fbpx

แป๊ด-ดวงฤทัย ในทุกบทของชีวิต และการทำร้านหนังสือก็องดิด

เราซื้อหนังสือครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? 

เป็นคำถามที่เราตั้งกับตัวเอง ขณะก้าวเข้าไปในตรอกเล็กๆย่านคลองสาน โดยมีจุดมุ่งหมายเป็นร้านหนังสือร้านหนึ่งที่เร้นกายอย่างแนบเนียน สวนทางกับโลกอันวุ่นวายภายนอก The Jam Factory 

ท่ามกลางกระแสอันฉาบฉวย และพลวัตทางสังคมที่ไม่แน่นิ่ง ซึ่งคอยขับเคลื่อนโลกให้หมุนไปข้างหน้า ร้านหนังสือมากมายทยอยล้มหายตายจาก เพราะไม่อาจอยู่ยั้งสู้กับกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ 

แต่วินาทีที่เราก้าวผ่านประตูบานน้อย เพื่อเข้ามาด้านในร้าน ภาพที่ปรากฎต่อสายตาของเราและกองบรรณาธิการ ณ ขณะนั้น ไม่มีสิ่งใดใกล้เคียงกับสภาวะซึ่งกล่าวมาข้างต้น เมื่อบรรยากาศของร้านหนังสือแสนสงบใต้ต้นไม้ใหญ่ในชื่อ Candide (ก็องดิด) นี้ กลับเป็นสถานที่ซึ่งปราศจากความเร่งรีบ และแทบจะไร้ซึ่งผลกระทบ จากคลื่นลมแห่งความแปรปรวนของสังคม เรียกว่าเป็นพื้นที่อันอบอวลไปด้วยความอบอุ่นและความสุขในทุกอณู ของเหล่าผู้ชื่นชอบและรักในหนังสืออย่างแท้จริง

และเพราะไม่อยากให้ภาพความสุขเหล่านี้จางหายไป จึงเป็นเหตุผลให้พี่แป๊ด – ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด และเจ้าของร้านก็องดิด พยามอย่างยิ่งที่จะรักษาร้านแห่งความสุขนี้เอาไว้ จุดเริ่มต้นจากพื้นที่บนถนนตะนาว สู่ร่มเงาไม้ใหญ่ในคลองสาน จากสำนักพิมพ์สู่พื้นที่ซึ่งนอกจากจะเชื่อมเอาความรู้สึกของผู้คนที่รักการอ่านไว้ด้วยกัน ยังเป็นเสมือนการดูแลสานต่อความฝัน บนความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า “เราจะทำสิ่งที่เราถนัดต่อไป แม้ชีวิตจะยากลำบากหรือใครจะว่าอย่างไรก็ตาม”

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ยิ่งอ่านยิ่งได้รู้ และพึงระลึกว่าตนมิได้รู้สิ่งใด – วอลแตร์

เริ่มรู้สึกว่าตนหลงใหลในเสน่ห์ของการอ่านเมื่อไหร่  

ตั้งแต่เด็กเลย ชอบมาตั้งนานมากแล้ว ชอบขนาดที่สมัยเด็กๆอ่านหนังสือไม่ออกก็จ้างพี่ชายอ่าน (หัวเราะ) พอโตขึ้นมาสักหน่อยก็อ่านเอง แล้วด้วยความที่พี่เป็นเด็กต่างจังหวัด ปิดเทอมเราก็อยู่แต่กับร้านหนังสือเช่า ห้องสมุดประชาชน เดินเข้าไปชั้นหนังสือนิยาย โตมากับนิยายประโลมโลก (หัวเราะ) คือมันอินมันสนุก ถึงจะเพ้อฝัน มันทำให้เราได้ชอบอะไรที่แตกต่าง เราอาจจะชอบสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากกว่าโหยหาอะไรที่สร้างฐานะ นิยายทำให้เราเพ้อฝันได้ชั่วขณะหนึ่ง เพราะโลกความจริงบางอย่างมันทำไม่ได้ แต่ในนิยายมันไม่ต้องคิดถึงตรงนั้น 

นอกจากหนังสือดีๆแล้ว บรรยากาศของห้องสมุดซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการอ่านน่ะ พี่รู้สึกว่ามันเหมือนโบสถ์วิหาร มันเงียบสงบ เวลาที่เราอ่านในพื้นที่นี้มันเหมือนเราอยู่ในโลกของหนังสือไปเลย ไม่ต้องสนใจผู้อื่น ดังนั้นเสน่ห์ของการอ่านหนังสือ ของคนอ่านหนังสือก็คือ เราสามารถเข้าไปอยู่ในโลกหนังสือได้โดยที่ลืมปัจจุบันไป เพราะมันเป็นที่หลบภัย 

จากความชอบในหนังสือ ทำให้เลือกเรียนต่อตรงสายนี้ไหม

ไม่ตรงเลยค่ะ เรียนรัฐศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ เลือกสอบเข้าคณะนี้เพราะว่าชอบวิชาสังคมศึกษา แล้วด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด มันจะไม่ค่อยรู้หรอกว่ามีคณะอะไรบ้าง อีกอย่างพี่เรียนศิลป์ฝรั่งเศสมาตัวเลือกยิ่งน้อย แต่เอาจริงๆพี่ก็ชอบการเมืองอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อพี่สนใจการเมือง เขาจะพาพี่ไปฟังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือใครที่เกี่ยวข้องเสมอ คืออาจจะมีคนพูดว่าเรียนคณะนี้ทำให้ทัศนคติการมองโลกเปลี่ยนไป มันก็เปลี่ยนแหละ แต่เราเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าจะมีเปลี่ยนก็คือเราหันมาสนใจการเมืองในนิยาย การเมืองในหนังอะไรแบบนี้มากกว่า แถมพอเข้าธรรมศาสตร์ก็อ่านหนังสือเยอะขึ้นกว่าเดิมอีก ขลุกอยู่แต่ห้องสมุด ก็ได้อ่านอะไรที่เปลี่ยนโลกเปลี่ยนความคิด บวกกับเราเรียนวิเคราะห์เพิ่มขึ้น ทัศนคติต่อนิยายหรือหนังสือบางเล่ม ก็เลยเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน 

แสดงว่าชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติในการมองหนังสือ และมุมมองต่อโลก

เปลี่ยน เปลี่ยนแบบกลับหัวกลับหางเลยล่ะค่ะ คือหนังสือนิยายมันเป็นโลกที่เพ้อฝันใช่มั้ย แต่โลกวิชาการทำให้เราคิด อย่างพี่เคยชอบ คู่กรรม ของ ทมยันตี มาก จนพอเราได้มาเรียนวิชานวนิยายกับการเมืองไทย พอเราเรียนวิชานี้เราก็ต้องวิเคราะห์เนื้อหามัน ซึ่งเราหัวเราะเลย หัวเราะแบบ โอ๊ะสิ่งที่ฉันเคยชอบ ทำไมถึงไปชอบอะไรแบบนี้ได้ มันเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต คือปกติการเมืองมันคือเรื่องที่เราพบเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ตัวพี่ชอบทฤษฎีมากกว่า เราก็เลยจะเน้นอ่านเอกสารวิชาการ คืออ่านจนสายตาสั้นเลยนะ แล้วไทยก็ยังไม่ค่อยมีคนแปล ก็ต้องอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ตอนนี้มองกลับไปคือมันมีประโยชน์กับเรามาก สมัยนี้หนังสือแปลมันเยอะขึ้น แต่ก็ยังช้ากว่าหลายประเทศ อย่างช่วงก่อนหน้านี้เพื่อนพี่ที่เป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ ก็เพิ่งพูดเรื่องหนังสือของหัวหน้าฮงไป ในวัฒนธรรมบ้านเขาหนังสือวิชาการไปไกลกว่าเรามากค่ะ  

แล้วตอนแรกบอกว่าปกติชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอเข้าธรรมศาสตร์ก็ยิ่งอ่านเยอะ เยอะขนาดที่อยู่แต่กับห้องสมุด เข้าห้องสมุดมากกว่าห้องเรียนอีก แล้วมันคือห้องสมุดธรรมศาสตร์แบบรุ่นเดิมน่ะ ตอนนี้ถูกรื้อไปแล้ว คุยกับคนอายุมากอะไรก็เปลี่ยนหมดนะ (หัวเราะ) คือห้องสมุดชั้นล่างเป็นแอร์ ชั้นบนเป็นไม้ไม่มีแอร์ เพราะมันฝุ่นค่อนข้างเยอะน่ะค่ะ คนก็จะน้อยแต่มันสงบมาก เราก็ต้องไปทุกวัน ไปเจอที่คนที่ชอบก็ที่ห้องสมุดนี่แหละ ไปนั่งแอบมองดูเขา บางทีเจอเขาก็จะกรี๊ดดีใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือหนังสืออยู่ในนั้น ตอนนั้นก็แอบตั้งปณิธานในใจว่า ถ้าเราอ่านได้หมดจะเป็นยังไง คือมันไม่มีทางหมดห้องสมุดหรอกค่ะ แต่เราก็คิดว่าจะไล่ดูไปทุกๆชั้นเลย เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด เรียกได้เลยว่าห้องสมุดธรรมศาสตร์สร้างพี่มามากกว่าห้องเรียนอีก

อ่านหนังสือมาเยอะขนาดนี้ มีที่ชอบมากๆ บ้างไหม 

มันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาน่ะ แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างก็คงจะมี หนังสือของอาจารชัยวัฒน์ สถาอานันท์ – รัฐศาสตร์ทวนกระแส อันนี้พูดทุกครั้งเลยเวลาให้สัมภาษณ์ เพราะเป็นหนังสือที่ทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไป เราไม่ได้มองอะไรที่ใหญ่ แต่หันมาสนใจเรื่องเล็กรอบตัวมากขึ้นกว่าที่จะสนใจตัวสถาบัน ได้ทั้งหมดนี้มาเพราะอ่านหนังสือเล่มนี้

เล่มที่สองคือคู่กรรม – ทมยันตี ช่วงนึงเราอ่านงานของเขาทุกเล่ม แปลกดีที่ไม่ได้คิดถึงมานานมากแล้ว อย่างที่บอกพอเรียนวิเคราะห์ เราก็มีมุมมองต่อนิยายเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ชอบอะไรแบบนี้แล้ว

อีกเล่มคือของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล กำเนิดสยามจากแผนที่ (Siam Mapped) ตอนนี้เป็นหนังสือหายากแล้ว แต่พี่อ่านภาษาอังกฤษนะ SIAM MAPPED a History of the Geo-body of the Nation ถึงจะมีคนแปลไทยแล้ว แต่มันพิมพ์ครั้งเดียวหายากมาก อาจจะไม่มีการพิมพ์ซ้ำแล้ว

ช่วงเปรี้ยวๆก็มีนะ นี่เลย นิตยสารลลนา (1973-1995) อ่านมาตั้งแต่เด็กๆอะ คือมาดูตอนนี้มันยังเปรี้ยวอยู่เลยนะ หรือนิตยสารที่อ่านก็มีแพรวสุดสัปดาห์ สมัยที่ยังเป็นเล่มเล็กๆอยู่ (1984)

การเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นภาระอันหนักอึ้ง
แต่การเฟ้นหางานที่เติมเต็มเป็นความยากลำบาก – วอลแตร์

ชอบอ่านหนังสือ หลงใหลในหนังสือมาโดยตลอด แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนให้ตัดสินใจหันเหจากรัฐศาสตร์สู่การทำงานในแวดวงหนังสือเต็มตัว 

คือความตั้งใจที่จะทำงานในแวดวงหนังสือ มันมีมาตั้งแต่สมัยมัธยมแล้วนะ คือด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือมาก สมัยมัธยมอ่านหนังสืออย่างเดียวเลย พอเข้าธรรมศาสตร์มาก็ยิ่งอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีก ตอนนั้นตัดสินใจแน่วแน่แล้วล่ะ ว่าจะต้องทำงานแวดวงนี้ ไม่ทำอย่างอื่นแน่ ทีนี้พอเราเป็นคนอ่านหนังสือเราคือคนเบื้องหน้าถูกต้องมั้ยคะ แต่เราเริ่มสงสัยละว่าเบื้องหลังเป็นยังไง พอได้เริ่มทำสำนักพิมพ์ก็โอเครู้แล้วว่า ต้นฉบับมันมาถึงตรงนี้กระบวนการมันเป็นยังไง แต่ก็สงสัยต่ออีกว่าแล้วพอตีพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มไปที่ไหนต่อ ซึ่งอะไรแบบนี้คนทำร้านหนังสือเท่านั้นถึงจะรู้ ก็เลยลองทำดู กลายเป็นเกือบครบวงจรอย่างที่เห็น 

แต่ก่อนที่จะทำสำนักพิมพ์กับร้านหนังสือ ก็ทำงานในแวดวงหนังสือด้านอื่นมาก่อนนะ ทำนิตยสาร ทำพ็อคเก็ตบุ๊ค ในส่วนนิตยสารพี่เป็นกองบรรณาธิการ แต่นิตยสารมันปิดไปแล้วนะ ชื่อนิตยสารนะคะ รู้จักมั้ย หรือสารคดีพี่ก็เคยทำนะ ทำอยู่ฝ่ายวิชาการสารคดี ซึ่งเราอาจจะคุ้นกันที่สุดแล้ว นอกนั้นก็มีทำนิตยสารหัวเล็กหัวน้อย จนไปทำสำนักพิมพ์ Gender Press แต่ก็ปิดไปแล้ว ส่วนใหญ่มันปิดหมดแล้วล่ะ คือก็จะเห็นว่าทำงานในแวดวงหนังสือมาตลอด ไม่ได้ไปทำด้านอื่นเลย 

ความยากสมัยทำงานให้กับนิตยสารนะคะเป็นอย่างไร

คือพี่ทำหน้าที่สัมภาษณ์คนเป็นหลัก ความยากก็คือเราจะเขิน ไม่รู้คนอื่นเป็นมั้ย แต่สมัยนั้นกังวลหลายเรื่องมาก เวลาไปสัมภาษณ์จะวางเทปตรงไหน เมื่อก่อนมันเป็นคาสเซ็ทเทปไง สมัยนี้มันสบายแล้วมีเครื่องมือใช้ง่ายๆ เมื่อก่อนนี่เทปไม่กล้าเอาขึ้นมาวางเลย แล้วคนที่เราสัมภาษณ์ก็เป็นคนที่เราชอบ ซึ่งเราเจอแล้วเราก็จะเขิน มันก็จะแบบทำใจยาก หรือบางคนเราก็ไม่รู้จักเลย พี่รู้สึกว่าคนรุ่นนี้ยังดี เวลาจะไปสัมภาษณ์ใครยังได้เห็นเฟสบุ๊คเขาก่อน แต่อย่างคนรุ่นพี่ไม่ได้เห็นเขามาก่อน ไม่รู้จักเขามาก่อนเลย ไม่รู้หน้าตาเป็นยังไง ก็ต้องไปรู้จักกันทั้งหมดตรงนั้น 

แขกที่สัมภาษณ์แล้วประทับใจที่สุด กับบทบาทปัจจุบันที่ต้องเปลี่ยนเป็นคนให้สัมภาษณ์รู้สึกอย่างไร  

ย้อนไปไกลมากเลย เดี๋ยวนะ (หัวเราะ) นานมากแล้วล่ะ ที่นึกออกน่าจะเป็นอาจารย์ปรัชญา ซึ่งเรารู้สึกได้เลยว่าเราเกร็งมาก เพราะเขาไม่ค่อยพูด แล้วพอเขาไม่ค่อยพูดมันก็จะคุยยาก กว่าเขาจะพูดหรือตอบคำถามเราทีใช้เวลาคิดนานมาก ตื่นเต้นนะ ชอบมาก แต่รู้สึกว่ามันยากมากเลยสัมภาษณ์คนไม่ค่อยพูดเนี่ย 

แต่ตอนนี้กลับกันกลายมาเป็นคนถูกสัมภาษณ์แทน รู้สึกว่าวิธีการสมัยนี้มันอาจจะเปลี่ยนไป สิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับพี่ในการสัมภาษณ์คือการฟัง สมัยนั้นเราเป็นคนถาม แต่ตอนนี้เราเป็นคนตอบ ซึ่งบางครั้งคนถามไม่ได้จับประเด็นการตอบไปพร้อมกับเรา ไม่ได้ถามต่อจากสิ่งที่เราตอบ เหมือนเขามีชุดคำถามมาแล้ว ก็จะใช้เท่านั้น 

ยิ่งเวลาไปเขียนเขาก็จะเขียนในสิ่งที่เขาอยากรู้ หรือสิ่งที่เขาคิดมากกว่า หลายครั้งที่พี่ไปเจอแล้วตั้งคำถาม เอ๊ะนี่ฉันพูดแบบนี้ไปเหรอ (หัวเราะ) มันไม่ได้ผิดอะไรนะ แต่พี่คิดว่าเราควรจะต้องฟังและถ่ายทอดความเป็นเขาออกมาให้มากที่สุด การให้สัมภาษณ์บางครั้งเป็นดาบสองคม เราไม่มีทางรู้เลยว่าบทสัมภาษณ์นั้นจะถูกเขียนออกมาแบบไหน เขาอาจจะเขียนตามใจเขามากกว่าเสนอสิ่งที่เป็นเราก็ได้ พี่เลยรู้สึกว่าสมัยนี้นะ ถ้าคนไหนถ่ายทอดได้ดีที่สุดก็จะตรงสุดค่ะ 

อย่าให้เงินตราเป็นเครื่องกำหนดทุกสิ่ง มิฉะนั้นท่านจะยอมทำทุกสิ่งเพื่อเงิน – วอลแตร์

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมาเอง 

เพราะตอนนั้นได้ต้นฉบับของปราบดา หยุ่นมา สมัยนั้นพี่ยังเป็นบรรณาธิการรับจ้าง แล้วพอได้ต้นฉบับของเขามา ก็มีแต่คนยุว่าให้ทำเองเลย ยุแบบยุเลยอะ (หัวเราะ) เราก็เอาวะ!  รู้สึกว่าถึงเวลานั้นแล้ว ตอนนั้นอายุ 36 รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก ที่จะทำอะไรเป็นของตัวเอง แล้วการที่เรามีต้นฉบับที่ดีอยู่ในมือ เราก็มั่นใจว่าเราจะต้องทำสำนักพิมพ์ได้แน่นอน ต้นฉบับที่ดีคือ ดีด้วยแล้วก็ขายได้ด้วย เพราะเราทำธุรกิจ ก็เลยเริ่มเปิดสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดขึ้นมา ซึ่งพอทำเล่มแรกเสร็จเรารู้เลยว่าเรามาถูกทางแล้ว พอทำมาได้สัก 30 ปี หรืออาจจะมากว่านั้นหน่อย ก็ขยับมาเปิดร้านหนังสือเพิ่มเป็นก็องดิดที่แรกตรงถนนตะนาว อยู่ตรงนั้นได้ 3 ปี ก่อนจะย้ายมาเป็นที่ปัจจุบัน อยู่ตรงนี้มา 7 ปีแล้วค่ะ

จากบรรณาธิการนิตยสารสู่การเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ความแตกต่างที่ชัดเจนคืออะไร

มันต่างกันมากๆเลยค่ะสองอย่างนี้ ด้วยเวลาของการปิดต้นฉบับเนี่ย บรรณาธิการนิตยสารนี่ต้องทันเวลาในเดือนหรือสัปดาห์เลย แต่หนังสือเล่มเนี่ยบางเล่มทำกันสองสามปีก็มีนะ คือบางสำนักพิมพ์เขาก็จะมีระบบการตัดรอบต้นฉบับของเขา อย่างของพี่ช่วงทำสำนักพิมพ์เป็นหลักก็สองเดือนออกหนึ่งเล่ม แต่พอทำร้านหนังสือเป็นหลัก บางเล่มพี่ใช้เวลา 2 – 3 ปี แล้วยังไม่ได้ออกก็มี

กระบวนการกว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่มเป็นอย่างไร ยากไหม 

สำหรับพี่ไม่ยากเลยค่ะ เพราะว่าเราอยู่ในวงการหนังสือตลอด เรารู้แล้วว่ามาเป็นต้นฉบับแล้วเราจะไปต่อยังไง ใครออกแบบหน้าปก ใครทำพิสูจน์อักษร เราจะเป็นกองบรรณาธิการเองมั้ย หรือจะส่งไปทำที่โรงพิมพ์ไหน เรารู้หมดทำเองหมดค่ะ

รูป 6.jpg

เล่ายุคทองของหนังสือที่แต่ละสำนักพิมพ์แข่งขันกันอย่างเข้มข้นให้ฟังหน่อย วงการคึกคักไหม 

คือพี่อยู่ในแวดวงการอ่านมาตลอด แต่อาจจะเพราะอยู่ตรงนี้มากไปจนไม่รู้สึกว่าตรงไหนคือยุคทองแล้ว ดังนั้นจะวัดความคึกคักของวงการจากยอดพิมพ์แล้วกันนะ สมัยที่พี่ทำสำนักพิมพ์ใหม่ๆเมื่อปี 2544 ยอดพิมพ์ขั้นต่ำของหนังสือคือ 5,000 เล่ม ถ้ายอดดีมันก็จะพุ่งมากกว่านี้ ซึ่งยอดพวกนี้จะขึ้นกับความดังและฐานแฟนคลับของนักเขียน เช่นนิ้วกลม แค่เริ่มก็ยอด 5,000 แล้ว จากนั้นก็ขึ้นไปแตะหมื่นสองหมื่น อันนี้คือคึกคักมากยอดดีมาก 

ในส่วนของสำนักพิมพ์ ถามว่าแข่งขันกันมั้ยก็ไม่นะ คือความที่ทุกคนมันก็เล็กๆแล้วรู้จักกันหมด เราก็จะรู้ว่าช่วงไหนเขาจะออกหนังสืออะไร หรือบางทีนักเขียนก็บอกเราเองเลยว่า เดี๋ยวส่งให้สำนักพิมพ์นู้นๆด้วยนะ ซึ่งเรารู้สึกว่าการออกพร้อมกันไม่ใช่ปัญหา เพราะหนังสือไม่ใช่อุตสาหกรรมร่ำรวย ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ทุกคนต้องมาฝ่าฟันกัน ทุกคนรู้กันหมดว่าใครจะออกอะไร จนมาถึงจุดที่เราคุยกันเลยว่าเธอออกก่อนมั้ย ฉันออกก่อนตรงนี้ อยู่ด้วยด้วยการคุยกันค่ะ ไม่ใช่การฟาดฟัน

ซึ่งเดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ก็ยังเหมือนเดิม มีขึ้นใหม่ๆบ้าง แต่ยังช่วยกันไม่ได้ฟาดฟันกัน ที่จะมีต่างไปเลยคือยอดพิมพ์หนังสือที่ลดลงมาก 2,000 วรรณกรรมไทยนี่หรูมากแล้วสำหรับตอนนี้ ก็อาจจะสรุปได้แหละว่าเราผ่านยุคทองของยอดพิมพ์ 5,000 มาแล้ว ในแง่ของยอดพิมพ์นะ แต่ถ้าในแง่ของคนอ่าน พี่ว่าหนังสือยังมีทางไปของมันเสมอ 

ต้นทุนของหนังสือกับราคาในท้องตลาดสมเหตุสมผลกันไหม เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าหนังสือไทยแพง

ถ้าถามพี่พี่ก็ต้องตอบว่าไม่แพง เพราะว่าพี่รู้ต้นทุน กระดาษเนี่ยตัวดีเลย แพงมากโดยเฉพาะกระดาษสวยๆ คือพี่จะพูดตลอดเลยว่า อยากให้ภาษีนำเข้ากระดาษถูกลง หนังสือมันจะได้ราคาถูกลง คือสำนักพิมพ์ นักเขียนนี่ได้น้อยกันหมดเลยนะ มันไปหนักตรงส่วนของโรงพิมพ์ ต้นทุนเขาสูงมากค่ะ สมมติหนังสือ 1 เล่ม เป็นพ็อคเก็ตบุค 4 สีนะ งบนี่แสนนึง อันนี้คือถูกสุด เป็นราคากลางที่รวมทุกอย่างหมดแล้ว ค่าโรงพิมพ์ ค่าบรรณาธิการ ค่านักเขียน ค่าทำอาร์ตเวิร์ค ค่าพิสูจน์อักษร ราคาเท่านี้ต่อยอดพิมพ์ 1,000 เล่ม ก็จะตกเล่มละ 100 บาท อันนี้คือถูกสุดแล้วนะ ถ้าเอาแพงสุดที่เคยทำคือ 700,000 บาท กระดาษแพงมาก ยิ่งหนายิ่งใช้กระดาษเยอะยิ่งแพง เมื่อก่อนกับตอนนี้ก็เทียบราคากันไม่ได้นะ ต้องดูด้วยว่าหนังสืออะไร สำนักพิมพ์อะไร อย่าง P.S. เขาก็ทำเล่มเล็กๆเองนะ ราคา 250 พี่เข้าใจอยู่ว่าเขาพิมพ์น้อยต้นทุนเลยสูง ถ้าอยากให้ถูกก็ต้องเพิ่มยอดการพิมพ์ สมมติเราพิมพ์ 1,000 เล่ม ราคาพิมพ์ต่อเล่ม 60 บาท แต่ถ้าเราเพิ่มยอดเป็น 2,000 เล่ม ราคาก็จะเหลือแค่ 40 อะไรประมาณนี้ แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่าขายได้มั้ย จำนวณยอดพิมพ์ก็ต้องมาดูต้นทุนอีก พี่ถึงได้ไม่รู้สึกว่ามันแพงไง เพราะพี่รู้ต้นทุนทุกอย่างค่ะ 

ส่วนในแง่ของคนซื้อคือพี่มองว่าถ้าคนตั้งใจจะซื้อ เท่าไหร่เขาก็จะซื้อ อย่างเซ็ทหนังสือแฮร์รี่พอตเตอร์ ฉบับครบรอบ 20 ปี ราคา 5,000 กว่าบาท คนซื้อกันเยอะมากขายดีมาก คนยอมจ่ายทั้งที่ราคามันสูงขนาดนี้ แสดงว่าคนสนใจคุณภาพต่อให้ถูกแค่ไหน ถ้าคุณภาพไม่ดีคนก็ไม่ซื้อหรอก 

จงทำสวนของเรา – วอลแตร์  

ในฐานะคนทำร้านหนังสือ การเข้ามาของสื่อออนไลน์และหนังสือที่ไม่ได้เป็นเล่ม ทำให้พฤติกรรมการอ่านของคนเปลี่ยนแปลงไปไหม ในทัศนคติของพี่ 

เอาเรื่องหนังสือก่อนนะ มันต่างกันเยอะค่ะ ไม่ใช่ในแง่เนื้อหานะ แต่ในแง่ของความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน คือสมัยที่ไม่มีโซเชียลมีเดียเนี่ย พี่สามารถอ่านหนังสือสี่วันติดกันโดยที่ไม่ต้องทำอะไรได้เลยนะ แต่สมัยนี้ไม่ได้แล้ว อ่านสักพักก็ต้องมีมาจับมือถือ มาไถดูอะไรอย่างอื่นบ้าง ข้ออ้างของพี่คือ เพราะเราขายหนังสือออนไลน์ด้วย เราก็เลยเหมือนหาข้ออ้างให้ตัวเองนอนดึกๆเพื่อมาตอบลูกค้า ซึ่งถ้าเราจัดการเวลาดีๆมันไม่ต้องทำแบบนั้น พูดง่ายๆคือเหมือนเวลาของการอ่านหนังสือเล่มจริงๆในคนสมัยนี้ลดลง อย่างพี่เนี่ยตอนนี้คือสมาธิสั้นมาก 

แต่ถึงเวลาในการอ่านหนังสือเล่มลดลง แต่พี่ว่าคนที่ขยับไปอ่านในแพลทฟอร์มออนไลน์ ในแอปอะไรแบบนี้ เขาก็ยังซื้อหนังสืออยู่นะ เพราะบางทีเวลาอ่านนิยายหรืออะไรในแอป สำนักพิมพ์เขาก็เอาตรงนั้นมาร่วมเลมขายอีกที มันก็เหมือนมีจุดร่วมอยู่ ไม่ได้แยกจากกันซะทีเดียว ยังมีจุดที่เอื้อประโยชน์ให้กันและกันอยู่บ้าง แต่ถ้าในอนาคตคนอ่านในแอปมากขึ้น ที่น่าจะได้รับผลกระทบก่อนเลยจะเป็นสำนักพิมพ์เพราะเขาทำหนังสือเล่ม แล้วมันค่อยมากระทบร้านหนังสือ อาจจะเป็นไปได้ใน 10 – 20 ปีหลังจากนี้ ตอนที่อุปกรณ์พัฒนาไปมากๆแล้ว 

หมายความว่าในอนาคต ร้านหนังสือและสำนักพิมพ์อาจไม่มีความจำเป็น เมื่ออีบุ๊คเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

จริงๆ มันไม่เกี่ยวกับอีบุ๊คเลยนะ อีบุ๊คไม่เคยทำลายร้านหนังสือเลยค่ะ พี่เจอคำถามแบบนี้ตลอด การทำลายร้านหนังสือจริงๆก็คือการลดราคาหนังสือเยอะๆต่างหาก เดี๋ยวนี้มันมีร้านออนไลน์ที่เราไม่รู้จัก ไม่คุ้นเยอะมาก เข้าไปดูนี่ตกใจเลย โห ลดราคาอย่างงี้แล้วร้านหนังสือจะขายยังไง ตอนนี้ก็คุยกันในกรุ๊ปจนขี้เกียจพิมพ์แล้ว คือถูกกว่าสำนักพิมพ์อีกนะ เราก็งงเลยได้เหรอ คือเขาอาจจะสนจำนวนไม่สนกำไร เน้นปริมาณเข้าว่า ยิ่งหลายๆแอปมีวันที่ลดราคาเยอะแล้วแบบ 10.10 ยังมีลดราคาเป็นคูปองเพิ่มเข้าไปอีก ส่วนนี้ต่างหากที่ทำลายร้านหนังสือมากๆ เพราะคนอ่านอีบุ๊คจริงๆกับคนอ่านหนังสือแทบจะเป็นคนละกลุ่มกันเลยค่ะ ไม่กลัวเลยเพราะพี่เองรู้สึกว่าคนก็ยังโหยหาการอ่านหนังสือเล่มอยู่ คนที่ซื้อหนังสือก็ยังซื้ออยู่ เพราะฉะนั้นมันไม่ทำลายกันค่ะ 

แสดงว่าในปี 2021 ร้านหนังสือยังคงตอบโจทย์และทรงอิทธิพลกับคนในยุคนี้อยู่

ก็เป็นคำถามที่พี่ครุ่นคิดอยู่นะคะ เพราะว่าตอนนี้ก็คือสำนักพิมพ์ก็เป็นร้านหนังสือได้ ขายโดยตรงได้ ใครก็ขายหนังสือได้ นักเขียนก็ขายหนังสือเองได้ ทุกคนแทบจะเป็นร้านหนังสือหมดเลย ทีนี้ถามว่าร้านหนังสือยังตอบโจทย์มั้ย พี่ว่ามันก็ยังมีคนอยากมาเดินนะ อยากมาจับปกเหลี่ยมๆ มาดูว่าปกนี้มันถูกออกแบบยังไง มารับความรู้สึกของการได้จับกระดาษพลิกไปทีละหน้า มารับความสงบของการไม่มีงานหรืออะไรเด้งให้กวนสมาธิ เพราะอ่านในแอปมันก็จะมีนู่นนี่มากวนตลอดไง พอมาร้านหนังสือ มาเลือกหนังสือ เราก็จะจดจ่ออยู่ตรงหน้ามากขึ้น ตัวพี่มองว่ามันยังจำเป็นอยู่นะ แต่ร้านหนังสือมีหน้าที่ต้องทำงานหนักขึ้นมากเลย 

ส่วนในมุมผู้บริโภคก็คงต้องถามทุกคนแล้วล่ะ แต่ถ้าเอาจากที่พี่เห็นเวลาไปออกบูธหรืออยู่ร้าน เขาก็ยังไปเดินงานหนังสือ ไปเลือกซื้อหนังสือหรือมาร้านพี่เยอะอยู่นะ ยิ่งช่วงนี้คนกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ เสาร์อาทิตย์นี่คนเยอะมากเลย มาเดินเล่น มาเดท พี่เลยเชื่อว่าคนยังชอบบรรยากาศแบบนี้อยู่ ยังอ่านหนังสืออยู่ไม่งั้นร้านพี่อยู่ไม่ได้หรอก

ในขณะที่ก็องดิดได้รับความนิยม แต่ร้านหนังสือขึ้นห้างประสบปัญหาอย่างมาก เพราะอะไรทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ ไม่ได้รับผลกระทบ

เพราะมันเป็นวงจรค่ะ ตอนสมัยพี่เด็กๆ น่ะร้านหนังสือแบบนี้เยอะเลยนะ แต่ก็ปิดไป อย่างดอกหญ้านี่ไง คือมันเป็นวงจรแหละ พอร้านเล็กๆพวกนี้ปิดไป  SE-ED, นายอินทร์ก็มาแทน ตอนนี้ก็เป็นเหมือนกระแสมันตีกลับ ต่อไปไม่รู้หรอกว่าจะเป็นยังไง กระแสอาจจะวนกลับอีกก็ได้ คือร้านที่มีสาขาเขาลงทุนเยอะกว่า พอเขาขาดทุน ความรุนแรงมันก็มากกว่าอยู่แล้ว แต่ร้านเราเล็กลงทุนน้อยกว่าเราก็จะปรับตัวง่ายหน่อย

ร้านหนังสืออิสระมันขยับตัวเร็วกว่าเพราะเราเล็ก คือมันไม่ได้มีอิสระมากขึ้นนะ มันยังอยู่ในโลกของทุน แต่เราจัดการหลายๆอย่างได้ง่ายกว่าเขามาก พนักงานน้อยกว่า ของเขาพนักงานเยอะ ของพี่เนี่ยพนักงานหน้าร้าน 2 คน ออนไลน์ 2 คน 4 คนเองนะที่ดูร้านอยู่ พี่ก็พยายามประหยัดด้วย ดังนั้นพี่รู้สึกว่ามันปรับตัวได้เร็วกว่าแน่นอน ส่วนร้านใหญ่เขาก็ต้องแก้ด้วยการลดสาขาลง เป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อการปรับตัวคือส่วนสำคัญของการทำร้านหนังสือในปัจจุบัน เคยนึกภาพมาก่อนไหมว่าก็องดิดจะต้องปรับตัวมาอยู่บนแพลทฟอร์มออนไลน์เหมือนที่อื่นด้วย 

คือจริงๆพี่ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำเยอะขนาดนี้นะ ตอนแรกคิดว่ามันน่าจะต้องเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เป็นแค่ตัวเสริม เพราะลูกค้าบางคนอยู่ต่างจังหวัด แต่เขาอยากซื้อ ตอนนั้นคือตัดสินใจทำออนไลน์เพราะแบบนี้เลยนะ เพราะอยากให้ลูกค้าต่างจังหวัดได้ซื้อหนังสือร้านเราด้วย แต่ตอนหลังมันดันกลายเป็นเรื่องจำเป็น กลายเป็นเรื่องของธุรกิจไปเลย ซึ่งจริงๆไม่ได้คิดเลยนะ มันไม่ใช่การปรับตัวแบบค่อยๆปรับด้วย เหมือนบังคับต้องปรับเลย ยิ่งช่วงโควิดใครไม่มีออนไลน์คือไม่รอด 

แล้วพอขยับมาทำออนไลน์ เวลาในชีวิตเราก็หายไป เพราะการออนไลน์มันคือ 24 ชั่วโมง ปกติเปิดหน้าร้านมันแค่ขายหมดวันก็ปิดกลับไปนอน แต่พอออนไลน์ลูกค้าติดตัวเราไปตลอด 24 ชั่วโมง ยังต้องดูต้องตอบคำถามลูกค้า รู้สึกเวลาในชีวิตหายไปหมดเลย แต่มันก็สะดวกแหละ อย่างงานหนังสือปีนี้ก็ออนไลน์กับหน้าร้านปนกันไป สะดวกจะตายเลือกแล้วส่งถึงบ้าน ไม่ต้องมาหน้าร้าน แต่ก็มีแค่เวลาชีวิตที่หายไปในฐานะคนทำงาน

พูดถึงงานหนังสือฯ มีปีหนึ่งใช้ธีมว่า No กองดอง  – ซื้อไปไม่กอง ไม่ดอง ต้องอ่าน ในฐานะคนทำร้านหนังสือขายหนังสือ รู้สึกอย่างไร 

พี่โกรธมากเลย คือพี่ทำร้านหนังสือใช่มั้ย พี่ก็อยากให้คนไปดองสิ คือมันไม่ต้องอ่านก็ได้นะ เอาไปถ่ายรูปก็ยังได้เลย เราไปบังคับเขาไม่ได้ไง จะบอกว่าเราขายหนังสือคุณซื้อไปคุณต้องอ่านนะ แบบนี้เหรอ อะไรอะ (หัวเราะ) ไปบังคับเขาได้ยังไง เขาเสียเงินแล้วเขาจะทำอะไรก็เป็นสิทธิ์ของเขา ซื้อไปไม่อ่านตอนนี้ เดี๋ยวสักพักก็อ่านเอง เพราะคนซื้อหนังสือยังไงก็อ่านอยู่แล้ว ช่วงนั้นในไลน์กรุ๊ปซึ่งมีคนของสมาคมผู้จัดพิมพ์อยู่ด้วยนี่ เจอพี่โวยไปเยอะมากเหมือนกัน ว่า no กองดอง เนี่ยมันไม่ใช่นะคะ ตอนหลังเขาก็พยายามมาแก้ คือพอมันผิดปั๊ปคนนี่ด่าตรึมเลยนะ ไม่เห็นด้วยอย่างแรง เพราะซื้อไปก็เรื่องของเขา หมดสมัยแล้วที่จะกำหนดว่าคนต้องอ่านหรือไม่อ่านอะไร no กองดองอะไร  ยิ่งมีกองดองสิยิ่งดี บางคนยืนมองหนังสือก็มีความสุขแล้วนะ ซื้อไปดูก็มีความสุข ขอให้ได้ซื้อก่อน อำนาจของการซื้อเนอะ อัพลงไอจีอัพลงอะไรก็มีความสุขแล้ว พอแล้ว อ่านไม่อ่านก็เรื่องของเขาอะ เขาซื้อแล้ว เงินของเขา

แต่พูดถึงงานหนังสือปีนี้เป็นจัดออนไลน์ส่วนปีหน้าจะกลับมาที่ศูนย์ประชุมสิริกิตติ์แล้วนะ ไม่ต้องไปไกลๆแล้ว อันนั้นไกลไปไม่เวิร์ค ตอนพี่ออกบูธพี่ก็นอนแถวนั้นเลยเหมือนกันกลับไม่ไหว พอกลับมาที่เดิมอะไรๆก็คงง่ายขึ้นค่ะ

ก็องดิด – วอลแตร์ 

บทเรียนสำคัญที่ได้จากการทำร้านหนังสือ  

คือการทำให้ใจเย็น ปกติความรู้สึกของคนทำร้านหนังสือ กับบรรณาธิการหนังสือมันไม่เหมือนกัน คือเพื่อนพี่เนี่ยทำร้านอยู่ เขาพูดมาเลยแกทำร้านไม่ได้หรอกเพราะแกเป็นบ.ก. คือการเป็นบ.ก.เนี่ยมันมันอยู่แค่กับตัวหนังสือ เราไม่ต้องมาทะเลาะกับคน วันๆตรวจแต่หนังสือ นักเขียนก็จะยึดว่าบ.ก.เป็นใหญ่  แต่ร้านหนังสือคือลูกค้าเป็นใหญ่ไง (หัวเราะ) พี่ชอบมากๆเพราะลดอีโก้และความหัวร้อนของเราไปได้เยอะเลย  เมื่อก่อนถ้ามีลูกค้าไม่เข้าใจเราก็จะเถียงๆไป คือต้องอธิบาย แต่หลังๆไม่แล้ว เขาอยากได้อะไรเราก็ให้แบบนั้น ลดความหัวร้อนลงได้เยอะ

บทเรียนตลอด 55 ปีที่เปลี่ยนแปลงและสร้างตัวตนของเราในทุกวันนี้ 

ถ้าให้แยกระหว่างการอ่าน ซึ่งมันทำให้เราอยู่กับตัวเอง กับการทำร้านซึ่งเราได้ปลดปล่อยตัวเอง จุดนี้ก็คงจะต่างสุดแหละ เพราะการทำร้านคือการได้เจอคน ได้ดูแลลูกค้า มันเป็นงานที่เราต้องอยู่ด้านหน้า การทำทั้งหมดนี่ทำให้เราปล่อยวางตัวเองมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนพี่อาจจะไม่ให้สัมภาษณ์นะ เพราะพี่ไม่ค่อยชอบ แต่ตอนหลังพี่รู้สึกว่ามันก็คือการทำงาน คนมาติดต่อก็ทำงานเราก็ทำงาน ตอนพี่เปิดร้านใหม่ๆพี่จะกรี๊ดมากเลยเวลามีคนมาขอสัมภาษณ์ ก็จะให้ไปสัมภาษณ์คนอื่น แต่หลังๆเราเข้าใจว่ามันคือการทำงาน พอคุยกับคนไปเรื่อยๆเราก็ปล่อยวางตัวเองมากขึ้น สนใจโลกมากขึ้น สนใจเทรนด์ต่างๆมากขึ้น สิ่งที่สอนเรามากที่สุดเลยคือการปล่อยวางตัวเอง ลดอีโก้ลง คือพี่เป็นคนอีโก้เยอะมาก ใครแตะไม่ได้เลย แต่พอทำร้านเราจะคิดถึงคนอื่นมากขึ้น เพราะคนอยากมาหาเรา บางทีพี่อยู่ร้านบางทีพี่ก็ไม่อยู่หน้าร้าน คือบางทีเราก็ทีอย่างอื่นต้องทำในออฟฟิศ แต่ลูกค้าบางคนเขามาเพื่ออยากจะเจอเราน่ะ เลยรู้สึกว่าต้องคนละครึ่งทาง

การทำร้านหนังสือในช่วงอายุเท่านี้ช้าไปไหม แล้วภาพของ Candide ในอนาคตเป็นอย่างไร 

ไม่เลย คือพี่อยู่ในวงการหนังสือมาตลอดอยู่แล้ว พี่ว่าการทำร้านหนังสือคือการทำธุรกิจแบบนึงที่ยังอยู่ในวงการหนังสือ แล้วมาเริ่มเอาตอนอายุ 40 กว่าแล้ว ดังนั้นไม่มีอะไรช้าไปหรอก คือพี่รู้สึกว่าอายุไม่เกี่ยวกับการทำอะไรเลย ไม่เคยรู้สึกว่าต้องปักป้ายตัวเองว่าอายุเท่าไหร่จะต้องมีอะไร มันอยู่กับเราทำอะไรแล้วมีความสุขตอนไหน ตอนอายุน้อยกว่านี้เราห้าวมากแต่ไม่ได้จะต้องทำอะไร  ตอนนี้ความห้าวนั้นมันลดลงแล้ว (หัวเราะ) แต่ก็ไม่เคยคิดเลยจริงๆว่าอายุเท่านี้จะต้องแต่งงาน จะต้องมีเงินเท่าไหร่ ไม่เคยคิด

แต่ร้านเนี่ยยังไงพี่ก็อยากให้อยู่ต่อไป พี่อายุมากแล้วแหละ ก็เริ่มอยากเกษียณไวหน่อย พี่เลยอยากหาคนมาทำร้านต่อ พี่ไม่อยากให้ร้านมันปิด อยากหาคนมารับช่วงต่อ ภาพที่เห็นเลยเป็นการมีคนมาทำแทนพี่ แล้วบริหารร้านให้มันเจริญรุ่งเรืองต่อไป ส่วนตัวพี่เองมีแผนหลังเกษียณประมาณนึงแล้ว ตอนไปเที่ยวประจวบเราชอบที่นั่นมากๆ ด้วยความที่เป็นเมืองเล็กๆ ก็อยากทำโฮสเทลมีร้านกาแฟแบบเล็กมากๆ ตื่นเช้าเราก็มาทำอาหารให้แขกทานเหมือน Airbnb น่ะ แต่ยังเป็นแค่ความฝันนะ เพราะยังไม่มีที่ทางอะไรเลย ก็ได้แต่วาดภาพไว้ หรือถ้าย้อนกลับไปหน่อยก็มองว่าอยากไปอยู่ญี่ปุ่น แต่ว่าก็คิดได้ว่าถ้าไปอยู่จริงคงลำบาก เพราะสังคมเขาเครียดมาก 

อยากบอกอะไรกับคนรุ่นนี้ไหม

พี่รู้สึกว่าพี่แทบไม่ต้องบอกอะไรเขาเลย คือพี่ชอบเล่นทวิตเตอร์ พี่ก็เลยรู้ว่าเด็กรุ่นนี้เติบโตกว่าเรามาก (หัวเราะ) เขาเก่งกว่าเรามาก จนพี่อยากบอกให้คนรุ่นพี่ไปดูเขาด้วยซ้ำ เพราะตัวพี่คิดว่าคนรุ่นพี่ต้องเข้าใจคนรุ่นเขามากกว่านี้ ไม่ใช่ให้เขามาเข้าใจเราฝ่ายเดียว เราต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ด้วย ต้องรู้จักกัน แต่เอาจริงๆมันก็แล้วแต่คนด้วยนะ อย่างเพื่อนพี่ก็จะไม่ยุ่งกับคนรุ่นใหม่แล้ว เขาก็อยู่ของเขา แต่พี่รู้สึกว่าการเล่นทวิตเตอร์มันมีการอ่านแบบนึง มันก็สนุกดี สุดท้ายมันคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่มุมมองพี่คือรุ่นพี่ต้องเรียนรู้พวกเขานะ ส่วนเขาจะเรียนรู้เรามั้ย อันนี้เราคงบังคับเขาไม่ได้ ส่วนนึงการที่พี่อยู่ร้านพี่เจอเด็กๆเยอะมาก รู้เลยว่าเขามาเพราะทวิตเตอร์ สรุปง่ายๆคนรุ่นโตๆต้องลดอีโก้ลง อย่าคิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่ อย่าไปคิดว่าเราทำอะไรมาก่อน ยุคสมัยมันไม่เหมือนกันเลย สมัยของเขาคือของเขา เราควรจะเข้าใจความคิดในยุคปัจจุบันมากกว่าเอาความคิดของเราไปตีกรอบเขา

สุดท้ายนี้ พี่แป๊ดฝากคำแนะนำถึงทุกคนที่มีใจรักอยากทำร้านหนังสือ ไม่ว่าจะในเวลานี้หรือในอนาคตว่า
“ขอเพียงรู้จักหนังสือให้ดีที่สุด และไม่ลืมว่ามันเป็นธุรกิจ มีเพียงสองอย่างเท่านั้น

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า