fbpx

ส่องการควบคุมการโฆษณาคริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศ หลัง ก.ล.ต. เล็งเสนอหลักเกณฑ์โฆษณา “คริปโทฯ” ในพื้นที่สื่อ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เสนอห้ามโฆษณา “คริปโทเคอร์เรนซี” ในพื้นที่สาธารณะ โดย ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลของต่างประเทศ

สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า พบประเด็นปัญหาจากการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหลายราย และพบว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ในวงกว้าง โดยไม่มีคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีหรือคำเตือนมีขนาดเล็กเกินไป, กรรมการและผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการโดยยังไม่มีการกำกับดูแลการโฆษณาที่ชัดเจน และอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

ก.ล.ต. จึงเสนอหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองผู้ซื้อขายและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ สเปน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการดังกล่าวมาใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ เช่น  

  1. การโฆษณาต้องไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ ให้ระบุเฉพาะจำนวนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติให้เปิดบัญชีและพร้อมใช้บริการได้แล้วเท่านั้น
  2. การโฆษณาต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม เช่น ระบุคำเตือนเรื่องความเสี่ยงตามข้อความและขนาดตัวอักษรตามที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยต้องมีความคมชัดและสังเกตได้ง่าย หากมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน ต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (balanced view) เป็นต้น
  3. การโฆษณาเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีให้ทำได้เฉพาะในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ห้ามโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่น ๆ 
  4. ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมดูแลการโฆษณาของบริษัท บริษัทในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ เช่น ผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหารหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงผู้ทำโฆษณาและผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการในสังคมออนไลน์ (influencer) ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย 
  5. ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (Introducing Broker Agent: IBA) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี โดยผู้ประกอบธุรกิจโทเคนดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ยังมีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าได้ตามเดิม

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ ล้วนออกมาตรการแตกต่างกันไป แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะระงับการส่งเสริมการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล บางประเทศมีแนวโน้มการสั่งห้ามสถาบันการเงินในดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี

ส่องการปฏิบัติในต่างประเทศ เกี่ยวกับ Cryptocurrency

วันที่ 17 ม.ค. 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงการคลังของอังกฤษ ออกประกาศตรวจสอบโฆษณาเกี่ยวกับสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซี ที่มีเป้าหมายเป็นผู้บริโภครายย่อยที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทนี้ กระทรวงการคลังอังกฤษระบุว่า โฆษณาเกี่ยวกับสินทรัพย์คริปโทจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโฆษณาการเงินในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่า โฆษณาในประเภทนี้จะต้องเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานกำกับตลาดการเงินของอังกฤษ (FCA) เช่นเดียวกันกับโฆษณาเกี่ยวกับหุ้นและประกันประเภทต่าง ๆ

ในวันเดียวกัน (17 ม.ค. 2565) ธนาคารกลางประเทศสิงคโปร์ (MAS) ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการ Digital Payment Token (DPT) หรือผู้ให้บริการเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยกำหนดว่าไม่ควรส่งเสริมบริการของตนต่อสาธารณะในสิงคโปร์ ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้กำหนดแนวทางห้ามไม่ให้ทำการตลาด หรือโฆษณาส่งเสริมการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ในพื้นที่สาธารณะ เช่น บนป้ายโฆษณา, ขนส่งมวลชน, สื่อกระจายเสียงและสิงพิมพ์, แพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงห้ามไม่ให้จ้างอินฟลูเอนเซอร์โปรโมต

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ (ลงวันที่ 20 ม.ค. 2565) ธนาคารกลางรัสเซีย เสนอให้มีการสั่งห้ามสถาบันการเงินดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี และควรมีการพัฒนากลไกเพื่อสกัดการซื้อขายสกุลเงินดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินทั่วไปที่มีการใช้กันอยู่ในตลาด รวมทั้งให้มีการระงับการทำธุรกรรมของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลด้วย ธนาคารกลางรัสเซียระบุเหตุผลว่า การพุ่งขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลในขณะนี้เกิดจากการเก็งกำไร และสกุลเงินดังกล่าวมีลักษณะการทำธุรกรรมเหมือนกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและต่อประชาชน

ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดในลักษณะ Principle-based (การกำหนดเป็นแนวทางกว้าง ๆ ในตัวบทกฎหมาย) โดยในเรื่องการโฆษณาต้องไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการ ไม่ชี้นำหรือประกันผลตอบแทน รวมถึงกำหนดให้มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ได้กำหนดให้การโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ หรือแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุน การให้บริการ หรือภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทหรือโดยรวม จะได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของหลักเกณฑ์โฆษณาดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ได้มีหลักเกณฑ์กำหนดในเรื่องคำเตือนไว้ว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีข้อความ คำเตือน หรือข้อมูลใด ๆ ในการโฆษณา โดยมีความเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอ และให้ความสำคัญกับคำเตือนเช่นเดียวกับการแสดงข้อความหรือข้อมูลส่วนใหญ่ในโฆษณาด้วย

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=780 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected], [email protected] และ [email protected] จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565

ที่มา:

https://www.reuters.com/technology/britain-crack-down-misleading-cryptocurrency-adverts-2022-01-18/
https://www.mas.gov.sg/news/media-releases/2022/mas-issues-guidelines-to-discourage-cryptocurrency-trading-by-general-public
https://www.reuters.com/business/finance/russian-cbank-proposes-banning-cryptocurrencies-crypto-mining-2022-01-20/

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า