“กรุงเทพฯ เขียวแล้ว เขียวอยู่ แล้วจะเขียวต่อยังไงได้บ้าง?” ชวนดูทิศทางนโยบายพื้นที่สีเขียวต่อจากนี้ของผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’

เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้วที่ผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ทำงานแล้ว ทำงานอยู่ และทำงานอย่างต่อเนื่อง ถ้าตื่นมาตอนเช้าไม่เจอไลฟ์วิ่งของท่าน ก็เจอไลฟ์ลงพื้นที่ทำงานตั้งแต่เรายังไม่ลุกออกจากเตียงนอน เดินไปทุกที่ ตะลุยทุกหย่อมหญ้า ฝนตกน้ำท่วมจนผู้คนก่นด่าก็มิหวั่น ยังคงทำงาน ทำงาน และทำงานต่อไป !

พอวันเวลาวนเวียนมาบรรจบครบปีก็ได้เวลาตรวจการบ้าน หลากหลายนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ก็ดำเนินการไปแล้วครบถ้วน อย่างเช่น นโยบายสิ่งแวดล้อมดี ที่ว่าด้วยเรื่องของการขยับขยายพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีในป่าคอนกรีตแห่งนี้ได้โดยง่าย

จากการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา ชัชชาติ และกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการ ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น’ ไปแล้วกว่า 4 แสนต้น รวมถึงนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ที่เริ่มดำเนินการกว่า 100 แห่ง เสร็จสิ้นพร้อมใช้ 28 แห่ง (คิดเป็นพื้นที่ 26 ไร่) และ Pet Park หรือสวนสาธารณะที่พาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้อีก 5 แห่ง ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงมาใช้บริการสวนเหล่านี้แล้วมากกว่า 4,500 ตัว

แต่มันยังไม่จบเท่านี้ เพราะเป้าหมาย 4 ปีของผู้ว่าฯ คือการปลูกต้นไม้ให้ได้ครบ 1 ล้านต้น แปลว่าเหลืออีก 6 แสนต้นใน 3 ปี และเป้าหมายสวนสาธารณะ 15 นาที 500 สวนทั่วกรุง โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว 1 ใน 5 ของเป้าหมายทั้งหมด ยังเหลืออีก 400 สวน ที่ต้องดำเนินการสร้างให้ได้ เพื่อให้พื้นที่สีเขียวเข้าใกล้ ‘คนกรุง’ มากกว่าที่เคย 

เวทีเสวนา ‘กรุงเทพฯ…เขียวได้อีก (?)’ ในงานนิทรรศการกรุงเทพมหานคร ‘BMA EXPO 2023’ ได้ให้คำตอบนี้กับเราได้อย่างกระจ่างชัด จากผู้ร่วมเสวนาทั้ง 5 ท่านอย่าง ‘ยศพล บุญสม’ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม We!Park, ‘ผศ.ดร. กนกวลี สุธีธร’ อาจารย์ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ‘อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้’ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ‘สันติ โอภาสปกรณ์กิจ’ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ และ ‘นำชัย แสนสุภา’ นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) มาดูกันว่ากรุงเทพฯ จะเขียวได้อีกอย่างไรกันบ้าง

ความท้าทายของการสร้าง ‘สวน’ ให้มากขึ้นใน ‘เมือง’ ที่เติบโตขึ้นทุกวัน

คุณยศพลให้มุมคิดว่า พื้นที่ที่น่าสนใจในการนำมาสร้างสวนสาธารณะมากที่สุด คือพื้นที่รกร้าง ซึ่งหมายถึงพื้นที่ว่างไร้ประโยชน์ใช้สอย หากนำมาทำเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จุดที่ยากกว่านั้นคือ บางครั้งการสร้างสวนสาธารณะใน ‘อดีต’ พื้นที่รกร้างเก่า ก็อาจจะเป็นแดนสนธยาเกินกว่าจะให้ผู้คนกล้าเข้ามาใช้สอย อีกไอเดียที่น่าสนใจคือการนำพื้นที่สีเขียว ไปสอดแทรกตามระหว่างเมืองแทน ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน เวลาหลังเลิกงาน พื้นที่เหล่านี้ก็จะเป็นจุดพักผ่อนของผู้คนยามเหนื่อยล้าจากการทำงาน หรือเป็นพื้นที่ออกกำลังกายใกล้เมืองได้

ส่วนคุณกนกวลีมองว่า การสร้างสวนในเมืองคือสิ่งสำคัญ เพราะในปัจจุบันคนไทยกว่า 50% ของทั้งประเทศอาศัยอยู่ในเมืองกันหมดแล้ว นั่นแปลว่าพื้นที่ที่ควรเติบโตไปพร้อมกันกับพื้นที่อาศัย  คือพื้นที่สีเขียวในเมือง ที่ไม่ใช่เพียงประโยชน์ของการพักผ่อน แต่ยังเป็นประโยชน์ของสุขภาพผู้คนในเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเดิมของการสร้างสวนสาธารณะ อย่างการอ้างอิงพื้นที่อาศัยรอบข้าง ว่าต้องมีจำนวนคนอย่างน้อยเท่าไร ถึงจะสร้างสวนใกล้เคียงได้ หรือขนาดของสวนต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่าเท่าไร กลับกลายเป็นหล่มของการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวใหม่ ๆ ในเมือง จึงนำมาซึ่งการนิยามกฎเกณฑ์ใหม่ของพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างสวนสาธารณะในยุคใหม่ ทั้งความหลากหลายของพื้นที่ ที่มนุษย์ สัตว์ หรือพันธุ์พืช สามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงต้องมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด และมีความยั่งยืนในพื้นที่ ที่หมายถึงต้องดูแลรักษาได้ง่าย อีกทั้งชุมชนรอบข้างต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างสูงสุด เพื่อให้เป้าหมายของกฎเกณฑ์ทั้งหมดข้างต้นเกิดขึ้นได้จริง

คุณอดิศักดิ์จึงได้สำรวจพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะพัฒนาสวนใหม่ ๆ ให้ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น โดยก่อนที่สวนจะใกล้เพียง 15 นาที จากทุกจุดในกรุงเทพฯ นั้น ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เมื่อปี 2565 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการเข้าถึงสวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 4.5 กม. หรือ 60 นาที ซึ่งยังเป็นค่าที่สูงกว่ามาตรฐาน WHO ถึง 9 เท่า แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อเป้าหมายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ไอเดียหลักในการสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ นอกจากการนำพื้นที่รกร้างมาใช้อย่างที่คุณยศพลบอกแล้ว หากนำไอเดียจากต่างประเทศมาใช้ เช่น นำพื้นที่ใต้ทางด่วน หรือบนทางด่วน พื้นที่โล่งตามผังเมืองรวม หรือการขอใช้พื้นที่ให้สาธารณะทำเป็นสวนอย่างพื้นที่ราชการ พื้นที่ของทหาร พื้นที่สนามกอล์ฟ หรือง่ายที่สุดอย่างพื้นที่ในโรงเรียน และวัดใกล้บ้าน สวนหลังคาบนอาคารขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ริมถนนสายประธาน เหล่านี้ล้วนแปลงเป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองได้ทั้งนั้น ซึ่งจะยิ่งที่ทำให้เป้าหมายของสวน 15 นาที นั้นชัดเจนขึ้นว่าน่าจะทำได้จริง ๆ

มากไปกว่านั้นกรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยพื้นที่อีกมากมายที่เราสามารถแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไปได้เกือบทุกหย่อมหญ้า ซึ่งคุณอดิศักดิ์ระบุไว้ว่า มีถึง 21 ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ นอกจากพื้นที่ที่กล่าวไว้เมื่อครู่ ทั้งสะพานลอย จุดรอรถเมล์ ลานจอดรถ ร้านสะดวกซื้อ พื้นที่ว่างระหว่างรั้ว พื้นที่ว่างตามกฎหมายอาคาร พื้นที่สีเขียวในอาคาร ริมคลองทั่วไป หรือแม้กระทั่งแปลงเกษตรในบ้านก็ตาม ที่ถึงแม้บางพื้นที่สีเขียวจะเข้าไปใช้งานไม่ได้ หรือเล็กเกินกว่าจะใช้งานจริง เราก็ยังใช้งานได้ผ่านสายตา นั่นคือ เขียวด้วยตา ก็ยังถือเป็นพื้นที่สีเขียวเช่นกัน

ซึ่งถ้าหากเรานำพื้นที่เหล่านั้นมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างเมืองสีเขียวได้จริง เป้าหมายของสวน 15 นาที จะกลายเป็นเป้าหมายที่ง่ายไปในทันที แต่ก็ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจะไปถึงจุดนั้นอย่างเร็วที่สุดได้อย่างไรบ้าง เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งประชาชน และบรรลุเป้าหมาย โจทย์ของกรุงเทพฯ ตอนนี้จึงเป็นการ Scale-up ไปสู่เป้าหมายนั่นเอง

คุณสันติได้ชี้แนวทางการหาพื้นที่มีทำสวนเพิ่มเติม จากการตั้งต้นตัวเลข 500 สวน จึงเกิดเป็นหลากหลายสมการที่ตอบโจทย์นี้ได้อย่างชัดเจน ทั้ง ‘50 คูณ 10’ นั่นคือ ผ.อ. เขตทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ มีหน้าที่หาพื้นที่ 10 พื้นที่ มาเสนอส่วนกลาง สำหรับการสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อไป หรือ ‘5 คูณ 100’ นั่นคือการสร้าง หรือพัฒนาสวนสาธารณะให้ตอบสนองคนยุคนี้มากขึ้น จาก 100 สวนในวัด หรือโรงเรียน, 100 ลานกีฬาสีเขียว, 100 สวนจากพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่การเกษตร, 100 สวนจากพื้นที่รัฐ เอกชน และประชาชน และ 100 สวนเดิมที่พัฒนาให้กลายเป็นสวนใหม่ ก็ได้ครบ 500 สวนพอดี

ซึ่งเมื่อลงลึกไปถึงรายละเอียดก็พบว่า หากเรามีการทำงานอย่างเป็นระบบ และผู้คนทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน เป้าหมาย 500 สวน ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และมีทางจะเป็นไปได้มากกว่าเป้าหมายเสียด้วยซ้ำ จากโจทย์ 100 สวน จากวัดและโรงเรียน ที่ทั่วกรุงเทพฯ มีโรงเรียนกว่า 1,400 แห่ง สถาบันอุดมศึกษา 75 แห่ง และวัดกว่า 400 แห่ง รวม ๆ เกือบ 2,000 แห่ง หากกรุงเทพขอพื้นที่เหล่านี้เพียง 5% ก็อาจไม่ใช่เรื่องยาก

หรือพื้นที่ลานกีฬากว่า 1,000 แห่งทั่วกรุง หากขอพื้นที่เพียง 10% มาใช้เป็น 100 สวน จากลานกีฬาสีเขียวก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน อีกทั้งพื้นที่รกร้างทั่วกรุงกว่า 122,000 แปลง และพื้นที่เกษตรกรรม 44,000 แปลง ก็สามารถขอมาใช้เป็นพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะได้อีกด้วย

ควบคุมทั้ง ‘คุณภาพของสวน’ และ ‘ปริมาณของสวน’ ไปด้วยกัน

คุณยศพลกล่าวว่า ในแง่เป้าหมายพื้นที่สีเขียวอย่าง ‘สวน 15 นาที’ ที่ต้องการสร้างให้ถึง 500 สวน ถือเป็นการตั้งหมุดหมายที่ดีในแง่ปริมาณ แต่จะทำอย่างไรให้มีตัวชี้วัดความสำเร็จด้านคุณภาพควบคู่ไปด้วย จึงเกิดเป็นการสร้างเกณฑ์มาตรฐานคร่าว ๆ ที่สวน 15 นาทีต้องมีร่วมกัน เช่น ด้านการออกแบบสวนต้องตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานทั่วไปในหลากหลายช่วงอายุ หรือผู้พิการ เดินทางง่าย มีพื้นที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรม มีพื้นที่ร่มเงาเพียงพอ หรือต้องปลอดภัยต่อการใช้งานแต่ละช่วงวัน เป็นต้น

รวมถึงยังต้องมีการกำกับดูแลตลอดการสร้างใหม่ทั้งขบวน ซึ่งในอดีตการสร้างสวนอาจเกิดจากการหาพื้นที่ ออกแบบ แล้วสร้างเลย เมื่อตกผลึกระบบใหม่ สวน 15 นาทีที่ดี จำเป็นต้องเกิดจากการอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจครบถ้วน ทั้งการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม หรือการออกแบบอย่างพิถีพิถัน รวมถึงต้องมีการทดลองใช้เพื่อรับฟังความเห็นผู้ใช้ก่อนการสร้างจริง  ต้องมีการจัดสรรบุคลากรที่รับหน้าที่ดูแลสวนอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก และมอบรางวัลดีเด่นแก่สวนที่ผ่านเกณฑ์ครบถ้วน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่น ๆ

ซึ่งในอนาคตก็อาจจะเกิดการทำงานอย่างเป็นระบบที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น อย่างแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการประจำกลุ่มเขตต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน สมาคมวิชาชีพ ประชาสังคม และมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อรับหน้าที่วางแผน พัฒนาต้นแบบ ประสานความร่วมมือ หรือเร่งรัดหน่วยงานในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตของตัวเองอย่างเต็มระบบ

ส่วนคุณนำชัย ก็ให้มุมมองในเรื่องของความยุ่งยากของการไปสู่เป้าหมาย ที่แม้ว่าจะได้พื้นที่อย่างครบถ้วน แต่การได้มาซึ่งสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวเต็มรูปแบบนั้นอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 4 ปีของผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ทั้งจากกระบวนการการทำสวนสาธารณะเมื่อก่อน ที่อาจจะไม่ได้มีการวางโครงสร้าง หรือวิธีการทำงานที่รัดกุมมากเพียงพอ ทำให้สวนสาธารณะในอดีตโดยรวมอาจจะมีปัญหาบางอย่างที่รอการแก้ไขอยู่เสมอ 

ประการหนึ่งที่คุณนำชัยกล่าวถึงคืองบประมาณในการดูแลรักษาสวนสาธารณะ ที่เขาบอกว่าไม่เคยมีงบประมาณเหลือเพียงพอต่อการดูแลรักษาเลย ซึ่งก็อาจจะมีได้จากหลายปัจจัย ทั้งความไม่รอบคอบ หรือไม่ได้จัดสรรผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เพื่อกำกับดูแลการทำสวนสาธารณะทั้งกระบวนการที่ดีพอ

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ใหม่ ๆ ในการสร้างสวนสาธารณะในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้คนทำงานทุกฝ่าย และมีการกำกับดูแลทั้งกระบวนการอย่างรัดกุมมากที่สุด เพื่อทำให้งบประมาณที่ลงทุนไปกับสวนสาธารณะทั้งหมดไม่สูญเปล่า

คุณนำชัยยกตัวอย่างสวนเจ๋ง ๆ ในเมืองกรุง ว่าต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมมือกับภาคเอกชนเอง หรือทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน อย่างสวนป่าเบญจกิติเอง เดิมทีเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ที่ดูแลทั้งกระบวนการสร้างสรรค์ จนกระทั่งสร้างเสร็จ จึงมอบพื้นที่ให้ทาง กทม. ดูแลต่อไป

หรืออย่างไอเดียของการผสานสวนใกล้เคียงอย่าง สวนจตุจักร สวนวชิรเบญจทัศ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เข้าไว้ด้วยกัน ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่รอการดำเนินการอยู่ จากการมองเห็นถึงจุดเด่นที่แตกต่างกันของทั้ง 3 สวน ในแง่ของสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อผู้ใช้งาน หรือวิธีคิดในแต่ละสวน ซึ่งหากเราสามารถรวมทั้ง 3 สวน ให้กลายเป็น 1 สวนได้ ก็จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน และสิ่งที่ตามมาคือเราจะได้สวนสาธารณะแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และได้เส้นทางวิ่ง รวมถึงเส้นทางจักรยานกว่า 10 กม. โดยมีจุดที่ต้องพัฒนาร่วมกันเพิ่มเติมคือ การปิดใช้ถนนกำแพงเพชร 3 ซึ่งเป็นถนนคั่นระหว่างสวนจตุจักร และสวนที่อยู่ตรงข้ามกันทั้ง 2 สวน เพื่อเชื่อมทั้ง 3 สวนให้เป็นสวนเดียวกัน และใช้ถนนเป็นทางเข้าเฉพาะรถฉุกเฉิน หรือ BRT เท่านั้น เราก็จะได้พื้นที่กิจกรรมในสวนสาธาณะเพิ่มเติมได้อีก

ความหมายที่มากกว่าสวนของ ‘พื้นที่สีเขียว’

คุณกนกวลีเสนอแนวคิดที่น่าสนใจของสวนสาธารณะในต่างประเทศ ว่าเป็นพื้นที่สีเขียวที่ทั้งคน และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ อย่างการที่สวนบางแห่งในต่างประเทศมีตอไม้ หรือชิ้นส่วนของไม้ล้มวางอยู่ในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ความเลินเล่อที่ไม่ได้เก็บชิ้นส่วนไม้ล้มนั้นออกไป หรือตัดตอไม้ให้พื้นที่เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น แต่พวกเขาเก็บตอไม้เหล่านั้นไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อย่างนก หรือแมลงนั่นเอง

หรืออย่างสวนสาธารณะในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ บางแห่งก็มีพื้นที่ให้สัตว์ได้อยู่อาศัยอย่างจริงจังเช่นกัน อย่างเช่น พื้นที่สำหรับงูที่มีป้ายเตือนติดอยู่อย่างชัดเจน และมีพื้นที่กั้นระหว่างพื้นที่สำหรับมนุษย์ และพื้นที่สำหรับงู เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์และงู

หรือกรณีของการใช้สวนสาธารณะหรือป่า ในการเป็น ‘Green Belt’ หรือแนวกันชนสีเขียว ซึ่งมีไว้สำหรับจำกัดการขยายตัวของมหานครใหญ่ ๆ อย่างเช่นในมหานครลอนดอน ซึ่งมีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 กรุงเทพมหานครของเราก็มีแนวคิดในการพยายามทำแบบลอนดอนเหมือนกัน โดยใช้พื้นที่แถวตลิ่งชัน และมีนบุรี ไปจนถึงลาดกระบัง เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งก็ยังเป็น Green Belt แบบไม่มั่นคงนัก เนื่องจากยังมีคนไปสร้างที่อยู่อาศัยบางประเภท ทั้งที่ผังเมืองห้ามไว้

กรณีศึกษาน่าสนใจของ ‘พื้นที่สีเขียว’ ทั้งไทยและต่างประเทศ

พื้นที่สีเขียวในบริบทเมืองเป็นหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการสร้างระบบนิเวศระหว่างคน เมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเต็มไปด้วยความเฉพาะตัว วิถีชีวิตและแนวคิดของคนที่แตกต่างกัน แต่ก็มีสิ่งสำคัญร่วมกันคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในตัวเมือง

คุณยศพลยกตัวอย่างกรณีศึกษาของสวนสาธารณะในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เขาสังเกตว่ามีจุดร่วมบางอย่างของแต่ละสวนในเมืองที่เหมือน ๆ กัน จนตกผลึกเป็นองค์ประกอบของสวนใกล้บ้านในเมืองปารีสคร่าว ๆ เช่น สวนสาธารณะในกรุงปารีสมีความปลอดโปร่ง หากมีรั้วล้อมรอบก็เป็นเพียงรั้วเตี้ย ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อให้คนข้างนอกมองเห็นคนในสวนได้ง่าย ๆ เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงมีพื้นที่ธรรมชาติที่ให้โอกาสสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้อยู่อาศัยภายในสวนอีกด้วย

หรืออย่างกรณีของ ‘สวนสาน’ หรือสวนสาธารณะทดลองย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี ที่เกิดจากพื้นที่รกร้างของเอกชน และถูกนำมาแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่สอดแทรกทั้งพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทำกิจกรรม ซึ่งจากการทดลองเปิดใช้ชั่วคราว ก็ได้ผลตอบรับที่ดีและเป็นหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจในย่าน จนตอนนี้ก็ได้งบประมาณ และรอการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะที่ถูกใช้งานจริงต่อไป

ในขณะเดียวกัน คุณกนกวลีก็นำเสนอตัวอย่างที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ทั้งจากซานฟรานซิสโกเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินอันจำกัดในยุคนั้นไปกับการสร้างถนน ไฟฟ้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของเมือง จนไม่มีงบมาใช้กับพื้นที่สีเขียว สุดท้ายพื้นที่สีเขียวในเมืองยุคน้้นเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนรวมกลุ่ม ขอพื้นที่ไปยังรัฐและช่วยปลูกกันเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่อย่างน้อยก็มีผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

หรืออย่างเป้าหมายของสวน 15 นาที 500 สวนทั่วกรุง ภายใน 4 ปี บางคนอาจคิดว่าทำไม่ได้ แต่ก็เคยเกิดขึ้นได้จริงแล้วที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน กับโครงการสวน 1,000 สวน ซึ่งมีทั้งสวนขนาดใหญ่และสวนขนาดเล็ก แต่เหตุผลของความเป็นไปได้คือการสร้างสวนขนาดเล็กราว 300-500 ตารางเมตร เป็นหลัก โดยเน้นให้เข้าถึงง่าย อยู่ใกล้ชุมชน หรือนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นของผู้ว่าฯ ใน 4 ปี ที่มาได้ถึงเกือบครึ่งทางในระยะเวลา 1 ปี ก็ดูไม่ใช่เรื่องยากที่จะเป็นไปตามเป้าในระยะเวลา 4 ปี และอาจจะตั้งเป้าหมายใหม่ให้ท้าทายมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองก็คงหนีไม่พ้นการนำพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น มาผสานสร้างร่วมกันกับเมือง ซึ่งแน่นอนว่าสวนสาธารณะแบบเดิมก็ยังคงจำเป็น แต่หากจุดไหนก็ตามในกรุงเทพที่พอจะใส่ ‘สีเขียว’ ลงไปแต้มได้บ้าง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อย่างน้อยก็ทำให้สายตามองเห็นสีสันอื่น ๆ ที่น่าอภิรมย์ นอกจากสีขุ่นจากฝุ่นควัน หรือสีดำจากเขม่าที่เปรอะเปื้อนพื้นที่สาธารณะในเมือง ซึ่งเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจากวิสัยทัศน์ หรือวิธีการมองเมืองแบบใหม่ในสายตาคนทำงานภาครัฐของ กทม. ยุคนี้ จะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น

และกรุงเทพฯ ก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมา

ขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook กรุงเทพมหานคร / thaipbs / thaiappraisal