fbpx

ถอดรหัส Decode สำนักข่าวออนไลน์ผู้สะท้อนสังคมและพลเมืองไทย

แบบจำลอง ของ Lasswell ในปี ค.ศ.1948 กล่าวไว้ว่า
Sender —–> Message —–> Channel —–> Receiver —–> Effect

สมการข้างต้นคือลักษณะของการสื่อสาร ที่สื่อสารมวลชน ในปี ค.ศ.1948 ใช้ ก็คือ ใคร กล่าวถึงอะไร ช่องทางไหน ถึงใคร และ ผลคืออะไร ในแวดวงสื่อ นี้เป็นสมการพื้นฐานที่คนทำสื่อมวลชนต้องรู้ แต่เมื่อคลื่นของสื่อสังคมออนไลน์พัดมา จึงทำให้สมการนี้คงอาจไม่พอแล้วสำหรับการเป็นสื่อมวลชน เมื่อสื่อมวลชนเองก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป

“พี่ว่าบางคนตอนนี้เก่งกว่าสื่ออีกอ่ะ เมื่อก่อนเราคิดแบบเดิมเพราะว่ามันเป็นยุคอุตสาหกรรม พอถึงจุดๆหนึ่ง อย่างเช่นโควิด-19นี้ เราก็เลือกตามหมอที่เป็นรายบุคคลมากกว่ากรมควบคุมโรคด้วยซ้ำ

เหน่ง-อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ บรรณาธิการและโปรดิวเซอร์สำนักข่าวออนไลน์ Decode และรายการ Backpack Journalist ที่บริหารร่วมกับ หนิง-ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้ บอกกับเราถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของวงการสื่อมวลชน ที่คนส่วนใหญ่เลือกจะเชื่อในความรู้เชิงปัจเจกบุคคลมากกว่าเชื่อในองค์กรใดองค์กรหนึ่งเสียด้วยซ้ำ 

คงไม่แปลกอะไรสำหรับโลกที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล ผู้คนต่างหาสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพวกเขาเอาไว้ เพียงแต่สิ่งนั้นมันคงไม่ใช่องค์กรของรัฐอีกต่อไป 

คงจะมีหลายคนสงสัยไม่น้อยว่าสื่อมวลชนทำอะไรกันอยู่ ข้อมูลจากสื่อมวลชนอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับผู้คนอีกต่อไปแล้ว ได้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ลุกออกจากที่นั่งผู้ชม แล้วเดินขึ้นมาบนเวทีเพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้เอง สื่อมวลชนในปัจจุบันไม่อาจเชื่อมต่อกับผู้คนได้แล้ว หลุมกับดักที่สื่อมวลชนต้องเผชิญ ความเสรีภาพในกรอบพาณิชย์ การเมืองกับสื่อที่ถูกปิดเงียบ และสื่อแห่งอนาคต เราลองมานั่งชำแหละวงการสื่อสารมวลชนกัน แล้วตอบคำถามตัวเองดูว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับสื่อกันแน่’ กับหนึ่งในบรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์เพื่อพลเมือง Decode

Sender : ผู้ส่งสาร
“การถอดโจทย์อนาคต Future Journalism for Future Citizen”

‘การถอดโจทย์แห่งอนาคต’ นั่งคิดหัวแทบแตกก็คงคิดไม่ออกว่าควรใช้สมการอะไรถึงจะถูกต้อง แต่เมื่อมีโอกาสได้นั่งคุยถึงจุดเริ่มต้นของ สำนักข่าวออนไลน์ Decode กับเหน่งผู้เป็นหนึ่งใน บรรณาธิการของสำนักข่าวออนไลน์ Decode ที่เริ่มก่อตั้ง เมื่อช่วงปีที่แล้วตอน โควิด-19 ระลอกแรกเริ่มระบาด

“ไทยพีบีเอสมีประเด็นเกี่ยวกับสาธารณะเยอะ สื่อค่ายอื่นๆก็เป็นสื่อเชิงพาณิชย์ อย่างของไทยพีบีเอสเองหรือสำนักเครือข่ายนักข่าวสื่อพลเมืองสาธารณะ ที่สร้างนักข่าวพลเมืองทำเรื่องภาคพลเมือง เราเองก็มีประเด็นสาธารณะมีเครือข่ายอยู่แล้ว ตอนนั้นคิดชื่อไว้ว่า The Citizen ไหม แต่ว่า Target เป็นคนรุ่นใหม่หน่อยเป็นภาคพลเมืองหน่อย นี่คือโมเดลแรกเลย”

นักข่าวพลเมืองก็คือบุคคลที่อยากสื่อสารเรื่องราวและประเด็นของชุมชนตัวเองต่อสาธารณะ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะพัฒนาเป็นผู้ผลิตจนไปถึงผลิตรายการทีวีให้กับไทยพีบีเอส

 Decode จึงใช้โมเดลเดียวกันกับนักข่าวพลเมือง โดยอยากให้ Decode เป็นพื้นที่ของคนที่อยากเป็นนักข่าวและเป็นพื้นที่เชิงความคิดอีกด้วย จึงเปิดพื้นที่ให้คนได้เขียนงานขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องทำงานสายสื่อมวลชนโดยตรง ก็สามารถทำงานกับ Decode ได้

Decode สังกัดอยู่ภายใต้เครือข่าย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ที่มุ่งเน้นเรื่องการเป็นสื่อสาธารณะ เหน่งจึงเล็งเห็นช่องว่างระหว่างสื่อมวลชนในกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ที่ยังคงขาดประเด็นของเรื่องภาคพลเมืองอยู่ และด้วย ไทยพีบีเอส ก็มีเครือข่ายเกี่ยวกับภาคพลเมืองอยู่จำนวนมาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะจัดตั้ง Decode ขึ้น

ทีม Decode และ Backpack Journalist ชุดก่อตั้งเริ่มแรก

“พลเมืองแห่งอนาคตที่ไม่ติดกับดักกับปัญหาเดิม มีความรู้อยู่รอดเท่าทันและมีความคิดเชิงวิพากษ์และมีส่วนรวมในการออกแบบสังคมแห่งอนาคต”

กลุ่มเป้าหมายหลักของ Decode ก็คือกลุ่มคนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ที่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาและรู้เท่าทันกลไกลของสังคม เพื่อสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา

Decode จึงมุ่งเน้นเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมือง มองผู้รับสารในสถานะพลเมือง ไม่ใช่ผู้บริโภค 

รวมถึงอยากให้เป็นพื้นที่ของการสร้างนักข่าวแห่งอนาคตอีกด้วย และอยากหาทางออกท่ามกลางวงการสื่อมวลชน ที่สื่อมวลชนรูปแบบเดิมได้สูญเสียการเข้าถึงกับคนไป แต่ในทางกลับกันสื่อสังคมออนไลน์กับสามารถเข้าถึงกับผู้คนได้ดีกว่า เพียงแต่อาจจะขาดซึ่งคุณภาพ หรือขาดความลุ่มลึกของข้อมูล ขาดการตรวจสอบรวมถึงขาดการหาทางออกให้กับสังคมด้วย

“นักเขียนจะมีหลากหลายมากเลยนะ จะมีตั้งแต่เด็กอายุ 14-15 ที่ยังเรียนมัธยมอยู่ จนไปถึงพี่ที่อายุ 40 กว่า ดังนั้นประเด็นเขาก็จะหลากหลาย เช่นบางคนก็สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ บางคนก็สนใจเรื่องการเมือง หรือบางคนสนใจเรื่องนิยายวาย มันจะเห็นคนหลากหลายอยู่ในนี้ แต่ส่วนใหญ่พวกเขาจะมีมุมมองที่ท้าทายกับรัฐอยู่ เราก็จะช่วยให้มุมมองเพิ่มเติมที่เป็นการท้าทายตัวเขาเองด้วย”

เนื้อหาใน Decode จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแบบ 100 เปอร์เซนต์ แต่จะเป็นหัวข้อที่นักเขียนเสนอมา จึงมีหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ประเด็นรัฐสวัสดิการของ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี หรือประเด็นจากมุมมองความเป็นแม่และผู้หญิง วีรพร นิติประภา 

Decode ออกแบบแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลาย จากความคิดของนักเขียนในสังกัด ให้อิสระในการเสนอหัวข้อที่สนใจ แล้วนำมาดูถึงความเป็นไปได้ของประเด็น Decode ไม่ได้จำกัดว่าแค่เรื่องของการเมืองเท่านั้น 

“เรื่องที่นักเขียนเลือกมามันก็สะท้อนถึงภาคพลเมืองมากๆ เลยนะว่าเขาสนใจอะไร แต่คนข้างนอกมักมองว่าเรานั้นเขียนเน้นเรื่องการเมืองแต่เราไม่ได้การเมืองจ๋าขนาดนั้น…”

ความหลากหลายของประเด็นใน Decode ต่างต้องการสะท้อนให้เห็นถึงภาคพลเมืองอย่างแท้จริง การเป็นสื่อมวลชนถ้าหากยึดติดกับชุดความคิดแบบเก่าที่ต้องการสถาปนาตัวเองว่าเป็นกลางนั้น มันคงได้เพียงแค่ความน่าเชื่อถือ แต่ไม่อาจตอบคำถามของประชาชนได้ทั้งหมด

“พี่ก็เห็นว่าการที่เป็นนักข่าวหรือการเป็นผู้ฟังมันมีผลต่อกันละกัน มันเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน มันไม่มีใครที่จะอยู่เฉยๆ ได้ เหมือนแบบเดิมได้แล้ว สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งคนฟัง คนดู คนทำข่าว มันเปลี่ยน สังคมมันจะก้าวไปข้าวหน้า ก็ต่อเมื่อเราสื่อสารอะไรออกมา”

ถึงแม้บางเสียงอาจวิจารณ์ออกมาไม่น่าฟัง แต่สุดท้ายมันก็คือความจริงของสังคม ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา Decode จึงเป็นพื้นที่สำหรับเสียงที่แตกต่างของสังคม เพื่อชี้เป้าให้ผู้คนเห็นถึงปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต 

“พี่ว่าเราอยู่สังคมที่มันเป็นเหมือนโลกคู่ขนานจริงๆอ่ะนะ แต่ถ้ามองว่ามันเป็นเรื่องที่ปกติ กับเรื่องที่เกิดขึ้น ยอมมันว่ามันมีคนที่มันไม่เห็นด้วยกับเราจริงๆ และสะท้อนมันออกมา พี่ว่าอันนี้มันน่าจะเป็นสิ่งที่สื่อควรทำ”

‘การถอดโจทย์อนาคต’ ฟังดูเท่ไม่หยอก คงไม่มีใครคิดว่าในอนาคตโลกเราจะเป็นยังไง เพียงแต่ปลายทางของสังคมแห่งอนาคต คงไม่ใช่การที่มีสูตรสำเร็จมาให้เรา แต่มันคงเป็นการที่ให้เราสามารถสร้างขึ้นเองได้อย่างอิสระ ถ้าหากโลกนี้ไร้ซึ่งการตั้งคำถาม โลกก็จะไร้ซึ่งการพัฒนา การเป็นสื่อมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์นี้เต็มไปด้วยระบบของโครงสร้างในอดีต มองกลับไปก็น่าหัวเราะ เพราะไม่รู้ว่าเป็นระบบที่สร้างมาดีเกินไปหรือเป็นเพียงระบบที่รัดกุมเกินไปกันแน่

Message : ข้อความ
“สื่อเป็นกลางรึเปล่า? ตอนนี้เขาไม่พูดถึงความเป็นกลางแต่เขากำลังพูดถึงความเป็นธรรม ถ้าสมมุติว่ามีคนถามว่าเราจะเป็นกลางแล้ว แล้วจริงๆเราจะอยู่ภายใต้ อะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอ เราจะอยู่เฉยๆแล้วเป็นกลางหรอ?” 

ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ประชาชน ต่างพากันออกมาเรียกร้องถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง และต่อสู้กับระบบที่มีไว้เพื่อปิดปากประชาชน หน้าที่ของสื่อมวลชน คงเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว ข้อเรียกร้องของประชาชนออกมาให้ทุกคนได้รู้รึเปล่า เมื่อสื่อมวลชนจากสถานะที่เป็นคนตั้งคำถาม แต่ตอนนี้สื่อมวลชนกลับกลายเป็นผู้ที่ถูกตั้งคำถามเสียเอง 

“อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยพูดว่าสื่อต้องไม่ใช่แค่กระจกอย่างเดียวแต่ต้องเป็นตะเกียงด้วย แต่ตอนนี้สื่ออาจจะต้องเป็นกระจกอย่างเดียวไหม คือคุณตรงไปตรงมาที่สุด ถ้าถามพี่ สื่อควรเป็นเหมือน Spotlight ที่ส่องไปเลย ส่องไปเรื่อยๆ”

ประชาชนอาจไม่ต้องการแสงเทียนจากสื่อมวลชนที่คอยนำทาง แต่ประชาชนในตอนนี้อยากได้สื่อมวลชนที่สะท้อนเหตุการณ์ตามความจริงออกไป อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ตัวเหน่งเองอยากให้วงการสื่อมวลชนเปรียบเหมือน Spotlight ที่คอยสาดแสงเข้าไปในมุมมืดที่ถูกปิดบังไว้นำออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ร่วมกัน ซึ่งนั้นคงเป็นวัตถุประสงค์ของการมีสื่อมวลชน ที่มีไว้สำหรับสื่อสารความจริงให้กับประชาชน

“พี่คิดว่าเราอยู่ในช่วงที่มันเป็นการต่อสู้ทางความคิด ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย ที่ไม่มีมาก่อน ดังนั้นแล้วสื่อถึงต้องท้าทายตัวเอง และต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา สุดท้ายแล้วสื่อมันเป็นเสรีภาพจริงๆรึเปล่า ดังนั้นเราต้องยอมรับว่าขณะนี้เราอยู่ในสังคมที่มีการต่อสู้ทางความคิดที่รุนแรงที่สุด ทั้งเรื่องของการเมืองเรื่องของช่วงอายุ”

มุมมองทางการเมืองของเหน่งต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ช่วงต้นปีที่ผ่านมากระแสการเมืองในประเทศ เรียกได้ว่าถึงขั้นแตกหักระหว่างคนยุคใหม่กับคนยุคเก่า นี่ไม่ใช่สงครามที่ใช้อาวุธเข้าต่อสู้กัน แต่นี่คือสงครามทางความคิดที่ใช้หลักเหตุและผลในการต่อสู้กัน

“สื่อก็สะท้อนสังคมนั้นแหละ อย่างที่ม็อบระลอกแรกสื่อไหนที่ไม่เสนอก็จะถูกว่ากัน ดังนั้นเสียงของประชาชนจึงสำคัญ แต่ว่าจะส่งเสียงขนาดไหน เพราะส่งเสียงขนาดนี้สื่อหลักยังไม่ทำเลย มันต้องเป็นการต่อสู้ระยะยาว แล้วจริงๆมันจะมีผลต่อกันและกัน อย่างเช่นสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อกระแสรองทำ เดี๋ยวสื่อกระแสหลักก็ตามมันต้องช่วยๆกัน ในการสะท้อนความจริง”

กระแสของประชาชนมีผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ถึงอย่างนั้นแม้ประชาชนออกมาเรียกร้องอย่างมากมาย แต่ยังไม่เพียงพอให้ สื่อมวลชนกระแสหลักนำไปเสนอข่าว ดังนั้นแล้วกระแสสังคมออนไลน์จึงเป็นอีกแรงที่ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักเห็นถึงความเป็นจริงของเหตุการณ์ทางการเมืองนี้

“วิสัยทัศน์ที่น่าสนใจคือ การที่เรายอมรับความหลากหลายที่มันเกิดขึ้นจริงในสังคม มุมมองทางการเมืองที่มันหลากหลาย และปัญหาหลายๆอย่าง ยอมรับว่ามีคนที่มันคิดไม่เหมือนเราจริงๆ แต่เราจะสื่อสารมันออกมายังไง แต่ถ้าดีที่สุดก็คือการสื่อสารมันออกให้ทุกเสียงให้สังคมได้ฟัง โดยเฉพาะว่าเสียงที่เราไม่อยากฟังที่สุด หรือว่าเสียงที่เราไม่เห็นด้วย หรือว่าเสียงที่น่าเกียจน่ากลัว พี่ว่าจริงนี้มันจะเป็นอะไรที่แตกต่างจากเดิม”

ความคิดเห็นทางการเมือง ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า ทุกคนไม่ได้มีความคิดเห็นเหมือนกัน แต่จุดร่วมเดียวกันคือตอนนี้เรากำลังอยู่ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ถึงแม้เสียงเรียกร้องของประชาชน จะดูรุนแรงและน่ากลัว แต่นั้นเพราะประชาชนต้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศเพียงเท่านั้น 

“เขาว่ากันว่าท้ายที่สุดแล้วสื่อกระแสหลักจะโอเคกว่า ถ้าภาวะวิกฤตสื่อออนไลน์จะโอเคและไวกว่า แต่ถ้าเมื่อออกทีวี พอมันเผยแพร่พร้อมกันทั่วประเทศอ่ะ รัฐเขาจะปรับเร็วกว่าเขาก็จะอายมากกว่าเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น มันก็ยังเห็นอิทธิพลของสื่อหลักอยู่แม้ว่าจะน้อยลง และมันจะเห็นชัดๆเวลาที่เกิดปรากฏการณ์สำคัญ สื่อทีวีเป็นสื่อหลักมันต้องพูดกว้างๆพูดเป็นทางการ มันเลยกลายเป็นไม่สามารถส่งถึงกับคนได้ คนก็ไม่รู้สึกเข้าใจ แต่ว่าพอเป็นออนไลน์มันก็ลดความทางการลง จึงทำให้คนเข้าใจได้ง่ายกว่า”

อิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ยังคงมีผลต่อภาครัฐ ถึงแม้สื่อออนไลน์จะสามารถให้ข้อมูลได้รวดเร็วและทั่วถึงกว่า แต่สื่อโทรทัศน์กลับมีพลังในการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า แม้ว่ากระแสความนิยมจะค่อยๆลดลงไปก็ตาม 

เนื่องจากสื่อโทรทัศน์มักจะใช้ภาษาที่เป็นทางการ และเลี่ยงประเด็นที่เสี่ยงต่อตัวเอง จึงทำให้สารที่สื่อออกไป อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้คนได้เท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจากสื่อออนไลน์ที่ลดการเป็นทางการลงคนพวกใหญ่เลยเข้าถึงได้ง่ายกว่า

สื่อออนไลน์ เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง กลุ่มชุมนุม หรือเหตุการณ์สำคัญ จะสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าสื่อมวลชนกระแสหลัก สาเหตุที่สื่อมวลชนกระแสหลักยังไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก อาจเป็นเพราะ พวกเขาเกรงกลัวใน กฎหมาย มาตรา 112 จึงทำให้เสรีภาพในการทำข่าวของพวกเขาต้องโดนจำกัดไว้ 

“คือสื่อมันสำคัญจริงนะ ที่เขาพูดกันว่าเสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน มันคืออันเดียวกันจริง แต่ว่าสื่อมันเสรีภาพจริงรึเปล่า จะทำยังไงให้สื่อได้ทำหน้าที่อันสำคัญที่สุด แบบครบวงจรจริงๆ”

หน้าที่อันสำคัญยิ่งของสื่อมวลชนคือการถ่ายทอดเรื่องราว สะท้อนปัญหา และตีแผ่เหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่ตอนนี้สื่อมวลชนกลับเหมือนโดนระบบโครงสร้างอันเลี่ยงไม่ได้กดทับไว้อยู่ 

ถ้าหากมองย้อนกลับไปในสังคมยุคก่อน เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของสื่อมวลชนกระแสหลักเลยทีเดียว เพราะนั้นเปรียบเหมือนช่องทางการสื่อสารเดียวที่ผู้ผลิตสื่อใช้ในการสื่อสาร ดังนั้นแล้วภาครัฐจึงสามารถเข้ามาควบคุมข้อมูลข่าวสารได้เป็นอย่างดี 

สื่อมวลชนตกอยู่ในสภาวะที่ไร้ซึ่งเสรีภาพมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้ามา ประชาชนจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทั่วถึงและครบถ้วนมากขึ้น แต่ถึงแม้สื่อสังคมออนไลน์จะสามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างเสรี แต่ก็ได้เพียงในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะสุดท้ายพวกเขาก็อยู่ภายใต้ระบบนายทุนอยู่ดี 

“สื่อมันควรต้องเสรีด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แม้การเมืองไม่ดี เพราะจริงๆแล้วยิ่งในสภาวะที่แย่ สื่อจึงยิ่งสำคัญ”

คำถามว่า ‘ถ้าการเมืองดี สื่อมวลชนจะเป็นยังไง’ เหน่งให้คำตอบว่า ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ย่ำแย่ สื่อมวลชนควรต้องอยู่เคียงข้างประชาชน เพื่อช่วยถ่ายทอดและตีแผ่ความจริงของการเมืองในปัจจุบัน สื่อมวลชนมีเสรีด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่ควรต้องโดนโครงสร้างหรือระบบกดทับไว้อีกต่อไป

“พี่ว่า…สื่อต้องเป็นคนทำให้การเมืองดีด้วย”

Channel : ช่องทางการสื่อสาร
“จริงๆ สื่อมันอยู่ที่โครงสร้างนะ”

เหน่งพูดพรางเล่าเรื่องย้อนวันวานที่เคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์ กบฏไอทีวี หากมองย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2544 คงเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของวงการสื่อมวลชนในประเทศไทย ที่มีการคุกคามจากนายทุนจนบุคลากรต้องโดนไล่ออกไป และเหน่งเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

“ช่วงที่มีไอทีวี มันก็บูมมากเลยนะคะ ช่วงแรกๆเพราะ ไอทีวีมันทำข่าวหลายๆข่าวที่มันเปลี่ยนแปลงสังคม ทำข่าวที่มีเสียงของประชาชนจริงๆ มันก็ได้การยอมรับเยอะมาก”

ไอทีวีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทีวีเสรี และนำเสนอปัญหาของภาคพลเมืองอย่างจริงจัง จากเสียงของประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนต่างยอมรับและชื่นชอบไอทีวีเป็นอย่างมาก

“แต่พอไอทีวี ตั้งขึ้นมาด้วยเพราะว่ามีสัมปทานเยอะที่ต้องจ่ายรัฐ ดังนั้นแล้วพอมีวิกฤตเศรษฐกิจปี40 มันก็ไม่สามารถทำเงินได้ ตอนนั้นนายทุนใหญ่ของไอทีวี เขาก็อยากขายธุรกิจสื่อ เพราะตัวเขาเองไม่ได้สันทัดโดยตรง”

ไอทีวีเป็นบริษัทสื่อโทรทัศน์ของเอกชนที่ต้องจ่ายเงินให้กับรัฐ แต่เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ไอทีวีไม่สามารถจ่ายเงินส่วนนี้ได้ นายทุนใหญ่ของไอทีวีในตอนนี้จึงตั้งใจจะขายธุรกิจของไอทีวีให้กับนายทุนคนใหม่เพื่อรับช่วงต่อ 

“เมื่อซื้อไป เราก็อยู่ในช่วงนั้นแหละ จากที่มันมีเสรีภาพมันก็มีปรากฏการณ์ที่มันแปลกๆเกิดขึ้น และมันก็เป็นช่วงใกล้เลือกตั้งกลุ่มกบฏก็เลยออกแถลงการก่อน เพื่อที่จะบอกว่ามันมีความผิดปกติเกิดขึ้น เราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลมันบิดเบือนและมีผลประโยชน์ต่อนักการเมือง”

นายทุนที่รับซื้อไอทีวีต่อในตอนนั้น ก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ นายทักษิณ กำลังจะลงเลือกตั้งพอดี กลุ่มกบฏไอทีวี จึงก่อตั้งขึ้น เพื่อชี้แจงความผิดปกติของไอทีวีขึ้น ด้วยสาเหตุคือไม่สามารถทนอยู่กับความบิดเบือนที่เกิดขึ้นและต้องเป็นหนึ่งในผลประโยชน์ของนักการเมือง

“ประเด็นที่เขาไล่เราออกจริงๆคือประเด็นเรื่องการตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเขากลัว เขาเลยไล่ออก มันก็สะท้อนว่าสื่อมันอยู่ที่โครงสร้าง ถึงแม้เขาจะพยายามทำให้เป็นเสรี แต่ในแง่ของธุรกิจเขาทำแบบนั้นไม่ได้ สุดท้ายมันต้องมีคนที่ตัดสินใจใหญ่ๆอยู่ดี พอถึงเวลามันไม่สามารถสร้างกำไร ดังนั้นแล้วสื่อเลยอยู่ภายใต้ของความเป็นธุรกิจ”

เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏไอทีวี พวกเขาจึงพยายามสร้างสื่อมวลชนที่หลุดพ้นจากข้อจำกัดทางธุรกิจ จนมาในยุครัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้เปลี่ยนผ่านเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งก่อนหน้ารัฐประหารไม่กี่วัน และทีวีดิจิทัลกำลังเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ โดยใช้หลักการคิดแบบ Public Service และเงินที่ใช้ในการบริหารมาจากเงินภาษี เหล้าและบุหรี่ เพื่อต้องการที่จะหลุดพ้นจากระบบเชิงพาณิชย์และต้องการทำให้งานสื่อสารมวลชนเป็นงานที่เสรีจริงๆ 

“อย่างเช่นคุณอยากรู้ว่าสื่อนี้ทำงานยังไง ให้คุณไปดูที่ผู้ถือหุ้นเขาสิว่าคือใคร”

ถึงแม้ ไทยพีบีเอสจะสามาถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบเชิงพาณิชย์ แต่คำถามคือ  ‘ไทยพีบีเอสสามารถตอบโจทย์กับสังคมได้รึเปล่า’ เพราะยังไงเสียสื่อมวลชนก็ต้องอยู่ในระบบโครงสร้างอยู่ดี

“สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่โครงสร้าง พอโครงสร้างของสื่อมันมีผลต่อสังคม อย่างเช่น ถ้าเป็นสื่อเชิงพาณิชย์เราสังเกตุดูว่าพอมาถึงจุดๆหนึ่งเขาก็ไม่กล้าเล่นอะไรที่รุนแรงมาก มันก็สะท้อนการกดขี่ หรือความเหลื่อมล้ําของการเล่นข่าว เพราะมันไปอยู่ภายใต้โครงสร้าง แต่ถ้าเป็นสื่อของรัฐก็จะมีอิทธิพลของรัฐ”

โครงสร้างของสื่อมวลชนในปัจจุบัน คงเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังไปเสียแล้ว แค่แตกต่างกันตรงที่จะว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลรัฐ หรืออิทธิพลจากธุรกิจแค่นั้น สุดท้ายแล้วก็จะต้องมีคนใหญ่คนโตที่คอยสั่งการมาอยู่ดี

“พี่ว่าตอนนี้ สื่อมันก็เป็นเหมือนประชาชนนะ ไม่รู้ว่าสื่อเป็นชนชั้นไหนแต่ว่าสื่อก็น่าจะเป็นชนชั้นพิเศษชั้นนึง เคยมีอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์เขาแลกเปลี่ยนว่า จริงๆสื่อกระแสหลักก็สำคัญอยู่ เพราะในสภาวะที่สื่อกระแสหลักยังสามารถไปจ่อไมค์ถามคำถามผู้ที่เกี่ยวข้องของรัฐได้”

ปัจจุบันมีประชาชนเริ่มตั้งตัวเป็นสื่อมวลชนกันมากขึ้น เพราะโลกทุกวันนี้สามารถเชื่อมถึงข้อมูลด้วยสื่อสังคมออนไลน์แล้ว แต่สื่อมวลชนในกระแสหลักก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญอยู่เพราะพวกเขาสามารถเข้าถึงกับบุคคลของรัฐหรือสามารถเข้าถึงแห่งข้อมูลได้อย่างง่ายดาย 

“พี่ว่าเป็นเหมือนการรู้เท่าทันแหละ ว่าสื่ออันนี้ทุนมาจากไหน เขาสะท้อนอะไรมันออกมา มันเชื่อถือได้แค่ไหน แต่ถ้าคุณมองเห็นทุน มองไปที่โครงสร้างคุณก็จะเห็น พี่ว่าถ้าคนเสพสื่อ ทำการบ้านเป็นการรู้เท่าทัน ใครมีที่มายังไง มันเป็นสังคมข้อมูล ไม่มองดราม่า ก็จะรู้บริบทมากขึ้น”

การรู้ถึงที่มาที่ไปของโครงสร้างสื่อมวลชนนั้นว่ามาจากโครงสร้างแห่งไหน จะช่วยทำให้เราสามารถตีความบริบทของสิ่งที่ข่าวนั้นต้องการจะสื่อสารออกมาได้ ปัจจุบันกระแสรอบตัวเราเต็มไปด้วยเรื่องดราม่า ถ้าหากเราลองมองถึงแกนของดราม่าของเรื่องนั้นออก เราก็จะสามารถเข้าใจถึงปัญหาต่างๆได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบโครงสร้างสื่อมวลชน

“พี่ว่าที่มากที่สุดมันคือแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพของสื่อมากขึ้น ซึ่งมืออาชีพจะมองมุมมองไหน มันอาจจะต้องให้คนทำสื่อมาแลกเปลี่ยนหารือกัน”

ตอนนี้สื่อมวลชนเหมือนยืนท่ามกลางสงครามทางความคิด สื่อมวลชนต้องเลือกว่าจะเป็นสื่อในรูปแบบไหน จะเป็นสื่อที่อยู่เคียงข้างประชาชน ไม่สนับสนุนความรุนแรง พร้อมที่จะเป็นพยานของเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองนี้รึเปล่า 

สื่อมวลชนควรก้าวข้ามความกลัวนี้ไป และปลดล็อคตัวเองออกจากกับดักที่ลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อสะท้อนถึงปัญหาของสังคมออกมาอย่างแท้จริงให้กับประชาชน

“สังคมมันเปลี่ยนเร็ว มันคาดเดาอะไรได้ยาก ถ้ามันมีหลักการ ว่าเราจะเปิดพื้นที่ให้เสียงทุกเสียงได้ออกไปในสังคม แล้วเรายอมรับว่ามันมีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันจริงๆ”

การทำสื่อมวลชน คุณสามารถจับประเด็นหลักได้ คุณมีมุมมองเชิงประเด็น และคุณมีความสามารถในการสื่อสาร พวกนี้คือหัวใจหลักของงานสื่อสารมวลชน คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในวงการนี้ได้ 

“พี่ว่ามันน่าจะเป็นโมเดลใหม่ๆ เช่นการระดมทุนขึ้นมามันจะเป็นไปได้ไหม ท้ายที่สุดพอบอกว่าติดวงจรโครงสร้าง คือมันจะทำให้กลายเป็นว่าทุกคนจะทำงานตามดัชนีชี้วัด อันนี้หมายถึงทุกสถาบันนะไม่ใช่แค่สื่อ มันไม่ได้สื่อสารกับคนโดยตรงที่เป็นผู้รับหรือไม่ได้สื่อสารกับประชาชน”

โมเดลธุรกิจสื่อมวลชนในอนาคต อาจจะมีรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมา เช่นการมีประเด็นเชิงสังคมที่เกี่ยวกับสาธารณะมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่มากขึ้น เพราะในเมื่อก่อนประเด็นเหล่านี้มักจะไม่ค่อยถูกหยิบขึ้นมาออกสื่อกันเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับเนื้อหาของสื่อมวลชนในปัจจุบัน จึงสะท้อนว่าเนื้อหาแบบเดิมมันไม่ครอบคลุมถึงปัญหาเสียแล้ว

“สื่อก็บอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคม แล้วก็จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีกว่าได้”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า