fbpx

คุยกับดราก้อน-บรรณาธิการบริหาร Main Stand ในวันที่สื่อกีฬาออนไลน์ลงสนามดิจิทัลทีวี

ปี 2561 ดราก้อน-กฤติกร ธนมหามงคล ส่งคำขอเพิ่มเพื่อนเข้ามาที่เฟซบุ๊กของฉัน 

สาบาน-เพราะไม่รู้จักเขามาก่อน ฉันจึงแคปหน้าจอนั้นส่งให้เพื่อนรุ่นพี่ในวงการกีฬาคนหนึ่งก่อนที่เขาจะบอกว่าให้รับแอดเถอะ เพราะเขาคือบรรณาธิการสื่อออนไลน์ด้านกีฬาที่กำลังมาแรงมากๆ อย่าง Main Stand

ซึ่งดราก้อนกับฉันไม่เคยคุยกันเลย แต่เพราะเมื่อไหร่ไม่รู้ที่ฉันกดไลก์เพจ Main Stand และติดตามข่าวสารวงการกีฬาที่เพจนี้เล่าในท่าทีที่สนุกชะมัด! ในระดับที่คนไม่สนใจเรืองกีฬาเลยยังอินตามได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเรื่องเล่า บทสัมภาษณ์ หรือคอนเทนต์สุดเนิร์ดที่เล่าในท่าทีที่ฉันเองก็ไม่เชื่อสายตาว่าสื่อกีฬาจะเล่าเรื่องได้สนุกเบอร์นี้ ฉันจึงเป็นแฟนคลับของ Main Stand ไปโดยปริยาย

ปี 2564-หลายปีให้หลัง Main Stand ได้รับโอกาสและเข้าสู่จุดสำคัญที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น Turning Point อยู่สองจุดใหญ่ๆ นั่นคือการที่ PlanB บริษัทด้านโฆษณาระดับประเทศได้เข้าร่วมทุนกับสื่อกีฬาที่มาแรงสุดๆ และการได้รับเวลาเพื่อผลิตคอนเทนต์บนหน้าจอโทรทัศน์ให้กับ T-Sports ดิจิทัลทีวีหมายเลข 7

บทสนทนาด้านล่างนี้จึงเป็นการพูดคุยของ 2 บรรณาธิการที่ว่าด้วยเรื่องการเติบโตของสื่อออนไลน์เฉพาะทาง ที่ดราก้อนและเพื่อนร่วมทางต่างลงทั้งแรงกาย แรงใจ สร้างสื่อออนไลน์ในแบบที่เขาเชื่อ จนถึงวันที่มีตัวตนในวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นำไปสู่โอกาสมากมายที่ฉันก็ไม่ได้ถามชายที่อยู่ตรงหน้าฉันหรอก ว่ามันเปลี่ยนชีวิตเขาไปขนาดไหน

แต่ที่รู้แน่ๆ ชีวิตการเป็นบรรณาธิการและคนทำสื่อกีฬาตลอด 10 ปีของเขากลับเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป

1st Match
Stand at FourFourTwo

“ย้อนไปราว 4-5 ปีก่อน ที่ผมเองรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในการทำสื่อฟุตบอลออนไลน์มาประมาณหนึ่ง ตอนนั้นผมเป็นบรรณาธิการบริหารของ FourFourTwo (ปัจจุบันยุติการเคลื่อนไหวแล้ว) ซึ่งจริงๆ เป็นนิตยสารฟุตบอลอันดับหนึ่งของอังกฤษ แต่ว่าเขามาเปิด Digital Platform ที่ประเทศไทยด้วย ตำแหน่งของผมตอนนั้นคือบรรณาธิการบริหาร FourFourTwo ประจำประเทศไทย ผมใช้เวลาแค่ราว ๆ ซักประมาณปีครึ่ง ทำให้ FourFourTwo ขึ้นมาเป็นสื่อออนไลน์ชั้นนำของวงการฟุตบอลได้ 

“คอนเทนต์ที่เราทำแล้วแตกต่างคือ เราสามารถนำเสนอคอนเทนต์พวก In-depth Stories ได้หลากหลายแล้วก็ลึกกว่าชาวบ้านชาวช่องเขา เราสัมภาษณ์แหล่งข่าวจริง เรามีการทำบทสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งพวกนี้จริงๆ แล้วมันเป็นอุดมการณ์ของทางยานแม่อยู่แล้วแหละว่า เรื่องของเราต้องลึกกว่าใคร เรื่องของเราต้องแตกต่างกว่าใคร เรื่องของเราต้องน่าเชื่อถือกว่าใคร 

“แต่จุดเปลี่ยนคือ ณ วันนั้นผมรู้สึกว่าสื่อฟุตบอลมันมีเยอะจังเลย มันเริ่มมาเติบโตเป็นดอกเห็ดแล้วส่วนใหญ่ก็มักจะนำเสนอคอนเทนต์แบบฉาบฉวยที่บางครั้งเราจะพูดได้ว่าผ่านการคัดกรองน้อย ทีนี้ประจวบเหมาะกับการที่ผมเริ่มอิ่มตัวกับการทำคอนเทนต์ฟุตบอลเพียวๆ ก็เลยคิดว่า แล้วถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนจากการทำคอนเทนต์ฟุตบอลอย่างเดียว มาทำสื่อกีฬาหลากหลายประเภทดูบ้าง แต่ว่าเรายังคงยึดหลักการบางอย่างที่ๆ เราเคยทำ ไม่ว่าเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความสนุกต่างๆ ล่ะ?  

“สิ่งสำคัญที่ ณ ตอนนั้น ผมอยากจะเพิ่มเติมเข้าไป คือ อยากจะทำให้สื่อกีฬามันเข้ากับกับคนวงกว้างได้มากกว่าสื่อกีฬาดั้งเดิมนะครับ ถ้าสังเกตสื่อกีฬาทั่วๆ ไป เราจะไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงของคอนเทนต์กีฬาที่เชื่อมโยงกับบริบททางสังคมสักเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราอยากจะทำให้เกิดคำว่า Sport Culture เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง เราต้องทำให้เนื้อหากีฬามันเชื่อมโยงกับคนวงกว้างให้ได้ ต่อให้คนๆ นั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่ชอบหรือสนใจกีฬาก็ตาม 

“ทีนี้มันประจวบเหมาะและโชคดีที่มีรุ่นพี่ที่จบจากโรงเรียนเดียวกันของผมคนหนึ่ง (โรจน์ พุทธคุณ-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมน สแตนด์ ครีเอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด) โทรมาชวนว่า อยากให้มาร่วมเปิดสื่อกีฬาใหม่สักสื่อหนึ่ง ผมจึงเสนอไอเดียเขาไปว่า ถ้าเราอยากจะเป็นสื่อกีฬาของคนรุ่นใหม่ ที่แตกต่างจาก Traditional Sport Media ที่เคยมีมาในสังคม ผมบอกต้องมาเวย์นี้นะ จากนั้นเราก็เลยร่วมมือกันเริ่มต้นก่อตั้ง Main Stand ขึ้นมา”

2nd Match
Stand at the beginning point.

“การขึ้นสื่อกีฬาใหม่มันยากฉิบหายเลยครับ (หัวเราะ) คือมันต้องลงแรงแบบ 200 เปอร์เซนต์เลย ไม่ใช่แค่ผมนะ แต่รวมถึงน้องๆ บอร์ดบริหาร และผู้เกี่ยวข้องทุกคนไปจนถึงฝ่ายเซลส์ 

“แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องยึดมั่นในแนวทางของเรามากๆ เพื่อเป้าหมายของเรา แล้วเราต้องมีความรู้สึกที่อยากจะเอาชนะ ไม่ว่าจะคู่แข่งทางตรงหรือทางอ้อมของเราเสมอ ด้วยความที่ทุกวันนี้ธุรกิจสื่อเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราต้องหาจุดที่เราโดดเด่นจากคนอื่นให้ได้มากที่สุด แล้วทำมันอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างสม่ำเสมอ พฤติกรรมของคนในโซเชียลเปลี่ยนเร็วมาก แล้วเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนเสมอด้วย การทำผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้งเราสามารถสูญเสีย Real Fan เราได้เลย นั่นทำให้การที่เราเป็นสื่อแบรนด์ใหม่ ยิ่งต้องมีความระมัดระวัง แล้วก็ต้องทุ่มเทมากกว่าสื่อที่เป็นแบรนด์ขึ้นหิ้งอยู่แล้วครับ เพราะฉะนั้น ยากแค่ไหน ก็ยากฉิบหาย (หัวเราะ)

“การที่เราจะต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากที่อื่นตลอดเวลา จากการที่เราต้องพยายามรักษาคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ด้วยความที่เราสร้างองค์กร สิ่งสำคัญคือเราไม่สามารถที่จะผลิตงานด้วยตัวเองทั้งหมดได้ แต่ทีมงานของพวกเราทุกๆ คนก็จำเป็นที่จะต้องผลิตงานออกมาให้ได้ดี ให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งความยากคือ คนเหล่านี้คือทรัพยากรมนุษย์ พวกเขาไม่ใช่เครื่องจักร เป็นเรื่องปกติมากที่จะมี Human Error หรือกระทั่งเป็นเรื่องปกติมากที่มนุษย์จะมีความบั่นทอนจิตใจจากการทำงาน หรือกระทั่งชีวิตส่วนตัว สิ่งสำคัญที่เราจะรักษามาตรฐานงานได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการร่างไกด์บุ๊กขึ้นมาฉบับหนึ่ง แล้วบอกว่าให้ทำตามนี้ แต่เราต้องหมั่นคุยกับทีมตลอดเวลา ต้องพยายามเข้าอกเข้าใจทีมงานทุกๆ คน ต้องพยายามทำให้ทีมงานทุกๆ คนมีสภาพจิตใจที่พร้อมจะทำงานได้ดี ถ้าเปรียบกับฟุตบอลเราก็เหมือนผู้จัดการทีมที่ต้องคอยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ต้องคอยบอกแทคติก เทคนิค ต้องคอยย้ำเตือนว่าจังหวะแบบนี้ต้องเล่นยังไง ลูกสูตรจากลูกเตะมุมเราควรที่จะเล่นแบบไหนเวลาเจอทีมนี้ อะไรแบบนี้ครับผม” 

3rd Match
Stand on the strong mentality.

“เรามีสิ่งยึดมั่นในการทำงานอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องทำให้ดีกว่าคนอื่น แล้วก็ต้องแปลกกว่าคนอื่น ต้องเหนือชั้นกว่าคนอื่น ต้องเอาชนะคนอื่นให้ได้ มันก็เลยทำให้เรามักจะมองอยู่เสมอว่าอะไรคือ Pain Point ของคนในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอะไรที่มันไม่ดีเราก็จะไม่ทำ แต่ถ้าอะไรที่เรามองว่ามันเป็นโอกาส เราก็จะเดินไปหามัน 

Main Stand เรามี Principle List อยู่ 5 ข้อคือ หนึ่ง-ต้องสนุก สอง-Relevant ซึ่งอันนี้สำคัญมาก เพราะเราต้องการจะให้สื่อกีฬาของเราเข้าถึงทุกๆ และเกิด Impact กับคนวงกว้าง สาม-Educate อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่ทุกๆ คนที่เขาจะรู้เรื่องกีฬานั้นๆ อย่างถ่องแท้ เพราะฉะนั้นเราต้องขยายความ อธิบายให้คนที่ไม่ได้ดูกีฬานั้นๆ เข้าใจให้ได้ สี่-การเข้าถึง (Access) ในที่นี้คือการเข้าถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวที่เป็นตัวบุคคล หรือบนโลกออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งในหอสมุด หรืออะไรก็ตาม สุดท้ายที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือ ต้องอยู่ในเทรนด์ ต้องอยู่ในความสนใจของคน ต้องอยู่ในกระแสนะครับ คือเรามีความขำขันแต่ก็ให้สาระ และจริงใจกับผู้ติดตามของเรา

“ยกตัวอย่าง Main Stand ในช่วงแรกๆ เราเกิดขึ้นมาในช่วงที่สื่อกีฬาหรือสื่อฟุตบอลมันเกิดขึ้นมาเยอะมาก แต่ละสื่อจะเน้นเรื่องของการขายข่าวแบบฉาบฉวย บางทีให้น้ำหนักกับเน้นเรื่องของ Sex Scandal เยอะมาก เพราะมองว่าได้ยอดวิวยอดเอเนเกจเมนต์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เนื้อหาอะไรที่มันสร้างสรรค์สังคมเท่าไหร่นัก พอถึงจุดที่เราเริ่มทำ Main Stand เราก็เลยทำให้มันเป็นสื่อช้าแต่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ แล้วก็นำเสนอผ่านมุมที่สื่อกีฬาส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกันนะครับ เราพยายามจะไปอยู่ใน Blue Ocean (น่านน้ำสีฟ้า: ตลาดธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย) เพราะเราเห็นแล้วว่า Red Ocean (น่านน้ำสีแดง: ตลาดธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง) มันมีการแข่งขันที่สูงมากเพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องเดินไปหา Blue Ocean ให้ได้ แต่มันก็ไม่มี Blue Ocean แท้หรอก เพราะท้ายที่สุด ใครเป็นคนที่เจอก่อน ก็จะมีคนตามเข้ามาทำเยอะแยะมากมาย แต่ว่าถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือ เปิดก่อนได้เปรียบ

4th Match
When the new generations stand with us.

“เราพยายามที่จะใช้คนรุ่นใหม่ทั้งหมด เพราะเราไม่อยากที่จะให้สื่อกีฬามันถูกมองแบบเดิมๆ เราอยากให้สื่อกีฬามีความใกล้ชิดกับคนทั่วไปในสังคมมากขึ้น ทีมงานชุดแรกของ Main Stand ทั้งหมด ผมแทบจะไม่ใช้คนที่เคยทำงานสื่อกีฬาดั้งเดิมเลย เพราะธรรมชาติของนักข่าวกีฬาที่เรามักคุ้นเคยหรือเห็นกันบ่อยๆ มักจะจบจากนิเทศศาสตร์บ้างล่ะ วิทย์ฯ การกีฬาบ้างล่ะ หรือเคยเป็นนักกีฬาแล้วมาเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา หรือเอาเป็นว่า…เป็นเพียงคนชอบกีฬาเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันด้วยความที่ Main Stand อยากจะทำให้เนื้อหาของเราล้อไปกับบริบททางสังคม วิธีการคัดสรรทีมงานของเราจึงไม่ค่อยเหมือนใครเท่าไหร่ เราสรรหาเฟ้นหาคนที่มีความสนใจในบริบททางสังคมด้านอื่นๆ เช่น เป็นคนที่คลั่งการเมืองมาก แต่ก็เป็นคนที่ชอบกีฬาด้วยเช่นกัน เป็นคนที่ชอบดนตรี แต่ก็ชอบกีฬามากๆ ด้วยเช่นกัน เป็นคนที่ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากๆ ออกแนวโอตาคุเลยนะ แต่ว่าก็ชอบกีฬา นั่นจึงทำให้ Main Stand มีเนื้อหาที่ถูกจริตกับคนวงกว้างได้ 

“เพราะว่าวิธีคิดประเด็นหรือวิธีการสรรหาของคนเหล่านี้ไม่ได้มีสารตั้งต้นจากเรื่องราวการแข่งขันในสนาม เหมือนนักข่าวที่เป็นนักข่าวกีฬาดั้งเดิมนะครับ แต่ถามว่ามันสะท้อนอะไรกันแน่ ผมว่ามันสะท้อนวิธีคิดที่มันแตกต่างของเราตั้งแต่เริ่มแรกมากกว่าครับ”

5th Match
Stand on something unexpected (and expected.)

“พอเราเป็นที่พูดถึงในเวลาแค่ 1 ปีหลังจากเราเปิด Main Stand แล้ว ใจหนึ่งมันก็กดดันครับ เพราะว่าเราไม่คาดคิดว่าจะถูกเรียกว่าเป็น “สื่อยักษ์ใหญ่” หรือถูกเปรียบเทียบเร็วขนาดนี้ อย่างที่บอกว่าเดิมทีเราแค่อยากจะทำคอนเทนต์ให้ดี แล้วก็อยากจะเป็นแค่สื่อกีฬาเท่ๆ ติสต์ๆ ประมาณหนึ่งเฉยๆ ไม่ได้อยากจะแมสอะไรขนาดนั้นนะครับ แต่ถามว่า รู้สึกดีมั้ย ผมขอตอบว่าเฉยๆ แล้วกัน ไม่ได้รู้สึกว่ามันเหนือความความคาดหมายอะไรขนาดนั้น ใจจริงเราคิดว่าวันหนึ่งเราคงต้องไปให้ถึงเป้าหมายนั้นแหละ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเร็วไปหน่อย 

“ปัญหาคือเราต้องมาตรฐานและคุณภาพของเราให้ได้มากที่สุด เพราะสื่อบางเจ้าก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถืออยู่พอสมควร ไม่ใช่แค่วงการกีฬาหรอก ความกดดัน จึงเลยโถมมาหาเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวันนี้ที่เราต้องผันตัวมาเป็นสื่อกีฬาที่ต้องทำข่าวกีฬาโดยเน้นความเร็วมากขึ้น เราต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้สิ่งที่เราเคยสร้างมาในหกเดือนแรก ปีแรก ปีครึ่ง สองปีแรก มันถูกลดทอนลงไปครับ เราจะทำยังไงก็ให้เราแมสได้พร้อมๆ กับภาพลักษณ์ที่ดี นี่คือโจทย์ที่ยากมากๆ”

6th Match
Stand on something new (but get used to it.)

“เราเริ่มต้นการทำงานจากการทำทีวีมาตั้งแต่ปี 2553 ตอนที่เราเริ่มทำงานทีวีเราก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะสมัยที่อยู่ช่องทีวีกีฬา เราได้พากย์บอล ได้จัดรายการ เราได้โอกาสอ่านข่าว เราได้เป็นโปรดิวเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นรายการในสตูดิโอ หรือว่ารายการที่ถ่ายนอกสถานที่ก็ตาม เรามีโอกาสได้ไปสัมผัสมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ อย่างซีเกมส์ โอลิมปิกที่ลอนดอน ไปคนเดียว แบบ Backpack Journalist ที่ถ่ายเอง ตัดต่อเอง เขียนสคริปต์เอง ส่งงานทั้งหมดกลับมาเอง มันสนุก แต่ว่าด้วยความที่งานทีวีมันมีกระบวนการผลิตเยอะ แล้วมันต้องสื่อสารกับหลายคน แล้วเราค้นพบว่าผมทำงานประเภทออนไลน์เกี่ยวกับงานเขียนได้ดีกว่า เราก็ไม่เคยคาดคิดหรอกว่าเรามาจับงานออนไลน์เต็มตัวแล้ว 6 ปี จะได้วนกลับมาทีวีอีก มันก็เลยรู้สึกว่าอุตส่าห์หนีมานะ สุดท้ายมันก็ไม่พ้น (หัวเราะ)

“การทำทีวีจากการได้รับโอกาสในครั้งนี้ ในแง่ของ Branding เราว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมา Main Stand อาจเริ่มบนออนไลน์ แต่ว่าสำหรับคนในโลกออฟไลน์อาจจะยังไม่ใช่ นี่เป็นโอกาสที่ดีมากของเราในการสร้างแบรนด์ไปสู่ทุกหย่อมหญ้า เราจะมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มคน Gen X หรือ Baby Boomer มากขึ้นก็ได้นะครับ แต่ขณะเดียวกัน ไม่ว่าเราจะทำทีวีหรือเราจะขยายไปแพลตฟอร์มไหนๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่เรายึดถือไว้คือ เราจะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอและแนวทางดั้งเดิมของเราแน่นอน”

7th Match
Stand with all the fellas.

“ตอนนี้เราเซตกองบรรณาธิการเพื่อผลิตคอนเทนต์บนทีวีขึ้นมาอีกชุดหนึ่งครับ แต่ว่าโดยภาพรวมเราจะให้ทีมกอง บก. ทีวีเข้ามาเวิร์กช็อปกับทีมกอง บก.ออนไลน์ด้วย เพื่อที่จะทำให้ทุกๆ คนเข้าใจถึงแก่นแล้วก็ของความเป็นตัวตนของ Main Stand จริงๆ แน่นอนว่า ทุกอย่างมันจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงนะครับ ทีมงานที่เข้ามาใหม่คงไม่สามารถที่ตัวตนของเราได้ร้อยเปอร์เซนต์ บางคนอาจจะเคยทำงานสื่อกีฬาดั้งเดิมมา ก็ต้องใช้เวลาในการที่จะปรับตัวสักนิดหนึ่ง เพื่อจะทำให้เขาเข้าใจว่าวิธีการเล่นประเด็น วิธีการเล่นข่าวของ Main Stand วิธีการนำเสนอแบบ Main Stand ว่ามันควรจะเป็นแบบไหน ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการปรับตัวกันพอสมควรครับ แต่ว่าก็คิดว่าในเร็ววันนี้ หลายๆ อย่างก็น่าจะลงตัวมากขึ้น”

“แต่การทำงานครั้งนี้ ทุกๆ คน ขอย้ำว่าทุกคนเหนื่อยขึ้นครับ (หัวเราะ) คือมันต้องสื่อสารกับคนที่หลากหลายขึ้น เราเข้าใจอยู่แล้วแหละว่าเมื่อองค์กรมันยิ่งขยายใหญ่ ยิ่งเติบโต การสื่อสารมันยากขึ้น แต่ว่าจะทำยังไงให้ความยากนี้ ได้ประสิทธิภาพคงเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิมไม่เยอะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสาร เราต้องสื่อสาร เราต้องคุยกับหลายฝ่ายมากขึ้น เราต้องคุยกับทีมฝั่งทีวีเยอะขึ้น เราต้องทำยังไงให้คอนเทนต์ออนไลน์ของ Main Stand กับเนื้อหาที่มันอยู่บนทีวี มันซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ยังไงกองบรรณาธิการของทีวีก็ต้องเปิดประเด็นเองบ้าง ส่วนคอนเทนต์บนออนไลน์ ทีมก็สามารถหยิบคอนเทนต์ทีวีมาทำเนื้อหาเพื่อขยายเพิ่มเติม ขณะเดียวกันบางอย่างทางทีวีก็สามารถหยิบคอนเทนต์ออนไลน์ มาใช้งาน หรือไปขยายเพิ่มเติมได้เช่นกัน อันนี้คือการทำงานที่อยากทำให้มันเกิดการซัพพอร์ต ซึ่งกันและกัน

“สำหรับทีวีเอง ไม่ว่าความตั้งใจจริงๆ ของ Main Stand บนออนไลน์เป็นยังไง เราก็อยากจะนำเสนอคอนเทนต์แบบเดียวกันบนทีวี เพียงแค่อยู่ในฟอร์มของภาพเคลื่อนไหวแบบนั้นซะมากกว่านะครับ”

The Endless Match
Main Stand

“ถ้าวันนี้เราไม่ใช่ดราก้อน Main Stand ก็อาจจะเป็นดราก้อนที่ยังทำงานที่เดิม (FourFourTwo) อยู่ก็ได้ครับ (หัวเราะ) แต่ว่าก็คงเป็นดราก้อนที่ไม่ค่อยมีแพสชั่นในการทำงานซักเท่าไหร่ ก็คงจะรู้สึกว่ามันเริ่มเบื่อ เริ่มตันละ เราอิ่มตัวกับการอยู่กับฟุตบอลมาสักพักแล้ว  แต่อย่างที่บอกครับว่าก่อนที่พี่โรจน์จะชวนมาทำสื่อก็มีความคิดอยู่แล้วว่า อยากจะทำสื่อแบบ Main Stand ขึ้นมา แต่ถ้าตอนนั้นทำคนเดียว เริ่มคนเดียว ขาดแรงซัพพอร์ตจากคนอื่น ๆ มันคงไม่เติบโตขึ้นมาแบบนี้แน่ ๆ 

Main Stand มันมีความหมายขนาดไหนสำหรับผมเหรอ? ผมว่าการที่เราลงแรงและความตั้งใจมากกว่า 200 เปอร์เซนต์มันน่าจะเป็นคำตอบที่ดีในตัวของมันเอง ทั้งในความหมายของเรา แล้วก็น้องๆ ทุกคนในทีม รวมถึงบอร์ดบริหารทุกคน ที่ช่วยกันปลุกปั้นสร้างกันมาครับ”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า