fbpx

Collective: หนังเรื่องนี้คือคำตอบว่าสื่อมวลชนที่ดีควรเป็นอย่างไรในยุค 2021!

หมายเหตุ – เนื้อหาในบทความนี้อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่เปิดเผยรายละเอียดในภาพยนตร์

ในปี 2021 ยุคที่ทุกคนใช้ Social Media เพื่อการตามข่าวมากขึ้น และในขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถรับรู้ข่าวสารจากแหล่งอื่นๆ มากกว่าในอดีตที่เป็นอยู่ ทำให้ในบางครั้งประชาชนตั้งคำถามกับสื่อเสมอๆ ถึงการนำเสนอข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีการบิดเบือนและใส่สีตีไข่ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจทราบได้ว่ากระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานของสื่อเป็นอย่างไร?

และเนื่องด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนมักตั้งคำถามกับรัฐอย่างเสมอๆ เช่นกัน ถึงการป้องกัน ควบคุมโรค แม้กระทั่งการแจกจ่ายวัคซีนที่เกิดปัญหาไปมา เสมือนอยู่ไลน์กลุ่มเดียวกันแต่ไม่ได้อ่านหรือเตรียมการกันก่อน ทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐไทยเริ่มลดลงเรื่อยๆ

Documentary Club ก็ได้มีโอกาสนำภาพยนตร์โรมาเนียเรื่องหนึ่ง อย่าง “Collective” เข้ามาฉาย ซึ่งตรงกับช่วงสถานการณ์แบบนี้พอดิบพอดี และแน่นอนว่าด้วยเนื้อเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ผมในฐานะบรรณาธิการบริหารจึงขอมาสรุป และสะท้อนมุมมองข้อเท็จจริงที่โรมาเนียต้องเผชิญ เพื่อสรุปให้ได้ทราบและนำไปปรับใช้กันครับ

หนังเรื่องนี้เล่าอะไรบ้าง?

Collective' Review: Romanian Exposé Has Universal Resonance - Variety
Image by variety.com

Collective เล่าเรื่องถึงผู้ที่ต้องประสบชะตากรรมจากเหตุเพลิงไหม้ในคลับ ซึ่งชื่อเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ และทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีจำนวนหนึ่ง นั่นทำให้รัฐบาลของโรมาเนีย ในขณะนั้นนำโดยพรรคสังคมประชาธิปไตยเข้าให้การช่วยเหลือทันที ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าระบบบริการสุขภาพของเราจะดีที่สุด และเราได้ยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยไฟไหม้ที่ “เหนือกว่าเยอรมนี” ซึ่งทำให้ประชาชนบางส่วนหลงเชื่อ

แต่แล้วญาติผู้ได้รับผลกระทบก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ได้ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมากกว่าปกติ โดยเหตุผลก็คือ เกิดแผลติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ถูกไหม้ไป จนทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิตลง ทำให้ญาติเริ่มคลาแคลงใจมากขึ้นและตั้งแถลงข่าวขึ้น หนังสือพิมพ์ข่าวกีฬารายวันก็ได้เข้าไปทำข่าว และพบกับความผิดปกติบางอย่าง จึงเริ่มปฏิบัติการนักข่าวเชิงสืบสวนขึ้น และเรื่องต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น แดงขึ้นไปเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องลาออก และมีการตั้งกลุ่มเทคโนแครตขึ้น เพื่อพยุงสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง

หลังจากการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขก็มีเรื่องอื้อฉาวอีกมากมาย จนมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีขึ้น เพื่อมาสร้างความมั่นใจและเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องพบเจอกับอุปสรรคจากความเคยชินของระบบที่เรียกได้ว่า “พังทลาย” ทั้งการรับสินบนเป็นทอดๆ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ตลอดจนไปถึงการทุจริตตั้งแต่ชั้นโรงพยาบาล ไปจนถึงระดับรัฐบาลท้องถิ่น และอื่นๆ อีกมากมาย

หนังเรื่องนี้สะท้อนอะไรบ้าง?

ถ้าหากจะพูดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนอะไรต่อบริบทเมืองไทย ก็คงพูดได้เต็มปากว่ามันมาถูกจังหวะเสียจริงมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนได้เห็นการบริหารจัดการของรัฐที่ขาดเสถียรภาพและขาดประสิทธิภาพในชนิดที่เรียกได้ว่า 40 กว่าองค์กรเอกชนทนไม่ไหว ต้องเข้ามาช่วยโดยไม่พึ่งพิงรัฐบาล

ซึ่งถ้าท่านได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะพบได้ว่าหลายๆ เหตุการณ์นั้นแทบไม่ต่างจากเหตุการณ์ในตอนนี้ที่ประเทศไทยเผชิญเลย ไม่ว่าจะเป็นการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด, ความแออัดและไม่สามารถจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพได้ แม้กระทั่งการแจกจ่ายวัคซีนที่รัฐบาลไม่สามารถประเมินความต้องการได้ทันท่วงที

แต่สิ่งที่แตกต่างจากบริบทในบ้านเราก็คือ เราไม่อาจมีสื่อมวลชนที่สามารถขุดคุ้ยหรือคอยเป็น “ยามเฝ้าประตู” ให้กับประชาชนในกรณีการทุจริตต่างๆ หรือการตรวจสอบและให้คำแนะนำในการทำงานได้มากพอ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย เพียงแต่มันไม่เข้มข้นมากพอ ซึ่งผมได้ดูเรื่องนี้แล้วก็แอบตลกกับเรื่องนิดนึง ตรงที่ทำไมต้องเป็น “หนังสือพิมพ์กีฬารายวัน” ไม่ใช่สื่อหลักที่มีฐานมากกว่าอยู่แล้ว?

กลับกัน สื่อไทยมักจะเล่นข่าวแต่ข่าวชาวบ้าน หรือการรายงานตัวเลขที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ใครติดเชื้อ ใครไปไหน ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถตรวจสอบได้จริงว่าเขาได้ไปจริงหรือไม่? แต่ไม่เน้นสิ่งที่เป็นผลกระทบมากกว่า รวมไปถึงการจับจ้องการทำงานของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้เกิดมีประพสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้สิ่งที่เราแตกต่างเล็กน้อยกับตัวเรื่อง คือการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของบ้านเรายังดื้อรั้นที่จะทำงานต่อ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตนเองขาดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวนับเป็นเวลาหลายปีดีดักแล้วด้วยเช่นกัน ยังไม่นับว่าทั้ง ศบค. หรือหน่วยงานของรัฐเองที่ไม่สามารถประชาสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมากับประชาชนในหลายๆ กรณี มิหน่ำซ้ำยังโทษประชาชน และประชาชนคือคนได้รับผลกระทบนั่นเอง

หนังเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง?

กลับมาที่ตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ แน่นอนว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนและสื่อมวลชนสามารถจับมือร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ โดยการทำงานร่วมกัน รับฟังร่วมกัน และกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวที่ทั้งคนรับและคนส่งสารสามารถเข้าใจบริบทที่ดีขึ้นได้ หรือง่ายๆ ก็คือ คนเสพเปลี่ยน คนทำก็เปลี่ยนตามได้เช่นกัน

นอกเหนือจากนี้แล้ว สื่อมวลชนอาจจะไม่ใช่ Superhero ก็จริง แต่สื่อก็ควรมีหน้าที่ในการจับจ้องนโยบายและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ เพราะยังไงแล้วคุณก็ยังเป็นกระจกสะท้อนสังคมอยู่เสมอๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นสื่อแนวไหน กีฬา อวกาศ เศรษฐกิจ หรือการเมือง สื่อแขนงไหนก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แค่ลุกขึ้นมาตรวจสอบอำนาจร่วมกับประชาชน

แล้วคุณพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วรึยัง?

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า