fbpx

รู้จักเบื้องหลังละครเวทีและละครเพลงจากโลกตะวันตก ผ่านสายตาของบีเอ็ม Broadway Boy

‘ละครเวทีคืออะไร’

เป็นคำถามชวนขบคิดที่ Broadway Boy หรือบีเอ็ม-สันติพัทธ์ สันติชัยอนันต์ มักจะถามเป็นคำถามแรกๆ เสมอเมื่อมีโอกาสได้ออกไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ  

หลายคนอาจให้คำนิยามว่าละครเวทีคือละครร้อง มีภาพจำว่าต้องเป็นเพลงโอเปร่ายากๆ ประกอบกับฉากพร้อมชุดอลังการ บางคนอาจคิดไปว่าละครเวทีต้องดูสดๆ เท่านั้น เรื่อยไปจนถึงละครเวทีเป็นศิลปะฟุ้งเฟ้อสำหรับคนมีอันจะกิน เรียกว่าสารพัดสารพันความหมายเท่าที่สื่อต่างๆ จะปักป้ายให้กับคำถามแสนเรียบง่ายนี้ 

‘ละครเพลงจริงๆ มันเรียบง่ายกว่านั้นมากนะ แต่ก็ไม่แปลกถ้าจะไม่เข้าใจนิยามของมัน นึกภาพถ้าเราไปถามคนในประเทศนี้ว่าละครเพลงคืออะไร เขาก็จะตอบกันประมาณนี้แหละ เพราะไม่มีสื่อให้เรียนรู้หรือสัมผัสมากนัก’ 

จะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เพราะตลอดบทความที่คุณกำลังจะได้อ่านนี้ บีเอ็มจะพาคุณนับหนึ่งไปพร้อมๆ กันกับเขา ตั้งแต่จุดแรกเริ่มที่ทำให้เขาหลงรักมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนถึงปัจจุบันที่ตัวเขาในอายุ 29 ปี ซึ่งให้คำจำกัดความตัวเองว่า Musical Theater Believer เชื่ออย่างยิ่งว่าวงการละครเวทีและศักยภาพของไทยจะพัฒนาไปเทียบเท่าบรอดเวย์ได้ในเร็ววัน 

ประกายฝันที่ถูกค้นพบ

 “พอได้เห็นบ่อยๆ มันก็มีความผูกพัน เหมือนว่าเราได้เห็นเรื่องราวชีวิตของคนอื่น” 

จุดเริ่มต้นของการเป็น Musical Theater Believer ของบีเอ็มเริ่มมาจากความชอบส่วนตัวในวิชาภาษาอังกฤษ  ทำให้ในวัยเด็กมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์และฟังเพลงต่างประเทศอยู่บ่อยๆ จนก่อเกิดเป็นความผูกพันที่ตัดไม่ขาด จะเห็นได้ว่านอกจากเพจ The Showhopper บีเอ็มก็มีโอกาสได้เขียนเขียนคอนเทนต์ให้กับเพจหนังอย่าง Just ดู It ด้วย 

ซึ่งหากจะย้อนกลับไปที่ละครเวทีเรื่องต้นๆ คงหนีไม่พ้นละครเพลงเรื่องดังอย่าง The Phantom of the Opera (2547) เวอร์ชันภาพยนตร์ ด้วยการใช้เพลงอันแสนไพเราะในการบอกเล่าเรื่องราว จุดนี้กลายเป็นความประทับใจแรกเล็กๆ ดั่งผีเสื้อกระพือปีกที่สรรสร้างพายุแห่งความหลงใหลในศาสตร์นี้ให้เพิ่มพูนขึ้น ก่อนจะขยับมาเป็นการแสดงสดซึ่งดูในโรงครั้งแรกคือ บางกอก 2485 เดอะมิวสิคัล ของ Exact (2547) ณ หอใหญ่ศูนย์วัฒนธรรม ก่อนจะมาเป็นละครเวทีเรื่องดังอย่าง บัลลังก์เมฆ (2550) ที่รัชดาลัย 

แต่กระนั้นสิ่งที่ทำให้เขาออกปากว่าเป็น “อีกเลเวลนึงเลยอะ” คือช่วงตอนที่ตนเรียนจบม.6 แล้วมีโอกาสเดินทางไปดูมิวสิคัลเรื่อง The Lion King Musical ที่สิงคโปร์ ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้เอง ที่ทำให้เขาค้นพบว่าแท้จริงแล้วละครเวทีมันมีมากกว่าที่เคยเห็น ความหลงใหลผนวกกับความสงสัย พาบีเอ็มดำดิ่งลงไปในศาสตร์นี้มากขึ้น มันไม่ใช่แค่ความประทับใจผิวเผินที่เข้ามาแล้วจากไป แต่เป็นความกระตือรือร้นที่ทำให้เขาอยากเข้าไปค้นหาว่าข้างหลังเวทีนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ แถมยิ่งค้นไปลึก ยิ่งพบแต่สิ่งที่ไม่คาดคิด ทุกรายละเอียดทำให้บีเอ็มหลงเสน่ห์ของศาสตร์นี้เข้าอย่างจัง แม้เขาจะยอมรับว่าความจริงเขายังมีความชอบในส่วนของภาพยนตร์ไม่ต่างกัน แต่เสน่ห์ของละครเวทีในเรื่องปัจเจกของช่วงเวลา ซึ่งเป็นความสดที่ไม่ว่าเราจะไปดูละครเรื่องไหนหรือตอนไหนก็แล้วแต่ มันจะไม่เคยเหมือนกันสักครั้ง เพราะแค่วันนั้นวันเดียว ที่คนดูจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับนักแสดงและนักดนตรีนับร้อยชีวิต ได้ร่วมหายใจไปกับพวกเขาเหล่านั้น สิ่งนี้ต่างหากคือความน่าหลงใหลที่บีเอ็มบอกว่าไม่อาจละสายตาไปจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ 

ภาพยนต์มันก็ทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้ แต่ว่ามันจะเป็นด้วยเทคนิคคนละแบบ พอเราโตขึ้นกลับมาดูหนังเราจะเห็นมุมมองที่แตกต่างไป แต่ความสดใหม่ของละครเวทีมันจะไม่เคยเหมือนกันสักครั้ง เราได้อยู่ตรงนั้นอะ ในเวลาเดียวกันกับทีมงาน นักแสดงเป็นร้อยๆ คน นักดนตรี มันทำให้เรารู้สึกอะไรที่เราไม่เคยรู้สึก แต่สุดท้ายก็ชอบทั้งสองอย่างแหละ” 

เมื่อมีเป้าหมาย สเต็ปถัดไปคือการออกเดินทาง บีเอ็มออกเดินก้าวแรกในการค้นหาความรู้ไปพร้อมกับสารานุกรมออนไลน์คู่ใจอย่าง วิกิพีเดีย ที่ทำหน้าที่เป็นกุญแจเพื่อนำพาตัวเขาไปสู่ประตูความรู้แห่งใหม่ เขาใช้วิธีการสงสัยแล้วคลิกต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้จักชื่อและประวัติของนักแต่งเพลงมากมาย และเมื่อเวลาผ่านไป ในวันที่อินเทอร์เน็ตและ Youtube เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิต บีเอ็มกับละครเวทีก็สนิทชิดเชื้อกันมากขึ้นตามลำดับ

แต่กระนั้นหากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมาเรียนด้านละครเวที บีเอ็มเคยเป็นนักเรียนทุนที่คณะไอทีของมหาวิทยาลัยลาดกระบังมาก่อน แต่เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้รู้สึกว่าตนอาจจะไม่มีความสุขกับงานสายนี้เท่าไหร่นัก โชคดีที่ตอนนั้นสาขาละครเพลงกำลังเปิด เขาจึงตัดสินใจขอที่บ้านไปออดิชั่นดู โดยเพลงที่ใช้คือ This is the Moment จาก Jekyll and Hyde และ Gethsemane (i only want to say) จาก Jesus Christ Superstar เพลงคลาสสิคหนึ่งเพลง คู่กับ exercise พร้อมกับการออกท่าทางเล็กน้อยพอให้รู้เต้นได้ จับพลัดจับผลูคือเขาออดิชั่นผ่าน อีกทั้งได้รับการชักชวนให้ไปร่วมทำ production ละครเวทีเรื่องใหม่ ณ ขณะนั้นเพราะอาจารย์เห็นศักยภาพด้านการแสดง ซึ่งไทม์ไลน์ที่บีเอ็มเล่าคือ หลังเรียนไอทีไปแค่หนึ่งเทอม ก่อนจะทิ้งทุกอย่างเพื่อใช้เวลาที่เหลือไปลองเข้าคลาสต่างๆ ดู ทำให้ตลอดหกเดือนที่ว่าง เขามีโอกาสได้เข้าทั้งคลาสการแสดง คลาสร้องเพลง และใช้เวลาว่างที่เหลือเพื่อเตรียมตัวเล่นละคร

ซึ่งละครเรื่องแรกที่เขาได้เล่นคือ Blood Brothers the Musical และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บีเอ็มก็เดินบนเส้นทางการละครมาตลอด โดยที่ไม่มีความกังขาในสิ่งที่ตัวเองเลือกเดินเลยแม้แต่น้อย

“ไม่ได้กลับมานั่งย้อนคิดเลยว่าเราเลือกถูกไหม เรารู้สึกยังไง เพราะมันมีแต่ไปเรื่อยๆ ต้องทำงาน ถ้าไม่ได้เรียน ก็เล่นละคร ถ้าไม่ได้เล่นละครก็ทำเบื้องหลังอะไรอย่างนี้”

นิยามของละครเวที

“ละครเวทีสำหรับทุกคนแปลว่าอะไร ถ้าให้นิยาม”

คำถามเรียบง่ายที่บีเอ็มมักใช้เปิดหัวข้อในการเลกเชอร์ถูกยกขึ้นมาถามทีมงานทั้งหมด ก่อนความเงียบจะผ่านไปสักครู่หนึ่ง คำอธิบายแสนเรียบง่ายก็ถูกหยิบยกมาแทนที 

หากเปรียบละครเวทีว่ามันเป็นเหมือนเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง ที่ทุกคนมีหน้าที่และมี function ที่ต่างกันไป สิ่งที่คล้ายคลึงและเห็นภาพที่สุดคงไม่พ้นกาารทำงานของนาฬิกา เมื่อนึกภาพละครเวทีที่เราดู ทั้ง Production นักแสดงและนักดนตรี ทุกอย่างคือด่านสุดท้าย เปรียบดังหน้าปัดนาฬิกาที่สวยงามและน่าหลงใหล แต่เมื่อแกะหน้าปัดออกมาดู เราจะเห็นว่าข้างในมีฟันเฟืองเป็นร้อยๆ ชิ้นที่เชื่อมต่อถึงกันหมด ถ้ามีฟันเฟืองไหนทำงานไม่สมบูรณ์หรือติดขัด มันก็จะติดขัดไปทั้งหมด และเข็มบนหน้าปัดนาฬิกาก็จะไม่สามารถเดินได้ เช่นเดียวกับทีมงานหลังเวทีที่คอยจัดการให้การแสดงในแต่ละครั้งเกิดขึ้น การทำงานนั้นทั้งซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่วินาทีที่คิดไอเดีย จนกระทั่งรังสรรค์ทุกย่างให้เกิดขึ้นจริง ทั้งหมดเกิดจากเฟือง ซึ่งก็คือทีมงานทุกคนที่ทำงานอย่างสอดประสานกันทั้งสิ้น 

เพราะฉะนั้นคำถามดังกล่าวจึงเป็นทั้งแก่นที่ลึกซึ้งและเรียบง่าย ซึ่งน่าหยิบยกมาถามเพื่อทำความเข้าใจ และต่อยอดไปเพื่อพัฒนาแนวคิดนี้ให้ก้าวกระโดดมากขึ้น ซึ่งหากจะให้สรุปว่า ‘ละครเวทีหรือละครเพลงคืออะไร’ นิยามที่บีเอ็มให้ไว้คือ “ละครที่นำเพลงสมัยนิยมมาใช้ในการดำเนินเรื่อง” โดยอธิบายเสริมว่าคำว่า “สมัยนิยม” ไม่ได้แปลว่าเพลงที่ดัง ณ ตอนนี้เพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงเพลงที่เป็นที่สมัยนิยมของตัวละครนั้นๆ ในเรื่องได้ด้วยเช่นกัน 

พวกเราอาจจะคุ้นชินกับนิยามของละครเวทีที่ตระการตาอย่าง Disney หรือ La La Land จนทำให้เรามีภาพจำว่า Musical จะต้องเป็นแบบนี้ๆ ร่วมไปถึงค่ายละครเพลงในไทยก็ทำละครเวทีออกมาในรูปแบบที่คล้ายๆ กัน เลยทำให้ทุกคนรู้สึกว่าละครเวทีจะต้องมีการเต้น มีฉากใหญ่ๆ มีนักแสดงวิ่งออกมากลางเวทีแล้วร้องเพลงยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้วละครเวทีมันมีอะไรมากกว่านั้น  มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ ละครเวทีไม่จำเป็นจะต้องมีฉากแม้แต่ฉากเดียวก็ได้ มีแค่นักแสดงยืนอยู่ก็สามารถเป็นละครเพลงได้แล้ว เพียงแต่ว่า ใจความสำคัญที่สุดของละครเพลงคือเพลง และเพลงที่ใช้มันจะเป็นเพลงอะไรก็ได้ เพลงแบบไหนก็ได้ ซึ่งบีเอ็มเล่าเสริมอย่างกระตือรือร้นว่า 

“ถ้าไป Broadway ตอนนี้ จะจินตนาการไม่ออกเลยว่าละครเพลงมันเคยเป็นแบบ Phantom หรือ Les Misérables ตอนนี้คือมันไปไกลมาก อย่าง Mean Girls the Musical สไตล์การเต้นหลักเป็น Hip-Hop หรือว่ามีละครเพลงที่ดัดแปลงมาจาก Romeo & Juliet ที่ใช้เพลง Pop หมดเลย แบบ Ariana Grande หรือ Six the Musical ที่คนร้องต้อง Whistle Tone ได้ อะไรแบบนี้ มันไม่มีแบบแผน ไม่มีกฎเกณฑ์ มีแค่กฎอย่างเดียวคือเพลงต้องเล่าเรื่อง แค่นั้นเอง”

บีเอ็มยกตัวอย่างละครเวทีที่กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้างไปทั่วโลกอย่าง Hamilton ซึ่งหากฟังผิวเผินใครหลายคนอาจจะเรียก Hamilton ว่าเป็น Musical Rap เพราะองค์ประกอบของตัวดนตรี แม้ตัวผู้แต่งอย่าง  Lin-Manuel Miranda จะพยายามแต่งเพลงในยุคหลังจากนั้นให้ห่างจากแร็ปมากขึ้น แต่เหตุผลหลักที่เขาเลือกใช้ดนตรีแร็ปใน Hamilton เพราะว่ามันเป็นฟอร์มเพลงที่เหมาะสมที่สุดแล้วในการนำเสนอคาแร็กเตอร์ของตัวละครอย่าง Hamilton ที่เป็นคนพูดเร็ว คิดเร็ว มีความมุทะลุเป็นที่หนึ่ง นอกจากนี้ ท่าเต้นในละครเวทีเรื่องนี้ยังใช้ท่าเต้นแบบ Micro-Movement และมีฉากเต้นใหญ่ๆ น้อยมาก แถมยังไม่มีเพลงที่มีตัวละครเดี่ยวออกไปยืนร้องคนเดียวกลางเวทีอีก ทำให้ใครหลายคนที่ไปดูละครเวทีเรื่องนี้ก็จะงงๆ นิดหน่อยเพราะละครเวทีเรื่องนี้แทบจะลบภาพจำของละครเวทียุคเก่าไปสิ้น แต่ถ้าสังเกตดีๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดใน Hamilton ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลเสมอ มันผ่านการคิดการไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ซึ่งจุดนี้บีเอ็มยังเสริมอีกว่า นอกจากเรื่องรายได้ Hamilton เป็นตัวอย่างของละครเวทีที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการหาจุดลงตัวของความเป็น สมัยนิยมกับสิ่งใหม่ๆ เพราะ Hamilton เป็นละครที่บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต แต่ถูกนำมาเล่าในมุมมองของความเป็นสมัยใหม่ มันเป็นการเจอกันครึ่งทาง เป็นความต่างที่ผสมกลมกล่อมได้อย่างลงตัว 

“ความหลากหลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรักละครเวทีมากนะ” 

ประโยคนี้มีความน่าสนใจในตัวเองสูงมาก จนทำให้อดถามต่อไม่ได้ว่าในฐานะคนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการละครเวทีทั้งในและต่างประเทศมานาน เขาคิดเห็นอย่างไรกับแคสติ้งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิวที่ปรากฎในละครเวทีปัจจุบัน ซึ่งบีเอ็มได้ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจและลึกซึ้งทีเดียว 

เพราะแรกเริ่มละครเวทีถูกสร้างโดยคนชายขอบทั้งสิ้น ถ้าเรามีโอกาสมองย้อนกลับไป ผู้สร้างละครเวทีเองมีความหลากหลายมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ ผู้หญิง คนผิวสี แม้แต่ชนชาติที่ผสมอยู่ในละครเวทีตอนนี้ก็ไม่ได้เริ่มต้นจากอเมริกันชนด้วยซ้ำ เขายกตัวอย่างตัวอย่าง Lin-Manuel Miranda ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของความหลากหลาย ชายผู้เริ่มต้นจากการเป็นผู้อพยพ สู่การได้รับการยอมรับและกลายเป็นนักแต่งเพลงคนหนึ่งที่ทำเงินมหาศาล หรือแม้แต่การแคสติ้งตัวละคร Elsa จากอนิเมชันเรื่องดังอย่าง Frozen ให้เป็นคนผิวสี ก็เป็นการโอบรับความหลากหลายที่น่าชื่นชม

สิ่งเหล่านี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าบรอดเวย์กำลังเริ่มก้าวไปข้างหน้า ด้วยคนมากมายที่รักและชื่นชมในวงการนี้อย่างแท้จริง ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ได้มีเพียงคนขาวอีกต่อไป คุณอาจมีโอกาสได้เห็น Hermione ผิวสี ใน Harry Potter and the Cursed Child คุณได้เห็นชาวเอเชียมากมายในประวัติศาสตร์ตลอดเรื่อง Hamilton ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการยอมรับและสะท้อนอย่างชัดเจนว่า บรอดเวย์ได้มองทะลุทั้งสีผิว เชื้อชาติ และเพศของคุณไปเพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับตัวละคร ทุกคนถูกมองเป็นเพียงคนหนึ่งคนที่เหมาะสมกับบทบาทนั้นมากที่สุดเท่านั้นเอง 

“แต่บางทีพอความหลากหลายมันสะท้อนออกมาบนงานที่เป็น main stream คนดูก็อาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราวิจารณ์ออกไปนั้นเป็นเพราะเรามีอคติในรูปร่างหน้าตาของนักแสดง หรือเพราะบทมันไม่ดีจริงๆ กันแน่ เรื่องนี้ถือว่าเป็นวาระที่ใหญ่มากถึงขนาดที่ว่ากรรมการตัดสินงานประกวดละครเวทีทุกคนต้องเข้าคอร์ส Anti-Prejudice เพื่อให้รู้ทันตัวเองว่าเมื่อไหร่เรามีอคติ และจะทำยังไงในการแก้อคติ”  

“ละครเวทีมันมีอย่างนึงคือ suspend your disbelief คือเรากำลังเข้าไปนั่งอยู่ในโรงละคร เราเห็นตัวละครกำลังคุยกันด้วยเพลง มันไม่จริงอยู่ตั้งแต่แล้วอะ ในใจเราเลยต้องตั้งไว้ว่า อ๋อ เรากำลังดูละครเวทีอยู่นะ มันถึงจะเปิดรับอะไรได้มากขึ้น มันเลยเปิดรับได้ว่าอ๋อเรื่องนี้เฮอร์ไมโอนี่เป็นคนดำนะ แต่เราไม่ได้ติดอะไรเพราะเรา suspend your disbelief ไปแล้วว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ผู้สร้างกำลังเล่าเรื่องให้เราฟัง”

ชุดความคิดนี้ไม่ใช่อยู่ๆ นั่งเทียนแล้วจะตระหนักรู้ได้เอง แต่มันเกิดจากการออกไปเจอโลก ออกไปเจออะไรใหม่ๆ สั่งสมประสบการณ์ทั้งในฐานะชิ้นส่วนของเครื่องจักร (นักแสดง คนทำงาน) และผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักร (ผู้สร้าง) ซึ่งบีเอ็มกล่าวว่า Privilege ในฐานะของการเป็นผู้สร้างมันมีพลังมากกว่าที่คิด เพราะมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นคนผิวสี เป็นเกย์ เป็นอะไร ตราบใดที่คุณมีเรื่องราวที่มันสมควรค่าแก่การเล่าและมีวิธีในการนำเสนอที่มันน่าสนใจ และสามารถทำสิ่งนั้นให้ออกมาให้เป็นรูปธรรมได้เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

จากบรอดเวย์ถึงรัชดาลัย (และอื่นๆ)

เพราะเป็น Musical Theater Believer ที่ทำทุกอย่างเกี่ยวกับละครเวที จึงไม่แปลกหากบีเอ็มจะมีประสบการณ์ในด้าน ‘งานเบื้องหลัง’ ไม่ต่างจาก ‘งานเบื้องหน้า’ ดังนั้นก่อนที่เราจะเข้าสู่การทำงานของวงการละครเวทีในไทย บีเอ็มจึงอธิบายความจริงจังและการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพซึ่งตัวเขาได้สัมผัส ครั้งมีโอกาสได้ไปเยือนบรอดเวย์ 

เพราะการทำละครสักเรื่องคือการคัดเอาคนที่เหมือนกันมาทำสิ่งเดียวกัน ละครเวทีของต่างชาติจึงเริ่มต้นด้วยการที่โปรดิวเซอร์ซึ่งมีไอเดียในการทำละคร ติดต่อผู้สร้าง คนเขียนบท คนกำกับ คนแต่งเพลง เพื่อยืนยันว่าความคิดและความชอบของพวกเขาเหล่านั้นเหมือนกันหรือไม่ ก่อนจะตัดสินเรื่องขนาดโรงละครเพื่อให้เหมาะสมกับการแสดง ทั้งหมดถูกสรรค์สร้างบนแนวคิดว่า ‘ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ เพียงรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง’ โรงละครได้ละครที่ดีที่เหมาะ เพื่อสามารถอยู่ต่อไปได้ นักแสดงมีงานทำ และประสบความสำเร็จ เป็นแนวคิดที่ทั้งง่ายและะเห็นผลชัดเจน ไม่ว่าละครของคุณจะมีเสกลเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม

มองย้อนกลับมาในไทย เนื่องจากผู้จัดละครของเรามีอยู่ไม่เยอะมาก เรียกว่าพอจะนับหัวได้ แถมด้วยฐานคนดูที่คุ้นชินกับละครเสกลใหญ่ เมื่อถึงจุดที่อยากจะลดขนาดละครให้เล็กลงมา ก็คงไม่คุ้มค่ากับ 1,400 ที่ันั่งที่จะสูญเปล่าไป หรือจะปรับขึ้นมาเป็นละครไซซ์กลาง คนดูก็อาจจะไมคุ้นชิน และท้ายที่สุดก็จะไม่คุ้มค่า เพราะขาดนายทุน จนต้องวนกลับเข้าไปสู่ปัญหาแบบเดิมบ่อยครั้ง 

“เพราะแบบนี้มันเลยไม่มีละครอย่าง Come from Away หรือ Dear Evan Hansen ที่มีคนเล่นแค่ 6 –  7 คนแล้วมีฉากที่เปลี่ยนได้ประมาณนึง ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือเรามีละครที่ใหญ่มากๆ กับละครที่เล็กมากๆ ซึ่งพอเป็นละครที่ใหญ่มากๆ แนวเรื่องที่เขาจะแสดงได้ก็จะยิ่งแคบลงไปอีก มันเลยกลายเป็นความอลังการทั้งหมด ซึ่งไม่ผิดนะ แต่ความหลากหลายมันหายไป พอเป็นบรอดเวย์ที่มันมีทุกอย่าง คนก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น มันมีทั้งละครขนาดเล็กที่คนดู 200 คน ไปจนถึงขนาดกลางที่คนดู 600 – 700 คนได้ มันไม่ใช่อุปสรรคหรอกแต่เป็นความท้าทายที่ต้องเจอมากกว่า” 

ข้อจำกัดมากมายเหล่านี้เป็นเหตุผลชัดเจนที่ทำให้เราได้เห็นการรีเสตจของละครเวทีอลังการมากมาย ซึ่งอาจเคยได้รับการชื่นชมในช่วงหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะกับสภาพสังคมปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนไป จุดนี้คือช่องโหว่ขนาดยักษ์ที่บีเอ็มบอกว่า ละครเวทีในไทยต้องช่วยกันหาคำตอบ เพราะถ้าละครเวทีไม่สามารถสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบัน หรือดึงฐานคนดูใหม่ๆ ได้ ก็คงไม่มีหวังที่จะให้มันก้าวต่อไปข้างหน้า ซึ่งบีเอ็มได้พูดต่ออีกว่า จุดนี้เองที่ทำให้เขาอยากนำความรู้และเรื่องราวมากมายมาเล่า เพื่อเปลี่ยนแนวคิดของผู้คนซึ่งทำงานในวงการละครเวทีไทย อย่างน้อยๆ ก็อาจจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนคิดจะเปลี่ยน “ก็น่าจะรู้สึกแหละ แบบเออทำมา 20 ปีแล้ว เปลี่ยนบ้าง”  

นอกจากการพัฒนาในแง่ความคิดของผู้จัด อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับละครเวทีคือ ‘การเข้าใจคนดู’ หลายครั้งที่ราคาบัตรไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ชมมากนัก เรียกว่าคนมากมายคงไม่เสียเงินหลายพันเพียงเพื่อความสนุกชั่วครู่ ซึ่งบรอดเวย์แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจและชาญฉลาด เช่น การจัดตั๋วราคาพิเศษในช่วง 10 โมงเช้าของทุกๆ วัน และอีกมากมาย จุดนี้บีเอ็มได้อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังว่า ผู้สร้างและผู้จัดละครมากมายมีความเชื่อว่าละครเวทีเป็นเรื่องของยุคปัจจุบัน และต้องต่อยอดไปถึงคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งอาจยังไม่ได้มีฐานรายได้มากนัก แต่หากเขารักในศาสตร์นี้ และวันหนึ่งเขาเติบโตขึ้น เขาจะกลับมาต่อยอดเพื่อทำทุกอย่างให้วงการนี้สามารถอยู่ต่อไปและส่งต่อมันเพื่อคนรุ่นใหม่ เหมือนที่ผู้สร้างทั้งหลายกำลังทำอยู่ตอนนี้ 

หรือแม้แต่สิทธิของนักแสดงที่ทุกคนพึงมี บีเอ็มเล่าว่าเมื่อครั้งการระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บรอดเวย์มีการแจ้งเกิดนักแสดงหน้าใหม่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อนักแสดงหลักไม่สามารถทำการแสดงได้ หน้าที่จึงตกไปอยู่ที่ตัวสำรอง ซึ่งเขาทำได้ดี เขาจึงเป็นประกายใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราต่างคิดว่ายากลำบาก 

“คือในไทยไม่เกิดนะ ยากเลย ที่นู่นเขามีเงินเดือนชัดเจน สัญญาจ้างเป็นธรรม มีจำกัดเวลาซ้อม มีสวัสดิการ และมีงานรองรับ ไทยเราก็ยากเลยเพราะเราไม่มี แต่สักวันมันต้องทำได้แหละ ผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้นะ แต่มันมีหลายอย่างที่มันยังต้องขบคิดอีกเยอะ แต่ก็ทั้งหมดไม่ได้อยู่แค่ที่ผู้สร้าง มีหลายส่วนเลย ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย อย่างที่นู่นเขามีการประกาศชัดเจนเลยว่าบรอดเวย์คือตัวช่วยดึงนักท่องเที่ยว เพราะคนที่มาดูเขาก็จะใช้เงินกับที่พัก เสื้อผ้า ไปจนถึงการสร้างธุรกิจแปลกๆ อย่างรับจ้างซักเสื้อผ้าของโรงละครบรอดเวย์โดยเฉพาะ คือเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้นเลยนะ นี่คือสิ่งที่ภาครัฐเขาสนับสนุน”

ด้วยการสนับสนุนที่ขันแข็งและสวัสดิการที่เป็นธรรม อาชีพนักแสดงละครเวทีจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่มั่นคงและทำเงินไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ แต่กว่าจะยืนเด่นท่ามกลางแสงไฟได้อย่างเต็มภาคภูมิ เหล่านักแสดงมิวสิคัลทั้งหลายต้องมีความสามารถพื้นฐานหลายอย่าง โดยเฉพาะการร้อง เต้น และการแสดง ซึ่งจุดนี้บีเอ็มพูดออกมาสั้นๆ เป็นศัพท์เฉพาะออกมาว่า มันคือ  triple traits  แต่ของอย่างนี้มัน ‘มันฝึกกันได้’ แต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ และน่าทำความเข้าใจคือคำว่า requirements ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละเรื่องต่างหาก เช่น หากคุณไปออดิชัน Hamilton คุณก็ควรจะทำให้ได้ทั้งหมด เพราะละครทั้งเรื่องต้องการ ensemble ที่ดำเนินเรื่องไปแบบนั้นได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของบรอดเวย์ ด้วยความหลากหลายที่มีมากเหมือนน้ำในมหาสมุทร บรอดเวย์จึงมีพื้นที่เพื่อทุกคนเสมอ ถนนเส้นนี้มักเปิดกว้างให้เหล่านักแสดงที่มีฝันได้ตามหาจุดที่เหมาะกับตนเอง 

น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้มีอภิสิทธิ์ในการเปิดกว้างเพื่อคนมากมายขนาดนั้น แม้แต่จุดที่สำคัญที่สุดอย่างการ preview เพื่อทดสอบฟีดแบคจากคนดูและผู้กำกับ บีเอ็มก็บอกอย่างชัดเจนว่าไทยยังขาดจุดนี้ อาจเพราะภาพของการมองละครเวทีเป็นศาสตร์ที่สูงส่ง จนกระทั่งหลายคนหลงลืมไปเสียด้วยซ้ำว่านี่คืองานงานหนึ่ง หรือแม้แต่การมองข้ามสวัสดิการและเวลาซ้อมที่ควรจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไทยก็ยังขาดเรื่องนี้ไปมาก ซึ่งบีเอ็มหวังอย่างยิ่งว่าสักวัน ไทยเราจะสามารถสร้างสหภาพคุ้มครองนักแสดงละครเวที เพื่อให้มีสิทธิ์และสวัสดิการเท่าเทียมไม่ต่างจากบรอดเวย์  

สุดท้ายแล้วมันต้องวนกลับไปที่ภาครัฐและการเมืองแหละ คนถึงบอกไง ถ้าการเมืองดี ศิลปะจะดี เพราะท้ายที่สุด everything is political ทั้งหมด นอกจากเราเป็นศิลปิน เราคึอมนุษย์คนนึงที่ต้องใช้ชีวิต ถ้าการเมืองมันดี ถ้าสภาพเศรษฐกิจสังคมมันดี เราก็จะมีเงินเพื่อสร้างสรรค์และเสพงานศิลปะต่อไป เอาจริงๆ คนที่มีสิทธิ์ได้ทำงานศิลปะเราถือว่ามันเป็น อภิสิทธิ์พิเศษที่อนุญาตให้เราทำนะ แต่เราอยากให้ทุกคนได้ทำ ดังนั้นถ้าการเมืองเราดี เราจะมีคนเก่งมากมายที่มีวิสัยทัศน์มากกว่านี้” 

From Broadway Boy with Love

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เราเชื่ออย่างยิ่งว่าคุณคงตอบคำถามกับตัวเองได้ว่า ‘ละครเวทีคืออะไร’ รวมทั้งคงเห็นถึงความพยายามท่ามกลางความหลงใหลของบีเอ็มที่แจ่มชัดมาโดยตลอด ว่ากว่าจะเป็น Broadway Boy ที่ทุกคนคุ้นเคย เขาใช้เวลาสั่งสมทั้งประสบการณ์และความรู้อย่างยาวนานกว่าจะตกตะกอนและมีความคิดแบบที่เราได้อ่านกัน แม้แรกเริ่มอาจเกิดจากการอยากเล่าสิ่งที่ตัวเองชอบให้แฟนฟัง แต่เมื่อถึงจุดที่ Broadway Boy เป็นรูปเป็นร่าง บีเอ็มเล่าว่าเขาได้อิสระในการเลือกเรื่องที่อยากจะคุย ได้ถ่ายทอดความรู้สึกพร้อมข้อมูลที่ถูกต้อง ไปยังคนที่รักในสิ่งเดียวกัน ซึ่งมันถือเป็นความโชคดีอย่างที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตของเขา 

“แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ทำคนเดียวนะ เรามีทีมมีน้องๆ ที่คอยซัพพอร์ตเราอยู่ด้วยคือ เต๋, กั๊ก, ส้มโอ, ปลื้ม หน้าที่ของ Broadway Boy คือการเสนอมุมมองใหม่ๆ ของละครเวที หรือมุมมองต่างๆ ที่คนไม่เคยได้รู้มาก่อน แต่ทั้งหมดเราไม่ได้เล่าแค่เพราะมันสนุก เราเทียบเคียงวิธีคิดแบบเขา เพราะแท้จริงของแบบนี้มันโยงกับชีวิตประจำวันทั้งหมด เพราะละครเวทีคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น, การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าทุกคนเข้าใจทุกคนก็นำมันไปใช้พัฒนาตัวเองต่อได้เหมือนกัน”  

นอกจากงาน Broadway Boy บีเอ็มยังมีงานอีกมากมายที่น่าสนใจ ซึ่งเขาทำควบไปพร้อมๆ กัน บางเดือนก็โดดไปทำคำบรรยายหนัง บางครั้งก็เขียนสคริปต์วิดีโอให้กับช่องยูทูบ แถมบางทีก็ทำวิดีโอแนะนำลิสต์มิวสิคัลที่น่าดูในแต่ละเดือนอีกด้วย ซึ่งจุดนี้บีเอ็มได้ให้ 5 อันดับมิวสิคัลน่าดูสำหรับใครก็ตามที่สนใจ เพื่อเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่วงการมิวสิคัล โดยเขาเน้นการเข้าถึงที่ง่ายและไม่จำเป็นต้องดูสดๆ คือคุณสามารถดูผ่านสตรีมมิ่งได้เลยเรียกว่าสะดวกสบายสุดๆ 

“เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปดูสดแล้วก็ได้ การตลาดปัจจุบันที่ถ่ายละครเวทีทั้งเรื่อง มันล้มขนบนั้นไปแล้ว คือความรู้สึกมันคงไม่เหมือนกันหรอก แต่อย่างน้อยๆ คุณได้เห็นว่าแท้จริงมิวสิคัลมันเป็นยังไง ถ้าให้แนะนำก็คงไม่พ้น Hamilton ทางดิสนีย์พลัส คือพอเรื่องนี้มันลงสตรีมมิ่ง คนสมัครดิสนีย์พลัสเพิ่มขึ้นมากเลยนะ แถมเป็นหนึ่งเรื่องที่คนอยากดูสดมากๆ ด้วย 

Come From Away ซึ่งอยู่ใน Apple TV+ ก็เป็นละครอีกเรื่องที่แหกขนบเหมือนกัน เป็นการเล่าเหตุการณ์ช่วงตึกถล่มตอน 911 แต่เขาหันไปโฟกัสเครื่องบิน 30 กว่าลำ คนหลายร้อยชีวิตที่ต้องเบี่ยงไปลงที่  Grande Newfoundland แทน ซึ่งละครไปโฟกัสกับคนตรงนั้นไงล่ะ ว่าตลอดระยะเวลาที่ทุกคนอยู่ตรงนั้น เขาช่วยเหลือกันยังไง ซึ่งเขาเล่าเรื่องของคนเป็นร้อยคนด้วยคนแค่ 12 คน โต๊ะ 2 ตัว เก้าอี้ 12 ตัว และเวทีหมุน นั่นแหละคือเสน่ห์ของละครเวที

อีกเรื่องเป็นหนังเพลง Tick, Tick… Boom! (2564) ถ้าใครอยากจะเข้าใจว่าการเป็นผู้สร้างละครเวทีมันเป็นยังไง ยากลำบากแค่ไหนก็ดูเรื่องนี้ อีกอย่างเรื่องราวของ Jonathan Larson ที่อยู่ใน Tick, Tick… Boom! อะ คือถ้าไม่มีเขาก็จะไม่มี Hamilton ถ้าไม่มีเขาก็จะไม่มีละครเพลงสมัยใหม่ เพราะเขาเป็นคนแรกๆ ที่เอา Rock ‘n Roll มาเป็นเพลงสมัยนิยมใน Broadway 

หรือถ้าคุณอยากดูสิ่งที่เก่าหน่อยแต่เล่าในสื่อนำสมัย ก็เปิดดู West Side Story (2564)  ที่เป็นหนังล่าสุดในดิสนี่ย์พลัสได้เหมือนกัน แล้วก็อันนี้แนะนำสำหรับคนอยากดูละครเวทีลึกๆ มันมี subscription อันนึงชื่อ BroadwayHD ซึ่งมันจะคล้ายๆ Netflix มันจะรวมละครเวทีจากทั่วโลกเลย ทั้งละครพูด ละครเพลง มี subtutle ภาษาอังกฤษด้วย แล้วก็มีช่องทางอื่นอย่าง National Theater at Home เรียกว่าได้ดูละครเวทีคุณภาพระดับโลกที่จอที่บ้านเราเลย”

 เรื่องราวของ Broadway Boy ซึ่งเกิดจากความหลงใหลในมิวสิคัลของบีเอ็ม อาจเป็นทั้งเรื่องน่าตื่นเต้นและแรงบันดาลใจให้กับใครก็ตามที่อยากเดินตามรอยเท้าเขาเข้าสู่วงการมิวสิคัล หากคุณเป็นผู้ที่สนใจคุณไม่จำเป็นต้องก้าวทะยานไปข้างหน้าด้วยการลงทุนเสียเงินซื้อบัต รหรือบินไปต่างประเทศเพื่อยืนยันว่าคุณชอบมิวสิคัล บีเอ็มยังคงย้ำเตือนถึงแก่นสำคัญของมิวสิคัลและละครเวทีว่า ท้ายที่สุดมันคือศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งอยู่ได้เพราะมีคนที่ชอบ และการชอบไม่จำเป็นต้องลงทุนหากคุณไม่พร้อม การหาข้อมูลและติดตามต่อยอดมันอย่างถูกต้องก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว ไม่ใช่แค่ในส่วนของละครเวที แต่ส่วนของ Broadway Boy เองก็เช่นกัน เขายังยืนยันว่าขอแค่ทุกคนได้อ่านสิ่งที่เขานำเสนอและนำมันไปใช้ต่อ หรือมันนำพาความสุขบางอย่างมาให้ผู้อ่านทุกคนได้ ถือเป็นทั้งกำไรและความน่ายินดียิ่งซึ่งเขาได้รับ  

หรือหากคุณคือคนหนึ่งที่อยากก้าวไปอยู่ในวงการนี้เพื่อประกอบเป็นอาชีพ บีเอ็มย้ำเตือนว่าอาวุธที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลและความรู้ ยิ่งรู้มาก ยิ่งหาตนเองได้ไว การเข้ามาอยู่ในวงการไม่ได้แปลว่าทั้งชีวิตต้องเป็นนักแสดงเพียงอย่างเดียว เพราะทุกหน้าที่คือฟันเฟืองที่ต้องหมุนอย่างสอดคล้องกัน ท้ายที่สุดจงเปลี่ยน Passion นั้นให้กลายเป็น Action ที่ทำเงิน แปลงเป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ และเมื่อนั้นที่เราไม่ overate passion จนเกินไป เราอาจจะเจออะไรบางอย่างที่เหมาะสมกับตัวเราและวงการด้วย

แต่อย่างที่สัจธรรมของโลกได้ระบุไว้ สรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย แม้บีเอ็มจะเป็นหนึ่งคนที่โชคดีได้ทำสิ่งที่เขารัก และได้ถ่ายทอดความเชื่อนั้นไปยังใครก็ตามที่ชอบเหมือนกัน แต่หลายครั้งที่เขาเองก็ท้อถอย แต่เชื่อเถอะว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติ บีเอ็มเล่าว่าทุกครั้งที่เขาเศร้า เขาจะฟังเพลง Move On ของ Stephen Sondheim จากเรื่อง Sunday in the Park with George ไม่ใช่แค่เพราะเนื้อเรื่องของศิลปินที่ไม่สามารถทำตามความฝันได้ แต่เพลงนี้เป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เขาฉุกคิดได้ในวันที่มืดมน

“เพลงนี้เหมือนบทสวดน่ะ แต่จริงๆ ความหมายมันก็คือให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า จริงๆ บทเรียนจากละครเวทีไม่ได้มาแค่ตอนสร้างงานนะ ก็แค่คิดว่าเราจะสร้างงานที่ดีที่สุดด้วยพละกำลังเท่าที่ตัวเราจะทำได้ แล้วเราก็แค่ Move one ต่อไป ทำมันไปเรื่อยๆ แล้วก็พยายามไม่กังวลเกินไปกับชีวิตมากว่าเราทำออกไปแล้วมันจะเป็นยังไง ถ้าเราเชื่อว่ามันสามารถเป็นอะไรได้มากกว่าที่มันเป็นอยู่แล้ว เราทำอย่างที่เราเชื่อโดยที่เรามีความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ผมก็เชื่อว่ามันทำให้เราไปอยู่ในจุดที่มันดีขึ้นสำหรับชีวิตเรา มันจะนำพาเราไปสู่อะไรที่มากกว่าที่เราคาดคิดไว้ สู่อะไรใหม่ๆ ที่มันอาจจะสร้างผลดีให้กับชีวิตเราก็ได้ ดังนั้นพยายามต่อไปนะครับ บนโลกแห่งความจริง สำหรับใครก็ตามที่ท้อค่อยๆ แปลงมันไปครับ โลกใบนี้มันมีอะไรมากกว่าที่เราเข้าใจ ถ้าเราเปิดกว่ากับมัน แล้วเราความรู้ไป adapt และทำด้วยพื้นฐานของความเป็นจริง แล้วทำอย่างเต็มที่ มันจะนำพาเราไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะดีกว่าเดิมหรือไม่ดีกว่าเดิมก็ได้ แต่ว่ามันจะใหม่ แล้วก็อาจจะสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นให้กับชีวิตเรา”

Broadway Boy คือนามปากกาของบีเอ็ม ที่บอกเล่าเรื่องราวความหลงใหลของชายหนุ่มวัย 29 ปีที่มีรักให้กับละครเวทีอย่างเต็มหัวใจ และพร้อมจะเผื่อแผ่ความรู้สึกนี้ไปยังใครก็ตามที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน ซึ่งคุณอาจเป็นคนนั้นที่เริ่มสนใจเรื่องราวของมิวสิคัล เพราะเรียนรู้ชีวิตของเขาในตอนนี้ก็ได้ 

หรือถ้าอยากเจาะลึกมากกว่านั้น คุณสามารถติดตามอ่านบทความที่เขาเขียนในทุกๆ เดือนพร้อมวิดีโอใต้นามปากกา Broadway Boy ได้ที่ The Showhopper คุณสามารถติดตามเขาในฐานะนักร้องเพลงมิวสิคัลด้วยการตามวงของเขาและเพื่อนๆ ที่ชื่อ Fascinating Four หรือหากคุณอยากลองติดตามเขาในมุมมองของคนเบื้องหลัง บีเอ็มกระซิบมาว่าเขากำลังเขียนบทละครเวทีเรื่องหนึ่งอยู่ ซึ่งตัวเขาเขียนบท แต่งเนื้อเพลง และทำดนตรีทั้งหมด แม้ขลุกขลักช่วงโควิด แต่เขาสัญญาจะพัฒนาบทละครชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุด ขอให้ทุกคนตั้งตารอ 

แต่ถ้าคุณไม่อยากรออีกต่อไป Broadway Boy ในฐานะ Fascinating Four และ The Showhopper ได้จัดคอนเสิร์ตกึ่งบรรยายภายใต้ชื่อ The Fools Who Dream ด้วยการเลือกนักแต่งเพลงที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง Benj Pasek กับ Justin Paul (Pasek and Paul) ที่ได้ออสการ์จากภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง La La Land รวมทั้ง The Greatest Showman หรือมิวสิคัลที่ดังมากๆ อย่าง Dear Even Hansen หรือ Dogflight มาเล่าทั้งประวัติและเลือกเพลงฮิตมาให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างจุใจ  ท่ามกลางบรรยากาศชิลๆ ที่นอกจากจะได้ฟังเพลงดังๆ อย่าง City of Stars, A Million Dreams, This Is Me, You Will Be Found และบทเพลงอีกมากมายที่คุณอาจยังไม่รู้จักแล้ว ช่วงการสนทนาบีเอ็มบอกว่า เขาและทีมจะพาทุกคนดื่มด่ำกับเรื่องราวชีวิตการทำงานบนเส้นทางแห่งความฝันของนักแต่งเพลงชื่อดังทั้งสองคนแบบที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณมากกว่าที่คิดอีกด้วย 


The Fools Who Dream จะจัดแสดงในวันที่ 23 – 24 และ 26 – 27 กรกฎาคมนี้ ที่ Philtration ติดตามรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ The Showhopper 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า