทำกิจกรรมต่อเมื่อเทศกาล หรือแบบงานต่างๆ ที่ผู้ใหญ่จัด 

“แต่เรามองว่าวัยรุ่นอย่างเรามันทำได้ คือศักยภาพของวัยรุ่นเชียงใหม่มันเยอะ แล้วเราก็อยากเห็นกลุ่มสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ทำอะไรแบบนี้เยอะๆ เราเลยเป็นเหมือนหนึ่งในตัวแทนที่อยากเห็นวัยรุ่นหรือว่า Creative ที่เป็นคนรุ่นใหม่ทำงานพวกนี้ด้วย แล้วเรารู้สึกว่ามันจะดีมากถ้ากลุ่มแบบเราๆ สามารถต่อยอดกับงานอะไรแบบนี้ได้เหมือนกัน” ไอซ์ขยายความ 

Dude, Movie. เรียกตัวเองว่าเป็น Homeless Theatre ที่ไม่ได้มีพื้นที่เป็นของตัวเอง แต่เร่รอนหาพื้นที่ฉายหนังเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และมองอนาคตในการผลักดันผู้คนให้มากขึ้น

“ภาพยนตร์เป็นแรงบันดาลใจในการเกิดขึ้นของ Dude, Movie. แล้วเรามีความรู้สึกว่ากลุ่มศิลปินหรือกลุ่มคนที่ทำงานครีเอทีฟในเชียงใหม่มันมีสิ่งหนึ่งก็คือ สิ่งที่น่าสนใจในสายตาตั้งแต่ที่อ้นก้าวเข้ามาในเชียงใหม่ ในสายตาของคนกรุงเทพฯ นะ คือมันมีความเป็น Local สูงมาก แล้วก็มีการทำงานกับชุมชน อันนี้เป็นเสน่ห์ของเชียงใหม่ แล้วพอเราได้หลุดออกจากรั้วของมหาวิทยาลัย  มันมีการพูดถึงเรื่องของการต่อสู้ในแง่อื่นๆ ในคอมมูนศิลปะ เรามีความรู้สึกว่ามันมีฟิลลิ่งของการต่อสู้เพื่อพื้นที่อะไรบางอย่างอยู่ แล้วก็ทำงานศิลปะไปด้วยกัน แล้วเรามีความรู้สึกว่า Dude, Movie. ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ผุดออกมาจากแรงบันดาลใจพวกนั้น เราต้องการมีพื้นที่ในเรื่องของงานศิลปะเพิ่มขึ้น แล้วเรามีความรู้สึกว่า มันช่วยเพิ่มพื้นที่ในการที่คนเสพอาร์ตในเชียงใหม่ ให้ทุกคนได้ก้าวเข้ามาเจอกัน” อ้นบอกเรา

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า