fbpx

เพราะโลกเคลื่อนไหวด้วยภาพยนตร์(สารคดี) : Doc Club

หากจะพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คงเชื่อเหลือเกินว่าจากสถานการณ์โรคระบาดอย่าง “โควิด-19” ที่เกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลายครั้งเช่นกันที่พฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์หมุนเร็วเสียเหลือเกิน ทั้งจากการล้มหายตายจากของโรงภาพยนตร์เดี่ยว และการเกิดขึ้นของวีดิโอสตรีมมิ่งที่มีจำนวนมาก ซึ่งในแนวทางหนึ่งคือทางเลือกชั้นดีในการรับชม แต่อีกทางหนึ่งคนก็จะเลือกการรับชมภาพยนตร์มากขึ้น ย่อมส่งผลทำให้การดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมนี้ต้องปรับเปลี่ยนหมนุเวียนไปเรื่อย ๆ

ซึ่งนอกเหนือจากรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบไปพอสมควร จนถึงวันนี้ (1 ตุลาคม 2564) ที่รัฐบาลได้อนุมัติการเปิดโรงภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สังคมเราอาจจะลืมกลุ่มคนทำภาพยนตร์อิสระและโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กซึ่งเป็นทางเลือกในการรับชมชั้นดีเลยทีเดียว ยังไม่นับเรื่องการสนับสนุนของรัฐที่ยังถูกตีกรอบไปกับคำว่า “วัฒนธรรมแช่แข็ง” ไปอีก แน่นอนว่าถ้าเรื่องมันเยอะขนาดนี้ ก็คงถึงเวลาที่ผมจะพาไปคุยกับคนที่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์กันสักหน่อยดีกว่า

วันนี้ผมและทีม The Modernist นัด “ธิดา ผลิตผลการพิมพ์” ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และเจ้าของร้านเปิดใหม่อย่าง Doc Club and Pub ซึ่งแต่เดิมพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของ Bangkok Screening Room แน่นอนว่าบรรยากาศภายในร้านดูเล็กๆ แต่อบอุ่นไม่ใช่น้อยเลย แถมอยู่ใจกลางเมืองด้วย และด้วยความสนิทสนมกันมาสักพัก ผมจึงหอบคำถามเสมือนคนที่ไม่ได้เจอกันมานับสิบปี มาถามแบบเพื่อนคุยกัน พร้อมๆ กับดื่มด่ำบรรยากาศของร้านไปด้วย ก่อนที่ร้านจะเปิดในวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนคงตั้งตารอคอยกันอย่างแน่นอน

วันนี้ผมจึงพาพี่ธิดามาคุยทุกเรื่องในแวดวงภาพยนตร์แบบล้วงลึกกันครับ ลองมาอ่านแบบเพลินๆ ก่อนเตรียมตัวตีตั๋วดูหนังจริงๆ กันสักหน่อยดีกว่า

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ทำไมคุณถึงสนใจภาพยนตร์

จริงๆ เรียนจบมาก็ทำเรื่องหนังล่ะ (หัวเราะ) ไม่ได้จบอะไรสายนี้เลย พี่จบสถาปัตย์ ไม่เกี่ยวเลย แต่พี่ชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าพี่ชายแท้ๆ ที่สนิทกันเขาเป็นคอหนัง และเราก็จะชอบดูหนังตามเขา แล้วเราก็รู้สึกว่าเวลาดูหนัง นอกเหนือจากความบันเทิงที่มันรวบรัดมาในเวลาสั้นๆ แล้ว มันยังเปิดโลกเรามากๆ ไม่ว่าเราจะดูหนังตลก โรแมนติก คอมเมดี้ใดๆ ก็ตาม มันก็จะให้อะไรที่มากกว่าแค่แบบ..หนังจบไปแล้ว แต่เราไม่จบ ต่อให้เราดูหนังโรแมนติกคอมเมดี้น้ำเน่าโคตรๆ แต่ดูเสร็จแล้วแบบ โห โคตรดีเลยว่ะ น่ารัก มันมีสิ่งตกค้างเสมอ เราก็รู้สึกว่าการดูหนังมันเป็นความบันเทิงและเป็นศิลปะ มันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลทางความคิด พอดูหนังที่มันชวนให้คิดอย่างหนังอาร์ตที่มันต้องตีความ มันก็ท้าทายให้เราทำงานในหลายๆ อย่าง เป็นประสบการณ์ที่ดี

แต่ทำไมคุณถึงเลือกที่จะมาสนใจและเน้นทำคอนเทนต์ที่เป็นภาพยนตร์สารคดี

อย่างแรก พี่ชอบดูสารคดีอยู่ก่อนแล้ว จริงๆ เราก็ดูหนังเหมือนคนทั่ว ๆ ไป แต่พอมาเริ่มดูสารคดีจริงจัง และโดยเฉพาะในช่วงสัก 10 ปีมานี้ พี่ว่ามันพัฒนาไปเยอะมากๆ ทั้งวิธีการกำกับ ประเด็นที่หยิบมา มันสนุกสุดๆ (หัวเราะ) ตื่นเต้นกว่าดูหนังฮอลลีวูดอีก เพราะว่านอกจากวิธีเล่าและเรื่องราวที่เข้มข้นแล้ว เราจะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่านี่มันเรื่องจริง ขณะที่ดูหนังฮอลลีวูดเราจะรู้สึกมันไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นสำหรับเรา มันก็จะทำงานกับเรามากเป็นพิเศษ อย่างที่สอง เราคิดว่าโลกในช่วง 10-15 ปีมานี้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องสถานการณ์ทางสังคม การเมืองเริ่มรุนแรงมาก เกิดความขัดแย้งทางสีผิว เชื้อชาติ เกิดประเด็นเรื่องเพศ LGBT ตั้งคำถามเรื่องระบบโครงสร้างการศึกษา หรือสถาบัน ไม่ใช่เกิดขึ้นในไทยอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก มันก็มีผลให้สารคดีที่ผลิตออกมาในช่วงเวลานี้ มันใหม่ มันทำงานกับเราสูง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงประเภทเดียวกันนี้ ถึงแม้เราจะเอาหนังจากแบบยุโรปมาฉาย แต่ว่าหลายประเด็นมันก็คือประเด็นที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในเมืองไทย เราเลยรู้สึกว่าสารคดีนับวันมันมีบทบาทในการเสพของเรามากขึ้น และมันตั้งคำถามกับโลกแบบที่บางทีหนังในกระแสก็ตามไม่ทันด้วยนะ ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าถ้าเราอยากจะเอาหนังอะไรสักอย่างเข้ามาเพิ่มเติมความหลากหลายให้กับตลาดที่มีอยู่ ก็จะนึกถึงหนังตระกูลนี้ที่มันไม่ค่อยปรากฏ และเราก็คิดว่าเอามาใช้งานในช่วงนี้ได้มากกว่าแค่ฉายหนัง เพราะว่าเอามาใช้ในเชิงสังคมได้ด้วยซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว

มีคนมักจะบอกว่าภาพยนตร์สารคดีสามารถสร้างผลกระทบกับสังคมเป็นวงกว้างได้ คิดว่าจริงไหม

มันก็ไม่ทุกเรื่องนะถ้าจะพูดถึงว่ามันสร้างเป็นวงกว้าง แล้วก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่ามันไม่ถึงขนาดสร้างความเปลี่ยนแปลงหรอก แต่พี่คิดว่าหน้าที่สำคัญของสารคดีก็คือมันสร้างความตระหนักว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกเหรอวะ โลกเรากำลังมีปัญหานี้เหรอ สังคมเรามีสิ่งนี้เกิดขึ้นเหรอ มันเหมือนกับเป็นตัวจุดประกายหรือเพาะเชื้อให้มันเกิดคำถาม พี่ว่าสารคดีทำหน้าที่นี้ดีมากๆ. คือมันทำให้เราเกิดคำถาม แล้วเราก็ได้เห็นความจริงที่มันปรากฏในพื้นที่อื่นๆ อย่างเรื่องที่เขาชอบยกกัน มันเป็นตัวอย่างคลาสสิกของวงการสารคดีอย่างเรื่อง An Inconvenient Truth ที่ทำให้ชาวโลกได้รู้ว่าอะไรคือภาวะโลกร้อน เกิดมาเพิ่งเคยเห็น เพิ่งเคยรู้ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น ภาพน้ำแข็งขั้วโลกละลายเป็นอะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน มันทำให้เราเกิดความตระหนักขึ้นมา แต่เราคงไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งน่ะ แต่เราคิดว่าถ้ามันไม่มีหนังเรื่องนี้ มันก็ไม่มีคำถามชุดนี้เกิดขึ้นมาอย่างมีพลังขนาดนี้

แล้วทำไมถึงทำ Documentary Club

ก่อนหน้านี้พี่ก็ทำงานสายคอนเทนต์ภาพยนตร์ ทำนิตยสาร Bioscope ซึ่งหลักๆ ของคอนเทนต์ที่เราทำหรือสนใจ เราจะโฟกัสที่เรื่องของหนังอิสระที่มันอยู่นอกระบบตลาด คือเรารู้สึกว่าพัฒนาการของโรงหนังในบ้านเรา เราเห็นว่ามันขยายพื้นที่เยอะแยะ แต่ว่าตัวเลือกของคอนเทนต์มันกลับยิ่งนานวันยิ่งลดความหลากหลายลง มันเหลือทางเลือกให้คนดูน้อยลงๆ หนังแบบที่เราเคยได้ดูสมัยก่อน มันก็ถูกเขี่ยทิ้งออกไป หนังที่ไม่มีถูกให้อยู่ในเส้นที่เขาขีดให้ มันก็จัดเป็นหนังนอกกระแสหมด พอถูกขีดว่าเป็นหนังนอกกระแส มันก็ได้รับการดูแลสนใจจากโรงภาพยนตร์น้อยลง มีพื้นที่และระยะเวลาในการฉายน้อย แต่ในทางตรงกันข้าม เราก็มีความเชื่อว่าภาพยนตร์ก็คือศิลปวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่มันจำเป็นต้องมีความหลากหลายให้คนหลายกลุ่มเลือกเสพ มันถึงจะได้สามารถต่อยอดพัฒนาหรือทำหน้าที่ของมันได้ ดังนั้นตั้งแต่สมัยทำนิตยสาร ทำคอนเทนต์ เราก็จะโฟกัสเรื่องความหลากหลายนี้ พอทำนิตยสารไป ในแง่ของการทำงาน เราก็อิ่มตัวล่ะ ถามว่ามีอะไรอีกบ้างที่เราอยากทำแล้วยังไม่เคยทำ งานการเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังก็เป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่เรายังไม่เคยทำ พอมาทำ เราก็ยังไม่ทิ้งแนวคิดเดิม ก็คือการมองหาว่าในตลาดหนังมันขาดอะไร ถ้าเราเชื่อความหลากหลาย มันมีอะไรอีกที่เราจะหยิบมาเติมเข้าไปได้บ้าง สารคดีก็เป็นอันหนึ่งซึ่งมันไม่เคยปรากฏในตลาดที่เป็นตลาดเชิงพาณิชย์จริงๆ ของวงการหนังเลย ก็คือเป็นเหตุผลว่าพอเราอยากจะเป็นผู้จัดจำหน่ายหนัง ก็นึกถึงหนังประเภทที่เราชอบคือหนังสารคดี และประเภทที่ไม่มีในตลาด อยากจะลองทำดูว่ามันจะสามารถหาพื้นที่ให้มันได้ไหม

ระหว่างการทำคอนเทนต์กับการจัดจำหน่ายหนัง สิ่งไหนยากง่ายกว่ากัน

ระหว่างสองอย่างนี้ มันก็ยากกันคนละแบบล่ะ จริงๆ ตอนที่เราทำคอนเทนต์ เนื่องจากเราเป็นเจ้าของด้วย ในแง่ธุรกิจ มันก็ยากในแง่ที่ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์เราก็รู้อยู่ว่ามันมีแต่ขาลง แล้วสิ่งพิมพ์เป็นอะไรที่แบบโยนเงินทิ้ง ถ้าคุณไม่สามารถที่จะหายอดรายได้จากการขายโฆษณาได้ก็เท่ากับคุณปิดประตูรอวันเจ๊งเลยนะ เพราะว่านิตยสารไทยมันไม่ได้อยู่รอดด้วยยอดขาย มันอยู่รอดด้วยยอดโฆษณา ซึ่งนิตยสารแบบเรามันไม่ได้ง่ายที่จะหาโฆษณา และเราก็ไม่ได้เป็นคนเก่งเรื่องการตลาดที่แบบเข็นคอนเทนต์ของเราให้ไปเข้าตาเอเจนซี่ การทำ Bioscope อยู่สิบกว่าปีมันคือการดิ้นรนให้มันอยู่รอดไปได้ในระยะสั้นๆ ไม่ต้องคิดไปถึงว่ามันจะเติบโตร่ำรวยอะไร มันคือความยากในเชิงธุรกิจ แต่ในเชิงคอนเทนต์มันไม่ได้เป็นความยากขนาดนั้น คือพี่ก็โตมากับการดูหนังนอกกระแส แล้วเราก็โตมากับนิตยสารนอกกระแสเล่มอื่นที่เขาทำมาก่อนเรา เราก็เจอว่าตลาดนี้มันมีศักยภาพ คนอาจจะไม่ได้เรือนแสนเรือนล้าน แต่เรือนหมื่นมีแน่ ซึ่งยอดขายนิตยสารเรือนหมื่นเป็นยอดขายที่โอเคอยู่แล้ว ดังนั้นในแง่การทำคอนเทนต์ เรารู้สึกว่ามันมีช่องทางไป พอมาทำ Doc Club ก็แบบเดียวกัน แม้ว่าสารคดีจะไม่ใช่ตลาดกระแสหลัก การต้องไปต่อสู้ตีรันฟันแทงกับวิธีคิดของคนทำโรงหนังมันก็เป็นเรื่องยาก แต่เราก็เชื่อว่ามีกลุ่มคนดูหนังที่เขาอยากจะบริโภคคอนเทนต์พวกนี้ มันก็จะมีทั้งส่วนที่ง่ายที่เรามองเห็นว่าตลาดเราคือใคร เราพร้อมที่จะทะลวงไปหาเขา แต่ส่วนที่ยากก็คือส่วนที่เป็นพาร์ทธุรกิจที่ไม่ค่อยเปิดรับคอนเทนต์ประเภทนี้ที่เราก็ต้องสู้รบกับเขาไปทีละขั้น

หลังจากเปิด Doc Club ตัว Bioscope ไปยังไงต่อ

ตอนที่ทำ Doc Club ซึ่งก็คือช่วงท้ายของ Bioscope มันไปอยู่กับ Mono Next คือยกทั้งบริษัทเข้าไปอยู่ในเครือโมโน เพราะว่าตอนนั้นโมโนเขาอยากได้ทีมไปช่วยทำคอนเทนต์ทีวีที่เขาจะเปิดใหม่ (MONO29) เขาเป็นทีวีทีเน้นเรื่องภาพยนตร์ไง แล้วเราเข้าไปเจอเขาพอดี เขาก็มองว่าทีมนี้ทำคอนเทนต์สนับสนุนกับเขาได้ ก็เลยเอาทั้งหัวนิตยสารเข้าไป แล้ว Doc club ก็เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ล่ะ เพราะเหมือนกับว่านิตยสารเราก็เสถียรแล้ว (หัวเราะ) ก็ต้องหาอย่างอื่นทำแล้ว กับโดยส่วนตัวเราไม่ค่อยชินกับการทำงานในระบบรูปแบบบริษัทใหญ่ๆ ไม่ค่อยชอบ เราก็เริ่มมองหาอะไรที่เราจะทำเอง ดังนั้นพอเราเริ่มทำ Doc club เราทำคนเดียว พี่ก็แยกตัวออกมา แล้วนิตยสารก็อยู่กับโมโนไป แล้วสุดท้ายพอพี่ทำ doc club ไปสักพัก พี่ก็ลาออกมา แล้วพี่ก็เป็นแค่ที่ปรึกษา Bioscope เฉยๆ คือนิตยสารไม่ได้เป็นของเราแล้วล่ะตอนนั้น ก็ออกมาทำ doc club เต็มตัว Bioscope ก็อยู่กับโมโนจนเขาปิดตัวไปน่ะ (หัวเราะ)

ระหว่างการหาภาพยนตร์สารคดี การขายตั๋ว กับการหาโรงหนังที่จะฉาย คิดว่าอันไหนยากกว่ากัน

มันเหมือนว่าสิ่งที่เราฝ่าไปได้ยากที่สุดคือโรงหนังนะ เพราะตอนที่เราเริ่มทำ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังทำธุรกิจในรูปแบบเดิมของวงการหนัง ก็คือจัดจำหน่ายหนังแบบที่ต้องเอาเข้าโรง แล้วก็ต้องพูดคุยว่าเราจะมีแผนการตลาดยังไงเพื่อให้เราได้รับจำนวนรอบ จำนวนโรง สาขามากที่สุด ตั้งแต่ต้นนี่ก็ยากมาก เพราะว่าโรงก็มีเครือหลักอยู่สองเครือ ซึ่งตอนที่เราไปคุย เราก็คุยกับทั้งสองเครือ แต่ทางเมเจอร์ ทางการตลาดเขายังไม่ได้เชื่อ ณ ตอนนั้น ดังนั้นเราก็ไปต่อไม่ได้ ขณะเดียวกันเราคุยกับทางSFเขามีพื้นที่แบบเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วเขาต้องการคอนเทนต์ทางเลือกอยู่พอดี ก็เลยไปกับ SF ได้ ตรงนี้ก็คือความง่าย หมายความว่าเราก็มีพื้นที่ให้ยืนแล้ว แต่ความยากก็คือพอเราอยากที่จะท้าทายพื้นที่ใหม่ๆ หรือเราอยากจะขยายมากขึ้น ตรงนี้มันจะกลายเป็นความยากในแง่ที่เขาก็จะมีชุดความคุ้นเคยในการทำโรงภาพยนตร์แบบหนึ่ง เราก็มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันสิ่งที่เขาต้องการจากเรา ถ้าเราอยากโต คุณต้องทำตามที่เขาบอก เราก็คิดว่าเรามีศักยภาพไม่ถึง ดังนั้นมันเลยเป็นความยากทั้งในแบบที่เราอยากจะฝ่าฟันสู้กับเขา แต่เราแข็งแรงพอไหมที่จะทำให้เขาเชื่อ มันเหมือนเราทั้งสู้กับเขา แต่เราก็ตั้งคำถามตัวเราเองไปด้วย มันก็จะเป็นเรื่องยากแบบนี้ ดังนั้นพอเราทำไปสักระยะหนึ่ง ก็รู้สึกว่าเรามีข้อจำกัดว่ะ เราไม่ได้สามารถทำให้มันโตขึ้นเป็นกราฟเส้นขึ้นได้ มันไม่เป็นอย่างนั้น แต่ในเวลาเดียวกัน พอเราพบว่าโมเดลเดิมมันยากพอสมควรเลยที่เราจะดันมัน เราก็หาโมเดลอื่นเข้ามาทั้งในแง่ธุรกิจและในแง่ที่จะตอบโจทย์เราว่ามีอะไรอีกบ้างที่จะทำให้คอนเทนต์ที่เราเอาเข้ามามันไปถึงคนในวิธีอื่นๆ ที่มันหลุดพ้นจากโมเดลแบบนี้ พอตรงนี้มันไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ก็กลายเป็นช่วงที่เราท้าทายตัวเองให้ค้นหาวิธีการอื่นๆ อีก ซึ่งเราก็ได้เจออีกหลายๆ ช่องทางอยู่ หลายๆ อันรวมกันมันก็ทำให้ยังประคองมันมาได้

เสน่ห์ของการที่เราต้องไปค้นหาวิธีการอื่นที่ไม่ใช่ฉายในโรง SF คืออะไร

ความที่เราทำแทบจะคนเดียว คือก็มีลูกน้องนะ แต่เราก็ไม่ใช่องค์กรย้วยๆ ที่จะทำอะไรทีก็ต้องบนลงล่าง เราก็ตัดสินใจแล้วเราทำได้ มันก็ท้าทายในแง่ที่ว่ามันมีสิ่งที่แบบว่าถ้าเราเป็นบริษัทใหญ่หรือบริษัทจัดจำหน่ายที่อยู่ในโมเดลเป็นหลักอาจจะไม่ทำสิ่งแบบนี้ เช่น พอเราเริ่มทำแพลตฟอร์มออนไลน์ของเราเอง มันก็จะมีคนถามว่า แล้วจะมีคนดูในโรงไหม หนังไปอยู่ในออนไลน์แล้ว หรือด้วยความที่เป็นหนังสารคดี มันก็จะมีพาร์ทเนอร์ เช่น สถาบันการศึกษา องค์กรที่ทำงานทางสังคม เข้ามาเพื่อที่อยากจะใช้หนังเราเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารประเด็นของเขา เราก็ร่วมมือกับเขาง่ายมาก สมมติว่าองค์กรนี้อยากจะขอจัดฉายหนังออนไลน์ของ doc club ให้คนดูฟรีเพื่อที่เขาจะพูดประเด็นเรื่องนี้ๆ เราก็ได้ ร่วมมือกันปุ๊บ ก็เคลียร์แพลตฟอร์ม ส่ง Link ให้เขาเอาไปทำงานได้ มันก็จะมีคำถามว่า ทำไมให้หนังกันง่ายๆ ไม่กลัวหนังหลุดหรือหนังช้ำเหรอ หรือทำไมมันดูเป็นของที่เข้าถึงง่ายไปอย่างนั้นล่ะ ซึ่งพี่ว่าอาจจะเพราะเป็นสารคดีด้วยล่ะ น้อยมากที่คนจะมาโหลดหนังเราให้ลงบิต เปลืองนะ (หัวเราะ) กับสองคือ เฮ้ย นี่คือเป้าหมายเราไง หนังสารคดีเราต้องการให้มันเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงกับสังคมอยู่แล้วในระดับหนึ่ง เราอยากให้มันมาสนทนากับผู้คนแล้วมามีวงแบบนี้ แล้วเราจะไปหลุดพ้นจากโมเดลนี้ยังไงวะ เราก็ต้องอยู่ในโมเดลที่มีคนขีดไว้ให้ซึ่งเราก็อยู่ลำบาก เรารู้สึกว่าความท้าทายคือเราทำทุกอย่างให้มันง่าย ให้มันเข้าถึง แล้วมันก็เห็นผลในแง่ที่ว่าพอมันมีคนที่อยากจะใช้หนังเพื่อที่จะสื่อสารประเด็นของเขา เขาก็จะนึกถึงเรา ตอนนี้ก็คือมีแทบจะทุกวัน วันนี้ร่วมกับคนนี้ วันนั้นร่วมกับคนนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องของการสร้างการรับรู้เพิ่ม บางครั้งก็เป็นแหล่งรายได้

ระหว่างการฉายในโรงซึ่งมีช่วงโควิด-19 เกิดขึ้น การลุกขึ้นมาทำเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์มีความยากกว่าการจัดจำหน่ายหนังในโรงอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือเม็ดเงินนี่ล่ะ พี่ว่ามันยังทำเงินได้น้อยถ้าพูดไปแล้ว เช่น เราฉายหนังในโรงเรื่องหนึ่ง หนังดังหน่อย ได้เงินหลักล้าน แต่มาฉายทางออนไลน์อย่าหวังเลยว่าคนจะมาจ่ายดูได้เป็นล้านเท่ากันในระยะเวลาสั้นๆ มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นมันก็จะมีความแตกต่างตรงนี้ คือคิดว่าเราทิ้งช่องทางฉายโรงได้ไหม ก็ยังไม่ได้ เพราะว่าในแง่ธุรกิจ มันคือแหล่งรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำที่สุดของเรา แต่ถามว่าเราจะไม่พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะว่าหนังอิสระโดยข้อจำกัดของการเข้าโรง มันโคตรจะจำกัดมากๆ อยู่แล้ว แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้คอนเทนต์เราได้ไปมากขึ้น แต่เราจะบริหารจัดการยังไงให้มันมีรายได้เข้ามาพอ อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่การจมกับการลงทุนแพลตฟอร์มแล้วเจ๊ง มันเป็นรายได้ที่กลับมาหล่อเลี้ยงเราได้บางส่วน ขณะเดียวกันทำให้คนรู้จักเราเพิ่มขึ้น รับรู้เราเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการสร้างการเชื่อมต่อถึงกันหรือการสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เราโตขึ้นในหลายๆ แง่ พี่ว่ามันสำคัญตรงนี้

มีวิธีการสร้างสมดุลในการลงทุนเลือกหนังฉายตามโรงกับฉายบนออนไลน์อย่างไร

ก็มั่วๆ ไป (หัวเราะ) แต่ว่าพอเราทำไปสักพัก เราก็จะพอกะได้แล้วว่าคอนเทนต์นี้มันมีศักยภาพสำหรับการเข้าโรง ดังนั้นอย่าเพิ่งทำลายมันด้วยการเอาลงออนไลน์ คอนเทนต์ประมาณนี้เข้าโรงแล้วมันไม่แข็งแรงมาก แต่ลงออนไลน์มันอาจจะทำงานมากกว่า ยกตัวอย่าง เช่น สารคดีที่พูดถึงประเด็นการศึกษาของเด็กประถม ลงโรงไม่มีคนดูหรอก แต่พอลงไลน์ประชาสัมพันธ์ปุ๊บ คนแชร์กันเป็นพันเป็นหมื่น มันทำงานกับพฤติกรรมคนละกลุ่ม คือคนจะรู้สึกได้ว่าคอนเทนต์ประมาณนี้เขาอยากดู แต่ให้เขาเดินทางไปถึงที่โรง สมมติว่าหนังฉายอยู่ 6 โรง บ้านอยู่รังสิต ขับมาเซ็นทรัลเวิลด์หรือสามย่านมิตรทาวน์ มันเป็นไปไม่ได้ (หัวเราะ) มันไม่ใช่ แต่ถามว่าฉันอยากดูไหมที่พูดถึงการศึกษาโมเดลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เฮ้ย น่าสนใจว่ะ มีให้ดูในออนไลน์ ก็ดูเลย 60 บาท ถูกมาก ให้ฉันขับเข้าสามย่านไม่ไหวนะ แต่ถ้าเราเอา Burning หนังเกาหลีที่มีศักยภาพสูง อย่างนี้ฉันยอมขับรถมาดูในโรง ฉันไม่ได้อยากดูบนออนไลน์ก่อน มันก็จะมีศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน

แสดงว่าเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ทุกเรื่องมันไม่ได้เหมาะกับทุกแพลตฟอร์ม จริงไหม

พี่คิดว่าอย่างนั้นนะ คือมันอาจจะอยู่ได้บนทุกแพลตฟอร์ม แต่เวลาในการเผยตัวของมันต่อคนดู มันมีเวลาของมันไง เช่นเรื่องนี้มันควรเข้าโรงก่อน คือจังหวะมีส่วนล่ะ พี่ว่าที่สำคัญของการบริหารแพลตฟอร์มคือเรื่องของจังหวะเวลา แต่สุดท้ายแล้ว อย่างน้อยที่สุดคอนเทนต์ของเรามันต้องอยู่บนทุกแพลตฟอร์ม จะให้เรื่องนี้ลงออนไลน์ตลอดไปมันเป็นไปไม่ได้

นอกจากจังหวะในการดู แผนการประชาสัมพันธ์มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

สำคัญมากๆ เลยล่ะ เพราะว่าหนังเรายอมรับว่าไม่ได้มีองค์ประกอบทางการตลาดที่แข็งแรงมาแต่ต้น มันไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังหรือว่ามีดาราดังที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้คนรู้สึกต่อติดทันที และเป็นการประชาสัมพันธ์แบบสื่อสาร มันคือหัวใจของเราเลย มันจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้ คือสื่อสารให้คนรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญ ทำไมคุณถึงจะต้องถ่อมาดูหนังบ้าอะไรที่ไม่เคยได้ยินด้วยวะ

เรื่องล่าสุดอย่าง collective ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังอันดับต้นๆ ของเราที่ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่เสียดายว่ามันมาเจอช่วงโควิดช่วงที่ 2 เราเปิดฉายไปได้ไม่ถึงเดือนดี ฉายไปสองสัปดาห์ มาเจอโรงหนังปิด แต่มันก็อาจจะช่วยเมื่อลงออนไลน์ แต่ช่วงนั้นเราก็พยายามอัดการประชาสัมพันธ์ไปพอสมควร ก็จะมีคนที่ไม่ค่อยอยากไปดูในโรง แต่ว่าพอลงออนไลน์ก็จะได้ตัวเลขที่ค่อนข้างดี แต่เสียดายว่าถ้ามันยืนโรงนานกว่านี้ มันน่าจะโอเค เพราะมันกำลังไปได้ดีเลยในโรงหนัง

หลังจากเปิด Doc club ก็จะมีสมาคมหรือองค์กรต่างๆ ทางสังคมมาหยิบหรือขอหนังของเราเพื่อที่จะไปคุยเสวนาต่อหลังจากจบการดูภาพยนตร์ คิดว่าพอมันมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น ส่วนตัวรู้สึกอย่างไรบ้าง

โห ดีมาก เพราะว่านี่มันคือเป้าหมายของเราเลย สมัยก่อนเวลาเราดูหนัง เราก็จะชอบกิจกรรมประเภทนี้ ก่อนมาทำงาน เราก็จะชอบเวลาที่ไหนมีงานฉายหนังและพูดคุย เราก็จะชอบมากเลย เพราะว่ามันเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มันดีจังเลย คุยแล้วมันจุดประกายน่ะ แล้วพอมาทำBioscope เราก็จะจัดกิจกรรมประเภทนี้อยู่เรื่อย ๆ ทีนี้พอเป็นหนังสารคดี มันยิ่งเอื้อ เพราะว่าหลายๆ ครั้งมันคือประเด็นที่หนังมันพูด แล้วเราจำเป็นต้องพูดต่อ และเราต้องหาคนที่รู้เรื่องนั้นมาอธิบายอีก มาแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้นเวลาที่มันเกิดแบบนี้ โอ้โฮ มันคือเป้าหมายสูงสุดของเราเลย เพราะว่านี่มันคือหน้าที่ของสารคดีด้วยล่ะ

พูดถึงวงการหนังอิสระไทย คุณมีมุมมองต่อวงการนี้อย่างไรบ้าง

พี่ว่าวงการหนังอิสระไทยน่าสงสารนะ คือดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเอง ไม่เคยได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังจากใครเลยไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน เราจะเห็นว่าวงการหนังอิสระของไทยคนเก่งเยอะมาก ทุกคนพูดถึงอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเขาเป็นระดับโลกแล้วนะ ประเทศอื่นเขาอิจฉาที่ประเทศเรามีอภิชาตพงศ์ แต่ประเทศไทยไม่เคยเห็นค่า อภิชาตพงศ์ได้รางวัลล่าสุดจากเมืองคานส์ กลับมาเมืองไทย มีใครเฉลิมฉลองให้เขาบ้าง ภาครัฐมีไหมสักหน่วยงานหนึ่งจะจัดงานให้ ก็ไม่มี จริงๆ วงการหนังไทยภาพรวม ไม่ต้องเฉพาะอิสระ มันก็ดิ้นรนต่อสู้นะ เพราะว่ารัฐชอบขับเคลื่อนกันจัง ช่วงนี้ฮิตพูด แต่ถามว่าเคยมีนโยบายที่ชัดเจน หรือมีความเข้าใจว่าสื่อภาพยนตร์มันทำหน้าที่อะไร มันใช้สร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้บ้าง เขาไม่เคยรู้เรื่อง เข้าไปคุยกับหน่วยงานกี่ครั้ง เขาก็จะอยู่ในวิธีคิดแบบเดิม ๆ เขาไม่เข้าใจ ดังนั้นพี่คิดว่าวงการหนังไทยน่าสงสาร เรามีคนเก่งๆ เยอะ แล้วจริงๆ เราเป็นศูนย์กลางในแง่ Production ของวงการหนังโลก เรามี Production House ที่หนังโลกมาใช้บริการ มี Film Lab หรือ Sound Lab เยอะมาก ทำงานและมีบทบาทให้กับวงการหนังโลกและวงการหนังอาเซียน แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เคยได้รับการพัฒนาแบบมองเห็นศักยภาพของมันจริงๆ ในเชิงวัฒนธรรม เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม คือรัฐไทยไม่เคยมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ ดังนั้นถ้าพูดถึงเฉพาะวงการหนังอิสระ พี่ก็รู้สึกว่าถ้าเขาจะประสบความสำเร็จ โด่งดัง ได้รางวัล หนังไปสร้างชื่อเสียง มันคือการดิ้นรนของคนทำหนังล้วน ๆ ไม่เคยได้รับการสนับสนุนเลย

แสดงว่าจุดอ่อนของวงการหนังไทยไม่ใช่ภาคเอกชน ไม่ใช่คนทำหนัง แต่คือภาครัฐใช่ไหม

พี่คิดว่าอย่างนั้นนะ คือถามว่าภาคเอกชนเองมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงไหม มันก็มี เราก็ได้ยินคนเขาพูดกันอยู่เรื่อย ๆ เช่น มันไม่ได้มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อที่จะดูแลสวัสดิการของคนทำงาน เพื่อที่จะได้มีอำนาจในการต่อรองเวลาออกไปสู่ตลาดโลกหรือต่อรองกับภาครัฐก็ตาม ไม่มีตรงนั้น แต่มันเป็นเรื่องที่มันขยับได้ถ้ามันแข็งแรง คือถ้าแข็งแรงก็ค่อย ๆ สร้างโครงสร้างที่ดี แต่ตอนนี้คือโครงสร้างที่มี มันหลวม เพราะว่าลำพังเขาต้องหาทุน ดิ้นรนให้หนังของเขาได้สร้างและฉาย มันก็ยากแล้ว คุณจะคาดหวังให้เอกชนตัวเล็กๆ ทำทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างองค์กรแข็งแรง แล้วค่อยมาคุยกับรัฐเหรอ มันก็เป็นไปไม่ได้ เวลาเราพูดว่าเราอยากให้รัฐมาดูแลวงการหนังไทย บางทีคนทำหนังไทยกลัวนะ (หัวเราะ) บางคนบอกมึงไม่ต้องมาดูแลกู เพราะว่าผลงานของมึงไม่เคยส่งเสริมอะไรกูเลย แต่ถามเรา สำหรับความเชื่อส่วนตัว ประเทศที่วงการหนังมันไปไกลจริงๆ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่ต้องมีรัฐที่มีวิสัยทัศน์ที่เข้าไปสนับสนุนจริงๆ ทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงงบประมาณ คือคุณต้องเคลียร์ทางให้เขาเดินได้อย่างสง่าผ่าเผย ไม่งั้นใครที่จะมีศักยภาพ มีทุนและมีอำนาจที่จะเปิดทางให้เขาได้เดินกรุยออกไปไกลๆ เอกชนทำเองจะไปไหวอะไรล่ะ

ในช่วงที่ผ่านมามีคนพูดว่าแรงขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมเมืองไทยมีศักยภาพนะ แล้วทำไมบ้านเราถึงทำไม่ได้เหมือนอินเดีย อเมริกา หรือเกาหลีใต้

พี่ว่ามันเป็นปัญหาหมดทุกเรื่อง เป็นปัญหาทุกอย่างเลย รัฐไทยน่ะ ในแง่ของหน่วยงานรัฐเอง ก็ไม่เคยมีความเข้าใจศิลปวัฒนธรรม ไม่เคยมีการวางแผนระยะยาว เช่น ที่เกาหลีใต้ มันต้องเกิดมาจากการวางแผน รัฐบาลทั้งหมดเห็นว่าหนทางที่เขาจะสร้างประเทศให้ออกไปสู้กับต่างประเทศได้ อะไรบ้างที่เขาจะขายได้ แล้วก็มาตั้งเป้าหมายว่า 15 ปีนี้เราต้องทำอะไรบ้าง ครบวงจรปุ๊บ อาหารเกาหลีก็ไป ซัมซุงก็มา K-POP ก็มา คือทุกอย่างมันเกิดจากการมีวิสัยทัศน์และคุณเข้าใจว่านอกจากคุณจะไม่ไปยุ่ง ไปควบคุมระรานเขา คุณต้องสนับสนุนอะไร มันไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลที่ขึ้นมาแวบๆ แล้วก็เห่อ Soft Power พูดอะไรตูมตาม เสร็จแล้วก็หายไป แผนก็ไม่มีใครเดินต่อ มันไม่เกิดจากรัฐแบบนี้ พี่คิดว่าถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว มันคือต้องรื้อหลายอย่างในบ้านเรา เช่น วิธีคิดเรื่องการควบคุม วิธีคิดที่รัฐหวาดกลัวคนมีอำนาจและกลัวคนไทยคิดเป็น กฎหมายอย่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ใช้มาตั้งนานแล้ว แต่แทบไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง แนวคิดหลักๆ ของพรบ.ภาพยนตร์ที่ประเทศไทยใช้น่าจะเกิน 80 ปีได้แล้วนี้ มันคือการควบคุม นั่นคือโหมดหลักเลย ตั้งแต่สมัยนั้นก็คือกลัวว่าคนไทยจะได้ดูหนังข่าวจากต่างประเทศมาก แล้วเดี๋ยวจะรู้ว่าต่างประเทศเขาเป็นยังไงกัน ปัจจุบันก็ยังมีวิธีคิดแบบนี้อยู่ ก็คือกลัวว่าถ้าภาพยนตร์ท้าทาย ภาพยนตร์มีฉาก Sex ภาพยนตร์ตั้งคำถามเรื่องการเมือง ภาพยนตร์นำเสนอปัญหาการทุจริตไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องโดนแบน โดนควบคุม มันไม่เคยมีวิธีคิดว่าประเทศจะเจริญได้ถ้าคุณให้อิสระคนคิดและตั้งคำถามว่าทำไม ไต้หวันให้ทุนจัดเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน และเราได้เห็นสารคดีไต้หวันก็ ตายแล้ว มีแต่หนังด่ารัฐบาล แต่นี่คือเทศกาลที่รัฐบาลสนับสนุน มันต้องอาศัยรัฐแบบไหนมันถึงมีวิสัยทัศน์แบบนี้ แบบประชาชนด่า แล้วทำไมล่ะ มันไม่ได้ทำให้ประเทศล่มสลายเลย แต่ประเทศมันยิ่งเจริญขึ้น ทำยังไงเราถึงจะมีรัฐที่ทะลุไปถึงจุดนั้น

สิ่งที่สำคัญในการทำ Soft Power สำหรับคุณ คือการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนใช่ไหม

พี่ว่าต้องก่อนอันนั้นอีก คือต้องเข้าใจก่อนว่าศิลปวัฒนธรรมคืออะไร ลองถามรัฐไทยว่าศิลปวัฒนธรรมคืออะไร พี่ว่าก็ยังนึกถึงแต่อะไรเดิม ๆ ยังไม่พ้นที่เราชอบล้อเลียนกัน ซึ่งมันเป็นวิธีคิดของเขาจริงๆ เขาก็ยังนึกถึงแบบโขน สิ่งที่เป็นไทย ไปออกแบบอาคารเอ็กซ์โปก็ต้องทองระยิบระยับ นี่คือศิลปวัฒนธรรมในความคิดของเขา คืออะไรที่มันแช่แข็ง ตายตัว ไม่ปรับตัว อยู่บนหิ้ง เป็นของเจ้า ต้องกราบไหว้บูชา นี่คือวิธีคิดแบบศิลปวัฒนธรรมของเขา คือสิ่งที่รัฐสถาปนาแล้วโยนให้คนไทยรับ รำไทย หรืออะไรทั้งหลายคือสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย แต่คุณไม่เคยตั้งคำถามชาวบ้านว่า สิ่งที่ชาวบ้านเขาอยู่ในวิถีชีวิตของเขา มันไม่ใช่ศิลปวัฒนธรรมเหรอวะ มันไม่ใช่สิ่งที่คุณควรมองเห็นแล้วหยิบขึ้นมาเหรอ รัฐไทยคือเป็นแบบนี้ทุกเรื่อง ดังนั้นก่อนที่คุณจะไปถึงจุดว่าคุณมีวิสัยทัศน์ยังไง คุณต้องเข้าใจก่อน เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณก็จะมีวิสัยทัศน์แบบที่เหมือนในยุคหนึ่งเราจะเห็นว่าให้ทุนสร้างหนังโดยการสนับสนุนของรัฐ ก็คือให้ทำหนังไทยที่ประชาสัมพันธ์ประเทศเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา หรือให้เป็นสถานที่ถ่ายทำของกองถ่ายต่างประเทศ หรือให้ทุนแบบหนังนเรศวร นี่ไง สนับสนุนแล้ว แต่สนับสนุนบนพื้นฐานความคิดอะไรวะ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย

แสดงว่าพอยต์ของคุณคือไม่ใช่แค่วัฒนธรรมแช่แข็ง แต่วัฒนธรรมแช่แข็งก็ควรที่จะถูกปรับใช้ได้

ใช่ ก็คือต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าศิลปวัฒนธรรมคือสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตคน และคนก็สำแดงสิ่งที่เขาตกผลึกในชีวิตเขาออกมาผ่านทางศิลปะรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพื้นบ้าน ละคร หนัง อะไรก็ได้ ดังนั้นถ้าเขาตั้งคำถามกับสังคมที่เขาอยู่ เขาก็ต้องสามารถที่จะเปล่งเสียงออกมาผ่านงานที่เขาทำ แต่ไม่ควรจะบอกว่างานที่เขาทำ อันนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ไทย ก็ไม่ใช่ ถ้ารัฐรื้อความคิดพวกนี้ออกไปหมด เราให้อิสรภาพกับคน เมื่อนั้นศิลปะก็จะเติบโต แล้วคุณค่อยมาคิดว่า นี่ไง มันมีศิลปะที่หลากหลาย คนไทยพูดสิ่งนี้กับโลก แล้วเราหาทางเอาสิ่งนี้ให้ไปสู่ชาวโลกอย่างไร แต่หนังที่รัฐสนับสนุนทุกวันนี้มันไปพูดอะไรกับโลกล่ะ นเรศวรใครจะดู ฝรั่งที่ไหนจะอยากดูวะ

เรตติ้งการฉายภาพยนตร์ถือว่าเป็นการแช่แข็งด้วยไหม

พี่ว่าจริงๆ ถ้าเราพูดแบบอุดมคติ มันก็ไม่ควรมีหรอก ถ้าเราพูดว่าสังคมมันมีกลไกในการดูแลเยาวชน เราก็ยอมรับได้ ต้องเข้าใจว่าเรตหนังเกิดขึ้นมาในโลก มันไม่ได้มีแต่เราที่ใช้เนอะ มันก็ใช้กันเป็นสากล แต่แนวคิดสำคัญของการจัดเรต มันคือจัดอายุ จัดอายุแปลว่าอะไร ก็เพราะว่าเจตนาคุณก็คือจะป้องกันเยาวชนหรือเด็กไม่ให้เข้าถึงคอนเทนต์บางอย่างที่อาจจะไม่เหมาะกับเด็ก เช่น ความรุนแรง เป็นต้น ทีนี้พี่คิดว่าการจัดเรตของไทย มันไม่ได้อยู่บนฐานความคิดเรื่องเยาวชนเป็นหลัก มันอยู่ในฐานความคิดเรื่องสิ่งนี้คือความดีงาม สิ่งนี้คือความมั่นคงของรัฐ สิ่งนี้คือกระทบกระเทือนผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการจัดเรตของโลกนี้ ที่มันบิดเบือนคือตรงนี้ ดังนั้นพี่คิดว่ากติกานี้มันไม่ผิดหรอก แต่ประเทศไทยเรามันมีปัญหาที่คนในอำนาจมันหยิบกติกานี้มาใช้ผิดตลอดทุกเรื่อง หลักการมันน่ะไม่ผิด แต่คนใช้ในบ้านเรานี่ล่ะที่มันต้องตั้งคำถาม เพราะว่าคุณมีวิธีคิดที่ไม่ไปกับโลกน่ะ เรารู้สึกว่าทำไมฉากมี Sex ถึงเป็นเรื่องที่หวั่นไหว ทนไม่ได้ เด็กดูไม่ได้ แต่ฉากยิงกันหัวระเบิดกระจาย คุณจัดเรตที่ต่ำกว่าหนังที่มีฉาก Sex เสียอีก

แสดงว่าการมีกองทุนหลายๆ อย่าง มันก็ควรที่จะต้องตอบโจทย์สื่อสมัยใหม่ สื่อศิลปะหลายแขนงมากขึ้น

ถูกต้อง ก็นี่ล่ะ ดังนั้นเวลาเราบอกว่ารัฐไม่สนับสนุน มันก็เคยมีคนพูดจริงๆ ว่า ไม่สนับสนุนอะไร กองทุนเยอะแยะไปหมด ก็ถึงได้ย้อนไปว่า ก่อนสนับสนุน คุณเข้าใจหรือเปล่าว่าคุณทำอะไรอยู่ คุณไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำ ถึงเอาเงินให้คุณพันล้าน คุณก็ไม่ได้ทำให้มันเกิดอะไรขึ้นมา แล้วกองทุนสื่อสร้างสรรค์นี่เป็นอะไรที่ตลกที่สุด เพราะกองทุนสื่อสร้างสรรค์ตอนกำเนิดตอนแรก คือกองทุนสื่อสร้างสรรค์ แต่ว่าพอมันไปอยู่ในมือของคนมีอำนาจจำนวนหนึ่ง ก็ไปเพิ่มว่าสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย คำว่าปลอดภัย คืออะไร? (หัวเราะ) มันตลก คือประเทศไหนมีบ้าง เราไปดูฝรั่งเศสที่เขามีทุนเยอะแยะไปหมด แต่เขามีกองทุนสักกองไหมที่เขามีคำว่า “ปลอดภัย” แบบนี้ไหม น่าเกลียดมาก นี่ล่ะไท้ไทย

คุณเห็นภาพยนตร์กระแสหลักที่โดนวิจารณ์บ่อยๆ ไหม เช่น เขาก็จะมาเปรียบเปรยกันว่าคนไทยชอบดูภาพยนตร์เบาสมอง คุณเห็นด้วยกับประโยคนี้ไหม

เราก็ไม่รู้ว่าคนไทยในที่นี้มันหมายถึงใครนะ (หัวเราะ) คือถามว่าเราชอบดูภาพยนตร์เบาสมองไหม เราก็ชอบนะ แต่ว่าคุณจะดูอย่างเดียวเหรอในชีวิตนี้ (หัวเราะ) ก็ไม่ใช่ไง บอกว่าเราชอบดูภาพยนตร์เบาสมองและจะไม่ดูอย่างอื่น มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มันไม่ใช่ไง ดังนั้นไม่มีใครว่าที่คุณทำภาพยนตร์เบาสมอง ไม่มีใครว่าที่คุณทำภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ ดูแล้วเพลิดเพลิน มันไม่มีใครว่า มันก็โอเค มันคือความบันเทิงแบบหนึ่ง แต่ว่าเรามักจะมีคำถามว่าในคอนเทนต์ที่มันปรากฏอยู่ในไทย มันสามารถเป็นอะไรได้มากกว่านี้ไหมล่ะ สมมติบอกว่าค่ายหนังถนัดทำหนังแบบนี้ มันก็ดี เขาทำได้ดีจริงๆ เขามีความเข้าใจคนดูของเขา แล้วเขาก็มีความทันสมัยในเรื่องราวที่หยิบมาเล่า แต่เราก็มักจะแอบถามว่า มันมากกว่านี้อีกได้หรือเปล่า แบบว่าคุณพูดเรื่องนี้ แต่ว่าอีกนิดเดียว คุณจะแตกประเด็นที่มันสลักสำคัญมากๆ เลยนะ เช่น สมมติคุณทำเรื่องคนเหงาในเมือง อีกนิดเดียวคุณจะแตกประเด็นไปได้ถึงเรื่องคนไร้บ้าน หรือตัวละครตัวนี้ทำไมต้องมาเหงาอยู่ในเมือง ทั้ง ๆ ที่คุณเป็นคนต่างจังหวัด มันมีสิ่งใดในสังคมไทยที่มันบีบบังคับให้คนคนหนึ่งต้องทิ้งรากของตัวเองแล้วเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง แล้วคุณก็กลายเป็นคนว้าเหว่ในเมืองใหญ่ มันอีกนิดหนึ่ง มันทำได้นะ แต่ประเด็นก็คือว่า คนทำมีความเท่าทันในประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างไหม มันไม่ใช่แค่ปัญหาผิวๆ อย่างคนจน แต่ว่าคุณเข้าใจเรื่องโครงสร้างไหมว่าปัญหาความจนของสังคมไทย มันเกิดจากอะไร เรารู้สึกว่าถ้าคนทำอัพเดตความรู้ทางสังคมของตัวเองให้มันเท่าทันโลก มันก็ไม่ยากเลยที่จะใส่เรื่องแบบนี้โดยที่ไม่ได้เรียกร้องว่าค่ายหนังต้องมาทำหนังซีเรียสสะท้อนสังคม ไม่ใช่ แต่อีกนิดหนึ่งหนังคุณมันจะลึกซึ้งกว่านี้ แล้วมันก็จะทำงานกับคนดูในด้านลึกซึ้งกว่านี้ ออกจากโรงแล้ว เรามีสิ่งที่ขบคิดมากขึ้น ไม่ใช่บันเทิงแล้วจบ เราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะเรียกร้องคนทำคอนเทนต์

คุณกำลังจะบอกว่าหนังทุกเรื่องมันสามารถสอดแทรกปัญหาของโครงสร้างได้ใช่ไหม

คืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ อยากจะบอกว่ามันสามารถที่จะสะท้อนความจริงได้มากกว่านี้ คือความบันเทิงมันไม่จำเป็นต้องดึงให้คนหลุดลอยอยู่ในบรรยากาศแบบ escapism คือเข้าโรงแล้วฉันไม่อยากจะสนใจความทุกข์ภายนอก แต่ก่อนมันมีความเชื่อว่าภาพยนตร์ต้องทำแบบนั้น แต่พี่ว่าในโลกทุกวันนี้ คนจำนวนมากก็ไม่ได้ต้องการเสพภาพยนตร์แบบที่สองชั่วโมงฉันหลุดเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน แล้วออกมาฉันก็มาเจอสภาพแบบเมื่อกี้สองชั่วโมง ฉันดูอะไร (หัวเราะ) มันไม่ใช่แบบนั้น คนเดี๋ยวนี้มีความเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงรอบตัวมากขึ้น เรารู้สึกว่านี่มันกลับยิ่งท้าทายว่าคุณจะทำหนังที่บันเทิงยังไงที่แบบว่าดูแล้ว โห เขาคิดได้ยังไงนะ เขาสามารถใส่เรื่องนี้เข้าไปในหนังของเขา แล้วมันก็บันเทิงมากเลย เราว่ามันยิ่งท้าทายคนทำนะ สมมติว่าคนพูดถึง Parasite จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมาก ก็โจ่งแจ้ง พูดเรื่องชนชั้น แต่ทำไมคุณทำหนังออกมาได้แบบโคตรบันเทิงเลยวะ แล้วก็พูดเรื่องชนชั้นที่แรงมากๆ ด้วย เราจะมีหนังอย่างนี้ได้บ้างไหม

แล้วถ้าพูดถึงโรงภาพยนตร์ คุณมองเห็นข้อสังเกตยังไงบ้างของการมีโรงภาพยนตร์อยู่ในศูนย์การค้า

มันก็เป็นการปรับให้เข้ากับการพัฒนาเมืองล่ะ เพราะว่าการพัฒนาเมืองของเรา ถ้าจะมองว่ามันเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหานะ หมายความว่าหัวเมืองใหญ่ของไทยอย่างกรุงเทพฯ มันเป็นการพัฒนาแบบไม่ได้นึกถึงการใช้งานที่หลากหลายของกลุ่มคนที่หลากหลาย มันคือการพัฒนาแบบทำยังไงถึงจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินนั้นให้สูงที่สุด มันก็เลยปรากฏมาเป็นแบบที่เราเห็น ก็คือมีที่ว่างปุ๊บเป็นห้าง พอห้างเลิกฮิต ก็เป็นศูนย์การค้า แล้วทำยังไงให้ห้างหรือสิ่งก่อสร้างนั้นดูดคนเข้ามากที่สุด เอาโรงหนังใส่ มันก็เป็นวิธีคิดเรื่องการพัฒนาเมืองของเรา ซึ่งในหลายๆ เมืองที่มันคำนึงถึงการใช้งานของคนที่หลากหลายจะไม่เป็นแบบนี้ มันจะยังมีโรงภาพยนตร์เดี่ยวแบบเล็กๆ ด้วยนะ ไม่ใช่แบบสกาล่า แต่อาจจะมีเหมือนลิโดที่ตั้งอยู่ต่างหาก แต่ เพราะว่าภาพรวมของการพัฒนาเมืองมันผลักดันให้มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นพี่คิดว่าในเชิงเข้าใจ มันก็เข้าใจได้ที่โรงไปอยู่ในห้าง ก็โอเคสำหรับคนเมือง เพราะว่าไปห้าง กินข้าว เดินเล่น ช้อปปิ้ง ดูหนัง ทุกสิ่งทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ในพื้นที่เดียว ข้อดีก็คืออาจจะทำให้ธุรกิจหนังในไทยมันต่อยอดเชื่อมโยงกับชีวิตคนไปได้ เพราะชีวิตคนมันขรุขระกว่านี้ แต่ข้อเสียสำหรับพี่ พี่รู้สึกว่าโรงหนังพอมาอยู่ในห้าง แล้วก็อาจจะด้วยดีไซน์ของโรงหนังที่เป็นอยู่ มันก็ทำลายอรรถรสในการดูหนังไปพอสมควร อย่างเราไปดูหนังเรื่องหนึ่งจบแล้วมันดี๊ดี แต่พอออกจากโรงปุ๊บ มันไม่มีอะไรเลี้ยงความรู้สึกเรา ลืมหมดเลย เดินออกมาเจอตู้คีบตุ๊กตา (หัวเราะ) คือแค่ออกจากโรงปุ๊บ แล้วก็จะหาทางกลับลงไปที่จอดรถ ก็เหนื่อยแล้ว (หัวเราะ) ไม่มีแรงจะคิดอะไรถึงสิ่งที่ดูมาแล้ว มันน่าเสียดาย เพราะเราโตมายังทันยุคที่ดูหนังเสร็จแล้ว เฮ้ย แวะกินตรงนี้กันแก มานั่งคุยกัน มันยังมีช่วงเวลาหล่อเลี้ยง ซึ่งมันสำคัญกับคนดูหนังมากๆ เราเชื่ออย่างนั้น แต่ก้อนนี้มันหายไปแล้ว น่าเสียดาย มันหมดไปเลย

แล้วมันส่งผลกระทบยังไงกับตัวหนังที่จะเข้าฉายในแง่ของความหลากหลายของประเภทหนัง

พี่ว่ามันเป็นมากๆ เลยล่ะ พอโรงหนังเข้าไปอยู่ในโมเดลแบบที่ไม่ใช่โรงหนังสมัยก่อนที่คนทำโรงหนัง เช่น เขาเป็นเจ้าของตลาดสะพานควาย เขาก็ทำโรงหนังเพราะมันเป็นเรื่องฮิตในยุคของเขา แล้วพอเขาทำโรงหนังเอาไว้ดูดคน รอบๆ ก็เป็นตลาด มันก็เป็นการเคลื่อนไหวอยู่ช้าๆ ในพื้นที่อันหนึ่ง แต่พอโรงหนังมัลติเพล็กซ์มันไปอิงกับห้าง กับพื้นที่กลางเมืองเยอะๆ มันก็ไปกับวิถีการพัฒนาเมืองของไทย นั่นคือทุกอย่างมันรีบ ทุกอย่างมันต้องสูบทรัพยากรของเราเข้าไปรวมกันให้มากที่สุด ดังนั้นพี่คิดว่าคนที่ทำโรงหนังตอนนี้ อย่างเมเจอร์ เขาก็ทำธุรกิจหลักของเขาคือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีที่ก็เอาโรงหนังใส่ เอาห้างใส่ เอาร้านค้าใส่ เอาฟิตเนสใส่ ดังนั้นจะทำยังไงให้ทุกอย่างมันดูดเงินเข้าไปให้มากที่สุด ดังนั้นเขาจะมาให้เวลากับหนังเล็กๆ ที่ฉายทั้งวันมีคนดู 50 คนทำไม หนังมาร์เวลมา ก็ต้อง 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ก็ต้องสั่งเข้าไป เพราะมันคือ 3 วันแรกจะดูดคนได้เยอะที่สุดอะไรแบบนี้ วิธีคิดทั้งหมดมันเป็นแบบนี้ไปหมดเลย

มันเลยเป็นที่มาของการตั้ง Doc club and pub ใช่ไหม

อุ๊ยตาย โยงมาได้อย่างสวยงาม เก่งมาก (หัวเราะ)

เมื่อก่อนมันคือ Bangkok Screening Room ทำไมถึงไปซื้อต่อมาทำเป็น Doc club and pub ได้

เราอยากจะมีสเปซที่เป็นกึ่งโรงหนัง เราก็คิดมาเรื่อย ๆ ล่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าอย่างตอนทำนิตยสาร ชั้นสองสำนักงาน เราก็ทำเป็นห้องฉายหนัง แต่ก็แบบบ้านๆ นั่งดูกับพื้น และจัดฉาย คนมานั่งดู มันโคตรมีความสุขเลยว่ะ แล้วก็คุยกันทั้งคืน เราก็อยากทำแบบนี้มาตลอด แล้วก็ได้ไปทำที่ Warehouse 30 มาแป๊บนึง แต่ที่นั่นก็ไม่ใช่โรง พอดีที่นั่นเขาเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายใน เราก็เลยออก ในระหว่างนั้นเราก็มองมาเรื่อย ๆ จริงๆ ก่อนที่เราจะมาลงที่ BSR เราไปดูอีกที่นึง อยู่ตรงแถว ๆ หัวลำโพง แต่เป็นตึกอาคาร ไม่ใช่โรงหนัง เป็น Hostel ที่เขาจะเลิกทำ พื้นที่ดีเว้ย เกือบๆ จะได้แล้ว แล้วมันก็เหมือนเป็นจังหวะล่ะว่าในตอนนั้นเองน้องที่เขาเป็นเจ้าของ BSR ซึ่งเขาประกาศปิดตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก็เป็นเพื่อนกันล่ะค่ะ แต่คุยกันเรื่อย ๆ เขาบอกว่าพี่ธิดามาดูที่หนูไหมล่ะ คือน้องเลิกทำแล้ว แต่ก็เสียดาย เพราะก็ทำมาเยอะ แต่มันก็โอเคนะถ้าพี่มาทำต่อ หนูจะได้สบายใจว่าสิ่งที่หนูทำไว้มันยังอยู่ (หัวเราะ) เราก็ลองไปดู ตอนแรกใจเรานึกถึงอีกที่นึงไปแล้ว แต่พอไปดูแล้ว มันก็ดีนะ คือจริงๆ เราเคยไปดูหนังที่นั่นแล้ว แต่ไม่เคยนึกไปถึงมุมผู้ประกอบการไง ก็เห็นว่าจริงๆ มันก็ดีนี่หว่า มีทุกอย่าง โรงหนังเขาทำไว้ดีมาก ตัวบาร์พื้นที่มันได้หมดแล้ว แล้วตัวสเปซมันก็มีคนรู้จัก เราไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ประกอบกับคุยกับเจ้าของพื้นที่เดิมเราก็รับรู้ได้ว่าเขารักพื้นที่นี้มากๆ เราเป็นเขาก็คงสะเทือนใจเนอะที่วันหนึ่งเขาออกแล้วที่นี่ต้องถูกรื้อทิ้งหมด กลายเป็นออฟฟิศหรืออะไรอย่างอื่นไป มันก็รู้สึกได้ ก็คุยกันไปมา ก็คิดว่างั้นเอาที่นี่ดีกว่าไหม แล้วทุกอย่างมันก็พร้อมให้เรา เราไม่ต้องเริ่มสร้างใหม่หมด เราก็เข้ามาปรับเปลี่ยนเฉยๆ

พอเจอพื้นที่จริง รู้สึกยังไงบ้าง

ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องเสี่ยง (หัวเราะ) คือเราก็ไม่ชัวร์ว่าจะทำรอดเหรอ เกิดมาไม่เคยทำ เพียงแต่มันก็มีเหมือนกับว่าทำโน่นทำนี่มาเยอะ แล้วมันก็มีก้อนที่ตกค้างมาจากหลายๆ งาน ทำนิตยสารก็อยากทำโรงหนัง มาเป็นคนจัดจำหน่ายหนังก็อยากจะมีโรงหนัง แล้วก็พูดเรื่องนี้มาตลอด มันเหมือนมีอีกก้อนหนึ่งที่มันเหมือนจังหวะโชคชะตามาแล้ว ต้องเอา ต้องลองดู ซึ่งแต่เดิมคิดแค่ว่าอยากให้มีพื้นที่ที่คนชอบอะไรคล้ายๆ กันมานั่งดูหนังด้วยกัน แล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าดูหนังเสร็จแล้วก็ไม่ใช่โรงหนังรีบถีบ ดูเสร็จแล้วกลับบ้านไปเลย เพราะจะรีบเคลียร์โรงแล้วเอาคนอื่นเข้า แต่ว่าคุณยังออกมานั่งคุยกันได้ คุยกับเพื่อนหรือเจอคนใหม่ๆ มาคุยกัน มันเป็นสังคมแบบที่เราโตมา เราก็อยากจะทำแบบนี้ พื้นที่ที่คุณดูหนังแล้วมันเย็นๆ หน่อย ไม่ต้องรีบร้อนมาก ดูเสร็จมีเวลานั่งเพลินๆ คิดโน่นคิดนี่ เราชอบแบบนั้น อันนั้นก็คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานเดิม แต่ว่าในระหว่างที่เราเป็นคนจัดจำหน่ายหนังมา เราก็คุยกับแฟนพี่ที่เพิ่งทำ Doc club ด้วยกัน เราก็จะพูดเรื่องนี้กันเรื่อย ๆ ว่า จริงๆ ธุรกิจโรงหนังล้วน ๆ มันอยู่ยาก อย่างตอนเราทำที่ Warehouse 30 มันก็เป็นข้อพิสูจน์เล็กๆ ว่าถ้าเราทำแค่โรงหนัง หมายถึงว่ารายได้จากการขายตั๋วอย่างเดียว มันไม่รอดนะโรงหนังน่ะ มัลติเพล็กซ์ก็เช่นเดียวกัน รายได้ของเขาจริงๆ ก็คือป๊อปคอร์น เอาคนไปแล้วก็ขายสิ่งที่มันเป็นของที่ระลึกของเขาจริงๆ

ดังนั้นเราก็คิดถึงว่าพื้นที่ของเรามันจะเป็นโรงหนังเพียว ๆ ไม่ได้ มันจำเป็นต้องอยู่รอดด้วยสิ่งอื่นๆ ก็คิดมาเรื่อย ๆ ว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง อะไรที่มันจะตอบโจทย์ทั้งหมด แล้วมันก็มาจบตรงที่ว่าพอดีทาง BSR เขามีพื้นที่แบบบาร์พอดี ตอนนี้เปิดแล้วนะ เราก็ปรับส่วนบาร์ให้มันเป็นร้านกาแฟ ช่วงเย็นก็ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถ้ารัฐบาลให้ขายเมื่อไหร่นะ (หัวเราะ) เป็นคราฟต์เบียร์ แล้วก็มีอาหารกินเล่นไปจนถึงกินอิ่ม คิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่คนมานั่งเล่นก็ได้ กินเบียร์ก็ได้ ทำงานแล้วขี้เกียจกลับบ้าน ก็มานั่งเพลินๆ ก่อนก็ได้ ดูหนังเสร็จแล้วออกมานั่งเล่นก็ได้ ตอนนี้ก็พยายามทำให้มันเป็นพื้นที่แบบนี้ เป็นแบบที่คนไปแล้วรู้สึกว่าน่ารักดี แต่ก็ไม่ได้เก๋แบบถึงขั้นกลัว เพราะเราจะเป็นคนกลัวพื้นที่แบบนั้นมาก เราไปเจอพื้นที่ที่มันเก๋มากๆ แล้วเราไปนั่งก็จะนั่งตัวลีบๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเราเก๋พอไหม แบบมาถึงแล้วอาย คือเราก็พยายามทำไม่ให้เป็นแบบนั้น

ความรู้สึกแรกสุดตอนที่ได้เปิด Doc club and pub เล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง

ตั้งแต่ตอนที่เริ่มประกาศว่าจะเปิดแล้ว เราก็รู้สึกว่าทั้งตื่นเต้นและกดดันนะ หนึ่งก็คือมันมีคนที่คาดหวัง คนที่รู้จัก BSR อยู่เดิมก็อาจจะคาดหวังว่าเราต้องอย่าทำอะไรให้สถานที่นี้มันดูงี่เง่านะเว้ย สอง คนที่รู้จักเราอยู่ เพราะเรานี่โม้มาตลอดชีวิตว่าฉันจะทำโรงหนัง แต่พอวันนี้เปิดจริงๆ แล้ว ก็จะกดดันหน่อยว่าฉันจะทำได้ดีเท่าที่โม้ไว้หรือเปล่านะ สาม เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในท่ามกลางภาวะโควิด-19 ที่คนไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน หรือคนอาจจะมีปัญหาเศรษฐกิจ คนไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะมานั่งชิลล์บ้าบออะไร มันจะเป็นยังไง แต่ก็โชคดีว่าตอนที่จะเปิดหรือช่วงทำประชาสัมพันธ์ ก็ค่อนข้างได้รับผลตอบรับกลับมาดี คนก็ตื่นเต้นกัน และหลังจากลองเปิดตอนนี้ก็คิดว่าได้รับการตอบรับดีกว่าที่คิดไว้ เพราะเท่าที่เห็นก็ยังไม่มีคนด่าเลย (หัวเราะ) คนมาแล้วเฉยๆ อาจจะมี แต่ก็อาจจะเห็นแต่ด้านบวกล่ะ เพราะคนเฉยๆ เขาอาจจะไม่เขียนถึง คนที่ชอบก็มาแล้วชอบบรรยากาศของมัน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะตอนที่เข้าไปปรับปรุงพื้นที่ พี่ก็คุยกับรุ่นพี่สถาปนิกที่เขามาช่วยว่าเรื่องบรรยากาศ ซึ่งบรรยากาศของมันเป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด เราก็อยากให้มีพื้นที่ที่คนอย่างเราเข้าไปแล้วเราอยู่ได้ ก็ทำให้คนรู้สึกว่าถึงแม้จะ Doc club ซึ่งอาจจะมีภาพจริงจัง ทำยังไงไม่ใช่มานั่งแล้วฉันต้องดูฉลาดหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ โชคดีที่พี่สถาปนิกเขาค่อนข้างเข้าใจ เป็นคนคล้ายๆ กัน ก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าก็น่าจะพอได้อยู่ เพราะเท่าที่ดูแล้วผลตอบรับของคนค่อนข้างจะเป็นไปอย่างนั้น คือชอบบรรยากาศของมัน นั่งแล้วสบายใจดี หรือมีน้องคนหนึ่ง เป็นเด็กจุฬาฯ เคยทำกิจกรรมด้วยกัน แล้วน้องเขามาแล้วเขียนคำติชมคำหนึ่ง แล้วพี่ว่าโคตรดี คือเขาบอกว่าเป็นพื้นที่ที่เขามานั่งแล้วรู้สึกปลอดภัยมาก พี่ก็โอ้ แม่งโคตรดีเลยว่ะ ขนลุกเลย ทำไมเขารู้สึกแบบนี้ได้วะ ก็รู้สึกว่าคำนี้มันสำคัญมากเลย โดยเฉพาะกับเด็กที่เขาทำกิจกรรมทางสังคม แล้วเขามานั่ง แล้วเขารู้สึกว่ามันเป็นที่ที่เขาสามารถนั่งได้สบาย ไม่รู้สึกคุกคามโดยอะไรก็ตาม เราก็รู้สึกดี ก็หวังว่ามันจะเป็นไปอย่างนี้

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน

น่าจะหนักพอสมควรนะ ถ้าในเชิงธุรกิจ เราก็เห็นแล้วว่าเลื่อนตารางการเข้าฉายหมด พูดง่ายๆ ว่าโอกาสที่จะทำรายได้ไม่ว่าหนังต่างประเทศหรือหนังไทยเอง มันกระเทือนหมด ทุกคนคือชะงักหมด เพราะว่าไม่รู้ว่ามันจะใช้เวลานานแค่ไหน มันจะคุ้มค่าไหมในแง่คนจัดจำหน่ายหนังด้วยกัน เจ้าใหญ่ก็ชะงักการซื้อหนัง เพราะไม่รู้กลัวเอาเข้ามาแล้วมันจะฉายตอนไหน หรือพฤติกรรมคนจะกลับมาปกติไหม หรือคนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ไม่อยากดูหนังละ รู้สึกว่าหนังเป็นความจำเป็นท้ายๆ ของชีวิตตอนนี้หรือเปล่า อันนี้เราไม่รู้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครทราบได้ ในแง่ Production ก็กระเทือนละ กองถ่ายออกไม่ได้ก่อนหน้านี้กว่าจะค่อยๆ คลายไปทีละขั้น มันกระเทือนหมด แล้วพี่คิดว่าเหมือนที่เราคุยกันตอนต้นว่าโรงหนังเราก็ไม่รู้นะว่าเขาจะฮึดต่อไปได้ไหม แค่ไหน ทุกคนก็ลุ้นว่ามันจะใช้เวลานานหรือเปล่ากว่าจะกลับมาเป็นปกติ

ถ้าโควิด-19 คลายตัวลง คิดว่าการดูหนังมันจะกลับมาเต็มเหมือนเดิมไหม

ถ้ามันคลายนะ หมายความว่าถ้าคนรู้สึกมั่นใจแล้วนะ ภายในสิ้นปีนี้ถ้ายอดคนได้รับวัคซีนมากพอ ถ้ามันไปถึงจุดนั้น เรายังเชื่อว่าโอกาสที่คนจะกลับมาดูหนังในโรงมันยังมีอยู่ เราคิดว่าโควิด-19 มันไม่ได้ทำให้คนเกลียดการดูหนังโรงนะ แต่อาจจะขยะแขยงนิดหน่อยว่าปลอดภัยหรือเปล่า มันไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบว่าฉันค้นพบแล้วกับการดูหนังสตรีมมิ่งออนไลน์ ฉันไม่ต้องดูหนังในโรงต่อไป มันไม่ใช่แบบนั้น พฤติกรรมไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่อาจต้องใช้เวลา แต่ถามว่ามันมีผลกระเทือนไหม ก็มี ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือกรณีเรื่อง ร่างทรง พอมันหลุดฉายที่เกาหลีแล้ว ไฟล์หลุด คนไทยโหลดดูกันเละเทะเลยตอนนี้ แล้วก็ตัดคลิปลงยูทูบ สปอยล์หนังกันเละเลย คือจีดีเอชเขาไม่ได้ลงทุนเรื่องนี้นะ เข้าใจว่าเขาเหมือนเป็นผู้จัดจำหน่ายหนัง เพราะมันเป็นหนังเกาหลี ที่โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูลไปทำ แต่ก็ค่อนข้างเห็นใจนะว่าจะจัดการยังไงกับวิกฤติ คือโควิด-19 ก็ทำให้คุณจัดการอะไรไม่ได้ ไม่รู้จะวางแผนมันยังไง ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาสตรีมมิ่งที่นำมาซึ่งไฟล์หลุด แล้วตอนนี้คนก็คุ้นเคยกับการดูออนไลน์ที่บ้านมากขึ้น สามารถโหลดมาดูอย่างรวดเร็ว มันก็กระเทือนในแง่แบบนี้ แต่เราคิดว่าถ้ามันไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้น ถ้าร่างทรงเข้าโรง ดึงดูดคนไหม เราว่าดึงดูดนะ คนอยากไปดู

คิดว่าในอนาคต พอสตรีมมิ่งเข้ามาเต็มสตรีมแล้ว Doc club ก็มีการลงคอนเทนต์ ออนไลน์ คนยังจะให้ความสำคัญกับโรงภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน

พี่ว่าคนก็จะเลือกขึ้นนะ คือประสบการณ์การดูหนังในโรงยังเป็นสิ่งที่คนประทับใจ ถามว่าคนยังรักการดูหนังในโรงไหม เราเชื่อว่าคนยังรักอยู่ แต่ถามว่าสตรีมมิ่งมีผลไหม มี พี่ว่าเราพูดถึงเราในฐานะผู้บริโภค เราว่าเราเลือกมากขึ้น มันก็จะมีขั้นตอนการไปสู่โรงหนังช้าลงสำหรับหนังจำนวนมาก โอเคอย่างหนังอเวนเจอร์ภาค 5 มา กูไปเลย ไม่ต้องรออะไรทั้งสิ้น แต่ไอ้ประเภทที่จะมีจังหวะชะงัก เช่น Black widow ลงดิสนีย์พลัส หลุดมาแล้ว หรือยังไม่หลุดแต่ลงดิสนีย์พลัสพร้อมลง คนจำนวนหนึ่งก็จะเริ่มรู้สึกว่ารอดูดิสนีย์พลัสไปก็ได้ ประหยัดเงินไปตั้ง 300 กว่าบาท มันจะมีจังหวะชะงัก หนังที่กระทบแน่ ๆ ก็คือหนังกลาง หนังเล็ก หนังแบบ Doc club ก็จะกระทบแน่นอนถ้ามันดูแล้วแบบมันก็ไม่ได้ดึงดูดขนาดนั้นเท่าไร เดี๋ยวรอดูก็ได้ เดี๋ยวเดือนหน้าเขาก็เอาลงแล้ว มันก็จะกระทบแน่ ๆ

ฉะนั้นการปรับตัวของ Doc club จะเป็นอย่างไรต่อไป

นั่นน่ะสิ (หัวเราะ) ยังมองๆ อยู่ แต่พี่ก็รู้สึกว่ายังต้องสร้างสมดุลคอนเทนต์ทั้งสองทาง ตรงนี้ล่ะที่จะย้อนกลับไปคำถามตอนต้นว่า สิ่งที่เราจะเลือกมันอาจจะต้องมองถึงความเหมาะสมกับแพลตฟอร์มมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าหนังที่จะเข้าโรงก็ต้องมีศักยภาพของการเป็นหนังโรงมากขึ้น ที่ผ่านมา พี่เองยังเป็นเลย มาย้อนดู ฉันเอาหนังเรื่องนี้เข้าโรงทำไม (หัวเราะ) ใครจะดูวะ มันก็เลยจะต้องคิดเรื่องนี้ให้ละเอียดมากขึ้น กับสองคือจังหวะในการเปิดตัวนี้ ปล่อยตัวโน้น เปิดพร้อมกัน หรือเราต้องการอะไรจากมัน ลองขบคิดกับมันมากขึ้น

วิธีการคัดเลือกภาพยนตร์สไตล์ Doc club เป็นอย่างไร

หลักๆ ตอนนี้ก็เลือกหนังที่ดูมีศักยภาพทางธุรกิจพอสมควรล่ะ จริงๆ จะมีหนัง 2 แนวที่เราเลือกล่ะ ก็คือหนังที่เราคาดว่ามันน่าจะมีศักยภาพทางการทำรายได้เวลาเข้าโรง สารคดีก็ต้องเบอร์รางวัลหน่อย อย่าง collective หรือ king maker แบบดึงดูดใจมากๆ ใหญ่ๆ นิดนึง หรือหนังนอกกระแสที่เราดูว่ามันได้น่ะ เช่น ตอนนี้ซื้อ drive my car หนังญี่ปุ่นที่ได้รางวัลที่คานส์ แต่มันก็จะมีหนังอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ต้องคิดถึงศักยภาพโรงมาก แต่คิดถึงอย่างอื่น เช่น เรื่องนี้เหมาะกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เรื่องนี้เหมาะเอามาทำประเด็นทางสังคม เรื่องนี้เหมาะเอามาจัดฉายออนไลน์แล้วมีกิจกรรมแบบนี้

การเปิด Doc club and pub มันช่วยเติมเต็มอะไรให้กับตัวเราเองบ้าง

ฟินมากๆ (หัวเราะ) อย่างที่บอกว่ามีความฝันอยากทำโน่นทำนี่มาหลายแบบเนอะ แต่พอถึงที่สุดแล้วในแง่ที่เราโตมากับการดูหนัง เรารักบรรยากาศการดูหนัง ก็รู้สึกว่าสุดท้ายมันครบวงจร เราโตมากับการดูหนัง เราได้ไปเขียนบทความวิจารณ์หนัง เราไปทำคอนเทนต์หนัง เราไปสัมภาษณ์ผู้คนทำหนัง วันหนึ่งเราเอาหนังที่เราอยากดูเข้ามาจัดจำหน่าย วันหนึ่งเรามีพื้นที่เล็กๆ ที่มันเหมือนเราได้กลับไปเป็นคนดูในวันที่เราเริ่มต้นอีกครั้ง พี่ว่ามันก็ครบวงจรแล้ว ก็โอเคที่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำค่อนข้างครบ ถือเป็นความเติบโตอีกระดับหนึ่งและเป็นความท้าทายด้วยล่ะ เพราะธุรกิจประเภทเป็นเจ้าของร้าน เราไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต ก็ไม่คิดว่าจะทำได้ ก็ลองดู สนุกดี

พิสูจน์อักษร : กนก อำนวยพร

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า