fbpx

Drive My Car หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมออสการ์ครั้งที่ 94 และละครเวทีของผู้สูญเสีย

บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์

เมื่อการดับสิ้นของชีวิตไม่มีสิ่งใดท่วมท้นมากไปกว่าความรู้สึกของผู้สูญเสีย

Drive My Car ของ ริวสุเกะ ฮามากุจิ ได้พาผู้ชมไปสัมผัสกับความร้าวรานที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นภายในจิตใจของผู้สูญเสีย ก้นบึ้งความรู้สึกที่แตกสลาย ผ่านดวงวิญญาณสีแดงที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเทปซ้อมบทของชีวิต

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่การชมภาพยนตร์ในโรงสามารถสร้างบรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้ ไม่แน่ใจนักว่าจะเรียกบรรยากาศนั้นว่าอะไร มันคือบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยรสแปลกใหม่ แต่รู้สึกคุ้นเคย เหมือนเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจ เพียงเฝ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาและก็ผ่านไป ตัวภาพยนตร์เองก็ไม่ได้ประเคนสิ่งใดให้ผู้ชม เป็นเพียงพาหนะสำหรับการมองออกไปนอกหน้าต่างรถ และรับภูมิทัศน์ที่เคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ ด้วยตนเอง

ถ้าความสูญเสียและความตายเป็นของคู่กัน เป็นสองสิ่งที่วางขนานกัน หรืออาจไม่เชื่อมโยงกันเลย นั่นคงแล้วแต่บริบทของชีวิต แต่ใน Drive My Car ทั้งสองสิ่งนั้นขัดง้างกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในตัวละครหลักอย่าง ยูสึเกะ คาฟุกุ (แสดงโดย Hidetoshi Nishijima) การทำภาพยนตร์หรือละครเวที ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างชีวิตขึ้นมาจากกระดาษ เพราะฉะนั้นความตายที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์จึงเป็นทั้งความสูญเสีย และเป็นคำถามที่หนักหน่วงต่อ คาฟุกุ ที่เป็นทั้งคนทำละครและผู้สูญเสีย

เป็นคำถามที่ตั้งข้อสงสัยต่อชีวิต ในเวลาเกือบทั้งชีวิตของคาฟุกุ เขาอาจสร้างตัวละครมาแล้วมากมาย ชีวิตหลายร้อยชีวิตเกิดขึ้นด้วยมือของเขา และชีวิตเหล่านั้นล้วนมีชีวิต อย่างในภาษาของการสร้างคาแรคเตอร์ก็จะเรียกมันว่า Round Character แต่ทำไมตัวคนสร้างอย่างคาฟุกุ กลับปฏิเสธทุกอารมณ์สามัญที่พึงเกิดขึ้นได้ในตัวมนุษย์ทุกคน มีเพียงสีหน้าเรียบเฉยให้กับการจากไปคนภรรยา จริงอยู่ที่มนุษย์มีลักษณะของความเสียใจเป็นปัจเจก แต่ Drive My Car ได้แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ภายในจิตใจที่โหยหา เอาแต่ใจ และมองอารมณ์เหล่านั้นอย่างเห็นอกเห็นใจ 

ความปรารถนาของผู้สูญเสียจึงเป็นสิ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ในโลกที่ดับสูญ แม้ความปรารถนาอาจถูกความเป็นไปของโลกกดทับจนแทบมองไม่เห็น แต่มันก็เป็นเพียงการกดทับ ไม่สามารถถูกทำให้หายไปได้โดยไร้ร่องรอย เมื่อมีบางอย่าง อาจเป็นความทรงจำ ผู้คน หรือสถานที่ มากระตุกจิตให้นึกถึง ความปรารถนาที่ถูกกดทับก็พร้อมที่จะลื่นไหลหลุดออกมา เหมือนการกดทับดังกล่าวเป็นเพียงแผ่นกระดาษบาง ๆ และเมื่อนั้น ความปรารถนาทั้งหลายทั้งมวลก็จะถูกเติมเต็มด้วยความใคร่รู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ เปิดเผยก้นบึ้งของความรู้สึก และค้นหาสมดุลชีวิตของตนเอง

การใคร่รู้ การเปิดเผย และการค้นหา ทุกอย่างล้วนถูกแสดงออกมาผ่านทางการเดินทางของคาฟุกุ โดยมีเทปคาสเซ็ตที่บรรจุเสียงการต่อบทละครระหว่างคาฟุกุกับโอโตะ (แสดงโดย Reika Kirishima) เป็นเหมือนลำนำไร้สิ้นสุด ที่คอยอธิบายสิ่งนามธรรมอย่าง ความรู้สึก ให้จับต้องได้ รถทรงเก่า ๆ คันแดงของคาฟุกุ ความเป็นภาพแทนมวลความรู้สึกภายในใจของเขาเอง ที่แม้จะดูรุนแรงพร้อมชน แต่ก็ทำได้เพียงแล่นอย่างเนิบช้าบนเส้นถนน อย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือการทิ้งรอยยางความรู้สึกไว้เบื้องหลัง 

ขณะที่ความรู้สึกนั้นก็อัดแน่นพอ จนกลายเป็นบทสนทนาระหว่างกันในเทปคาสเซ็ต

อีกหนึ่งความน่าสนใจของเทปคาสเซ็ตที่ว่า คือการที่มันเด่นชัดและรุนแรงมากพอ ที่จะกลายเป็นอีกภาษาของภาพยนตร์ ที่ไม่ใช่เสียงคุยกันระหว่างตัวละคร เสียงพากย์ทับเล่าเหตุการณ์ แต่เป็นเสียงที่คล้ายพ่อแม่เล่านิทานให้ฟังก่อนนอน ที่หน้าที่ของเรามีเพียงวาดภาพในหัวแล้วหลับไป เป็นเสียงที่ไม่ได้มีไว้โต้ตอบกับเรา แต่คือเสียงที่เชื่อมเราไว้กับภาพยนตร์เพียงจุดสองจุดเท่านั้น

และสิ่งที่ปรากฎชัดผ่านบทภาพยนตร์ บทละคร บทสนทนา ใน Drive My Car คือ มิติทางความหลากหลายของมนุษย์ หรือเรียกได้ว่าเป็นการทลายกรอบของมนุษย์ในโลกจริงอย่างสิ้นเชิง ทลายเส้นแบ่งทางภาษา ที่เคยแบ่งกั้นจนเราไม่อาจสื่อสารกันได้ การสื่อสารกันโดยใช้ต่างภาษา กระทั่งภาษามือก็สามารถเข้าใจกันได้ แม้ไม่เข้าใจก็รู้สึกถึงกันได้ ถึงจะดูเหนือจริงเพียง แต่มันก็เป็นโลกที่งดงามเกินบรรยาย

หลังรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียนได้มีขณะหนึ่งที่นึกไปถึงภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีอย่าง Burning (Lee Chang-Dong, 2018) ผู้เขียนรู้สึกว่าการมีอยู่ของอารมณ์ในตัวละครเอกทั้งสองเรื่องนั้นเหมือนกัน แต่มันมีสายธารในการแผ่ขยายอารมณ์ที่ต่างกันไป ลี จงซู (แสดงโดย Yoo Ah-in ) ใน Burning นั้นแผ่พุ่งออกไปจากตัวหลัก แต่ตัวคาฟุกุนั้นเป็นการโอบล้อมจากภายนอกสู่ตัวเขา กว่าความเศร้าโศกจากการสูญเสียจะแสดงตนออกมา คงจำเป็นต้องอัดแน่นเสียจนมันทะลักออกมาด้วยตัวมันเอง หรือมันสามารถถูกปลดปล่อย ชำระล้างความรู้สึกผิดบาปได้โดยใครสักคน และถึงแม้ความรู้สึกเหล่านั้นจะได้รับการจัดการ แต่ความรับรู้ต่อความรู้สึกนั้นไม่ได้หายไปไหน ทำได้เพียงยอมรับมันในค่ำคืนอันยาวนาน และใช้ชีวิตต่อไปจนกว่าเราจะได้บอกใครสักคนว่าเราเหนื่อยเหลือเกิน

ความยอดเยี่ยมของ Drive My Car เดินหน้าคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาได้ถึง 3 รางวัล คือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลจากสหพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติ (FIPRESCI Prize) และรางวัลของคณะลูกขุนทั่วโลก (Ecumenical Jury Prize) รวมถึงรางวัลต่าง ๆ อีกมายมายทั่วโลก และในเวทีตุ๊กตาทองปี 2022 หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ ‘รางวัลออสการ์’ Drive My Car ของ ริวสุเกะ ฮามากุจิ เป็นผู้เข้าชิงรางวัลกว่า 4 สาขาทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture), ผู้กำกับภาพยนตร์ (Directing), ภาพยนตร์นานาชาติ (International Feature Film) และบทภาพยนตร์ดัดแปลง (Writing Adapted Screenplay) 

สำหรับผู้เขียน รสชาติอันแปลกใหม่ และบรรยากาศทางภาพยนตร์ที่เราไม่อาจหาได้ง่ายนักจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ทำให้ Drive My Car ของ ริวสุเกะ ฮามากุจิ สามารถสร้างเส้นทางการชมภาพยนตร์ในรูปแบบที่ต่างออกไปได้ และมันสามารถทำงานกับผู้คนได้ ไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นหรือเอเชีย แต่เป็นคนทั้งโลกที่ต่างแบ่งปันความปวดร้าวร่วมกัน เหตุการณ์ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ คือสิ่งเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก แม้จะคว้ามาได้เพียง International Feature Film หรือ ภาพยอดนานาชาติยอดเยี่ยม แต่ความยอดเยี่ยมของ Drive My Car ก็ยังคงเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วทั้งโลก และเป็นภาพยนตร์ควรเข้าไปรับชมและซึมซับบรรยากาศทั้งหมดทั้งมวลสักครั้งในชีวิต

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า