fbpx

คุยกับชรินทร ราชุรัชต ช่างภาพหญิงเจ้าของรางวัล Open Format จาก World Press Photo

World Press Photo องค์กรอิสระที่คอยสร้างพื้นที่ให้กับช่างภาพทั่วโลก และในทุกๆ ปี World Press Photo ก็จะมีการจัดประกวดภาพถ่ายจากทั่วโลกและหลากหลายแขนง ซึ่งในปีล่าสุดได้มีการเปิดหัวข้อใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือ Open Format เป็นหัวข้อที่ผู้แข่งขันสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายด้วยวิธีการที่หลากหลาย

วันหนึ่ง หน้าโซเชียลมีเดียของผู้เขียนได้มีโพสต์หนึ่งปรากฎขึ้น เป็นข่าวร้อนๆ ว่าด้วยเรื่องช่างภาพหญิงคนหนึ่ง ที่ไปคว้ารางวัลมาจากเวทีประกวดภาพข่าวสุดยิ่งใหญ่อย่าง World Press Photo ในหัวข้อ Open Format และเจ้าของรางวัลนั้นไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือไพลิน-ชรินทร ราชุรัชต ที่หลายคนอาจคุ้นเคยเธอจากการเป็นช่างภาพแฟชั่นให้กับ Cheeze Magazine และผันตัวมาเป็นช่างภาพแนว Conceptual Art ที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ตรงไปตรงมาแต่ก็มีเลศนัยอย่างงาน Otaku, (2011) หรือลูกคุณหนู, (2013)

โดย World Press Photo ปีล่าสุด ชรินทรหยิบงานที่ชื่อว่า ‘The Will to Remember’ ที่ว่าด้วยเรื่องความทรงจำของ 6 ตุลาที่ถูกลืมเลือน มรดกทางความคิดจากรุ่นสู่รุ่น และเหตุแห่งการนองเลือด (ใครเห็นภาพแรกของโปรเจกต์มีซู้ดปากทุกคน) และนอกจากเนื้อหางานที่น่าสนใจ กรรมวิธีในการผลิตงานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเธอผสานการซ่อมเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นอย่าง Kintsugi เข้ากับภาพถ่ายยุค 6 ตุลากระทั่งภาพการชุมนุมในปัจจุบันที่ฉีกขาด จนกลายเป็นงานที่แหลมคมอย่างสุดๆ

ด้วยวาระที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายในเชิงการเมืองการปกครองอย่างมาก ผู้เขียนจึงจะพาท่านผู้อ่านไปคุยกับไพลินตั้งแต่ช่วงแรกของเธอในการเป็นช่างภาพแฟชั่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานเชิงทดลองและวิพากษ์สังคม กระบวนการทำงานของ The Will to Remember รวมไปถึงมุมมองของเธอที่มีต่อการทำงานศิลปะในสังคมไทย

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

อัญมณีที่ยังไม่ถูกเจียระไน

เริ่มเข้าสู่วงการถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไหร่

จริงๆ เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ตอนเรียนมหา’ลัย ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย คิดว่าอยากทำแฟชั่นแล้วก็อยากถ่ายภาพผู้หญิงสวยๆ เลยหันมาเรียนเอง ไปเรียนจากพวกรุ่นพี่ที่เขาเป็นตากล้องอยู่แล้ว พอเรียนจบมหา’ลัยก็ฝึกเอง ไปตามๆ รุ่นพี่ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนศิลปะมาจากมหา’ลัยเลย จริงๆ เราเรียนม.สุโขทัย เรียนมาทางไปรษณีย์ สารสนเทศ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้อะไรจนถึงตอนนั้น พอเรียนจบก็มาทำหนังสือ Cheeze มาถ่าย Steet Fashion

บรรยากาศการทำงานแฟชั่นในตอนนั้นเป็นอย่างไร

มันก็สนุกดี เหมือนเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมป็อปกับเด็กวัยรุ่น กับการแต่งตัวของเด็กในช่วงนั้น เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการจัดไฟ การถ่ายงานในสตูดิโอ ตอนแรกเราก็สนุกดี เหมือนได้เที่ยวเล่นทุกวันไม่ต้องคิดอะไรมาก

วันนี้การถ่ายภาพเริ่มมีคำว่า Consent เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ การถ่ายภาพบุคคลสมัยนั้นมันเป็นอย่างไรบ้าง

เหมือนช่วงแรกๆ เลยที่ยังไม่มีคนรู้จัก คนก็ไม่ค่อยให้ถ่ายเหมือนกันนะ เหมือนตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าการถ่ายสตรีทแฟชั่นมันเป็นยังไง แล้วช่วงนั้นมันก็ยังไม่ได้มี Instragram สมัยนั้นคนก็จะเปิดเผยแฟชั่น เปิดเผยตัวตนกันบนหนังสือ Cheeze ส่วนสมัยนี้มันก็มี Instragram ทุกคนมีพื้นที่ แต่พอคนเริ่มรู้จักก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรจากตรงนั้นแล้ว

การเป็น ‘ช่างภาพหญิง’ ส่งผลต่อการทำงานถ่ายภาพไหม

จริงๆ ก็ส่งผลนะ แต่สมัยนี้มันอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ อย่างสมัยเรา มันไม่ค่อยมีตากล้องผู้หญิงเยอะเท่าไหร่ หรือในชมรมถ่ายภาพ ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะเป็นนางแบบ ส่วนผู้ชายก็จะเป็นตากล้อง แต่พอมาทำงานจริงๆ เราก็มีทำงานกับตากล้องผู้ชายหรือนายแบบผู้ชาย บางทีเขาอาจจะไม่ค่อยเชื่อฝีมือเราเท่าไหร่ อาจจะมีการทดสอบให้เราถ่ายรูป หรือบางทีรุ่นน้องก็ไม่อยากให้เราสอนงานก็มีบ้างเหมือนกันนะ แต่ว่าถ้าเป็นกับพวกนางแบบผู้หญิง บางทีเขาก็จะเชื่อใจเรามากกว่าตากล้องผู้ชาย เพราะเราเป็นผู้หญิง เขาก็รู้สึกสบายใจกับเรามากกว่า ยิ่งถ้าเราต้องถ่ายพวกชุดว่ายน้ำ

รับมือกับภาวะตรงนั้นอย่างไร

เราอาจจะยังไม่โต วิธีการรับมือตอนนั้นมันเลยไม่ได้ดีเท่าไหร่ ไม่ได้มีการคุยอะไรกัน เหมือนค้างคากันไป แต่ถ้าเป็นตอนนี้ เราคิดว่ามันน่าจะเปิดขึ้นแล้ว การพูดคุยเรื่องพวกนี้มันก็เปิดขึ้นด้วย ด้วยอายุเราตอนนี้ เราคงไม่ใช้วิธีเหมือนตอนที่เราอายุยี่สิบ

อัญมณีที่เริ่มเงาขลับ

แล้วอะไรในงานแฟชั่นที่นำพาเราไปสู่การทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์

พอทำงานมาถึงจุดๆ นึง ส่วนตัวเราก็มีเรื่องภายในใจ มีชีวิตตัวเองหลายอย่างที่อยากจะเอามาแปลงเป็นงาน มีเรื่องเกี่ยวกับชีวิตกับครอบครัวที่เราอยากจะเล่า อยากพูด อยากวิพากษ์วิจารณ์สังคม งานเราชอบพูดถึงความจริงอีกด้านที่มันไม่ค่อยมีเสียง คนไม่ค่อยพูดถึง

แล้วงานแรกที่ได้พูดเรื่องราวของตัวเองคือชิ้นไหน

ตอนแรกทำงานชุด Otaku, (2011) เกี่ยวกับเรื่องคอสเพลย์ การบูชาการ์ตูนญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น ศาสนา เราทำจากเรื่องของตัวเองก่อนด้วย เพราะเราก็เป็นพวกชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นเหมือนกัน เราเริ่มจากการเล่าเรื่องของตัวเองก่อนเพื่อไปวิพากษ์สังคม งานเราเมื่อก่อนเลยเน้นจากมุมมองของตัวเอง งานชุดแรกมันก็จะมีความเซอเรียล กราฟิกเยอะ เราสนใจเรื่องจิตวิทยาด้วย เลยทำรูปที่มันเซอเรียล จะได้เห็นภาพที่มันแสดงให้เห็นสภาพภายในจิตใจ แล้วก็เป็นสัญลักษณ์ในการเปรียบเทียบอะไรหลายๆ อย่างด้วย

พอเปลี่ยนแนวทางในการทำงาน ขั้นตอนการค้นคว้าข้อมูลมันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

สมัยก่อนเราก็เรียนรู้มาจากสตรีทก่อน เรียนรู้จากผู้คน ดูจากนิตยสารต่างๆ ศึกษาว่าเราควรจะขอถ่ายใคร แล้วเราก็ค่อยๆ เรียนรู้จากคนที่เราขอถ่ายไปด้วย ศึกษาจากน้องๆ จากเพลง หนัง วัฒนธรรมป็อปต่างๆ ที่มันมีอยู่ในช่วงนั้น

แต่พอเป็นงานของเรา ส่วนใหญ่จะมาจากเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว เลยจะมีการรวบรวมข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาประมาณหนึ่ง อย่างงาน Otaku สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตมันยังไม่ได้พีคขนาดนี้ เราก็ต้องใช้แรงกายในการสืบค้นข้อมูลด้วย ศึกษาหนังสือ แล้วเราก็ไปอยู่กับน้องๆ คอสเพลย์ด้วย ไปทำความรู้จัก ไปขอถ่ายเขาด้วย 

แต่จริงๆ จะชอบดูงานภาพถ่ายแนว Surreal (เหนือจริง) นี่แหละ อย่างงาน ลูกคุณหนู, (2013) สมัยก่อนเราชอบหนังหว่องกาไว เราชอบภาพแนวดาร์กๆ แต่ว่าเราจะดูงานพวก Illustration เยอะ พวกงานเหนือจริง ไอเดียของเราคือเราชอบเอาแรงบันดาลใจจากงานศิลปะด้านอื่น เช่น เราทำภาพถ่าย เราก็เอาแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมมา เรารู้สึกว่าถ้าเอาแรงบันดาลใจจากงานข้ามสาย ยังไงมันก็ไม่เป็นการเลียนแบบมาก

อย่างงานชุดปัจจุบันก็หาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเยอะถึงครึ่งนึงเลยก็ว่าได้ อย่างรูปจากบันทึก 6 ตุลา เราก็สืบค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต ใช้รูปจากโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ในอินเทอร์เน็ต

ไพลินที่เปล่งประกายไปทั่วโลก

แล้ว ‘The Will to Remember’ งานชิ้นนี้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร 

ถ้าจะให้พูด ก็เพราะบ้านเมืองเรามาถึงจุดๆ นี้แล้ว (หัวเราะ) จะไม่สนใจก็ไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนเราก็ติดตามอ่านงานของอาจารย์หลายๆ คนอยู่แล้ว พอ Youtube มันมาพีคๆ เราก็หันมาอยู่บน Youtube เยอะ แล้วระบบ Youtube มันก็ค่อยๆ แนะนำเพิ่มมาเรื่อยๆ เราสนใจการเมืองแต่ฟังไปตอนแรกก็ยังจับไม่ได้ว่าประเด็นคืออะไร แต่มาเริ่มจับประเด็นได้ตอนฟังอาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ พูดถึงเรื่องการปิดบังลบเลือนประวัติศาสตร์ปี 2475 แล้วเราก็ค่อยๆ เริ่มสงสัยว่า ‘ทำไมต้องลบ 2475 มันไม่ดียังไง’ ‘ประชาธิปไตยมันไม่ดีเหรอ’ ‘ทำไมเราถึงมีรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา มีตั้ง 13 ครั้ง’ เราก็จำได้แค่โรงเรียนสอนเราว่ามันคือการชิงสุกก่อนห่าม พอค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เริ่มติดต่อได้ เราก็ ‘อ้าว เราโดนหลอก’ (หัวเราะ) เรารู้สึกเหมือนโดนประเทศหลอก โดนระบบการศึกษาหลอก

ตอนนั้นที่ค่อยๆ ตาสว่าง ก็ยังไม่ได้เริ่ม The Will to Remember นะ แต่ว่าพอหลังจากเรียน Kintsugi ที่ญี่ปุ่น เราก็ได้มานั่งฟังคลิปของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล กับอาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรื่อง 6 ตุลา แล้วอาจารย์ธงชัยพูดถึง 6 ตุลา ว่ามันคือภารกิจแห่งชีวิตเขา เขาจะพยายามสืบความทรงจำนี้ไปให้ได้นานที่สุด เขาไม่ค่อยมองโลกในแง่ดีว่าคนรุ่นหลังจะจำ 6 ตุลาได้นานแค่ไหน เขาก็จะขอเป็นผี 6 ตุลา ที่จะหลอกหลอนสังคมไทยไปในชีวิตเขา พอเราฟังปุ๊บเรารู้สึกเลยว่าเราอยากจะเป็นผี 6 ตุลาด้วย เราอยากจะสืบทอดความทรงจำนี้ ถ้าไม่มีคนรุ่นหลังสืบอย่างที่อาจารย์ว่า แล้วอาจารย์เกษียรก็พูดถึงเรื่องการมองหน้าผี 6 ตุลา เพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ พูดถึงการทำงานของเขา มันเป็นการยกย่องเพื่อนเขา ให้เกียรติคนรุ่นเขาในแบบของเขา ซึ่งเราก็คิดว่าเราก็น่าจะทำงานศิลปะเป็นการยกย่องคนรุ่น 6 ตุลา สืบทอดความทรงจำ เป็นการจดจำประวัติศาสตร์นี้ในรูปแบบของเรา ในแบบของงานศิลปะ เลยเริ่มคิดจะทำค่ะ ด้วยความที่ 6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังหลอกหลอนสังคมไทยอยู่ เราเลยคิดว่าปรัชญามันเข้ากับ Kintsugi มันน่าจะไปด้วยกันได้

‘Kintsugi’ กับ ‘6 ตุลา’ มันผสานเข้ากันได้อย่างไร

ปรัชญาของ Kintsugi มันคือการยอมรับส่วนที่มันเคยแตกร้าว สิ่งที่มันเคยเป็นบาดแผลในเครื่องปั้นดินเผา คือการยอมรับบาดแผลความแตกร้าวนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ โดยที่ปรัชญาคือจะไม่ปิดบังบาดแผล สิ่งที่เคยแตกสลาย ความไม่สมบูรณ์นั้นมันก็เป็นความงาม เวลาที่เราซ่อมเครื่องปั้นดินเผาด้วย Kintsugi แล้ว เครื่องปั้นดินเผาอันนั้นมันจะแข็งแรงขึ้น ซึ่งเราก็มองว่าปรัชญาอันนี้ ถ้าประเทศมันดีขึ้นเราก็จะมองเห็นถึงอนาคตที่เข้มแข็งและสวยงามขึ้นด้วย

เราเป็นคนรุ่นใหม่และเกิดไม่ทัน 6 ตุลา การที่เราต้องกลับไปรื้อประวัติศาสตร์มาเรียงใหม่ ต้องคิดเยอะไหม หรือมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง

ตอนแรกเราก็คิดเยอะ คือเรารู้ว่ามันมี 6 ตุลาอยู่ แต่เราก็ไม่ค่อยรู้อะไรไปมากกว่านั้น ตอนเรียนหนังสือโรงเรียนก็ไม่เคยสอนหรือพูดถึง เราก็โตมาแบบไม่ค่อยรู้เรื่อง 6 ตุลา มันเป็นความทรงจำอันเลือนลางของประเทศ เรารู้สึกว่าเราอยากจะจำสิ่งที่เราถูกทำให้ลืมไป ตอนแรกเราก็คิดเยอะอยู่เหมือนกันว่าเรามีสิทธิ์ทำตรงนี้ไหม รุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็ไม่เคยไปอยู่กับ 6 ตุลา เราไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอะไร ไม่ได้เรียนธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ แต่เราอยากสืบทอดมรดกความทรงจำนี้ เราก็คิดว่าเราทำงานนี้เพื่อเป็นการยกย่องคนรุ่นหลังในแบบของเรา แล้วมันก็เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อยากจะเข้าใจประวัติศาสตร์

อะไรคือสิ่งเชื่อมโยงตั้งแต่เหตุของ 6 ตุลา มาถึงการชุมนุมในปัจจุบัน 

ตอนแรกเรายังไม่ได้เห็นความเชื่อมโยงขนาดนั้น เราก็แค่ไปม็อบชูสามนิ้วกับเขาเฉยๆ แล้วพอไปม็อบมาเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ เห็นความเชื่อมโยง เห็นความทรงจำ 6 ตุลา เห็นแนวคิดต่างๆ ที่มันสืบทอดมาอยู่ในคนรุ่นใหม่ แรงบันดาลในแรกๆ ได้ที่รับคือที่รุ้ง-ปนัสยา เขาปราศรัยแรก แล้วเขาพูดข้อเรียกร้องตอนแรกเลย เขาก็เปิดรูป 6 ตุลา เป็นฉากหลังพร้อมกับเพลงเพลงนั้น 

แล้วเราก็เริ่มมองเห็นการเชื่อมโยงโดยเฉพาะกฎหมายหลายๆ อย่างที่มันถูกสร้างมาจาก 6 ตุลา ที่เป็นกฎหมายที่ใช้จับนักศึกษา แล้ว 6 ตุลา มันก็เป็นจุดเริ่มของการปิดบังประวัติศาสตร์หลายๆ อย่าง การที่ห้ามเราพูด ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ การที่มันไม่มีอยู่ในหนังสือเรียน ทุกอย่างที่ทำให้ประเทศเรามีความทรงจำที่ถูกบิดเบือนไปแล้ว เราก็เข้าใจผิดมาหลายอย่าง ซึ่งตอนนี้คนรุ่นใหม่เขาพยายามจะย้อนกลับไปศึกษาอดีต แล้วเขาก็จดจำความทรงจำหลายๆ อย่างที่มันถูกทำให้เลือนได้ แล้วตอนนี้เขาก็มีแนวคิดหลายๆ อย่างที่มันไม่เหมือนกับอดีตอีกแล้ว เราคิดว่าในแง่ความทรงจำกับแนวคิดเชิงวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ มันได้เปลี่ยนไปแล้วเป็นอย่างมาก แล้วมันก็มีสาเหตุหลายๆ อย่างมาจากอดีตนี่แหละ

ในงานวิพากษ์วิจารณ์สังคม คุณต้องการฟีดแบคกลับมาอย่างไร หรือไม่คิดเลย

เราไม่ค่อยได้คาดหวังเนอะ เรามีแนวคิดว่าเราอยากสื่อสารแบบนี้แล้วพยายามทำมันออกไป พอเราทำมันเสร็จ มันก็จะเป็นของคนดูแล้วว่าเขาจะคิดยังไง ตีความแบบไหน ไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องตีความอย่างเดียวกับเรา เพียงแต่ว่าเรามีความหมายของเราอยู่ แต่ถ้าเขาคิดไม่ตรงกับเราก็ไม่เป็นไร มันเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เราก็หวังว่างานเราถ้ามันสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้บ้าง ดูแล้วชอบเราก็ดีใจแล้วนะ ซึ่งสำหรับเรา การได้รางวัลนี้แล้วมันได้ถูกรักษาไว้ มันก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับนึง มันทำให้ความทรงจำ 6 ตุลาที่ไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างเป็นทางการโดยรัฐ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ทั่วโลก

แล้วในแง่การทำงาน The Will to Remember มันจุดประกายอะไรให้คุณบ้าง

เหมือนมันมาช่วยยืนยันแนวทางของเรา และทำให้เราเห็นแนวทางว่าอนาคตเราอยากไปทางนี้แล้ว เหมือนที่ผ่านมาเราทำเรื่องจิตวิทยา เรื่องปิตาธิปไตย แต่เรายังไม่ได้ยุ่งเรื่องการเมือง พอตอนนี้เรามาสนใจการเมืองแล้วเราได้ศึกษาจริงๆ เราถึงได้รู้ว่าจริงๆ เรื่องที่เราสนใจเมื่อก่อนมันยังมีช่องโหว่อยู่ คือเรื่องการเมืองนี่แหละ เพราะว่าการเมืองมันส่งผลกระทบทุกอย่าง ทั้งปิตาธิปไตย ทั้งศาสนา เรื่องในสังคมทุกอย่าง พอมาตรงนี้เรารู้สึกว่ามันกลมขึ้น

เราได้ทำงานชิ้นนี้เลยรู้ว่าเราอยากทำ Kintsugi ต่อไป อยากทำเรื่องการเมืองสังคมต่อไป ไม่ได้เชิงว่าตาสว่างหรอก เมื่อก่อนมันก็คือตัวตนของเราในช่วงอายุหนึ่งที่มีความคิดแบบนี้ แต่ว่าตอนนี้ความคิดเราเปลี่ยนแล้ว แล้วเวลาที่เราเปลี่ยนแปลงตัวตน ความคิดเราเปลี่ยน เราเปลี่ยนแนวการทำงาน มันก็มีความไม่มั่นใจ ความลังเลอยู่เหมือนกัน ถึงแม้มันเป็นแนวทางที่เราคิดแล้วแหละว่าเราอยากจะไป แต่ถ้ามันไม่ได้รับการสนับสนุนเลย เราว่ามันก็ทำให้เสียกำลังใจได้บ้างเหมือนกัน แต่ยิ่งพอมันได้รับการสนับสนุนหรือได้รางวัล มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้นว่าเราน่าจะทำแนวนี้ได้ เหมือนเสริมความมั่นใจว่าตัวตนที่เราเปลี่ยนมามันโอเคนะ คนก็ชอบเหมือนกัน เราก็รู้สึกได้รับกำลังใจมากขึ้นแหละ

จงส่องแสงแม้อยู่ในกะลา

คิดว่าจะเอางานชิ้นนี้จัดนิทรรศการในเมืองไทยบ้างไหมครับ

ตอนนี้ก็พยายามจะคุยให้มันได้แสดงที่เมืองไทยอยู่เนี่ยแหละ ปกติทุกปี World Press ก็แสดงที่เมืองไทยเนอะ ซึ่งเราก็อยากให้ปีนี้ได้แสดง แต่เหมือนปีนี้ยังมีปัญหาอยู่เพราะด้วยงานเราเอง ซึ่งถ้าทุกปี World Press ได้แสดง แต่ปีที่มีตากล้องไทยได้รางวัลดันไม่ได้แสดงเนี่ย ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็พูดถึงประเทศเราได้หลายอย่างเลยแหละว่าสังคมบ้านเรามันมีเสรีภาพมากแค่ไหน  ศิลปินกับวงการศิลปะบ้านเรามันมีข้อจำกัดอะไรบ้าง แต่เราก็อยากทำให้มันแสดงได้

เคยเจอคำครหา หรือว่ามีคนบอกว่าไม่ควรทำเรื่องนี้บ้างไหม

เหมือนตอนแรกเราทำงานคนเดียว เราก็ไม่ค่อยได้คุยกับใครเลย ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าเราทำงานชุดนี้ แต่ว่าถ้าเป็นเพื่อนคนไทย เพื่อนก็จะแซวว่าอยากกินข้าวผัดไหมหรืออยากกินอะไร ซึ่งตอนนั้นเราก็ตั้งคำถามแล้วนิดนึงว่า ‘มันขนาดนั้นเลยเหรอ’ ช่วงที่ทำเราก็ได้ทุน ได้มีที่ปรึกษา ได้รับคำแนะนำจากช่างภาพชาวต่างชาติด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะสนับสนุน

แสดงว่าลึกๆ ขอบเขตในการสร้างงานศิลปะในไทยมันก็ไม่ได้กว้างเท่าไหร่

เราไม่ได้ส่งงานในประเทศไทยเท่าไหร่เนอะ ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่างานของเรามันไม่ได้เป็นที่ต้องการในประเทศนี้ เราพยายามไปศิลปินในพำนัก (Artist Residency) ที่เมืองนอกมากกว่า งานเราไม่เคยมีคนไทยที่ไหนมาซื้อด้วย แล้วบางเรื่องที่เราอยากจะทำ เช่น เราอยากพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในศาสนาพุทธ แต่ว่ามันไม่มีที่ให้เราทำในเมืองไทย เราก็เลยไปทำที่ญี่ปุ่นแทน ซึ่งที่นั่นก็เปิดให้เราทำไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร แล้วอีกอย่างโครงการศิลปินในพำนักมันไม่ค่อยมีด้วย ที่ผ่านมาเราเลยได้ไปที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา ซึ่งโอกาสเหล่านี้มันก็ไม่ได้มีในเมืองไทย

การถูกเซนเซอร์ที่ว่ามันส่งผลต่อวงการศิลปะในภาพกว้างอย่างไรบ้าง

เราว่ามันก็ลำบากอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งที่น่าจะยากที่สุดสำหรับสังคมไทยก็น่าจะเป็นความกลัวที่รัฐปลูกฝังไว้ พอมันมีความกลัวที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วเราก็ไม่รู้ว่าใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่ไหน พูดได้มากน้อยแค่ไหน การที่ศิลปินต้องพยายามเซ็นเซอร์ตัวเองหรือพยายามพูดอ้อมๆ หรือพูดตรงเกินแล้วโดนจับ ซึ่งการที่มีบางคนที่โดนจับ มันก็ทำให้เกิดความกลัวที่มันไม่เป็นทางการ มันก็ทำร้ายการเติบโตของศิลปินได้เยอะเหมือนกัน

งั้นแสดงว่ารัฐเองควรมองศิลปะให้กว้างขึ้นหรือเปล่า

เรามุ่งหวังกับอนาคตมากกว่า ว่าถ้าเกิดมันเกิดความเปลี่ยนแปลง ฝ่ายประชาธิปไตยได้พื้นที่มากกว่านี้ เราว่าข้อเรียกร้องของศิลปินมันน่าจะพัฒนาไปได้ อย่างเกาหลีใต้ พอประเทศมันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ มันก็มีเทศกาลกวางจู ความทรงจำเกี่ยวกับกวางจู มันก็ได้ทำงานเป็นศิลปะ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มีเสรีภาพในการพูดถึงและมีการเก็บความทรงจำนี้ไว้มากกว่าสมัยก่อน

หรืออย่างไต้หวัน พอเขาสามารถเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมเกี่ยวกับ White Terror ได้ความทรงจำเกี่ยวกับเจียงไคเช็ก หรือศิลปะที่พูดถึง White Terror หรือพูดถึงประวัติศาสตร์ของประชาชนมากขึ้น ความรู้เกี่ยวกับเจียงไคเช็กในคนรุ่นใหม่มันก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน มันก็จะมีศิลปะรุ่นใหม่ พิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ มีคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่และกำหนดทิศทางของสถาบันศิลปะ หรือการเลือกงานเข้าพิพิธภัณฑ์มากขึ้น พอการเมืองมันพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ศิลปะและอื่นๆ มันก็จะมีพื้นที่มากขึ้น ถ้าวันนั้นมาถึงเราคิดว่าศิลปินบ้านเราก็จะมีข้อเรียกร้องและพัฒนาการต่างๆ ที่เป็นแนวทางของตัวเองด้วยเหมือนกัน เราต้องสู้เพื่อให้ได้ความหวัง ให้มันเป็นจริง

บรรยากาศของ World Press Photo วันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

เวลาเรายืนอยู่ตรงนั้นก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน รู้สึกว่าเราได้มารับรางวัลจริงๆ นะเนี่ย มันมีคุณค่าของมันนะ เอาจริงๆ การได้รับรางวัลกับราชวงศ์มันก็เป็นเกียรติอย่างนึง แต่สำหรับเรามันมีความหมายตรงที่งานเรามันเป็นงานที่พูดถึงสถาบัน แล้วการที่ได้รับการยอมรับจากสถาบัน มันมีความหมายในเชิงการเมืองแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ เรามองตรงนี้มากกว่าด้วย มันก็สร้างคุณค่าให้เรื่องราวนี้ด้วย เราได้ไปยืนบนสองขาของตนเอง บนเวทีเดียวกัน ยืนอยู่บนพื้นเดียวกัน เสมอกัน ในความเป็นมนุษย์เท่ากัน

จากวันแรกที่จับกล้องถึงวันนี้ เสียสละอะไรของตัวเองไปบ้างในสายงานนี้

กว่าจะได้รางวัลเราจะต้องเจอการปฏิเสธมากมาย ที่ผ่านมาเราพยายามไปเป็นศิลปินพำนักที่เมืองนอก การส่งข้อเสนอ ทำพอร์ตโฟลิโอทุกอย่างเพื่อสมัคร แล้วก็ต้องมาเจอการปฏิเสธหลายๆ ครั้ง อย่างช่างภาพไป Portfolio Review หรือไปเจอที่ปรึกษาให้คนมาวิจารณ์เรา มันเต็มไปด้วยความโหดร้าย การปฏิเสธแต่ละครั้งมันทำให้เราแตกสลาย เราต้องสูญเสียความมั่นใจ แต่ละครั้งคำพูดมันทำร้ายเราได้

เราได้แต่พยายามเก็บตัวเองขึ้นมา รักษาตัวเองเอาไว้ เก็บทุกอย่างมาพัฒนาตัวเราด้วย แล้วเราพยายามรักษาตัวตนรักษาจิตวิญญาณ ซึ่งตรงนี้ในด้านจิตใจมันยาก แล้วในด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่เราไม่มีใครสนับสนุนเลย ที่บ้านไม่มีใครสนับสนุน คนไทยก็ไม่ซื้องาน ทางด้านจิตใจเราต้องต่อสู้กับเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน แต่ยังไงเราก็มีความคิดว่าเราไม่อยากจะยอมแพ้ 

เราเสียใจที่ถูกปฏิเสธก็จริง แต่ถ้าเราไม่ทำเราก็จะมานั่งเสียใจทีหลัง เราก็คิดว่าตรงนั้นเราน่าจะเสียใจหนักกว่า อีกอย่างที่สำคัญกับเราคือ สักวันเราต้องตายแน่ๆ แต่ถ้าให้เราอยู่อย่างสิ้นหวัง ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ให้ถอดใจไม่สู้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น สำหรับเรามันก็เหมือนเราตายไปแล้ว ก่อนที่เราจะตายไม่ว่ามันจะมืดมนยังไง เราก็ต้องพยายามยึดความหวังเอาไว้ ต้องพยายามคิดให้ได้ว่าเราต้องมีหวังว่าเราต้องสู้ต่อไป ฟังเพลง BTS ก็ช่วยได้นะคะ เราฟังเพลงของ BTS เยอะ มันจะมีเพลงที่เป็นคติเราเลยคือ “I reject rejection.” เราจะปฏิเสธการถูกปฏิเสธ เพลงก็มาช่วยเราเยอะ ถ้ามันเหนื่อยหรือไปไม่ไหวก็คลานไปก่อนก็ได้ แล้วค่อยเดิน ค่อยวิ่ง

มีวิธีการที่เก็บชิ้นส่วนที่แตกสลายของตัวเองอย่างไร

เราสนใจจิตวิทยา เราก็พยายามหาวิธีหลอกตัวเองมาได้เรื่อยๆ แหละ อีกอย่างเราก็ใช้เทคนิคของเราที่เราเรียนมาไปเรื่อย เพื่อพยายามบิ้วท์ตัวเอง ยิ่งเราหมดหวังเราก็ยิ่งต้องพยายามหาความหวังใหม่มาเติม เหมือนเราก็ตั้งกฎไว้ว่า ถ้าเราโดนปฏิเสธหนึ่งที่ เราก็จะพยายามไปหาอีกสักสองสามที่มาสมัครเพิ่ม เวลาที่เราสมัครอยู่ เราก็ยังมีหวังอยู่ไง เพราะเรายังไม่โดนปฏิเสธ อีกอย่างเราก็นั่งฟังเพลงที่ให้แรงบันดาลใจกับเรา อย่างเด็กรุ่นใหม่เขามีศิลปินที่ชื่นชอบเพื่อเยียวยาจิตใจ เราก็ใช้เทคนิคนี้เหมือนกัน เราก็ต้องพยายามใช้เพลงเยียวยาและสู้ต่อไปให้ได้

จุดมุ่งหมายสูงสุด ณ เวลานี้ มองตัวเองไว้อย่างไรบ้าง

ที่เราพยายามออกไปข้างนอกก็เพราะเราอยากหาที่อยู่ให้กับงานศิลปะของเราด้วย เราอยากจะให้งานเราได้แสดงในที่มันไปไกล ในที่ๆ ดีที่สุดสำหรับเรา งานเรามันมีคุณค่ากับเราเหมือนลูกของเรา โดยเฉพาะงานนี้ที่มันได้ไปอยู่ในที่ต่างๆ เพื่อรักษาความทรงจำมันก็เป็นความหมายหนึ่งในงานนี้ด้วย พอมาถึงจุดนี้ หลังจากที่เราทำ Kintsugi และเรียนประวัติศาสตร์มา เราก็อยากจะใช้เทคนิคนี้ทำงานเกี่ยวกับ Kintsugi ต่อไป อยากทำงานที่พูดถึงประวัติศาสตร์ อยากเรียกร้องหรือพูดถึงปัญหาสังคมหรือพูดถึงโลกไปเรื่อยๆ อยากทำสิ่งเหล่านี้และถ้ามันสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ทำอะไรให้กับวงการศิลปะบ้านเราได้เพิ่มขึ้น มันก็คงดี เราก็หวังแค่นี้ค่ะ

อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงการศิลปะ วงการภาพถ่าย บ้างไหม

เรื่องที่อยากบอกที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่อง Rejection นี่แหละ การจะมาเป็นศิลปินแล้วทำงานศิลปะ อย่างน้อยที่สุดมันก็คือการนำความคิดของตัวเองออกมาทำเป็นผลงาน คือการเอาตัวตนออกมาเปิดเผยให้คนอื่นรู้ผ่านงานศิลปะ บางคนไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว คนรอบข้าง การโดนปฏิเสธเยอะๆ เรารู้ว่าไม่ได้ง่าย เราอยากให้ทุกคนหาวิธีเยียวยาตัวเอง พยายามสู้ต่อไป เรารู้ว่าประเทศมันมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เราอยากให้ทุกคนอย่าเพิ่งทิ้งความฝัน ถึงมันจะยากแต่ยังไง แต่คิดว่ามันเป็นการฝึกก็ได้ ถือซะว่าฝึกภาษาอังกฤษก็ได้ที่ส่ง Proposal อย่าเพิ่งคิดว่าพอโดนปฏิเสธ หรือโดนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ดี คือประตูมันปิดแล้ว คำวิจารณ์ของคนอื่นมันไม่ใช่ทุกอย่าง แค่เราเอากลับมาคิดไว้แต่รักษาตัวตนเอาไว้ให้ได้

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า