โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเหมือนไดอารี่ชีวิตส่วนตัวของแต่ละบุคคล บางคนเลือกที่จะบันทึกความทรงจำ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ลงในสื่อสังคมออนไลน์ หรือบางคนก็เลือกที่จะเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตที่ตัวเองพบเจอในโลกกายภาพ และบางคนก็อาจนำเรื่องของคนอื่น ๆ ที่เห็นในโลกออนไลน์มาเป็นเรื่องสนุกของตัวเอง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ของการระบายความอัดอั้นตันใจ หรืออาจรุนแรงไปถึงการนำเสนอภาพการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงบางครั้งพื้นที่ออนไลน์ก็กลายเป็นพื้นที่ของการหยิบยกเรื่องราวสะเทือนใจมานำเสนอซ้ำ ๆ เช่น ภาพอุบัติเหตุ ภาพบุคคลที่ฆ่าตัวตาย และภาพที่สะเทือนใจผู้รับชมอีกหลาย ๆ คน แต่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์กลับลืมนึกถึงประเด็นสำคัญไปอย่างหนึ่ง เมื่อเรื่องราวของ “ผู้เสียชีวิต” เหล่านั้นที่ถูกหยิบมานำเสนอซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะทั้งในสื่อออนไลน์เองก็ดี หรือในสื่อมวลชนทั่วไปที่ถูกมาผลิตซ้ำลงในสื่อออนไลน์เองนั้น กลายเป็นเหมือน “ร่องรอยดิจิทัล” ที่วนกลับมาทำร้ายจิตใจของครอบครัว หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต
ร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล (2562) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ร่องรอยดิจิทัล คือ ร่องรอยที่ผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์กระทำการต่างๆ ในโลกดิจิทัล เช่น การใช้งานอัปโหลดข้อมูลส่วนตัว ไฟล์งาน รูปภาพ การใช้งานสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ โดยระบบต่าง ๆ ของอินเทอร์เน็ตจะบันทึกข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น ชื่อ และข้อมูลส่วนตัว วันเดือนปีเกิด ตำแหน่งงาน ผลงาน ข้อมูลการศึกษา ประวัติส่วนตัว ของผู้ใช้งาน ร่องรอยดิจิทัล สามารถบอกให้ผู้อื่นทราบถึงสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่สนใจ และสิ่งที่เราอยากทำ แต่ในปัจจุบันร่องรอยดิจิทัลยังรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ของตนเองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าข้อความนั้นจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหน รูปร่างลักษณะจะเป็นแบบไหน เป็นข้อความตัวหนังสือ ข้อความภาพ หรือวิดีโอ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นร่องรอยดิจิทัลของเราได้ทุกเมื่อ

โลกออนไลน์เปรียบเสมือนคลังข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ทุกคนล้วนมีห้องสมุดเป็นของตนเอง แม้ว่าห้องสมุดนั้นเราจะเปิดให้เฉพาะคนไม่กี่คนเข้าไปเยี่ยมชม แต่ว่าบางครั้งก็มีหนังสือที่หลุดลอดออกไปจากห้องสมุด และนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ที่เกิดจากความคิดเห็นของเราที่ต่างไปจากความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่
ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล (2562) ได้กล่าวว่า ร่องรอยดิจิทัล จึงเหมือนสมุดบันทึกที่สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้งานร่องรอยดิจิทัล มี 2 ประเภทคือ

- ร่องรอยดิจิทัล ที่ผู้ใช้เจตนาบันทึก (Active Digital Footprints) ร่องรอยดิจิทัล ของผู้ใช้งานที่เจตนาบันทึกไว้ในโลกออนไลน์ ข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผยโดยที่รู้ตัว เช่น อีเมล เบอร์โทร ชื่อโปรไฟล์ เฟซบุ๊ก หรือสิ่งที่เราตั้งใจโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เช่น สิ่งที่เราพูดหรือโพสต์ รูปที่เราเคยลง สิ่งที่เรากดไลก์ รีทวิต หรือแชร์ ที่ตั้งสถานที่ที่เราอยู่หรือเคยไป
- ร่องรอยดิจิทัล ที่ผู้ใช้ไม่เจตนาบันทึก (Passive Digital Footprints) ร่องรอยดิจิทัล ของผู้ใช้งานที่ไม่มีเจตนาบันทึกเอาไว้ในโลกออนไลน์ หรือข้อมูลแบบที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้รู้ตัว เช่น IP Address หรือ Search History ต่าง ๆ ที่เราถูกจัดเก็บเอาไว้ สิ่งที่เราเคยคลิกเข้าไป การซื้อสินค้าออนไลน์ของเรา การเปิดระบบ GPS เป็นต้น

ทั้งนี้แล้วร่องรอยดิจิทัลไม่ได้บันทึกไว้แค่เรื่องราวของผู้เสียชีวิตเท่านั้น เรื่องราวของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์คนอื่น ๆ ที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเหมือนพื้นที่แห่งความบันเทิงจนลืมนึกถึงความเป็น “คน” ของเรื่องราวของผู้ล่วงลับไปแล้ว
ในกรณีที่กลายเป็นกระแสระดับประเทศของดาราชื่อดังที่เสียชีวิต ผู้คนในสังคมทั้งในโลกกายภาพและออนไลน์ ต่างออกมาพูดถึงผู้เสียชีวิตทั้งในด้านดีและด้านร้าย การพยายามหยิบเรื่องราวของผู้เสียชีวิตมาพูดกันเป็นเรื่องตลกขบขัน และสิ่งสำคัญของปัญหาดังกล่าวมักมาจากความเห็นทางการเมือง และความเชื่ออื่น ๆ เช่นในบทความเรื่อง “18 บทเรียนสังคมไทย…เห็นอะไรจากการสูญเสีย “แตงโม”” โดย สำนักข่าวอิศรา
การขุดคุ้ยถึงภูมิหลังของตัวแตงโมเอง รวมทั้งครอบครัวและญาติใกล้ชิด และเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเสียหายต่อผู้ที่ถูกขุดคุ้ยอดีต ทั้งที่บางเรื่องไม่ควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกลั่นแกล้งผู้ตายที่ไม่มีสิทธิ์จะลุกขึ้นมารักษาสิทธิของตนเอง
นอกจากนี้แล้ว คนในสื่อสังคมออนไลน์หลาย ๆ คนเองก็ต่าง หยิบเรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณ หรือชีวิตหลังความตายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกยอดผู้ชม หรือความนิยมของคนในสังคม ทั้งการกล่าวถึงผู้เสียชีวิตว่าติดต่อมาหา หรือเรียกร้องเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดล้วนแล้วแต่ขาดความน่าเชื่อถือ และเปรียบเสมือนการไร้ความเห็นอกเห็นใจทั้งผู้เสียชีวิตและครอบครัว
แม้ว่าคุณแตงโมได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ร่องรอยทางดิจิทัลที่เธอเคยฝากไว้บนสื่อโซเชียลยังคงอยู่ และถูกนำมาเปิดเผยแทบจะหมดเปลือกโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานสวบสวน ซึ่งนอกจะอ่อนไหวต่อการละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้ตายแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าโลกออนไลน์ไม่มีวันเป็นโลกที่เป็นส่วนตัว และร่องรอยดิจิทัลของเธอบนสื่อโซเชียลยังคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าเธอจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
สุดท้ายนี้ข้อมูลต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ผู้ใช้งานต้องระลึกไว้เสมอว่าข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดนั้น จะกลายเป็นร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) ที่ติดตัวผู้ใช้งานไปเสมอ จนกว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกลบออกไปอย่างถาวร ดังนั้นผู้ใช้งานต้องปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตนเองเป็นสำคัญ ทั้งปกป้องชื่อเสียงของตนเอง จัดการข้อมูลส่วนตัว ปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน และรักษาอิสระภาพและความเป็นส่วนตัว

แม้ว่าร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) จะดูเหมือนเป็นด้านลบมากกว่า แต่แท้จริงแล้วการโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอในพื้นที่สังคมออนไลน์ก็เปรียบเสมือนการนำเสนอตัวตนของตนเองออกมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งนี้เราไม่สามารถเลือกตัดสินใครสักคนในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน การสั่งสมประสบการณ์หรือความรู้เพิ่มเติม จะส่งผลให้เราเรียนรู้ในอดีตที่ผิดพลาดและแก้ไขใหม่ในอนาคตได้ ผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกคนควรพึงระลึกเสมอว่า การหยิบยกอดีตของใครสักคนขึ้นมาเพื่อโจมตีความเห็นต่าง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรื่องราวนั้นคลี่คลายไปแล้ว รอยเท้าดิจิทัลเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกตีตราประทับบนตัวผู้เป็นจำเลยสังคม หรือผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดไป