fbpx

สุภิญญา กลางณรงค์ : เมื่อข่าวปลอมแก้ได้ด้วยการตรวจสอบ

คุณเคยรู้ตัวบ้างไหมว่าเคยรับข่าวปลอมจากการเสพสื่อออนไลน์? แล้วรู้ไหมว่าที่แชร์ๆ ไปนั่นคือข่าวปลอม? คำถามเหล่านี้มักจะไม่เป็นที่สนใจมากนัก เพราะปัจจุบันด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน ตลอดจนการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปของการรับสื่อที่รวดเร็วขึ้น ทำให้คนที่อยู่ในโลกออนไลน์ยิ่งแชร์ได้เง่ายดายจนขาดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบ และแน่นอนว่าขาดการตรวจสอบข่าวปลอมที่ดีอีกด้วย

วันนี้ MODERNIST ขอพาท่านมาร่วมพิสูจน์ข่าวปลอมไปด้วยกัน ผ่านมุมมองของ “สุภิญญา กลางณรงค์” อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT แพลตฟอร์มตรวจสอบข่าวปลอมที่จับมือกับหลากหลายหน่วยงานเพื่อรับมือกับข่าวปลอมที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากไต้หวันที่มีระบบการตรวจสอบข่าวปลอมที่ดีมากเลยทีเดียว

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

Civic Tech + Chat Bot = COFACT

“อันแรกเลย ปัญหาข่าวลวงก็มีมานานแล้ว แต่ที่มันกระพืออยู่ในทุกวันนี้ก็เพราะเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตอย่างหนึ่ง แต่ว่าสื่อสังคมออนไลน์คือลมสะพัดให้เร็วแรงขึ้น ยังไม่พูดถึงยุคโควิด-19 ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ Infodemic ที่เป็นโรคระบาดของข้อมูลข่าวสาร ตามที่องค์การอนามัยโลกพูดไว้แล้ว แต่ก่อนหน้านี้มันก็ระบาดตามที่พูดไว้แล้วนะคะ มี spreader และ super spreader มากมาย

ทีนี้ทำอย่างไรที่จะรับมือได้ แน่นอนว่าใช้วิธีแบบแอนะล็อกอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เราก็เลยคิดว่า ในการรับมือกับด้านมืดของยุคดิจิทัล เราก็ต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้เป็นประโยชน์นะคะ เพราะฉะนั้น Cofact ก็เกิดมาด้วยแนวคิดที่ว่า จริง ๆ ลึก ๆ เราเชื่อว่าทางแก้-ทางออกของปัญหาข่าวลวง ก็คือกลับมาที่ทุกคนจะต้องเป็นคนที่เช็คข่าวด้วยตัวเอง ก่อนจะเชื่อ ก่อนจะแชร์ ก่อนจะสรุปด้วยตัวเองนะคะ แต่ว่าเราก็ต้องมีตัวช่วย ตัวช่วยปกติเราก็อาจจะไปถามเพื่อน ถ้าเพื่อนไม่เข้าใจ เราก็อาจจะไปถาม search engine แต่บางทีข้อมูลมาเป็นสิบ บางอันใช้ไม่ได้ เราก็เลยคิดว่าใช้เทคโนโลยีมาช่วยแล้วกัน ไต้หวันเขาเรียกว่า Civic Tech เป็นโปรแกรมที่ออกแบบเป็น Chat Bot มาช่วย แบบใครมีข้อมูลอะไรก็ส่งต่อกันในไลน์ ไม่แน่ใจข้อมูลก็สามารถคัดลอกข้อความมาใส่ใน LINE OA : @Cofact Chat Bot ก็จะประมวลข้อมูล ถ้ามีฐานข้อมูลก็จะบอกเลยว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนี้ไม่จริง อันนี้จริง อะไรแบบนี้ค่ะ เราก็จะมีคนคอยเตรียมพร้อมด้วยว่าแต่ละวันมีข่าวอะไร ก็มี Data Analysis ก็ดูเทรนด์ในแต่ละวันว่ามี spreader อะไรบ้าง แล้วเราก็เอาเรื่องนั้นมาเช็ค สรุปก็คือ Cofact เป็นการนำเอา Civic Tech มาผสมผสานกับงานด้านวารสารศาสตร์เพื่อตรวจสอบข่าวมาผสมกัน เพื่อช่วยให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้นค่ะ”

เพราะสงสัย จึงต้องตรวจสอบข่าว

“เราก็ต้องสงสัย ไม่เชื่อไว้ก่อนนะคะ แม้ว่าจะดูน่าเชื่อถือ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา บางอันที่ดูน่าเชื่อถือก็ดูแย้งกันเองในกลุ่ม อย่างเรื่องเนื้อแดงก็มีการ fact check กันเยอะ เนื้อแดงอาจจะมีการฉีดไขมันให้ดูน่าทานใช่ไหมคะ เราก็มีการตรวจสอบความจริงก็พบว่ามีการฉีดจริง บางคนก็บอกว่าฉีดจริงแต่ทานได้ไม่อันตราย พอเราตรวจสอบแล้ว เราก็ได้เห็นอีกขั้นว่ามีการฉีดจริง แต่ทานแล้วอันตรายหรือไม่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เราถามผู้บริโภคก็อาจจะบอกว่าอันตราย แต่พอเราถาม ผู้รีวิวก็บอกว่าไม่อันตราย แต่สุดท้ายก็ไปค้นพบข้อเท็จจริงอีกชุดข้อมูลหนึ่งที่บอกว่ายังไม่เคยอนุญาตให้ใครฉีดไขมันในเนื้อ ซึ่งต้องผ่าน อย. ก่อน เป็นต้นค่ะ

คือจะบอกว่าข้อมูลง่าย ๆ ที่อาจจะไม่ยาก อาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบความจริงพอสมควร อันนี้เป็นเรื่องสุขภาพนะคะ ไม่นับเรื่องการเมืองเนี่ยไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะบางทีข้อเท็จจริงอาจจะไม่เคยนิ่ง เพราะฉะนั้น เราเลยคิดว่าหลักการวารสารศาสตร์ข้อหนึ่ง คือสงสัยไว้ก่อน ไม่เชื่อไว้ก่อนเป็นอันดี แล้วก็สืบค้น สืบค้นคนเดียวไม่พอ วิธีของ Cofact ก็คือเอามาโยนในเว็บ ซึ่งก็จะออกแบบให้ทุกคนเข้าไปโต้แย้งข้อมูลได้แบบใน Pantip ใน Wikipedia หรือในทวิตเตอร์ได้ เพื่อที่จะเราสรุปได้ว่าอาจจะไม่ได้ความจริง ขั้นสุดท้ายคืออาจจะมีจริงกว่าไปเรื่อย ๆ เป็นหลักการทางวารสารศาสตร์ที่ต้องเผื่อใจนะคะ สงสัย สืบค้น สอบถาม และสรุป แต่สรุปแล้วก็อย่าตายตัว วันนี้จริงพรุ่งนี้อาจจะไม่จริงก็ได้ ดังนั้นหลักทางวารสารศาสตร์ก็คือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง สงสัย ฟังความรอบข้าง และเผื่อใจไว้ว่าอาจจะมีความเห็นแย้งได้ การฟันธงว่าอันไหนจริงก็ยาก เราเลยเพิ่มหลักจริงบางส่วนไว้ แล้วก็เพิ่มหลักตรวจสอบ เพื่อให้คนชั่งใจในการใช้ดุลยพินิจตรวจสอบค่ะ”

ข่าวปลอมก็เหมือนไวรัสทางข่าวสาร

“อย่างไวรัสโคโรน่าเนี่ยก็มี 2 ทฤษฎี เกิดโดยธรรมชาติ หรือเกิดโดยจงใจ อาจจะมีการทดลองซึ่งพิสูจน์ยาก ข่าวลวงก็เหมือนกัน โดยทฤษฎีของมันก็มีคำเรียก 2-3 อย่าง คือ misinformation กับ disinformation ในส่วนของ misinformation ก็เกิดจากคนไม่ได้ตั้งใจแหละว่ามันปลอม แต่เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ ก็เลยเผยแพร่ ก็เหมือนจากไวรัสที่เกิดจากกลไกธรรมชาติ อันนี้ก็เหมือนกับคนไม่ได้ตั้งใจจะปล่อยข่าวลวงหรือข่าวลือ แต่อาจจะเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เชื่อในสิ่งนั้นสิ่งนี้ และอยากแชร์ออกไปด้วยจริตของตัวเอง ก็คือเกิดจากธรรมชาติ ความไม่ตั้งใจของคน ข่าวลือข่าวทั่วไป เรียกว่า misinformation นะคะ

แต่ disinformation เกิดจากความตั้งใจของมนุษย์ล่ะค่ะ ก็คือมีความจงใจจะปล่อยข่าวลวงนั้นมา อาจจะมีประสงค์ทางการเมือง ทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นก็จะเกิดธรรมชาติและความตั้งใจของมนุษย์ซ่อนเร้น ประกอบกับยุคดิจิทัลสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้าง Algorithm ปั่น ทำให้ spreader มีพลานุภาพมากขึ้น”

ข่าวปลอม กับ IO สิ่งที่ต่างแต่แก่นสารเหมือนกัน

“IO ก็คือพวก disinformation ชัดเจนก็คือจงใจอยู่แล้ว ชื่อของมันก็คือ information operation ก็คือปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ก็จะมีความจงใจ ซึ่งก็อาจจะมาจากความตั้งใจดีของรัฐ เช่น อาจจะสู้กับคนที่บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ หรือความตั้งใจไม่ดีก็คืออยากจะป่วนก็ได้ แต่สุดท้ายก็มาจากความจงใจของมนุษย์ หรือจงใจที่จะปั่นป่วนโดยใช้ระบบข้อมูลข่าวสาร ถามว่าเราจะรู้ได้ยังไง อย่างในทวิตเตอร์ก็จะสังเกตกันโดยใช้มนุษย์เนี่ยแหละ โดยดูจากชื่อ Account ที่ใช้มาปล่อยข่าว แล้วก็ดู follower ที่ดูน้อยผิดสังเกต และย้ำคิดย้ำทำ โพสต์แต่เรื่องนั้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าจะให้มีกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็ทำได้ แต่ยังไม่ค่อยเห็นเมืองไทยมีการศึกษาเรื่องนี้นะคะ แต่ต่างประเทศมีการใช้ computer science มาศึกษาถึงกระบวนการจงใจที่จะปล่อยข้อมูล ซึ่งเราจะเห็นข้อมูลว่ามีความเป็นมายังไง มีความไม่เป็นธรรมชาติอย่างไร แต่ยุคนี้คนใช้สื่อสังคมออนไลน์บ่อย ๆ ก็จะสังเกตได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าให้เป็นวิทยาศาสตร์ก็จะต้องใช้เครื่องมือ การวิเคราะห์ทางข้อมูลก็นำมาช่วยได้ ความต่างจากข่าวลวงทั่วไป ก็อาจจะเป็นข่าวลวงเหมือนกัน แต่ IO มีความตั้งใจชัดเจน มีการใช้เงิน มีการสร้าง operation มีอุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ทางธุรกิจ ซึ่งก็ขาดความน่าเชื่อถือ เราก็รู้ว่ามันเป็น IO

บางที IO ก็อาจจะไม่ใช่ข่าวปลอมอย่างเดียว อาจจะเป็นจริงครึ่งหนึ่ง อาจจะไม่เป็นข่าวปลอมแต่พูดให้เข้าใจผิด อาจจะเป็น hate speech อาจจะเป็นความจริงแต่เน้นว่าเพื่อสร้างความเกลียดชัง บางครั้งอาจจะใช้ข้อมูลจริงแต่ตัดมาบางส่วน เพื่อปั่นให้เกิดความเข้าใจผิด อย่างกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราจะเห็นว่านักกิจกรรมทางสังคมบางคนออกมาโวยว่าบางทีถูกนำคำพูดไปตัดต่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าปกป้องผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งสิ่งที่เขาพูดอาจจะมีบริบทมากกว่านั้น แต่ IO มาตัดทำให้คนเกิดความไม่ชอบ เกลียดชัง หรือไปจี้ใจคนที่ไม่ชอบ และเกิดความรุนแรง ตอบโต้ทางจิตใจ เป็น hate speech เพราะฉะนั้น IO ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ก็อาจจะมีมากกว่าข่าวลวง อาจจะมี hate speech หรือความจงใจที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังเข้ามาด้วย ซึ่งอันตรายมากกว่า และนำไปสู่ความเกลียดชังต่อเนื่องถึงเกิดความรุนแรงได้ค่ะ”

สงสัย – ตรวจสอบ ก่อนแชร์ ป้องกันภัยตัวเอง

“วิธีการตรวจสอบข่าวปลอม อันแรกเลย ถ้าใครมีเวลาอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์เยอะๆ อย่างทวิตเตอร์ ทุกคนเริ่มมีภูมิต้านทาน เราก็เริ่มที่จะไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ก่อน เราต้องสงสัยไว้ก่อน เพราะฉะนั้นวิธีตรวจจับข่าวลวงก็คือ พี่ขออนุญาตอ้างคำพูดของคุณ Audrey Tang นะคะ เธอก็พูดคำคมไว้ที่กรุงเทพเมื่อปีที่แล้ว ก็คือมีคนถามว่าในประเทศไต้หวันมันดูดีไปหมด แล้วประเทศไทยฉันเชื่อสื่อก็ไม่ได้เลย เชื่อ NGO ก็ไม่ได้ ราชการก็ไม่ได้ ผู้นำศาสนาก็ไม่ได้ แล้วฉันจะเชื่อใครดี? เขาก็บอกว่า Blind trust is worse than no trust! การที่ไม่เชื่อไว้ก่อนบางทีก็อาจจะดีก็ได้ การเชื่ออะไรอย่างมืดบอดนั้นอาจจะเลวร้ายกว่า

เพราะฉะนั้น เราควรที่จะไม่เชื่อไว้ก่อน ถึงแม้จะเป็นคนที่เราชอบ คนที่เราชื่นชม หรือฝ่ายเดียวกับเรา จนกว่าเราจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงบางด้านจนมั่นใจแล้ว แล้วในด้านการเมือง การตรวจสอบความจริงที่ดีที่สุดคือดูฝั่งตรงข้ามว่าเขาโต้แย้งไหม? ถ้าเขาไม่ค่อยโต้แย้งหรือเงียบไป ก็น่าจะมีแนวโน้มจริง หรือถ้าโต้แย้งแต่ฟังไม่ขึ้นก็น่าจะจริง แต่ถ้าเขาโต้แย้งหนักแน่น มีข้อมูลมายืนยัน ก็อาจจะไม่จริง อันนี้เป็นหลักพื้นฐานก่อนนะคะ แต่ถ้ามากกว่านั้นคงต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยค้นหางานวิจัย ถามเพื่อน หรือถกเถียงในทวิตเตอร์ก็น่าจะช่วยได้ ถ้าไม่ซับซ้อนมาก็มาใช้ cofact ได้

cofact ยังไม่ได้ทำเรื่องที่ซับซ้อนมาก อย่างเรื่องการเมืองนะคะ เพราะข้อเท็จจริงยังไม่นิ่ง แต่เรื่องสุขภาพ เช่น กระเทียมรักษาโควิดได้ไหม? ปลัดขิกรักษาโควิดได้ไหม? หรือน้ำสมุนไพรทุกชนิดรักษาทุกโรคได้ไหม? บางคนอาจจะขำนะคะ เพราะมันไม่จริงอยู่แล้ว แต่มีบางคนที่เชื่อจริง ๆ ซึ่งเราจะต้องแบบ นี่ ๆ มาดูที่นี่ มาถามที่นี่ มันก็แล้วแต่ท่านว่ามีภูมิคุ้มกันกับเรื่องไหนแค่ไหน? ซึ่งถ้าเราใช้มันบ่อย ๆ มีภูมิคุ้มกันเยอะ ๆ เราก็จะแยกแยะได้ แต่การไม่เชื่อไว้ก่อนจะดีที่สุด สืบค้น สอบถามให้ชัวร์จริง ๆ แล้วค่อยสรุปค่ะ แต่สรุปแล้วก็ต้องเผื่อใจไว้เพราะข้อเท็จจริงอาจจะเปลี่ยนแปลงได้”

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีภูมิคุ้มกันเสมอไป

“บางทีสิ่งที่ทำให้ข่าวลวงเผยแพร่ซ้ำซากในกลุ่มไลน์ เพราะว่ากลุ่มไลน์มันเป็นกลุ่มปิด อาจจะเป็น กลุ่มสำนักงาน กลุ่มครอบครัว บางทีผู้น้อยก็ไม่อยากโต้แย้ง เพราะคนส่งอายุมากกว่าเรา อาจจะเสียหน้าและงอนกัน แต่ว่าถ้าเป็นกลุ่มครอบครัวที่พอคุยกันได้ ก็อาจจะต้องบอกเบา ๆ เนี่ยแหละค่ะ แล้วก็ใช้วิธีเอาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ค้นคว้าแล้วมายืนยันก็อาจจะพอช่วยได้ แต่เราเองก็อาจจะต้องรู้จักคนนั้นด้วยเหมือนกัน ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่ชอบให้เตือนต่อหน้า เราก็อาจจะบอกหลังไมค์ ไม่ได้บอกในกลุ่ม ด้วยความปรารถนาดี ก็อาจจะดูนุ่มนวลกว่าไปบอกในกลุ่มใหญ่ แต่ถ้าเราคุ้นเคยในระดับหนึ่งก็อาจจะบอกได้ แต่บางทีก็มีออกจากกลุ่มกันเลย ก็อาจจะต้องค่อย ๆ สร้างวัฒนธรรม มันก็ยากเหมือนกันนะ อาจจะเป็น IO น้อย ๆ ในครอบครัว เช่น คนนี้มาส่ง คนนี้ตบ คนนี้มารับ อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเขาจะโกรธจริง ๆ ก็ใช้วิธีนอกรอบดีกว่าในกลุ่มใหญ่ แล้วก็ค่อย ๆ เอาข้อมูลมาให้อะไรแบบนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดแล้วล่ะ แต่ถ้าได้ผลเชิงลบขึ้นมาก็อย่าท้อใจนะคะ ก็พยายามไปเรื่อย ๆ ค่ะ”

เมื่อสื่อช่วยตรวจสอบข่าวปลอม แต่สื่อก็ส่งต่อข่าวปลอมด้วยเช่นกัน

“เท่าที่พี่สังเกตดู สถานการณ์ดีขึ้นนิดหน่อย ถ้าช่วงก่อนหน้านี้อะไรนิดหน่อยก็เอามาลงจนบานปลาย เดี๋ยวนี้พี่คิดว่าสื่อเริ่มระวังมากขึ้น ไม่เอาข่าวปลอมมานำเสนอ แต่อาจจะยังมีการพาดหัวให้เข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ข้อเท็จจริงไม่ผิดทีเดียว พาดหัวไม่ตรงกับเนื้อใน บางทีอาจจะพาดหัวไปในเชิงที่กระตุ้นความรู้สึกของคนในเชิงลบ แต่หลังจากที่เราตื่นตัวในเรื่องข่าวลวง สื่อก็ระวังมากขึ้น แล้วไม่ใช่แค่สื่อ influencer นักการเมืองทั้งหลายก็พลาดน้อยลง ก่อนหน้านี้ก็จะพลาดเยอะเหมือนกัน บางทีแชร์อะไรมาแล้วก็โดนทัวร์ลง อาจจะพลาดบ้าง แต่ตอนนี้สถิติเหมือนจะน้อยลง ถ้าเทียบกับหลายประเทศในเรื่องโควิด-19

พี่คิดว่าข่าวลวงในประเทศไทยเกี่ยวกับโควิด-19 ก็มีเยอะ แต่ว่ามันอาจจะไม่มีผลกระทบอย่างรุนแรงเหมือนบางประเทศ ซึ่งไม่น่าเชื่อ ที่บอกว่าดื่มแอลกอฮอล์ช่วยฆ่าเชื้อได้ ส่งผลให้มีคนเชื่อและเสียชีวิตนับร้อยในบางประเทศ หรือบางประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ มีข่าวลวงว่าเสาสัญญาณ 5G เป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสและรุนแรงมาก จนกระทั่งทวิตเตอร์ต้องตรวจสอบความจริงออกมาเตือนเรื่องนี้ จนเราสงสัยว่าทำไมคนเชื่อว่าเสา 5G เป็นตัวแพร่เชื้อไวรัส แต่คนบางประเทศเชื่อจริง ๆ อาจจะถึงกับล้มเสา แต่ประเทศเรายังไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนใหญ่ไม่จริงแต่ไม่อันตราย อย่างวางกระเทียมไว้หน้าบ้านแล้วจะป้องกันโควิด-19 ซึ่งมันไม่ป้องกันหรอก แต่เอาไปวางจริง ๆ ก็อาจจะไม่อันตรายมากนักนอกจากเปลือง หรือปลัดขิกที่น่าจะไม่อันตรายแต่ก็ไม่ช่วย พอไปดูข่าวชาวบ้านต่างจังหวัดเขาก็บอกว่าเป็นความเชื่อทางใจ เขาก็ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ แต่ก็ขอมีปลัดขิกด้วย ก็ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนตัว

ในประเทศไทยข่าวลวงก็เยอะจริง แต่พวกเราก็ช่วยรณรงค์มากขึ้น ทำให้อาจจะนำไปสู่อันตรายไม่มากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่เตือนกันก็ต้องระวัง บางเรื่องอาจจะทำให้บางกลุ่มเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะเรื่องของข่าวลวงที่ไปกระทบคน ซึ่งแก้ไม่ได้แล้ว อันนี้เราก็ต้องระวัง เช่น เรื่องที่เขาไม่ได้พูด อย่างตอนที่เราจัดสัมมนา เราก็เชิญคุณฟูอาดี้ พิศสุวรรณ มาเล่าประสบการณ์ที่เจ็บปวด แต่เขาก็ไม่ได้ติดใจและให้อภัย ก็คือมีการตัดต่อสิ่งที่เขาไม่ได้พูดและทัวร์ลง มันเป็นผลที่ยาวนาน มันกระทบจิตใจเขา กระทบญาติพี่น้อง เพราะฉะนั้นการที่จะเผยแพร่อะไรต้องระวังก่อนถ้ามันกระทบกับคนนะคะ”

ยิ่งโควิด-19 ระบาด ข่าวปลอมก็ระบาดตามเยอะมากเท่านั้น

“ยูเนสโกก็มีคำขวัญว่า Journalism without Fear or Favour. ก็คือวารสารศาสตร์แห่งความจริงยิ่งสำคัญนะคะ คือต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่ปราศจากความกลัวและไม่ลำเอียงหรือผลประโยชน์ เขาเน้นธีมโควิด-19 ในปี 2020 โดยเฉพาะเลยค่ะ เพราะว่าสิ่งที่จะช่วยชีวิตของคนได้นอกจากหมอ พยาบาลแล้วก็คือความจริงนะคะ โดยเฉพาะยุคโควิด-19 ยุคโรคระบาด ข้อเท็จจริงสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด แต่การที่จะให้มีข้อเท็จจริงได้ ก็ต้องให้เสรีภาพสื่อในการค้นหาความจริงด้วย เพราะหลายประเทศ สื่อก็มีความเสี่ยงนะคะ เราก็เห็นในการค้นหาความจริง เพราะบางประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของการระบาดอย่างจีน เราจะเห็นว่าคนที่ให้ข่าวช่วงแรก ๆ ก็จะถูกตำรวจจับเหมือนกัน คุณหมอนะคะ ภายหลังก็ปล่อยตัว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากนะคะ

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกก็เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า infodemic นะคะ หรือ information ผสมกับ pandemic นั่นเอง คือการระบาดของข้อมูลข่าวสาร มี spreader มี super spreader ก็คือมีคนทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เช่น ถ้าคนมีชื่อเสียงแชร์ก็จะไปเร็ว เพราะฉะนั้น ข่าวลวงหรือเขาเรียกว่า disinformation ทีนี้มันมากมายแค่ไหน จากรายงานของยูเนสโกก็บอกว่าจากการเก็บสถิติและค้นข้อมูลการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนช่วงโรคระบาดมีจำกัด ยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งมากพอ แต่การสำรวจด้านตัวเลขพบว่ามีการแพร่กระจายมากมายทีเดียว จากการวิเคราะห์ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์โดยนักวิจัย เขาก็บอกว่ามีถึงร้อยละ 40 ของข้อความที่เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 และมีการเผยแพร่สื่อสังคมออนไลน์ไปกว่า 112 ล้านโพสต์ 64 ภาษา แต่ไม่มีแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่นเดียวกับกว่าร้อยละ 42 ของ 178 ล้านทวีตที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดนั้น ถูกเผยแพร่โดย Bot หรือ IO และพบว่าร้อยละ 40 ของข้อมูลไม่มีความน่าเชื่อถือเลย คงคล้าย ๆ กับเรื่องเสา 5G เป็นตัวแพร่ไวรัส

แล้วก็มีงานวิจัยพบว่าในเดือนมีนาคม 2563 มีประมาณ 40 ล้านโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดซึ่งเป็นปัญหาจริง  Facebook ก็ออกมายอมรับและได้ลบโพสหลายแสนข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดย 19 ล้านข้อความ เกือบ 5 ล้านทวิต ราว 38% ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 วิเคราะห์โดย Blackbird AI ด้วยปัญญาประดิษฐ์ พบว่าเป็นเนื้อหาที่มีการจัดการ manipulated content ก็จะคล้าย IO ซึ่งองค์กร NewsGuard ระบุว่า 191 เว็บไซต์ในยุโรปและอเมริกาเหนือนั้นเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัส CoronaVirusFacts Alliance กลุ่มพันธมิตรตรวจสอบข้อเท็จจริงก็บอกว่าได้เข้าไปหักล้างเนื้อหาข้อมูลเท็จถึงกว่า 3,500 เรื่อง กว่า 70 ประเทศ ซึ่งเผยแพร่ไปกว่า 40 ภาษา ซึ่งเขาเป็นองค์กรด้านการตรวจสอบข่าวปลอมนะคะ นอกจากข้อมูลลวงแล้วยังมีการเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดชัง ไม่ใช่แค่ข้อมูลเท็จ ยังมีอารมณ์ความรู้สึกปนกันไปหมด hate speech ต่าง ๆ นะคะ ทำให้บริษัทด้านคอนเทนต์ทั้งหลาย เกิดการรวมตัวกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้ง Facebook, Google, Twitter, YouTube อะไรทั้งหลาย ได้ออกมาแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ว่าจะร่วมแก้ปัญหาเรื่องนี้

ซึ่งการปล่อยข่าวปลอมเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า super spreader ก็คือผู้ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทางแก้ก็ต้องมี super collector ก็คือถ้ามีผู้มีชื่อเสียงออกมาบอกว่าเป็นข่าวลือข่าวลวง ก็จะทำให้การแพร่ระบาดลดลงได้อย่างเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้นถ้ามี super spreader ก็ต้องมี super collector องค์กร Avaaz ซึ่งเป็นเครือข่ายรณรงค์ออนไลน์ พบว่า 41% ของข้อมูลเท็จที่ได้รับการตรวจสอบจาก Facebook ซึ่งไม่มีป้ายเตือน ทั้งที่ Facebook แถลงว่าจะขึ้นป้ายเตือน แต่ว่ายังมีจำนวนมากที่ไม่มีข้อมูลเตือน แล้วก็ใน platform อื่น ๆ เหมือนกัน อันนี้ก็คือสิ่งที่ยูเนสโกได้สรุปมาเบื้องต้น และตัวแทนสหประชาชาติด้านการแสดงความคิดเห็น David Kay ก็บอกว่า เป็นหน้าที่ของสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ควรเป็นผู้ตัดสินความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่ควรจะสร้างกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ให้มีการตรวจสอบ ยูเนสโกเองก็บอกว่าในยุคโควิด-19 เราจะต้องใส่หน้ากาก ปิดจมูก ปิดปาก แต่เราต้องไม่ปิดตา เพราะการที่เราเปิดตาจะทำให้เรารอดพ้นจากข้อมูลข่าวสารลวงได้ อันนี้ก็เป็นแนวทางในการรับมือค่ะ”

สื่อหลักที่มีคนติดตามเยอะก็สร้างข่าวปลอมได้โดยไม่รู้ตัว

“คนเหล่านี้เราเรียกว่า super spreader ก็คือแพร่โดยรวดเร็ว ถ้าเกิดเป็นผู้ปล่อยข่าวลวงเองก็จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าจะแก้ก็ต้องใช้ super collector ให้ผู้มีชื่อเสียงมาสยบข่าวลือด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนที่พลาดนำเสนอข่าวลวงไปแล้วก็ต้องแก้ข่าวก็จะพอช่วยยับยั้งการระบาดได้ แต่ทางที่ดีที่สุดก็คือ ชัวร์ก่อนแชร์ เช็คก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มากที่สุดถึงมากที่สุด when in trough do it without อันนี้ยังเป็นสิ่งที่ช่วยได้ดีที่สุด ถ้าตัวเองพลาด ทุกคนก็เคยพลาด ถ้ามันพลาดแล้วเราก็เร่งแก้ไข แต่ถ้ายังไม่พลาดก็ให้ชัวร์ก่อนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะถ้ามีผลกระทบต่อคนอื่นก็ต้องพิจารณาเป็นพิเศษเป็นสองเท่าค่ะ”

การกำกับดูแลสื่อกันเองในไทยยังอ่อนแอ ก็คงจะแย่หากจะกำกับข่าวปลอมด้วย

“ความเป็นจริงก็พอจะรับทราบว่าการกำกับดูแลกันเองก็ยังอ่อนแอมากในประเทศไทย โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้ก็มีเคสที่บางช่องที่เผยแพร่คลิปปลอม แล้วสิ่งที่องค์กรสื่อทำก็คือออกมาแถลงการณ์วิจารณ์ว่าไม่ควรทำ อันนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ทำได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ยังไม่ถึงขั้น ตัดสินลงโทษในระดับให้พักงานหรือปรับได้ เพราะไม่ได้มีอำนาจเท่ากับ กสทช. และถ้าจะถึงขั้นให้พักงาน ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสื่อนั้นเอง จะเห็นบ้างในปรากฏการณ์ที่แรง ๆ อย่างเรื่องหมูป่า ซึ่งบางช่องอาจจะนำเสนอคลิป ซึ่งสังคมอาจจะวิจารณ์มาก ๆ จนช่องเองมีการตัดสินลงโทษตัวเอง เช่น อาจจะให้ผู้สื่อข่าวหรือบรรณาธิการพักงาน ในระดับการตัดสินลงโทษกันเองเกิดขึ้นได้จริงในระดับที่ช่องทำเอง แต่ถ้าจะเป็นในระดับองค์กรสื่อยังไม่เห็นนะคะ สิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อทำได้มากที่สุดก็คือออกแถลงการณ์ เช่น บางช่องที่เคยเอาคลิปของนักการเมืองซึ่งคนพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง ไปทดสอบใน google voice แต่เราได้เห็นองค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์วิจารณ์ แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าเห็นการตัดสินลงโทษในระดับช่องไหม? ซึ่งพอเป็นอำนาจกำกับดูแลกันเองบนพื้นฐานของเสรีภาพแล้วก็อาจจะยากที่เขาจะตัดสินลงโทษ ยกเว้นว่ามันจะล้ำเส้นไปสู่กฎหมาย ก็จะเป็น กสทช. ที่จะใช้อำนาจในการลงโทษทางปกครอง เช่น การปรับ เป็นต้น”

การทำงานระหว่างองค์กรสื่อกับ กสทช. แอบมีเส้นบางๆ กันอยู่ “ยกเว้นการเมือง”

“มีเส้นบาง ๆ กันอยู่ค่ะ ยกเว้นเรื่องการเมืองที่จะไม่บาง บางทีอาจจะเป็นเรื่องจริยธรรม เช่น สื่อไม่เป็นกลาง แต่ยังไม่กระทบรุนแรงมากมายขนาดนั้น แต่ กสทช. ก็อาจจะกระโดดมาล้ำเส้นก็ได้ ไม่ปล่อยให้องค์กรสื่อเตือน ออกมาบอกว่าผิดกฎหมาย สั่งปิดสั่งพักหน้าจอเลย เราก็เคยเห็นมาแล้ว อย่างช่องการเมืองต่าง ๆ จนคนดูออกเลยว่ามีธงไหม? แต่ถ้าบางเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง บางที กสทช. ก็ละเอียดลออมากเลย คิดแล้วคิดอีกกว่าจะเตือนอะไรได้ เช่น เรื่องที่อาจจะกระทบแหล่งข่าว กระทบเด็กเยาวชน กสทช. ก็บอกว่าทำไม่ได้ เดี๋ยวไปล้ำเส้นจริยธรรม สื่อต้องดูแลตนเอง คนก็เลยกังขาว่าทำไมมีหลายมาตรฐาน

แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเราตั้งหลักดี ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเห็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนได้ว่าอันไหนกฎหมาย อันไหนจริยธรรม แต่ถ้าเห็นเส้นแบ่งที่มันเบลอจริง ๆ อาจจะใช้หลักการปรึกษาหารือได้ กสทช. อาจจะเชิญองค์กรวิชาชีพสื่อมาพูดคุยว่าเรื่องนี้ยังไงดี ซึ่ง กสทช. ก็ทำในเรื่องที่ไม่ใช่การเมือง แต่บางทีก็ไม่ได้คุ้มครองเด็กเยาวชนและผู้บริโภคเลย อาจจะใช้วิธีปรึกษาหารือชี้แจงกันนานมาก เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่เร็ว เพราะฉะนั้นอาจจะต้องใช้หลักการกลับกันค่ะ เรื่องการเมืองมีความเห็นหลากหลายแตกต่างได้ อาจจะรอได้เพราะบางทีไม่นิ่ง แต่เรื่องที่กระทบผู้บริโภค เช่น เรื่องอาหารและยาโฆษณาเกินจริง กระทบเด็กเยาวชน แหล่งข่าวผู้เสียชีวิต เช่น บางช่องทำ infographic มาเลียนแบบการข่มขืน กระทบผู้ตกเป็นข่าว ก็ฟันธงได้ว่ามันไม่ควรทำ ถ้าไม่หนักมากก็ปรับขั้นต่ำ 50,000-100,000 บาท ถ้าหนักก็ปรับ 500,000 บาท มันก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่สื่อจะต้องระวังมากขึ้น อันนี้คือไม่ใช่แค่ข่าวลวง แต่รวมไปถึงจริยธรรมสื่อด้วยค่ะ”

COFACT คือเครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอมที่ใช้ได้กับทุกคนจริง ๆ

“คือเราก็พยายามสร้างเครื่องมือให้ง่ายที่สุดในการตรวจสอบ แต่น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ก็อาจจะบอกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมาใช้ Chat Bot Cofact เพราะหลายเรื่องเขาก็ไม่ได้เชื่อข่าวลืออยู่แล้ว เช่น เรื่องสุขภาพ แต่ถ้าเรามีญาติพี่น้อง คุณพ่อ คุณแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย ชอบเล่นไลน์แล้วเขาชอบเชื่ออะไร เราก็แนะนำกลไก Cofact ก็อาจจะช่วยได้ในการค้นหา ซึ่งเราอาจจะยังไม่ทำเยอะเหมือนในไต้หวัน เพราะในไต้หวันเขาออกแบบไม่ได้มีแค่ Chat Bot เฉย ๆ ผู้ใช้ต้อง Active คัดลอกข้อความไปวาง แล้ว Chat Bot จะค้นข้อมูลมาให้ว่าอันนั้นมีคนตรวจสอบว่าอย่างไรบ้าง แต่ว่าในไต้หวันต้องถึงขั้นข่าวลือข่าวลวงในกลุ่มครอบครัว กลุ่มคอนโด เขาถึงขั้นทำตัวโปรแกรมฝังเข้าไปอยู่ในกลุ่ม เวลาใครแชร์อะไรลวง account อันนี้ที่เป็น Bot จะเตือนมาเลยว่าไม่จริง ซึ่งคนไทยไม่น่าใช้แน่เพราะกลัวว่าจะเป็นสายสืบมาจากใคร แต่ว่าในไต้หวันเขาคงเชื่อ เขายอมปล่อยให้ Chat Bot ตัวนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม มาเตือนคุณลุงคุณป้าที่แชร์ข่าวลวง เรายังไม่กล้าทำขนาดนั้น เพราะคนคงไม่เชื่อ

แต่ว่าเราก็ออกแบบข้อมูลที่เป็น Chat Bot แล้วก็มีเว็บนะคะ ถ้าท่านใดไม่อยากจะ Active ข้อมูลแล้วมาค้น ก็ตามเราในทวิตเตอร์ Cofact เราจะอัพเดตข่าวให้ทุกวัน ก็จะเน้นข่าวสุขภาพที่ผ่านการกรองมาแล้ว เราก็พอจะเชื่อได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าวันไหน Cofact เกิดพลาดขึ้นมา เราไปสรุปข่าวที่กรองแล้วก็จริง แต่ว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ก็โต้แย้งเราในเว็บได้เลยนะคะ ซึ่งเป็น database เราเปิดให้เข้าสู่ระบบโดยอีเมลหรือ Facebook ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้มาก ต้องทำใจว่ามันเป็นเรื่องสุขภาพ เพราะคนไทยก็ยังไม่อินมากที่จะมาเถียงกันเหมือนเรื่องการเมือง เรื่องการเมืองเราก็มีทวิตเตอร์ Pantip Facebook อะไรอยู่แล้ว เพราะเป็นเวทีในการโต้แย้งข้อเท็จจริงกันอยู่แล้วนะคะ”

ข่าวยิ่งไหลไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีผลต่อข่าวปลอมมาก

“คนก็ตื่นตระหนกในช่วงแรก ๆ ว่าจะทำยังไง ข่าวลือข่าวจริงก็มาพร้อมกัน แชร์กันอลหม่านเลย ทั่วโลกก็เป็นค่ะ ตอนนี้ก็รู้สึกจะซาลงแล้ว เพราะว่าอาจจะผ่านจุดพีคมาแล้ว คนก็เริ่มนิ่งแล้วจากตอนแรกที่จะใส่หน้ากากแบบไหน แบบผ้าหรือไม่ได้เยอะแยะไปหมด บางทีก็อาจจะไม่ได้เป็นข่าวจริงหรือข่าวลวงในตัวมันเอง แต่คนไม่แน่ใจว่ายังไง โดยเฉพาะเมืองไทยช่วง 3 เดือนแรก ตอนที่จะปิดห้างหรือไม่ปิดห้าง จะประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิวไหม? คนก็งง อลหม่าน มันเป็นภาวะด้าน disorder information ถ้าในเมืองไทยอาจจะไม่เป็นปัญหาข่าวลวง แต่เป็นปัญหาคนสับสนอลหม่านในเรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่ต่างประเทศถือว่าเยอะมาก Twitter / Facebook ถึงกับออกมาให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้ เราอาจจะไม่เชื่อว่าเขามีการเผยแพร่บทความลวง ข้อมูลลวงกันเยอะขนาดนั้น แล้วคนก็เชื่อด้วย ก็ต้องไปศึกษาว่าเกิดเพราะอะไร

ถึงได้บอกว่าถ้าเทียบกับเมืองไทย เราอาจจะไม่แรงเท่าเขา ของเราอาจจะเน้นในเรื่องสุขภาพ แต่ของเขาอาจจะมีเรื่องการเมืองแฝงอยู่ ของเราก็มีเรื่องการเมืองบ้าง แต่เป็นการเมืองที่เราชินในระดับหนึ่งแล้ว สุดท้ายก็มากไปกว่าลวงหรือจริง มันเป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะฉะนั้นบางทีต้องฝากกันช่วยนิดนึง เพราะบางทีมันอาจจะไม่จริงแต่ตรงกับอุดมการณ์ทางการเมืองของเราก็แชร์ ซึ่งเราอาจจะต้องยับยั้งชั่งใจและเตือนกันเองว่าแม้ว่าเราจะไม่ชอบคนนี้ ไม่ชอบสิ่งนี้ ไม่มีอุดมการณ์แบบนี้ แต่ถ้าเรารู้ลึก ๆ อยู่ว่ามันไม่จริง เราก็ไม่แชร์ดีกว่า ซึ่งระยะหลังก็ดีขึ้นหน่อยนะคะ ก็เห็นว่าหลายฝ่ายก็ระวัง ยับยั้งมากขึ้น แต่ก็อาจจะมีพลาดอยู่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นปฏิบัติการ IO หรือเปล่า ซึ่งเราก็คงต้องช่วยกันเตือนค่ะ โดยเฉพาะในภาวะนี้ คนสับสนอลหม่านในยุค infodemic ทั้งโควิด-19 ปนเปกันไปหมด บางทีเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องเงินกู้ ซึ่งมันสืบเนื่องจากโควิด-19 แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องการเมืองสาธารณะในการตรวจสอบเงิน ก็เลยมากกว่าโควิด-19 ซึ่งอาจจะมีข้อเท็จจริงกับความเห็นที่ต่างกัน เราก็ใจร่ม ๆ รับฟังข้อเท็จจริง และให้ข้อเท็จจริงตีแผ่ตัวมันเองให้มากที่สุดนะคะ อันนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาความสับสนได้ค่ะ”

ข่าวปลอมจะหายไปได้ เราต้องรู้เท่าทันข่าวปลอมด้วยกัน

“ขอให้ทั้งประเทศถือศีลข้อ 4 ก็คงไม่หายไป เพราะบางทีคนที่เผยแพร่ข่าวปลอมก็ไม่นึกว่าเป็นข่าวปลอม เพราะฉะนั้นก็คงไม่หายไป 100% หรอกนะคะ เพราะว่าคนก็อาจจะเผยแพร่ด้วยความเชื่ออย่างจริงใจก็ได้ ทั้งที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง เพราะความไม่รู้ สิ่งที่เราทำได้โดยเฉพาะในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งมันมี digital footprint การผลิตซ้ำ การวนเยอะแยะไปหมด โอกาสที่มันจะหายไป 100% มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เราช่วยกันทำได้ก็คือให้มันลดน้อยลง ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แล้วก็เกิดภูมิคุ้มกันเหมือนโรคระบาด สุดท้ายคงไม่หายไป แต่มีวัคซีนหรือสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้

ฉันใดก็ฉันนั้น การรับมือกับข่าวลวงก็เหมือนการรับมือกับไวรัสหรือโรคระบาด เราคงไม่สามารถหวังให้เชื้อโรคร้ายหายไปจากโลกได้และชีวิตเราได้ แต่สิ่งพยายามจะแก้ไขได้คือพยายามหาวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกัน ถ้าไม่มีวัคซีนก็ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่มาป้องกันตนเอง เช่น ใส่หน้ากาก การมีเครื่องมืออย่าง Cofact การเช็ค Google การฟังหูไว้หู ก็เป็นเครืองมือ เหมือนหน้ากากที่ทำให้เรากรองไวรัสได้ แล้วถ้าทุกคนมีภูมิคุ้มกัน หน้าที่ของ Cofact คือ everyone is a fact checker ทางแก้ระยะยาวของปัญหาข่าวลวงคือ ต่อให้มีผู้ตรวจสอบข่าวปลอม มีศูนย์ต่อต้านข่าวลวงเป็นสิบก็แก้ข่าวลวงไม่ได้ แต่เราต้องเชื่อในศักยภาพของปัจเจก พลังของพลเมืองว่าถ้าเขาตื่นรู้ ถ้าเขามีเครื่องมือในการเช็ค ถ้าเขาสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเป็นผู้ตรวจสอบหาความจริงได้ทุกคน มันก็จะทำให้ข่าวลวงลดลง แล้วเราก็ต้องใช้ยุทธศาสตร์ ถ้ามี super spreader ก็ต้องใช้ super collector ถ้าผู้เผยแพร่ข่าวลวงเป็นคนดัง มีชื่อเสียง เราก็ต้องทำให้คนดัง มีชื่อเสียงมาสกัดข่าวลวง อันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องของการใช้ data สู้กับ data ก็น่าจะแก้ได้ค่ะ แก้ได้มากที่สุด

แต่ว่าหายไปก็คงยากเหมือนกัน เราต้องใช้หลักไม่เชื่อไว้ก่อน ตามคำสอนของทุก ๆ ศาสนา เอาศาสนามาใช้ช่วย ข่าวลือข่าวลวงก็อาจจะไม่หมดไป ก็ต้องใช้หลักการไม่เชื่อไว้ก่อน การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ใช้เรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันมาช่วยค่ะ”

ภาคประชาสังคมมาช่วยมาก แต่ยังน้อยถ้าเทียบกับต่างประเทศ

“ภาคประชาสังคมที่มาช่วยก็เริ่มมีมากขึ้นนะคะ แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศจริง ๆ ก็น้อยนะคะ ถ้านับเป็นองค์กรที่เน้นตรวจสอบข่าวปลอม จริง ๆ ที่เริ่มมาก่อนที่คนรู้จักคือ ชัวร์ก่อนแชร์ อยู่กับ อสมท. สำนักข่าวไทย อันนี้เขาก็ทำมาสม่ำเสมอมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เราก็เห็นศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ของรัฐบาล ชัวร์ก่อนแชร์ก็อยู่กับองค์กรสื่อ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็มีความเป็นเอกชน จริง ๆ เขาก็ประมูลคลื่นความถี่นะ ก็เห็นใจเหมือนกันเพราะไม่รู้ว่าจะอยู่สถานะไหนดี เขาก็ต้องประมูลเพราะเป็นเอกชนเนอะ แต่สถานะจริง ๆ ก็เป็นรัฐวิสาหกิจนะ ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่ายังไง

แต่ว่าศูนย์ต่อต้านข่าวลวงอยู่สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเลย คนก็อาจจะคลางแคลงใจ แต่เขาก็คงโดนวิจารณ์เยอะ สังเกตว่าพักหลังก็ระวังมากขึ้น พยายามมาเน้นเรื่องสุขภาพ เรื่องการเมืองดูเหมือนจะลดลงนิดนึง เพราะไม่แน่ใจว่าโดนทัวร์ลงเยอะหรือเปล่า แล้วก็มี Cofact เรานะคะ ก็สามารถมาเป็น collaborative fact checking ซึ่งเราก็ออกตัวว่ายังเน้นเรื่องสุขภาพอยู่ เพราะเราก็ยังไม่มีคนเยอะ เน้นกลุ่มผู้สูงวัยหรือใครที่รับข้อมูลเรื่องสุขภาพเยอะ ๆ มีเครื่องมือในการค้นง่าย ๆ ที่อยู่ในไลน์ ก็คือ Chat Bot ของเรา นอกนั้นเราก็เห็นเป็นสำนักข่าวต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ ถ้าเป็นกลุ่ม NGO ที่เป็นกลางจริง ๆ ยังน้อยมากนะคะที่มาทำเรื่องตรวจสอบข่าวปลอม

จริง ๆ น่าจะมีมาทำเรื่องการเมือง แต่หลายคนก็อาจจะบอกว่าไม่จำเป็นหรอก เพราะเขาตรวจสอบข่าวปลอมกันเองแล้ว โดยเฉพาะในทวิตเตอร์บางทีก็โอเคแล้ว พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ตรวจสอบข่าวปลอมกันเองแล้ว ก็อาจจะดีแล้วก็ได้นะคะ ถ้าให้คนนอกมาทำบางทีอาจจะไม่รู้ข้อมูลเท่าคนที่อยู่ในแวดวงการเมือง เขาอาจจะมีข้อมูลมาโต้แย้งมากกว่า แต่ว่าถ้าเทือบกับหลายประเทศ เราน้อยกว่านะคะ ในฟิลิปปินส์ ในอินโดนีเซีย มีองค์กรเช็คข่าวลวงเกิดเป็นดอกเห็ดเลย ในอเมริกา ในอังกฤษเยอะมากเลยค่ะ แล้วองค์กรอย่างกู Google / Facebook ก็ให้เงินสนับสนุนด้วยในหลายประเทศ แต่ของเรายังไม่แน่ใจว่ามีองค์กรใดบ้าง”

สื่อควรเป็นยามเฝ้าประตูให้กับคนไทย และร่วมตรวจสอบข่าวปลอมไปพร้อม ๆ กัน

“รอดไม่รอดก็ดิ้นรนกันอยู่เรื่อย ๆ พี่ก็คิดว่า ก็คงทยอย ๆ ต้องมีการปิดตัวเองกันบ้าง แต่สุดท้ายอะไรใหญ่ ๆ ก็จะยังอยู่ ก็จะเป็นโจทย์ที่ยากค่ะ เพราะว่าก็อาจจะมีทุนที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำสื่อมวลชนเดิมเข้ามาซื้อกิจการสื่อมากขึ้น แล้วเขาก็อาจจะใช้สื่อนั้นในการเป็นมูลค่าเพิ่มของธุรกิจของเขา ซึ่งก็อาจจะมี agenda ในการแทรกโฆษณาเข้ามา อาจจะไม่ได้แคร์เรื่องของ…ไม่รู้เหมือนกัน อันนี้ก็พูดยาก เพราะฉะนั้นทิศทางในอนาคต ผู้บริโภคก็อาจจะมากขึ้น เพราะว่าอาจจะแข่งขันสูงขึ้น สื่อยังคงมีอยู่ แต่ต้องดูว่าใครเป็นแหล่งทุนในการสนับสนุนสื่อนั้น ซึ่งถ้าเป็นแหล่งทุนใหญ่ ๆ ถ้าเขามาคุมสื่อด้วย สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการต่อรองอำนาจทางการเมือง แล้วเวลามีประเด็นนโยบายสาธารณะต่าง ๆ เช่น CPTPP ถ้าเจ้าของสื่อกลายเป็นทุนใหญ่ ๆ ในประเทศ ก็จะทำให้บทบาทสื่อที่ควรจะเป็นหมาเฝ้าบ้าน เป็น check and balance ในการทวงถามเรื่องนโยบายสาธารณะ ไม่ต้องพูดเรื่องการเมืองเลยว่าจะเลือกข้างไหม ก็คงมีผลอยู่แล้ว

แต่จะมีผลไปถึงนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่ว่าสื่อจะกล้าตั้งคำถามไหม? ขนาดทุกวันนี้สื่อออนไลน์ยังตั้งคำถามสื่อหลักเลยว่า เรื่องใหญ่ ๆ ทำไมถึงไม่ลุกขึ้นมาเป็นข่าว ซึ่งก็มีคนถามพี่เหมือนกันว่าเพราะอะไร? พี่ก็บอกว่าสื่อตอนนี้ก็กลับไปอยู่ในระบบเดิม ก็คือยุคอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์ ก็เป็นทุนนั่นแหละ แต่เป็นทุนอภิสิทธิ์ ในระบบสัมปทานต่างตอบแทนกัน ถ้าตอนนี้กลับไปสู่แบบนั้น แล้วก็สื่ออินเทอร์เน็ตยุค 5G ทุกคนเป็นสื่อได้มากขึ้น ทุกคนก็ใช้เวลาออนไลน์มากขึ้น ก็ทำให้สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์เองก็อยู่ยากขึ้น ก็ต้องพยายามหาสปอนเซอร์ หาแหล่งทุน ซึ่งคนที่มาลงทุนเพิ่มเป็นทุนใหญ่ ๆ เพราะเขาก็รู้สึกว่าการที่มีสื่ออยู่ในมือก็เหมือนกันมีไมโครโฟนที่สามารถไปจ่อถามกระทรวง นายกต่าง ๆ ได้ มันก็เป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองเหมือนกัน แล้วถ้าทุนใหญ่ ๆ เข้าถึงสื่อมวลชนกระแสหลักหมด แล้วใครจะคอยตั้งคำถามแทนประชาชนแทนในด้านประเด็นนโยบายสาธารณะ อันนี้ก็น่ากังวลเหมือนกันนะคะ ต่างประเทศก็เป็นค่ะ เขาก็ถึงมีทางออกว่าควรที่จะมีสื่อสาธารณะเยอะ ๆ หรือมี non-profit media มากขึ้นเยอะ ๆ ซึ่งอันนี้เราก็จะสร้างให้เกิดในเมืองไทยได้ยังไงให้เกิดการคานดุลกัน ก็เป็นโจทย์ระยะยาวในทางวารสารศาสตร์ที่ต้องช่วยกันคิดต่อไปค่ะ”

อยากชัวร์ก่อนแชร์ ต้องใช้ COFACT

“Cofact ก็เป็นงานเล็ก ๆ นะคะ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่ว่าก็เป็นเครื่องมือเล็ก ๆ ที่จะให้ทุกท่านที่อยากจะตรวจสอบข่าวลวงในชีวิตประจำวันที่ได้รับมา เช่น เรื่องโควิด-19 เรื่องสุขภาพ อยากตรวจสอบง่าย ๆ นั่นแหละค่ะ ก็ไปแอดไลน์ว่า @cofact เล่น ๆ ก็ได้ค่ะ เป็น Bot ไม่มีอะไรทำก็ไปคุยกับ Bot ก็ได้ (หัวเราะ) หรือว่ามาช่วยทำให้ AI Bot มันฉลาดขึ้นด้วยการมาช่วยตรวจสอบข่าวลวงกับเรา ก็ล็อกอินได้ที่ cofact.org ก็สามารถเข้ามาเป็นอาสาสมัครของกลุ่มบรรณาธิการได้นะคะ หรือในทวิตเตอร์ก็เป็น @CoFactCoForm ซึ่งก็ทำมากกว่าข่าวจริงข่าวลวงด้วย

ในอนาคตก็อาจจะไปเรื่องของสิทธิทางดิจิทัล เดี๋ยวลองดูค่ะว่าทำได้มากแค่ไหน ก็เป็นโครงการเล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มนะคะ ภาคีก็ให้การสนับสนุน แต่ว่าก็ยังไม่ได้มีคนทำงานเต็มที่ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งค่ะ นอกจากชัวร์ก่อนแชร์ นอกจากศูนย์ต่อต้านข่าวลวง ก็ลองพิจารณา Cofact ดูว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจสอบข่าวลวงได้โอเคหรือเปล่า ถ้าไม่โอเคยังไงก็ช่วยวิจารณ์แนะนำกันเข้ามาได้ค่ะ เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาข่าวลวงที่แท้จริง ก็คือสร้างวัฒนธรรมให้ทุกคนเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอมนั่นเอง Everyone is a fact checker นั่นเองค่ะ”


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บันทึกการสนทนาโดย วรรษมน ทับทิม
ขอบคุณภาพจาก COFACT

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า