fbpx

คลองแสนแสบ แสบทั้งจมูก แสบทั้งขยะ แสบทั้งคมนาคม

MODERNIST x ไทยรัฐทีวี ช่อง 32


หากพูดถึงคลองในกรุงเทพมหานครนั้น นอกจากคลองโอ่งอ่างที่โด่งดังมากๆ ก็คงหนีไม่พ้นคลองแสนแสบอย่างแน่นอน เพราะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่เดินทางสัญจรไปมาระหว่างพื้นที่หลายเขตเมืองเชื่อมเข้าด้วยกัน และด้วยความรวดเร็วประกอบกับติดพื้นที่ชุมชนและอาคารสำนักงานสำคัญๆ จึงทำให้ในช่วงเช้าและเย็นคลองแสนแสบกลายเป็นสถานที่สัญจรยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ มากเป็นพิเศษ แต่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาคลองแสนแสบกลายเป็นที่พูดถึงจากปัญหาและสภาพแวดล้อมที่ทั้งกลิ่นค่อนข้างเหม็นจากการที่คลองแสนแสบกลายเป็นท่อระบายน้ำทิ้ง รวมไปถึงการทิ้งขยะของชุมชนรอบข้างคลองแสนแสบอีกด้วย

คำถามคือ เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร และปัญหานี้ถูกแก้มามากน้อยแค่ไหนบ้าง?

หาสาเหตุของหลายปัญหาคลองแสนแสบ ที่แสบจนใครไม่กล้าเยือน

เมื่อเราขุดคุ้ยถึงสาเหตุของการเน่าเสีย และปัญหาขยะในคลองแสนแสบ รวมไปถึงคลองสาขาต่างๆ แล้ว กรมควบคุมมลพิษอธิบายถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยมีเหตุมาจากการระบายน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนออกสู่คลองโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด หรือบำบัดแล้วแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นคลองเชื่อมต่อที่ไหลลงคลองแสนแสบก็มีสภาพที่ทรุดโทรม แค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีปริมาณรวมกันทั้งหมด 100 สาย และการฟื้นฟูก็ย่อมทำได้ยาก ด้วยขนาดคลองและการไร้ประสิทธิภาพในการจัดการน้ำเสียจากคลองเชื่อมต่อสู่คลองแสนแสบ

นอกเหนือจากนี้ยังมีปัญหาอีกอย่างคือ พื้นที่ที่ระบายน้ำสู่คลองแสนแสบและคลองเชื่อมต่อส่วนใหญ่ก็ไม่มีระบบน้ำเสียรวม ซึ่งปัจจุบันมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงที่สามารถรับน้ำเสียจากช่วงด้านในถึงบริเวณสะพานข้ามถนนชิดลมเพียงเท่านั้น ส่วนนอกเหนือจากนั้นถึงเขตหนองจอกยังไม่มีโรงระบบบำบัดน้ำเสียรวม ซึ่งในปัจจุบันประโยชน์ของคลองแสนแสบที่ใช้งานอยู่ คือเป็นพื้นที่การคมนาคมซึ่งเชื่อมต่อเข้าและออกระหว่างเขตในกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทำให้มีการติดตั้งประตูปิดควบคุมระดับน้ำ ทำให้เกิดการปิดกั้นการไหลของน้ำในคลองตามธรรมชาติ จนส่งผลทำให้น้ำไม่ไหลเวียนและเกิดการหมักหมน ทำให้ส่งกลิ่นรบกวนและมีภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงาม

แสบนักใช่ไหม ขอลุยแล้วกัน!

ว่ากันว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น กองบรรณาธิการเว็บไซต์โมเดิร์นนิสต์จึงเดินทางนั่งเรือคลองแสนแสบจากบริเวณท่าเรือเดอะมอลล์บางกะปิ จนถึงท่าเรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) โดยมีช่างภาพตามไปประกบเก็บถ่ายภาพมารายงานพร้อมกับบรรณาธิการอำนวยการและบรรณาธิการบริหารของเว็บไซต์ตามไปด้วย ซึ่งการเดินทางของเราเริ่มต้นด้วยบรรยากาศกลิ่นของคลองแสนแสบระหว่างนั่งโดยสารเรือที่โชยมาจนถึงข้างในเรือเลยทีเดียว ด้วยความที่เป็น Open Air จึงทำให้ผู้โดยสารรับกลิ่นกันไปเต็มๆ เช่นกัน นอกเหนือจากนั้นระหว่างทางเรายังพบขยะจำนวนมากลอยอยู่บนน้ำ โดยเฉพาะบริเวณประตูระบายน้ำที่มีกองขยะจำนวนมาก จนเรางุนงงว่าท่อจะตันหรือไม่นะ?

ในส่วนของการเดินทางคมนาคมนั้น นอกจากความน่ากลัวตอนขึ้น-ลงเรือโดยสารแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้ลำบากใจสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของราคาค่าโดยสาร หรือการแจ้งเวลาการเดินทางผ่านทางแอพพลิเคชั่น Viabus ซึ่งค่อนข้างที่จะตรงเวลาพอสมควรและทำเวลาได้ดีเลยทีเดียว โดยสำหรับเที่ยวเรือนั้นจะมีในเวลา 05.30-20.30 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ และในเวลา 05.30-19.00 น. ของวันเสาร์-อาทิตย์ และแบ่งเส้นทางการเดินเรือเป็น 2 สาย คือสายคลองแสนแสบ-ภูเขาทอง มีท่าเทียบเรือทั้งหมด 6 ท่า ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนไปถึงท่าเรือประตูน้ำ และสายคลองแสนแสบ-นิด้า ซึ่งมีเส้นทางตั้งแต่ท่าเรือประตูน้ำยาวไปจนถึงวัดศรีบุญเรือน โดยผู้ให้บริการเดินเรือคือ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด และมีหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

ย้อนการแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบที่ไม่มีวันจบสิ้น

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2520 กรุงเทพมหานครเริ่มมีแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งลงนามโดยชลอ ธรรมศิริ พบว่ามีนโยบายการกำจัดน้ำเสีย ได้แก่ การสร้างระบบระบายน้ำป้องกันน้ำเสีย สร้างโรงขจัดน้ำเสีย, ปรับปรุงห้องปฏิบัติการทดลองวิจัยน้ำเสียของกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐาน และการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำตามคูคลองต่างๆ ซึ่งจนผ่านเวลาไปถึงปี 2565 ก็มีแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 2 ที่ลงนามโดยเทียม มกรานนท์ มีนโยบายเพียงแค่การสร้างระบบกำจัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และการให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในการให้ความร่วมมือป้องกันน้ำเสีย จนมาถึงในยุคของจำลอง ศรีเมือง ซึ่งลงนามในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 3 – 4 (ฉบับที่ 3 บังคับใช้ในปี 2530-2534 และฉบับที่ 4 บังคับใช้ในปี 2535-2539) มีนโยบายที่แตกต่างกันไปในแต่ละแผน เช่นแผนฉบับที่ 3 มีโครงการจัดทำแผนระบบปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำคลอง และควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งจากการประกอบกิจการค้าที่มีการปล่อยน้ำเสียมาก 15 ประเภท ส่วนแผนฉบับที่ 4 นั้นมีการเพิ่มการก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียใหม่ 5 แห่ง ซึ่งลงทุนโดยกรุงเทพมหานคร และรัฐบาล รวมถึงให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างอีก 11 แห่ง, ปรับปรุงคุณภาพน้ำคลองโดยจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงระบบไหลเวียนน้ำ และขุดลอกคูคลอง รวมถึงการตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และพัฒนามาตรการด้านกฎหมายให้กรุงเทพดำเนินการควบคุมแหล่งก่อมลพิษได้

มาถึงแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 5 ที่ลงนามในปี 2540-2544 โดย พิจิตต รัตตกุล ก็มีนโยบายในการปรับปรุงคุณภาพน้ำคลองโดยระบบน้ำไหลเวียนและขุดลอกคูคลองในพื้นที่ชั้นใน นอกจากนี้ยังควบคุม ตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน สถานประกอบการ สถานบริการ และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ในการตรวจสอบและการควบคุมมลพิษอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จนพัฒนามาถึงแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 6 ที่ลงนามโดยสมัคร สุนทรเวช ในปี 2545-2549 ที่ตั้งใจอยากลดการทำให้น้ำเสียโดยประชาชนลงร้อยละ 5 ต่อปี และให้ทุกเขตปรับปรุงภูมิทัศน์ของคูคลองอย่างน้อย 1 คูคลองต่อปี นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการบำบัดน้ำเสียให้ได้ร้อยละ 50 ต่อปีของการผลิตน้ำประปา การจัดให้มีการแยกกรวดทรายและไขมันจากน้ำเสียของสถานประกอบการ จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมบนเว็บไซต์ จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม และจัดทำระบบสารสนเทศสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง 4 ครั้งติด คือในปี 2552-2563 ที่มีแผนพัฒนากรุงเทพฯ 12 ปี ลงนามโดย อภิรักษ์ โกษะโยธิน นั้นก็ให้นโยบายในการยกระดับคุณภาพน้ำทิ้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบไหลเวียนน้ำในคลองเป้าหมาย รวมถึงการฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้มีค่า DO มากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร รวมถึงการสนับสนุนการนำผลผลิตจากการบำบัดน้ำเสียกลับไปใช้ประโยชน์ และในช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ได้ตำแหน่ง จึงพัฒนาเป็นแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี ลากยาวตั้งแต่ปี 2556-2575 ตั้งเป้าให้ปี 2575 น้ำเสียจากทุกครัวเรือนได้รับการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งสาธารณะ

จากแผนกว่า 8 ฉบับ ลากยาวมากว่า 45 ปี (ในปี 2565) ปัญหาคลองแสนแสบก็ยังแสบจมูก แสบคอไม่ใช่น้อย รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยด้วยการจัดทำแผนการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, องค์การจัดการน้ำเสีย, กรมควบคุมมลพิษ, กรมเจ้าท่า, กรมชลประทาน, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้แผนนี้มีโครงการทั้งหมด 84 โครงการ ครอบคลุมระยะเวลา 11 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2574 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินกว่า 82,563 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้โครงการในปัจจุบันก็ยังไม่ได้เริ่มต้นได้มากเท่าไหร่นัก เนื่องจากต้องดูการบริหารจัดการของหลายหน่วยงานไปพร้อมๆ กัน

จนถึงในวันนี้เราก็คงจะยังไม่ได้คำตอบว่าเมื่อไหร่ที่คลองจะไม่เหม็นเน่า?
จนถึงวันนี้เราก็ยังคงจมกับปัญหาเดิมๆ วนเวียนไปมาใช่ไหม?
จนถึงวันนี้เราก็ยังหาคนมาช่วยแก้ไขปัญหาได้เท่าที่ควรใช่ไหม?

22 พฤษภาคม 2565 คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้ 1 เสียง เพื่อเป็นหนึ่งพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงไปร่วมกัน และถ้าคิดว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องหรือนอกเหนือจากนี้อีกสามารถติด #เรียนผู้ว่ามหานคร และ #ไทยรัฐทีวี32 เพื่อส่งปัญหาถึงผู้ว่าคนต่อไปของกรุงเทพมหานคร และอย่าลืมติดตามโครงการ Modernist Next บางกอก 2022 ได้ทาง Facebook / YouTube / Twitter / TikTok ของ Modernist เพียงพิมพ์คำว่า lifeatmodernist และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง themodernist.in.th/nextbangkok2022

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #เรียนผู้ว่ามหานคร ภายใต้ความร่วมมือของเว็บไซต์โมเดิร์นนิสต์และไทยรัฐทีวี ช่อง 32

อ้างอิงข้อมูล: กรมควบคุมมลพิษ  และ Rocket Media Lab

Content Creator

Photographer

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า