fbpx

“โปรดใช้วิจารณญาณในการทาน” – ว่าด้วยหลากหลายมุมมองของถั่งเช่าเจ้าปัญหา

หลังจากมีดราม่าหม้อใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจับมือกับสำนักงาน กสทช. ในการกวาดล้างโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะในกลุ่มของ ”ถั่งเช่า” ก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่าเราลองมาสรุปเรื่องราวของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้ใน 4 มุมก็คือ คนกิน, นักวิชาการ ,มุมของคนขาย และมุมมองของคนกำกับดูแล ว่าทั้ง 4 มุมนี้นั้นมีทัศนคติต่อถั่งเช่าอย่างไร

มุมคนกิน : เสี่ยงไตวาย เสี่ยงเสียชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้พูดถึงประสบการณ์ของครอบครัวตัวเองในเชิงว่า พ่อของตัวเองนั้นก่อนที่จะรับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทนี้พ่อของตนนั้นไม่มีออาการเจ็บป่วยอะไร นอกจากการบ่นปวดแข้งปวดขาตามประสาของคนมีอายุ แต่เมื่อเริ่มรับประทานถั่งเช่าแล้ว ก็เริ่มมีอาการ แน่นหน้าอก หายใจลำบอก โดยแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการน้ำท่วมปอด เมื่อแพทย์ได้สอบถามว่าผู้ป่วยมีประวัติการรับประทานยาอะไรในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ ก็ได้ตอบว่ามีประวัติการรับประทานถั่งเช่าในช่วงนี้ ผลลัพธ์คือพ่อของผู้โพสต์เสียชีวิตอย่างกะทันหันในเวลาถัดมา และทางผู้โพสต์ได้ในเหตุการณ์นี้มาเล่าในทวิตเตอร์ต่อว่า ในเวลาถัดมามีการ After Sales จากผู้ขายว่าต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มอีกหรือไม่ ซึ่งตนได้ตอบกลับไปว่าพ่อของตนเสียชีวิตแล้ว[1]

มุมนักวิชาการ : ไม่แนะนำให้ทานต่อเนื่อง อาจเสี่ยงไตวาย

จากโพสต์บนเพจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้ข้อมูลการติดตามผู้ป่วยที่น่าสนใจว่าในปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยจำนวน 8 ราย เป็นผู้ป่วยสูงอายุมีโรคหัวใจรับประทานสารสกัดถั่งเช่าสีทอง วันละ 1 เม็ดประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลง เมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น อีก 6 รายมีอาการไตวายเฉียบพลัน 1 ราย, 2 รายเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 บางรายเมื่อหยุดใช้แล้วไตดีขึ้น บางรายต้องฟอกเลือด พบอีก 1 รายใช้กาแฟถั่งเช่าร่วมกับยาแก้ปวดและสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ทําให้ค่าการทํางานของไตแย่ลง

ทางฟากของนิตยสารฉลาดซื้อ มุลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้ออกมาเรียกร้องทาง อย. ว่าเมื่อมีรายงานที่ออกมาแบบนี้ ทาง อย. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับผลิตภัณฑ์นี้โดยตรง ควรจะเรียกบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายทำ้งหลายเร่งปรับปรุงฉลากให้แสดงคำเตือนที่ชัดเจนในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้[2]

มุมผู้ขาย : “ยิ่งยง” ก็เป็นแค่พรีเซ็นเตอร์

เมื่อมีข่าวว่าทาง อย. และ กสทช. จะดำเนินการกวาดล้างโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดเกินจริง ทำให้ทาง “ยิ่่งยง ยอดบัวงาม” ซึ่งตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และถูกโยงถึงประเด็นดังกล่าว ต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนเป็นพรีเซ็นเตอร์นั้นทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว และมีคำพูดส่วนหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ

“สำหรับเรื่องนี้ ตนขอชี้แจงว่า ตนไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทฯ เป็นแค่พรีเซ็นเตอร์ ซึ่งก่อนรับงานก็ได้มีการตรวจบริษัทฯ อย่างละเอียด เพราะตนเคยทำธุรกิจ เอาความผิดพลาดครั้งก่อนเป็นบทเรียน เรียนรู้ใหม่ ส้วนคนที่ตีข่าวว่า อย. จะฟันตัวเองในเรื่องถั่งเช่า เรื่องนี้ก็เป็นข้อมูลที่ผิด และตนก็กำลังรวบรวมหลักฐานเอาผิดอยู่เช่นกันที่มีการโยงเรื่องเช่นนี้”[3]

ในอนาคต หากเราจะลองสั่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอะไรมาสักอย่างนึงจากจอทีวี ก็ขอให้พวกท่าน ๆ  “โปรดใช้วิจารณญาณในการรับประทาน” พอ ๆ กับที่ท่านใช้ในการรับชมรายการประเภทนี้ และมีสติในการพิจารณาว่าโฆษณาที่ท่านดูอยู่มีเนื้อหาที่โอ้อวดเกินจริงหรือไม่ แต่ถ้าหากสั่งมาแล้ว และมีโรคประจำตัว ก็อย่าลืมไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรดูก่อนว่าตัวเราควรจะรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้หรือไม่ แต่ก็อย่าลืมจำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นไม่ใช่ยา “ไม่มีผลในการป้องกัน หรือรักษาโรค”

มุมคนกำกับดูแล : กำลังจัดการอยู่ รอหน่อยนะ

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำโดย พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำโดย ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงข่าวการกำกับดูแลการโฆษณาเกินจริง กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่า ณ สำนักงาน กสทช.

โดย พลโท ดร.พีระพงษ์ กล่าวว่า ความร่วมมือที่ผ่านมาได้จัดการกับการโฆษณาทางโทรทัศน์ภาคพื้นดิน 77 กรณี ทีวีดาวเทียม 96 ช่อง 190 กรณีโฆษณา สถานีวิทยุ 2,150 ราย 4,500 กรณี ซึ่งก่อนหน้านี้มีกรณีที่มีการโฆษณาว่ามีบุคคลที่นั่งรถเข็นและเป็นอัมพาต แต่พอกินถั่งเช่าก็ดีขึ้น และกรณีที่ดาราสาวคนหนึ่งซึ่งของเขานอกจากเดินได้ ยังสามารถปีนต้นไม้ได้ด้วย ในปัจจุบันก็ยังพบวิธีการโฆษณาคล้าย ๆ กัน หลายช่องเป็นทีวีดาวเทียม ซึ่งการโฆษณาไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมอะไรก็แล้วแต่ แต่วิธีการคิดอย่าลวงโลก

สำหรับการดำเนินการนั้น นอกเหนือจาก กสทช. ยังมีกรณีที่จะส่งไปดำเนินคดีทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ประชาสัมพันธ์ ตัวแทนสินค้า (พรีเซนเตอร์) และในที่ผ่านมานอกจากการจับ ปรับ ยังมีการยกเลิกใบอนุญาตวิทยุมากกว่า 260 ราย นอกจากขอเลิกแล้วก็มีที่ถูกลดอายุอีกจำนวนหนึ่ง และได้มีการกวาดจับ โดยยังเน้นย้ำว่าประชาชนสามารถเข้ามาร้องเรียนได้ทาง 1200 ได้ตลอด เพื่อที่ กสทช. จะได้ร่วมมือกับ อย. ในการควบคุมและดูแลได้ต่อไป ในส่วนของการอวดอ้างในโลกออนไลน์จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ในส่วนของ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ตอนนี้ อย. จะดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มข้นและเฉียบขาด ซึ่งในปัจจุบันนั้นสินค้าถั่งเช่า ทาง อย. ได้อนุญาตเป็น 2 กลุ่ม คือยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่สำหรับการโฆษณานั้นสามารถแสดงสรรพคุณได้แค่บำรุงร่างกายเท่านั้น การโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ได้แก่ การรักษาโรคได้ การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เห็นผลแบบฉับพลันนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย โดยทางสำนักงาน อย. ได้ดำเนินการร่วมกับ กสทช. ทำให้ช่องต่าง ๆ ทั้งดาวเทียม และบนวิทยุเข็ดหลาบ[4]


อ้างอิง

[1] ประชาชาติธุรกิจ, เตือนภัยถั่งเช่า เสี่ยงเสียชีวิต ไตวาย แน่นหน้าอก
https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-596282

[2] เฟซบุ๊กแฟนเพจนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
https://www.facebook.com/108201769210965/posts/3812088272155611/?d=n

[3] กรุงเทพธุรกิจ, ‘ยิ่งยง’ ตอบแล้ว หลังมีข่าวเป็นเจ้าของถั่งเช่า
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/918770

[4] กสทช. ร่วมมือกับ อย. แถลงการณ์กำกับดูแลโฆษณาถั่งเช่า เผยอวดอ้างเกินจริง จับปรับแน่นอน
https://themodernist.in.th/12187

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า