fbpx

การศึกษาไทยในช่วงโควิด-19 กับแรงกดดันที่มากกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์รับแจ้งเหตุ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ฆ่าตัวตายภายในห้องพักย่านราชเทวี กรุงเทพฯ

จากการสอบถามญาติผู้เสียชีวิต ทราบว่า หลังจากเรียนออนไลน์ ทำรายงานส่งอาจารย์ ทำให้จำเป็นต้องทำงานอย่างหนักจนดึกดื่นไม่ได้นอนจนถึงเวลาตี 4 อย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้มีอาการนอนไม่หลับจากความเครียดสะสม

ก่อนหน้านี้ ทางญาติผู้เสียชีวิตได้พาผู้เสียชีวิตไปพบแพทย์ และได้ยานอนหลับกลับมารับประทาน พร้อมหยุดการเรียนเป็นเวลาชั่วคราว ก่อนเกิดเหตุน่าสลดขึ้น

อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงปัญหาดังกล่าวที่นักศึกษาฆ่าตัวตาย จากเหตุการณ์เครียดสะสม ขอความร่วมมือให้ผู้บริหารได้ออก และกำหนดนโยบายมากกว่าการเก็บตัวชี้วัด กำไร ขาดทุน ผลประกอบการมหาวิทยาลัย เพราะ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ นักศึกษาผู้เรียน

อาจารย์ กล่าวต่อ “มหาวิทยาลัยต้องเร่งใส่ใจลงรายละเอียดดูแล well-being ของนิสิตนักศึกษา​ จะปัดไปทีแค่ว่าลดค่าเทอม 10% มีทุนสำหรับคนวิ่งเรื่องทำคำร้อง มีฮอตไลน์สุขภาพจิตให้แล้วคงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปเดียว นิสิตแต่ละคนต้องเรียนออนไลน์ลำพังกันคนละกี่วิชา แต่ละวิชาสั่งงานกันแค่ไหน ใครพักอยู่ลำพัง และอยู่ในเงื่อนไขที่เปราะบางบ้าง ฯลฯ มีอีกหลายคำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบอย่างเร่งด่วน”

“ฝากถึงเพื่อนพี่น้องคณาจารย์ มอบหมายงานอย่างมีความหมาย อย่าหวังความสมบูรณ์แบบจนเครียดทั้งคนสอน ผู้สอบออนไลน์ การประเมินความรู้มีมากกว่าการสอน หรือสอบ online learning ไม่ใช่มีแต่อุปกรณ์กล้อง ไฟ ไมค์ ฉากเขียว และอัดคลิปอย่างเดียว หรือ เกณฑ์นักศึกษานั่งเข้าซูมมาเพื่อฟังบรรยาย 2-3 ชั่วโมง พร้อมผลักให้ผู้เรียน เรียนเดียวดายท่ามกลางลิสต์งานมหาศาลไม่ได้พัก”

“สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เครียดขนาดนี้จะหวังเด็กลั้ลลาเปิดกล้องยิ้มแย้มคงเกินไป”

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (เลขาฯ รมว.อว.) ในฐานะโฆษก อว. กล่าวถึงกรณีที่นิสิตชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย จากความเครียดสะสมเพราะการเรียนออนไลน์ ว่า ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารของจุฬาฯ แล้ว ซึ่งทางจุฬาฯก็มีความเป็นห่วงนิสิต นักศึกษา รวมไปถึงกลุ่มอาจารย์ด้วย ทั้งนี้ทางจุฬาฯ ได้รายงานให้ตนรับทราบว่า กรณีดังกล่าวคาดว่าจะเกิดจากการเครียดสะสม

ทางด้านผู้บริหารจุฬาฯ ได้มีการเน้นย้ำให้อาจารย์ผู้สอนทุกคน ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด ทาง อว.โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ก็ได้เน้นย้ำให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับดูแลในเรื่องการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ขณะนี้ จุฬาฯ ได้มีการตั้งศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Welness) ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ความเครียดในชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน สามารถรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังมีสายด่วนเยียวยาทางจิตใจ ที่เบอร์ 02-218-0000 ด้วย

เพื่อที่จะให้คำปรึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ทางจุฬาฯ อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำคู่มือสำหรับอาจารย์ที่จะต้องสอนในระบบออนไลน์ เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนเหมาะสมที่สุด

ย้อนกลับไปวันที่ 20 มกราคม 2564 แถลงการณ์ของนางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ หัวข้อ “เด็กๆ ไม่สามารถรับผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อไปได้อีกปี” สะท้อนปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนเมื่อต้องเผชิญหน้าการปิดโรงเรียนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า อาจทำให้เด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มถึง 24 ล้านคนทั่วโลก ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษารวมไปถึงสุขภาพทางใจ การพัฒนาการของเด็กที่จะถดถอยลง เนื่องจากการสั่งปิดโรงเรียนในประเทศต่าง ๆส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดสูงสุด เด็กนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้

ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดได้อย่างต่อเนื่อง หรือจัดให้เป็นสถานที่เปิดได้ในลำดับต้น ๆของมาตรการ

แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการปิดโรงเรียน หลักฐานต่าง ๆจะแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่หลักของการแพร่เชื้อ แต่ประเทศต่าง ๆก็ยังคงเลือกที่จะปิดโรงเรียน และสถานศึกษา ซึ่งบางแห่งได้ปิดมาแล้วเกือบหนึ่งปี

 เมื่อสุขภาพ พัฒนาการ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดกำลังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

“การไม่ได้กินอาหารที่โรงเรียน ทำให้เด็กจำนวนมากหิวโหย และมีภาวะโภชนาการที่แย่ลง การขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ การไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวในแต่ละวัน ทำให้เด็ก ๆ ต้องสูญเสียสมรรถภาพทางกายเกิดความเครียด และเมื่อขาดการสนับสนุนต่าง ๆจากโรงเรียน ส่งผลให้เด็ก ๆมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกทำร้าย การถูกบังคับให้แต่งงาน และการถูกใช้แรงงาน”

การตัดสินใจเรื่องการเปิด-ปิดโรงเรียนควรประเมินจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ การปิดโรงเรียนทั่วประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงและระบบสาธารณสุขกำลังแบกรับภาระอย่างหนัก ซึ่งอาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียน ควรมีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเพื่อให้เด็กบางกลุ่มสามารถเรียนต่อได้ในห้องเรียน เช่น กลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในบ้าน หรือเด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารที่โรงเรียน หรือเด็กที่พ่อแม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

ในพื้นที่ที่มีการล็อคดาวน์ โรงเรียนต้องเป็นสถานที่แรก ๆ ที่เปิดก่อนเมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการ นอกจากนี้ ควรจัดชั้นเรียนพิเศษเพื่อช่วยให้เด็กที่ไม่สามารถเรียนทางไกล สามารถเรียนตามทันได้ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

หากเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนต่อไปอีก 1 ปี ก็จะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายรุ่นอายุทีเดียว


ที่มา:

https://thematter.co/brief/134464/134464

https://www.thaipost.net/main/detail/91659

https://www.unicef.org/thailand/th/

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า