สังคมไทยถกเถียงกันเรื่อง ‘ประธานสภา’ ในแทบทุกมิติ
ถกเถียงกันตั้งแต่เรื่องธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าใครควรได้ดำรงตำแหน่งประธานสภา ถกเถียงกันเรื่องคุณสมบัติและความอาวุโสของคนที่ได้เป็นประธานสภาว่าจะต้องมีประสบการณ์ มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ สามารถควบคุมนักการเมืองทุกคนในการประชุมสภาหรือการอภิปรายต่างๆ รวมถึงเรื่องของ ‘เพศ’ ก็ถูกตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
เราได้พูดคุยกับ ‘เบญจา แสงจันทร์’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 กับคำถามมากมายที่เกิดขึ้นจากประชาชนที่ตามติดสถานการณ์การเลือกประธานสภาอย่างใกล้ชิด แต่เราเลือกที่จะถามเธอในประเด็นรองลงมาอย่างเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ที่สะท้อนออกมาจากการเลือกประธานสภาครั้งนี้
จริงหรือไม่ที่ประธานสภาจำเป็นต้องเป็นผู้ชาย เพราะนักการเมืองหญิงไม่มีความสามารถมากพอ? จริงหรือไม่ที่นักการเมืองหญิงไม่สามารถควบคุมการประชุมต่างๆ ได้เท่ากับผู้ชาย และจริงหรือไม่ที่การเมืองในสภายังคงล้าหลัง ในขณะที่มวลชนนอกสภาวิ่งไปไกลกว่า จนเป็นที่มาของการที่สังคมเรียกการเมืองในช่วงเวลานี้ว่า ‘สภาชายแท้’ เพราะความวุ่นวายต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากนักการเมืองชายที่มีสัดส่วนใหญ่ในสภาแทบทั้งนั้น?
เพราะเหตุใดการเมืองไทยถึงไม่เคยมีประธานสภาเป็นผู้หญิง?
“พูดถึงประเด็นความสามารถก่อนเลย จริงๆ เราเชื่อว่านักการเมืองหญิงในสภามีคุณสมบัติ มีความสามารถ มีความรู้มากพอแน่นอน เรายืนยันเพราะโดยส่วนตัวได้ทำงานกับหลายคน ได้เห็นว่าทุกคนมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ครบถ้วน
“เราเคยเห็นผู้หญิงดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอย่าง ‘นายกรัฐมนตรี’ มาแล้ว และในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราก็มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง แต่เรากลับยังไม่เคยมีตำแหน่งประธานสภาที่เป็นผู้หญิงเลย
“ถ้าให้ประเมินส่วนตัวว่าทำไมหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราถึงไม่เคยมีประธานสภาหญิงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสัดส่วนจำนวนนักการเมืองหญิงที่มีน้อยกว่าผู้ชาย ทั้งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในฐานะระดับปฏิบัติการหรือนักวิชาการในสภา
“อย่างที่เราทราบกันดีว่าการเมืองไทยมีสัดส่วนผู้ชายเยอะกว่า ซึ่งเทียบสัดส่วนปัจจุบัน แม้ปีนี้เราจะมีนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14% มาเป็น 19% โดยประมาณ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการถูกกีดกันทางเพศในพื้นที่สภาก็ยังคงมีอยู่ และเรายังขาดผู้เล่นเพศอื่นๆ อยู่มาก ทำให้บางครั้งตำแหน่งแห่งที่ในการเมืองจึงถูกสงวนไว้ให้ผู้ชายเท่านั้น”
คำตอบของเบญจาคือการย้ำว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือความรู้ของนักการเมืองหญิงเลย แต่เป็นเรื่องสัดส่วนและการถูกกีดกันทางเพศในระบบการเมืองไทยมากกว่า
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งข้อสังเกตเกี่ยวกับประธานสภาหญิง คือบางสมมติฐานและบางความคิดเห็นมองว่า หน้าที่หนึ่งของประธานสภาคือการควบคุมความสงบเรียบร้อยในสภา และด้วยความที่มีนักการเมืองชายจำนวนมาก ประธานสภาหญิงจึงน่าจะรับมือกับเรื่องนี้ไม่ไหว
เบญจาตอบคำถามนี้ด้วยการอธิบายว่า เธอไม่ได้อยากเปรียบเทียบเรื่องคุณสมบัติทางเพศในลักษณะว่าผู้ชายหรือผู้หญิงทำงานได้ดีกว่า แต่ถ้าจะต้องโต้แย้งข้อครหาดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยิบยกงานวิจัยและงานวิชาการรองรับ
“สุดท้ายเป็นเรื่องของมายาคติ คำพูดที่ว่าผู้หญิงจะรับมือกับความสงบเรียบร้อยในสภาไม่ได้ เพราะว่ามีแต่เสือ สิงห์ กระทิง แรด ทั้งนั้น ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ก็คือการด้อยค่าคนด้วยเพศเกินไปหรือเปล่า และทำให้เกิดความเข้าใจกันเองว่าผู้ชายมีคุณสมบัติมากเพียงพอที่จะควบคุมการประชุมได้มากกว่าเพศหญิง
“สุดท้ายแล้ว ถ้าไปดูในการทำงานในชั้นกรรมาธิการ เราก็มีประธานคณะกรรมาธิการ ประธานอนุกรรมาธิการที่เป็นผู้หญิง และสามารถควบคุมการประชุมในสภาได้ ทั้งที่ในตอนประชุมคณะกรรมาธิการก็มีผู้ชายจำนวนมากนั่งอยู่ด้วย เราจึงมองว่าการตัดสินการทำงานด้วยเพศจึงไม่ใช่คำตอบ”
มองอย่างไรกับการที่ประชาชนเรียกการเมืองช่วงนี้ว่าเป็น ‘สภาชายแท้’
“อาจจะไม่ผิดคาดมากนัก ด้วยความที่เราทำงานในสภามา 4 ปี แล้วเห็นพลวัตของสังคมการเมืองไทย เห็นบทบาทของ ส.ส.หญิง ส.ส.ชาย และ ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้เพศอื่นนอกจากเพศชายจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในสภาจริงๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามีนักการเมืองที่ต่อสู้และเรียกร้องเรื่องของสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศมากพอ
“เราได้เห็นว่าจริงๆ แล้ว บทบาทของผู้หญิงบางคนในสภาก็ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ระบอบชายเป็นใหญ่ สนับสนุนระบอบชายเป็นใหญ่ เราได้เห็นผู้หญิงจำนวนมากที่ยังยกมือให้กับกฎหมายที่กดทับและกีดกันทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเรื่องของการทำแท้งหรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เรื่องนี้ก็เป็นบทสะท้อนสภาพสังคมไทยด้วยเหมือนกันว่าเรายังคงตกอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่จริงๆ ซึ่งเราจะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ผู้หญิงในสภาสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรี เรียกร้องสิทธิให้กับตัวเองได้
เบญจามองว่าตัวเธอเองและเพื่อนนักการเมืองอีกหลายคนมองข้ามเรื่องความเสมอภาคทางเพศ (gender equality) ระหว่างชายกับหญิงไปแล้ว แต่มุ่งไปยังการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ (gender diversity) ที่เชื่อมั่นว่าทุกเพศจะต้องเท่าเทียมกัน และประชาชนก็ได้ขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ไปไกลกว่าในสภามากแล้ว
“ถามว่าประชาชนผิดหวังกับเรื่องนี้ไหม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ แต่ว่าเราเองในฐานะผู้แทนราษฎร คงต้องแบกรับความคาดหวังและความฝันเหล่านั้นของพี่น้องประชาชน เพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไข และไม่ใช่แค่ในสภา เราต้องพูดเรื่องนี้ให้เสียงดังมากขึ้นในสังคม
“การถูกเรียกว่าสภาชายแท้เป็นเรื่องของการเมืองในสภาที่ล้าหลัง แต่การเมืองนอกสภาก้าวหน้าไปไกลกว่า เราจึงเห็นสัญญาณจากประชาชนและกระแสสังคมโซเชียลที่เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ เรียกร้องว่าไม่ควรกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางเพศ และต้องสนับสนุนความเสมอภาคทางมากขึ้น สังคมไปไกลในระดับนั้นแล้ว แต่ว่าในสภาเรายังไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้
“แต่ลำพัง ประชาชนพูดและส่งเสียงกันเองตามสื่อโซเชียลก็อาจทำให้เสียงไม่ดังมากนัก แต่เบญคิดว่าสิ่งที่ The Modernist ทำอยู่ก็ส่งผลอย่างมากกับการเรียกร้องในเรื่องนี้ เพราะสื่อมีผลต่อการสะท้อนสภาพสังคมไทยว่าจะก้าวหน้า จะล้าหลัง จะคงที่อยู่แบบนี้ ไปจนถึงการสานความฝันและความหวังของพี่น้องประชาชน ที่อยากเห็นการการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเสมอภาคทางเพศด้วยเช่นกัน
“อย่างกรณีสื่อพูดถึงเรื่องนี้ เบญคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะถ้าเบญพูดมันก็จะสะท้อนอยู่แค่ในสภาเท่านั้น อาจทำให้เสียงที่พูดถึงประเด็นนี้ไม่ดังพอ แต่พอมีสื่อเริ่มพูดด้วย เรื่องก็จะสะท้อนกลับไปสู่สังคมและทำให้มีพลวัตที่ไปได้ไกลมากขึ้น และสามารถนำเสนอนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น”
ในอนาคตเราจะมีโอกาสได้เห็นประธานสภาเพศอื่นหรือไม่?
“อันนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก ถ้าถามความคิดเห็นว่าเราจะได้ประธานสภาเพศอื่นไหม ก็ต้องพูดด้วยความรู้สึกที่มีหวัง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง ส.ส. ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่วันนี้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ก็นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ส.ส. กะเทยแต่งหญิงคนแรกในสภาไทย’ ที่เมื่อก่อนสังคมก็ไม่เคยเชื่อเลยว่าเราจะมีนิยามแบบนี้เกิดขึ้นในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือไม่เคยคิดว่าเราจะมี ส.ส. LGBTQI+ แต่วันนี้เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงสภาไทยได้
“เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ว่าเราจะมีคนเพศอื่นๆ ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ บ้างไหม ก็เป็นเรื่องของการกีดกันทางเพศ ที่ทำให้เรายังไม่สามารถมีประธานสภาที่เป็นผู้หญิงหรือเพศหลากหลายได้
“แต่ถ้าพูดถึงความหวังในอนาคตข้างหน้า เบญคิดว่าทุกวันนี้ ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ก็มีคุณสมบัติเพียงพอตามบรรทัดฐานอยู่แล้ว เราจะได้เห็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่เปลี่ยนไปจากเดิม และคิดว่ามีโอกาสที่เราจะเห็นกลุ่ม LGBTQI+ ทำงานในสภามากขึ้นไปอีก สามารถเปลี่ยนแปลงสภาขยับไปเป็นประธานสภากรรมาธิการ ประธานสภา หรือในวันข้างหน้า เราอาจจะเห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกก็ได้ นี่คือความหวังของเรา”
#TheModernistTH #Gender #ประชุมสภา #ประธานสภา #เบญจาแสงจันทร์ #สัมภาษณ์ #ก้าวไกล #เพื่อไทย #การเมืองไทย #เพศ #เจนเดอร์ #สภาชายแท้ #ความเท่าเทียมทางเพศ