fbpx

ส่อง CORPORATE IDENTITY 7 พรรคการเมืองไทย

ย้อนถอยหลังกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน การเลือกตั้งเป็นอีกปรากฏการณ์ของสังคมไทยที่ชี้ให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวเรื่องการเมืองกันมากยิ่งขึ้น เราได้เห็นพรรคการเมืองใหม่ ๆ มุมมองทางการเมืองใหม่ ๆ ผ่านจากทั้งประชาชน นักการเมือง และตัวของพรรคการเมืองเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น คงหนีไม่พ้น ภาพลักษณ์ ที่แต่ละพรรคการเมืองสร้างขึ้น เพื่อส่งต่อความเป็นตัวเอง ผ่านตัวพรรค สู่สายตาประชาชนอันทรงเกียรติ

CORPORATE IDENTITY (CI) จึงเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่พรรคการเมืองเลือกใช้เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ดังกล่าวได้ จากทั้งการเลือกใช้โทนสี การเลือกใช้ฟอนต์ประกอบ การจัดวางองค์ประกอบศิลป์บนสื่อประเภทต่าง ๆ อย่างเช่นในการเลือกตั้ง ส.ก. อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ที่แต่ละพรรคการเมืองก็นำเสนอตัวตน ผ่านกลวิธีอันหลากหลาย ซึ่งแฝงไปด้วย CI ที่เป็นพื้นฐานของน้ำเสียงที่แต่ละพรรคใช้ในการสื่อสาร

Modernist จึงอยากชวนมาวิเคราะห์ สอดส่อง และสังเกต CI ที่แต่ละพรรคการเมืองเลือกใช้ในการลงสมัคร ส.ก. ครั้งนี้ รวมไปถึงสนามการเลือกตั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้กัน

เพราะน้ำเสียงที่สัมผัสได้ทางสายตา ต้องการคำอธิบายลงลึกไปกว่านั้น

พรรคเพื่อไทย


จุดน่าสนใจ: ใช้สีขาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ และเปลี่ยนเอกลักษณ์ของพรรคบางจุดด้วยการเลือกใช้ฟอนต์ไม่มีหัว แทนฟอนต์มีหัว ในการเลือกตั้งครั้งนี้


น้ำเสียงที่พรรคเพื่อไทยเลือกสื่อสารในช่วงเวลาที่ผ่านมาผ่าน CI หลัก คงจะหนีไม่พ้น สีแดง สีน้ำเงิน และ สีขาว สามสีหลักที่สะท้อนบนธงชาติไทยมาแต่ไหนแต่ไร โดยใช้โทนสีนี้มาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคเพื่อไทย เน้นไปที่สีขาว และสีน้ำเงินเป็นหลัก ส่วนสีแดงจะเป็นสีรอง ซึ่งในยุคสมัยใกล้ ๆ กันนั้น มีพรรคการเมืองมากมายที่เลือกใช้สีชุดเดียวกันนี้เอง

จนในช่วง 1-2 ปีมานี้ พรรคเพื่อไทย มีการเปลี่ยนแปลงด้าน CI หลายครั้งด้วยกัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนโลโก้จากแบบตัวอักษรหัวแหลม มุมเหลี่ยม ปรับเป็นตัวอักษรหัวกลม มุมมน โดยเลือกใช้ฟอนต์ TF Uthong และดัดแปลงตัวอักษรเล็กน้อย โดยเหตุผลในการเปลี่ยน ชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นกล่าวว่า เป็นการทำให้ภาพลักษณ์ทันสมัยขึ้นเท่านั้น รวมไปถึงปี พ.ศ.2564 ที่ทางพรรคเปลี่ยนสีหลักของพรรคใหม่เป็นสีแดง และเลือกใช้ลายมือของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นจุดเด่น ซึ่งเหตุผลในการเปลี่ยนครั้งนี้ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความไว้ส่วนหนึ่งว่า “เราอยากแยกให้ขาด ว่าเราไม่มีพรรคสำรอง พรรคสาขาย่อย และไม่อยากมีสีที่ใกล้เคียงกับพรรคใด ๆ”

นับตั้งแต่นั้นมา CI หลักของพรรคเพื่อไทยจึงเหลือเพียง สีแดง เพียงสีเดียว ประกอบกับสีขาว และสีดำ ในทุกสื่อของพรรค ในแง่หนึ่งการปรับ CI ในครั้งล่าสุดนี้ ทำให้น้ำเสียงของพรรคเพื่อไทยชัดเจนขึ้น สีแดง แสดงถึงความกล้าหาญ ความมุ่งมาด สื่อถึงความเป็นผู้นำ และพลัง ตามหลักฮวงจุ้ยก็ยังแสดงถึงอำนาจป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือพลังงานที่ไม่ดีได้ ส่วนฟอนต์หลักของพรรคเพื่อไทยที่ใช้งานในสื่อ เลือกใช้ฟอนต์ TF Pimai ฟอนต์ไทยหัวกลม สื่อสารน้ำเสียงในรูปแบบทางการ เป็นฟอนต์ที่ทางพรรคเลือกใช้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทย

ส่วนด้านของ CI หลักที่เลือกใช้ในการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยกลับเลือกใช้ สี และฟอนต์ที่กลับมุมมองของ CI หลักของพรรคเอง เรียกง่าย ๆ ว่า เลือกใช้สีขาว มากกว่าสีแดง และเลือกใช้ฟอนต์ไม่มีหัว อย่างฟอนต์ IBM Plex Thai แทนฟอนต์มีหัวเดิมของพรรค เหมือนพลิกการใช้งานแบบสวิตซ์ไฟ ซึ่งในมุมนี้เรามองว่าการเลือกใช้สีขาวที่มากกว่าสีแดง และใช้ฟอนต์สมัยใหม่แทนฟอนต์เก่าแก่ พรรคเพื่อไทยอาจต้องการนำเสนอน้ำเสียงที่นุ่มนวลขึ้น ผ่านพื้นที่สีขาว และตัวอักษรที่มีรูปแบบทันสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเรามองว่า ลักษณะของ CI หลักในการเลือกตั้ง ส.ก. ของพรรคเพื่อไทย มีความคล้ายคลึงกับ CI ของไปรษณีย์ไทย แบบแปลก ๆ เพราะในยุคนี้ แนวทางการออกแบบกราฟิกค่อนข้างทับทางกันง่ายยิ่งขึ้น การใช้สีน้อยลง การจัดวางที่คล้ายคลึงกัน การเลือกใช้ฟอนต์ที่คล้ายกัน หรือใช้ฟอนต์เดียวกัน น้ำเสียงที่ต้องการสื่อก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

พรรคก้าวไกล


จุดน่าสนใจ: เป็นพรรคที่รักษา CI ได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการใช้สีส้มอีกเฉด เพิ่มมากขึ้น และ Layout ที่ใช้เป็นหลัก ออกแบบด้วยการเฉียงขึ้นเล็กน้อย เพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ของพรรคเอง


ในแง่มุมของพรรคการเมืองที่มีวิธีคิดด้านกราฟิกโดดเด่น พรรคก้าวไกล หรือ พรรคอนาคตใหม่ เดิม มีแต้มต่อด้านนี้อย่างชัดเจน

ข้อแรกเราต้องยอมรับว่าการเป็นพรรคการเมืองใหม่ กระบวนการคิด ก่อร่างสร้างเนื้อตัวจนเกิดมาเป็นพรรคได้ในยุคสมัยนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปนักสำหรับการกำหนด CI ทั้งระบบอย่างชัดเจน พรรคอนาคตใหม่คือคำตอบนั้น

ส่วนข้อที่สองเราต้องยกความดีความชอบให้กับทีมคัดสรร ดีมาก ผู้สร้างสรรค์ระบบ CI ของพรรคอนาคตใหม่อย่างครบวงจร โดยใช้ระบบเดียวกับการสร้างแบรนด์ ตั้งแต่การเลือกใช้สีส้ม ที่สื่อถึงความเป็นรุ่งอรุณที่สดใส และความหวังใหม่ที่รออยู่ และ สีน้ำเงินเข้ม ที่เป็นสีคู่ตรงข้ามกันเพื่อสร้างความแตกต่าง การออกแบบโลโก้สามเหลี่ยมพีระมิดหัวกลับ สื่อถึงการให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง รวมถึงมีการตัดเส้นเฉียงบนสามเหลี่ยม สร้างให้เกิดหัวลูกศรที่ชี้ไปข้างหน้า และการเลือกใช้ Corporate Typeface เป็นของพรรคเอง อย่างฟอนต์ Anakotmai ฟอนต์ไม่มีหัวที่ออกแบบอยู่บนพื้นฐานโครงสร้างแบบธรรมชาติสมัยใหม่ (Neo-Humanist) ที่มีการออกแบบตัวอักษรบางตัวให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงการเลือกใช้ฟอนต์ Pracharath ฟอนต์เนื้อความของทางคัดสรร ดีมาก ที่ใช้งานกับฟอนต์หลักได้อย่างลงตัว

จนกระทั่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไป แตกหน่อกลายเป็นพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า CI ที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดยังคงดำเนินไปด้วยวิธีคิดค่อนข้างคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจน สีส้ม และสีน้ำเงิน ยังคงถูกให้ความหมายเดียวกัน โลโก้ทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ยังคงไว้ซึ่งหัวลูกศรที่ชี้ไปข้างหน้า รวมไปถึงฟอนต์ Anakotmai และ Pracharath ก็ยังคงถูกใช้เป็นฟอนต์หลักของทั้งสององค์กร

มาที่พรรคก้าวไกล ที่ยังคงอัตลักษณ์เดิมเกือบทุกประการ จุดที่ทำให้แตกต่างจากพรรคอนาคตใหม่เดิมในแง่ของกราฟิก ก็คงจะเป็นเลย์เอาท์กราฟิกที่บิดเฉียงขึ้นด้านขวาเล็กน้อย และฟอนต์ที่ถูกบีบช่องไฟให้แน่นขึ้น ชิดกันมากขึ้น ที่อาจจะสื่อถึงความชัดเจนขึ้น (คล้าย ๆ กับการจัดเรียงฟอนต์พาดหัวข่าวบนหนังสือพิมพ์)

เมื่อถึงการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ น้ำเสียงที่สื่อออกมาจึงมีมวลรวมของร่มเงา อนาคตใหม่ ก้าวไกล ก้าวหน้า อย่างปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่พอจะแตกต่างกันเล็กน้อย ก็คือกราฟิกสไตล์ Grunge texture ที่ปรากฏหลัก ๆ บน Logotype ‘วิโรจน์’ หรือวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคก้าวไกล ที่ไปปรากฏกราฟิกในลักษณะเดียวกันนี้บนสื่อออนไลน์ด้วยเช่นกัน กราฟิกสไตล์นี้สื่อถึงตัวตนของวิโรจน์เอง กล้า ท้า ชน ลุย ๆ ตามสไตล์การพูดที่เราเห็นบนเวทีดีเบต หรือแม้แต่ขณะที่เขายังเป็น ส.ส. อยู่ในสภานั่นเอง

พรรครวมไทยยูไนเต็ด


จุดน่าสนใจ: เป็น CI พรรคการเมือง ที่ไม่เหมือน CI พรรคการเมืองทั่วไป มีภาพลักษณ์ความเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ ที่ค่อนข้างชัดเจน และมีวิธีคิด ‘ป้ายหาเสียง’ ที่แปลกใหม่กว่าพรรคอื่น ๆ


หนึ่งในพรรคที่มีวิธีคิดแตกต่าง แหวกขนบเดิมอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้ หนีไม่พ้นกับพรรครวมไทยยูไนเต็ด แค่ชื่อก็น่าคุยแล้ว ว่าเหตุใดจึงตั้งชื่อเหมือนทีมฟุตบอล

ปูพื้นฐานกันนิดหน่อย สำหรับชื่อ รวมไทยยูไนเต็ด ทางพรรคได้ให้เหตุผลบนเว็บไซต์ของพรรคว่า “เรามองว่า การจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ต้องอาศัยการบริหารของทีมที่มีความเป็นมืออาชีพ สามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ต่างไปจากการบริหารทีมฟุตบอลคุณภาพสักทีม ซึ่งประกอบสร้าง จากผู้เล่นหลากหลายตำแหน่ง” พูดง่าย ๆ ว่าพรรคนี้คือการร่วมมือ ร่วมใจของคนไทยหลาย ๆ คน ที่ต้องรับตำแหน่งหน้าที่อันแตกต่างกันในทีมเดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้ยังต่อยอดไปสู่การเปรียบเปรยทีมงานภายในพรรคเป็นผู้เล่นที่ต้องลงสนามเดียวกัน อย่างการเปรียบโค้ช เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของพรรค เปรียบกองกลาง เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ที่เป็นแกนหลักสำคัญทั้งเกมรุกและเกมรับ เปรียบเซ็นเตอร์ เป็นทีมการเงินของพรรค ตำแหน่งที่ทำให้พรรคเกิดความคล่องตัวและผลลัพธ์สูงสุด และเปรียบผู้รักษาประตู เป็นทีมกฎหมายที่พร้อมปกป้องในทุกเหตุการณ์

ในแง่ของ CI พรรค เลือกใช้โทนสีชมพูอ่อน คล้าย ๆ สีกุหลาบ หรือสีโทนเดียวกันเป็นหลัก สีโทนนี้สื่อถึงการดูแลเอาใจใส่ การทะนุถนอม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และใช้สีเทาเข้ม กับสีขาวประกอบ พอนำมารวมกัน ชุดสีนี้ดูคล้ายชุดสีของแบรนด์สินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงเป็นหลัก รวมไปถึงฟอนต์ที่เลือกใช้อย่าง Meltie ฟอนต์ที่ทาง Typomancer นักออกแบบตั้งใจให้มีกลิ่นอายหวาน ๆ นุ่มนวล น่ารัก ๆ คำนึงไปถึงผู้ใช้งานว่าเหมาะกับธุรกิจเกี่ยวกับขนมหรือเครื่องดื่มและต้องการอัตลักษณ์เพื่อนำไปใช้กับโลโก้ เมนู หรือ artwork ก็ตามแต่ ทางนักออกแบบอาจจะคาดไม่ถึงว่าวันหนึ่งฟอนต์นี้จะกลายเป็นฟอนต์ในโลโก้ของพรรคการเมือง ส่วนอีกฟอนต์ที่เลือกใช้งานก็คือ Prompt ฟอนต์ตัวแทนความเป็นมาตรฐาน ใช้งานได้หลากหลายลักษณะ อย่างในป้ายหาเสียง ฟอนต์นี้ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม (อาจจะเพราะว่ามันฟรี)

พอองค์ประกอบทั้งชุดสี ฟอนต์ นำมารวมกัน ผ่านองค์ประกอบด้านการออกแบบในกราฟิกแต่ละชุด มารวมกับภาพของผู้สมัคร ที่ท่าทางในการถ่ายรูปแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น หรือแม้แต่เอาแมวมาร่วมเฟรมบนป้ายหาเสียง ทั้งหมดนี้หลอมรวมภาพลักษณ์ของพรรครวมไทยยูไนเต็ดให้มีความเป็น ชนชั้นกลาง เพราะสมาชิก ส.ก. ที่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น ภาพลักษณ์การแต่งกายเนี้ยบ การเซ็ตทรงผมทันสมัย บุคลิกของผู้สมัคร รวมไปถึงวิธีการสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้น้ำเสียงที่พรรครวมไทยยูไนเต็ดสื่อสารพุ่งตรงไปที่กลุ่มคนชนชั้นกลาง มากกว่าชนชั้นอื่น ๆ 

พรรคไทยสร้างไทย


จุดน่าสนใจ: เป็น CI พรรคการเมืองที่แปลกใหม่ ทันสมัย มีลักษณะการใช้งานค่อนข้างรกและแน่น ช่องว่างน้อยเกินไป แต่เมื่อทำเป็น ‘ป้ายหาเสียง’ กลับขาดความเป็น CI ของพรรคอยู่มากพอสมควร


พรรคไทยสร้างไทยเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองพรรคใหม่ในยุคนี้ ที่เลือกใช้ CI ทันสมัย ช่วยปรับลุคของคุณหญิงหน่อยให้เด็กลงได้พอสมควร จากการเลือกใช้กราฟิกแนวเรขาคณิตจำพวก สามเหลี่ยมมุมฉาก สี่เหลี่ยมจัตุรัส วงกลม มาประกอบ ๆ กัน และเลือกใช้ชุดสีที่ฉูดฉาดหลากหลายสีรวม ๆ กัน ทั้งสีแดงเอย สีส้มเอย สีม่วงเอย สีน้ำเงินเอย สีขาวเอย จากองค์ประกอบด้านกราฟิกที่กล่าวมา เราอนุมานได้ว่าพรรคไทยสร้างไทยต้องการส่งเสริมทุกความหลากหลาย และการให้พื้นที่กับคนทุกกลุ่ม กราฟิกเรขาคณิตถูกใช้อย่างสม่ำเสมอ และถูกใช้ในหลากหลายรูปแบบ ชุดสีถูกใช้ในองค์ประกอบบางจุดที่แตกต่างกัน ถ้าจับสองสีมาอยู่ด้วยกันก็ต้องอยู่ได้อย่างเหมาะสมกัน ที่สำคัญในกราฟิกแต่ละชุดของทางพรรคจะพยายามใช้ทุกสีให้เท่า ๆ กัน (เว้นแต่บางกราฟิกที่ใช้เพียงภาพเดียว ก็อาจจะให้น้ำหนักกับบางสีมากกว่าบางสี) รวมไปถึงเรื่องของการเลือกใช้ฟอนต์ FC Iconic ฟอนต์เรือธงของ Fontcraft (ที่ Modernist เราก็เลือกใช้ฟอนต์นี้เช่นเดียวกัน) ที่สื่อสารน้ำเสียงที่ทันสมัย เป็นกันเองก็ได้ ทางการก็ดี ใช้ได้ครบถ้วนทั้งนำมาเป็นฟอนต์พาดหัวเรื่อง หรือแม้กระทั่งฟอนต์เนื้อความก็ไม่ได้อ่านยากจนเกินไปนัก

ก่อนจะเริ่มติติงในย่อหน้าถัดไป เราชื่นชมในแนวคิดการใช้กราฟิกในรูปแบบนี้ ที่สามารถนำเสนอภาพลักษณ์ของพรรคได้ชัดเจน และสร้างสรรค์ดี แต่…

เมื่อทุกอย่างถูกบังคับรวมอยู่ในภาพกราฟิกภาพเดียวแล้ว มันกลายเป็นรกไปเสียอย่างนั้น เพราะอีกแนวทางที่ชัดเจนของพรรคไทยสร้างไทยด้านการจัดวางองค์ประกอบ คือการพยายามใส่ทุกอย่างลงไปภายในภาพเดียว ซึ่งทุกอย่างในความหมายนี้ รวมถึงคำอธิบายอันยาวเหยียด บาง content ภาพเดียวที่ควรมีคำประกอบสั้น ๆ จำนวน text ที่ปรากฏก็กินพื้นที่ภาพไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่าง content คำคม ภาพคนก็แน่น text ก็แน่นทุกอณูบนผืนภาพ จุดนี้ถือเป็นจุดเสียในมุมมองการออกแบบกราฟิกของพรรคไทยสร้างไทย

แต่ก็น่าแปลก ที่บนป้ายหาเสียง ส.ก. ของพรรคไทยสร้างไทยนั้น กลับนำเสนอ CI ของพรรคได้ไม่ค่อยดีนัก สีสันของกราฟิกที่ฉูดฉาดกระจุกอยู่หลังรูปคุณหญิงหน่อย หรือรูปผู้สมัครที่บดบังเสียจนมิด สไตล์กราฟิกเรขาคณิตถูกกลืนไปกับเฉดสีน้ำเงินที่คล้ายคลึงกัน สิ่งที่พอบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของพรรคเท่าที่สังเกตเห็นไว ๆ จึงเหลือเพียงโลโก้พรรคเท่านั้น หนำซ้ำยังมีกราฟิกพาดกลางป้าย “ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่า กทม. ไม่เคยทำ” วิธีการพาดคล้ายคลึงกับป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองหนึ่งเมื่อช่วงเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ที่ผ่านสรรสร้างขึ้นบนสื่อออนไลน์ กลับไม่ถูกสื่อสารผ่านป้ายหาเสียงมากเท่าที่ควร ในแง่นี้เราจึงมองว่าพรรคไทยสร้างไทยยังรักษา CI บนป้ายหาเสียงได้ไม่ดีเท่าที่ควร

พรรคกล้า


จุดน่าสนใจ: บังเอิญใช้ชุดสีของ CI พรรคที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับ CI หาเสียงของ ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ และ ‘กลุ่มรักษ์กรุงเทพ’ และสไตล์ของกราฟิกที่ใช้ใน Online และ Offline แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่สไตล์การออกแบบ CI มีความมืออาชีพพอสมควรอย่างพรรคกล้า ก็เลือกใช้สีน้ำเงิน ที่สื่อถึงความมั่นคง ความราบรื่น ความเป็นเอกภาพ ความเป็นอนุรักษ์นิยม และสีเหลือง ที่สื่อถึงอนาคต การมองโลกในแง่ดี อุดมคติ ความหวัง เป็นอีกหนึ่งคู่สีที่แตกต่างแต่อยู่ด้วยกันแล้วลงตัว แต่บังเอิญชุดสีที่ว่า CI ของคุณอัศวิน ขวัญเมือง ก็เลือกใช้ชุดสีเดียวกัน ในแง่ของกราฟิกบนสื่อออนไลน์ ถ้าเอามือปิดชื่อกลุ่มการเมือง หรือชื่อพรรค ดูแล้วก็อาจจะคิดว่าเป็นพรรคพวกเดียวกันได้ แต่ถ้ามองในกราฟิก offline บนป้ายหาเสียงของพรรคกล้า เลือกใช้พื้นหลังสีขาว คาดฟอนต์สีเหลือง สลับกับสีน้ำเงิน ที่ทำให้ภาพลักษณ์บนป้ายหาเสียงแตกต่างกัน

ในด้านของฟอนต์ พรรคกล้าเลือกใช้ฟอนต์ Prompt ฟอนต์ยอดนิยมในหมู่พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เป็นอย่างมากในรอบนี้ โดยนำมาใช้ใน Logotype ผ่านการดัดแปลงรูปแบบตัวอักษรบางส่วน รวมไปถึงนำมาใช้เป็นฟอนต์หลักของพรรค ซึ่งในทางหนึ่งฟอนต์นี้ก็ค่อนข้างมั่นคง แข็งแรง เป็นทางการ ดูเหมาะสมกับการใช้งาน CI ของพรรคกล้า

พรรคพลังประชารัฐ


จุดน่าสนใจ: แค่กราฟิก 3 แบบที่เอามาเทียบกัน ทำให้เราพอมองเห็นได้ว่ารักษา CI หลักของพรรคได้ไม่ดีนัก รวมไปถึงลักษณะการออกแบบก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เป็นหนึ่งพรรคการเมืองใหม่ที่ช่วงแรกค่อนข้างรักษา CI ของพรรคได้อย่างครบถ้วน ออกแบบมาได้อย่างเป็นระบบประมาณหนึ่ง นับตั้งแต่ชุดสีหลักของพรรคอย่างชุดสีที่ได้รับความนิยมในหมู่พรรคการเมืองอย่าง สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นชุดสีบนโลโก้พรรคการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองไทยพรรคแรกที่เลือกใช้ชุดสี 3 สีนี้ในโลโก้พรรค ต่างจากพรรคอื่น ๆ ในยุคเดียวกันที่มักใช้โลโก้เพียงสีเดียว ทำให้ความเป็นชาติไทยที่สื่อผ่านโลโก้พรรคนี้กระจายความนิยมไปยังพรรคอื่น ๆ ไม่เว้นแต่พรรคพลังประชารัฐเอง

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือโลโก้พรรค ที่ปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้เส้นธงชาติครอบเป็นรูปหกเหลี่ยม ก็ปรับเป็นเส้นธงชาติครอบเป็นรูปวงกลม เพื่อให้คนในพรรคกลมเกลียวสามัคคีกัน หรือการปรับตัวอักษร พรรคพลังประชารัฐ เข้ามาอยู่ในวงกลมทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความกลมเกลียว ไม่แตกออกจากวง ดูเป็นการปรับภาพลักษณ์ผ่าน ความเชื่อ ที่ผู้ออกแบบเชื่อถือเป็นหลัก

ในเรื่องของฟอนต์ พรรคพลังประชารัฐเลือกใช้ DB Helvethaica X ฟอนต์ไทยยอดนิยมแห่งยุค มีความทันสมัย เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ ใช้กับงานออกแบบประเภทไหนก็ลงตัว ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นกลาง อ่านง่าย ใช้เป็นฟอนต์พาดหัวเรื่อง หรือฟอนต์เนื้อความก็สามารถอ่านได้ไม่ยากนัก

และก็ได้ออกมาเป็น CI พรรคพลังประชารัฐ ที่มีการใช้งานอย่างเต็มระบบในช่วงเลือกตั้งใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ.2562 ผ่านสื่อหลากหลายประเภท ที่มีการจัดวางองค์ประกอบอย่างเป็นระบบ ดูแล้วน่าเชื่อถือ มีความเป็นมืออาชีพ

ผ่านไปไม่นาน ปี พ.ศ.2564 รูปแบบกราฟิกที่ใช้บนสื่อออนไลน์กลับมีคุณภาพต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด สไตล์กราฟิก รูปแบบฟอนต์ ใน CI ของพรรคหายไปจนหมด ฟอนต์ที่ใช้ก็กลายเป็นฟอนต์ Cloud ฟอนต์ที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีของ Typomancer สิ่งนี้ถือเป็นหนึ่งในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ได้ไม่เต็มที่ ใช้ภาพลักษณ์ของตัวเองได้เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะสื่อถึงมุมมองการทำงานของพรรคการเมืองว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง

ถัดมาที่ช่วงเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ CI ของพรรคพลังประชารัฐก็ยังคงรักษาเอาไว้ไม่ได้ดังเดิม สไตล์กราฟิกที่คล้ายเดิมมีเพียงป้ายหาเสียงเท่านั้น เราอนุมาณว่าร้านทำป้ายอาจจะยังเก็บไฟล์เดิมเอาไว้ หรือยังมีองค์ประกอบเรื่องชุดสี และฟอนต์ตาม CI เดิมอยู่ครบ แต่ป้ายหาเสียง ส.ก. รอบนี้ก็เลือกใช้ฟอนต์เพิ่มเติม นั่นคือ PSL Freestyle ฟอนต์ไทยแนวลายมือสบาย ๆ ประกอบในบางจุดของป้ายหาเสียง ที่ทำให้ดูขี้เล่นเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่กราฟิกในช่องทางอื่น ๆ ก็ไม่ได้รักษา CI ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากนัก ค่อนข้างไปคนละทิศ คนละทางเลยก็ว่าได้ สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐควรทำคือพยายามรักษา CI ของตัวเองไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยภาพลักษณ์เดิมจะยังคงอยู่ ไม่ได้เตลิดหรือเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่รู้ทิศทางอย่างที่เป็นอยู่

พรรคประชากรไทย


จุดน่าสนใจ: เป็นพรรคที่รักษา CI บนสื่อ Offline ครั้งนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่กลับกันบน Online สไตล์กราฟิกค่อนข้างจับฉ่าย และเลือกใช้ฟอนต์ที่ไม่เหมาะกับโลโก้มาใช้ในโลโก้หลักของพรรค


สำหรับ CI พรรคประชากรไทย สิ่งที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันมากที่สุดมีเพียง สีน้ำเงิน เท่านั้น เพราะฟอนต์ที่เป็นอัตลักษณ์จริง ๆ นั้นไม่ได้มีอยู่ตั้งแต่แรก มีเพียงตัวโลโก้พรรคที่ใช้สีน้ำเงิน ชื่อพรรคที่อยู่บนโลโก้นั้น เราคาดเดาว่าอาจจะเป็นการใช้แบบอักษรลอก มานพ 2 ของ แมคคานอร์ม่า (Mecanorma) ในสมัยนั้น ส่วนในแง่ของสื่อประชาสัมพันธ์พรรคในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นป้ายหาเสียง ปกเทปปราศรัย หรือใบปลิว มีแนวทางในการออกแบบไม่เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย

จนกระทั่งช่วงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา พรรคประชากรไทย ได้ก่อตั้งเพจ Thai Citizen Party ขึ้น และบนโปรไฟล์ Facebook Page เป็นโลโก้พรรคที่ออกแบบใหม่ คำว่า พรรคประชากรไทย และ THAI CITIZEN PARTY เลือกใช้ฟอนต์ Leelawadee bold ซึ่งเป็นฟอนต์ไทยที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows Vista และ Windows Server 2008 ซึ่งในมุมมองของเรา การเลือกใช้ฟอนต์นี้ค่อนข้างไม่เหมาะสมเลย เป็นฟอนต์ที่ไม่สะท้อนภาพลักษณ์อะไรของพรรคเลยแม้แต่น้อย แม้แต่การนำฟอนต์นี้มาใช้บนโลโก้ก็ไม่เหมาะสมแล้ว เพราะฟอนต์ประเภทนี้ไม่ได้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความเป็นศิลปะ แรกเริ่มเดิมทีฟอนต์ภาษาไทยเหล่านี้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับระบบการพิมพ์บนหน้าจอเดสก์ท็อป และรองรับระบบปฏิบัติการในเวอร์ชั่นภาษาไทย มากกว่าจะนำมาใช้ในงานสร้างสรรค์ประเภทนี้

ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ พรรคประชากรไทยได้มีการกำหนดสไตล์ของกราฟิกที่ใช้ภายในพรรคอยู่พอสมควร โดยกำหนดทิศทางของสีที่ใช้เป็นโทนสีน้ำเงิน สีขาว เป็นหลัก (แต่ป้ายหาเสียงของผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพรรค กลับเลือกใช้สีพื้นหลังสีขาว ฟอนต์สีแดง) ใช้รูปแบบของ Gradient เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้มากขึ้น ในส่วนของฟอนต์ ทางพรรคเลือกใช้ฟอนต์ Prompt บนป้ายหาเสียง offline เป็นหลัก ส่วนช่องทาง online ทางพรรคเลือกใช้ฟอนต์ Noto Sans Thai ประกอบร่วมด้วย ซึ่งทั้งสองฟอนต์นี้เป็นฟอนต์ที่มีให้ดาวน์โหลดได้ฟรี และพบเห็นได้ทั่วไป เราจึงมองว่ารูปแบบ CI ที่ทางพรรคพยายามกำหนดเอาไว้ในการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ ยังสะท้อนตัวตนของพรรคได้ไม่ชัดเจนนัก และยังสร้างการจดจำจากน้ำเสียงที่ใช้สื่อสารได้ไม่มากเท่าที่ควร

นี่เป็นเพียง 7 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้เท่านั้น ยังทำให้เรามองเห็นถึงวิธีคิดของแต่ละพรรคการเมือง ที่สะท้อนให้เราเห็นผ่านภาพลักษณ์ หรือ CORPORATE IDENTITY ซึ่งเรามองเห็นได้ ยังมีแง่มุมอีกหลากหลายด้านที่เราไม่สามารถมองเห็นได้จากแต่ละพรรคการเมือง ลองสังเกต วิเคราะห์ตัวผู้สมัคร ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม. ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ จากสิ่งที่เขาคิด เขาพูด เขาทำ แล้วกำด้ามปากกา กำหนดอนาคตของท่าน และพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ทุกท่าน ได้ที่คูหาเลือกตั้งปลายเดือนนี้ได้เลย


F U N F A C T

ฟอนต์ Prompt ของ คัดสรร ดีมาก และ Google font เป็นฟอนต์ที่ถูกเลือกใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. / ส.ก. ครั้งนี้มากที่สุด โดยมีผู้สมัครผู้ว่าและพรรคการเมืองที่เลือกใช้ฟอนต์นี้กว่า 5 กลุ่มการเมือง ได้แก่ พรรคกล้า พรรคประชากรไทย พรรครวมไทยยูไนเต็ด พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า