fbpx

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์-เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็น

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ หรือ CUT (Creative Workers Union Thailand) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จับประเด็นคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะ  ได้เข้ายื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ สัปปายะสถาน โดยเรียกร้องประเด็นการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกองถ่าย รวมไปถึงการใช้แรงงานเด็กในกองถ่ายด้วย

เราเลยนัดคุยกับ ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ เพื่อทำความรู้จักกับสหภาพฯ และทำความเข้าใจปัญหาที่แรงงานสร้างสรรค์ต้องเจอให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ที่มาของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์

เป็นการรวมกลุ่มของคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น นักวาด นักเขียน นักร้อง นักแสดง คนทำงานกองถ่าย กระทั่งคนทำงานในพิพิธภัณฑ์ก็มาร่วมกับเราด้วยเช่นกัน พวกเราเป็นกลุ่มของสหภาพที่ก่อตั้งขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด-19 คนทำงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ เราเป็นแรงงานอิสระ ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม หรือความคุ้มครองตาม ม. 33 พอเกิดโควิดขึ้น เรารู้ว่าคนทำงานแบบเรามีสถานะที่เปราะบางแค่ไหน หลายคนก็เสียอาชีพ นักดนตรีหลายคนก็ไปเป็น Grab เราเลยร่วมกลุ่มขึ้นมาเพื่อสร้างพลังในการต่อรองให้คนกลุ่มนี้ 

ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงแค่ต้องการให้คนทำงานสร้างสรรค์มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่เรามองไปถึงการทำให้ในอนาคตคนเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย แน่นอนเราก็ยอมรับว่าคนที่จะเข้ามาอยู่ในสายงานนี้ได้ ต้องมีต้นทุนชีวิตที่สูง ถ้าคุณเป็นนักวาด คุณก็ต้องมีเงินซื้ออุปกรณ์ คุณเป็นนักดนตรี ก็ต้องซื้อเครื่องดนตรี แต่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มันไม่ได้เป็นโอกาสให้คนเข้ามามากนัก นี่ก็เป็นภารกิจหลักๆ ของ CUT 

ตอนก่อตั้งเรามีแค่สองคนคือเรา ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์ ที่เป็นนักเขียนการ์ตูน และ อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร ที่ทำเกี่ยวกับด้านนโยบาย เราค้นพบความยากลำบากก็คือคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แยกกันอยู่ คนกลุ่มนี้ไม่เคยมีพื้นที่ในการรวมตัวกันมาก่อน ทั้งการพูดคุยหรือเปิดวงสนทนา ยิ่งเป็นช่วงโควิด-19 แล้วด้วยมันก็ต้องเป็นออนไลน์ แต่พอเราให้ทุกคนได้มาเจอกัน มาพูดคุยกันแล้ว เขาก็จะพบว่าปัญหาของทุกคน โดยพื้นฐานแล้วมันคือความไม่มั่นคงในชีวิต และโอกาสในการเข้าถึงอุตสาหกรรม

ความเสี่ยงในชีวิตของคนทำงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

คนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาที่จะสูญเสียอาชีพ อย่างเราเป็นนักวาด เราก็จะพบว่าเราไม่สามารถเป็นนักวาดเพียงอย่างเดียวได้ เพราะพื้นที่ในอุตสาหกรรมนี้ในไทยมันน้อย ค่าตอบแทนก็น้อย ทำให้บางคนต้องรับอาชีพอื่นควบไปด้วย เช่น ต้องเป็นพนักงานออฟฟิศถึงจะได้วาดรูป ไม่สามารถวาดรูปเพียงอย่างเดียวได้ อาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จึงสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียอาชีพอยู่ตลอดเวลา

นอกจากความไม่มั่นคงในชีวิต และ โอกาสในการเข้าถึงอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ อีกอย่างหนึ่งที่แรงงานสร้างสรรค์ต้องเจอคือการถูกเอารัฐเอาเปรียบจากกฎหมาย อย่างพวกสัญญาจ้าง พอเราได้ลงมาทำงานตรงนี้ก็พบว่า คนที่มีสัญญาจ้างมีน้อยมาก เพราะด้วยระบบฟรีแลนซ์ที่บางทีก็มีการจ้างซึ่งไม่ได้มาจากบริษัทใหญ่ๆ แต่ก็เป็นคนตัวเล็กที่บางทีเขาก็ไม่ได้คำนึงถึงสัญญาจ้าง พอไม่มีสัญญาจ้าง เมื่อเกิดอะไรขึ้นมา ก็จะควบคุมอะไรไม่ได้เลย

ระดับความรุนแรงของแต่ละอาชีพในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เผชิญกับปัญหาต่างๆ 

เราคิดว่าทุกคนเจอกับความโหดร้ายเหมือนๆ กัน แต่ว่าตอนนี้เรากำลังทำงานอยู่กับคน 2 กลุ่ม คือ คนทำงานในกองถ่าย และนักวาด ซึ่งปัญหาของคนทำงานในกองถ่ายน่าสนใจมาก เพราะในกองถ่ายมีสภาพไม่ต่างจากไซต์ก่อสร้างเลย มันจะมีรถเครน มีไฟฟ้าแรงสูง อัตรายของคนกลุ่มนี้มันอันตรายถึงชีวิต มันเคยมีเหตุการณ์ที่ช่างไฟเสียชีวิตในกองถ่ายเพราะไม่มีการดูแลความปลอดภัยที่เพียงพอ ปัญหาที่คนกลุ่มนี้เจอมันก็ค่อนข้างหนักหน่วง

ปัญหาของกองถ่ายส่วนหนึ่งมันจาก Budget (งบ) ที่จำกัด ทำให้เกิดการอัดคิว ชั่วโมงการทำงานลากยาว หรือมีการดูแลความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ ตรงจุดนี้จะเกิดอย่างไร

ก็ต้องเพิ่ม Budget ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า Budget ที่คุณให้มามันไม่สามารถเอื้อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเต็มที่ได้ มันเป็นสิ่งที่นายทุนต้องแก้นะ ทุกวันนี้คนในกองถ่ายถูกกดด้วย Budget ค่อนข้างเยอะ มันก็ส่งผลให้คนในกอง รวมไปถึงนักแสดงก็ทำงาน 24 ชั่วโมงไปเลย ซึ่งมันก็กระทบต่อเขา ไม่ว่าจะนอนไม่พอ หรือมีสติไม่พอในการทำงาน มันก็อันตรายถึงชีวิตนะ 

หนึ่งในภารกิจของ CUT คือการเจรจา หรือการร่างกฎหมายให้มีการบังคับใช้ อย่างที่ผ่านมาเราเพิ่งยื่นไปกับกรรมาธิการแรงงาน ให้ทำมาตรฐานของแรงงานในกองถ่าย ซึ่งจะประกอบไปด้วยการจะต้องให้แรงงานในกองถ่ายมีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม มีมาตรฐานความปลอดภัยในที่ทำงาน และก็กำหนดเวลาทำงานที่ 12 ชั่วโมง ซึ่งถ้ากฎหมายมันออกมาได้ มันก็จะมีสภาพบังคับใช้ กฎหมายนี้มีลักษณะเป็นสากลแบบที่ทุกประเทศใช้ ซึ่งทำให้บริษัทหรือนายทุนก็ต้องทำตามกฎหมายข้อนี้ 

สมมติว่า มีโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่ยังคงรับได้กับมาตรฐานนี้ สามารถรับงานที่คิวโหดแบบ 24 ชั่วโมงติดได้อยู่ แบบนี้มันจะนำไปอุตสาหกรรมสู่การเปลี่ยนแปลงได้ไหม

เราไม่สามารถอุดทุกรอยรั่วได้ นอกจากการออกกฎหมายแล้วเราก็ทำการรณรงค์ และสร้าง mindset ของคนทำงานในกองถ่ายด้วย ให้เขาเห็นถึงความสำคัญของร่ายกายเขาให้มากขึ้น เราคิดว่าถ้ามีกองหนึ่งเริ่มทำ จนมีจำนวนมากขึ้น อย่างน้อยสัก 50% ของทั้งหมด การปรับตัวของอุตสาหกรรมมันก็ต้องเกิดขึ้น ถ้าคุณเห็นว่าเพื่อนๆ ร่วมงานของคุณทำงานกัน 12 ชั่วโมง แต่คุณทำ 24 ชั่วโมง มันจะเป็นไปได้หรอที่คุณจะยอมให้คุณโดนกดขี่ 24 ชั่วโมงต่อไป ถึงแม้เงินมันจะเยอะกว่าก็ตาม แต่ยังไงมันก็จะไปถึงจุดที่ร่างกายคุณรับไม่ไหว

คนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตื่นตัวกับปัญหานี้มากแค่ไหน

มันอยู่ในระดับที่คนรู้สึกว่าเริ่มไม่ไหว รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอำนาจในการต่อสู้  คนที่มาเข้าร่วมกับ CUT ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในกองถ่าย เราเองเป็นนักวาดก็จะไม่ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับกองถ่ายเลย เพราะงั้นข้อเสนอของเราจึงมาจากคนทำงานจริงๆ เพราะฉะนั้นคนที่ตื่นตัวก็ยังมีอยู่นะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เราจะเห็นคนบ่นเรื่องนี้เต็มไปหมดเลย แต่พอถึงขั้นต้องแก้ไขปัญหา เขาก็คิดไม่ออกนะว่าต้องทำอะไร  มันจะแก้ไขยังไง ซึ่งเราก็ต้องพูดคุยกับเขาไปเรื่อยๆ ว่าหน้าที่ของสหภาพฯ คืออะไร และการรวมตัวกันมันจะทำให้เขามีอำนาจในการต่อรองได้อย่างไร ตอนนี้คนที่ตื่นตัวถึงขั้นอยากจะแก้ไขก็อาจมีอยู่ในแวดวงของสหภาพ และก็คนที่มีการสื่อสาร มีการแชร์ผ่านเพจบ้าง แต่ในอนาคตเราคิดว่ามันจะขยายตัวได้มากขึ้น เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเริ่มลุกขึ้นสู้แล้ว

คนที่มาร่วมกับสหภาพฯ โดยส่วนใหญ่แล้วในสายอาชีพของพวกเขา ถือว่าเป็นคนตัดเล็กหรือคนตัวใหญ่

สิ่งที่น่าสนใจก็คือคนที่มาร่วมกับเรามีทุกระดับ เพราะว่าในทีมเราจะมีการแบ่งออกเป็นอาชีพต่างๆ เป็นกิลด์ๆ (Guild) ไป แรงงานในกองถ่ายก็จะมีที่เป็นช่างไฟ เป็นคอนทินิว จนไปถึงนักแสดง ผู้กำกับ โปรดักชั่นเฮ้าส์ก็มี จริงๆ แล้วเราอาจมองว่าเฮ้าส์เป็นคนตัวใหญ่ แต่พอมองภาพรวม เวลาที่ต่างประเทศมาจ้างเฮ้าส์ในไทย เขาก็จะกลายเป็นคนตัวเล็กไปเลย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะมองว่าเขาเป็นคนตัวใหญ่ แต่มันมีจิตสำนึกของคนตัวเล็กอยู่ในนั้น

เวลาโปรดักชั่นเฮ้าส์ในไทยทำงานกับลูกค้าต่างประเทศ มาตรฐานในการทำงานมีความแตกต่างกันกับตอนทำให้ลูกค้าในไทยไหม

มาตรฐานในการทำงานกับต่างประเทศดีมาก ถ้าเขาจะมาจ้างเรา ยกตัวอย่างเช่น Netflix นะ เวลาเข้ามาจ้างเฮ้าส์ในไทย เขาจะมีมาตรฐานเป็นเล่มคู่มือมาเลย และจะมาบังคับว่าเวลาทำงานต้องกี่ชั่วโมง มีการควบคุมเรื่องความปลอดภัย มีการตรวจจากทางภาครัฐด้วยว่ากองเป็นไปตามาตรฐานไหม แต่ในขณะที่กองของไทยจะไม่มีตรงนี้ พูดตรงๆ คือกองต่างประเทศ แรงงานจะได้เปรียบ

ที่ผ่านมาสหภาพฯ ได้ขับเคลื่อนเรื่องนักแสดงเด็กด้วย ปัญหาที่นักแสดงเด็กเจอคืออะไร

มันไม่มีการบัญญัติว่านักแสดงเด็กคือใคร ถ้าตามกฎหมายแรงงานห้ามมีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 โดยเด็ดขาด มันจะเป็นการใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมาย ในกองถ่ายเขาเลยจะให้นักแสดงเด็กอยู่ในลักษณะของการมาทำกิจกรรมมากกว่า ไม่ใช่ในเชิงเป็นการจ้างแรงงาน เป็นการทำกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต แต่ว่านักแสดงเด็กก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นแรงงาน และก็ไม่มีการจัดคิวให้พวกเขาตามพัฒนาการของเด็ก 

เราต้องยอมรับนะว่าต่อให้นักแสดงจะเก่งแค่ไหน จะได้สุพรรณหงส์ คุณก็เล่นเป็นเด็ก 3 ขวบไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้เด็กจริงๆ แต่เวลาที่เด็กๆ พวกนี้ทำงานมันเกินกว่าที่ควรจะทำไปมาก ข้อเสนอของเรามันอิงมาจากมาตรฐานว่าเด็กอายุเท่านี้ ควรเล่นกี่ชั่วโมง นอนพักกี่ชั่วโมง หรือทำงานกี่ชั่วโมง ซึ่งมันก็จะออกมาในลักษณะที่ว่าเราควรให้เด็กอยู่ในกองถ่ายได้กี่ชั่วโมง รวมไปถึงเวลาในการทำกิจกรรม สภาพแวดล้อมในการทำงานกี่ปลอดภัยให้เหมาะสมกับเด็ก จริงๆ มันจะมีข้อกฎหมายอยู่ว่าสถานที่ใดที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน เช่น ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือที่ที่มีไฟฟ้าแรงสูง มันไม่ปลอดภัย

และสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญหลักๆ คือเด็กยินยอมในการทำกิจกรรมไหม มันจะมีปัญหาที่ว่าพ่อแม่อยากดันลูกให้เป็นดารา แต่จริงๆ ลูกไม่อยาก แต่อำนาจในการตัดสินใจทุกวันนี้มันไม่ได้อยู่กับเด็ก เพราะงั้นเราก็ต้องโอนอำนาจนี้ให้กับเด็ก ให้เขาตัดสินใจได้ว่าเขาอยากเล่นหนังเรื่องนี้ อยากจะแสดง ไม่ใช่มาจากการดันของพ่อแม่แต่เพียงอย่างเดียว 

ปัญหาการทำงานล่วงเวลาแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือ ‘โอฟรี’ ที่มันมีอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กันจนเป็นปกติ จะแก้ไขมันยังไง

บริษัทปกติ สมมติคุณทำบัญชี จบงานก็คือออกงาน แต่ถ้าคุณเป็นกราฟิก หรือ นักเขียน นักวาดมันต้องทำให้จบให้เสร็จ ซึ่งเรามองว่ามันไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป หรือทำบัญชี เราควรสามารถหยุดและเอาไปทำวันต่อไปได้ จุดนี้จะเป็นการขับเคลื่อนเรื่องเวลาการทำงาน จริงๆ มันก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเวลาในการทำงานอยู่แล้ว แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่ามันถูกบังคับใช้แค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องไปทำให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายนี้ให้ได้ 

ทำไมบางบริษัทในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่ก็ทำกำไรได้มหาศาล สิ้นปีก็จ่ายโบนัสให้จำนวนมาก แต่ทำไมถึงไม่จ่ายค่าล่วงเวลา

มันก็น่าสนใจนะ ทั้งๆ ที่แรงงานก็ทำงาน สร้างกำไรให้นายจ้างเป็นล้านๆ เลย แต่เขาไม่เคยเห็นถึงคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยเลย สาเหตุหนึ่งก็อาจมาจากเขาคิดว่าเราไม่มีอำนาจในการต่อรองก็ได้ เพราะสหภาพแรงงานในไทยมันก็ขาดพลังมานานแล้ว เราถูกทำลายในฐานะของการเป็นขบวนการแรงงาน ทุกการรัฐประหารที่เกิดขึ้น เขาจะมีการแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ให้เราไม่สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพได้ ทุกวันนี้มีแรงงานแค่ 1.5% ที่มีสหภาพแรงงาน น้อยนะ มันเลยเป็นสาเหตุที่ทำให้นายจ้างไม่คิดว่าแรงงานมีอำนาจก็เป็นได้

มันมีค่านิยมของคนทำงานในบางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือค่านิยมการทำงานล่วงเวลาที่คนบางกลุ่มว่ารู้สึกว่าเท่ เช่น “สองทุ่มเองลุยต่อดิวะ” “ขอ 10 ไอเดียภายในคืนนี้นะ” เราจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเขาอย่างไร 

อันนี้มันน่าจะต้องใช้เวลา ถ้าข้อกฎหมายเราแน่นแล้ว เราจะมีกฎหมายเป็นตัวนำ แล้วคนก็จะต้องไปปฏิบัติตามให้มากขึ้นด้วย วัฒนธรรมของแต่ละองค์กรก็ไม่เหมือนกัน แต่เราคิดว่ามันคือการคุยกัน รณรงค์กัน ปากต่อปากไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งสองอย่างคือ ทั้งคน และกฎหมาย

ถ้าคนทำงานในอุตสาหกรรมตื่นตัวเรื่องมาตรฐานในการทำงานมากขึ้น แต่ลูกค้ายังไม่ปรับวิธีคิด ยังอยากจะได้งานเท่าเดิม ในงบและเวลาเท่าเดิมอยู่ ตรงจุดนี้จะทำอย่างไร

ก็เป็นสาเหตุที่เราต้องมีสหภาพฯ เป็นสาเหตุที่เราต้องมีการรวมตัว มีการผนึกกำลังที่เหนียวแน่น เพื่อต่อต้านแบบเก่าๆ เวลาบริษัทคุยกับลูกค้าก็ต้องชัดเจนไปเลยว่าถ้าเกินกว่านี้ เราไม่เอานะ พอเรารวมตัวกันมันทำให้เราส่งเสียงขึ้นไปถึงเจ้าของบริษัทได้ เพื่อทำให้เขาหันมาสนใจแรงงานมากขึ้น และคนที่จะไปต่อรองก็คือพวกเขา ถ้าเขาไม่ไปต่อรอง เราก็จะไม่ทำงานให้

นอกจากคนทำงานในกองถ่ายแล้ว คนทำงานด้านอื่นๆ เช่น กราฟิก นักวาด เจอปัญหาอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเราที่เป็นนักวาด ปัญหาที่เราเจอคือราคาในตลาดต่ำ และก็ไม่มีอุตสาหกรรมที่มารองรับเต็มร้อย อย่างเราถ้าอยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูนในประเทศไทย ทุกวันนี้การ์ตูนที่เป็นเล่มๆ ตายไปหมดแล้ว  การ์ตูนเล่มๆ ของไทยมันเคยมีนะ แต่มันหายไปหมดแล้ว ก็น่าจะมาจากโควิดด้วย ตอนนี้มันเลยเป็นพวก Webtoon หรือ Comico โดยรายได้เริ่มต้นของนักเขียน Webtoon อยู่ที่ 4,000 บาทต่อตอน ต่ออาทิตย์ เท่ากับว่าเดือนหนึ่งคุณได้ 16,000 บาท โดยรวมค่าจ้างผู้ช่วยแล้ว มันก็เป็นเหตุผลว่าทำไมการ์ตูนไทยถึงไม่โต เพราะเงินที่มันหมุนมาให้กับคนทำงานมันต่ำมาก เราไม่สามารถเอากำลังใจที่ไหนไปพัฒนาผลงานตัวเองได้เลย แค่ปั่นงานให้ทันอาทิตย์หนึ่งต้องได้หนึ่งตอนก็สุดยอดมากแล้ว ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ๆ ที่เราเจอ

รับมือกับปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร

ปัญหาลิขสิทธิ์เราเจอค่อนข้างเยอะ เช่น การขโมยผลงาน โรงงานจีนขโมยรูปวาดคนไทยและไปพิมพ์เป็นเสื้อ ที่น่าสนใจคือแรงงานสร้างสรรค์เข้าไม่ถึงกฎหมาย ไม่ใช่เราไม่เข้าใจกฎหมายนะ แต่การเข้าถึงกฎหมายยากมาก เช่น คุณต้องมีทนาย มีทุนในการฟ้องร้อง เราเคยไปถามนักเขียนท่านหนึ่งมาที่เขาโดนก็อปนิยาย เขาใช้เงินจ้างทนายไป 50,000 กว่าบาท โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาขายได้นิยายได้กี่บาท แล้วในกระบวนการรัฐไทยก็ค่อนข้างล่าช้าด้วยนะ สิ่งที่สหภาพทำได้คือเป็นตัวแทนเจรจาต่อรองทางกฎหมาย เรามีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย หรือการร่างสัญญาจ้าง ตอนนี้เรายังไม่ถึงขั้นมีคนของเราเป็นทนาย แต่สัญญาจ้างเป็นสเต็ปที่สำคัญมากที่มันจะคุ้มครองเราทั้งในด้านลิขสิทธิ์ และค่าตอบแทนในการทำงาน สามารถเขียนไปว่าผลงานชิ้นนี้ถ้าคุณสร้างไป คุณนำไปทำอะไรได้บ้างในเชิงลิขสิทธิ์ และการมีเอกสารรับรองที่เป็นลายลักษณ์อักษรมันก็จะช่วยคุ้มครองทางกฎหมายได้มากเหมือนกัน

ปัญหาคนทำงานตัดราคากันเอง จะแก้ได้อย่างไร

เราต้องจัดทำสิ่งที่เรียกว่า ‘มาตรฐานราคากลาง’ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่นักวาดกำลังทำอยู่เหมือนกัน เราจะไปเก็บข้อมูลมาว่าต่างประเทศ ในประเทศแถวยุโรปที่เขามีสหภาพแรงงานที่ทำเกี่ยวกับ นักวาด ศิลปิน เขาใช้มาตรฐานยังไง ตอนนี้ที่เราเอามาใช้อยู่คิดมาจากเรทเงินเดือนที่ควรจะได้ เช่น ถ้าจบใหม่ ควรได้ 20,000 บาทแล้วก็มาหารกับวันทำงานว่าคุณใช้กี่วันกี่ชั่วโมงในการทำงาน ตรงนี้เราต้องยอมรับว่าตัวมาตรฐานราคากลางมันไม่สามารถผ่านเป็นกฎหมายได้ แต่มันต้องมาจากการรณรงค์ล้วนๆ เลย ต้องสร้างความเข้าใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง 

ทางสหภาพฯ ได้มีการทำงานกับนักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้างไหม

เราไปโคกับวงดนตรีเยอะอยู่ คิดว่าสายดนตรีจะเป็นสเต็ปต่อไปเลยที่เราจะทำต่อไป อย่างตอนนี้จะเป็นวงสามัญชนที่เขาตื่นตัวทางการเมืองหน่อย และก็มีประสานอยู่กับ สส.ก้าวไกล ปัญหาของนักดนตรีโดยเฉพาะนักดนตรีร้านเหล้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาจ้าง ที่พอจะโดนร้านแคนเซิล ก็แคนเซิลเลย แล้วก็มีปัญหามาตรฐานค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำด้วย

จริงๆ ฝั่งนักดนตรีมีความคิดที่จะรวมตัวกันก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่สำเร็จ หรือไม่มีความคืบหน้า คิดว่าในอีกเดือนสองเดือนนี่แหละที่เราจะไปทำในส่วนของนักดนตรีมากขึ้น

พอมีการระบาดของโควิด-19 วัฒนธรรมการทำงานเริ่มเปลี่ยนมาสู่การทำงานที่บ้าน หรือ การทำงานที่เน้นออนไลน์มากขึ้น ตรงจุดนี้ส่งผลต่อปัญหาของแรงงานสร้างสรรค์อย่างไร

มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการเดินทางไปทำงานก็น้อยลง งานบางอย่างเราก็รับรู้แล้วว่าอยู่บ้านก็ทำได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ Cost ของนายจ้างก็จะลดลงมากเลย เพราะออฟฟิศไม่ต้องเปิดแอร์ ลูกจ้างก็ไม่ต้องเดินทาง อยู่บ้านก็จัดสรรเวลาของตัวเองได้ แต่ข้อเสียของมันคือทำให้ไม่มีเวลาเลิกงาน นายจ้างก็ใช้โอกาสนี้แหละที่เห็นว่าเรียกประชุมเมื่อไรก็ได้ ก็จะเห็นบ่อยๆ ว่ามีการเรียกประชุมตอนสองทุ่ม และก็ส่งผลต่อ Work Life Balance 

ภาครัฐตื่นตัวกับปัญหาของแรงงานสร้างสรรค์แค่ไหน 

ไม่มีนะ (หัวเราะ) ถ้าไม่ไปยื่นเรื่องก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไร ทางกรรมาธิการแรงงาน ก็จะมีข้าราชการที่เคยทำงานในกระทรวงแรงงานมาก่อน และโชคดีที่ตัวแทนจากสหภาพแรงงานเริ่มมาอยู่ในคณะกรรมมาธิการบ้างแล้ว ความเห็นก็จะค่อนข้างหลากหลาย ส่วนใหญ่ก็จะสนับสนุนสหภาพนะ ก็สนับสนุนให้มีการต่อสู้เพื่อแรงงาน แต่กรรมาธิการแรงงานก็จะมีหน้าที่ประมาณว่าถ้าเราเอาประเด็นนี้เข้าไปในสภา เขาก็จะไปเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมา กระทรวงนู่น กระทรวงนี้ มาให้ความเห็น และสรุปมาว่าเราควรจะมี Action Plan อะไรต่อไป ซึ่งมันก็ต้องทำงานกับภาครัฐด้วย ที่เจอในที่ประชุมบ่อยๆ ก็จะชวนกระทรวงนู่นนี่มาแล้วก็จะโยนงานไป นี่ไม่ใช่อำนาจฉัน ฉันไม่ได้ดูแล กฎหมายฉันทำไม่ได้ 

การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ส่งผลต่อการทำงานของสหภาพฯ ไหม

ส่งผลแน่นอน เพราะเราก็เป็นหนึ่งในนั้น การตื่นตัวของคนรุ่นนี้ทำให้คนรับรู้ได้ว่าคนมีอำนาจของตัวเองมากขึ้น คนเชื่อในการรวมตัวมากขึ้น เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเวลาเราไปม็อบหรือรวมตัวกัน ภาครัฐกลัวเรานะ ก็เลยส่งผลต่อขบวนการแรงงานด้วยเหมือนกัน 

ในคนรุ่นใหม่จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับสหภาพแรงงานมันหายไปช่วงใหญ่ๆ เลยนะ แต่คนรุ่นใหม่เขายังจับเซ้นส์ของการรวมตัวกันด้วยอยู่ ถึงเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าแรงงานคืออะไร แต่การรวมตัว การสร้างอำนาจ แนวคิดเหล่านี้มันถูกปลูกฝังมาแล้ว มันก็เอื้อให้สหภาพแรงงานมันผลิกกลับขึ้นมาได้อีกเหมือนกัน

มาตรฐานการทำงานสร้างสรรค์ในไทยที่เป็นอยู่แบบนี้ ส่งผลต่อการไหลของแรงงานไปสู่นอกประเทศแค่ไหน

สุดยอด ต้องบอกว่าสุดยอดเลย ก่อนหน้านี้เราเคยทำประเด็นหนึ่งคือ Paypal เป็นบริษัทโอนเงินข้ามประเทศ แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่ง Paypal ก็ออกนโยบายใหม่มาว่าถ้าแกไม่เป็นนิติบุคคล แกใช้บริการไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนใช้ Paypal มีจำนวนมากที่เป็นฟรีแลนซ์ ฟรีแลนซ์พวกนั้นแหละที่เป็นฟรีแลนซ์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่เขารับงานจากต่างประเทศ นี่คือตัวอย่างที่ผลงานดีๆ ของเราไหลออกไปนอกต่างประเทศหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอ Paypal ออกนโยบายแบบนั้น ฟรีแลนซ์ตายกันหมด มีคนเดือดร้อนเยอะมาก และเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่าต่อให้คุณพยายามไหลออกไปต่างประเทศแล้ว แต่กฎหมายมันก็ยังบงการชีวิตคุณได้นะ

สถานบันการศึกษาที่สร้างแรงงานสร้างสรรค์ มีส่วนในปัญหาเหล่านี้อย่างไร

เราอาจพูดแทนสถานศึกษาทุกที่ไม่ได้ แต่คิดว่าสถานศึกษาไม่มีสักที่เลยที่พูดถึงสหภาพแรงงาน ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ พอคุณเรียนจบแล้ว เดินออกมามันจะมีบูธจากสหภาพแรงงานมาตั้งเลย พวกคุณจะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกหรือได้รับความรู้ ในไทยเราจะสอนด้านวิชาการ แต่การทำงานจริงหรือการต่อรองในที่ทำงานไม่เกิดขึ้น คนมีสกิลการทำงานก็จริงแต่ไม่มีสกิลการต่อรอง

ในเรื่องวิธีคิดก็ส่งผลเยอะมาก มีคนบอกว่าก่อนที่นักศึกษาจะจบออกมาเป็นแรงงาน ในแง่หนึ่งเราก็เป็นแรงงานให้กับมหาวิทยาลัยด้วย เราทำ Thesis เราทำงานอะไรออกมา คนได้หน้าก็คือมหาวิทยาลัย มันก็เป็นแรงงานคนหนึ่งเนอะ และอีกวิธีคิดหนึ่งที่ได้มาคือการทำงานฟรี นักศึกษาพวกนี้ก็เป็นตัวอย่างของการทำงานฟรีที่เกิดจากสถานศึกษาด้วย ก่อนหน้านี้เราได้ทำมาตรฐานนักศึกษาฝึกงานเพื่อยกระดับมาตรฐานการฝึกงานในประเทศไทย เราก็จะเห็นว่าวิธีคิดเรื่องการทำงานฟรีมันใหญ่มากในไทย เราไปอ้อนสถานประกอบการให้ช่วยเซ็นใบฝึกงานให้หน่อย ทั้งๆ ที่คำว่านักศึกษาฝึกงาน หรือเด็กฝึกงานมันไม่มีการบัญญัติในไทยเลยนะ ผลงานที่เราทำให้บริษัทถ้าไม่มีการเซ็นสัญญาบริษัทเอาไปใช้ไม่ได้ด้วยซ้ำ 

นอกจากการสร้างมาตรฐานกลางให้กับแรงงานสร้างสรรค์แล้ว ยังมีปัญหาอะไรอีกที่เรายังต้องเดินหน้าต่อ

สิ่งที่เราจะทำต่อคือการกระจายโอกาส อย่างที่บอกไปโอกาสในการทำงานสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นของทุกคน คุณลองจินตนาการตัวเองว่าเป็นเด็กที่เกิดในสกลนคร คุณอาจไม่สามารถมีความฝันว่าจะเป็นนักวาดได้ด้วยซ้ำ เพราะโอกาสในการเข้าถึงศิลปะของคุณมันไม่เกิดขึ้น เราพยายามจะลงพื้นที่ไปในหลายๆ จังหวัด เราไปข่อนแก่น เชียงใหม่ หรือจังหวัดในภาคเหนือเพื่อให้เราเห็นว่าโอกาสในการเข้าถึงศิลปะมันกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ  หรือในหัวเมืองใหญ่อย่างข่อนแก่นก็ยังมีแกลอรี่อะไรแบบนี้บ้าง แต่ถ้าคุณอยู่ในจังหวัดเล็กๆ คุณจะไม่มีพื้นที่ในการเสพศิลปะเลย ไม่มีพื้นที่ให้ Inspired ว่าคุณอยากเป็นอะไร อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราอยากไปจัดพื้นที่ให้คนพวกนั้นด้วย เช่น การทำ Workshop การทำตลาด การจัดแกลอรี่ให้จังหวัดต่างๆ เข้าถึงศิลปะได้ รวมไปถึงการผลักดันจากทางภาครัฐเหมือนกัน เช่น การกระจายอำนาจให้มันไปสู่จังหวัดให้เขาสามารถสร้างสรรค์โปรเจคของเขาเองได้ โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากหัวเมืองกรุงเทพฯ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า