fbpx

กว่าชิงช้าสวรรค์จะกลับมาหมุนอีกครั้งบนหน้าจอ

หากนึกถึงรายการโทรทัศน์ในสมัยเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เราจะเห็นรายการระดับตำนานมากมายที่สร้างความสุขให้ผู้ชมได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จากจอตู้ตู้เดียวกันทั่วประเทศไทย รายการในยุคนั้นต่างทำให้ผู้ชมนั่งติดตรึงอยู่หน้าจอได้แบบไม่ต้องไปไหน นั่งแช่แบบนั้นทั้งวันก็ยังได้ (ถ้าแม่ไม่ไล่ให้ไปกินข้าว)

กลับกันในยุคที่รายการโทรทัศน์เสื่อมความนิยมลงไปประมาณหนึ่ง จากการเข้ามาของสื่อใหม่ที่ไม่ต้องนั่งเฝ้าจอตู้เดิมๆ ที่บ้านอีกต่อไป เพราะมีหลากหลายช่องทางให้เลือกดู มีเป็นล้านๆ คอนเทนต์ให้เลือกติดตาม มิหนำซ้ำยังทำให้รายการรูปแบบเดิมๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันยุคทันสมัย ซึ่งมีทั้งรายการที่ทำได้ดี หรือเสียตัวตนไปจนแหลกก็มี ปิดตัวเองลงไปก็ไม่ใช่น้อย

หนึ่งในจำนวนนั้น เราขอพูดถึงรายการโทรทัศน์ที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนไทย ให้ได้มาสร้างสรรค์ความสุขต่อหน้าผู้ชมผ่านการร้องเพลงลูกทุ่ง กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะดนตรีอย่างชิงช้าสวรรค์ รายการที่อบอุ่นไปด้วยกลิ่นอายความเป็นไทยแบบไม่ต้องมีหน้าจั่ว เต็มไปด้วยวัฒนธรรมไทยแบบที่ไม่ต้องมาฟ้อนมารำกันทุกอาทิตย์ แต่สอดแทรกไปด้วยเนื้อหาแบบ Old School ตามแนวทางงานวัดบ้านเราได้เป็นอย่างดี

รวมถึงช่วงหลักของรายการอย่างชิงช้าสวรรค์ คอนเทสต์ ที่ชูโรงตัวรายการให้เป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง จากการนำโรงเรียนต่างๆ มาแข่งขันประชันความสนุกสนานบนเวทีให้มากที่สุด เพื่อเอาชนะใจกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำรายการ

ท้ายที่สุดแล้วในจุดหนึ่งรายการก็ยอมให้กับความอิ่มตัวของเนื้อหา ก่อนจะลาจอไป

และคืนชีพกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2022

ซึ่งน่าสนใจว่าทำไมกัน ถึงต้องเป็นรายการชิงช้าสวรรค์

เราจึงเดินทางมาพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของรายการชิงช้าสวรรค์ 2022 อย่างอ้วน-จิรศักดิ์ ก้อนพรหม พนักงานบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีตำแหน่งตามบัตรพนักงานเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ และเป็นฝ่ายดูแลพัฒนาศิลปินในค่ายเพลงเอก แต่แท้ที่จริงแล้วเขาคือคนครีเอทีฟมากความสามารถที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง จากการกระโดดไปช่วยดูแลรายการต่างๆ ในบริษัทมาหลายรายการ จนมาถึงชิงช้าสวรรค์ 2022 ที่เขาและทีมงานตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผู้ชมมีความสุขในยุคนี้

มาติดตามเรื่องราวของรายการนี้ไปพร้อมๆ กัน ว่าทำไมรายการนี้ยังไม่ตาย และกลับมาอยู่ในใจผู้ชมได้เหมือนอย่างที่เคยเป็น

เราพาคุณมาแวะหลังวิกชิงช้าสวรรค์เรียบร้อยแล้ว

คุณพระช่วย : ปฐมบทรายการสายวัฒนธรรมของเวิร์คพอยท์

ก่อนจะเล่าถึงการเกิดขึ้นของรายการชิงช้าสวรรค์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2547 เราขอเล่าย้อนกลับไปถึงการกำเนิดเกิดขึ้นของรายการแนววัฒนธรรมรายการแรกของเวิร์คพอยท์ อย่างคุณพระช่วย ก่อนดีกว่า

ย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว อ้วนได้สมัครเข้ามาทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟของรายการชิงร้อยชิงล้าน ชะชะช่า (ยุคที่สอง) แต่ตำแหน่งงานที่ว่ากลับเต็มจำนวน อ้วนจึงได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกันนี้ กับรายการโทรทัศน์ที่เวิร์คพอยท์กำลังปลุกปั้นขึ้นมา

ด้วยนโยบายของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวียุคแรกของ ผอ.มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กำหนดไว้ว่าอยากให้มีรายการโทรทัศน์แนววัฒนธรรมเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-4 โมงเย็น ของวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่จะล้อมวงดูทีวีด้วยกัน เวิร์คพอยท์จึงคว้าเวลาตรงนี้เพื่อสร้างสรรค์เป็นรายการโทรทัศน์รายการใหม่แกะกล่องอย่าง “คุณพระช่วย” ที่มีหัวเรือใหญ่อย่างจิก-ประภาส ชลศรานนท์ควบคุมดูแลรายการ ตามเจตจำนงระหว่างเขาและอิทธิ-อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ที่ต้องการผลิตสื่อวัฒนธรรมขึ้นมาในยุคนั้น ทางฝั่งอิทธิได้สร้างสื่อในแนวทางของภาพยนตร์อย่างโหมโรง ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยยุครัตนโกสินทร์ ที่ดนตรีมีการเปลี่ยนผ่านทางระบบอุปถัมภ์, สงครามโลกครั้งที่ 2 และสังคมไทยสมัยใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และฝั่งจิกเองก็ได้สร้างสรรค์เป็นรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมผ่านหน้าจอโทรทัศน์อย่างคุณพระช่วยนี่เอง

“พี่จิกเคยให้ไอเดียการคิดรายการกับเราว่า x+y=z, x มันคือตัวตั้งต้น บวกกับ y คือความครีเอทีฟอะไรก็ได้ มันจะได้ผลลัพธ์เป็น z คือรายการทีวีออกมา ซึ่งมันจะไม่มีทางเหมือนกันได้เลย” อ้วนเสริมมุมมองของไอเดียการสร้างสรรค์รายการของเวิร์คพอยท์ในช่วงปี พ.ศ.2547 ว่าเป็นปีแห่งรายการวัฒนธรรม ซึ่งมีสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง

นึกง่ายๆ ว่า ในสมการที่หนึ่ง

x คือ “วัฒนธรรม” y คือ “ความครีเอทีฟ”

และผลลัพธ์ที่ได้คือ z หรือรายการ “คุณพระช่วย”

โจทย์หลักที่ได้รับจากสถานีคือรายการส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ทำเพื่อเสิร์ฟผู้ชมกลุ่มครอบครัว ที่ประกอบไปด้วยเยาวชน และผู้ใหญ่ที่อาจจะต้องการความรู้เสริมเติมแต่งไปบ้าง ตัวรายการจึงต้องการตอบสนองคนทุกกลุ่มด้วยความไม่น่าเบื่อ ดูแล้วต้องว้าว ได้ความรู้ และน่าสนใจ โดยผสมผสานเรื่องราววัฒนธรรมไทยเข้ากับความครีเอทีฟในการนำเสนอ ถ้าจะเอาเพลงลูกทุ่งมาออกรายการก็อาจจะต้องบวกด้วยวงดนตรีออร์เคสตราให้ดูว้าว หรือการตีโปงลางก็เอามาบวกกับความยิ่งใหญ่ กลายเป็นการตีโปงลางพร้อมกัน 200 ผืน ให้มันเป็นมหกรรมโปงลางไปเลย

มีตอนหนึ่งที่รายการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงโฆษณา อ้วนในฐานะของทีมงานรายการจึงลงพื้นที่ทำข้อมูล อ้วนไปพบกับแผ่นเสียงเก่า ที่เมื่อบรรจงวางเข็มอ่านลงบนนั้น เสียงที่ดังออกมาคือเพลงโฆษณาเก่าที่น่าสนใจเพลงหนึ่ง

“ต้นตระกูลผมแต่ปางบรรพ์ หลังย่ำสายัณห์ดวงตะวันเลี่ยงหลบ…”

เพลงนั้นคือเพลงโฆษณาของถ่านไฟฉายตรากบ สินค้าไทยที่เลิกผลิตไปนานโข อ้วนจึงถือโอกาสอัดเสียงเพลงนั้นใส่เครื่องอัดเสียง เพื่อนำมาเสนอในรายการ และไปหยิบยืมถ่านไฟฉายตรากบของจริงจากพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาไว้เพื่อมาใช้ถ่ายทำรายการ

ย่อหน้าเมื่อครู่จึงแทนค่าในสมการได้เป็นค่า x

เมื่ออ้วนได้ลองฟังเพลงเต็มๆ เขาเห็นว่าในเพลงโฆษณานี้มันมีท่อนร้องเร็วๆ แบบแร็ป มีจังหวะของเพลงที่น่าสนใจ อ้วนจึงติดต่อวง T-Bone วงดนตรีสัญชาติไทยแนวเร็กเก้-สกา มาเล่นเพลงโฆษณานี้ให้ และมา Featuring กับเท่ง-พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ (ในรายการใช้ชื่อ AKA ว่า คุณพระเท่ง-ผู้เขียน) ในท่อนแร็ปท้ายเพลง บวกกับความเป็นไทยดั้งเดิม อย่างระนาดเอกจากอาจารย์ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ข้าราชการดุริยางคศิลปิน ระดับชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร ทำให้โชว์เพลงโฆษณาถ่านไฟฉายตรากบในวันนั้น มีทั้งเพลงเร็กเก้-สกา + ดนตรีไทยเดิม + การร้องแร็ป + การนำเสนอเพลงโฆษณายุคเก่า จนทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นกระแสไวรัลกลายๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้จักเพลงโฆษณาเหล่านี้ขึ้นอีกเป็นกอง ครบฟังก์ชั่นแบบไร้รอยต่อ

หรืออย่างเรื่องของการแต่งเพลงใหม่ๆ ภายในรายการก็เป็นอีกหนึ่งสีสันความครีเอทีฟที่สอดแทรกอยู่ในความเป็นรายการวัฒนธรรมได้อย่างพอดิบพอดี ในเนื้อหารายการแต่ละเทปอาจจะมีหัวข้อหลักๆ ในแต่ละเทปช่วงคุณพระเชี่ยว มาอย่างละ 1 หัวข้อที่เกี่ยวกับคนไทย หลังจากนั้นในเบรกที่สองจึงสานต่อเรื่องราวนั้นให้กลายเป็นโชว์ที่น่าจดจำ หลายๆ ครั้งช่วงโชว์ที่ว่าก็นำเรื่องราวจากช่วงก่อนหน้ามาแต่งเป็นเพลงขึ้นเฉพาะกิจ ให้ศิลปินที่เหมาะสมมาขับร้อง ให้วงคุณพระช่วยออร์เคสตร้ามาบรรเลง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเพราะความขยันคิดของจิก-ประภาส ในทุกครั้งไป

“มีช่วงหนึ่งพี่จิกถามเราว่าอาเซียนกำลังมา ทำอะไรกันดี เราก็คิดไปว่าคุยเรื่องการแต่งกายดีมั้ย พี่จิกบอกว่างั้นพี่ทำเพลงให้ดีหรือเปล่า เราก็บอกว่าเอา ก็แต่งเพลงเลย

ใช่, ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความ “ครีเอทีฟ”

เรื่องราวเมื่อครู่จึงแทนค่าในสมการได้เป็นค่า y

ผลลัพธ์ของรายการคุณพระช่วยจึงเป็นรายการวัฒนธรรมที่ดูแล้วไม่น่าเบื่อ แม้จะเต็มไปด้วยสาระความรู้ แต่เนื้อหาที่ดูก็ชวนให้ติดตามจนจบรายการ ออกอากาศแต่ละครั้งคนดูก็พูดถึง

“ตัวรายการประสบความสำเร็จมาก รางวัลเต็มตู้ มากันทุกสถาบัน ส่วนหนึ่งเลยเพราะว่ารายการวัฒนธรรมแบบนี้มันทำยาก หนึ่งคือต้องใช้ทุนเยอะ สองคือทำให้สนุกได้ยาก ลองคิดดูว่าถ้ารายการนี้ถูกจ้างโดยหน่วยงานให้มาทำ มันจะเต็มไปด้วยระเบียบมากมาย ห้ามทำนู่น ห้ามทำนี่ รายการอาจจะกลายเป็นรายการที่ไม่มีเรตติ้ง หรือถึงแม้จะขายได้ ก็จะถูกครอบด้วยหน่วยงานที่ซื้อรายการเราไป มันจะไม่ฟรีสไตล์แบบที่ตัวรายการมันเป็น”

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือรายละเอียดภายในรายการหลายต่อหลายด้านก็แทรกซึมเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นยูนิฟอร์มเสื้อยืดสีขาวล้วน และโจงกระเบนสีแดง ซึ่งแต่เดิมเป็นชุดยูนิฟอร์มของนักเรียนโขน พอรายการนี้นำมาแต่งให้กับพิธีกร ชุดก็พลอยเป็นที่รู้จักไปพร้อมๆ กับรายการ เวลามีงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมก็มักจะเห็นผู้คนแต่งยูนิฟอร์มนี้กัน

“แนวคิดของชุดนี้มันมาจากที่พี่อ้วนเรียนธรรมศาสตร์ แล้วข้างๆ เป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์ เวลาเราพักเที่ยงก็ชอบมากินข้าว แล้วเจอเด็กนาฏศิลป์ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว โจงกระเบนสีแดงกัน เราเลยให้พิธีกรใส่ชุดนี้เข้ารายการ แต่ลดทอนให้ใส่แค่เสื้อยืดสีขาวพอ เปรียบพิธีกรให้เสมือนพวกเขาเป็นนักเรียนที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา”

จากสมการการสร้างรายการของจิก-ประภาส ที่ว่า “x+y=z”

จึงแทนค่าได้ว่า “วัฒนธรรมไทย” + “ความครีเอทีฟ” = “รายการคุณพระช่วย” นั่นเอง

เริ่มก่อสร้างเสา (เอก) ชิงช้า (สวรรค์)

หลังจากคุณพระช่วยประสบความสำเร็จได้ไม่นาน เวิร์คพอยท์ก็ได้ต่อยอดความสำเร็จเดิมในทันที โดยหยิบเอาช่วงสุดท้ายของคุณพระช่วย อย่างคุณพระประชัน (หรือชื่อแรกอย่าง คุณพระชิง) หรือช่วงที่เอาคนมาแข่งขันกันด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งประชันกลอนสด ประชันระนาดเอก ประชันขิม ประชันโปงลาง ประชันแหล่ เพื่อค้นหาผู้ที่มีชัยในประชัน 1 คน ซึ่งในแต่ละเทปจะเป็นการแข่งขันกันในรูปแบบ 1 คนต่อ 1 คน ทีมงานจึงลงความเห็นกันว่าถ้ามีการประชันกันแบบมากกว่า 1 คนจะเป็นยังไง

ซึ่งในทีนี้หมายถึงการประชันระหว่าง “วงต่อวง”

การ Research จึงเริ่มต้นขึ้น ผ่านการค้นหาว่าในประเทศนี้มีวงดนตรีสำหรับการประกวดระดับโรงเรียนแบบไหนอยู่บ้าง ทำให้พบว่ามีวงดนตรีโรงเรียนอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกคือวงดนตรีของโรงเรียนที่ทำมาเพื่อโชว์บนเวทีใหญ่ๆ อยู่แต่เดิม เวลามีการแข่งขันประกวดร้องเพลงตามเวทีไหนก็ตาม วงดนตรีเหล่านี้ก็จะขึ้นไปแสดง อาจจะไปเป็น Back up ให้ก็ตาม ประเภทที่สองคือวงดนตรีของโรงเรียนที่มีผู้มีฝีมืออยู่แล้ว และอยากลองทำวงดนตรีจริงๆ จังๆ กันขึ้นมาบ้าง หากแต่ไม่มีทิศทางว่าการทำวงดนตรีที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หรือทำวงไปเพื่อจุดประสงค์ใด บางครั้งการรวมวงดนตรีโรงเรียนไปประกวดอาจจะทำไปเพียงเพื่อชิงเงินรางวัล แต่ไม่ได้เผยแพร่ผลงานของโรงเรียนเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก

หลังจากการทำ Research อ้วนจึงได้มาลองวางคอนเซ็ปต์รายการว่าจะจัดการแข่งขันกันอย่างไรดี จึงกำหนด Theme หลักของรายการขึ้นมาให้ชัดเจน เพื่อสร้างภาพเดียวกันให้เกิดขึ้น

ภาพที่ได้นั่นคือ “งานวัด”

เรานั่งฟังพร้อมจินตนาการภาพเร็วๆ ได้ถึงโรงเรียนที่มาประกวดบนเวทีพื้นไม้ที่ประดับไฟหลากสี มีกรรมการนั่งให้คะแนนอยู่ด้านล่าง ผู้คนที่มาชมนั่งเก้าอี้พลาสติกสลับกับนั่งเสื่อ รอบข้างเรียงรายไปด้วยร้านรวงที่ขายของกินจุบจิบ แทรกระหว่างกลางด้วยซุ้มเกมประปราย

และก็มาถึงจุดสำคัญอย่างการตั้งชื่อรายการ

เมื่อธีมรายการเป็นงานวัด ทีมงานจึงระดมสมองโยนชื่อรายการออกมากลางวงประชุม เพื่อให้ได้ชื่อรายการที่โยงเส้นไปหาคำว่างานวัดได้อย่างชัดเจนที่สุด

“เรื่องชื่อรายการต้องให้เครดิตพี่แก้ว-ชยันต์ จันทวงศาทร เลยที่รวบรวมไอเดียมาตกผลึกกัน จำได้ว่ามีชื่อ ม้าหมุน, ป็อบคอร์น, สายไหมโชว์ ซึ่งมันวิ่งกลับมาหาโจทย์เหมือนกัน แต่อย่างชื่อม้าหมุน ใจคนทำมันวนไปนึกถึงงานวัดฝรั่งแทน

คิดไปคิดมาจนมาลงตัวที่ชื่อว่า ชิงช้าสวรรค์ ที่ฟังชื่อแล้วภาพในหัวมันคือความสุข มันเห็นโลโก้ว่าต้องมีรูปร่างกลมๆ แล้วมีอะไรรอบๆ มันเห็นมวลอะไรบางอย่างที่ยิ้มๆ พอได้ชื่อเสร็จสรรพก็ส่งไปให้พี่จิก พี่จิกซื้อไอเดีย แล้วก็ผ่านมาเป็นชื่อรายการนี้เลย”

ซึ่งแน่นอนว่าภาพที่เราจินตนาการถึงธีมรายการแนวงานวัด กับภาพความเป็นจริงของฉากรายการนั้นเหมือนกันอย่างกับแกะ

รูปแบบรายการของชิงช้าสวรรค์นั้นเอาจริงๆ จากที่เราเล่ามาทั้งหมด มันก็คือรายการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งระดับโรงเรียนดีๆ นี่เอง แต่เทปแรกๆ กลับมีรายละเอียดช่วงย่อยอื่นๆ ภายในรายการอีกมากมาย นับตั้งแต่การออกอากาศครั้งแรกของรายการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2547 รายการก็เต็มไปด้วยช่วงซอยย่อยๆ ที่คละเคล้ากลิ่นและบรรยากาศของงานวัดไว้เต็มไปหมด ทั้งช่วงเต๊นท์ของแปลก (ภายหลังใช้ชื่อช่วงว่า ปาหี่) ที่นำเอาของแปลกและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ, แวะหลังวิก หรือช่วงทอล์กของรายการที่เชิญดารามาพูดคุยกันถึงเบื้องหลังของวงการบันเทิงที่น่าสนใจ, แผงเทป ช่วงที่นำศิลปินนักร้องที่มีทั้งชื่อเสียง และผลงานมานำเสนอ ผ่านพิธีกรประจำช่วงที่รับบทบาทเป็นเจ้าของแผงเทป อย่างวงสินเจริญบราเธอร์, ร้านอร่อยร้อยเหรียญ ช่วงแข่งขันทำอาหารที่ต้องแปลกใหม่ และให้รสชาติอร่อย ถ้ากรรมการลงคะแนนให้เกิน 80 เหรียญก็จะกลายเป็นผู้ชนะประจำช่วง, โอ้โฮบางกอก ช่วง Behind The Scene ที่จะตามถ่ายน้องๆ ที่มาแข่งขันในรายการ ผ่านมุมเบื้องหลังสนุกๆ ที่ทำให้เราได้เห็นอิริยาบทอื่นๆ นอกจากการแสดงบนเวที, พี่ร้องน้องเล่น ช่วงที่นำวงดนตรีลูกทุ่งเยาวชนที่เข้ารอบ 1 ใน 3 ของชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ มาร่วมร้องเพลงกับนักร้องเจ้าของเพลงที่พวกเขาใช้ประกวด, ซิตคอมสั้น เรื่องสั้นตลาดสด ที่พูดถึงเรื่องราวในตลาดสดแห่งหนึ่ง ที่แม่ค้าสองคนอย่างกระหล่ำ (แอนนี่ บรู๊ค) และแตงร้าน (ส้มเช้ง สามช่า) มักมีปากเสียงกันประจำ ได้คุณนายองุ่น (นก วนิดา) เจ้าของตลาดเป็นผู้ห้ามศึกอยู่ประจำ จนมาถึงช่วงสุดท้ายของรายการอย่างชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ ช่วงที่นำวงดนตรีลูกทุ่งเยาวชนระดับโรงเรียนมาแข่งขันกัน ทั้งนักร้องและหางเครื่อง เพื่อให้ผู้ชนะที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียว

น่าแปลกว่าช่วงต่างๆ เหล่านี้มาจากไหนกัน

“ที่มีช่วงอื่นๆ มาประกอบเป็นรายการนิตยสารทางอากาศเพราะเวลาไม่พอครับ ออกอากาศ 2 ชั่วโมง 1 โรงเรียนโชว์ 5 นาที รวมเข้าออก แนะนำตัวด้วยอยู่ที่ 7 นาที บวกกับเวลาคอมเมนต์จากกรรมการเป็น 10 นาที สองโรงเรียนรวมกันได้แค่ 20 นาที บวกช่วงพิธีกรพูดเข้าช่วง แนะนำรายละเอียด สรุปผลการแข่งขัน อะไรต่างๆ รวมกันได้แค่ 30 นาที แต่เนื้อหารายการที่ต้องส่งสถานีคือ 1 ชั่วโมง 47 นาที เพื่อรวมเวลาโฆษณาให้ครบ 2 ชั่วโมงเต็ม เราเลยต้องเพิ่มช่วงอื่นๆ เข้ามาประกอบ เพื่อสนับสนุนตัวรายการ สนับสนุนความเป็นช่วงชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ และสนับสนุนสปอนเซอร์ที่เข้ามาซื้อรายการ” พี่อ้วนตอบข้อสงสัยดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน

นั่นจึงทำให้เนื้อหารายการในช่วงแรกๆ ของการออกอากาศ เต็มไปด้วยช่วงต่างๆ มากมายที่เข้ามาเสริมช่วงหลักช่วงสุดท้ายของรายการอย่างชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ นั่นเอง

เราขอยกสมการ x+y=z กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

รายการนี้แน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือ “เพลงลูกทุ่ง”

“เราทำรายการเพลงเอก เป็นรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับเพลงลูกกรุง เพลงสุนทราภรณ์ด้วย ซึ่งเพลงยุคนั้นจริงๆ มันจบไปแล้วนะ เพราะเพลงเหล่านั้นมันเปลี่ยนไปเป็นเพลงสตริง เพลงป็อปไปแล้ว ไม่ได้สานต่อมาถึงตอนนี้ คนที่ฟังกลุ่มเดิมก็หายไปเรื่อยๆ แม้จะมีคนเอามา cover ใหม่ก็ตาม แต่จิตวิญญาณเดิมมันยังเป็นของเก่าอยู่

กลับกันเพลงลูกทุ่งมันไม่เปลี่ยนไปเลย ลูกทุ่งมันอยู่ในสายเลือด เอาไม่ออก ยังไงมันก็เข้าถึง มันก็ยังไม่ตายไป ถึงอาจจะมีรูปแบบใหม่ๆ ของเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้นมาบ้าง แต่หัวใจของมันก็ยังอยู่คงเดิมครบถ้วน เป็นอมตะ ใครหยิบเพลงลูกทุ่งมาทำอะไรก็ตาม success หมด เพียงแต่ต้องหยิบมาให้ถูกจังหวะและเวลา ถ้าหยิบมาทำพร่ำเพร่อมันก็จะซ้ำๆ เดิมๆ” อ้วนได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งบนสื่อไทยไว้อย่างน่าสนใจ

เราจึงแทนค่าสิ่งนี้ในสมการได้เป็นค่า x

ส่วนค่า y ที่นำมาผสมผสานให้รายการกลมกล่อมน่าสนใจ นั่นคือ “โปรดักชั่นรายการ” ที่เราขอยกไปเล่าไว้ในหัวข้อถัดไป

เพราะโปรดักชั่นรายการนี้เต็มไปด้วยชิ้นส่วนที่น่าสนใจมากมายเกินกว่าจะเล่าได้ในประเด็นเดียว

แยกชิ้นส่วนความเป็น “ชิงช้าสวรรค์”

ตั้งฉาก

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าภาพของรายการชิงช้าสวรรค์ค่อนข้างชัดเป็นทุนเดิม ทำให้ฉากของรายการจำเป็นต้องมีความเป็นชิงช้าสวรรค์ เด่นตระหง่านยิ่งกว่าอื่นใด ซึ่งรายละเอียดของฉากก็แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย จากยุคแรกของการออกอากาศ ฉากรายการชิงช้าสวรรค์เต็มไปด้วยความ Realistic สอดแทรกความเป็นจริงเอาไว้เต็มพื้นที่ ตามแนวทางของฉากรายการของเวิร์คพอยท์หลายๆ รายการในยุคสมัยนั้น

“ต้องบอกว่าคนตรวจงานเป็นสถาปัตย์ ฉากรายการเวิร์คพอยท์ยุคนั้นคือเสมือนจริงเลย ลูกชิ้นในรถเข็นบนฉากหลังรายการก็เอาโฟมมาทำ Mock up, ร้านบะหมี่เหลืองก็เอาไหมพรมแมวมาขดให้ดูไกลๆ แล้วเหมือน เน้นการใช้ของเสมือนจริงมาสร้างความจริงให้เกิดขึ้นในฉากรายการตามสเกลจริง ผมยังชอบไปเดินเล่นเลย ยิ่งฉากรายการทำใหม่ยิ่งน่าเดิน

อย่างซิตคอมระเบิดเถิดเทิงก็คือเหมือนซอยจริง เวลาใครมาดูงานก็จะเห็นว่าทุกอย่างคือของจริงหมด ก๋วยเตี๋ยวในฉากก็ลวกกันจริงๆ พี่เท่งก็กินจริงๆ มันมีความบ้าพลังในการสร้างฉากให้มีความ Realistic เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าให้มันเป็นของจริง ไม่ใช่แค่ฉากรายการ อีกอย่างหนึ่งการทำฉากให้เหมือนมากๆ มันทำให้เราไม่ต้องไปถ่ายทำนอกสถานที่ ที่มันควบคุมลำบากกว่ามาก สภาพอากาศเอย คนจะมามุงดูเอย เสียงรบกวนเอย เราเลยยกทุกอย่างมาไว้ในสตูดิโอหมด”

สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของรายการในเครือเวิร์คพอยท์ ที่ไม่ว่าจะรายการไหนก็ต้องสร้างภาพจำให้กับคนดูได้ คนเห็นกำแพงก็ต้องนึกถึงร้องข้ามกำแพง คนเห็นสายฟ้าก็ต้องนึกถึงปริศนาฟ้าแลบ คนเห็นลูกระเบิดมีหนามแหลมๆ ก็ต้องนึกถึงระเบิดเถิดเทิง

“คนดูส่วนใหญ่ที่ดูรายการเวิร์คพอยท์ก็จำภาพฉากรายการอะไรแบบนี้ได้ เวลาพี่ไปบรรยายตามสถานศึกษา พี่มักจะบอกว่าความสำเร็จของรายการจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวรายการ แต่มันอยู่ที่ว่าพอรายการจบแล้ว คุณยังจดจำอะไรกับตัวรายการนั้นๆ ได้บ้าง มันคือการสร้างประสบการณ์ร่วมให้กับจิตใจของคนดู”

นั่นทำให้แม้ฉากรายการจะเปลี่ยนไป แต่ใจความของการมองเห็นก็ยังอยู่ครบถ้วน

“พี่ว่าการคิดฉากรายการของเวิร์คพอยท์ยุคนี้มันมีองค์ประกอบอยู่ 3 ก้อน ก้อนแรกคือคนทำ ว่าใครเป็นคนทำ taste แต่ละคนไม่เหมือนกัน สองคือผู้ชมที่เขาจะรับได้ไหม สามคือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไป พอสามอย่างมาร่วมกันมันก็เกิดเป็นฉากรายการขึ้นมา”

อย่างฉากรายการของชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ ประตูอุโมงค์ครึ่งวงกลมกลางรายการก็มาจากวงกลมของชิงช้าสวรรค์ หรือฉากของชิงช้าสวรรค์ 2022 เอง ก็เป็นการสร้างฉากเพื่อบอกกลายๆ ว่า “เรากลับมาแล้ว” ด้วยท่าทีที่ทั้งดั้งเดิม และสมัยใหม่ แบ่งเป็นความดั้งเดิมตรงกลางฉาก กับชิงช้าสววรค์ขนาดจำลองที่หมุนอยู่กลางรายการตลอดทั้งออกอากาศ ฉากสำหรับวงดนตรีลูกทุ่งของโรงเรียนที่จำลองมาจากซุ้มรถมอเตอร์ไซค์ไต่ถังก็ยังคงอยู่ (อาจจะขยับจากฝั่งขวา มาทางฝั่งซ้ายเท่านั้นเอง) เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมรูปแบบเดิมๆ ให้คนดูเปิดใจรับ และโอบล้อมไปด้วยฉาก LED ตามยุคสมัย และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นในการส้รางสรรค์ฉากรายการโทรทัศน์ในยุคปัจจุบัน

เล่าเสริมนิดหนึ่งว่าภายในฉากก็แอบซ่อน Gimmick เอาไว้เหมือนกัน นั่นคือเสาชิงช้า และสะพานพระราม 8 ซึ่งมันเกี่ยวกับตัวรายการยังไง พี่อ้วนจึงเฉลยให้เราฟัง

“Signature สำคัญภายในฉากเลยคือเสาชิงช้า ที่แอบมีกิมมิกคือวันเสาร์ มีชิงช้าสวรรค์ 2022 นะ ก็คือมันออนวันเสาร์นี่แหละ ด้านข้างก็มีสะพานพระราม 8 เพื่อโยงกับการออดิชั่น 8 จังหวัดของเรา”

แอบซ่อนไว้อย่างคมคาย ไม่บอกใครก็ไม่มีทางรู้แน่นอน

ลาวดำเนินทราย บทเพลงดำเนินความเป็นรายการ

อีกจุดที่รายการนี้ยึดมาเป็นของตัวเองได้เต็มตัวเลย คือเพลงประกอบรายการหลัก ที่ใช้เพลงลาวดำเนินทราย เพลงไทยเดิมสำเนียงลาว ได้ยินเมื่อไหร่ก็ต้องหวนกลับมานึกถึงรายการนี้ทันที ไอเดียของมันก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก ช่วงที่ทีมงานกำลังค้นหาเพลงไทยเดิมทั่วทั้งประเทศแล้ว กลับพบแต่เพลงไทยเดิมเดิมๆ ที่ผู้คนหยิบมาใช้จนช้ำแล้วหลายต่อหลายเพลง ทั้งค้างคาวกินกล้วย, กระต่ายเต้น, ลาวกระทบไม้ ก็ล้วนแล้วแต่มีคนใช้ จนทีมฃงานมาเจอกับเพลงนี้ ที่มีจังหวะทำนองสนุกสนาน มีจังหวะกำลังพอดี ที่สำคัญคือทำนองติดหู เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงประจำรายการชิงช้าสวรรค์ไป

ซึ่งในการกลับมาอีกครั้งของชิงช้าสวรรค์ 2022 ทางรายการได้เพิ่มเติมความน่าสนใจให้กับเพลงนี้ ด้วยการเพิ่มเนื้อร้องเข้าไป ให้กลายเป็น Soundtrack ประจำรายการเสียเลย ผ่านนักแต่งเพลงแสนขยันท่านเดิมอย่างจิก-ประภาส ชลศรานนท์ (ในนามแฝง โก๋ ลำลูกกา) ในเพลงที่ชื่อว่าฉันรักเพลงลูกทุ่ง ซึ่งร้องมาสเตอร์โดย ไรอัล กาจบัณฑิต ก่อนที่ทีมงานจะเอาเพลงนี้ไปเปิดในอีเวนต์ชิงช้าสวรรค์ สัญจร เพื่อโปรโมตตัวรายการ และถูกนำมาร้องอีกครั้งผ่านแชมป์เก่าชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ ในปีก่อนหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ตุ้ม-พิชิตชัย ศรีเครือ แชมป์ออฟเดอะแชมป์ปีที่ 1 และปีที่ 2 จากโรงเรียนจ่านกร้อง, ปิ๊ก-อรวรรณ นวมศิริ แชมป์ออฟเดอะแชมป์ปีที่ 4 จากโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย, ต้อม-บุหงา​ จงเด่นกลาง แชมป์ออฟเดอะแชมป์ปีที่ 8 จากโรงเรียนเมืองคง, อาร์ม-วุฒิภัทร บุญหวา แชมป์ออฟเดอะแชมป์ปีที่ 5 จากโรงเรียนอุตรดิตถ์ และศิษย์เก่าอีกกว่า 11 ชีวิตที่ร่วมร้องในเพลงเดียวกัน เรียกว่าเป็นการรียูเนี่ยนบรรยากาศเดิมๆ กลับมาให้ผู้ชมเข้าถึงตัวรายการได้เหมือนกับที่เคยเป็นมา

พิธีกรงานวัด

รายการชิงช้าสวรรค์ประกอบไปด้วยพิธีกร 3 คน 3 บุคลิก ทั้งโน้ต เชิญยิ้ม นักแสดงตลกผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงลูกทุ่งมานักต่อนัก, แอน-สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ พิธีกรขาประจำของเวิร์คพอยท์ในยุคนั้นที่รับหน้าที่พิธีกรรายการระเบิดเถิดเทิง, เกมแก้จน และ 77-40-ก้าว และส้มเช้ง สามช่า (บุญญาวัลย์ พงษ์สุวรรณ) น้องสาวแท้ๆ ของเท่ง เถิดเทิง ผู้ก้าวเข้ามารับบทบาทพิธีกรเต็มตัวครั้งแรกที่รายการนี้

“เอาจริงๆ ตอนแรกแค่คิดว่าเป็นส่วนผสมที่เข้ากัน เป็นเคมีที่ลงตัว มีตลกแล้วคนหนึ่ง มีตัวหลักคนหนึ่ง มีคนสวยคนหนึ่ง จนไม่นานมานี้เพิ่งมาคิดได้ว่าพิธีกรมีฟังก์ชั่นของมัน

ตอนที่ทำ Thailand’s Got Talent มันจะมีไบเบิลของต่างประเทศมาให้ ว่า Judge หรือ Host ของเขาต้องเป็นคนยังไง คนไทยเวลาทำรายการทีวีจะชอบคิดแค่ว่าจะเอาใครมาเป็นพิธีกร แต่ไม่ได้ลงลึกถึงฟังก์ชั่นว่าเอาพิธีกรคนนี้มาทำอะไรในรายการ เอามาเป็นนักประชดประชัน นักขุดคุ้ย นักบุลลี่ อย่าง Judge ในรายการก็จะบอกเลยว่าคนนี้ต้องเป็นคนคาแรกเตอร์ขี้ฉุนเฉียว คนนี้เน้นน้ำตา คนนี้เน้นตรรกะ ชี้ผิดชี้ถูกของการแสดงบนเวที เราเลือกกรรมการคนนี้ไม่ใช่เพราะเขาเป็นเขา แต่เราเลือกเขาเพราะเขาต้องมาเป็นกรรมการเจ้าน้ำตา มีใครมาแข่งถ้าน่าสงสารต้องมีน้ำตาเลย”

นั่นทำให้ตำแหน่งหน้าที่ของพิธีกรรายการหลายๆ รายการของเวิร์คพอยท์ถูกเลือกใช้ด้วยฟังก์ชั่นของพิธีกรที่เหมาะสมตามแต่ละรายการ

ยกตัวอย่างเช่นรายการคุณพระช่วย พิธีกรรุ่นบุกเบิกทั้ง 3 คนอย่าง เท่ง เถิดเทิง, ธงชัย ประสงค์สันติ และทอดด์ ทองดี ต่างก็มีตำแหน่งหน้าที่ในรายการแตกต่างกัน

พี่ธงเปรียบเป็นผู้ที่อยู่กับวัฒนธรรม เป็นพี่ใหญ่ เป็นป๋าไว้คุมรายการ พี่เท่งคือคนใช้วัฒนธรรม ฉันรำไทย ฉันฟ้อนเป็น แค่ฉันไม่รู้ที่มา ฉันรำตามที่พ่อแม่บอก แต่ชีวิตจริงการรำมาจากไม่เคยรู้ เพิ่งมารู้จากรายการนี่แหละ พี่เท่งเป็นคนไว้คอยถามวิทยากรในรายการ อีกคนคือพี่ทอดด์ เป็นฟังก์ชั่นของฝรั่งที่มองสะท้อนกลับมาว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร เอาพวงมาลัยมากราบไหว้กันทำไม นั่งพับเพียบเพื่ออะไร ปวดขาจะตาย

แต่มาหลังๆ เรารู้ว่าฝรั่งไม่จำเป็น เพราะคนดูรายการก็เปรียบเสมือนฝรั่งอยู่แล้ว บางครั้งคนดูก็สงสัยเหมือนกันว่าทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร จนมายุคใหม่เราก็เพิ่มเด็กวัยรุ่นเข้าไปให้เป็นตัวแทนของคนไม่รู้มาในรายการ เพื่อมาเรียนรู้เรื่องราวจากวิทยากรอีกทอดหนึ่ง”

เมื่อมองกลับมายังฟังก์ชั่นของพิธีกรรายการแล้ว อ้วนมองว่าแอนมีฟังก์ชั่นในรายการเป็นตัวนำเรื่อง ตัวนำเสนอคอนเทนต์หลัก เป็นคนให้กำลังใจน้องๆ เวลาแพ้การประกวดในรายการ และเสริมอารมณ์ในรายการ ส่วนโน้ตเป็นคนสร้างสีสัน เพราะการประกวดคือเนื้อหาส่วนที่จริงจังไปแล้ว โน้ตคือฟังก์ชั่นที่มาช่วยทำให้รายการผ่อนคลายขึ้นบ้างจากความตึงบางอย่างจากการเล่นมุกตลก แล้วคราวนี้โน้ตจะเล่นมุกกับใคร เลยต้องมีคนมาช่วยเล่นด้วย ฟังก์ชั่นนี้ก็คือส้มเช้ง ที่จะช่วยรับส่งมุกกันตามแนวทางของตลก พอเปลี่ยนตัวนำเรื่องจากแอน-สิเรียม เป็นจุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา หรือแพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ตำแหน่งของฟังก์ชั่นในรายการก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปร

เข้าตา, กรรมการ

อีกจุดที่สำคัญไม่แพ้กันคือบุคคลที่ชี้ขาดการตัดสินวงดนตรีลูกทุ่งในรายการ ที่จำเป็นต้องตัดสินการประกวดได้อย่างครบทุกแง่มุม ทีมงานก็คัดเลือกกรรมการในช่วงชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ด้วย 3 ฟังก์ชั่นเช่นเดียวกันกับการคัดเลือกพิธีกรให้เข้าตากรรมการ

“กรรมการ 3 ท่าน ก็มี 3 ฟังก์ชั่น คือตัดสินเรื่องการร้อง การโชว์ และพาร์ทดนตรี พอเป็นสายประกวดวงดนตรีลูกทุ่งเลยเริ่มที่ฟังก์ชั่นแดนเซอร์ก่อน เลยไปเจอครูเทียม-ชุติเดช ทองอยู่ เขาเป็นแดนเซอร์พุ่มพวง ดวงจันทร์เก่า ข้อดีคือเขาเป็นคนจริง ของจริง พูดฉะฉาน ไม่กลัวใคร ตัดสินเด็ดขาด ฉันให้คุณชนะ คุณก็ต้องชนะ ไม่มีการมารักพี่เสียดายน้อง กล้าได้กล้าเสีย นี่คือหัวใจของกรรมการเลย ถ้าการตัดสินมีเหตุและผลชี้ขาดได้แม่นยำ ทุกอย่างจะดี

อีกคนคือครูร้อง ตอนแรกเป็นครูอีกท่านหนึ่ง แต่พอถึงวันถ่ายทำเกิด Accident ครูเทียมเลยไปลากครูสลา คุณวุฒิ มาจากอุบลราชธานี เขาเป็นคนเบื้องหลังแกรมมี่โกลด์คนหนึ่งที่สำคัญ 

ส่วนอีกคนคือครูดนตรี ยุคแรกเป็นครูแดน บุรีรัมย์ พอมาชิงช้าสวรรค์ 2022 ก็เลยมาคิดกันใหม่ว่าจะเป็นใครดีที่เป็นตองอูแห่งครูดนตรี ก็เลยได้ครูหนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม ที่ชั่วโมงนี้เป็นครูดนตรีที่เด็กยอมรับ และการคอมเมนต์ของครูหนึ่งเป็นการคอมเมนต์ในทางของคนดนตรีจริงๆ อีกอย่างปีนี้เราก็เชิดชูครูผู้ควบคุมเลย ว่าผลงานบนเวทีไม่ใช่แค่เด็ก 100% ยังมีครูเบื้องหลังอีก เราก็ชมไปถึงครูเลย “ตรงนี้คุณครูคิดได้ดีมาก” “ตรงนี้หนูคิดเองใช่มั้ยลูก” พูดกันตรงๆ เพราะการคอมเมนต์กันตรงๆ ทำให้คนเข้าแข่งขันมันได้แก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นได้

อย่่างตอนเราไปทำอีเวนต์ชิงช้าสวรรค์ สัญจร ครูหนึ่งก็คอมเมนต์ตอนนั้นด้วย ติกันตรงๆ เลย ทำไมใช้คีย์นี้ ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นคีย์นั้น มีบางครั้งจะเดินไปช่วยเด็กบนเวทีเลย เราก็บอกว่าไม่ได้นะครูหนึ่ง (หัวเราะ) การทำอีเวนต์สัญจรนั้นมันเลยเหมือนการทำเวิร์คช็อปให้เด็กไปด้วย เพื่อให้เด็กมันได้แก้ไข พอมาบนเวทีออกอากาศจริงๆ เด็กจะได้ทำได้ดีขึ้น”

ทั้งหมดนี้คือชิ้นส่วนที่สำคัญของความเป็นรายการชิงช้าสวรรค์ ที่เรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ “โปรดักชั่นรายการ” ที่แทนค่าสมการได้เป็นค่า y

จากสมการการสร้างรายการของจิก-ประภาส ที่ว่า “x+y=z”

จึงแทนค่าได้ว่า “เพลงลูกทุ่ง” + “โปรดักชั่นรายการ” = “รายการชิงช้าสวรรค์” รายการโทรทัศน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาแสดงความสามารถของเพลงลูกทุ่งได้มาถึงขวบปีที่ใกล้แตะเลข 20 ปีแล้ว

ชิงช้าสวรรค์ THE MULTIVERSE OF HAPPINESS

หลังจากกระแสความเปลี่ยนแปลงบนจอทีวี เสาหนวดกุ้งถูกกระตุกให้เปลี่ยนเป็นกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ที่เต็มไปด้วยสถานีโทรทัศน์ใหม่ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือช่องทางใหม่ของเวิร์คพอยท์เอง อย่างการกำเนิดขึ้นของช่องเวิร์คพอยท์ทีวี ในปี พ.ศ. 2557 ทำให้ทางช่องต้องสร้างสรรค์รายการมาเติมให้เต็มผัง หนึ่งในนั้นคือรายการประกวดร้องเพลงที่ตั้งต้นบรรยากาศเดิมมาจากรายการชิงช้าสวรรค์ แต่ปรับรูปแบบการแข่งขันจากระบบทีม เหลือเป็นเพียงการแข่งเดี่ยวเท่านั้น ในรายการที่ชื่อว่าชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ ที่มีรูปแบบการแข่งขันอย่างเปิดกว้างให้กับทุกคนที่รักในการร้องเพลงลูกทุ่ง ไม่มาอายุมาจำกัด ไม่มีเรื่องเพศมีกำหนด ไม่จำกัดการศึกษาและอาชีพการงาน ทุกคนล้วนเดินทางมาสมัครเพื่อร้องเพลงต่อหน้าคณะกรรมการอย่าง โน้ต เชิญยิ้ม, ฝน ธนสุนทร, ครูสลา คุณวุฒิ, ครูเทียม ชุติเดช และสุนารี ราชสีมาได้ทุกคน ซึ่งจุดนี้นับเป็นการต่อยอดคอนเทนต์เดิม ไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ เพื่อขยายความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบมากยิ่งขึ้นในสมรภูมิรายการโทรทัศน์ที่กำลังก่อตัวในช่วงทีวีดิจิทัล

โดยตัวรายการได้เพิ่มลูกเล่นของความเป็นฟอร์แมต ด้วยคันโยกตัดเสียงทำนอง และคันโยกตัดเสียงร้อง เพื่อให้กรรมการได้ยินเสียงร้องของผู้แข่งประกวดเพียวๆ ก่อนจะตัดเสียงร้องออกเมื่อฟังจนพอใจ และสามารถตัดสินชี้ขาดได้แล้ว

“ตัวคันโยกมันถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างความเป็นฟอร์แมตให้รายการ เผื่อเอาลิขสิทธิ์ไปขายให้กับต่างประเทศ เหมือนในรายการเพลงเอกที่มีรอบเปิดม่าน ร้องเพลงให้ผ่านกรรมการ 2 จาก 4 คน ม่านที่กำลังปิดลงมาก็จะเปิดขึ้น ผ่านเข้ารอบ เพราะเวลาคนที่เขาซื้อขายรายการกัน เขาซื้อเพราะฟอร์แมตรายการ สุดท้ายคอนเทนต์มันจะถูกไปดีไซน์ตามรสนิยมแต่ละประเทศอยู่แล้ว”

อีกจุดเด่นที่สำคัญของรายการตระกูลไมค์ทองคำ คือพิธีกรหลักที่ยืนระยะมาเกือบ 10 ปีอย่างพัน-ภานุพันธ์ ครุฑโต หรือชื่อในวงการว่า พัน พลุแตก ที่มาช่วยเสริมความเข้าถึงง่ายให้กับตัวรายการตระกูลนี้ได้เป็นอย่างดี

พี่พันเป็นพิธีกรที่เป็นใช้ฟังก์ชั่นของส่วนเติมเต็ม เขาเป็นพิธีกรที่ไม่ได้โดดเด่นฉูดฉาดมาก เพราะตัวคอนเทนต์หลักมันใหญ่ ไม่ต้องถึงขั้นแบบพี่ตา-ปัญญา หรือไม่ต้องเอาพิธีกรที่พูดเก่ง พูดเยอะ ฉะฉานมากเกินไปมาเป็นพิธีกร เพราะลูกล่อลูกชนทางตลกระหว่างพิธีกรกับพี่โน้ตเขาจะโดดเด่นอยู่แล้ว คนอื่นๆ ในรายการก็อาจจะดรอปลงไป เขาเป็นคนที่พาชาวบ้านเข้ารายการก็ได้ เชื่อมเนื้อหารายการทั้งหมดเข้าด้วยกันไว้ ไม่ดูใหญ่เกินกรรมการ เกินความยิ่งใหญ่ของฉากรายการ” อ้วนเล่าเสริม

และด้วยการนำเสนอเรื่องราวของผู้เข้าประกวด ความเป็นชาวบ้านของตัวรายการ และความอมตะของเพลงลูกทุ่งที่ผู้เข้าประกวดขับร้องกันในแต่ละครั้ง ทำให้รายการนี้มีส่วนผสมที่ลงตัว ยืนระยะรายการมาได้นานใกล้ๆ กับระยะเวลาที่ช่องดิจิทัลทีวีที่ชื่อว่าเวิร์คพอยท์ เกิดขึ้นมา อีกทั้งยังสามารถแตกหน่อรูปแบบรายการใหม่ๆ ภายในสถานีได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะ ไมค์ทองคำ 3 ฤดู, ไมค์ทองคำเด็ก, ไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร, เพชรตัดเพชร, เพชร 300, เพชรคู่เพชร 300, เพชรตัดเพชรแท็กทีม และอีกมากมายหลายรายการ

ส่วนตัวรายการหลักอย่างชิงช้าสววรค์เอง ก็ถูกโยกย้ายกลับมายังสถานีโทรทัศน์บ้านเกิดในปี พ.ศ. 2558 ก่อนจะถึงจุดอิ่มตัวของรูปแบบรายการเดิม โรงเรียนที่เข้ามาแข่งขันภายในรายการก็หน้าเดิมๆ แชมป์ประจำรายการก็เปลี่ยนมือกันไปมาในกลุ่มโรงเรียนที่เข้าแข่งขันเดิมๆ เช่นเดียวกัน รูปแบบรายการเดิมจึงถูกยุบไปในปี พ.ศ.2559

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปเลย คือบรรยากาศการร้องเพลงในรายการ

มัลติเวิร์สของรายการแตกหน่อจากชิงช้าสวรรค์เดิมจึงผลิบานอยู่ในสถานีมาอย่างยาวนาน และไม่มีทีท่าว่าจะซบเซาลงเลย

ชิงช้าสวรรค์ 2022 : THE RETURN OF ชิงช้าสวรรค์

อ้วนนิยามความเป็นรายการชิงช้าสวรรค์เอาไว้กับเราว่า “ชิงช้าสวรรค์เป็น Channel เป็นช่องทางที่ให้โอกาสกับโรงเรียนแต่ละแห่งที่มีวงดนตรีของเขาอยู่แล้วมาโชว์กัน เมื่อก่อนเขาอาจจะเคยโชว์งานวัด โชว์งานมหกรรมระดับจังหวัด ระดับภาค เราก็ให้โอกาสเขามาออกทีวีให้คนทั่วประเทศเห็นมากขึ้น”

เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น บรรยากาศรายการทีวีไทยดูเงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อสบโอกาสที่กลุ่มผู้บริหารพูดคุยกันถึงรายการใหม่ที่จะสรา้งสรรค์ขึ้น อ้วนจึงไม่ลังเลที่จะเสนอรายการชิงช้าสวรรค์ให้กลับมาทำอีกครั้ง ในปีพ.ศ. 2565

“เมื่อก่อนพี่รับตำแหน่งหลักที่รายการคุณพระช่วย ทีมงานข้างๆ ก็กำลังปลุกปั้นรายการใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน ชื่อว่า ชิงช้าสวรรค์ นี่แหละ ตอนนั้นเรายังไม่ได้ทำ เป็นอีกทีมมาทำก่อน แต่ระหว่างนั้นเราก็ได้แวบๆ เข้าไปช่วยบ้างประปราย

ช่วงหนึ่งที่ได้ช่วยเยอะคือช่วง โอ้โฮบางกอก ทีมครีเอทีฟทุกทีมในเวิร์คพอยท์จะมาช่วยกันทำ ช่วยกันถ่าย ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่เราจะถือไมค์ แล้วก็คุมเด็กๆ ที่มาถ่ายรายการตั้งแต่ลงจากรถทัวร์หน้าสตูดิโอ เด็กเขาก็จะเซ็ตฉาก ทำนู่นทำนี่กัน เราก็เข้าไปสัมภาษณ์ เล่นมุกกัน เป็นเหมือนช่วง Behind The Scene ของน้องๆ นักเรียน ก่อนจะเข้ามาแข่งวงดนตรีลูกทุ่งกัน ซึ่งในช่วงหลักของรายการ ทีมที่ผลิตเขาก็จะควบคุมเนื้อรายการกันข้างใน ช่วงเบื้องหลังแบบนี้ก็ให้ทีมอื่นมาช่วย ถ่ายทำเสร็จก็มาคุมตัดเอง

ช่วงนั้นการทำงานมันส์มาก Producer คนนั้นคุมวงดนตรีโรงเรียงหนึ่ง คนนี้คุมอีกโรงเรียน บุกเข้าห้องแต่งตัวน้องๆ ตามไปถ่ายอิริยาบทต่างๆ ของเขา หรือให้เขาเล่นมุกอะไรเสี่ยวๆ ใส่กล้อง เด็กเขาก็จะขิงกัน อวดกันเอง มันเลยกลายเป็นว่าทั้งฝั่งเราเอง เราก็เหมือนทำงานแข่งขันในช่วงนี้นี่แหละ “มึง กูได้มาแล้ว 3 มุก” “กูยังไม่ได้สักมุกเลย”

มากไปกว่านั้นเราก็ได้รู้จักกับน้องๆ มากขึ้น มีบางช่วงที่เราต้องไปถ่ายทำที่โรงเรียนของเขาเอง ก็ได้รู้จัก สนิทสนมกันมากขึ้นไปอีก จนคนในเวิร์คพอยท์เรียกพี่ว่า “อ้วน สังคมบันเทิง” กลายเป็นฝ่ายต้อนรับน้องๆ เวลามาถ่ายทำที่สตูดิโอไป” อ้วนเล่าถึงความทรงจำของตัวเองในช่วงเริ่มเป็นพนักงานในเวิร์คพอยท์ และได้คลุกคลีกับรายการนี้มาพอสมควร และนั่นทำให้อ้วนคิดถึงบรรยากาศความสุข ความสนุกสนานของรายการนี้ และมองว่าปีนี้เป็นวาระที่เหมาะสมที่เขาจะลองทำมันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

และนั่นคือการกลับมาอีกครั้งของรายการชิงช้าสวรรค์ 2022

จากเดิมที่อ้วนมีหน้าที่เพียงช่วยถ่ายทำช่วงเล็กๆ อย่างโอ้โฮบางกอก การกลับมาของรายการนี้ในรูปแบบใหม่ เขารับหน้าที่เป็นแม่งานทั้งหมด ทำอีเวนต์ชิงช้าสวรรค์ สัญจรเอง วางแผนการถ่ายทำ ควบคุมการผลิตด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะเขาเชื่อว่าการกลับมาทำรายการนี้เป็นการกลับมาของการมอบโอกาสดีๆ ให้กับวงดนตรีลูกทุ่งโรงเรียนที่ต้องการจะปล่อยของ และให้ผู้ชมได้เห็นการประกวดแข่งขันกันของเด็กๆ ในยุคนี้กันมากขึ้น

“รายการทีวียุคโควิดมันขาดกิจกรรมแบบนี้ มันขาดการประกวดของเด็ก ขาดเวทีให้เด็กได้มาแสดงออกเหมือนรายการนี้ มีแต่คนร้องเดี่ยวแข่งกันเต็มไปหมดเลย มันไม่มีรายการไหนมาดูเด็กเล่นกันเองเป็นกลุ่ม ได้เห็นเด็กๆ เล่นเขินๆ พูดได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่งตัวคนแก่ก็ไม่เหมือนขนาดนั้น แต่มันเป็นความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็ก

พี่จิกบอกเราว่ามันเป็นความเรียลลิตี้ มันเป็นของจริง เราอยู่กับคุณพระช่วยสำแดงสดที่ทุกอย่างต้องเนี้ยบ เล่นละครต้องจริงจัง พอมาเจอของเด็กเรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันดูจริง อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เพราะสุดท้ายความสนุกคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในรายการ”

หลังจากผ่านการพิจารณา เขาและทีมงานจึงปลุกปั้นความเป็นตัวรายการขึ้นมาใหม่ในแนวทางเดิมอย่างที่ผู้ชมคุ้นเคย เพิ่มเติมไปด้วยความจริงใจ และตรงไปตรงมาในทุกๆ กระบวนการ

“ก่อนจะเปิดตัวพิธีกรว่าเป็นแพนเค้ก-เขมนิจ ทีมงานยังคิดกันอยู่เลยว่าต้องทำสัญญาก่อนแข่งขันมั้ยว่าห้ามบอกผลก่อน และห้ามเปิดเผยว่าแพนเค้กเป็นพิธีกรอะไรแบบนี้ เราก็บอกว่าไม่ อ้วนทำชิงช้าสวรรค์ สัญจรหลังโควิด เพื่อไปลองดูว่ายังมีวงดนตรีโรงเรียนอยู่มั้ย

แล้วหลังจากได้โรงเรียนที่ผ่านเข้าไปแข่ง เราก็บอกกันแฟรงค์แฟรงค์เลยว่า คุณแข่งเสร็จจะสปอยล์ผลการแข่งขันก่อนก็ได้ คุณจะดูเท่ ดูเก่งนะ แต่คนดูรายการดูคุณแล้วจะสนุกน้อยลง เพราะเขารู้ผลก่อน สู้มาดูพร้อมกัน สนุกพร้อมกันมั้ย สรุปวันถ่ายทำก็คือไม่มีใครพูดอะไรก่อนรายการออกอากาศเลยสักคน ไม่มีใครรู้ก่อนเลยว่าแพนเค้กมาเป็นพิธีกรใหม่ อันนี้คือความน่ารักของโรงเรียนที่มาแข่งในยุคนี้ เราไม่ต้องมีกรอบไปกำหนด แค่เอาความจริงใจให้เขาว่ารายการนี้เราทำให้คุณนะ”

อีกเรื่องที่เขาให้ความสำคัญคือเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขในหลายๆ จุด ไม่ว่าจะเรื่องกติกาบางอย่างที่บีบคั้นผู้เข้าประกวดเกินไป บางโรงเรียนเตรียมเพลงมา แต่ติดปัญหาลิขสิทธิ์เพลงบ้าง ติดเรื่องแดนเซอร์ไม่มีบ้าง ในปีแรกๆ รายการจึงมีข้อกำหนดว่าในโชว์จะต้องมีเครื่องดนตรีกี่ชิ้น ต้องมีแดนเซอร์กี่คน ซึ่งมันกำหนดแคบเกินไป

มาในปีนี้รายการจึงมีข้อกำหนดกลางๆ ไปเลยว่าบนเวทีต้องมีผู้เข้าประกวด 30 ชีวิต จำแนกเป็นวงดนตรีกี่คน แดนเซอร์กี่คนก็ได้ ในระยะเวลาการแสดง 10 นาที หากใช้เวลาต่ำกว่านั้นก็จะมีการหักคะแนน โชว์กี่เพลงก็ได้ในกรอบเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นรายการยังกว้านซื้อลิขสิทธิ์เพลงลูกทุ่งไว้กว่า 300 เพลง เพื่อใช้ในการประกวดอีกด้วย

หรือเรื่องของการจับฉลากแข่งขันในรายการ ซึ่งเป็นระบบการสุ่ม มาในปีนี้ก็ไม่ได้ทำในรูปแบบนั้น หากแต่ใช้รูปแบบที่จริงใจ และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่ผู้เข้าประกวดที่ตั้งใจโชว์ในรอบออดิชั่น

“พอเราแข่งขันทั่วประเทศ เก็บคะแนนเสร็จเราก็เอาผลมารวมกัน เรียงเป็นลำดับ แล้วก็ไม่ได้ให้จับฉลากอะไรทั้งสิ้นนะ ให้โรงเรียนที่ได้อันดับสูงๆ จิ้มเลือกเลยว่าอยากเจอใคร โรงเรียนไหนใน 20 โรงเรียน ผมให้เกียรติคุณที่คุณทุ่มเทวันออดิชั่นไง ตอนนั้นคุณเต็มที่ คนที่ไม่ได้เต็มที่เท่าคุณ คะแนนน้อยกว่าคุณอาจจะทำคะแนนได้ดีกว่าคุณในรายการ แต่อย่างไรเสียนี่คือโอกาสของคุณที่คุณทำเต็มที่กับเราตั้งแต่รอบออดิชั่น แถมยังได้สิทธิ์เลือกด้วยว่าจะแข่งวันไหน จะเหยียบเวิร์คพอยท์กี่โมง มันเลยไม่มีดราม่า เพราะทุกอย่างโรงเรียนเลือกกันเองหมด เราทำตารางให้หมดเลย มันเลยเป็นเหมือนความสนุกของเขาเองในกติกาใหม่”

ช่วงแรกของการกลับมา อ้วนลองโทรไปทาบทามโรงเรียนมาประกวดกัน พบว่าทุกโรงเรียนบอกว่าโรงเรียนตัวเองไม่มีสมาชิกวงดนตรี และกลัวการแข่งขัน จนได้ลองไปชิงช้าสวรรค์ สัญจรครั้งแรก อ้วนคิดภาพว่าต้องมีโรงเรียนเฮโลกันมาสมัคร ผลคือมีอยู่ 3 โรงเรียน เขาเองก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรคนถึงมาสมัครกันน้อย

แต่หลังจากนั้นไม่นานคำตอบก็ปรากฏ แต่ละโรงเรียนต่างดูเชิงกันไปมา ว่าจะเอาอะไรมาโชว์บ้าง ทิศทางการแสดงจะเป็นไปในรูปแบบไหน

“ตอนไปสัญจรที่ขอนแก่น ไม่มีโรงเรียนจากขอนแก่นมาแข่งเลย แต่พอไปสัญจรที่ชลบุรี กลับมาโรงเรียนจากขอนแก่นมาแข่ง เราคิดว่าเขาคงยังไม่ไว้วางใจว่าพอมาแข่งแล้วจะยังไงต่อ เขาค่อนข้างกลัวว่าจะเจออะไรบ้าง แต่พอเขามาเห็นว่าเป็นเราเขาก็ดูวางใจขึ้น มันเลยสนุกตรงนี้ เพราะเขาเห็นผลงานกันมาก่อนตอนสัญจร ถ้าถูกจับมาเจอกันก็ได้เห็นฝีมืออีกฝ่ายมาประมาณหนึ่งแล้ว

พอเขาเห็นตัวรายการจริง โรงเรียนต่างๆ ก็เริ่มถามหาแล้วว่าชิงช้าสวรรค์ 2023 จะมาเมื่อไหร่ เปิดรับสมัครตอนไหน โรงเรียนเก่าๆ ก็เริ่มกลับมา อันนี้เป็นแรงกระเพื่อมของการกลับมาอีกครั้งในยุคนี้ เพราะเขาเห็นตัวอย่างโชว์จากโรงเรียนในเทปแรกๆ ที่เขามาพร้อมคอนเทนต์นำ โปรดักชั่นก็ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย แต่น่าสนใจ เน้นการเล่าเรื่องที่ดี มันกลายเป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนเล็กๆ สนใจการประกวดครั้งนี้มากขึ้น

โรงเรียนที่ใหญ่มากๆ สมัยนี้ จะทำวงโยธวาฑิตแล้วประกวด เพื่อทำผลงานให้มีชื่อเสียง และได้เลื่อนขั้นในการทำงานต่อไป ปีหนึ่งมีประกวดครั้งหนึ่ง แต่กลับกันโรงเรียนเล็กๆ ทำแบบนั้นได้ยากมาก ถ้าเป็นครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มันมีการแข่งขัน การประกวดทั้งปี มีสัปดาห์วิทยาศาสตร์ด้วย แต่มันไม่มีสัปดาห์ดนตรีไง เวทีของเราเลยเหมือนเป็น Channel ให้โรงเรียนได้มีพื้นที่ในการแสดงออก สังเกตดูว่าบนเวทีเราจะมีช่วงให้เด็กบรรยาย เราปล่อยให้เด็กพูดไปเลย ผอ.เป็นใคร ใครเป็นคนคุมวง เอาให้สุดเลย เล่าให้เต็มๆ แล้วรอบต่อไปเราถ่าย VTR โรงเรียน เอาโดรนไปบินโปรโมตโรงเรียนให้ด้วย” อ้วนเล่าเสริมถึงความทุ่มเทที่เขาและทีมงานร่วมกันทำขึ้นเพื่อให้โรงเรียนกล้ากลับมาปล่อยของกันผ่านการโชว์วงดนตรีลูกทุ่งของเด็กๆ ในสังกัดตัวเอง

จนถึงตอนนี้รายการชิงช้าสวรรค์ก็ออกอากาศมาได้ครบ 1 รอบการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อย และกำลังก้าวเข้าสู่การแข่งขันในรอบที่สอง ที่เรียกว่ารอบ ร้อง เล่น เต้น ที่จะทำให้ผู้ชมได้เห็นการแข่งขันวงดนตรีลูกทุ่งในรูปแบบดั้งเดิมของรายการชิงช้าสวรรค์ในเทปแรกสุด ผ่านการนำเสนอในยุค 2022 ที่งานโปรดักชั่นขยับขยายแบบก้าวกระโดด และเป็นยุคที่ผู้ชมล้วนให้การตอบรับที่ดีกับการกลับมาอีกครั้งของรายการโทรทัศน์รูปแบบเดิมๆ อย่างที่ผู้คนคิดถึงไม่ต่างจากอ้วนเอง “เราคิดว่าการดูชิงช้าสวรรค์ ดูครั้งแรกเพื่อเสพความบันเทิง ฟังเพลงเพราะๆ ว่ากันไปในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง นั่นคือหัวใจ เรื่องทื่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือมาดูกันหน่อยว่ากว่าจะได้การแสดงแต่ละโชว์มันยากแค่ไหน เราไม่ได้นำเสนอแค่โชว์แล้วจบไป เรานำเสนอความทุ่มเทของคุณครู นำเสนอกระบวนการของแต่ละโรงเรียนว่าตั้งใจขนาดไหน ดูความเสียสละ มีน้ำจิตน้ำใจ ความทุ่มเทของคนที่รักในบางอย่างร่วมกัน อยากให้มาดูแล้วซึมซับความสุขแบบโคตรมีความสุขจากเรื่องที่สองให้มากกว่าเรื่องแรกด้วย เพราะเราพยายามเก็บมวลวันถ่ายทำไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้รายการดูสนุกที่สุดสำหรับทุกคน”

5 รายการ 5 หมวดหมู่ ของ Workpoint ที่คนวงในแนะนำให้ดู !!

ตลอดระยะเวลา 33 ปี “เวิร์คพอยท์” ถือเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ขยับขยายความบันเทิงในวงการโทรทัศน์ไทยได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ถ้าจะมองหาความอินเทรนด์ นำกระแส และสร้างมุมมองที่น่าสนใจในรายการโทรทัศน์ เราว่ารายการหลายๆ รายการในเครือยุ้งข้าวก็ตอบโจทย์หลายๆ ข้อข้างต้นได้

ประจวบเหมาะกับครั้งที่เราไปสัมภาษณ์ “อ้วน-จิรศักดิ์ ก้อนพรหม” รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถึงเรื่องราวการกำเนิดรายการ “ชิงช้าสวรรค์” สู่การกลับมาของ “ชิงช้าสวรรค์ 2022” ที่ทำให้คนไทยได้บันเทิงไปกับโชว์จากน้องๆ นักเรียนได้อีกครั้งหนึ่ง

เราจึงพ่วงคำถามที่น่าสนใจว่าในฐานะของคนวงใน ภายใต้ร่มเงาของยุ้งข้าวนี้ เขาจะแนะนำรายการอะไรในเครือ ตามหมวดหมู่รายการเหล่านี้บ้าง

รายการข่าว – คุยทะลุดราม่า

“เราชอบปอเปี๊ยะ (กาลเวลา เสาเรือน) เรารู้จักเขาในแง่ของความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้า และอยู่ในร่องในรอย ในที่นี้คือในกรอบของจรรยาบรรณสื่อ และกรอบที่กำลังพอดีไม่ได้กล้าแบบดันทุรังจะเอาทุกอย่าง

เขาเป็นคนมีความกล้าในการขุดคุ้ยข้อมูล เพราะเคยเห็นตอนเขาลงพื้นที่อย่างในรายการสดจากที่จริง เขาเป็นคนไฟแรง มีพัฒนาการ เลยชื่นชมผลงานเขา แนะนำเลยคนนี้ แล้วก็อยากให้ผู้ชมช่วยแนะนำด้วย ชอบไม่ชอบเขายังไง เขาจะได้ปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก เพราะเขากำลังทะยานไปข้างหน้า”

รายการเกมโชว์ – ร้องข้ามกำแพง

“เป็นคอนเทนต์ของเพื่อนเรา ที่เราก็ยังคงชอบอยู่ Key Success ที่ทำให้รายการนี้ประสบความสำเร็จ เราว่าข้อหนึ่งคือดูแล้วสนุก ข้อสองคือมันจริง ข้อสามคือมันกระตุ้นต่อมเผือก สังเกตดูรายการไหนกระตุ้นต่อมเผือกคนจะสนใจ

อย่างเวลาเราทำรายการเพลงเอกปกติ มันได้ความสนุก กับความฟิน ไม่กระตุ้นต่อมเผือก พอทำเพลงเอกนอกรอบ คนก็จะมาทายว่าใครกันที่ร้องเพลงอยู่หลังม่านตอนนี้ เปิดม่านมาเจอคนนั้นคนนี้ มันได้ จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้รายการทีวีมันไม่ตาย เพราะมันทำให้คนไม่ได้อยากจะดูย้อนหลังเสมอไป ต้องมารอดูสดเท่านั้น เพราะเดี๋ยวจะคุยกับคนที่ดูรายการนี้เหมือนกันไม่รู้เรื่อง ดูช้าก็เดี๋ยวโดนสปอยล์

อีกจุดที่น่าสนใจ อย่าง The Mask Singer ที่เราซื้อจากเกาหลีใต้มา คนทั้งโลกไม่รู้ว่าเขาคือใคร แต่ร้องข้ามกำแพงคนทั้งโลกรู้ว่าเขาคือใคร มีอยู่คนเดียวที่ไม่รู้คือคนที่อยู่อีกฟากของกำแพง มันมีความขิงกันบางอย่างในแง่ของการรู้กับไม่รู้”

รายการวาไรตี้ – ซูเปอร์หม่ำ

“ชั่วโมงนี้ผมยังยกให้เขา ผมชอบน้าหม่ำในการจัดรายการวาไรตี้อย่างหนึ่ง เขายังคงเป็น King of Smile อยู่เสมอ อีกอย่างคือใครที่เคยถูกสัมภาษณ์ที่ไหนมาบ้างแล้วก็ตาม มาถูกน้าหม่ำสัมภาษณ์จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย”

ซีรีส์ / ซิตคอม / ละคร – พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

“เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ติดตรารึงใจอยู่เสมอเลย เวอร์ชั่นนี้มัน Success ด้เพราะเราเอามาตัดต่อใหม่ แก้ CG ใหม่ เอามาเล่าใหม่ เพลงเพลิงทำใหม่หมดเลย อันนี้คือเอกลักษณ์ของ Workpoint เลย ไม่ว่าเราจะซื้อลิขสิทธิ์อะไรเข้ามา เราจะเอามายำใหม่ให้มันเข้ากับคนไทยมากที่สุด

อย่างเรื่องนี้เรารู้เลยว่าเคมีของคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เข้ากันกับหนังแขก เราตัด Scene เต้นออกไปเยอะมากเลย เพื่อให้เข้าถึงแก่นเรื่อง ขึ้นแนะนำตัวละครเพื่อให้คนดูตามได้ คนดูก็อินกับเรามาก อย่าง Scene พระพุทธเจ้าปรินิพพาน คนดูยกมือไหว้เลย เราทึ่งมาก ซึ่งจะเกิดบรรยากาศแบบนี้อีกในหลายๆ เรื่องที่เรากำลังผลิตอยู่”

ประกวดร้องเพลง – ชิงช้าสวรรค์ 2022

“ข้อนี้ขออวยตัวเอง เพราะไม่อยากให้พลาดกัน มันเป็นรายการของการร่วมมือร่วมใจกันจากทุกฝ่าย ถ้าไม่ใช่ Workpoint ทำไม่ได้ บอกเลย ใครจะมายอมเปิดสตูดิโอพร้อมกัน 4 สตู ให้ผอ. โรงเรียนมานั่งห้องแอร์ มีระบบการถ่ายทำที่รองรับได้ผู้คนที่มาแข่ได้อย่างดี ดูเถอะ อยากให้เรตติ้งดีๆ ในทีวี”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า