fbpx

เมื่อฝั่งพระราม 9 เริ่มต้นกับโทรทัศน์ “สี” พร้อมกำเนิดช่อง 3

ในช่วงปี พ.ศ. 2508-2509 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจและศึกษา เพื่อจัดตั้งเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินการสำรวจและวางแผนจัดตั้งเครือข่ายโทรทัศน์ 2 เครือข่ายทั่วประเทศ และยังได้กำหนดรูปแบบของเครือข่าย ที่ตั้งสถานีส่งสัญญาณ ความสูงของเสาส่ง กำลังส่งออกอากาศ และคลื่นความถี่ที่ใช้งานให้กับกรมประชาสัมพันธ์อีกด้วย รวมทั้งกำหนดระบบแจกจ่ายสัญญาณจากศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์สู่สถานีเครือข่ายผ่านระบบไมโครเวฟภาคพื้นดิน ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างอาคารสถานีส่งตามแผนระยะแรกแล้ว เช่นที่สถานีโทรทัศน์ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ดอยป๊กกะโล้ง อ.เด่นชัย จ.แพร่ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังได้ของบประมาณเพื่อให้ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ขยายระบบไมโครเวฟในส่วนของช่องสัญญาณสำหรับกิจการโทรทัศน์ แต่เมื่อสถานีโทรทัศน์ในส่วนกลางของหน่วยงานอื่นได้ขยายการส่งสัญญาณไปยังส่วนภูมิภาคด้วยระบบดาวเทียม ทำให้การดำเนินการศูนย์ควบคุมระบบโทรทัศน์เดิมของกรมประชาสัมพันธ์ต้องหยุดชะงักไป เพราะโครงการดำเนินการอย่างล่าช้า จึงไม่สามารถดำเนินการจนครบถ้วนตามแผนได้

ในช่วงปีเดียวกันนั้น บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีโดยร่วมทุนกับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2510 หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการลงนามสัญญาร่วมดำเนินการกิจการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในนามของ “สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีถัดมา

ถัดมาอีก 1 ปี (พ.ศ. 2512) ช่อง 3 ก็ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ บริเวณกิโลเมตรที่ 19 แขวงค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร และได้ก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์และเครื่องส่งวิทยุจนเสร็จสิ้น และดำเนินการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 เป็นวันแรก ด้วยเครื่องส่งโทรทัศน์กำลังส่ง 25 กิโลวัตต์ 2 เครื่องขนานกัน รวม 50 กิโลวัตต์ อัตราขยายของสายอากาศ 13 เท่า ซึ่งมีกำลังส่งออกอากาศที่ปลายเสา 650 กิโลวัตต์ ที่ความถี่ช่อง 3 ระบบ VHF ความถี่ 54-61 MHz ตามมาตรฐาน CCIR PAL-B 625 เส้น จากเสาอากาศสูง 250 เมตร จากพื้นดินซึ่งเป็นเสาอากาศที่สูงที่สุดในประเทศไทย

บนเสาส่งต้นเดียวกันนี่เอง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ก็ได้ติดตั้งสายอากาศ VHF ช่อง 9 ความถี่ 202-209 MHz มาตรฐาน CCIR PAL-B 625 เส้น นำมาทดแทนการส่งไทยทีวีช่อง 4 ระบบเดิม (525 เส้น) ด้วยขนาดเครื่องส่ง 20 กิโลวัตต์ มีกำลังส่งที่ปลายเสา 240 กิโลวัตต์ และดำเนินการออกอากาศปลายปี พ.ศ. 2513 ในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 1970 ซึ่งในช่วงแรกของการออกอากาศโทรทัศน์สีช่อง 9 นั้นจะทดลองออกอากาศโทรทัศน์สีเป็นบางรายการ เช่น รายการภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้รายการในช่อง 9 จะแตกต่างจากช่อง 4 พอสมควร

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2515 ช่อง 4 และช่อง 9 จึงได้ออกอากาศรายการเดียวกันแบบคู่ขนานกัน โดยใช้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 เป็นสถานีหลักในการออกอากาศ ซึ่งจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517 บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด จึงได้ยุติการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางไทยทีวี ช่อง 4 โดยทำการย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู ถัดมาในปี พ.ศ. 2518 ก็ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศจากภาพขาว-ดำ เป็นภาพสี ตามมาตรฐาน CCIR PAL-B 625 เส้น ทางช่อง 9 โดยสมบูรณ์

กลับมาที่กรมประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2514 กรมประชาสัมพันธ์ได้พิจารณาว่า จังหวัดภูเก็ต มีชุมชนหนาแน่น เศรษฐกิจมั่นคง แต่กิจการด้านโทรทัศน์ ไม่สามารถรับฟังและรับชมจากที่ใดได้เลย กองประชาสัมพันธ์เขต จ.สุราษฎร์ธานี จึงได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดภูเก็ตขึ้นมาก่อน ถัดมาอีก 1 ปี จึงได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้น โดยเริ่มทดลองออกอากาศครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 โดยใช้เครื่องส่งซึ่งเจ้าหน้าที่เทคนิคของกรมประชาสัมพันธ์สร้างขึ้นในระบบ 525 เส้น กำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยความถี่ทางช่อง 11 ใช้อาคารห้องส่งและเครื่องส่งชั่วคราว ร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย บนเขารัง จ.ภูเก็ต และพัฒนาเป็นระบบ 625 เส้น เพิ่มกำลังส่ง เปลี่ยนความถี่เป็นช่อง 9 

ในส่วนของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ความถี่ 174-180 MHz ระบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ได้พัฒนาระบบการออกอากาศเป็นโทรทัศน์สีตามมาตรฐาน CCIR PAL-B 625 เส้น และแปลงเป็นสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ระบบ VHF ความถี่ 174-781 MHz ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2517 หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการเริ่มติดตั้งสถานีเครือข่ายด้วยการถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีส่งสนามเป้าผ่านระบบไมโครเวฟ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไปยังสถานีเครือข่ายที่ เขากบ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และสถานีเครือข่าย เขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นับได้ว่านี่คือการเริ่มต้นขยายการออกอากาศไปยังสถานีเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดโทรทัศน์สู่ภูมิภาค

ภาพจาก อสมท

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ให้ยุบเลิกกิจการบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 เพื่อรับโอนกิจการบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ทั้งในส่วนของงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยแปรเปลี่ยนเป็น สถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส.ม.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

ต่อมาสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ได้ย้ายจากเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร มาตั้งอยู่บนอาคารใบหยก 2 โดยใช้สายอากาศร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547

อ้างอิงหนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย” : วิวัฒนาการเทคโนโลยีโทรทัศน์ไทย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า