fbpx

สื่อบุคคล พลังอำนาจที่มองไม่เห็น

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนเริ่มมีการเสพสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสื่อออนไลน์ได้รับความนิยมสูง คนมีชื่อเสียง หรือคนทั่วไปต่างก็แจ้งเกิดและหารายได้จากสื่อออนไลน์มากขึ้น จึงได้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ติ๊กต็อกเกอร์ (Tiktoker)  ยูทูปเบอร์ (Youtuber)  ฯลฯ ที่ไม่ว่าผู้ใช้งานจะเป็นที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ทุกคนสามารถแจ้งเกิดจากพื้นที่ดังกล่าว ในการสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาและสร้างรายได้ให้ตัวเอง

จากที่ผ่านมาผู้ที่หันมาใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างอาชีพ ก็มีไลฟ์สไตล์การแสดงออกของตนเองแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การเต้น การขายของ การร้องเพลง หรือแม้กระทั่งการบุกไปยังบ้านร้าง หรือล่าท้าผีต่าง ๆ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างใช้สื่อออนไลน์ในการทำบางสิ่งบางอย่างที่คนทั่วไปไม่อาจจะมีสิทธิ์เข้าไปทำ หรือกล้าที่ลุกขึ้นบุกเข้าไปในพื้นที่ต้องห้ามเหล่านั้น การเกิดกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นมาจึงเพื่อตอบสนองความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ที่อยากจะเข้าไปในนั้นแต่ก็ไม่กล้า

ยูทูปเบอร์ (Youtuber) หรือติ๊กต็อกเกอร์ (Tiktoker) หลายคนจึงใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ในการสร้างอำนาจบางอย่างของตนเองขึ้นมา จนถูกขนานนามว่าเป็นไอดอล หรือเป็นตัวแทนของผู้ใช้สื่อออนไลน์ในการเริ่มที่จะทำอะไรเกินเลยเกินกว่าการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) จนบางคนอาจจะตั้งตนเองให้กลายเป็นผู้ผดุงความยุติธรรม หรือการสร้างตัวตนให้กลายเป็นสื่อมวลชนไปเอง

แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการเกิดขึ้นของบุคคลที่ผันตัวเองมาเป็นสื่อพลเมือง ในงานศึกษาเรื่อง นักข่าวพลเมืองกับการใช้สื่อออนไลน์ในการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดย ธัญญา จันทร์ตรง และรองศาสตราจารย์ ดร. กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ (2557) งานศึกษาชิ้นนี้พบว่า นักข่าวพลเมืองส่วนใหญ่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยใช้เว็บไซต์องค์กรสื่อที่เปิดพื้นที่ให้ บล็อกส่วนบุคคล และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นพื้นที่ในการรายงานข่าวและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประเด็นสิทธิชุมชนและวัฒนธรรม สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ส่วนแนวทางการพัฒนาบทบาทและการมีส่วนร่วมของนักข่าวพลเมืองในการรายงานข้อมูลข่าวสารสำหรับสังคมไทยนั้น พบว่า ควรเป็นผู้เฝ้าประตูข่าวสารในบริบทสื่อใหม่ (Gate watcher) เป็นพลเมือง ผู้เล่าเรื่องราว (Citizen Stories) สามารถทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลัก (Co-Operation) ทำให้การรายงานข้อมูลข่าวสารมีความสมบูรณ์มากขึ้น

เห็นได้ว่าในงานศึกษาชิ้นดังกล่าวนี้ แม้ว่านักข่าวพลเมืองจะมีอิสระในการนำเสนอข่าวสารมากอย่างไรก็ตาม แต่ทว่านักข่าวพลเมืองเองนั้น คงมีการทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลักด้วยเช่นกัน เพราะข้อมูลข่าวสารบางอย่างนั้นขาดการตรวจสอบที่ครบถ้วนและมีความถูกต้อง ก่อนที่จะนำเสนอออกไปให้กลุ่มผู้ใช้สื่อออนไลน์ได้รับทราบหรือรับรู้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการรู้จักสิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมือง การพัฒนาทักษะ ความสามารถตลอดจนการมีจิตสํานึกที่ดีในการใช้เทคโนโลยีของคนในสังคมให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์และใช้อย่างรู้เท่าทัน

ในส่วนของแง่ลบของนักข่าวพลเมือง หรือสื่อพลเมืองนั้น ก็มีการทำงานศึกษาเช่นกัน ในงานวิจัยเรื่อง จริยธรรมนักข่าวพลเมืองในการนาเสนอข่าวเด็กผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ (2560) พบว่า ปัญหาในการนำเสนอข่าวเด็กผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของนักข่าวพลเมือง แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิเด็ก ปัญหาด้านความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล และปัญหาด้านความเป็นกลาง โดยสาเหตุของปัญหาดังกล่าว แบ่งเป็น 8 สาเหตุ ได้แก่ สาเหตุที่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณสื่อ สาเหตุที่เกิดจากการมีข้ออ้างให้กับตัวเอง สาเหตุที่เกิดจากการขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน สาเหตุที่เกิดจากการไม่มีกระบวนการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร สาเหตุที่เกิดจากอิทธิพลทางการตลาดเข้ามาครอบงำ สาเหตุที่เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สาเหตุที่เกิดจากค่านิยมในสังคมและความต้องการของผู้รับสาร และสาเหตุที่เกิดจากข้อจำกัดด้านบุคลากรและเครื่องมือ

จากข้อค้นพบดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าแม้ว่างานศึกษาชิ้นนี้จะผ่านมาแล้ว 5 ปีจนถึงปัจจุบัน สื่อพลเมืองหลาย ๆ คนก็ยังนำเสนอข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยขาดการคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอข่าว ไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเด็กแต่เพียงเท่านั้น แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ก็ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้พิการ หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไปที่ตกเป็นข่าวของสื่อพลเมือง ต่างก็ได้รับผลกระทบที่มาจากการนำเสนอข่าวโดยปราศจากการไตร่ตรอง ซึ่งสอดคล้องกับสาเหตุของการเกิดปัญหาในการนำเสนอข่าวเช่นกัน

แม้ว่าเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) จะออก “คู่มือสื่อพลเมือง” มาตั้งแต่ปี 2553 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงพบสื่อพลเมืองหลายคนนำเสนอข่าวโดยปราศจากการศึกษาข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน วรรคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวไว้ว่า

“สื่อพลเมืองจะเป็นพลังสร้างสรรค์ที่มีความรับผิดชอบได้จริงก็ต่อเมื่อยึดมั่นใน “จรรยาบรรณสื่อพลเมืองเมื่อเขียนบล็อก” และ “จรรยาบรรณสื่อพลเมืองเมื่อใช้โซเชียลมีเดีย” แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลดละที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนข้อมูล รู้ทัน “การเซ็นเซอร์และวิธีหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์” ของภาครัฐ ตลอดจนตระหนักในประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญตาม “ข้อแนะนําด้านกฎหมาย” เพื่อคุ้มครองตนเองและเพื่อนสื่อพลเมืองจากความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมาย”

สิ่งสำคัญของการทำหน้าที่สื่อพลเมือง หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชนที่ดี คือการคำนึงถึงจรรยาบรรณของสื่อ สื่อสังคมออนไลน์ได้ความนิยมในการนำเสนอข่าวสารอย่างแพร่หลาย แต่ว่าสื่อพลเมืองเองต้องคำนึงว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ “พื้นที่สื่อ” โดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องสนใจจรรยาบรรณใดๆ เลย เพราะถ้าเราอยากได้รับความเชื่อถือในฐานะสื่อพลเมือง เราก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือก่อน และความน่าเชื่อถือนั้นก็ต้องวัดจาก“เนื้อหา” ไม่ใช่ “รูปแบบ” เครือข่ายพลเมืองเน็ต (2553)

ทั้งนี้ข้อมูลจากคู่มือสื่อพลเมือง ได้กล่าวถึง “การเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัว” สิทธิในความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และมีการระบุไว้ในมาตรา 34 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 34 สิทธิของบุคคลในครอบครัวเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการจะต่อว่า หรือไม่เห็นด้วยที่จะเกิดสื่อพลเมืองขึ้นมา แต่ทว่าการที่จะเกิดสื่อพลเมืองขึ้นมานั้นต้องมีการสร้างความเข้าใจ และร่วมกันสร้างนิเวศสื่อที่ดีให้กับสังคมด้วยเช่นกัน ในบทความเรื่อง ภูมิทัศน์ – นิเวศการสื่อสารภาคพลเมืองในยุคดิจิทัล : โอกาสและข้อท้าทาย โดย ผศ.ดร. พรรษาสิริ กุหลาบ (2564) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายในงานเสวนาออนไลน์  “คน-ชุมชนและสื่อ”ครั้งที่ 1 เวทีแห่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิชาการ นักวิชาชีพสื่อทั้งระดับชาติ สื่อดิจิทัล ร่วมกับสื่อชุมชนและนักสื่อสารชุมชนในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อชุมชน จัดโดยศูนย์การเรียนรู้สื่อชุมชนมหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 20 พฤจิกายน 2564 ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“…สื่อมวลชนและสื่อพลเมืองถึงต้องเป็นแนวร่วมในการที่จะต้องคุ้มครอง ปกป้องสิทธิเสรีภาพ เหล่านี้ให้กับประชาชน อันนี้ไม่ใช่การเข้าข้างข้อเรียกร้องของผู้เรียกร้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ว่ามันเป็นการยึดมั่นในหลักปรัชญาพื้นฐานของการสื่อสาร ซึ่งจะมีผลต่อการดำรงอยู่ของสื่อ ไม่ว่าจะโดยใครหรือว่าประเภทใดก็ตาม แน่นอนว่าในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในอาจจะแตกต่างกันไปบางกลุ่มอาจจะใช้การดำเนินงานผ่านช่องทางการเมืองปกติ บางกลุ่มอาจจะใช้ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงหรือบางกลุ่มอาจจะใช้การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือแบบอื่น แต่ที่สำคัญคือต้องเห็นตรงกันว่า  เสรีภาพแสดงความคิดเห็นเป็นเสาหลักหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยก่อน”

ดังนั้นแล้ว สื่อพลเมืองนั้นต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณของสื่อมวลชน การคุ้มครองแหล่งข่าว ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของการสื่อสารที่สำคัญ ทั้งนี้การเป็นสื่อพลเมืองไม่ได้ถูกกำหนดอยู่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทุกคนสามารถเป็นสื่อพลเมืองที่ดีได้ แต่ทว่าการเป็นสื่อพลเมืองที่ดีนั้นต้องไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนใดคนหนึ่ง และต้องคำนึงถึงแหล่งข่าวเป็นอย่างแรก ให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น แม้จะไม่ใช่กลุ่มดังกล่าว แต่ก็ยังคงต้องให้เกียรติแก่แหล่งข่าวเสมอ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญและหน้าที่ของสื่อพลเมือง

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า