fbpx

#เรียนผู้ว่ามหานคร : สายไฟยุ่งเหยิง เมืองก็ยุ่งเหยิง

MODERNIST x ไทยรัฐทีวี ช่อง 32


เมืองที่สายไฟรุงรังนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเรื่องความสวยงามของเมืองเท่านั้น แต่ส่งผลถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอีกด้วย เพราะสายไฟฟ้าที่พันกันนั้น ก็ไม่ได้อยู่แค่บนฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว บนถนนหลายเส้นเราก็จะพบว่าสายไฟฟ้าที่น่าจะอยู่บนฟ้า กลับอยู่ต่ำลงมา แต่ก็ไม่ใช่ใต้ดิน แต่อยู่เหนือหัวของประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา ต้องเล่นกายกรรม หลบหลีกกันอีกด้วย ที่จริงแล้วในตลอดหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ในกทม.ก็ได้ทำการแก้ปัญหานี้ไปพอสมควร 

แต่สิ่งที่เราควรให้ความสนใจไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่กทม.ทำว่าทำไปมากน้อยแค่ไหน แต่ยังต้องให้ความสนใจถึงวิธีการและวิธีคิดในการแก้ปัญหาของกทม.ในการจัดการปัญหานี้ด้วย 

มหากาพย์สายไฟฟ้าลงดิน

เวลาเราปวดหัวกับเรื่องเสาไฟฟ้า เราก็มักจะมองไปที่โมเดลของต่างประเทศที่นำสายไฟฟ้าลงดินอย่างญี่ปุ่นเอง ก็มักจะเป็นประเทศที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่างเสมอ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นแนวทางสากลที่หลายประเทศบนโลกก็ใช้กัน เพื่อจุดประสงค์ด้านภูมิทัศน์และความปลอดภัยที่ไทยเองก็สมควรจะเดินตาม

จริงๆ การนำสายไฟฟ้าลงดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นโครงการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ริเริ่มนานแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 หรือ 38 ปีก่อน สมัยผู้ว่าฯ เทียม มกรานนท์ โดยดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) ในชื่อโครงการ “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน”

คำถามก็คือเป็นเวลากว่า 38 ปีแล้ว แน่นอนประการแรกต้องยอมรับว่าการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้นทั่ว กทม.และทั่วประเทศนั้นเป็นงานหนักหนาพอสมควร การใช้เวลายาวนานหลักสิบปีนั้นดูมีเหตุผล ประการที่สองที่ยังติดใจอยู่ดี แต่แล้วทำไมถึงล่าช้าขนาดนี้? มัวแต่คลี่สายไฟฟ้ากันอยู่หรือไง ถึงแม้จะดูเป็นคำพูดประชดประชัน แต่ก็ต้องบอกว่าก็มีส่วนอยู่บ้าง แต่ที่ยุ่งเหยิงนั้นไม่ใช่เพียงแค่สายไฟเท่านั้นหรอก แต่เป็นเรื่องอื่นด้วย

สายไฟฟ้าว่ายุ่งเหยิงแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุ่งเหยิงกว่า

ปัญหาสุดคลาสสิคของ กทม. ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไหนๆ จะปัญหาทางเท้า ปัญหารถติด ก็คือการที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วย เกิดทั้งการทับซ้อนกันของหน้าที่ การเกี่ยงกัน หรือการไม่กล้าแตะปัญหานั้นเพราะกลัวไปล้ำเส้นอำนาจของอีกหน่วยงานหนึ่ง ทำให้บางปัญหาแก้กันอย่างล่าช้าเพราะรอการประสานงาน หรือบางปัญหาก็ถูกลอยแพ ซึ่งปัญหาสายไฟฟ้านั้นเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของเรื่องนี้ 

งั้นเราลองมาคลี่สายไฟฟ้ากันดูดีกว่า 

สายไฟที่เราเห็นพันกันยุ่งเหยิงนั้น แบ่งได้เป็นสายสามประเภท ประเภทแรกคือสายไฟฟ้า รับผิดชอบโดยกฟน. ประเภทที่สองคือสายสื่อสารของบริษัทโทรคมนาคมต่างๆ รับผิดชอบโดย กสทช. และประเภทสุดท้ายคือสายสื่อสารกล้องวงจรปิด รับผิดชอบโดย กทม. 

แต่ไม่หมดแค่นั้น เพราะต้องแยกย่อยลงลึกไปอีก สายไฟฟ้าเองก็แบ่งเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง และสายไฟฟ้าแรงต่ำ สายสื่อสารก็มีทั้งสายโทรศัพท์, สายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิ้ลทีวี สาย CCTV ก็ยังแบ่งเป็นสายกล้องวงจรปิด และสายกล้องจราจร

เมื่อคลี่สายออกมา เราจะเข้าใจได้เลยเวลาจะจัดการนำสายไฟฟ้าทั้งหมดลงดินนั้นมีความล่าช้า เพราะนอกจากเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานแล้ว ในหน่วยงานเดียวกันการจะจัดการสายไฟตัวเองก็ยังมีความซับซ้อนตามประเภทสายไฟที่แยกย่อยลงไปอีก

หนำซ้ำหน่วยงานต่างๆ ก็มีแนวคิดในการจัดการกับสายไฟ และวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน เช่น การไม่อนุญาตให้หน่วยงานเอกชนเข้าไปทำงานในพื้นที่ เป็นต้น แม้จะมีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ความล่าช้าก็ยังคงอยู่

ปัญหาสายไฟฟ้าจึงสะท้อนถึงบูรณภาพของหน่วยงานต่างๆ ในกทม. (และในประเทศนี้) ที่ประสบปัญหาในการทำงานร่วมกันอย่างมาก เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังจัดการสายไฟฟ้าลงดินนั้น สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันคือการทำให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมมือกันให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพราะทุกความล่าช้าที่หน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดขึ้น อาจมีคนที่ต้องบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต จากสายไฟฟ้าต่างๆ ที่พาดพะรุงพะรังเช่นนี้ 

และหากในอนาคตเมืองเกิดภัยภิบัติหรือวิกฤต การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เมืองพ้นภัย

บทบาทของผู้ว่าฯ ในการจัดการกับความยุ่งเหยิงครั้งนี้

แม้ กฟน. จะริเริ่ม “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 แต่ว่าการนำสายสื่อสารลงดินในกรุงเทพฯ เพิ่งจะมาเริ่มในสมัยของผู้ว่าฯ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อปี พ.ศ.2559 โดยได้มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง กฟน. ทีโอที สตช. และ กทม. 

แต่นอกจากการริเริ่มโครงการนี้ สิ่งที่เราควรให้ความสนใจในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากจะดำเนินงานตามนโยบายและแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้ว หน้าที่อีกอย่างคือต้องเป็น ‘ผู้ประสาน’ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้งานต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว แต่จากความล่าช้าของโครงการเหล่านี้ ก็คงต้องบอกว่าการประสานของผู้ว่าฯ ไม่มีประสิทธิภาพนักเท่าไร นอกจากคลี่สายไฟของตัวเองแล้ว ผู้ว่าฯ จะต้องคลี่สายไฟเส้นอื่นๆ ด้วย

มากกว่าการจัดการภูมิทัศน์เมือง คือเรื่องวิสัยทัศน์เมือง

จากกรณีการมาเมืองไทยของดารานักแสดงต่างชาติหลายๆ คน ที่ต่างกันต้องตกตะลึงกับสายไฟฟ้าของเมืองไทยราวกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยังไงยังงั้น สิ่งที่เราได้เห็นทันทีจากกรณีนี้คือการเคลื่อนไหวเร่งแก้ปัญหาของทางภาครัฐที่จะนำสายไฟเหล่านี้ลงดิน เพื่อไม่ให้ประเทศเสียภาพลักษณ์ หรือโดนคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ 

ในแง่หนึ่งความกระตือรือร้นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเหตุผลเรื่องภูมิทัศน์เมืองและความสวยงามเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์เมืองที่เน้นการพัฒนาเพื่อความสวยงาม มากกว่าความปลอดภัยของประชาชน ให้ความสำคัญกับมุมมองและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนนอกประเทศมากกว่าคนไทยที่เสียภาษีและวิพากษ์อยู่ทุกวัน แต่เสียงเหล่านั้นก็ไม่เคยได้รับความสนใจ

มุมมองเช่นนี้สร้างความกังวลในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก การให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์เป็นหลัก และเร่งรีบดำเนินการ ถึงแม้จะเอาสายไฟลงดินได้หมดในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพตามมา เพราะขนาดแค่กระเบื้องฟุตบาทยังหลุดร่อนในเวลาอันรวดเร็ว ก็ช่วยไม่ได้หากเราจะกังวลกับสายไฟแรงสูงที่อยู่ใต้เท้าเรา

หากกรุงเทพฯ เร่งแต่จะแก้ภูมิทัศน์ โดยไม่คิดจะแก้วิสัยทัศน์ ต่อให้เอาสายไฟลงดินได้หมด ก็ทำได้เพียงสร้าง ‘เมืองที่น่ามอง’ แต่ไม่ใช่ ‘เมืองที่น่าอยู่’

22 พฤษภาคม 2565 คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้ 1 เสียง เพื่อเป็นหนึ่งพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงไปร่วมกัน และถ้าคิดว่ามีปัญหาที่เกี่ยวข้องหรือนอกเหนือจากนี้อีกสามารถติด #เรียนผู้ว่ามหานคร และ #ไทยรัฐทีวี32 เพื่อส่งปัญหาถึงผู้ว่าคนต่อไปของกรุงเทพมหานคร และอย่าลืมติดตามโครงการ Modernist Next บางกอก 2022 ได้ทาง Facebook / YouTube / Twitter / TikTok ของ Modernist เพียงพิมพ์คำว่า lifeatmodernist และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง themodernist.in.th/nextbangkok2022

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #เรียนผู้ว่ามหานคร ภายใต้ความร่วมมือของเว็บไซต์โมเดิร์นนิสต์และไทยรัฐทีวี ช่อง 32

อ้างอิงข้อมูล Rocket Media Lab

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า